อำนาจอิสลามกับรัฐในประเทศบรูไนดารุสซาลาม

Dominik M. Müller

อิสลามานุวัตร (Islamization) ทางการเมือง 1 ในประเทศบรูไนดารุสซาลามเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในบริบทของรัฐในระดับที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับประเทศไหนในภูมิภาคนี้  ระบบราชการศาสนาของบรูไนมีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ในการผูกขาดการสื่อสารสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม  ไม่เคยมีกลุ่มองค์กรฝ่ายค้านไม่ว่าฆราวาสหรืออิสลามกลุ่มไหนกล้าท้าทายจุดยืนทางศาสนาของรัฐบาลอย่างเปิดเผยตั้งแต่ยุคหลังอาณานิคมเป็นต้นมา  การวางนโยบายอิสลามมาจากบุคลากรฝ่ายรัฐล้วนๆ และเกิดขึ้นโดยที่สาธารณชนไม่มีทางรู้เห็น  องค์กรอิสลามที่ไม่ได้เป็นของรัฐ ศาสนาจารย์อิสระ (อุลามะอ์) หรือสื่อสิ่งพิมพ์อิสลาม “ที่ไม่ถูกควบคุม” เป็นสิ่งที่สังคมบรูไนไม่มี  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อุลามะอ์ชาวบรูไนก็คือข้าราชการนั่นเอง

ในคำประกาศเอกราชเมื่อปี 1984 สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์กล่าวว่า บรูไน “จะมีอธิปไตย ประชาธิปไตยและเอกราชภายใต้ระบอบราชาธิปไตยมลายูมุสลิมที่ตั้งอยู่บนคำสอนของศาสนาอิสลาม (สุหนี่) ตลอดไป”  2  สุลต่านมองว่าบรูไนไม่ใช่รัฐ “ฆราวาส”  ความหมายของการเป็น “ประชาธิปไตย” เป็นประเด็นที่ถกเถียงได้อีกมาก เนื่องจากบรูไนไม่เคยมีการเลือกตั้งทั่วไป ไม่มีรัฐสภา ไม่มีองค์กรฝ่ายค้าน และปกครองด้วยคณะรัฐมนตรีที่สุลต่านเป็นผู้แต่งตั้ง  สุลต่านครองอำนาจบริหารสูงสุดและ “กระทำผิดมิได้” (“can do no wrong”) ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 84B) รวมทั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงกิจการต่างประเทศและการค้า ผู้บัญชาการตำรวจและกองทัพ ตลอดจน “ประมุขของศาสนาประจำชาติ” (มาตรา 3(2)) กล่าวคือ ศาสนาอิสลาม และได้รับการยกย่องเป็น “รองผู้สำเร็จราชการของพระอัลเลาะห์บนโลก” (คอลีฟะห์หรือกาหลิบ) และ “ผู้นำของศรัทธาชน” (ulil amri)

ในปี 2004 สภานิติบัญญัติได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่หลังจากสภาชุดก่อนถูกยุบไปในปี 1983  บางคนมองว่านี่เป็นแค่ “ผักชีโรยหน้า” เพราะสมาชิกเกือบทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งเข้ามาและไม่มีอำนาจแท้จริง  บ้างมองว่านี่เป็นการขยับก้าวสู่วัฒนธรรมการเมืองใหม่ที่เปิดให้สาธารณชนมีส่วนร่วมภายใต้การกำกับควบคุม  วัฒนธรรมดังกล่าวนี้ไม่มีหลงเหลืออยู่เลยตั้งแต่เกิดการกบฏระยะสั้นๆ ในปี 1962 ตามด้วยการปกครองภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอีกหลายสิบปี  ตอนนี้สมาชิกในสังคมสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนต่อตัวแทนของสภานิติบัญญัติที่ประชุมกันปีละครั้ง  สภานี้ทำหน้าที่ “ให้การรับรอง” งบประมาณของรัฐบาลด้วย

อุดมการณ์ประจำชาติของบรูไนคือ “ระบอบราชาธิปไตยมลายูอิสลาม” (Melayu Islam Beraja–MIB) อุดมการณ์นี้มีความสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งยวด  มันสร้างอภิสิทธิ์ให้ชาติพันธุ์มลายู (Malay—M) อิสลาม (Islam—I) และราชาธิปไตย (Beraja—B) เป็นแกนหลักของอัตลักษณ์ประจำชาติ  นักวิชาการชาวบรูไนที่ปวารณาตนสนับสนุน MIB ตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์ว่า MIB เป็น “จารีตประดิษฐ์” โดยยืนยันว่าอุดมการณ์นี้สะท้อนแก่นแท้ของ “วัฒนธรรมบรูไน” ที่เก่าแก่หลายศตวรรษ ถึงแม้ตัวย่อจะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ก็ตาม (Mohd Zain 1996:45; Müller 2015:315)

MIB ได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ  “คณะกรรมการกรอบแนวคิด MIB” (MIB Concept Committee) เริ่มต้นดำเนินงานในปี 1986  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สภาสูงสุด MIB” (MIB Supreme Council)  ในปี 1990 รัฐบาลก่อตั้ง “สถาบันบรูไนศึกษา” (Academy of Brunei Studies–APB) โดยตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของเลขาธิการสภาสูงสุด MIB ด้วย  APB เป็นจักรกลสำคัญในการผลิตความรู้เกี่ยวกับ MIB  ทำหน้าที่เผยแพร่อุดมการณ์ MIB ในสามระดับ กล่าวคือ โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษาและสังคมทั่วไป  ชั้นเรียน MIB ในโรงเรียน วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเป็นวิชาบังคับ  พลเมืองทุกคนจะจบการศึกษาได้ต้องผ่านหลักสูตร MIB ก่อน  สื่อมวลชนอ้างถึง MIB อยู่เสมอและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ มักถูกตีกรอบให้รับใช้ MIB  ยกตัวอย่างเช่น การประกวดงานศิลปะหรือกวีนิพนธ์ต้องมีเนื้อหาอยู่ในกรอบของมลายู-ศาสน์-กษัตริย์  นักศึกษาที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศได้รับคำแนะนำให้ “ยึดมั่นในคุณค่าของ MIB” 3  MIB คือหัวใจของการเป็นพลเมืองดีและมีการปลูกฝังบรรทัดฐานของการแสดงความคิดเห็นในสังคมอย่างลงรากลึก  ส่วนความคิดเห็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลที่มีต่อ MIB จะเป็นเช่นไรเป็นสิ่งที่ต้องซุกซ่อนไว้ใน “การถอดรหัสลับ” (hidden transcripts) (Scott 1990)  อย่างไรก็ตาม แม้แต่ข้าราชการ MIB ก็ยังพูดตลกโปกฮากันเองด้วยการคิดความหมายของตัวอักษรย่อขึ้นมาใหม่  ส่วนการตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อกรอบอุดมการณ์นี้มีปรากฏให้เห็นในโลกไซเบอร์สเปซ (Müller 2010:157) แม้จะนานๆ ครั้งก็ตาม

 เครื่องมือทางกฎหมายและสถาบันของการปกครองแบบ MIB-อิสลาม

ประวัติศาสตร์ของนโยบายอิสลามานุวัตรในบรูไนคือประวัติศาสตร์ของการวางรากฐานให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดการนิยามเนื้อหาและข้อกำหนดสำคัญของหลักความเชื่อและการปฏิบัติในศาสนาอิสลาม  การจัดตั้งเพื่อ “ปลุกระดมด้วยลัทธิอิสลามนิยม” ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของบทความพิเศษชุดนี้ แทบไม่เคยเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ไม่เคยเกิดขึ้นในบริบทที่มีฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐเป็นหัวหอก  ถึงแม้บุคคลบางคนบางพวกอาจเห็นอกเห็นใจกลุ่มกองกำลังในต่างประเทศ (เช่น ญะมาอะห์ อิสลามียะห์Jamaah Islamiyah หรือที่มักเรียกว่ากลุ่มเจไอ)  อีกทั้งสมาชิกของกลุ่มมุสลิมที่ไม่ใช้ความรุนแรงแต่ผิดกฎหมาย (เช่น กลุ่มอัลอัรกอม– al-Arqam) ก็เคยถูกจับกุมมาก่อน  หาก “ลัทธิอิสลามนิยม” (Islamism) หมายถึงอุดมการณ์ทางการเมืองและโครงการทางสังคมที่มุ่งหมายใช้รัฐและกลไกกฎหมายของรัฐเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างกระบวนการอิสลามานุวัตรต่อสังคมแบบบนลงล่าง ตลอดจนการเข้าไปมีบทบาทในด้านการศึกษาด้วย  ในแง่นี้นับว่ารัฐบรูไนได้ปวารณาตนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปลุกระดมแบบ “อิสลามนิยม” อย่างเต็มที่มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980

หากมองในเชิงประวัติศาสตร์ ประมวลกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามมีอยู่ในบรูไนมาตั้งแต่ยุคก่อนอาณานิคมควบคู่กับปทัสถานตามธรรมเนียมประเพณี  ในยุคที่ปกครองโดยข้าหลวงใหญ่จากอังกฤษ (1906-1959 และเป็นดินแดนในอารักขาตั้งแต่ปี 1888) ข้าราชการยุคอาณานิคมแนะนำสุลต่านให้ปรับปรุงการบริหารงานแบบศาสนาให้ “ทันสมัย” โดยมีเป้าหมายในการสร้างความเป็นสถาบันและประมวลกฎหมายให้เป็นระบบ ซึ่งเป็นการสร้างรัฐและการวางกฎหมายตามความเข้าใจแบบอังกฤษ  ส่งผลให้เกิดประมวลกฎหมายออกมาเป็นลำดับ เริ่มต้นด้วย Mohammedan Laws Enactment ในปี 1912 และการก่อตั้งสถาบันใหม่ๆ จำนวนหนึ่ง  ถึงแม้มีการขยายและแตกแขนงกฎหมายเช่นนี้ก็ตาม แต่ปริมณฑลของกฎหมายอิสลามก็ยังจำกัดอยู่ในเรื่องครอบครัวและสถานะส่วนบุคคล  กระนั้นก็ตาม การกระทำความผิดตามนิยามของศาสนาบางข้อก็ถูกลงโทษทางกฎหมายได้ด้วยเช่นกัน  อำนาจของสุลต่านเริ่มลดลงเหลือแค่พิธีการทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี  แต่สุลต่านก็อาศัยพิธีการเหล่านี้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สถานะและอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของตน  ในปี 1959 บรูไนเริ่มมีอิสระในการบริหารกิจการภายในประเทศเกือบทั้งหมด  รัฐธรรมนูญปี 1959 เน้นย้ำว่าอัตลักษณ์แห่งชาติคือความเป็น “อิสลาม” และ “มลายู”  รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เอ่ยถึงสิทธิของปัจเจกบุคคล นอกจาก “การประกอบศาสนกิจ….ด้วยสันติและความกลมเกลียว” (มาตรา 3)

Sultan Hassanal Bolkiah on a poster in the capital Bandar Seri Begawan.

เนื่องจากการบริหารประเทศแบบศาสนาของบรูไนมีรากฐานมาจากยุคอาณานิคม ซึ่งค่อนข้างย้อนแย้งกันอยู่ในตัวเอง ทำให้มันมี “ภาษาเชิงสถาบัน” ในนโยบายอิสลามานุวัตรยุคปลดปล่อยหลังอาณานิคม  รวมถึงมีการออกกฎหมายใหม่ๆ ตามแนวทางอิสลาม การขยายอิทธิพลของระบบราชการศาสนาและการแบ่งอำนาจหน้าที่ใหม่  ในปี 1990 คณะทำงานเริ่มทบทวนกฎหมายที่มีอยู่เพื่อปรับเปลี่ยนให้ “สอดคล้องกับอิสลาม” มากขึ้น (Müller 2015:321)  เป้าหมายของการแก้ไขปรับเปลี่ยนคือกฎหมายที่ตกมาจากยุคอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งดำรงอยู่คู่ขนานกับกฎหมายชะรีอะห์ในยุคที่ใช้สองระบบ  ในปี 1991 และ 1992 การขายสุราและเนื้อหมูถูกสั่งห้าม  ระบบราชการเริ่มหมกมุ่นมากขึ้นกับการสั่งห้ามสิ่งที่ราชการ (โดยเฉพาะมุฟตีแห่งรัฐ) มองว่าเป็นการ “เบี่ยงเบน” จาก “อิสลามที่แท้”  เริ่มจากการสั่งห้ามศาสนาบาไฮ (Müller 2015:328) ตามมาด้วยรายการ “คำสอนเบี่ยงเบน” ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  นอกจากไม่เปิดช่องให้มีพื้นที่ถกเถียงวิวาทะเกี่ยวกับศาสนาอิสลามนอกพื้นที่ของรัฐแล้ว ในขณะเดียวกัน ระบบราชการก็ตั้งเป้าที่จะ “ชำระ” วัฒนธรรมมลายูมุสลิมให้ปลอดพ้นจากองค์ประกอบที่ “งมงาย” (Müller 2015:327ff.)  การนิยามและตอบโต้ “การเบี่ยงเบน” ทุกชนิดคือกิจกรรมของระบบราชการแห่งชาติ ควบคู่ไปกับกิจกรรมทางสังคมและการสงเคราะห์ การเผยแผ่ศาสนา การสร้างและทะนุบำรุงมัสยิด การกำกับบทเทศนาธรรมประจำวันศุกร์และการจาริกแสวงบุญ  สถาบันที่ทรงอิทธิพลได้แก่ กรมมุฟตีแห่งรัฐ กระทรวงกิจการศาสนา ศูนย์ดะวะฮ์ศาสนาอิสลาม (Da’wah—เผยแผ่ชักชวน) และกองควบคุมอะกีดะห์ (Aqidah—หลักการยึดมั่น)  สภาศาสนา (MUIB) คือ “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ในการตัดสินปัญหาเกี่ยวกับอิสลามรองลงมาจากสุลต่าน  สภานี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สุลต่านด้วย  คณะกรรมาธิการกฎหมายของสภามีมุฟตีนั่งป็นประธาน  “คำวินิจฉัยชี้ขาด” (rulings) (ในกฎหมายฉบับภาษาอังกฤษของบรูไนใช้คำนี้ในความหมายเดียวกับคำว่า ฟัตวา) มี “ผลผูกพันต่อมุสลิม (ชาฟีอี– Shafi’i) ทุกคน….ที่อาศัยอยู่ในบรูไน” ทันทีที่สุลต่านหรือสภาศาสนาตีพิมพ์คำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา  รัฐอิสลามบรูไนดำเนินนโยบายตามสำนักชาฟีอีนิกายสุหนี่และชาวมุสลิมบรูไนพึงปฏิบัติตาม

ระบบราชการตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันหลักการของ “บัญชาสิ่งถูกและสั่งห้ามสิ่งผิด” ในศาสนาอิสลาม  ยกตัวอย่างเช่น กองควบคุมอะกีดะห์ใช้หลักการนี้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมแก่การทำงานของตน  หน่วยงานก่อนหน้านี้ที่ก่อตั้งในปี 1986 คอยติดตามกรณี “เข้าทรง” ที่เชื่อว่าเกิดจากหมอผีหรือการทรงเจ้า (Müller 2015:328)  อำนาจของหน่วยงานค่อยๆ เพิ่มขึ้น  มีการขยายหน่วยงานสาขาที่คอยติดตามกรณี “การเบี่ยงเบน” ที่จัดประเภทย่อยๆ ลงไปอีก นอกเหนือจากงานบริหาร ปฏิบัติการและการสอดส่อง  หน่วยงานนี้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม เปิดโทรศัพท์สายด่วนตลอด 24 ชั่วโมงและสร้างเครือข่ายผู้ให้ข้อมูล ซึ่งผู้เขียนบทความเคยสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสองคนในปี 2017  เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งในการเสริมอำนาจรัฐในด้านศาสนาอิสลามคือฟัตวา ซึ่งมีแต่มุฟตีแห่งรัฐเท่านั้นสามารถประกาศฟัตวาได้  การประกาศ “ฟัตวาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี  การ “ล้อเลียน” หรือ “ดูหมิ่น” ฟัตวาของมุฟตีมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี  อย่างไรก็ตาม การกระทำผิดเช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นและกรณีของ “การเบี่ยงเบน” มักคลี่คลายนอกศาลด้วย “การเตือน” หรือ “การให้คำปรึกษา”

ขั้นตอนล่าสุดในการออกแบบรัฐอิสลามบรูไนในด้านสถาบันก็คือประมวลกฎหมายอาญาชะรีอะห์ปี 2013 (Syariah Penal Code Order 2013–SPCO)  การจัดเตรียมกฎหมายฉบับนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1996 แต่กว่าจะสำเร็จก็เมื่อสุลต่านประกาศครั้งแรกในปี 2011 และประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2013  มันถูกบังคับใช้ในสามขั้นตอนคือ ขั้นตอนแรกเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2014  กำหนด “ความผิดทั่วไป” (ta’zir) 55 ประการ  หมวดที่รวมการลงโทษสถานหนักมากขึ้น (hudud, qisas) จะออกตามมาในขั้นที่สองและสาม  ขั้นตอนที่สองจะนำมาใช้ในอีก 12 เดือนหลังจากออกกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาคดีอาญา (Criminal Procedure Code—CPC) ของศาลชะรีอะห์แล้ว  ในปี 2017 กล่าวกันว่ากระทรวงกิจการศาสนาและสำนักอัยการสูงสุดกำลัง “ยกร่างขั้นสุดท้าย” กฎหมายฉบับนี้อยู่  เมื่อขั้นตอนที่สองเริ่มแล้ว (12 เดือนหลังจากออก CPC)  ขั้นตอนที่สามจะเริ่มในอีก 24 เดือนหลังจากนั้น  การนำกฎหมายมาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อ “ให้ประชาชนและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมีเวลาปรับตัวจนคุ้นเคยกับกฎหมายใหม่” (Brunei Times 2014)

ในปี 2016 สุลต่านวิพากษ์วิจารณ์กระทรวงกิจการศาสนาอย่างรุนแรง (รัฐมนตรีกระทรวงนี้ถูกเปลี่ยนตัวหลังจากนั้นไม่นาน) ในประเด็นที่ไม่ยกร่าง CPC ให้แล้วเสร็จเสียที ซึ่งอาจทำให้ SPCO “ดูไร้ความหมาย” (อ้างใน Müller 2017:213)  สื่อมวลชนของรัฐมักอ้างถึง SPCO เป็นประจำ  ปัญหาท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกฎหมายและการบังคับใช้อาจถูกมองข้ามมากเกินไป  ประมวลกฎหมายอาญาฉบับก่อนยังคงใช้ต่อไปและศาลสามารถตัดสินใจในเชิงปฏิบัติเป็นกรณีๆ ไปว่าจะใช้ SPCO หรือประมวลกฎหมายอาญาเดิม  รายละเอียดของกระบวนวิธีพิจารณายังเป็นเรื่องที่ต้องกำหนดใน CPC  สุดท้ายแล้ว SPCO อาจมีแค่หน้าที่เชิงสัญลักษณ์  หมวดมาตราต่างๆ ที่บังคับใช้แล้วใน “ขั้นตอนที่หนึ่ง” ถูกนำไปใช้แค่ในไม่กี่คดีเท่านั้น  (Müller 2016:167; Müller 2017:204)

การที่สุลต่านออกมาวิจารณ์เรื่องการยกร่าง CPC ขั้นสุดท้ายล่าช้า ถือเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อไม่มีฝ่ายค้านหรือภาคประชาสังคมอิสระ สุลต่านก็ออกมาเล่นบทบาทนี้เสียเอง  เขายังวิพากษ์ระบบราชการอิสลามของตัวเองด้วยว่าประสบความสำเร็จน้อยไปในการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม (dakwah) และวิจารณ์การดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของ (อดีต) รัฐมนตรีและผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนา (Müller 2017:203)  นอกจากนี้ ในด้านอื่นๆ นั้น ประเด็นที่โดดเด่นที่สุดคือกรณีที่สุลต่านเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายมากกว่าเดิม  สุลต่านจึงเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของตัวเองที่แหลมคมที่สุด

Sultan Hassanal Bolkiah with the former President of the People’s Republic of China, Hu Jintao. Photo: Wikimedia

 วิสัยทัศน์ 2035: “ชาติที่รำลึกถึงพระอัลเลาะห์เสมอ”

สุลต่านประกาศเป้าหมายทางเศรษฐกิจใหม่ภายใต้คำขวัญ Wawasan 2035 (วิสัยทัศน์ 2035)  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดใหม่อีกประการ นั่นคือ Negara Zikir หรือ “ชาติที่รำลึกถึงพระอัลเลาะห์เสมอ”  การพึ่งพิงน้ำมันกับก๊าซยังคงเป็นปัญหาสำคัญ  ความหวังที่ฝากไว้อย่างหนึ่งก็คือ “ระบบเศรษฐกิจแบบอิสลาม”  อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 40% ของผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Sultan Sharif Ali Islamic University (UNISSA ก่อตั้งขึ้นในปี 2007) กลับไม่มีงานทำ (Müller 2017:204)  สุลต่านยืนยันว่า SPCO น่าจะสร้างงานใหม่ขึ้นมาได้  มหาวิทยาลัย UNISSA มีโครงการปริญญาควบสองใบในด้านกฎหมายและกฎหมายชะรีอะห์ ซึ่งมีผู้จบการศึกษาตามหลักสูตรนี้รุ่นแรกในปี 2016  ครั้งนั้นสุลต่านประกาศว่า ผู้จบการศึกษาจาก UNISSA พึงกระทำตนเป็น “พลังขับดัน” ให้แก่การบังคับใช้ SPCO และ “สนับสนุนการบริหารงานของรัฐบาล” (อ้างใน Müller 2017:204)  หลายหลักสูตรที่สอนในมหาวิทยาลัย UNISSA มีการเรียนการสอนกฎหมายอาญาของอิสลามด้วย  แนวโน้มเชิงอุดมการณ์ของผู้จบการศึกษาด้านอิสลามศึกษาในคนรุ่นต่อไปเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามดู  ในอดีตนั้น ข้าราชการอิสลามเป็นผู้มีบทบาทผลักดันนโยบายทางศาสนา เช่น SPCO และเป็นผู้กำหนดเนื้อหาของนโยบาย

สุลต่านวัย 71 ปีได้รับความนิยมอย่างสูงและครองตำแหน่งนี้มา 50 ปีแล้ว เขาอยู่ในสถานะที่ไม่มีใครทาบรัศมีได้  การสืบทอดอำนาจค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากเขาเตรียมการให้มกุฎราชกุมารและ “รองสุลต่าน” อัลมุห์ตาดี บิลละห์มารอรับตำแหน่งในอนาคตนานแล้ว  สุลต่านสร้างความเป็นปึกแผ่นอย่างมั่นคงด้วยการกระจายทุนเชิงวัตถุและสัญลักษณ์ในรัฐ สังคมและราชวงศ์อย่างชาญฉลาด  อำนาจเชิงสถาบันของระบบราชการศาสนาจะสร้างรากฐานให้อิทธิพลอำนาจของตัวเองต่อไปอีกหลายปี  มันยังคงเป็นศูนย์กลางของการสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจทางการเมือง  เราคงต้องจับตาดูต่อไปว่า กระบวนการภายในและแนวโน้มของมันจะพัฒนาไปทางไหน ใครจะครองตำแหน่งผู้นำในอนาคต และเนื้อหาของอุดมการณ์ “มลายู-ศาสน์-กษัตริย์” จะคลี่คลายต่อไปอย่างไร

Dominik M. Müller
Ketua Kelompok Penelitian Emmy Noether
“Birokratisasi Islam dan Dimensi Sosio-legal di Asia Tenggara“
Institut Max Planck untuk Antropologi Sosial (Halle, Jerman)
Departemen Hukum dan Antropologi

บรรณานุกรม

Academy of Brunei Studies (2016): “Students Studying Abroad Urged to Uphold Malay Islamic Monarchy Values”, 28 August, URL http://apb.ubd.edu.bn/students-studying-abroad-urged-to-uphold-malay-islamic-monarchy-values/, accessed 18 September 2017.
Brunei Times 2014: Implementation of Shariah Law. Brunei Times, 15 December.
Brunei Times (2016) “Uphold MIB Values through Creative Art”, 24 June.
Iik Arifin Mansurnoor 2008: “Formulating and Implementing a Sharia-guided Legal System in Brunei Darussalam: Opportunity and Challenge”. Sosiohumanika 1(2), 219–248.
Muhammad Hadi bin Muhammad Melayong (2015) “Crown of the People”, Borneo Bulletin, 24 June 2017, URL: https://borneobulletin.com.bn/crown-of-the-people/, accessed 18 September 2017.
Mohd Zain Serudin (1996): Melayu Islam Beraja: Suatu Pendekatan. Bandar Seri Begawan: Dewan Bahasa dan Pustaka
Müller, Dominik M. (2010) “Melayu Islam Beraja: Islam, Staat und Politische Kommunikation in Brunei Darussalam”. In H. Warnk and F. Schulze (eds.). State and Islam in Southeast Asia. Wiesbaden: Harrassowitz. 147–170.
Müller, Dominik M. (2015) “Sharia Law and the Politics of ‘Faith Control’ in Brunei Darussalam: Dynamics of Socio-Legal Change in a Southeast Asian Sultanate”. Internationales Asienforum: International Quarterly for Asian Studies. 46(3-4): 313–345.
Müller, Dominik M. (2016) “Brunei in 2015: Oil Revenues Down, Sharia on the Rise“. Asian Survey. 56(1): 162–167.
Müller, Dominik M. (2017) “Brunei Darussalam in 2016: The Sultan is Not Amused”. Asian Survey. 57(1): 199–205.
Sultan Hassanal Bolkiah (1991): Titah. 14 January 1991. URL: http://www.information.gov.bn/Malay%20Publication%20PDF/EDIT%20TITAH%201990-1991.pdf, accessed 18 September 2017.

Notes:

  1. คำนิยาม “อิสลามานุวัตร” ที่น่าจะครอบคลุมเพียงพอก็คือ “การเชิดชูสัญลักษณ์ ปทัสถาน จารีตเชิงความรู้และการปฏิบัติแบบอิสลามให้โดดเด่นขึ้นมาในประสบการณ์ของชีวิตจริงด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้าน”  (Peletz 2015:145)  คำๆ นี้ค่อนข้างมีปัญหา เหตุผลประการหนึ่งก็เพราะมันเสี่ยงต่อการมีความหมายแฝงในเชิงประเมินคุณค่าโดยไม่ได้ตั้งใจ ด้วยการทึกทักว่ากระบวนการหนึ่งๆ เข้าใกล้ความเป็น “อิสลามมากกว่า” ในขณะที่มุสลิมคนอื่นๆ อาจมองการแปะป้ายฉลากแบบนั้นไปในทางตรงกันข้ามเลยก็ได้ กล่าวคือมองว่ามันมีความเป็น “อิสลาม (ที่แท้) น้อยลง” ต่างหาก
  2. Muhammad Hadi 2017.
  3. โปรดดูตัวอย่างเช่น Academy of Brunei Studies 2016; Brunei Times 2016 และข้อสังเกตของผู้เขียนในการประกวดกวีนิพนธ์ Bandar Seri Begawan 17 July 2017.