ภาวะปกติใหม่: ยี่สิบปีของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียยุคหลังซูฮาร์โต

Paige Johnson Tan

Paige-Johnson-Tan-Suharto-20-years

เมื่อซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียในเดือนพฤษภาคม 1998 เส้นทางของประเทศยังไม่มีความแน่นอน  การเปลี่ยนระบอบสู่ประชาธิปไตยจะเดินหน้าได้หรือไม่?  จะมีการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างจนกลายเป็นการนองเลือดดังที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียหรือไม่?  ยี่สิบปีให้หลัง อินโดนีเซียยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ผันผวนและรอดจากภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างหวุดหวิดหลายครั้ง  บทความนี้จะใช้มรรควิธีศึกษาของ Juan Linz และ Alfred Stepan ในการทำความเข้าใจการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย (Democratic Consolidation) เพื่อประเมินระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียในช่วงยี่สิบปีหลังการโค่นล้มระบอบซูฮาร์โต 1  บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้อินโดนีเซียก้าวไปในทิศทางของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยในหลายๆ ด้าน กระทั่งระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นภาวะปกติใหม่ไปแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาท้าทายสาหัสสากรรจ์อีกหลายประการ เช่น องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย สื่อมวลชนที่ทำตัวเป็นภัยคุกคามและขาดความเป็นมืออาชีพ พรรคการเมืองที่ใส่ร้ายป้ายสีกัน ความอ่อนแอในหลักนิติธรรม การคอร์รัปชั่นในระบบราชการและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

เงื่อนไขเบื้องต้น: ความเป็นรัฐ

สำหรับ Linz และ Stepan การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยมีเงื่อนไขเบื้องต้นประการหนึ่ง นั่นคือ ความเป็นรัฐ  มีแต่รัฐเท่านั้นที่มีประสบการณ์กับระบอบประชาธิปไตยได้  หากไม่มีความเป็นรัฐ ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีทางก่อเกิดเป็นตัวเป็นตน  ดังนั้น ประเทศที่ประสบปัญหาการแบ่งแยกดินแดนอย่างรุนแรงจึงต้องพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย  เมื่ออินโดนีเซียเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 1998  หลายคนกังวลว่าประเทศนี้จะยังรวมกันติดหรือไม่หากปราศจากผู้นำเผด็จการมากบารมีคอยกำกับเขตแคว้นต่างๆ ไม่ให้นอกลู่นอกทาง  เหตุรุนแรงระหว่างชุมชนคริสต์และมุสลิมในเมืองอัมบนและเมืองโปโซทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่า จะมีความวุ่นวายบานปลายขึ้นมาในช่วงต้นของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการ  รวมทั้งปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินมายาวนานในอาเจะห์ด้วย  การเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ติมอร์ตะวันออกได้ลงประชามติรับรองการแยกตัวเป็นเอกราชโดยมีสหประชาชาติเข้ามาช่วยกำกับดูแล  กระนั้นก็ตาม การณ์ปรากฏในภายหลังว่า ถึงแม้เกิดความรุนแรงอันน่าหวาดหวั่นบ้าง แต่เหตุร้ายเหล่านี้ไม่ได้นำมาซึ่งการท้าทายความเป็นรัฐของอินโดนีเซียในระดับประเทศ  ติมอร์ตะวันออกแยกตัวไปก็จริง แต่เรื่องนี้ไม่ได้สั่นคลอนการดำรงอยู่ของรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่แตกต่างออกไปของดินแดนนี้ (อินโดนีเซียเพิ่งรุกรานเข้าไปยึดครองติมอร์ตะวันออกเมื่อปี 1975 นี้เอง)  ข้อตกลงสันติภาพในเมืองอัมบน โปโซ และกระทั่งในอาเจะห์ ช่วยบรรเทาความขัดแย้งในพื้นที่เหล่านั้นให้สงบลง  ถึงแม้ต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ต่อบูรณาการด้านดินแดนของประเทศ แต่อินโดนีเซียก็ธำรงรักษาความเป็นรัฐไว้ได้

ภาคประชาสังคม

ภาคประชาสังคมเป็นเวทีที่อิสระจากรัฐ เป็นพื้นที่ที่ประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มและสมาคม  ภาคประชาสังคมของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย มีส่วนในการโค่นล้มประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 1998 ด้วยการประท้วงต่อเนื่องหลายเดือน  หลังจากผู้นำเผด็จการร่วงจากบัลลังก์แล้ว สาธารณชนอินโดนีเซียยังคงสนใจมีส่วนร่วมและรวมตัวกันสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเตาะแตะของประเทศ  กลุ่มใหม่ๆ ปรากฏตัวขึ้น องค์กรเก่าๆ ได้พื้นที่ใหม่ๆ ในการแสดงออก  ชาวอินโดนีเซียร่วมมือกันให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง ติดตามตรวจสอบการเลือกตั้ง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น  กลุ่มเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นปทัสถานใหม่ของสังคม

อย่างไรก็ตาม มีการรวมตัวของกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้สนับสนุนความเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ถึงแม้กลุ่มเหล่านี้อาศัยประโยชน์จากเสรีภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นเพื่อรวมตัวจัดตั้งก็ตาม  กลุ่ม “แนวหน้าปกป้องอิสลาม” (Front Pembela Islam, FPI) ทึกทักว่าตัวเองมีหน้าที่บังคับใช้ข้อห้ามตามศาสนาอิสลาม จึงใช้กำลังและการข่มขู่ต่อเป้าหมายต่างๆ เช่น ประชาชนที่ฉลองวันคริสต์มาส ดื่มสุรา พลเมืองที่เป็น LGBT ตลอดจนคนมุสลิมเองที่ถูกมองว่าแชเชือนจากความเป็นมุสลิม  กลุ่มก่อการร้าย ทั้งที่ก่อตัวขึ้นเองในประเทศและที่มีความเชื่อมโยงกับขบวนการอัลกออิดะฮ์และต่อมาคือ ISIS  มีปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายต่างๆ เช่น โรงแรม ตลาดหุ้น ศาสนสถานและตลาดโต้รุ่งด้วย

กลุ่มแนวหน้าปกป้องอิสลามประสบความสำเร็จในการรุกเข้าสู่เวทีการเมือง โดยเข้ามาขัดขวางมิให้ผู้ว่าการจาการ์ตา นายบาซูกี จาฮายา ปูร์นามา (หรือที่เรียกกันว่า อาฮก) ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีนและนับถือคริสต์ ไม่ได้รับการเลือกตั้งสมัยที่สองในปี 2017  FPI และองค์กรอื่นๆ ร่วมมือกันรณรงค์ทางสื่อสังคมออนไลน์และเดินขบวนประท้วงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารว่า ผู้ที่ไม่ใช่เชื้อสายคนพื้นเมืองและไม่ใช่มุสลิมไม่ควรเป็นผู้นำของคนมุสลิมที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย  นอกจากนั้น FPI ยังเรียกร้องให้ดำเนินคดีอาฮกข้อหาลบหลู่ศาสนา จนสุดท้ายเขาถูกลงโทษจำคุกถึงสองปี  ถึงแม้คนจำนวนมากอาจไม่นิยมชมชอบลีลาขวานผ่าซากและนโยบายเสรีนิยมใหม่ของอาฮก แต่การที่ FPI มุ่งโจมตีสิทธิของพลเมืองอินโดนีเซียในการดำรงตำแหน่งเพียงเพราะชาติพันธุ์และศาสนาของคนผู้นั้น ถือเป็นการบ่อนเซาะทำลายระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย

Islamist-protests-against-Basuki
Islamist protests against Basuki in Jakarta, 31 March 2017. Photo: Wikimedia Commons

สื่อมวลชนของอินโดนีเซียผุดขึ้นมามากมายในยุคปฏิรูป เปิดโอกาสให้เสียงของกลุ่มคนต่างๆ มีช่องทางแสดงออก  กระนั้นก็ตาม เสรีภาพของสื่อยังมีปัญหาในประเทศนี้  อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 124 จากทั้งหมด 180 ประเทศในดัชนีด้านเสรีภาพสื่อขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดนประจำปี 2018 2  นักข่าวต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อรายงานข่าวในบางพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในปาปัว ปาปัวตะวันตกและอาเจะห์  นอกจากนี้ นักข่าวต้องเผชิญความรุนแรงและหวั่นเกรงภัยอันเป็นผลจากการรายงานข่าวของตน โดยเฉพาะเมื่อข่าวนั้นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในพื้นที่ กลุ่มศาสนาหัวรุนแรงและการคอร์รัปชั่น  สมาชิกในวงการสื่อบางคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย เนื่องจากพวกเขารับสินบนเพื่อลงข่าวในด้านดี ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือเอียงข้างใดข้างหนึ่ง (นักการเมืองอินโดนีเซียหลายคนเป็นเจ้าของสำนักสื่อ)  คาดการณ์กันว่า “ข่าวปลอม” จะมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งระดับภูมิภาคและระดับชาติที่กำลังจะมาถึง

สังคมการเมือง

นอกจากภาคประชาสังคม การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยปรากฏในแวดวงของสังคมการเมืองด้วย  นี่คือพื้นที่ที่พลเมืองรวมตัวกันเพื่อแข่งขันชิงอำนาจรัฐ  หลังจากซูฮาร์โตหมดอำนาจ มีการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ หลายร้อยพรรค  เมื่อเวลาผ่านไป มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองและการเลือกตั้งเพื่อลดจำนวนพรรคการเมืองลง โดยตั้งเงื่อนไขว่าพรรคจะต้องมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนในระดับชาติถึงระดับที่กำหนดไว้  มีพรรคการเมืองเพียง 16 พรรคเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งปี 2019  ส่วนในอาเจะห์มีเพียงแค่ 4 พรรค  จำนวนพรรคการเมืองที่มีประสิทธิผล (effective number of parties) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ประเมินน้ำหนักของพรรคการเมืองในระบบการเมือง คือ 5.1 ในปี 1999 และ 8.9 ในปี 2014 3  ดังนั้น ถึงแม้จำนวนพรรคการเมืองโดยรวมลดลงก็ตาม แต่จำนวนของพรรคที่มีผลต่อการคำนวณกลับเพิ่มมากขึ้น  ฐานเสียงของแต่ละพรรคมีระดับแตกต่างกันไปในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง  พรรคการเมือง 3 พรรค กล่าวคือ Partai Demokrasi Indonesia-Perjuangan, Golkar และ Partai Demokrat ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุดในระดับรัฐสภาจากการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังจากซูฮาร์โตหมดอำนาจ  ในปัจจุบัน ตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียแข็งแกร่งมากขึ้นจากการเลือกตั้งโดยตรง และการจับมือกันของพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงในระดับหนึ่งเท่านั้นจึงสามารถเสนอตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งได้  การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2004 ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีบุคลิกโดดเด่นมีโอกาสเข้าสู่อำนาจมากกว่าการมีฐานสนับสนุนเชิงสถาบัน/พรรคการเมือง

อินโดนีเซียในสมัยซูฮาร์โตมีลักษณะรวมศูนย์อย่างมาก  แต่ในยุคปฏิรูป มีการกระจายอำนาจทางการเมืองโดยให้อำนาจและหน้าที่แก่ส่วนการปกครองในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคมากขึ้น  ในทำนองเดียวกัน ส่วนการปกครองในระดับล่างก็เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ผู้ว่าการเขตและผู้ว่าการจังหวัดโดยตรง  เมื่อฝ่ายค้านภายใต้การนำของนายปราโบโว ซูเบียนโต พรรค Gerindra พยายามเสนอให้ยกเลิกการเลือกตั้งโดยตรงในภูมิภาคเมื่อปี 2014  ความพยายามนี้ล้มคว่ำไปด้วยแรงกดดันของสาธารณชน

ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอินโดนีเซียแสดงให้เห็นแรงสนับสนุนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง  ในการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันเพื่อระบบเลือกตั้งระหว่างประเทศ (International Foundation for Election Systems) ภายหลังการเลือกตั้งปี 2014  ชาวอินโดนีเซียถึงร้อยละ 82 ตอบแบบสอบถามว่า พวกเขามีความพึงพอใจหรือพึงพอใจมากกับกระบวนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาระดับชาติ 4  ปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกอบด้วย การรณรงค์หาเสียงที่มีต้นทุนสูง (ทำให้ผู้ได้รับเลือกตั้งต้องถอนทุนคืนและพรรคการเมืองจำเป็นต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อหาแหล่งทุน)  ผู้สมัครรับเลือกตั้งจ่ายเงินซื้อเสียงและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงไม่ถูกต้องแม่นยำ  ถึงแม้มีปัญหาหลายประการข้างต้น แต่จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ก็สูงมากในการเลือกตั้งทั้ง 4 ครั้ง (75% ในปี 2014) ชี้ให้เห็นว่าประชาชนสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซียอย่างขันแข็ง 5

ในขณะที่การเลือกตั้งกลายเป็นความคุ้นเคยส่วนหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศอินโดนีเซีย พรรคการเมืองกลับมีปัญหาด้านภาพพจน์  ในช่วงต้นของการเปลี่ยนผ่านภายหลังยุคซูฮาร์โต ประชาชนที่ตอบแบบสำรวจความคิดเห็นแสดงความนิยมชมชอบต่อพรรคการเมืองใหม่พรรคใดพรรคหนึ่ง  แต่พอมาถึงวันนี้ “ความจงรักภักดีของประชาชนต่อพรรคการเมืองมีแนวโน้มจืดจางลง” ตามคำกล่าวของจายาดี ฮานัน ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์วิจัย Saiful Mujani Research Center 6  เหตุผลที่ทำให้สาธารณชนคลายความนิยมมีอาทิ นักการเมืองที่พูดอะไรก็ได้เพื่อตำแหน่ง การประสานผลประโยชน์เพื่อแบ่งสันปันส่วนอำนาจ  การโกงกินอย่างอื้อฉาวเอิกเกริก และความล้มเหลวของพรรคการเมืองในการสร้างสถาบันที่ยืนยง

หลักนิติธรรม

หลักนิติธรรมคือเวทีอีกแห่งหนึ่งที่ใช้วัดการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย  ระบอบประชาธิปไตยจะมีความเป็นปึกแผ่นก็ต่อเมื่อคนทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ มีความเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมาย  ตามความคิดเห็นของศาสตราจารย์ฮิกมาฮันโต จูวานา อาจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ในสมัยซูฮาร์โต กฎหมายเป็น “แค่เครื่องประดับ”  ส่วนหลักนิติธรรมในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเดิม 7  อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญยังมีอยู่  ตามดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) อินโดนีเซียอยู่ที่อันดับ 63 จาก 113 ประเทศ 8  คะแนนที่เป็นจุดอ่อนของประเทศนี้คือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการคอร์รัปชั่น  ผู้พิพากษา อัยการและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ล้วนแล้วแต่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความฉ้อฉล  ตามความคิดของศาสตราจารย์ฮิกมาฮันโต  สาเหตุที่ทำให้หลักนิติธรรมมีจุดอ่อนคือค่าจ้างต่ำ ทรัพยากรมนุษย์ด้อยคุณภาพ และการเรียนกฎหมายไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร 9

ระบบรัฐการ

นอกจากหลักนิติธรรม เงื่อนไขอีกประการในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยคือรัฐที่มีประสิทธิภาพ  ใครจะคอยค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยเกิดใหม่ถ้ารัฐไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ?  ในช่วงต้นของการเปลี่ยนผ่าน ดูเหมือนรัฐอินโดนีเซียจะคลอนแคลน  ประเทศต้องเผชิญหน้ากับ Kristal หรือวิกฤตการณ์รอบด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความรุนแรงในชุมชน และการโจมตีของผู้ก่อการร้าย  กระนั้นก็ตาม รัฐอินโดนีเซียเอาตัวรอดมาได้  การเมืองค่อยๆ สร้างระบบรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาอย่างยากลำบาก  การเลือกตั้งในปี 2004 ส่งผลให้อินโดนีเซียมีประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมและได้รับความเชื่อถือว่าจะสามารถสร้างเสถียรภาพ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับกลไกรัฐ  เศรษฐกิจค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจากความซบเซาเพราะวิกฤตการณ์ทางการเงิน (ซึ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 13.8% ในปี 1998) จนทะลุอัตราการเติบโตถึง 4-6% ต่อปีในช่วงทศวรรษ 2000 ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น  มีการเจรจาข้อตกลงสันติภาพในเมืองอัมบนและโปโซเพื่อคลายความตึงเครียดระหว่างชุมชนทางศาสนาภายในประเทศ  หน่วยรบพิเศษที่มีชื่อว่า Detachment 88 ซึ่งเป็นกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จในการตามล่าและจับกุมผู้ก่อการร้าย ช่วยลดภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยเกิดใหม่  รัฐฝ่าฟันผ่าน Kristal และเอาตัวรอดมาจนได้

Indonesia’s People’s Representative Council. Photo: Wikimedia Commons

แต่ระบบรัฐการยังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น  ตามดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index) ประจำปี 2017 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ 10  นักการเมืองมักปราศรัยต่อต้านการคอร์รัปชั่นระหว่างหาเสียง แต่พอเข้าสู่ตำแหน่งแล้วก็ทำได้แค่พยายามปราบปราม (ถ้าหากพยายามบ้างจริงๆ)  การได้รับค่าจ้างต่ำทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่าตนจำเป็นต้องคอร์รัปชั่นเพื่อเลี้ยงปากท้อง  พรรคการเมืองจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อต่อสู้ในการเลือกตั้งหากต้องการอยู่ในอำนาจ แต่ดูเหมือนช่องทางเดียวที่พรรคจะหาแหล่งทุนได้คือแปรการควบคุมรัฐให้กลายเป็นเงิน ซึ่งก็คือการคอร์รัปชั่นนั่นเอง  ประธานาธิบดีจำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาลในการผลักดันวาระตามนโยบาย นั่นหมายความว่าบางครั้งผู้นำต้องแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นการคอร์รัปชั่นเพื่อรักษาเป้าหมายใหญ่เอาไว้  การคอร์รัปชั่นก็เช่นเดียวกับอำนาจ มันฝังตัวลงในระบอบประชาธิปไตยและมีการถ่ายโอนเงินลงไปตามลำดับชั้นทางการเมือง จากจังหวัดสู่เมืองและเทศบาล  หลายครั้งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า คณะกรรมาธิการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนชาวอินโดนีเซียอย่างมาก ไม่มีทางจับได้ไล่ทันจำเลยของตัวเองเลย

สังคมเศรษฐกิจ

การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในเวทีของสังคมเศรษฐกิจเช่นกัน  ระบอบประชาธิปไตยสร้างเงื่อนไขว่าพลเมืองทุกคนต้องมีสมรรถนะทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมือง  หากทรัพยากรตกอยู่ในการควบคุมขององค์ภาวะ (รัฐ) หรือกลุ่ม (คณาธิปไตย) หนึ่งใดมากเกินไป ก็อาจทำให้การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดปัญหาสั่นคลอน

ในอินโดนีเซีย การที่รายได้มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างสูงนับเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในสังคมเศรษฐกิจ  ค่าสัมประสิทธิ์จีนี ซึ่งเป็นมาตรวัดความไม่เท่าเทียม มีค่าสูงขึ้นตลอดช่วงยุคปฏิรูปอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ จาก .30 ในปี 2000 พุ่งขึ้นไปเป็น .41 ในปี 2013 11  นี่คือข้อเท็จจริงที่สำคัญและน่าประหลาดใจ  กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยซึ่งมุ่งหมายกระจายอำนาจทางการเมืองกลับทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอย่างเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม อย่างน้อยก็เท่าที่เห็นในระยะสั้น  ระบบการเมืองเต็มไปด้วยเหล่ามหาเศรษฐีและกระทั่งอภิมหาเศรษฐีที่ให้เงินทุนสนับสนุนพรรคการเมืองหรือผลักดันตัวเองลงสมัครรับเลือกตั้ง  การหาเสียงในอินโดนีเซียมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะสภาพแวดล้อมที่สื่อมวลชนมีอิทธิพลและการสำรวจความคิดเห็นมีบทบาทชี้นำ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีเงินฟ่อนได้เปรียบหลายขุม  แต่ระบบที่บริหารโดยชนชั้นสูงเพียงฝ่ายเดียวย่อมสร้างปัญหาต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย

บทสรุป

การใช้แว่นขยายของ Linz และ Stepan มาทำความเข้าใจการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ช่วยเน้นให้เห็นแง่มุมต่างๆ ที่เป็นกุญแจสำคัญในเส้นทางของประเทศนี้  โดยรวมแล้ว ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็น “กติกาเดียวที่มีอยู่” หรือ “ภาวะปกติใหม่” 12  อินโดนีเซียเอาตัวรอดจากปัญหาท้าทายต่อความเป็นรัฐ บรรลุเงื่อนไขเบื้องต้นของ Linz และ Stepan ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย  ภาคประชาสังคมขยายตัวอย่างน่าทึ่ง สื่อมวลชนรูปแบบต่างๆ ผุดขึ้นมามากมาย  ในสังคมการเมือง การเลือกตั้งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและการมีส่วนร่วมก็ขยายเป็นวงกว้าง  รัฐแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านสำคัญอย่างการผลักดันความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและการสร้างเสถียรภาพ

 แต่กรอบการมองของ Linz และ Stepan ก็มีตัวกรองที่ช่วยให้เรามองเห็นหลายแง่มุมที่เป็นจุดอ่อน  องค์กรภาคประชาสังคมไม่ได้ปวารณาตนแก่จิตวิญญาณของระบอบประชาธิปไตยเกิดใหม่ไปหมดทุกองค์กร  ในทำนองเดียวกัน สื่อก็ตกอยู่ภายใต้การคุกคามและบ้างก็ขาดความเป็นมืออาชีพในบางครั้ง  ความชอบธรรมของพรรคการเมืองอยู่ในระดับต่ำ  หลักนิติธรรมอ่อนเปลี้ย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต  ระบบรัฐการยังมีการคอร์รัปชั่นในระดับสูง  จุดอ่อนดังกล่าวนี้แต่ละจุดล้วนมีศักยภาพที่จะบ่อนเบียนทำลายระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย เพราะมันมีส่วนในการลดทอนความชอบธรรมของภาวะปกติใหม่

Paige Johnson Tan, Ph.D
Professor
Department of Political Science
Radford University, USA

References

Ahmad, Saidiman.  “Elektabilitas PDIP dan Jokowi Terus Menguat.” Saifulmujani.com. January 3, 2018. http://saifulmujani.com/blog/2018/01/03/elektabilitas-pdip-dan-jokowi-terus-menguat (accessed March 6, 2018).
Gantan, Josua.  “Rule of Law Seen as Indonesia’s Achilles Heel.” Jakarta Globe, April 17, 2014 http://jakartaglobe.id/news/rule-law-seen-indonesias-achilles-heel/ (accessed May 7, 2018).
IFES. Executive Summary on Indonesia Post-Election National Survey. June 2014.  http://www.ifes.org/sites/default/files/indonesia_national_public_opinion_poll_june_2014_2014_executive_summary_2.pdf (accessed February 16, 2018).
Linz, Juan and Alfred Stepan. 1996. Problems of Democratic Transition and Consolidation.  Baltimore: Johns Hopkins University Press.
Reporters without Borders. Press Freedom Index 2018.  https://rsf.org/en/ranking (accessed May 11, 2018).
Thornley, Andrew. “Nine Takeaways from the Legislative Elections.” Elections in Indonesia. 2014.  Asia Foundation. https://asiafoundation.org/resources/pdfs/IndonesiaElections.pdf (accessed February 16, 2018), pp. 6-7.
Transparency International. Corruption Perceptions Index. 2017. https://www.transparency.org/news/feature/corruption_perceptions_index_2017 (accessed May 11, 2018).
WJP.  World Justice Project. Rule of Law Index 2017-2018. Undated. http://data.worldjusticeproject.org/#groups/IDN (accessed May 7, 2018).
World Bank. “Indonesia’s Rising Divide.” December 7, 2015.  http://www.worldbank.org/en/news/feature/2015/12/08/indonesia-rising-divide (accessed May 7, 2018).

Notes:

  1. Linz and Stepan 1996.
  2. Reporters without Borders 2018.
  3. ตัวเลขนี้มาจากการคำนวณของผู้เขียนเองโดยอาศัยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
  4. FES 2014, 1.
  5. Thornley 2014, 7.
  6. Ahmad 2018.
  7. Gantan 2014.
  8. WJP 2018.
  9. Gantan 2014.
  10. Transparency International 2017.
  11. World Bank 2015.
  12. Linz and Stepan 1996, 5.