การเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกโทษความผิดทางอาญาของการรักเพศเดียวกันในสิงคโปร์

Lynette J. Chua

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2014 ศาลสูงสุดของสิงคโปร์ตัดสินว่า กฎหมายที่กำหนดโทษความผิดทางอาญาต่อความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ชาย มาตรา 377A ของประมวลกฎหมายอาญา ยังคงมีความสมเหตุสมผลตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ผลการตัดสินที่น่าผิดหวังนี้สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศที่มีพลังขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยมุ่งไปที่การยกเลิกโทษความผิดทางอาญาของการรักเพศเดียวกันในรัฐอุษาคเนย์ที่ขึ้นชื่อในด้านความเป็นอนุรักษ์นิยมและการใช้กฎหมายควบคุมจารีตทางสังคมและเสรีภาพทางการเมืองของพลเมือง ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศในสิงคโปร์ได้ยื่นคำร้องต่อสภานิติบัญญัติที่ถูกครอบงำด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวเพื่อขอให้ยกเลิกมาตรา 377A และผลักดันการฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อท้าทายความสมเหตุสมผลของกฎหมายมาตรานี้

การเคลื่อนไหวต่อสู้ด้านกฎหมายตั้งแต่ปี 2007 จนถึงปี 2015 คือจุดสนใจของบทความนี้ 1 ถึงแม้การเคลื่อนไหวไม่ประสบความสำเร็จในการยกเลิกโทษอาญาก็จริง แต่ก็ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้รัฐบาลและฝ่ายตุลาการต้องออกมาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นคนรักเพศเดียวกัน ช่วยให้เกิดความกระจ่างว่ามีอุปสรรคท้าทายอะไรบ้างรออยู่ข้างหน้าสำหรับการต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในสิงคโปร์ ถึงแม้รัฐบาลจะแถลงว่า มาตรา 377A ไม่ได้นำมา “บังคับใช้แล้ว” แต่การไม่ยินยอมแก้ไขกฎหมายในปัจจุบันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกโทษอาญาของการรักเพศเดียวกันสะท้อนถึงภาพรวมของระบอบการเมืองที่ไม่เต็มใจคุ้มครองชนกลุ่มน้อย อันน่าจะสืบเนื่องมาจากการอนุโลมตามเจตจำนงของเสียงส่วนใหญ่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ภูมิหลังทางกฎหมาย

รัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษนำมาตรา 377A ของประมวลกฎหมายอาญามาใช้ในสิงคโปร์เมื่อปี ค.ศ. 1938 โดยจำลองมาจากมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายอาญาแห่งสหราชอาณาจักร ค.ศ. 1885 (Lee 1995; Chua 2003) บทบัญญัตินี้นำมาใช้บังคับในอดีตอาณานิคมของอังกฤษเพียงบางแห่งเท่านั้น สิ่งที่แตกต่างจากมาตรา 377 ว่าด้วย “การร่วมเพศที่ผิดธรรมชาติ” ซึ่งพบเจอในอดีตอาณานิคมของอังกฤษหลายแห่งที่บทกฎหมายอาญาได้ต้นแบบมาจากประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย ก็คือ มาตรา 377A ของสิงคโปร์มีใจความว่า:

บุคคลเพศชายคนใดที่กระทำหรือสนับสนุนการกระทำ หรือจัดหาหรือพยายามจัดหาบุคคลเพศชายให้กระทำลามกอนาจารกับบุคคลเพศชายอีกผู้หนึ่ง ไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี

การใช้ถ้อยคำในมาตรา 377A ครอบคลุมพฤติกรรมกว้างขวางมาก คำว่า “ลามกอนาจาร” ไม่ได้ถูกนิยามชัดเจนในตัวบทกฎหมาย ตามหลักกฎหมายที่ถือเอาคำพิพากษาเดิมเป็นบรรทัดฐานและความเห็นทางวิชาการนั้น คำคำนี้อาจครอบคลุมตั้งแต่การสัมผัสทางกายภาพอย่างใกล้ชิดที่ไม่ถึงขั้นการมีเพศสัมพันธ์ไปจนถึงการสนองความใคร่ด้วยช่องปากและการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก มิหนำซ้ำ มาตรา 377A ไม่ได้จำกัดแค่การกระทำในที่สาธารณะหรือการกระทำที่ไม่ยินยอมพร้อมใจ ซึ่งหมายความว่ามาตรานี้ครอบคลุมถึงความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกันของเพศชายในที่รโหฐานและยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่ายด้วย

จนกระทั่งการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาของสิงคโปร์ใน ค.ศ. 2007 ซึ่งจะอภิปรายต่อไปนั้น มาตรา 377A บัญญัติควบคู่ไปกับมาตรา 377 ซึ่งมีใจความว่า:

ผู้ใดที่มีการร่วมเพศผิดธรรมชาติกับผู้ชาย ผู้หญิง หรือสัตว์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และมีโทษปรับด้วย

มีข้อสังเกตว่าการล่วงล้ำอวัยวะเพศก็เพียงพอแล้วที่จะถือเป็นการกระทำชำเราที่จัดว่ามีความผิดตามที่บรรยายไว้ในมาตรา 377 เช่นเดียวกับมาตรา 377A มาตรา 377 ครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ที่ยินยอมพร้อมใจในที่รโหฐานด้วย กระนั้นก็ตาม มาตรานี้สามารถตีความให้แคบและกว้างได้พร้อมกัน โดยจำกัดการกระทำทางเพศไว้ที่การล่วงล้ำด้วยอวัยวะเพศชาย อาทิ การร่วมเพศทางช่องปากและทวารหนัก แต่ก็ครอบคลุมถึงพฤติกรรมระหว่างชายต่อชายและระหว่างบุคคลต่างเพศด้วย

ในทางปฏิบัติ บทบัญญัติทั้งสองประการมักใช้กับคดีที่ไม่ยินยอมพร้อมใจหรือใช้กำลังบังคับและในคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีการตรวจตราจับกุมการมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนเพศเดียวกันน้อยมาก ถึงแม้ตำรวจจะบุกตรวจค้นแหล่งพบปะของเกย์อยู่เนือง ๆ ในกรณีที่มีการใช้ยาเสพย์ติดผิดกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ในอดีตสมัยที่ตำรวจเคยล่อจับเกย์ตามสถานที่หาคู่ ตำรวจมักตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 354 ของประมวลกฎหมายว่าด้วย “การกระทำอนาจาร” ต่อเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ไม่มีบทกฎหมายข้อใดที่มีบทลงโทษการรักเพศเดียวกันระหว่างเพศหญิงที่เทียบเท่ากับมาตรา 377 หรือ 377A

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางสังคมและการเมืองที่การรักเพศเดียวกันของเพศชายถือเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 377A และ (จนกระทั่งปี 2007) มาตรา 377 มีมากกว่าการมีโทษผิดตามกฎหมาย มาตราเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธสถานะทางกฎหมายของกลุ่มสิทธิความหลากหลายทางเพศ นับตั้งแต่การสั่งห้ามสื่อเผยแพร่เนื้อหาที่ “ส่งเสริม” “ให้ความชอบธรรม” หรือ “สร้างภาพสวยงาม” แก่ “วิถีชีวิตแบบชายรักชาย เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ [และ] กะเทย” รวมทั้งห้ามการอภิปรายในเชิงเห็นพ้องกับการรักเพศเดียวกันในโครงการเพศศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล (Chua 2014) รัฐบาลเองก็ยอมรับว่า มาตรา 377A ช่วยส่งเสริมวัตถุประสงค์ที่จะแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ถึงการกีดกันการรักเพศเดียวกันจากสังคมสิงคโปร์ “กระแสหลัก”

การยื่นคำร้องต่อรัฐสภาใน ค.ศ. 2007

คำแถลงของรัฐบาลเกี่ยวกับ ความเป็นสัญลักษณ์ ของมาตรา 377A เกิดขึ้นระหว่างการรณรงค์ในปี 2007 ที่มีการยื่นคำร้องต่อรัฐสภาสิงคโปร์ให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ ถึงแม้ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในสิงคโปร์จะสืบย้อนไปได้ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990 แต่การรณรงค์ปี 2007 ถือเป็นครั้งแรกที่นักกิจกรรมแสวงหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนและเรียกร้องการยกเลิกโทษความผิดทางอาญาอย่างเปิดเผย จึงนับเป็นหมุดหมายเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวต่อสู้ด้านกฎหมายที่พุ่งเป้าไปที่มาตรา 377A จนมาลงเอยที่การตัดสินของศาลในปี 2014 ดังที่กล่าวถึงไว้ในตอนต้น

แรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการรณรงค์เกิดจากการที่รัฐริเริ่มดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในเดือนพฤศจิกายน 2006 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศว่าจะมีการทบทวนตัวบทกฎหมายครั้งใหญ่และขอให้ประชาชนเสนอความคิดเห็นผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในบรรดาข้อเสนอแก้ไขกฎหมายนั้น มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 377 รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรา 377A ยังคงไว้ ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายยิ่งทำให้ความผิดทางอาญาของการมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายกับชายยิ่งโดดเด่นและแหลมคมกว่าเดิม

ในตอนแรก นักกิจกรรมกลุ่มความหลากหลายทางเพศเสนอข้อคัดค้านการคงมาตรา 377Aไว้ผ่านช่องทางรับฟังความคิดเห็นของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หลังจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผ่านพ้นไป รัฐบาลประกาศว่าจะยังคงบทบัญญัตินี้ไว้ โดยอธิบายว่าเสียงส่วนใหญ่ของชาวสิงคโปร์สนับสนุนกฎหมายฉบับปัจจุบัน ดังนั้น รัฐบาลจึงควร “ปล่อยให้สถานการณ์คลี่คลายไปเอง” (Chua 2014)

เพื่อเป็นการตอบโต้ นักกิจกรรมกลุ่มความหลากหลายทางเพศกลุ่มหนึ่งตัดสินใจยื่นคำร้องต่อรัฐสภาเพื่อยกเลิกมาตรา 377A ภายในเวลาสองเดือน พวกเขารวบรวมรายชื่อได้ 2,519 รายชื่อ และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศสิงคโปร์หลังประกาศเอกราชที่มีการยื่นคำร้องที่มีเสียงสนับสนุนของประชาชนเข้าสู่รัฐสภา กลุ่มนักกิจกรรมดำเนินการทั้งที่รู้ดีว่าการยื่นคำร้องนี้มีโอกาสน้อยมากที่จะเปลี่ยนจุดยืนของรัฐบาล รัฐสภาเดินหน้าต่อกับการยกร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตรา 377A และในสภานิติบัญญัติที่ถูกครอบงำด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียว กฎหมายฉบับนี้ย่อมผ่านออกมาบังคับใช้อย่างง่ายดาย

กระนั้นก็ตาม จากการรณรงค์ครั้งนี้ นักกิจกรรมกลุ่มความหลากหลายทางเพศได้รับความเข้าใจที่ละเอียดอ่อนมากขึ้นทั้งจากรัฐบาลสิงคโปร์และฝ่ายคัดค้าน คำร้องนี้สามารถทำให้นายกรัฐมนตรีปราศรัยในรัฐสภาเพื่อชี้แจงจุดยืนของรัฐเกี่ยวกับประเด็นคนรักเพศเดียวกัน กล่าวคือ ประชาชนที่มีความหลากหลายทางเพศมีที่ทางในสังคมสิงคโปร์ และมาตรา 377A จะไม่นำมาบังคับใช้กับสถานการณ์ที่มีความยินยอมพร้อมใจและอยู่ในสถานที่ส่วนบุคคล แต่เจตจำนงของเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมรับการรักเพศเดียวกันยังมีอำนาจเหนือกว่า ดังนั้น กฎหมายจึงต้องคงไว้ในฐานะสัญลักษณ์ การรณรงค์ครั้งนี้ยังดึงดูดฝ่ายคัดค้านที่ดุดันที่สุดของกลุ่มความหลากหลายทางเพศออกมา นั่นคือชาวคริสต์ที่มีแนวคิดสุดโต่ง มันเปิดเผยให้เห็นว่ากลุ่มชาวคริสต์ขวาจัด ซึ่งแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยของชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในสิงคโปร์ แต่พวกเขาก็สามารถจัดตั้งได้อย่างรวดเร็วและผลักดันให้ทัศนะของตนได้รับการอุปโลกน์เป็นตัวแทนของ “เสียงส่วนใหญ่ของชาวสิงคโปร์” ได้

กรณีของตันเองฮงและลิ้มเม่งซวง

การยื่นคำร้องต่อรัฐสภาในปี 2007 ส่งสัญญาณบ่งบอกว่าการปฏิรูปกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติยังเป็นกระบวนการที่ไม่ได้ผลอย่างน้อยก็ในตอนนี้ มีการถกเถียงหารือกันเป็นครั้งคราวในหมู่นักกิจกรรมกลุ่มความหลากหลายทางเพศเกี่ยวกับการใช้ช่องทางตุลาการในการยกเลิกมาตรา 377A คำถามสำคัญก็คือใครจะเป็นผู้ฟ้องร้อง เพราะชีวิตส่วนตัวและเพศวิถีของบุคคลคนนี้จะต้องเข้าสู่การบันทึกของราชการ และบุคคลคนนั้นต้องยินดีดำเนินการฟ้องร้องทั้ง ๆ ที่รู้ว่าระบบตุลาการของสิงคโปร์ไม่เคยมีประวัติดีงามในการรักษาสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ากฎหมายใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญย่อมไม่สมเหตุสมผล แต่ฝ่ายตุลาการไม่เคยตัดสินกฎหมายสักฉบับเลยว่าละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง 2

อย่างไรก็ตาม การถกเถียงหารือยุติลงด้วยเหตุการณ์พลิกความคาดหมายที่ผลักให้นักกิจกรรมกลุ่มความหลากหลายทางเพศมุ่งตรงไปที่ศาล ในวันที่ 2 กันยายน 2010 ชายผู้หนึ่งชื่อตันเองฮงถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 377A เนื่องจากมีการร่วมเพศทางช่องปากกับชายอีกคนหนึ่งในห้องน้ำของห้างสรรพสินค้า นักกิจกรรมวิพากษ์วิจารณ์การตั้งข้อหานี้โดยยกคำแถลงของนายกรัฐมนตรีว่าจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ต่อมาภายหลัง อัยการสูงสุดเปลี่ยนข้อหาจากการฟ้องร้องภายใต้มาตรา 377A ไปเป็นข้อหาการทำลามกอนาจารในที่สาธารณะซึ่งมีโทษน้อยกว่าโดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ ในตอนนั้น ทนายความของตันเองฮงได้ยื่นฟ้องร้องแยกต่างหากอีกคดีเพื่อคัดค้านว่ามาตรา 377A ละเมิดสิทธิการได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายและสิทธิการมีชีวิตและอิสรภาพภายใต้รัฐธรรมนูญสิงคโปร์ อัยการสูงสุดจึงพยายามยกฟ้องด้วยเหตุผลของวิธีพิจารณาความว่า ตันเองฮงไม่มีสถานะทางกฎหมาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับใครก็ตามที่จะเป็นโจทก์ฟ้องร้องคดี เนื่องจากตัวเขาไม่ได้ถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 377A แล้ว ไม่นานหลังจากนั้น ตันเองฮงให้การรับสารภาพต่อข้อหาลามกอนาจาร และศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับอัยการสูงสุด จึงยกฟ้องคดีขัดรัฐธรรมนูญ ตันเองฮงยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้ต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของสิงคโปร์ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นและกลับคำตัดสินในทางที่เป็นผลดีต่อตันเองฮง

Singaporean, Tan Eng Hong (Photo Tan Eng Hong)

ในเดือนสิงหาคม 2012 คำตัดสินของศาลอุทธรณ์เน้นไปที่ประเด็นวิธีพิจารณาความ โดยยืนยันว่าพลเมืองที่เป็นเกย์สามารถยื่นฟ้องค้านว่ามาตรา 377A ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่จำเป็นต้องเคยถูกจับกุมหรือถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรานี้มาก่อน นี่หมายความว่าตันเองฮงสามารถฟ้องคดีขัดรัฐธรรมนูญต่อไป และเกย์ชาวสิงคโปร์คนอื่นๆ ก็สามารถยื่นฟ้องได้เช่นกัน ในเดือนพฤศจิกายน 2012 คู่เกย์ชื่อลิ้มเม่งซวงและเคนเนธ ชี มูน-ลีออนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีของตนแยกต่างหากพร้อม ๆ กับตันเองฮง

นักกิจกรรมความหลากหลายทางเพศกลุ่มหนึ่งสนับสนุนคดีของลิ้มเม่งซวงและเคนเนธ ชี แต่หลายคนลังเลกับคดีของตันเองฮง จากมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ การที่ตันเองฮงพัวพันกับการมีเพศสัมพันธ์ในห้องน้ำสาธารณะไม่ใช่คดีที่เหมาะต่อการนำมารณรงค์สนับสนุนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในทางตรงกันข้าม ลิ้มเม่งซวงและเคนเนธ ชีทำงานในระดับบริหารของภาคธุรกิจมายาวนาน มีความสัมพันธ์ยั่งยืนและไม่มีประวัติอาชญากรรม นักกิจกรรมจึงช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับคดีของคนคู่นี้และจัดการรณรงค์บนเว็บไซท์ระดมเงินสนับสนุน (crowd-sourcing) จนรวบรวมเงินบริจาคได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำมาเป็นค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดีตามกฎหมาย 3

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และ 6 มีนาคม 2013 คดีลิ้มเม่งซวงและคดีตันเองฮงมีการพิจารณาในศาลสูงตามลำดับ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นสำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาเควนติน โหล่วตัดสินยกฟ้องทั้งสองคดี โดยพิพากษาว่าศาลควรอนุโลมตามสภานิติบัญญัติในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม และเนื่องจากรัฐสภาตัดสินใจคงกฎหมายนี้ไว้เนื่องจาก “ความไม่เห็นพ้อง” ที่เสียงส่วนใหญ่มีต่อการรักเพศเดียวกัน ศาลจึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ ตามกฎหมายจารีตประเพณี (คอมมอนลอว์) ศาลชั้นต้นของสิงคโปร์ต้องตัดสินตามคำตัดสินที่มีมาก่อนของศาลสูงสุด ซึ่งเคยใช้จุดยืนแบบอนุรักษ์นิยมต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิการได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมและสิทธิการมีชีวิตและอิสรภาพ

ตันเองฮง ลิ้มเม่งซวงและเคนเนธ ชียื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แตกต่างจากศาลสูงตรงที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะตัดสินแตกต่างจากคำตัดสินที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม องค์คณะผู้พิพากษาทั้งสามตัดสินยืนตามคำตัดสินของผู้พิพากษาโหล่ว กล่าวคือตัดสินตามคดีตัวอย่างที่เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียม นั่นคือ บุคคลหนึ่งใดที่มีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันและถูกจับกุมตามมาตรา 377A ย่อมถือเป็น “intelligible differentia” กล่าวคือ ประเภทบุคคลที่แยกออกมาต่างหาก และการแยกประเภทกลุ่มคนเหล่านี้ออกมาต่างหากเป็น “การจัดกลุ่มที่มีเหตุผล” (rational nexus) ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ซึ่งต้องการควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย ตามคำวินิจฉัยยาว 100 หน้ากระดาษของผู้พิพากษาแอนดรูว์ แปง ฝ่ายตุลาการไม่ควรตีความวัตถุประสงค์ของกฎหมายในทางที่ตั้งคำถามต่อเจตนารมณ์ของรัฐสภา ดังนั้น ศาลจึงไม่สามารถแก้ไขเยียวยาให้แก่ผู้ฟ้องร้องได้

News report on the story from Singapore’s Channel NewsAsia (English) —
[youtube id=”n5dkrjjNWqE” align=”center” mode=”lazyload” maxwidth=”700″]

สรุป

คดีลิ้มเม่งซวงและตันเองฮงสะท้อนว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศผ่านช่องทางศาลมาถึงจุดอับตันสำหรับอนาคตเท่าที่มองเห็น ใครก็ตามที่ดำเนินคดีคล้ายๆ กันนี้ย่อมต้องต่อสู้กับคำพิพากษาข้างต้น ซึ่งผูกมัดศาลชั้นต้นไว้ด้วยประเด็นกฎหมายเดียวกัน กล่าวสั้น ๆ คือ คำพิพากษาระบุว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตรา 377A จะต้องกระทำโดยสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นสถาบันของเสียงข้างมาก น่าเสียดายที่ไม่มีความแน่นอนว่ารัฐสภาของสิงคโปร์จะเต็มใจแก้ไขมาตรานี้ โดยเฉพาะนับตั้งแต่คำแถลงในปี 2007 เกี่ยวกับการที่กฎหมายมาตรานี้เป็นสัญลักษณ์ของ “ค่านิยมของเสียงส่วนใหญ่” จากภาวการณ์นี้เองที่ทำให้นักกิจกรรมกลุ่มความหลากหลายทางเพศต้องหันไปพึ่งศาล ซึ่งมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการตัดสินเพื่อคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย แต่ศาลกลับโยนให้นักกิจกรรมย้อนกลับไปหาสภานิติบัญญัติอีก การที่สภานิติบัญญัติถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว ย่อมเป็นการง่ายที่จะยกเลิกมาตรา 377A แต่เมื่อต้องเผชิญกับการคัดค้านอย่างดุดันจากกลุ่มศาสนาขวาจัดและทัศนคติที่ฝังลึกเปลี่ยนแปลงยากของกลุ่มประชาชนที่เป็นฐานเสียง รัฐสภาสิงคโปร์ไม่เพียงต้องมีความเด็ดเดี่ยวทางจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังต้องมีแรงจูงใจทางการเมืองที่เข้มแข็ง จึงจะสามารถยืนหยัดเพื่อประชากรที่เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศในประเทศนี้ได้

Lynette J. Chua
National University of Singapore

Issue 18, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2015

References

 Chua, Lynette J. 2003. “Saying No: Sections 377 and 377A of the Penal Code.” Singapore Journal of Legal Studies 209–261.
—— 2014. Mobilizing Gay Singapore: Rights and Resistance in an Authoritarian State. Philadelphia: Temple University Press.
Lee, Jack Tsen-Ta. 1995. “Equal Protection and Sexual Orientation.” Singapore Law Review 16: 228-285.

Issue_18_banner-special

Notes:

  1. สำหรับการวิเคราะห์รูปแบบของการเคลื่อนไหวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในสิงคโปร์ โปรดดู Chua 2014.
  2. มีเพียงกรณีเดียวที่ตัดสินว่ากฎหมายที่มีปัญหานั้นขัดรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายคำตัดสินนั้นก็ถูกกลับคำตัดสินในชั้นศาลสูงสุด
  3. มีบางกลุ่มในชุมชนผู้หลากหลายทางเพศในประเทศที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นักกิจกรรมเกี่ยวกับคดีลิ้มเม่งซวงว่า พวกเขาพยายามฟอกตัวให้ชุมชนของตนโดยสนับสนุนผู้ฟ้องร้องที่ดูน่านับถือในสายตาของสังคมสิงคโปร์มากกว่า การตัดสินใจที่จะรณรงค์ในคดีลิ้มเม่งซวงค่อนข้างซับซ้อนและผู้เขียนกำลังศึกษาค้นคว้าต่างหากออกไป

1 Trackback / Pingback

  1. การเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกโทษความผิดทางอาญาของการรักเพศเดียวกันในสิงคโปร์ – Serichon

Comments are closed.