บทความนี้พิเคราะห์ว่า นโยบายน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (อีสาน) เชื่อมโยงภูมิศาสตร์ของภูมิภาคนี้กับประชาชนในท้องถิ่นอย่างไร มันก่อให้เกิด ขยายและบางครั้งก็ท้าทายอัตลักษณ์ทางการเมืองที่เป็นพลเมืองชั้นสองของพวกเขา ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า การชลประทานและการสร้างเขื่อนมีบทบาทอย่างยิ่งในการรักษาความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกับรัฐไทยภาคกลาง นโยบายน้ำไม่ได้มีความเป็นกลางทางสังคม ตรงกันข้าม มันเชื่อมโยงลักษณะเชิงภูมิศาสตร์ของอีสาน กล่าวคือ ความร้อนและแห้งแล้ง ผูกกับความสำนึกว่าชาวอีสานล้าหลัง ด้อยกว่าและมีความกระด้างกระเดื่องทางการเมือง (ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การปกครองที่เข้มงวดกว่า)
อีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีทั้งหมด 20 จังหวัด อีสานเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 22 ล้านคนหรือ 33% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ประชาชนในภูมิภาคนี้ที่เรียกกันว่าคนอีสาน ส่วนใหญ่พูดภาษาลาว ตลอดประวัติศาสตร์ไทย พวกเขาถูกตีตราว่าไร้การศึกษาและล้าหลังเนื่องจากการจัดลำดับชั้นทางสังคมแบบชาตินิยม 1 อีสานเป็นภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศ มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุด 2 ที่ดินในภาคนี้ส่วนใหญ่มีลักษณะดินปนทราย เป็นกรดและไม่อุดมสมบูรณ์ 3 ทำให้การเพาะปลูกไม่ค่อยได้ผล ด้วยเหตุนี้ ภาคอีสานจึงส่งแรงงานอพยพเข้าไปทำงานในกรุงเทพมากกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศไทย
มีการนำโครงการพื้นฐานขนาดยักษ์ในการจัดการน้ำเข้ามาในภูมิภาคนี้ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อป้องกันความแห้งแล้งและส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรัง นี่เป็นนโยบายสำคัญของทุกรัฐบาลต่อภาคอีสานมาเกือบตลอดหนึ่งศตวรรษ นักการเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักขายนโยบายว่าจะจัดหาแหล่งน้ำให้คนอีสานเพื่อการดำรงชีพและรายได้ที่ดีขึ้น ในระดับชาติ รัฐบาลและนักการเมืองมักฉายภาพนโยบายน้ำว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะ “ช่วยชีวิต” คนอีสานจากความยากจนได้ทันทีและเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ดังที่ผู้เขียนบรรยายไว้ข้างหน้า คนอีสานก็หาใช่ผู้กระทำการที่เฉื่อยเนือยไม่ ตรงกันข้าม พวกเขาต่อสู้กับรัฐบาลในประเด็นการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง และระหว่างการต่อสู้นั้น พวกเขามักท้าทายความเป็นพลเมืองชั้นสองของตัวเอง การพินิจพิเคราะห์ประวัติศาสตร์การจัดการน้ำในภาคอีสานเผยให้เห็นว่า นโยบายน้ำไม่เพียงก่อให้เกิดความเชื่อว่าคนอีสานล้าหลัง แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นพื้นที่อย่างหนึ่งให้คนอีสานได้สร้างภาคปฏิบัติทางการเมืองแนวใหม่ของตัวเองด้วย
น้ำกับการปกครองอีสาน
ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา อีสานผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว 4 จากป่ากลายเป็นนาข้าว ประมาณช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐบาลกลางลงทุนในโครงการชลประทานหลายรูปแบบและหลายขนาดมากกว่า 6,000 โครงการ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแหล่งน้ำให้แก่พื้นที่ 1.2 ล้านเฮกตาร์ในภาคนี้ โครงการเหล่านี้ 5 มองว่าภาคอีสานแห้งแล้งและขาดไร้ความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาและการดำรงชีพ
กระนั้นก็ตาม ลักษณะเฉพาะเชิงภูมิศาสตร์ข้างต้นมีความเป็นการเมืองแฝงอยู่ด้วย กล่าวคือ ในช่วงที่มีความพยายามปฏิวัติด้วยแนวคิดคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย อีสานถูกมองว่าเป็นพื้นที่เปราะบางเป็นพิเศษต่ออิทธิพลของแนวคิดคอมมิวนิสต์ สืบเนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความยากจนและตำแหน่งที่มีพรมแดนติดกับลาวและกัมพูชา ส่วนผสมของความไม่มั่นคงนี้กลายเป็นแรงจูงใจให้รัฐบาลหยิบยื่นโครงการพัฒนาที่รัฐเป็นผู้ชี้นำเข้าไปในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง โครงการเหล่านี้มีการกำหนดทิศทางทั้งในเชิงการเมืองและความเชื่อในลัทธิการพัฒนานิยม (Developmentalism) ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา อีสานได้รับความสำคัญในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้วยความหวังว่าภาคนี้จะกลายเป็นพื้นที่กันชนคอยสกัดกั้น “ภัยคอมมิวนิสต์ 6” จากประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก้าวขึ้นมายึดครองอำนาจในประเทศไทยเมื่อปี 2501 เขาริเริ่มหลายโครงการในภาคอีสาน ด้วยความเป็นคนอีสาน สฤษดิ์จึงส่งเสริมแผนพัฒนาห้าปี (ประกาศในปี 2504) โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา แผนการนี้ครอบคลุมถึงโครงการเร่งรัดพัฒนาชนบทภายใต้การอำนวยการของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยถือเป็นวิธีการหนึ่งในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ 7และกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคเศรษฐกิจ
ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่เพื่อสร้างอาชีพแก่คนอีสาน เกษตรกรอีสานได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “การปฏิวัติเขียว 8” ในบริบทของการเปลี่ยนผ่านของภาคกสิกรรม 9นี้ การเพาะปลูกแนวทางใหม่ช่วยให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น พร้อมกับเกษตรกรเองก็บุกเบิกที่ดินเพื่อนำมาทำเป็นที่นามากขึ้นให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มสูงกว่าเดิม เกษตรกรต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกมากกว่าวิธีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมด้วย
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง รัฐบาลก็ริเริ่มโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 10 เพื่อกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ในเชิงรูปธรรมนั้น มีการอ้างเหตุผลถึงความจำเป็นต้องดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำเหล่านี้ว่าเป็นวิธีการขจัดความยากจน สร้างความมั่นคงทางอาหารและเป็นแหล่งน้ำให้แก่ธุรกิจเกษตร มันยังมีนัยยะแฝงทางการเมืองที่สำคัญด้วย นั่นคือ มันมีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อสู้กับการก่อกบฏของฝ่ายคอมมิวนิสต์และเพื่อให้ได้แรงสนับสนุนทางการเมืองจากประชาชน โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของภาคอีสานคือเขื่อนกั้นแม่น้ำลำโดมน้อย (เขื่อนสิรินธร) ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2514 มีประชาชน 2,526 ครัวเรือนต้องอพยพย้ายออกจากที่ดินเดิมของตน ครัวเรือนเหล่านี้ได้รับที่ดินสำหรับตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่เป็นที่ดินที่เพาะปลูกไม่ได้และพวกเขาได้รับค่าชดเชยน้อยมาก 11
ในปัจจุบัน อีสานมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด 17 แห่ง เขื่อนปากมูลที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีคือเขื่อนที่ก่อสร้างล่าสุด เนื่องจากความสำคัญของเกษตรกรรมในภาคอีสาน จึงไม่น่าประหลาดใจเมื่อทุกรัฐบาลที่ขึ้นครองอำนาจในกรุงเทพต่างให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อทรัพยากรน้ำในฐานะหนทางแก้ไขอันดับหนึ่งต่อความต้องการด้านการพัฒนาของภาคอีสาน 12 ถึงแม้รัฐบาลนำเสนอว่าเขื่อนขนาดใหญ่คือการกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ แต่เป้าหมายของเขื่อนกลับเป็นการสร้างกระแสไฟฟ้าส่งให้กรุงเทพ การสร้างเขื่อนจึงเป็นการขยายความสัมพันธ์ที่ไม่สมมาตรระหว่างกรุงเทพกับภาคอีสาน คนอีสานต้องประสบความทุกข์ยากจากผลกระทบของการสร้างเขื่อน แต่แทบไม่ได้รับคุณประโยชน์ใดจากโครงการเหล่านี้เลย
เขื่อนปากมูลเจ้าปัญหาก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน หลังจากเขื่อนแห่งนี้ 13สร้างเสร็จในปี 2537 เส้นทางน้ำไหลจำนวนมากจมลงใต้น้ำและพันธุ์ปลากว่า 150 ชนิดสูญหายไปจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำสาขาทั้งหลาย 14 คุณประโยชน์ด้านชลประทานและการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนปากมูลก็จำกัดมาก สมัชชาคนจนและคณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams—WCD 15) วิจารณ์โครงการนี้อย่างหนัก ก่อนการก่อสร้างเขื่อนไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเหมาะสม ชาวบ้านในท้องที่ซึ่งมีส่วนร่วมในกิจกรรมประมงทั้งแบบยังชีพและการค้ารายย่อยต่างรายงานว่า พวกเขาไม่รู้เลยว่าได้ประโยชน์อะไรบ้างจากโครงการชลประทานนี้เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบด้านลบที่เขื่อนมีต่อแม่น้ำและทรัพยากร ชาวบ้านต้องสูญเสียรายได้ที่เคยได้จากการจับปลา คนจำนวนมากจึงเข้าร่วมการประท้วงในนามของสมัชชาคนจน ขบวนการนี้รวบรวมประชาชนจากทั่วทั้งภาคอีสาน รวมทั้งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเก่า เช่น เขื่อนสิรินธร แล้วจัดตั้งพวกเขาด้วยวิธีการใหม่ๆ ขบวนการประชาชนเหล่านี้ก่อให้เกิดความรู้ใหม่โดยอาศัยงานวิจัยไทบ้านเพื่อให้ข้อมูลเพื่อการวางนโยบายที่โต้แย้งกับแนวคิดกระแสหลัก 16 ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ช่วยปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองเชิงสิ่งแวดล้อมและผู้กระทำการทางการเมืองของภาคอีสานเสียใหม่
โครงการใหม่เกี่ยวกับน้ำสำหรับอีสานอันแห้งแล้ง
รัฐบาลไทยประเมินว่าจะมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทั่วประเทศในทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม รายงานของรัฐบาลชี้แนะว่า ประเทศไทยยังมีแหล่งน้ำที่ใช้ได้ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นทั้งในพื้นที่ชนบทและเมือง ในปัจจุบัน ปัญหาขาดแคลนน้ำ 17 ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงทั่วประเทศไทย แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน
ในปี 2561 รัฐบาลทหารไทยเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี (2561-2580) เพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำ 18ที่ซ้ำซ้อนในหลายหน่วยงาน มีโครงการสร้างเขื่อนขนาดเล็กมากกว่า 541,000 แห่งและฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ 3.5 ล้านไร่ ถึงแม้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีถึง 9 จังหวัดต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง แต่นโยบายกลับมุ่งเน้นการจัดหาน้ำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น โรงงานใหญ่ๆ ส่วนเกษตรกรได้รับคำชี้นำให้วางแผนอย่างรอบคอบและปลูกพืชผลทนแล้งแทน ในปี 2561 อ่างเก็บน้ำ 160 แห่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ อ่างเก็บน้ำ 35 แห่งมีระดับน้ำในอ่าง 19 ต่ำกว่า 30% ของความสามารถในการกักเก็บน้ำ แทนที่จะจำกัดการใช้น้ำในภาคส่วนอื่นๆ ภาครัฐกลับโน้มน้าวให้เกษตรกรอีสานเลิกปลูกพืชบางอย่างในหน้าแล้งที่จำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนมาก
เช่นเดียวกัน ในปี 2563 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศว่า มี 25 จังหวัดตกอยู่ในพื้นที่ภัยแล้ง 20 ในจำนวนนี้มี 10 จังหวัดอยู่ในภาคอีสาน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission—MRC) อธิบายว่า สถานการณ์ภัยแล้งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ในขณะที่เอ็นจีโอรายงานว่าเขื่อนของประเทศจีนยิ่งซ้ำเติมและเป็นสาเหตุให้เกิดภัยแล้งมากขึ้น 21 ปัญหาภัยแล้งเหล่านี้ยิ่งกระตุ้นให้รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ด้านชลประทานในภาคอีสานยิ่งกว่าเดิม 22
จุดประสงค์หลักในการจัดหาน้ำให้เกษตรกรก็เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อยและยางพารา อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทางการเกษตรที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและดินในแต่ละท้องถิ่นทำให้รายได้เงินสดต่อไร่ในอีสานยังน้อยกว่าสองในสามของรายได้เฉลี่ยต่อไร่ในระดับประเทศ ถึงแม้มีความพยายามหลายประการที่จะปรับปรุงผลผลิตให้ดีขึ้นก็ตาม ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงเริ่มส่งเสริมให้อีสานเป็นศูนย์กลาง “เศรษฐกิจชีวภาพ” สำหรับโรงงานอ้อยและการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 23 โครงการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลยังคงสร้างจินตนาการใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในภาคอีสาน ให้คำมั่นสัญญาว่าการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรจะสร้างรายได้และมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นแก่คนอีสานในกระบวนการนี้
ยังมีการส่งเสริมแผนการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ ในภาคอีสาน เช่น แผนการผันน้ำโขง-ชี-มูลและโครงการ Water Grid 24 ชาวบ้านในจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ดและสุรินทร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล ได้ประสบพบเห็นผลพวงด้านลบของโครงการเหล่านี้มาแล้ว ในพื้นที่ของสองเขื่อนนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญหลายแห่งจมอยู่ใต้น้ำ ส่งผลกระทบเลวร้ายต่อเศรษฐกิจของชาวบ้านตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา
ในปี 2552 โครงการโขง-ชี-มูลถูกปลุกขึ้นมาใหม่ในชื่อ “โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง” 25โครงการนี้เป็นการริเริ่มของกรมชลประทาน ความหวังของโครงการครั้งล่าสุดคือเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมที่มีน้ำชลประทานในภาคอีสานได้เกือบ 50,000 ตารางกิโลเมตร (กว่า 30 ล้านไร่) นั่นหมายถึงการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวเกษตรกร 1.72 ล้านครัวเรือนเป็นจำนวนเงิน 199,000 บาท กรมชลประทานจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของโครงการนี้แล้วเสร็จในปี 2555 โครงการนี้เสนอที่จะผันน้ำจากแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อย่างไรก็ตาม พื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอันเป็นที่ตั้งของโครงการผันน้ำอาจจะถูกน้ำท่วม เรื่องนี้จะยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ต้องผจญกับน้ำท่วมตามธรรมชาติมาตลอด ดังนั้น โครงการผันน้ำนี้จึงถูกตั้งคำถาม 26จากองค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอและนักวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะตกอยู่กับประชาชนในท้องถิ่น
โครงการเหล่านี้และพลวัตด้านเศรษฐกิจการเมืองของมันสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีประเด็นปัญหาไม่จบสิ้นทั้งจากการขาดแคลนน้ำและโครงการที่ออกแบบมาไม่ดี แต่ภาพพจน์ของภาคอีสานที่มีภูมิศาสตร์แห้งแล้งและขาดแคลนน้ำจนเป็นสาเหตุให้เกิดความยากจนนั้น ก็ยังเป็นปัจจัยชี้ทิศทางนโยบายน้ำและการเมืองเกี่ยวกับน้ำในภาคนี้อยู่ดี มันยังเผยให้เห็นด้วยว่า ถึงแม้มีการลงทุนอย่างชัดเจนมายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ ปัญหาภัยแล้งก็ยังเป็นปัญหาขั้นวิกฤตสำหรับคนอีสานและยิ่งมีแนวโน้มจะเลวร้ายลง แต่ยิ่งกว่านั้น มันเผยให้เห็นว่าปัญหาขาดแคลนน้ำมิใช่เป็นเพราะไม่มีน้ำในภาคอีสาน แต่เพราะน้ำถูกจัดสรรให้แก่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศและภาคเศรษฐกิจต่างๆ ผ่านแผนการชลประทานอย่างไม่เท่าเทียมกันต่างหาก ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำนี้ เกษตรกรอีสานมักถูกทอดทิ้งให้แห้งแล้งเหี่ยวเฉา
ความยุติธรรมของการจัดสรรน้ำสำหรับภาคอีสาน
อีสานยังคงทนทุกข์ทั้งจากภัยแล้งและผลกระทบด้านลบของการลงทุนด้านชลประทานขนาดใหญ่ ในประวัติศาสตร์ของนโยบายจัดสรรน้ำในภาคนี้ เสียงและวิสัยทัศน์ทางการเมืองของคนอีสานยังคงเป็นพลเมืองชั้นสองต่อไป แทนที่จะได้รับการคัดสรรให้เป็นตัวเอกในการพัฒนาภูมิภาคของตนเอง พวกเขากลับถูกตีตราเป็นเกษตรกรล้าหลังที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห้งแล้ง รอคอยเทคโนโลยีจากภาครัฐที่จะมาช่วยยกระดับชีวิตให้ ภาพพจน์เช่นนี้ฝังรากลึกในโครงสร้างสังคมการเมืองแบบชาตินิยมและมีชนชั้นในสังคมไทย จนทำให้นโยบายน้ำชุ่มโชกไปด้วยอิทธิพลทางการเมือง กระนั้นก็ตาม ชาวอีสานใช้ความรู้พื้นบ้านและโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในการทดน้ำชลประทานให้ที่ดินของตนโดยอาศัยทำนบพื้นบ้าน คลองดินและแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาหลายศตวรรษ โครงการชลประทานน้ำขนาดเล็กเหล่านี้ล้วนมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับมองข้ามความรู้แบบนี้เพราะมันมีคุณค่าทางการเมืองน้อยและไม่ช่วยส่งเสริมการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเกษตร มิหนำซ้ำ ภูมิปัญญาท้องถิ่น 27มักถูกมองว่าไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลด้วย
กระนั้นก็ตาม คนอีสานและพันธมิตรของพวกเขายังคงใช้ประเด็นเรื่องน้ำในการจัดตั้งรวมตัวทางการเมือง ถึงแม้ขบวนการสมัชชาคนจนต่อต้านเขื่อนปากมูล 28จะลีบเรียวลงเนื่องจากความแตกแยกภายใน แต่ก็มีขบวนการอีสานใหม่ 29และขบวนการพี-มูฟ 30ก่อตั้งขึ้นมามีบทบาทแทน ขบวนการอีสานใหม่กอปรด้วยกลุ่มประชาชนหลากหลาย มีทั้งนักวิชาการ นักศึกษา องค์กรภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ทั้งสองกลุ่มทำงานขับเคลื่อนเพื่อเชื่อมโยงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางสังคม การกำหนดชะตากรรมตัวเอง การกระจายอำนาจและสิทธิเข้าถึงน้ำ พร้อมกับประเด็นด้านประชาธิปไตยที่เป็นภาพใหญ่กว่าด้วย ประเด็นต่างๆ ที่กลุ่มเหล่านี้ทำงานมีอาทิ เศรษฐกิจชีวภาพ เหมือง เมกะโปรเจ็กต์เกี่ยวกับน้ำในอีสาน ถึงแม้ขบวนการเหล่านี้ยังระดมฐานเสียงสนับสนุนได้ไม่กว้างขวางนัก แต่เนื่องจากมีความตื่นตัวทางการเมืองเป็นวงกว้างเกิดขึ้นทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะหลัง ชาวบ้านจำนวนมากจึงเกิดความหวังว่า สิ่งต่างๆ อาจใกล้ถึงกาลเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงนโยบายน้ำที่ครอบงำภาคอีสานมานานด้วยเช่นกัน
รศ.ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์
อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Notes:
- https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/josl.12064 ↩
- https://www.nesdc.go.th/nesdb_en/ewt_w3c/ewt_dl_link.php?filename=national_account&nid=4317 ↩
- https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-981-15-0998-8_2 ↩
- https://www.researchgate.net/publication/319481329_The_agrarian_transformation_in_Northeastern_Thailand_A_review_of_recent_research ↩
- https://www.researchgate.net/publication/5256620_Megaprojects_and_Social_and_Environmental_Changes_The_Case_of_the_Thai_Water_Grid ↩
- (hyperlink เสียค่ะ) ↩
- https://www.tandfonline.com/doi/pdf/10.1080/14672715.1971.10416255?needAccess=true ↩
- https://journals.openedition.org/moussons/2012 ↩
- https://www.researchgate.net/publication/319481329_The_agrarian_transformation_in_Northeastern_Thailand_A_review_of_recent_research ↩
- Molle, F; Floch, P; Promphakping, B., Blake, D, J. H.. (n.d). The ‘Greening of Isaan’: Politics, Ideology and Irrigation Development in the Northeast of Thailand. https:\horizon.documentation.ird.fr\exl-doc\pleins_textes\divers16-05\010050257.pdf ↩
- http://www.livingriversiam.org/3river-thai/other-dams/sr_inf1.htm ↩
- Molle, F; Floch, P; Promphakping, B., Blake, D, J. H.. (n.d). The ‘Greening of Isaan’: Politics, Ideology and Irrigation Development in the Northeast of Thailand. https:\horizon.documentation.ird.fr\exl-doc\pleins_textes\divers16-05\010050257.pdf ↩
- https://books.google.co.nz/books?hl=en&lr=&id=PbkeBAAAQBAJ&oi=fnd&pg=PA55&dq=Thai+ban+research+pak+mun&ots=RjImQ8Q84G&sig=LbGnP1ic6DURbeogS0VPJBdk8pU#v=onepage&q=Thai%20ban%20research%20pak%20mun&f=false ↩
- https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/07900627.2019.1611549 ↩
- http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/04/pak_mun_dam.pdf ↩
- http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/04/pak_mun_dam.pdf ↩
- https://www.thaienquirer.com/14589/water-levels-in-lower-mekong-basin-at-historic-lows-despite-the-onset-of-the-rainy-season/ ↩
- https:\www.bangkokpost.com\thailand\general\1697576\master-water-plan-given-green-light ↩
- https:\www.nationthailand.com\national\30356138) ↩
- https://www.thaienquirer.com/14589/water-levels-in-lower-mekong-basin-at-historic-lows-despite-the-onset-of-the-rainy-season/ ↩
- https://www.thaienquirer.com/14589/water-levels-in-lower-mekong-basin-at-historic-lows-despite-the-onset-of-the-rainy-season/ ↩
- Molle, F; Floch, P; Promphakping, B., Blake, D, J. H.. (n.d). The ‘Greening of Isaan’: Politics, Ideology and Irrigation Development in the Northeast of Thailand. https:\horizon.documentation.ird.fr\exl-doc\pleins_textes\divers16-05\010050257.pdf ↩
- https://isaanrecord.com/2019/09/13/sweetness-and-power-part-7/ ↩
- (hyperlink เสีย) ↩
- https://panyagroup.in.th/en/waterenvironment/6-mekong-loei-chi-mun.html ↩
- http://www.mekongcommons.org/large-scale-irrigation-northeastern-thailand-reprised-khong-loei-chi-mun-project/ ↩
- Scurrah, N. 2013 ↩
- (hyperlink เสียค่ะ) ↩
- https://web.facebook.com/newisan/?_rdc=1&_rdr ↩
- https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/402566/the-river-of-dreams ↩