ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม (social inclusion) เป็นเรื่องที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันมานานภายในสังคมเมียนมา เมียนมาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์-ภาษามากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ 135 กลุ่มและภาษาประมาณ 107 ภาษา 1 ชุมชนทางศาสนา 2จำนวนมากดำรงอยู่ร่วมกันภายในพรมแดนของประเทศ ประกอบด้วยศาสนาพุทธ (87.9%) คริสต์ (6.2%) อิสลาม (4.3%) ฮินดู (0.5%) และคติการนับถือผี (0.8%) ท่ามกลางภูมิหลังเช่นนี้ การแบ่งแยกที่เป็นซากตกค้างจากยุคอาณานิคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งชนกลุ่มใหญ่ชาติพันธุ์ชาวบะหม่ามีอำนาจครอบงำเหนือกลุ่มอื่น ก่อให้เกิดปัจจัยที่นำไปสู่ความแตกแยกทางด้านชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งยังคงทำให้สังคมเมียนมาแตกเป็นเสี่ยงๆ จนถึงทุกวันนี้
บทความนี้จะกล่าวถึงภาพกว้างๆ ว่าปัญหาอัตลักษณ์และความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมมีการคลี่คลายอย่างไรบ้างในช่วงสิบปีที่เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบระหว่างปี 2011-2021 ในช่วงแรก เมียนมาอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party—USDP) และหลังปี 2016 อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy—NLD) ซึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งท่วมท้น แนวคิดเกี่ยวกับความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมจะพิจารณาจากสามมิติด้วยกัน กล่าวคือ ชาติพันธุ์ ศาสนา และเพศสภาพกับเพศวิถี ถึงแม้มีความคาดหวังในทางที่ดีว่ารัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบน่าจะนำมาซึ่งความครอบคลุมทุกกลุ่มคนมากขึ้นภายในสังคมเมียนมา ทว่าความก้าวหน้าไปในทิศทางนั้นกลับค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 สร้างจุดหักเหที่มีศักยภาพขึ้น ความสมานฉันท์แบบใหม่ๆ เริ่มก่อตัวขึ้นระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งเคยแตกแยกกันจนเชื่อมต่อไม่ติดมาก่อน กระนั้นก็ตาม ยังต้องจับตาดูต่อไปว่า ความสมานฉันท์ที่เพิ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างนี้จะยืนยงคงทนหรือไม่ ในขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มต้องบุกบั่นฝ่าฟันท่ามกลางภูมิประเทศที่ยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ
อัตลักษณ์และความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในบริบททางประวัติศาสตร์ของเมียนมา
ภายใต้การปกครองระบอบอาณานิคม (1824-1948) นโยบายแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษผลักให้ชนกลุ่มใหญ่ชาติพันธุ์ชาวบะหม่าเป็นปฏิปักษ์กับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ เมื่อขาดไร้อัตลักษณ์ที่จะยึดโยงความเป็นชาติให้เหนียวแน่น ในช่วงเวลาปั่นป่วนหลังจากได้รับเอกราช จึงได้เห็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ หลายกลุ่มก่อตั้งกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations–EAOs) ขึ้นเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการปกครองตัวเองมากขึ้น หลังการรัฐประหารของกองทัพในปี 1962 รัฐยิ่งส่งเสริมการกดขี่ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนามากกว่าเดิม ยิ่งรัฐบาลทหารประกาศใช้กฎหมายสัญชาติพม่า (Burma Citizenship Law) ในปี 1982 ซึ่งกฎหมายนี้ยังคงไม่มีการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน ก็ยิ่งมีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มต่างๆ ซึ่งรวมถึงชาวมุสลิม ฮินดูและชาวจีน กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างเต็มที่บนพื้นฐานว่าพวกเขาไม่จัดเป็นชนพื้นเมือง (Taing Yin Thar) ของเมียนมา ชาวมุสลิมยิ่งถูกกีดกันและถูกไล่ออกจากตำแหน่งในรัฐบาลและกองทัพ 3 กองทัพเองก็เลือกปฏิบัติในทางให้สิทธิพิเศษแก่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์บางกลุ่ม พร้อมกับกดขี่กลุ่มอื่นอย่างสาหัสสากรรจ์ระหว่างปฏิบัติการทางทหารเชิงรุกครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1990
การเลือกปฏิบัติภายใต้การปกครองระบอบทหารครอบคลุมถึงการเลือกปฏิบัติต่อเพศด้วย ตะมะดอว์ (ชื่อเรียกกองทัพพม่า) มีทัศนะหัวโบราณและมองว่าการที่ผู้หญิงเป็นผู้นำถือเป็นเรื่องต้องห้าม ผู้นำระดับสูงยึดถือตามคำพังเพยของพม่าว่า “เวลาเช้ามาถึงต่อเมื่อไก่ตัวผู้ขัน ไม่ใช่ไก่ตัวเมีย” มีความหมายว่าประเทศจะเข้มแข็งต่อเมื่อผู้ชายเป็นผู้ปกครอง นอกจากนี้ ตะมะดอว์ยังส่งเสริมเรื่องเล่าแม่บทเกี่ยวกับภาวะผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพของผู้หญิง โดยปั้นแต่งเรื่องราวว่าเป็นเพราะการปกครองที่ไม่ปรีชาสามารถของราชินี Suphayarlat ทำให้ราชอาณาจักรพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ 2008 ที่กองทัพประกาศใช้จึงสงวนตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญบางตำแหน่งไว้ให้ผู้ชายเท่านั้น 4 เนื่องจากผู้หญิงเพิ่งได้รับอนุญาตให้เป็นทหารในกองทัพได้เมื่อไม่นานนี้เอง 5 ผู้หญิงจึงดำรงตำแหน่งน้อยมากทั้งในกองทัพและในทางการเมือง
การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้พรรค USDP (2010-2015) และพรรค NLD (2016-2021): ความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมมีความก้าวหน้าเพียงจำกัด
ความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านชาติพันธุ์
ภายหลังจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2011 รัฐบาลพรรค USDP ใช้แนวทางแบ่งแยกและปกครองในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ด้วยการกีดกันบาง EAOs ออกจากข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement–NCA) ซึ่งเป็นขั้นตอนเบื้องต้นสุดที่จะนำไปสู่การสานเสวนาสันติภาพที่ครอบคลุมทุกฝ่าย เมื่อพรรค NLD ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 2015 จึงเกิดความคาดหวังขึ้นมาใหม่ว่าจะได้เห็นความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านชาติพันธุ์และการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ในแถลงการณ์หลังจากได้รับเลือกตั้ง พรรค NLD สัญญาว่าจะดำเนินการสานเสวนาทางการเมืองเพื่อหาทางแก้ไขสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และเดินหน้าสู่การสร้างสหภาพสหพันธรัฐที่แท้จริงบนหลักการของสิทธิอันเท่าเทียม สิทธิในการกำหนดการปกครองของตัวเองและการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน กระนั้นก็ตาม ตลอดช่วงเวลาห้าปีที่เป็นรัฐบาลนั้น พรรค NLD ไม่สามารถผลักดันให้เกิดความคืบหน้าตามที่สัญญาไว้มากนัก พรรค NLD จะแก้ตัวเกี่ยวกับความล้มเหลวนี้ในภายหลังโดยอ้างว่าเป็นเพราะถูกจำกัดจากรัฐธรรมนูญปี 2008
จากมุมมองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ความล้มเหลวนี้เกิดมาจากความเชื่อเชิงคลั่งชาติ-ชาติพันธุ์นิยมของพรรค NLD เอง กล่าวคือความเชื่อว่าชนกลุ่มใหญ่ชาติพันธุ์บะหม่าควรเป็นผู้นำคณะรัฐบาลปกครองประเทศนี้เสมอ กลุ่มผู้นำชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์วิพากษ์วิจารณ์การที่รัฐบาลพรรค NLD มีสายสัมพันธ์สนิทแนบแน่นกับตะมะดอว์ด้วย รวมทั้งการที่พรรค NLD อิดเอื้อนไม่ยอมเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุดตั้งแต่แรก ทั้งยังคัดค้านการแก้ไขมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งสรรปันอำนาจอย่างเท่าเทียมกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ทั้งหลาย
ความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านศาสนา
ถึงแม้ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติตั้งแต่ปี 1962 แล้ว แต่มาตรา 361 6 ในรัฐธรรมนูญปี 2008 กำหนดให้ศาสนาพุทธมี “สถานะความเลื่อมใสศรัทธาเป็นพิเศษ” ภายในสังคมเมียนมา ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเมียนมาทุกชุดจึงยังให้อภิสิทธิ์แก่ศาสนาพุทธโดยกีดกันกลุ่มศาสนาอื่นๆ การเลือกปฏิบัตินี้ประกอบด้วยนโยบาย กฎหมายและการปฏิบัติที่ขัดขวางความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านศาสนาทั้งในระดับชุมชนและปัจเจกบุคคล ตัวอย่างที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันต่อกลุ่มศาสนาต่างๆ ในด้านการสร้างสถานที่สักการะทางศาสนา ชาวพุทธมีเสรีภาพในการสร้างเจดีย์ วัด หรือสิ่งก่อสร้างทางศาสนาประเภทต่างๆ ที่ไหนก็ได้ตามความพอใจ ตรงกันข้าม กลุ่มชนชาวคริสต์ ฮินดู อิสลาม กว่าจะขออนุญาตซ่อมแซมปฏิสังขรณ์สถานสักการะที่มีอยู่แล้วหรือสร้างแห่งใหม่ได้กลับยากลำบากมาก
รัฐบาลพรรค USDP (และตะมะดอว์) กระพือลัทธิชาตินิยมพุทธศาสนาโดยตรงด้วยการปลุกระดมเครือข่ายและกลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวา เครือข่ายเหล่านี้ประกอบด้วยขบวนการชาตินิยมพุทธศาสนา 969 และสมาคมคุ้มครองเชื้อชาติและศาสนา (Association for Protection of Race and Religion–MaBaTha) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องเชื้อชาติพม่าและศาสนาพุทธ ชุมชนศาสนาอิสลามตกเป็นเป้าจากกฎหมายเลือกปฏิบัติของรัฐและความเกลียดชังของชุมชนชาวพุทธมากเป็นพิเศษ ในเดือนเมษายนและสิงหาคม 2015 รัฐบาล USDP ประกาศใช้กฎหมาย 4 ฉบับที่เรียกรวมกันว่า กฎหมายคุ้มครองเชื้อชาติและศาสนา 7 กฎหมายสี่ฉบับนี้มีเจตนาที่จะกีดกันชุมชนศาสนาอิสลามจากการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนชาวพุทธทั่วประเทศ นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา กลุ่มชาตินิยมล้นเกินชาวยะไข่ร่วมกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ ลงมือเผาหรือรื้อทำลาย 8สิ่งปลูกสร้างทางศาสนาอิสลามหลายร้อยแห่ง ทั้งมัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนา (มัดเราะซะฮ์) ตามเมืองต่างๆ หลายเมืองในรัฐยะไข่ มีรายงานจำนวนมากระบุว่า รัฐบาลรัฐยะไข่ โดยเฉพาะกระทรวงกิจการความมั่นคงและชายแดน คอยสนับสนุนการทำลายสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาของชุมชนมุสลิม ทุกวันนี้ มีมัสยิดหลงเหลือเพียงแค่สองสามแห่งที่ชุมชนชาวมุสลิมสามารถใช้ละหมาดและประกอบพิธีทางศาสนาได้อย่างเปิดเผย
รัฐบาลพรรค NLD ล้มเหลวค่อนข้างมากในการแก้ไขปัญหาการกีดกันชุมชนชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลนี้ไม่ได้ดำเนินการจริงจังที่จะยับยั้งการเล่นการเมืองของพรรค USDP ที่ปลุกระดมนักเคลื่อนไหวด้านศาสนาฝ่ายขวา ซึ่งคอยปลุกปั่นให้เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิม รวมทั้งไม่ได้ยกเลิกเพิกถอนการเลือกปฏิบัติต่างๆ ที่กีดกันชุมชนชาวมุสลิมจากสิทธิพลเมืองหลายประการ อาทิ สิทธิในสัญชาติที่เท่าเทียมและเสรีภาพในการเดินทางเคลื่อนย้ายออกนอกเขตปกครองหรือหมู่บ้าน รัฐบาลพรรค NLD ยังล้มเหลวในการปรับปรุงให้ชุมชนชาวมุสลิมเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในรัฐยะไข่
ความตึงเครียดระหว่างศาสนาปรากฏในความสัมพันธ์กับชุมชนศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ชาวพุทธด้วย อัตราการเข้ารีตมานับถือศาสนาคริสต์ที่เพิ่มขึ้นในหมู่ชาวพุทธและผู้นับถือผีในรัฐยะไข่ยิ่งขยายความตึงเครียดในชุมชน เพื่อตอบโต้ต่อปรากฏการณ์นี้ ชุมชนชาวพุทธพยายามจำกัดจำนวนคณะเผยแพร่คริสต์ศาสนาและการสร้างโบสถ์คริสต์ ในพื้นที่อื่นๆ ความตึงเครียดระหว่างศาสนาเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรง แม้กระทั่งภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดมากตัวอย่างหนึ่งจากที่มีอยู่มากมายหลายกรณี ซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งด้านศาสนาภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ก็คือ ความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Christian Karen National Union–KNU) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ กับกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (Democratic Karen Buddhist Army–DKBA) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ความขัดแย้งของสองกลุ่มนี้มี “ประเด็นแฝงทางศาสนาเข้มข้น” 9 แม้ว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตลักษณ์ด้านชาติพันธุ์ร่วมกันก็ตาม
ความครอบคลุมทุกกลุ่มคนด้านเพศสภาพและเพศวิถี
การกีดกันด้วยเหตุผลด้านอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและเพศวิถียังเป็นปัญหาต่อเนื่องในเมียนมาเช่นกัน ลัทธิชายเป็นใหญ่ฝังรากลึกในสังคมเมียนมาไม่ว่าในกลุ่มชาติพันธุ์ใด สถาบันทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนาที่ถูกครอบงำโดยเพศชายมีประวัติศาสตร์ที่กีดกันผู้หญิงและ LGBTQ+ จากสิทธิพลเมืองหลายประการ การกีดกันผู้หญิงปรากฏเด่นชัดเป็นพิเศษในชุมชนชาวบะหม่าที่นับถือศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชนทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่ยอมรับว่า ผู้ชายมีจิตวิญญาณเหนือกว่า เพราะพวกเขาเชื่อว่าผู้ชายมีคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่เกิดเรียกว่า hpon 10 ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงไม่ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุนี ห้ามเข้าใกล้รูปพระพุทธเจ้าบางรูป หรือห้ามอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ชาย
หลังจากการลุกฮือเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1988 ผู้หญิงค่อยๆ มีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น พร้อมกับมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้นำหญิงเกิดขึ้นหลายคน ผู้หญิงที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในรัฐสภา 11ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่พรรค NLD ได้เป็นรัฐบาล กล่าวคือ จากน้อยกว่า 5% ในการเลือกตั้งปี 2010 เพิ่มเป็น 13% ในการเลือกตั้งปี 2015 และ 15% ในการเลือกตั้งปี 2020 กระนั้นก็ตาม ถึงแม้มีกระแสส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง แต่ก็มีผู้หญิงน้อยคนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำท้องถิ่น/ชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน (Village Tract Administrators–VTAs) ผู้อาวุโสของชุมชน และผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization–CSO)/องค์กรชุมชน (Community-Based Organization—CBO) ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของประเทศในสัดส่วนค่อนข้างน้อยเช่นกัน โดยมีตัวแทนอยู่ในคณะเจรจาไกล่เกลี่ยของ NCA แค่ 4 คนจาก 67 คน 12 (6%) ทั้งหมดเป็นตัวแทนมาจาก EAOs และไม่มีผู้หญิงเป็นตัวแทนของรัฐบาล ตะมะดอว์หรือ CSO ท้องถิ่นเลยแม้แต่คนเดียว
นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2010 บุคคลที่เป็น LGBTQ+ ค่อยๆ มีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ปลอดภัยมากขึ้น พร้อมกับได้รับการยอมรับทางสังคมเพิ่มมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทั้งในระดับสังคมและนโยบาย ยกตัวอย่างเช่น การมีเพศสัมพันธ์ในเพศเดียวกันยังผิดกฎหมาย ส่วนการแสดงตัวตนข้ามเพศยังมีความผิดทางอาญาภายใต้มาตรา 377 13ของประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้ บุคคลที่เป็น LGBTQ+ แทบไม่มีตัวแทนในรัฐสภา รัฐบาลหรือตำแหน่งผู้นำชุมชนเลย
รัฐประหารของกองทัพ 1 กุมภาพันธ์ 2021: จุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน?
การรัฐประหารของกองทัพ 14เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมในเมียนมา ในช่วงเวลาสี่เดือนตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ดูเหมือนมีความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งๆ ที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ โดยเฉพาะที่อาศัยตามพื้นที่ชายแดน ตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายทารุณของตะมะดอว์มาหลายสิบปี แต่ชาวบะหม่าจำนวนมากเพิ่งได้ประสบพบเห็นการใช้ความรุนแรงของตะมะดอว์กับตัวเองเป็นครั้งแรก เรื่องนี้กระตุ้นให้เกิดการย้อนคิดทบทวนในหมู่ชาวบะหม่า หลายคนแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมอันทุกข์ยากของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์มากขึ้น รวมทั้งออกมาขอโทษสาธารณะต่อการที่ตนเองไม่เคยตระหนักรับรู้และไม่เคยแสดงความสนใจไยดีต่อความเจ็บปวดของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึงชุมชนชาวโรฮิงญาด้วย
ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยยังเสนอโอกาสให้กลุ่มที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบได้ออกมาท้าทายลำดับชั้นทางสังคม พร้อมกับเรียกร้องให้สาธารณชนสนใจการต่อสู้ของพวกเขา ผู้หญิงก้าวมาอยู่แถวหน้าของขบวนการประท้วง อาทิ การประท้วงต่อต้านรัฐประหารครั้งแรกในเมืองย่างกุ้งก็มีนักเคลื่อนไหวหญิงสาวสองคนเป็นแกนนำ นอกจากนี้ ชุมชน LGBTQ+ ก็เป็นผู้มีส่วนร่วมโดดเด่นเป็นที่จับตามองในการประท้วงตามท้องถนน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้มีการยกระดับความรับรู้ของสาธารณชนและการยอมรับในชุมชนกระแสหลัก
อย่างไรก็ตาม คงเร็วเกินไปที่จะบอกว่า ผลดีเหล่านี้จะยืนยงคงทนไปนานแค่ไหน ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์จำนวนมากเชื่อว่า ความเห็นอกเห็นใจที่ชาวบะหม่ามีให้พวกเขามากขึ้นจะคงอยู่ไม่นานนักและจะจางหายไปเมื่อชาวบะหม่าไม่ต้องเผชิญการกดขี่อีก พวกเขายังคลางแคลงในความจริงใจของชาวบะหม่า ทั้งนี้เนื่องจากชาวบะหม่าต้องอาศัยความร่วมมือของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในการโค่นล้มระบอบทหาร ถ้าเมื่อไรกองทัพถูกขับไล่ออกจากการเมืองได้จริง ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ก็ขาดความเชื่อมั่นว่าชาวบะหม่าจะยึดมั่นในการสร้างสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตยที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนอย่างแท้จริงไปตลอดรอดฝั่ง พร้อมกันนั้นก็ยังมีชาวบะหม่าจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า ชนกลุ่มใหญ่ชาวบะหม่าควรมีบทบาทนำในการเมืองของประเทศต่อไป ถึงแม้ทั้งชาวบะหม่าและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างมองว่าตะมะดอว์เป็นศัตรูร่วมกันของตนและต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการล้มล้างเผด็จการ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ที่จะเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ระหว่างชนกลุ่มใหญ่ชาวบะหม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาเหล่านี้มิใช่ไม่มีทางคลี่คลาย ผู้นำของพรรคการเมือง EAOs และ CSOs ควรทำงานร่วมกันเพื่อให้สำนึกในความสมานฉันท์ที่เพิ่มพูนขึ้นหลังการรัฐประหารเกิดประโยชน์ผลดีมากที่สุด ถึงแม้ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พรรคการเมืองและ EAOs ต่างเคยฉวยโอกาสใช้เส้นแบ่งทางชาติพันธุ์มาปลุกปั่นทางการเมืองจนทำให้การร่วมมือกันเป็นไปได้ยาก แต่ในระยะหลังมี CSOs หลายองค์กรเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันเชื่อมต่ออำนวยความสะดวกแก่การสร้างปฏิสัมพันธ์ในหมู่ผู้นำของพรรคการเมืองและ EAOs ต่างๆ ส่วน CSOs ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ก็อาศัยแนวทางจากกฎบัตรสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Federal Democracy Charter) 15 และอำนวยการสานเสวนาระหว่างคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw—CRPH) ที่มีชาวบะหม่ากุมอำนาจนำกับพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government—NUG) 16 ก็ดึงผู้นำจากพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ EAOs, CSOs และกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างๆ มาเข้าร่วม ทั้งหมดนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นประชากรที่หลากหลายของเมียนมา แต่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การนำอย่างเป็นหมู่คณะด้วย ท้ายที่สุดแล้ว การที่เมียนมาจะก้าวหน้าไปสู่การเป็นสังคมที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนมากขึ้นย่อมขึ้นอยู่กับว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีมากมายหลายฝ่ายสามารถบ่มเพาะความไว้เนื้อเชื่อใจและทะนุถนอมความร่วมมือกันไว้ได้มากน้อยแค่ไหนท่ามกลางอนาคตอันไม่แน่นอน
Htet Paing Oo
Senior Research Consultant and Senior Program Manager
Center for Diversity and National Harmony (CDNH), Myanmar
Notes:
- http://factsanddetails.com/southeast-asia/Myanmar/sub5_5c/entry-3032.html ↩
- https://culturalatlas.sbs.com.au/burmese-myanmar-culture/myanmar-burmese-culture-religion ↩
- https://www.hrw.org/legacy/backgrounder/asia/burma-bck3.htm ↩
- https://www.socialwatch.org/sites/default/files/B15Burma2010_eng.pdf ↩
- https://theconversation.com/the-exclusion-of-women-in-myanmar-politics-helped-fuel-the-military-coup-154701 ↩
- https://www.myanmar-law-library.org/law-library/laws-and-regulations/constitutions/2008-constitution.html ↩
- https://www.loc.gov/law/foreign-news/article/burma-four-race-and-religion-protection-laws-adopted/ ↩
- https://www.voanews.com/east-asia/mosques-madrasas-be-razed-myanmars-rakhine-state ↩
- https://2009-2017.state.gov/j/drl/rls/irf/2003/23823.htm ↩
- http://www.ipcs.org/issue_briefs/issue_brief_pdf/CR44-InsideMyanmar.pdf ↩
- https://data.ipu.org/women-ranking?month=1&year=2021 ↩
- https://www.prio.org/utility/DownloadFile.ashx?id=1758&type=publicationfile ↩
- https://www.humandignitytrust.org/country-profile/myanmar/ ↩
- https://www.bbc.com/news/world-asia-55902070 ↩
- https://crphmyanmar.org/wp-content/uploads/2021/04/Federal-Democracy-Charter-English.pdf ↩
- https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/myanmar-national-unity-government-pm-mahn-winn-khaing-thann-urges-asean-to-engage-with ↩