การไว้อาลัยอันประเสริฐและบริสุทธิ์ในจักรวาลสากลแบบไทย

Matthew Phillips

ช่วงระหว่างวันที่ 22-26 กันยายน 2559 มีนิทรรศการหนึ่งถูกจัดขึ้นในพื้นที่การค้าเล็กๆ ระหว่างห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนกับศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ในย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ นิทรรศการนี้เน้นการจัดแสดงสินค้าจากโครงการหลวง อันเป็นโครงการพัฒนาที่ริเริ่มโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ รัชกาลที่ 9 ในช่วงตลอดเจ็ดสิบปีแห่งการครองราชย์

ภายใต้เต็นท์สีขาวขนาดใหญ่ พร้อมกับไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศแบบเคลื่อนที่ นักช้อปที่มีกำลังซื้อมาก สามารถลิ้มรสความอร่อยกับอาหารราคาแพง อย่างเช่น แซนวิชไส้เห็ดย่างผัดชีสราดซอสราสเบอร์รี่ พร้อมกับดื่มด่ำไปกับบรรยากาศอันหรูหรารอบตัว บรรยากาศแบบขุนเขาถูกจำลองขึ้นมาพร้อมด้วยมวลดอกไม้ที่ปลูกลงดิน โต๊ะไม้ และสภาพแวดล้อมแบบชนบทที่จำลองขึ้นมากลายเป็นสถานที่ต้อนรับนักช้อปที่มองหาความอภิรมย์ทางรสสัมผัส พระบรมฉายยาลักษณ์ขนาดใหญ่สี่ภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 แขวนห้อยลงมาจากเพดานเบื้องบน ดูเป็นภาพที่เห็นกันอยู่ชินตา

พระบรมฉายาลักษณ์ทั้งสี่แสดงภาพในหลวง รัชกาลที่ 9 ในขณะทรงอยู่ในวัยหนุ่ม ในภาพเหล่านั้นพระองค์ทรงชุดอย่างพลเรือนสามัญธรรมดาหรือไม่ก็ทรงชุดทหาร บางภาพเป็นพระบรมฉายาลักษณ์เดี่ยว บางภาพฉายร่วมกับสมเด็จพระราชินีหรือเจ้าฟ้าหญิง โดยมีฝูงชนห้อมล้อมแทบพระบาทอยู่เสมอ

ในสมัยที่พระบรมฉายาลักษณ์เหล่านี้ถูกถ่าย เป็นช่วงเวลาที่โครงการหลวงยังเป็นเพียงโครงการพัฒนาเล็กๆที่บริหารงานกันภายในสำนักพระราชวัง โครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ตามชุมชนชาวเขาในไทยและมักอยู่ในพื้นที่ที่ถูกห้อมล้อมด้วยอิทธิพลของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 มักเสด็จไปเยือนโครงการเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง หากมองในมุมหนึ่งการเสด็จไปเยือนพื้นที่ตามแนวชายแดนของไทยพร้อมกับการให้คำมั่นสัญญาเรื่องการพัฒนา แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างชาติ เป็นเหมือนผู้พิทักษ์ในยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ตรงข้าม แต่ก็อยู่ในยุคร่วมสมัยกับผู้นำในอีกซีกโลกหนึ่ง ที่ชื่อ ฟิเดล คาสโตร อีกด้านหนึ่งโครงการพัฒนาเหล่านี้ทำให้พระองค์ทรงเป็น ‘พุทธกษัตริย์’ ที่ประเสริฐและทรงสามารถปรับตัวเข้ากับความเป็นสากลได้เป็นอย่างดี

ถ้าเช่นนั้นแล้ว อะไรที่ทำให้ภาพลักษณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคชาวเมืองในยุคปัจจุบัน?

The Royal Development Projects exhibition, initiatives promoted by King Bhumibol over the course of his seventy-year reign: September 2016, Bangkok

ความเหมาะเจาะของเวลา

โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ต้องมาถูกเวลา ดังที่ Jacques Ellul (1973, 43) ครั้งหนึ่งเคยอธิบายไว้ว่า โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ต้องเกื้อหนุนกับความเป็นกระแสหลักที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกื้อหนุนกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นฉับพลัน ในโลกที่ข้อเท็จจริงพื้นฐานกลายเป็นเหตุการณ์ในอดีต เป็นกลาง และแน่นิ่ง โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) จะต้องสอดคล้องกับความเชื่อรวมถึงปัจจัยเรื่องเวลาและพื้นที่

ตลอดช่วงสงครามเย็น ปัจจัยสำคัญสองประการที่สร้างความรู้สึกร่วมของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในไทย คือ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิการพัฒนาที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปตามชนบทดำเนินโครงการหลวง จึงตอบโจทย์กับความรู้สึกร่วมทางประวัติศาสตร์ทั้งสองได้เป็นอย่างดี กล่าวคือไม่ใช่เพียงแค่การเน้นย้ำถึงภัยคุกคามของกลุ่มกบฏ แต่ยังเป็นการให้ความสำคัญต่อการขยายตัวอันรวดเร็วของทุนนิยมที่กำลังดำเนินไปในขณะนั้นด้วย

ประเด็นสำคัญคือ โครงการเหล่านี้ไม่ใช่เพียงโครงการที่มีอิทธิพลเชิงเดี่ยว หากแต่มีองค์ประกอบที่หลากหลายและบริหารจัดการผ่านความซับซ้อนของความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันโดยการให้รางวัลหรือยกย่องสรรเสริญกับการกระทำที่เปิดเผยต่อสาธารณะด้านการอุทิศตนของสมาชิกของราชวงศ์ในหลายระดับ ในช่วงเวลาหนึ่ง ชาวอเมริกันถือเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการสนับสนุนการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของระบอบกษัตริย์ของไทยในเรื่องการต่อสู้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ซึ่งช่วยในการรักษาภาพลักษณ์ของราชวงศ์ไว้ สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่มาเยือนประเทศไทย พวกเขาจะมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ที่มุ่งมั่นต่อสู้ในสงครามของพวกเขาอย่างง่ายดาย ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่ที่ยังมีความหวาดระแวงต่อชาวตะวันตกผิวขาวรวมถึงการให้สถานะอภิสิทธิ์กับชาวอเมริกัน ทำให้ชาวอเมริกันค่อยๆสร้างสำนึกแห่งการเป็นหนี้บุญคุณกับการกระทำของราชวงศ์ไทยต่อภัยคอมมิวนิสต์ ผ่านการให้ความเคารพต่อรูปแบบเชิงประเพณีของการปกครองเชิงวัฒนธรรม

ระเบียบทางศีลธรรมในยุคหลังอาณานิคมนี้ทำให้ประเทศไทยผนวกตัวเองเข้าสู่ระบบทุนนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าชื่อเสียงของความเป็นผู้พิทักษ์ในยุดสงครามเย็นของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้จางหายไปนานแล้ว แต่พระปรีชาสามารถของพระองค์ในการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกทำให้สถาบันกษัตริย์ยังอยู่ได้และยังคงดำเนินความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลตอบแทน เพื่อนำเสนอความจริงทางสังคมและการเมืองชุดใหม่ เช่นเดียวกับชาวอเมริกันในยุคสงครามเย็น ผู้ใดก็ตามที่ให้ความสำคัญกับสถาบันจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีคุณธรรมในสังคมไทย ในทางกลับกันวิธีการนี้ทำให้ความรู้สึกร่วมแต่เดิมต่อสถาบันกษัตริย์เกี่ยวกับความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกมีความสำคัญขึ้นมา

สด สะอาดและสุขภาพดี

แนวคิดนิยมของคนยุคปัจจุบันคือเรื่อง ‘ความสะอาด’ การกิน ‘คลีน’ และ ‘สโลว์ ฟู้ด’ มีอิทธิพลกับร้านค้าทันสมัยในกรุงเทพฯ เชื่อกันว่าอาหาร ‘คลีน’ จะช่วยล้างผิดให้ร่างกายและบรรเทาความเครียดของชีวิตสมัยใหม่ อาหารคลีนเป็นการลอกเลียนแบบการเปรียบเทียบในยุคอาณานิคมเก่าที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสังคมที่ใช้สบู่กับสังคมที่ไม่ได้ใช้ ดังที่ Anne Mcclintok (1995, 226) อธิบายถึงยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษว่า “พิธีชำระล้างที่ช่วยตระเตรียมร่างกาย มีความสำคัญต่อการจัดระบบคุณค่าของบุคคลและชุมชุน ถือเป็นการแบ่งแยกชุมชนหนึ่งออกจากชุมชนหนึ่ง”

ในประเทศไทย อาหาร ‘คลีน’ จานหนึ่งมีราคาเกินกำลังซื้อของคนสามัญธรรมดา กระแสความนิยมในโลกต่อคำว่า ‘สโลว์’ ‘ออร์แกนิก’ และ ‘คราฟต์’ เป็นช่องทางใหม่ที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างด้านร่างกายและความบริสุทธิ์ผ่านการจัดเรียงอาหารที่น่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้ง มันยังได้สร้างพื้นที่ใหม่ ที่บริสุทธิ์ สะอาดและสดใหม่ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าทั่วไป ลูกค้าหัวทันสมัย หรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ร้านอาหารที่ตั้งชื่ออย่างเช่น Ariya Organic Place (‘อริยะ’ แปลว่า บริสุทธิ์ เลอค่าหรือชั้นสูง ในภาษาบาลี) ได้อ้างว่าได้ใช้วิทยาการล่าสุดจากต่างประเทศมาช่วยบำรุงสุขภาพของคนเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็อ้างถึงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับโลกทัศน์แบบไทยพุทธที่มีมาอย่างยาวนานอีกด้วย

เราอาจกล่าวในทำนองเดียวกันนี้กับงานนิทรรศการบนพื้นที่ที่ติดกับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งในเอกสารโฆษณาได้บรรยายว่า ‘ประดับประดาไปด้วยพืชพันธุ์ไม้ที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศดอยสูง’ หากแต่ก็ยังเป็น ‘ตลาดของเกษตรกรร่วมสมัย’ ซึ่ง ‘ตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตอันทันสมัยของชาวเมืองและคนรุ่นใหม่’ อย่างไรก็ดี การผสมผสานความเป็นสากลให้คล้ายกับลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม สูตรอาหารใหม่ๆที่น่าตื่นตาตื่นใจจากเชฟชื่อดัง ถูกจัดวางและให้อารมณ์แบบชนบทที่ทันสมัยแต่ยังแฝงไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นไทยกับป้ายราคาที่สูงลิ่ว

ในที่นี้ ภาพลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในอดีตได้ถูกนำมาจัดวางในรูปแบบที่ทันสมัย ในช่วงที่พระองค์ทรงมีพระชมมายุมากขึ้น ภาพลักษณ์เหล่านี้ดูจะเริ่มแยกออกจากเรื่องราวในยุคสงครามเย็นมากขึ้น ตอนนี้ภายในนิทรรศการได้จัดวางจิตวิญญาณของพระองค์ในวัยหนุ่มให้อยู่ในโลกทางวัฒนธรรมอันบริสุทธิ์ เพียบพร้อมไปด้วยโอกาสที่หลากหลาย ซึ่งเล็กแต่มีบทบาทสำคัญในด้านการบริโภคแบบฟุ้งเฟ้อ

นอกจากนี้ เกษียร เตชะพีระ (2003) เสนอว่าตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 การขยายตัวอย่างรวดเร็วของลัทธิบริโภคนิยมที่มาพร้อมกับช่วงเวลาการเป็นเสือเศรษฐกิจของประเทศไทย ช่วยสร้างสำนึกด้านอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นไทย กลายเป็นสิ่งที่ซื้อขายได้หรือมีประสบการณ์ร่วมได้ผ่านการแลกเปลี่ยนคุณค่า วันหยุด เสื้อผ้า เครื่องประดับ ถูกทำให้น่าดึงดูดใจมากขึ้นโดยการเชื่อมมันเข้ากับอะไรบางอย่างที่มีความเป็น ‘ไทย’ ด้านสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (2013) เสนอว่าการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมผู้บริโภคใหม่นี้ ทำให้ผู้บริโภคชาวเมืองมีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ง่ายขึ้นและน่าดึงดูดใจมากขึ้นด้วย การอุปโภคบริโภคในสินค้าง่ายๆที่มีตราหรือการรับรองโดยราชสำนัก ถือเป็นวิธีที่ใหม่และชัดเจนในการแสดงถึงความจงรักภักดีต่อชาติ นอกเหนือไปจากการแสดงออกเชิงประเพณีหรือศาสนาของผู้ที่ศรัทธา

เมื่อเวลาผ่านไปการบริโภคสินค้าเหล่านี้ยังเป็นการสนับสนุนความคิดที่ว่าการใช้ชีวิตของผู้คนจำเป็นต้องสอดคล้องกับแนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9 ถ้ายังไม่อยากให้ศีลธรรมอันดีของตัวเองเปรอะเปื้อน ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อเกิดความไม่เท่าเทียมกันภายใต้ระบบทุนนิยมในประเทศไทยอย่างรุนแรง วิถีหรือคำสอนจากในหลวงกลายเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังปี 2549 การเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์สร้างความมั่นใจให้คนไทยโดยเฉพาะคนเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลที่มีส่วนพัวพันกับ ทักษิณ ชินวัตร หลายชุด เชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นคนดีมีคุณธรรม

ความเชื่อกับการกระทำ

ในขณะที่โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ต้องมาถูกเวลา คนที่สร้างภาพพจน์เหล่านี้เองกลับต้องทำงานแข่งกับตารางเวลาที่งวดลงทุกที การรณรงค์ที่ดีต้องรักษาหัวใจสำคัญเอาไว้ หากต้องการสัมฤทธิ์ผล Ellul (1973, 31) อธิบายว่าสิ่งที่จำเป็นต้องมีคือภาพลักษณ์ที่ตื่นตัวรอบๆตัว เหมือนกับการจินตนาการถึงเป้าหมายที่พึงปรารถนาแต่จับต้องไม่ได้ หากแต่ในทางปฏิบัติกลับมีการแสดงออกด้วยความยิ่งใหญ่ ฉูดฉาด และมากมายรายล้อมอยู่รอบๆตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เคลื่อนออกจากจิตสำนึกทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับมัน เมื่อภาพลักษณ์ทำนองนี้ดำรงอยู่เท่านั้น จึงจะสามารถทำให้โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นไปอย่างถูกที่ถูกทาง เพราะผู้คนจะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ชอบธรรม และถูกต้อง

ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 การดำรงชีวิตตามครรลองของในหลวง รัชกาลที่ 9 มีความสำคัญต่อการรักษาสถาบันให้กลับมาเป็นที่นิยมและมีความหมายต่อผู้คน นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนสมมติฐานขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของจักรวาลวิทยาแบบไทยอย่างชัดเจน นอกเหนือจากการพรรณนาเรื่องความร่วมสมัยในช่วงสงครามเย็น พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่แขวนอยู่เหนือศีรษะของนักช้อปเป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกหนแห่งเป็นภาพชินตา เพราะพวกมันแสดงให้เห็นถึง ‘ความเป็นจริง’ ที่ยิ่งใหญ่ที่ว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นเสมือนองค์สมมติเทพ ในขณะที่ฉลองพระองค์แสดงถึงความเป็นกษัตริย์ที่มีความอ่อนน้อม รับผิดชอบและมัธยัสถ์ ส่วนภาพที่มีประชาชนห้อมล้อมแทบพระบาทของพระองค์แสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็น ‘พุทธกษัตริย์’ ที่เปี่ยมไปด้วยพระบารมี มีคุณธรรมและทรงธรรม

ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดเชื้อของย่านช้อปปิ้งที่มีสุขภาวะมากที่สุดในกรุงเทพฯ บรรยากาศแบบภูเขาที่จำลองขึ้นมาเป็นมากกว่าความสะอาดหรือความสดชื่น มันยังถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีทั้งการแปรเปลี่ยนทางกายภาพและจิตวิญญาณ ตลาดของเกษตรกรถูกทำให้เป็นพื้นที่ที่บริสุทธิ์ เฉกเช่นกับสวรรค์มากกว่าสถานที่ของแรงงานระดับล่าง ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทอดพระเนตรลงมาในพื้นที่การค้าที่ยกพื้นสูงขึ้นจากระดับพื้นดินปกติ ทำให้นักช้อปทั้งหลายรู้สึกเหมือนถูกปลุกใจให้บริโภคด้วยใจที่ศรัทธา

Fusing cosmopolitan flavours with the spiritual purity of Bhumibol, a
Doi Kham company product.

ความอาดูรอันบริสุทธิ์ในประเทศไทยยุดใหม่

การเตรียมใจต่อการจากไปของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และทำใจได้ยาก ถ้อยคำถวายความอาลัยที่ปรากฏบนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และในหน้าหนังสือพิมพ์ภายหลังการสวรรคตนั้นต้องผ่านกระบวนการเขียน ตรวจสอบและตรวจสอบซ้ำอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการส่งสารที่ถูกต้อง รายการโทรทัศน์ต่างๆต้องมีการเขียนและแก้ไขบทใหม่ รวมทั้งบทความต่างๆ ก็ต้องเขียนขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นกัน

‘ดอยคำ’ ถือเป็นบริษัทที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดบริษัทหนึ่งในการวางตลาดสินค้าของโครงการหลวง บริษัทดอยคำ เป็นผู้จัดส่งน้ำผลไม้ให้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ รวมทั้งร้านค้าในเครือเซเว่นอีเลฟเว่น ช่วงเวลาหลายเดือนก่อนการสวรรคต สินค้าของดอยคำมีการปรับโฉมครั้งใหญ่จากเดิมที่มีสีสันฉูดฉาด พร้อมกับเครื่องหมายการค้าสีเขียว ถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่เรียบง่าย สะอาดตาขึ้น กล่องสีขาวมีรูปภูเขาไกลๆเป็นฉากหลัง โดยมีรูปผลไม้จัดวางไว้ด้านหน้า ส่วนตราของโครงการหลวงพิมพ์เป็นลายนูนถูกวางไว้ด้านบนสุด ด้วยชื่อเสียงของ ‘ความสะอาด’ ของสินค้าเหล่านี้ที่มีมาแต่เดิม ได้ตอกย้ำความเป็นสากลและจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ถ้ามองในมุมจักรวาลวิทยาของศาสนาพุทธ การออกแบบเช่นนี้ชวนให้นึกถึงเขาพระเมรุ พร้อมกับมีผลไม้จากตีนเขาเป็นเสมือนของขวัญจากสรวงสวรรค์ โดยมีตราโครงการหลวงเป็นสัญลักษณ์แทนยอดเขาพระเมรุ

หลังจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ความต้องการที่มีต่อสินค้าดอยคำพุ่งสูงขึ้นทวีคูณ ผู้บริโภคจำนวนมากต่างตามหาสินค้าหายากของดอยคำกันขวักไขว่ ในจักรวาลวิทยาสากลแบบไทย พฤติกรรมการบริโภคด้วยความศรัทธาเช่นนี้มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไป เพราะมันถูกเชื่อมโยงกับในหลวง รัชกาลที่ 9 สำหรับผู้ที่เคารพรักและมีความผูกพันธ์กับในหลวง รัชกาลที่ 9 สินค้าเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นตัวแทนความดีของท่านซึ่งทำให้คนไทยรู้สึกเหมือนยังใกล้ชิดกับพระองค์ได้ ผู้ใช้เฟสบุ๊คคนหนึ่งซึ่งกำลังตามหาสินค้าพิเศษที่หายากอย่างหนึ่งได้เขียนแสดงความคิดเห็นบนหน้าเพจของบริษัทดอยคำว่า “พ่อหลวงของเราไม่ได้ทิ้งเราไป เพราะพ่อหลวงของเราได้ทิ้งสิ่งดีๆที่มีประโยชน์ให้แก่ลูกหลานของท่าน ฉันรักพ่อหลวงและขอสนับสนุนสินค้าที่เป็นตัวแทนความรักของท่าน”

Matthew Phillips
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียสมัยใหม่
คณะประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์เวลส์
มหาวิทยาลัย Aberystwyth

Issue 22, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2017

REFERENCES

Ellul, J. 1973 (1962). Propaganda: The Formation of Men’s Attitudes [Translated from the French by Konrad Kellen and Jean Lerner], New York: Vintage Book.
McClintock, A. 1995. Imperial Leather: Race, Gender, and Sexuality in the Colonial Contest, New York: Routledge.
Gray, C. 1991. ‘Hegemonic Images: Language and Silence in the Royal Thai Polity’,
Man, New Series, Vol. 26, No. 1 (March 1991).
Kasian Tejapira. 2003. ‘The Postmodernisation of Thainess’, in Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes, Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos, Honolulu: University of Hawai’i Press.
Somsak Jeamteerasakul. 2013. ‘Mass Monarchy’, Yum Yuk Rug Samai: Chalerm Chalong 40 Pi 14 Tula, Bangkok: Heroes of Democracy Foundation and 14 Tula Committee for Democracy, pp. 107-118.