หลอมรวมทั้งที่กีดกัน: อัตลักษณ์ชาติไทยในหมู่ชาวอีสาน

Jacob I. Ricks

Ubon Thani Northeast Thailand KRSEA

ประชากรพูดภาษาลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งมักเรียกกันว่าคนอีสาน ตกเป็นเหยื่อการเลือกปฏิบัติและกีดกันจากผลดีด้านการพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่ตกเป็นของภาคกลางและกรุงเทพมาเป็นเวลานาน 1 อันที่จริง รัฐบาลไทยมีนโยบาย “สูบจากชนบทเหมือนสูบจากเมืองขึ้น” 2เพื่อส่งเสริมทุนและอุดหนุนแรงงานในเมืองมาหลายทศวรรษ  ยิ่งกว่านั้น ข้อบังคับเข้มงวดด้านภาษาในภาคการศึกษาและระบบราชการซ้ำเติมความเสียเปรียบแก่คนพื้นเมืองชาวอีสาน 3  ในเชิงเศรษฐกิจนั้น ภาคอีสานล้าหลังส่วนอื่นๆ ของประเทศ มีอัตราความยากจนสูงกว่า รวมทั้งประชากรทำมาหาเลี้ยงชีพในภาคเศรษฐกิจนอกระบบในอัตราสูงด้วย 4  ในเชิงการเมือง ภาคอีสานก็ถูกกีดกันค่อนข้างมากเช่นกัน มีชาวพื้นเมืองอีสานแค่ไม่กี่คนได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง  คนที่เคยดำรงตำแหน่งสูงในช่วงทศวรรษ 1940 ก็ถูกรัฐไทยสังหาร 5  นับแต่นั้นมา บุคคลที่เป็นชาวอีสานแท้ๆ ค่อนข้างน้อยคนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทางการเมือง ทั้งๆ ที่ชาวอีสานมีจำนวนเกือบ 30% ของประชากรทั้งประเทศ 6

KRSEA National Identity among Isan People Picture1

รูป 1. กลุ่มภาษาในประเทศไทย
Source: Lewis et al. (2015); Premsrirat et al. (2004)

เนื่องจากถูกกีดกันขนาดนี้ ย่อมไม่น่าประหลาดใจถ้าการระดมมวลชนเชิงชาติพันธุ์จะมีประสิทธิผลอยู่บ้าง  อันที่จริง มีแนวโน้มว่าการระดมมวลชนในเชิงภูมิภาคเป็นสิ่งที่ได้ผล  งานวิจัยของผู้เขียนเกี่ยวกับผลกระทบของภาษาต่อการเมืองสะท้อนให้เห็นว่า นักการเมืองที่พูดภาษาลาวท้องถิ่นที่เรียกกันว่าภาษาอีสานแทนการพูดภาษาไทยกลาง เพิ่มโอกาสที่คนอีสานจะลงคะแนนเสียงเลือกเขาถึง 17% 7 เสาวนีย์ อเลกซานเดอร์และดันแคน แมคคาร์โกยังค้นพบด้วยว่า อัตลักษณ์ของภูมิภาคมีการพัฒนาและเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมีพื้นฐานจากความแตกต่างด้านภาษา 8   ดังนั้น ศักยภาพในการระดมมวลชนเชิงชาติพันธุ์จึงมีอยู่อย่างแน่นอน

กระนั้นก็ตาม การระดมมวลชนเชิงชาติพันธุ์กลับไม่มีอิทธิพลในระดับใหญ่กว่านั้น  ยกตัวอย่างเช่น ทั้งพรรคเพื่อไทยและขบวนการคนเสื้อแดงมีฐานเสียงแข็งแกร่งในภาคอีสาน  แต่ทั้งสององค์กรไม่เคยโฆษณาตัวเองในฐานะ “อีสาน”  แกนนำของทั้งสององค์กรถูกครอบงำด้วยคนไทยจากภูมิภาคอื่น  แกนนำคนเสื้อแดงที่มีชื่อเสียงอันประกอบด้วย จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ล้วนแต่เป็นคนใต้  ส่วนนักการเมืองอันดับต้นๆ ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562 ก็มาจากภาคกลางและกรุงเทพ  ตระกูลชินวัตรที่เป็นผู้นำพรรคเพื่อไทยมายาวนานถือว่าเชียงใหม่เป็นบ้านเกิด  แต่พวกเขาก็ไม่เหนียมอายที่จะย้ำเน้นความเป็นคนเชื้อสายจีนและการมีฐานที่ตั้งในกรุงเทพ  ในการเมืองไทยนั้น ชาติพันธุ์มีความสำคัญน้อยกว่านโยบาย ชนชั้นและบารมีส่วนบุคคล

เหตุใดเราจึงไม่เห็นการระดมมวลชนชาวอีสานเกิดขึ้น?  ผู้เขียนขอเสนอว่าคำตอบส่วนใหญ่พบได้ในความสำเร็จของการหลอมรวมชาวอีสานเข้ามาอยู่ในอัตลักษณ์ความเป็นชาติไทย  ในขณะที่อัตลักษณ์เชิงชาติพันธุ์-ภูมิภาคอาจเป็นแรงขับดันกิจกรรมทางการเมืองบางอย่าง แต่สุดท้ายมันก็ยังอยู่ภายใต้อัตลักษณ์ที่ใหญ่กว่านั้น จนทำให้ไม่สามารถระดมบุคคลและกลุ่มเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง  การวิจัยในระยะหลังชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกซึมซับลัทธิชาตินิยมสามารถเอาชนะความแตกต่างด้านชาติพันธุ์และกระตุ้นให้กลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างด้านชาติพันธุ์เห็นความสำคัญของความเป็นเอกภาพในชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ 9   รัฐจึงสามารถใช้ประโยชน์จากอัตลักษณ์ความเป็นชาติมาเป็นสะพานเชื่อมความแตกแยกร้าวลึกทางสังคมได้

อย่างน้อยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชาวอีสานนั้น รัฐไทยใช้นโยบายการหลอมรวมชาติพันธุ์มานานกว่า 100 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อกลืนกลายให้ชาวลาวในอีสานอยู่ภายใต้อัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ใหญ่กว่า  นโยบายนี้เริ่มต้นภายใต้การปฏิรูปเพื่อรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัชกาลที่ 5 (2411-2453) และดำเนินต่อมาภายหลังการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475  โดยเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนที่สุดในนโยบายการศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานให้ใช้ภาษาไทยกลางเหมือนกันหมดทั่วทั้งประเทศ โดยยึดเอาภาษาเป็นเสาหลักสำคัญเสาหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย  ชาร์ลส์ คายส์เสนอเหตุผลว่า ชาวอีสานจำนวนมากรับเอาภาษาไทยกลางและอัตลักษณ์ไทยเพื่อบูรณาการตัวเองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดและได้รับผลดีเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการระบุว่าตนเป็นคนไทย 10

ถ้าเช่นนั้น คำถามก็คือการหลอมรวมนี้ประสบความสำเร็จในการดึงชาวอีสานเข้ามาอยู่ในชุมชนความเป็นไทยในระดับไหน ทั้งๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญความเสียเปรียบและถูกกีดกันมาตลอด  ผู้เขียนสำรวจดูประเด็นนี้โดยอาศัยทั้งข้อมูลจากแบบสอบถาม รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างชุดหนึ่งที่ระบุบอกว่าตนเป็นคนอีสาน  การอภิปรายถึงผลลัพธ์จากการสำรวจอย่างละเอียดลออกว่านี้มีนำเสนออยู่ในงานเขียนชิ้นอื่น 11  ส่วนในที่นี้ ผู้เขียนขอสรุปข้อค้นพบสองสามประการดังนี้

ประการแรก ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามในการสำรวจระดับชาติถึง 4 ครั้งสนับสนุนข้อสรุปว่า ชาวอีสานรับเอาอัตลักษณ์ความเป็นชาติไทยเป็นอัตลักษณ์ของตนแล้ว  ทั้งสำนัก Asian Barometer (AB) 12 และสำนัก World Values Survey (WVS) 13 ได้ดำเนินการสำรวจหลายรอบในประเทศไทย รวมทั้งตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาติ และมีการระบุบ่งชี้ภาษาบ้านเกิดของผู้ตอบแบบสอบถามไว้ด้วย  การสำรวจนี้ช่วยให้เราเปรียบเทียบคำตอบระหว่างประชากรชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อทดสอบว่านโยบายหลอมรวมข้างต้นประสบความสำเร็จแค่ไหนในการโน้มน้าวให้ชาวอีสานเชื่อใน “ความเป็นไทย” ของตน  ถ้านโยบายรัฐไม่ได้ผล เราก็น่าจะได้เห็นคำตอบของชาวอีสานมีความชาตินิยมน้อยกว่ากลุ่มประชากรที่พูดภาษาไทยกลางโดยรวม  ในอีกด้านหนึ่ง ถ้านโยบายดังกล่าวได้ผล เราก็จะเห็นชาวอีสานตอบคำถามในระดับที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประชากรอื่นในชาติ

รูป 2. “คุณภูมิใจในความเป็นคนไทยแค่ไหน?”
หมายเหตุ: กลุ่มประชากรที่พูดภาษาไทยกลางถือเป็นคะแนนฐาน (0) แผนภูมิแท่งแทนช่วงความเชื่อมั่น 95%
จำนวนผู้พูดภาษาในแต่ละกลุ่มมีดังนี้:
WVS (2007) ไทยกลาง 641, อีสาน 494, คำเมือง 106, ปักษ์ใต้ 175;
AB (2010) ไทยกลาง 772, อีสาน 450, คำเมือง 63, ปักษ์ใต้ 161;
WVS (2013) ไทยกลาง 560, อีสาน 403, คำเมือง 81, ปักษ์ใต้ 106;
AB (2014) ไทยกลาง 539, อีสาน 414, คำเมือง 147, ปักษ์ใต้ 87.
ข้อมูลจาก Asian Barometer Waves 3 and 4 and World Values Survey Waves 5 and 6.

ในแผนภูมิข้างต้น (รูป 2)  เราเห็นความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยระหว่างกลุ่มภาษาหลัก 4 กลุ่มในประเทศไทยสำหรับคำตอบต่อคำถามว่า “คุณภูมิใจในความเป็นคนไทยแค่ไหน?”  กลุ่มทั้งสี่ประกอบด้วยผู้พูดภาษาไทยกลาง ผู้พูดภาษาอีสาน ผู้พูดคำเมืองจากภาคเหนือและผู้พูดปักษ์ใต้จากภาคใต้ของประเทศไทย 14  คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มผู้พูดไทยกลางถือเป็นคะแนนฐาน ในที่นี้คือ 0  คะแนนเหนือกว่าศูนย์บ่งชี้ว่าคำตอบของกลุ่มโดยเฉลี่ยสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มผู้พูดไทยกลาง  ส่วนคะแนนต่ำกว่าศูนย์บ่งชี้ว่าคำตอบของกลุ่มโดยเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนฐาน  ส่วนเส้นจำกัดขนาดเล็กกว่าที่พาดบนกราฟแท่งคือช่วงความเชื่อมั่น 95%  ถ้าเส้นนี้ตัดผ่านเส้นเลขศูนย์ หมายความว่าเราไม่สามารถยืนยันความแตกต่างระหว่างคำตอบของกลุ่มนั้นๆ  กับกลุ่มผู้พูดภาษาไทยกลาง

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ในแง่ความรู้สึกภาคภูมิใจกับความเป็นไทยนั้น กลุ่มผู้ตอบคำถามที่พูดภาษาอีสานมีคะแนนสูงกว่ากลุ่มผู้ตอบคำถามเดียวกันที่พูดภาษาไทยกลางอย่างคงเส้นคงวา  อันที่จริง ความแตกต่างนี้มีนัยยะสำคัญทางสถิติในการสำรวจวิจัยทั้งสี่รอบ  นอกจากนี้ ผู้พูดภาษาอีสานมีคะแนนความรู้สึกถึงอัตลักษณ์ชาติไทยสูงกว่าผู้พูดปักษ์ใต้ในการสำรวจทุกรอบ  ส่วนความแตกต่างระหว่างผู้พูดภาษาอีสานกับคำเมืองมีความคงเส้นคงวาน้อยกว่า  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ชาวอีสานโอบรับอัตลักษณ์ชาติไทยในระดับที่สูงกว่าผู้พูดภาษาไทยกลางเสียอีก และอย่างน้อยที่สุดก็สูงในระดับเดียวกับกลุ่มอื่นๆ ในภาคอีสานและภาคใต้

รูป 3. “ฉันแลเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย”
หมายเหตุ: กลุ่มประชากรที่พูดภาษาไทยกลางถือเป็นคะแนนฐาน (0) แผนภูมิแท่งแทนช่วงความเชื่อมั่น 95%
จำนวนผู้พูดภาษาในแต่ละกลุ่มมีดังนี้:
WVS (2007) ไทยกลาง 641, อีสาน 494, คำเมือง 106, ปักษ์ใต้ 175;
WVS (2013) ไทยกลาง 560, อีสาน 403, คำเมือง 81, ปักษ์ใต้ 106;
ข้อมูลจาก World Values Survey Waves 5 and 6.

เมื่อทำการทดสอบแบบเดียวกันกับคะแนนคำตอบเกี่ยวกับระดับความเห็นพ้องที่มีต่อข้อความว่า “ฉันแลเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย”  เราได้เห็นอีกครั้งว่าชาวอีสานมีคะแนนเชิงบวกมากกว่ากลุ่มผู้พูดภาษาไทยกลาง (รูป 3)  ความแตกต่างมีลักษณะเชิงบวกและมีนัยสำคัญในทั้งสองรอบที่สำนัก World Values Survey ทำการสำรวจ  ส่วนผลลัพธ์ของกลุ่มผู้พูดคำเมืองกับปักษ์ใต้มีความคงเส้นคงวาน้อยกว่า  ข้อค้นพบนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ความพยายามของรัฐไทยในการหลอมรวมชาติพันธุ์ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ชาวพื้นถิ่นอีสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อว่าตนเป็นคนไทย  อันที่จริง ชาวอีสานโดยรวมตอบคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ชาติไทยในเชิงบวกมากกว่ากลุ่มภาษาอื่นทั่วทั้งประเทศ

เพื่อให้มีน้ำหนักมากขึ้นในการทำความเข้าใจว่าชาวอีสานโอบรับอัตลักษณ์ความเป็นชาติไทยในระดับไหน  ผู้เขียนได้ทำการสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง (semi-structured interview) กับผู้พูดภาษาอีสานจากหลากหลายสถานภาพในสังคม  ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ชาติไทย โดยเน้นย้ำหนักแน่นเกี่ยวกับ “ความเป็นไทย” ของตน ซึ่งสรุปได้กระชับที่สุดในคำตอบของผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งเมื่อถูกตั้งคำถามให้เปรียบเทียบอัตลักษณ์ความเป็นไทยกับความเป็นอีสานของเธอ 15

ฉันต้องขออธิบายให้คุณฟังว่า คนอีสานก็คือคนไทย ไม่มีการแบ่งแยก เราภูมิใจในความเป็นอีสานของเราอย่างไร เราก็ภูมิใจในความเป็นไทยของเราอย่างนั้น เพราะคนอีสานก็คือคนไทย

หลังจากดำเนินนโยบายหลอมรวมมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ ชาวลาวในภาคอีสานก็กลายเป็นคนไทย  ถึงแม้พวกเขารักษาอัตลักษณ์ตามภูมิภาคไว้ แต่ก็มองตัวเองมีที่ทางตามธรรมชาติภายในชาติไทย  รวมทั้งภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นคนไทย

เมื่อตั้งคำถามต่อไปเกี่ยวกับศักยภาพในการระดมมวลชนด้วยอัตลักษณ์ความเป็นคนอีสาน ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่รู้สึกว่า การระดมมวลชนด้วยอัตลักษณ์เชิงชาติพันธุ์-ภูมิภาค โดยเฉพาะด้วยภาษาอีสาน อาจเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ได้ผล อย่างน้อยก็ในระดับท้องถิ่น  แต่ในระดับชาติ หลายคนกลับไม่เห็นด้วยหากนักการเมืองใช้ภาษาอีสาน  ผู้ตอบคำถามคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “มันไม่ [เหมาะ]  ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะมีคนในสังคมเยอะแยะที่ไม่อยากฟังภาษาอีสาน” 16 อีกคนหนึ่งยืนยันว่า “ฉันอยากให้เป็นอย่างนั้น แต่มันก็มีข้อเสีย  ประชาชนอาจคิดว่านักการเมืองคนนั้นเอาใจแต่คนอีสาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี” 17  อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “นักการเมืองต้องเป็นที่ยอมรับทั้งประเทศ  ถ้านักการเมืองพูดเหมือนเป็นตัวแทนแค่คนอีสาน มันจะสร้างปัญหา” 18  คำตอบเหล่านี้เน้นย้ำให้เห็นความเชื่อของผู้ให้สัมภาษณ์ว่า การเอาใจฐานเสียงในเชิงชาติพันธุ์-ภูมิภาคมีความสำคัญน้อยกว่าเอกภาพแห่งชาติ  อัตลักษณ์ความเป็นอีสานจึงต้องอยู่ภายใต้ความเป็นไทยที่ใหญ่กว่า

ด้วยเหตุนี้ ลัทธิชาตินิยมไทยที่เข้มข้นจึงช่วยลดแรงกดดันมิให้เกิดการระดมมวลชนเชิงชาติพันธุ์-ภูมิภาคในภาคอีสาน  ทั้งๆ ที่ชาวอีสานยังคงด้อยโอกาสทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง แต่ความเสียเปรียบเหล่านี้กลับไม่นำไปสู่การเกิดขบวนการระดับภูมิภาคหรือพรรคการเมืองเชิงชาติพันธุ์ ซึ่งอาจส่งเสริมความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์มากกว่านี้  อีกทั้งดูเหมือนว่าการระดมมวลชนแบบนั้นยังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้  โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยมีกองทัพขี้ระแวงคอยแทรกแซงทางการเมืองไม่หยุดหย่อนและเฝ้าตอกย้ำอัตลักษณ์แห่งชาติที่รัฐไทยเห็นชอบอย่างแข็งขัน

Jacob I. Ricks
Assistant Professor of Political Science. School of Social Sciences, Singapore Management University

Banner: Udon Thani, a major city in northeast of Thailand. Image: M2020 / Shutterstock.com

 
 

 

 

Notes:

  1. John Draper and Joel Sawat Selway, “A New Dataset on Horizontal Structural Ethnic Inequalities in Thailand in Order to Address Sustainable Development Goal 10,” Social Indicators Research 141, no. 1 (2019), 275-297.
  2. Lt. General Saiyut Koetphon, “Govt Policy is Leading to Disaster in the Hills,” Bangkok Post (January 4, 1976).
  3. John Draper, “Tales from the Wasteland I: Thai IQ by Ethnicity,” Prachatai English (January 11, 2016): https://prachatai.com/english/node/6684; John Draper, “Tales from the Wasteland II: Thai Language Ability and Failure by Ethnicity,” Prachatai English (12 September, 2016): https://prachatai.com/english/node/6766.  
  4. UNDP, Advancing Human Development through the ASEAN Community (Bangkok: UNDP, 2014), 63-64.
  5. Thak Chaloemtiarana, Thailand: The Politics of Despotic Paternalism (Ithaca: Cornell University Press, 2007), 59-62, 127-130.
  6. ข้อยกเว้นที่โดดเด่นมากคือเผด็จการทหารสองคน กล่าวคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2502-2506) และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557-ปัจจุบัน) ซึ่งเน้นย้ำรากเหง้าความเป็นชาวอีสาน “100%” จากข้อที่บ้านเกิดของมารดาอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งเขาเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กในค่ายทหารที่โคราช โปรดดู MGR Online, “ประยุทธ์โชว์เลือดอีสานร้อยเปอร์เซ็นต์ ยันไม่ทรยศบ้านเกิด วอนขอเวลาอย่าประท้วง” 2 กุมภาพันธ์ 2558, https://mgronline.com/politics/detail/9580000013021.
  7. โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Jacob I. Ricks, “The Effect of Language on Political Appeal: Results from a Survey Experiment in Thailand,” Political Behavior, https://doi.org/10.1007/s11109-018-9487-z (2018).
  8. Saowanee Alexander and Duncan McCargo, “Diglossia and Identity in Northeast Thailand: Linguistic, Social, and Political Hierarchy,” Journal of Sociolinguistics 18, no. 1 (2014), 60-86; Saowanee Alexander and Duncan McCargo, “Exit, Voice, (Dis)loyalty? Northeast Thailand after the 2014 Coup,” in After the Coup: The National Council for Peace and Order Era and the Future of Thailand, eds. Michael Montesano et al. (Singapore: ISEAS, 2019), 90-113.
  9. Volha Charnysh, Christopher Lucas, and Prerna Singh, “The Ties that Bind: National Identity Salience and Pro-Social Behavior Toward the Ethnic Other,” Comparative Political Studies 48, no. 3 (2015), 270-275; Andreas Wimmer, Nation Building: Why Some Countries Come Together While Others Fall Apart (Princeton: Princeton University Press, 2018): 28-32.
  10. Charles F. Keyes, Finding their Voice: Northeastern Villagers and the Thai State (Chiang Mai: Silkworm Books, 2014), 110-111, 140-149.
  11. Jacob I. Ricks, “Proud to be Thai: The Puzzling Absence of Ethnicity-Based Political Cleavages in Northeastern Thailand,” Pacific Affairs 92, no. 2 (2019), 257-285.
  12. Fu Hu and Yun-han Chu, Asian Barometer (Taipei: National Taiwan University, 2017), multiple rounds, www.asianbarometer.org.
  13. Ronald Inglehard et al., eds., World Values Survey: All Rounds – Country-pooled Datafile (Madrid: JD Systems Institute, 2014), www.worldvaluessurvey.org.
  14. Paul M. Lewis, Gary F. Simons, and Charles D. Fennig, “Ethnologue: Languages of Thailand,” in Ethnologue: Languages of the World, vol. 18, eds. Paul M. Lewis et al. (Dallas, TX: SIL International, 2015); Suwilai Premsrirat et al. Phaenthi Phasa Khong Klumchatphan Tang-Tang Nai Prathed Thai [Ethnoliguistic Maps of Thailand], (Bangkok: Mahidol University, 2004), 16, 33-60.
  15. Interview, July 24, 2017, Sakon Nakhorn.
  16. Interview, December 14, 2016, Bangkok.
  17. Interview, April 5, 2017, Khon Kaen.
  18. Interview, July 19, 2017, Khon Kaen.