การ์ตูนช่องในเวียดนาม: การเล่าเรื่องรูปแบบใหม่

Nguyen Hong Phuc

มโนทัศน์เกี่ยวกับการ์ตูนช่องในเวียดนาม

การ์ตูนช่องในเวียดนามถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนสืบเนื่องจากความเข้าใจที่มีต่อคำว่า “การ์ตูนช่อง” (comics)  คำว่า “การ์ตูนช่อง” ในภาษาเวียดนามคือ “truyen tranh”  คำว่า “truyen” แปลว่า “เรื่องราว” ส่วน “tranh” แปลว่า “ภาพ”  คนรุ่นเก่าจึงเข้าใจว่าหมายถึงเรื่องราวที่มีภาพประกอบสำหรับเด็ก  อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่จะเข้าใจคำว่า “การ์ตูนช่อง” ในความหมายเดียวกับมังงะของญี่ปุ่น

ในฐานะ “เรื่องราวที่มีภาพประกอบ” การ์ตูนช่องไม่ได้รับการยอมรับมากนักในสังคม สืบเนื่องจากอิทธิพลยาวนานของลัทธิขงจื๊อจากประเทศจีน ซึ่ง “เรื่องราว (truyen)” ต้องมีคุณค่าด้านการศึกษาและคติศีลธรรมในเนื้อหา  จนกระทั่งทศวรรษ 1990 การ์ตูนช่องก็ยังมีโครงเรื่องเดิม ๆ เกี่ยวกับภูมิปัญญาและอุดมคติ  แต่มังงะมีหลากหลายประเภท ซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายทุกรุ่นวัย  พอเห็นฉากกามารมณ์ ความรุนแรง ภาษาแบบผู้ใหญ่และหัวข้อเรื่องต่าง ๆ  คนรุ่นเก่าก็ตัดสินทันทีว่าการ์ตูนช่องเหล่านี้เป็นอันตรายต่อเยาวชน

 ทั้ง ๆ ที่มีข้อเท็จจริงว่ามังงะได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่และกลายเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมเยาวชนเวียดนาม แต่มังงะกลับไม่ได้รับการพิจารณาจริงจังในฐานะวรรณกรรมหรือ “แก่นสาร (tinh hoa)” ของประเทศ 1

Vietnam_comics_fig-1
รูป 1. Ly Toet และ Xa Xe โดย But Son .
คำแปลรูป 1. (จากซ้ายไปขวา)
Xa Xe: เฮ้ Mr. Toet! เราจะชั่งน้ำหนักเราสองคนด้วยเหรียญ 1 xu เหรียญเดียวได้ยังไง? (1 xu= 0,01 ด่งเวียดนาม)
Ly Toet: ไม่มีปัญหา! เราก็แค่ชั่งพร้อมกันแล้วหารสอง

การ์ตูนช่องของเวียดนาม

การ์ตูนช่องไม่เพียงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ แต่ตีพิมพ์ออกมาในรูปแบบอัลบั้มด้วย  การ์ตูนช่องของเวียดนามมีแก่นเรื่องหลากหลายและใช้เพื่อความบันเทิง การศึกษาและโฆษณาชวนเชื่อ  จากปลายทศวรรษ 1960 จนถึง ค.ศ. 1975 การ์ตูนช่องเฟื่องฟูในไซ่ง่อน 2  อันนำไปสู่จำนวนศิลปินที่วาดการ์ตูนช่องมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  นักวาดภาพประกอบและศิลปินการ์ตูนช่องที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้นคือ Vo Hung Kiet 3 ซึ่งเป็นผู้วาดภาพแสตมป์คนหนึ่งด้วย  เด็ก ๆ รักการ์ตูนช่องของเขา (รูป 2 และ 3)  ในช่วงทศวรรษ 1970 นอกจากการ์ตูนช่องเวียดนาม ก็มีการ์ตูนช่องของจีนเรื่อง Lianhuanhua (หนังสือภาพขนาดฝ่ามือที่มีรูปวาดต่อเนื่องกัน) Bande Dessinée (การ์ตูนช่องของฝรั่งเศส-เบลเยียม) และการ์ตูนช่องอเมริกัน  อย่างไรก็ดี การ์ตูนช่องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นฉบับพิมพ์ละเมิดลิขสิทธิ์คุณภาพต่ำที่แปลเป็นภาษาเวียดนาม

Figure 2. A cover of Tuoi hoa by Vo Hung Kiet
รูป 2. ปกเรื่อง Tuoi hoa โดย Vo Hung Kiet (Retrieved from: http://tuoihoa.hatnang.com/node/86)
FIGURE 3. A comic by Vo Hung Kiet
รูป 3. การ์ตูนช่องโดย Vo Hung Kiet .
คำแปลรูป 3. (เรียงตามลำดับเลขในรูป)
1— Kim Dong – วีรบุรุษตัวน้อยของประเทศเรา
เนื้อเรื่อง: Thy Ngoc
ภาพ: Hung Kiet
2— ในจังหวัดกาวบั่ง มีเด็กชายคนหนึ่งชื่อ Dam Van Duc เขาต่อสู้กับรถถังเก่งกาจ
3— เขาอายุ 14 ปี พอเห็นข้าศึกถอยหนี เขาก็กระโดดขึ้นบนรถถัง
4— ขณะกำลังใช้มีดแงะฝารถถัง ข้าศึกก็เคลื่อนรถถัง ทำให้เขาตกลงมา
5— เขาเจ็บตัว แต่พอตกลงมา ก็เห็นทหารบาดเจ็บ
6— ทหารบาดเจ็บจี้ปืนใส่และสั่งให้เขานอนบนพื้นหญ้า

พัฒนาการของการ์ตูนช่องเวียดนามเปลี่ยนไปมากนับตั้งแต่ ค.ศ. 1987  การ์ตูนช่องเริ่มได้รับการสร้างสรรค์ในลักษณะคล้ายคลึงกับการ์ตูนช่องอเมริกัน  การ์ตูนช่องของเวียดนามพัฒนาอย่างต่อเนื่องจาก ค.ศ. 1987 ถึง 1990 โดยมีจำนวนศิลปินและประเภทของการ์ตูนช่องเพิ่มมากขึ้น  นอกจากนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของเด็ก ๆ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการส่งเสริมการสร้างสรรค์การ์ตูนช่อง  ศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Hung Lan ซึ่งมีผลงานการ์ตูนช่อง (Vietnamese fairy tales, Toet and Xe, Co Tien Xanh, ฯลฯ) เป็นที่นิยมอ่านอย่างกว้างขวาง  อย่างไรก็ตาม เนื้อหาก็ยังเกี่ยวข้องกับการศึกษาและปรัชญาศีลธรรม

ใน ค.ศ. 1992 สำนักพิมพ์ Kim Dong Publishing House นำการ์ตูนช่องเรื่อง โดราเอมอน เข้ามาและกลายเป็นมังงะเรื่องแรกที่เผยแพร่ในเวียดนาม โดราเอมอน กลายเป็นปรากฏการณ์อย่างรวดเร็วด้วยยอดขายกว่า 40,000 เล่ม  หลังจากความสำเร็จนี้ สำนักพิมพ์อื่นๆ เริ่มหันมาตีพิมพ์มังงะบ้าง  ใน ค.ศ. 1995 เซเลอร์มูน และ ดราก้อนบอล ก็ตีพิมพ์ออกมาและสร้างกระแสนิยมมังงะราวกับพายุใหญ่  การ์ตูนช่องเวียดนามที่มีเนื้อเรื่องเชิงการศึกษาและศีลธรรมพ่ายแพ้ต่อกระแสมังงะอย่างราบคาบ  มังงะมีเนื้อเรื่องที่สนองความโหยหาของผู้อ่านรุ่นเยาว์และขายในราคาถูกมาก  มังงะครองตลาดการ์ตูนช่องทั้งหมด ถึงแม้เกือบทั้งหมดตีพิมพ์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตาม  สภาพนี้เปลี่ยนไปใน ค.ศ. 2004 เมื่อเวียดนามยอมลงนามในอนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมฉบับแก้ไขปรับปรุง ซึ่งมีการกล่าวถึงและให้การยอมรับเรื่องลิขสิทธิ์  นับแต่นั้นมา การบริหารการขายและเนื้อหาของมังงะก็อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด

การ์ตูนช่องเวียดนามรูปแบบใหม่

นอกจากมังงะญี่ปุ่น การ์ตูนช่องของเกาหลีและจีนก็ครองตลาดการ์ตูนช่อง 4  เนื่องจากอคติที่ยังหลงเหลืออยู่ว่าการ์ตูนช่องเป็นผลงานสำหรับเด็ก จึงเป็นการยากที่จะสร้างสรรค์การ์ตูนช่องในแบบฉบับของเวียดนามเอง  เมื่อต้องเผชิญกับกระแสรุกรานของการ์ตูนช่องจากต่างประเทศ ศิลปินก็พยายามวาดการ์ตูนช่องเช่นกัน ใน ค.ศ. 2002  สำนักพิมพ์Phan Thi Company ตีพิมพ์การ์ตูนช่องเรื่องยาวในชื่อชุด Than dong Dat Viet(เด็กวิเศษแห่งเวียดนาม) ซึ่งพลิกโฉมหน้าของการ์ตูนช่องในเวียดนามทีเดียว (รูป 4 และ 5)  Than dong Dat Vietเป็นเรื่องราวการผจญภัยของ Le Ty(Ty เด็กวิเศษ) กับเพื่อนพ้องที่ร่วมกันต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นว่าไม่ดี โดยวางโครงเรื่องบนขนบธรรมเนียมประเพณีของเวียดนามและวีรบุรุษประจำชาติ  นอกจากรายละเอียดอันน่าตื่นตาตื่นใจ การ์ตูนช่องเรื่องนี้ยังนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และแนะนำวีรบุรุษประจำชาติของเวียดนามในรูปโฉมใหม่ที่มีชีวิตชีวาด้วยการแสดงสีหน้าเกินจริงและบทสนทนาที่น่าสนใจระหว่างตัวละครต่าง ๆ  การ์ตูนช่องเรื่องนี้ดึงดูดใจผู้อ่านวัยเยาว์จำนวนมากและขายดียาวนานจนมีตอนต่อมากกว่า 120 เล่ม  มันค่อนข้างคล้ายคลึงกับมังงะในแง่ของการจัดวางเลย์เอาท์เป็นช่องๆ การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ (onomatopoeia) และลีลาการวาดตัวละคร

Fig4_Than_dong_Dat_Viet
ป 4. Than dong Dat Viet by Le Linh, 2008, Vol. 100, pp. 62~63
คำแปลรูป 4. (จากซ้ายไปขวา)
1— ฮ่า ฮ่า ฮ่า… ไม่มีปัญหา!
2— เอิ่ม คุณผู้หญิงต้องการอะไรกันแน่?
3— เหม็นจัง! ไปไกลๆเลย!!!
4— คุณสุภาพบุรุษ ได้โปรด ฉันขอ…
5— …เงินสักหน่อย!
6— ฉันไม่มีเงินหรอก!
7— โอเค! เราจะลากให้
8— แต่คุณต้องจ่ายเงินให้เราก่อน
9— เงินเรอะ? ไม่มีปัญหา!
10— อ้า…
11— ไปให้พ้นเดี๋ยวนี้!
12— คุณเห็นแก่ตัวจัง!
13— อะไรนะ??
Fig.-5
ป 5. Than dong Dat Viet by Le Linh, 2008, Vol. 100, p. 66
คำแปลรูป 5. (จากซ้ายไปขวา)
1— ฮึ่ม! จับได้ล่ะ!
2— อ๊ากก!!
3— แกไปกับฉัน ไปเจอผู้พิพากษา!
4— พวกเธอเป็นไงบ้าง?
5— พี่สาว มันเจ็บมาก!
6— ไม่เป็นอะไรมากหรอก ทำไมเขาร้องไห้จัง?
7— เขามันขี้แย!
8— อะไรนะ?

การ์ตูนช่องของศิลปินเวียดนามเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าทึ่งนับตั้งแต่ ค.ศ. 2011  ในบรรดาการ์ตูนช่องเหล่านี้ เรื่อง Dat Rong (ดินแดนแห่งมังกร) ที่มีลีลาแบบมังงะของสำนักพิมพ์ Dimensional Art Group 5 ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในงาน International Manga Award ครั้งที่ 6 6 โครงเรื่องได้รับแรงบันดาลใจจากตำนานเทพ Son Tinh – Thuy Tinh ของเวียดนาม 7  นอกจากเรื่องนี้  หนังสือชุด “Danh Tac Viet Nam” (การ์ตูนวรรณคดีชิ้นเอก) ก็ได้จัดพิมพ์เรื่องChi Pheo, Giong to (พายุฝน) และ Tat den (ไฟดับ!) ซึ่งเป็นการ์ตูนช่องที่สร้างจากวรรณคดีเวียดนามที่มีชื่อเสียงโดยฝีมือของกลุ่มศิลปินที่ใช้ชื่อว่า BRO – 2D Comic Artist Group ที่ประกอบด้วยสมาชิกสามคนด้วยกัน 8  ผลงานของพวกเขาได้รับความสนใจในตลาดการ์ตูนช่อง  ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Nguyen Thanh Phong กลายเป็นศิลปินการ์ตูนช่องอิสระที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักด้วยตัวเขาเอง

นับตั้งแต่ ค.ศ. 2004  ผลงานของ Nguyen Thanh Phong ได้ลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารหลายฉบับ  เรื่อง “Long than tuong (ตำนาน Long Than Tuong)” ลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสาร Truyen tranh tre (การ์ตูนช่องเยาวชน) ของสำนักพิมพ์ Tre Publishing House  เรื่อง “Nhi and Tun” ลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสาร Than dong Dat Viet Fanclub ของสำนักพิมพ์ Phan Thi Company   Nguyen Thanh Phong ยิ่งเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในเวียดนามมากขึ้นจากหนังสือภาพชื่อ Sat thu dau mung mu (ฆาตกรหัวเฟะฝีกลัดหนอง) (รูป 6)

FIGURE 6: The cover of Sat thu dau mung mu by Thanh Phong, 2011
รูป 6. ปกของ Sat thu dau mung mu โดย Thanh Phong, 2011

หนังสือภาพเล่มนี้ตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 เป็นผลงานร่วมพิมพ์ระหว่างสำนักพิมพ์ Nha Nam Company กับ Fine Arts Publishing House โดยมีจำนวนพิมพ์ครั้งแรก 5,000 ฉบับ 9  ในเล่มประกอบด้วยรูปวาดที่ไม่เกี่ยวข้องกัน 120 รูป  แต่ละรูปมีคำบรรยายภาพสั้น ๆ ที่นำมาจากสำนวนภาษาปากที่ใช้กันทั่วไปในเวียดนาม  ยกตัวอย่างเช่น คำพังเพยดั้งเดิมของเวียดนามที่กล่าวว่า ม้าป่วยตัวเดียว ทั้งคอกก็ไม่กินหญ้า ซึ่งมีความหมายว่า จงรักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง ถูกปรับเปลี่ยนแก้เป็น ม้าป่วยตัวเดียว ทั้งคอกก็ได้กินหญ้ามากขึ้น ซึ่งหมายถึงความเห็นแก่ตัวและไม่แยแสสนใจคนอื่น (รูป 7)  นอกจากนั้น มีรูปวาดลายเส้นชุดหนึ่งในหนังสือที่เป็นภาพประกอบคำเปรียบเปรยขำขันที่นำมาจากคำสะแลงของวัยรุ่นร่วมสมัย ซึ่งเปรียบเทียบอารมณ์ต่าง ๆ  กับสัตว์นานาชนิดและไม่มีความหมายนอกเหนือจากนั้น  ยกตัวอย่างเช่น “chan nhu con gian” (น่าเบื่อเหมือนแมลงสาบ) “buc nhu con muc” (ท้อแท้เหมือนปลาหมึก) “ngoc nhu con oc” (โง่เง่าเหมือนหอยทาก) เป็นต้น

Figure 7. Sat thu dau mung mu by Thanh Phong, 2011, p. 68 Translation of Figure 7. 1: When a horse is sick, the rest of the stable can eat more grass. 2: Hooray! 3: Who cares?
รูป 7. Sat thu dau mung mu โดย Thanh Phong, 2011, p.68
คำแปลรูป 7.
1— ม้าป่วยตัวเดียว ทั้งคอกก็ได้กินหญ้ามากขึ้น
2— ฮูเร!
3— ใครสนล่ะ?
FIGURE 8: The cover of Phe nhu con te te by Thanh Phong, 2013
รูป 8. ปกของ Phe nhu con te te โดย Thanh Phong, 2013

ในความคิดเห็นของผู้ชื่นชอบ  หนังสือภาพเล่มนี้น่าสนใจทีเดียวในแง่ที่มันรวบรวมภาษิตเวียดนามแปลงและคำสะแลงเกิดใหม่ที่ไม่มีในพจนานุกรมภาษาเวียดนามมาแปรเป็นภาพที่สนุกสนานและน่าขบขัน 10  ส่วนฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ตั้งประเด็นว่า สำนวนที่ถูกแปลงใหม่อาจส่งอิทธิพลทางลบต่อเยาวชนในการใช้ภาษาเวียดนามและความคิดของพวกเขา 11  เนื่องจากมีคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ขัดแย้งกันจำนวนมากเกิดขึ้นรายรอบหนังสือเล่มนี้  อธิบดีกรมการพิมพ์เวียดนามจึงสั่งให้สำนักพิมพ์ Fine Arts Publishing House อธิบายสาเหตุที่ตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้  ในส่วนสำนักพิมพ์ Fine Arts Publishing Houseเองกลับเรียกร้องให้สำนักพิมพ์ Nha Nam Company ไม่เพียงหยุดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เท่านั้น แต่ให้เรียกคืนหนังสือที่ตีพิมพ์แล้วทั้งหมดออกจากตลาด โดยอ้างเหตุผลว่าฝ่ายหลังไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ตกลงไว้กับสำนักพิมพ์ Fine Arts Publishing House 12  โดยเฉพาะกรณีที่สำนักพิมพ์ Fine Arts Publishing Houseอนุญาตให้Nha Nam Company ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในชื่อ สำนวนแปลงใหม่ แต่กลับตีพิมพ์หนังสือในชื่อ “Sat thu dau mung mu” แทน

ถ้าหนังสือเล่มไหนก่อให้เกิดกระแสถกเถียง การตีพิมพ์จะถูกระงับ  ซ้ำร้ายกว่านั้น สื่อมวลชนจะไม่เอ่ยถึงหนังสือเล่มนั้นอีก  อย่างไรก็ตาม Sat thu dau mung mu กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา  หลังจากถูกยุติการตีพิมพ์เผยแพร่ มีการจัดรายการทอล์คโชว์ในชื่อ มองภาษาวัยรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตผ่านหนังสือภาพ Sat thu dau mung mu ของ Nguyen Thanh Phong” เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2012 ที่สถาบัน L’Espace (ศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศสในฮานอย)  รายการทอล์คโชว์นี้อภิปรายถึงข้อดีข้อเสียของหนังสือเล่มนี้  ควรบันทึกไว้ด้วยว่า ผู้วิพากษ์วิจารณ์มีวัยรุ่นเวียดนามรวมอยู่ด้วย  กลุ่มผู้ชื่นชอบหนังสือพบว่ามีผู้ใหญ่บางคนเห็นพ้องกับพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการอย่างศาสตราจารย์ Van Nhu Cuong 13ซึ่งให้ข้อคิดเห็นว่า การเล่นคำภาษาเวียดนามและแปลงสำนวนดั้งเดิมในรูปแบบใหม่เช่นนี้เป็นนวัตกรรมทางภาษา เนื่องจากภาษาเวียดนามที่เป็นทางการไม่สามารถสะท้อนความรู้สึกนึกคิดได้มากเพียงพออีกต่อไป  ดังนั้น นี่จึงเป็นการสร้างสรรค์คุณค่าใหม่จากคุณค่าดั้งเดิม 14  นอกจากนั้น ศาสตราจารย์Pham Van Tinh 15แสดงความคิดเห็นว่า หนังสือภาพเล่มนี้ช่วยสร้างความรุ่มรวยให้ภาษาเวียดนาม อีกทั้งเราพึงยอมรับแนวโน้มของกลุ่มวัยรุ่นในการสร้างภาษาใหม่ๆ 16  คำยืนยันจากนักวิชาการช่วยให้มีการทบทวนคุณค่าของหนังสืออีกครั้ง  สำนักพิมพ์ Nha Nam Company เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น “Phe nhu con te te (ตัวนิ่มกลิ้งหลุนๆ)” เมื่อนำหนังสือเล่มนี้มาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง (รูป 8 

ไม่กี่วันหลังจากหนังสือได้รับการตีพิมพ์ซ้ำ  ก็มีการปล่อยภาพสแกนละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต  ด้วยความคับข้องใจกับเหตุการณ์ที่พลิกผันไปในทางร้าย Nguyen Thanh Phong เขียนบันทึกชื่อ “ถึงหัวขโมย” ลงในบล็อกส่วนตัวของเขาเพื่อสื่อสารกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง 17  การมีภาพสแกนหนังสือละเมิดลิขสิทธิ์เช่นนี้ทำให้ยอดซื้อหนังสือการ์ตูนช่องลดลง จนเป็นเหตุให้ศิลปินการ์ตูนช่องเวียดนามไม่สามารถอยู่รอดและมีรายได้เพียงพอจากการสร้างสรรค์การ์ตูนช่อง  ปัญหานี้กลายเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ขัดขวางการเติบโตของอุตสาหกรรมการ์ตูนช่องในเวียดนาม  เนื่องจากการเผยแพร่ภาพสแกนที่ละเมิดลิขสิทธิ์และข้อเท็จจริงที่ผู้อ่านยังฝังใจกับชื่อเก่าของหนังสือมากกว่า  การตีพิมพ์ Phe nhu con te te ครั้งใหม่จึงขายไม่ดีเท่าการพิมพ์ครั้งก่อน

Fig.-9
รูป 9. “หมูเมื่อเล็ก – วัวเมื่อใหญ่” โดย Thanh Phong, 2012, p.4. < http://www.behance.net/gallery/Pig-when-small-Cow-when-big/4714463>.

Nguyen Thanh Phong กับเพื่อนชื่อ Khanh Duong ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม Phong Duong Comic Artists Group  โดย Nguyen Thanh Phong รับผิดชอบด้านการวาดลายเส้น ส่วน Khanh Duong ดูแลด้านโครงเรื่อง  ก่อนหน้านี้ Nguyen Thanh Phong เป็นที่รู้จักมากกว่าเดิมหลังจากมีผลงานชื่อ Orange (ซึ่งเขียนเนื้อเรื่องโดย Khanh Duong) ที่ตีพิมพ์ออกมาใน ค.ศ. 2011 โดยสำนักพิมพ์ Phan Thi Company  หนังสือชื่อ Orangeกลายเป็นซีรีย์การ์ตูนช่องชุดแรกของเขาที่ตีพิมพ์ในฐานะหนังสือการ์ตูนช่อง

โครงเรื่องของซีรีย์ชุดนี้เป็นเรื่องราวของ Lam เลขานุการของชั้นเรียนห้อง 11A3 ในโรงเรียนมัธยมปลายชื่อโครว์ไฮสกูล  Lam มองหาอัจฉริยะด้านบาสเกตบอลที่มีปลอกแขนบาสเกตบอลสีส้ม  เช่นเดียวกับซีรีย์ชุด Than dong Dat Viet  การ์ตูนช่องเรื่องนี้ก็หนีไม่พ้นอิทธิพลของมังงะ  มันมีความคล้ายคลึงกับซีรีย์ชุด Slam Dunk และ Nguyen Thanh Phong เองก็ยอมรับในประเด็นนี้ 18  การวางเลย์เอาท์ของช่องการ์ตูนและการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ (onomatopoeia) ได้รับอิทธิพลจากมังงะโดยตรง (รูป 10) แต่ถึงแม้ได้รับอิทธิพลจากมังงะ การวาดลายเส้นบรรยายรายละเอียดตัวละครของ Nguyen Thanh Phong กลับมีลักษณะแบบเดียวกับการ์ตูนช่องอเมริกัน  นอกจากวาดภาพแบบสมจริงมากกว่ามังงะแล้ว โครงเรื่องยังได้แรงบันดาลใจจากชีวิตประจำวันของวัยรุ่นเวียดนาม  การ์ตูนช่องชุดนี้ไม่เพียงจำลองภาพถนนหนทางและตึกรามบ้านช่องแบบเวียดนามเท่านั้น แต่ยังสะท้อนภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น ตลาดและแท่นบูชาบรรพบุรุษ (รูป 14 และ 15)  การเล่าเรื่องที่วางพื้นฐานบนวัฒนธรรมเวียดนามและลีลาลายเส้นแบบสมจริงทำให้ Orange กลายเป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวและโดดเด่น  นับแต่นั้นมา การร่วมมือของคู่ศิลปิน Phong Duong สามารถวางรากฐานลีลาเฉพาะตัวของการ์ตูนช่องเวียดนามและได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในศิลปินการ์ตูนช่องรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองที่สุด

Figure 10. Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, p.109 Translation of Figure 10. (From left to right) 1: Trang! I forgot my Linkin Park World Tour CD in your bag, please bring it with you tomorrow when you go to school! 2: What? Linkin Park? In Trang's bag??? 3: That’s it! 4: Good dog, don't bite me, please! 5: How dare you to call me a dog??? 6: Grrr! Ahhh!
รูป 10. Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, p.109,
คำแปลรูป 10. (จากซ้ายไปขวา)
1: Trang! ฉันลืมแผ่นซีดี Linkin Park World Tour ในกระเป๋าของเธอ พรุ่งนี้ตอนเธอไปโรงเรียน ช่วยเอาไปด้วยนะ!
2: อะไรนะ? ซีดี Linkin Park? ในกระเป๋าของ Trang เหรอ???
3: ใช่แล้ว!
4: เจ้าหมาใจดี อย่ากัดฉันเลยน่า!
5: กล้าดียังไงมาเรียกฉันเป็นหมา???
6: กรอดดด! อ๊ากกก!
Figure 11. Orange  by Phong Duong, 2011, Vol.1, p.30  &  FIGURE 12: Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, p. 34
รูป 11. Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, p.30
รูป 12. Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, p.34
Fig.-13_Orange
รูป 13. Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, pp. 130-131
คำแปลรูป 13. (จากซ้ายไปขวา)
1: ฉันสูญเสียพ่อแม่ไปในวันนั้น
2: ฉันบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและต้องใช้เวลาที่เหลือชั่วชีวิตบนรถเข็น
3: แล้ว Lam ล่ะ?
4: Lam น่ะเหรอ…
5: เขาสูญเสียสิ่งสำคัญที่สุดให้แก่นักบาสเกตบอลคนหนึ่ง…
FIGURE 13. Vietnamese markets—  Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, pp. 88-89  &  FIGURE 14. Vietnamese ancestor altar — Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, p. 119
ป 14. ตลาดเวียดนาม Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, pp.88-89 & รูป 15. แท่นบูชาบรรพบุรุษของชาวเวียดนาม Orange by Phong Duong, 2011, Vol.1, p.119

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013  Nguyen Thanh Phong ออกผลงานการ์ตูนช่องขนาดสั้นชุดใหม่ล่าสุดในชื่อ “Hang xom (เพื่อนบ้าน)”โดยตั้งใจจะนำเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการ “Pieces of life” ที่ประกอบด้วยภาพเหมือน ภาพเหมือนตัวเองและผลงานการ์ตูนที่นำเสนอวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในฮานอย ซึ่งจะจัดแสดงที่สถาบันL’Espace  อย่างไรก็ตาม การ์ตูนช่องชุดนี้กลับไม่ได้รับอนุญาตให้จัดแสดง เนื่องจากถูกพิจารณาว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อการเป็นตัวแทนวัฒนธรรมเวียดนามเพราะมีฉากกามารมณ์ (รูป 16) 19  เรื่องราวในการ์ตูนช่องชุด เพื่อนบ้าน 20 เล่าถึงการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคู่ผัวหนุ่มเมียสาวกับแม่ม่ายชราที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน  เหตุผลที่แม่ม่ายทะเลาะกับคู่ผัวเมียก็เพราะน้ำจากหลังคาบ้านของทั้งสองหยดใส่บ้านของนาง

Figure 16. “Hang xom” by Thanh Phong, 2013, p.14 Translation of Figure 16. (From left to right) 1:  (Sound effects of the bed, “Squeak, Creak!”) Ah! Uh! 2: Ah! Uh! 3: (Squeak!) This bed is just so freaking loud! 4: Hey, what if the neighbors can hear us? 5: Just… let them be jealous. Uh! 6: Ah!     Don’t worry! The old widow downstairs is hard of hearing… 	Aha! When we moved in here, we made a lot of noise but she didn't complain at all. 7: Well that aside, you still shouldn’t fix anything at night. I can’t stand the noise. 8: Stop talking or this won’t feel good anymore. Let’s go! 9: Ah! Hey, don’t pull on the curtain! You’ll tear it.
รูป 16. “Hang xom” by Thanh Phong, 2013, p.14
คำแปลรูป 16. (จากซ้ายไปขวา)
1— (เสียงเตียงลั่น “เอี๊ยด อ๊าด!”) อ้า! อู้ว์!
2— อ้า! อู้ว์!
3— (เอี๊ยด!) เตียงนี่เสียงดังจัง!
4— ตายล่ะ ถ้าเพื่อนบ้านได้ยินเราล่ะ?
5— ก็ … ปล่อยให้พวกเขาอิจฉาไป
อู้ว์!
6— อ้า!
ไม่ต้องห่วงหรอก! ยายแม่ม่ายเฒ่าชั้นล่างหูตึงจะตาย …
อะฮ้า! ตอนเราย้ายเข้ามา เราทำเสียงดังเอะอะ แต่นางก็ไม่เคยบ่น
7— ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เธอไม่ควรซ่อมอะไรตอนกลางคืน ฉันรำคาญเสียงหนวกหู
8— เลิกพูดซะที เดี๋ยวก็หมดความรู้สึกดีๆหรอก ต่อเถอะ!
9— อ้า!
เฮ้ อย่าดึงผ้าม่านสิ! เดี๋ยวก็ขาดหรอก

รัฐบาลเวียดนามก็เล็งเห็นกระแสการ์ตูนช่องที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงใช้มันมาโฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลบ้าง  ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2013 สำนักพิมพ์ Phan Thi Company ออกซีรีย์ชุดหนึ่งของ Than dong Dat Viet ที่มีเนื้อเรื่องเน้นไปที่การประกาศอำนาจของเวียดนามในการคุ้มครองเขตแดนทางทะเลและหมู่เกาะจากการอ้างกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลจีน 21 ด้วยเหตุนี้ ทัศนคติของรัฐบาลเวียดนามที่มีต่อการ์ตูนช่องจึงมีความแตกต่างขัดแย้งในตัวเอง  ในสภาพการณ์ที่คลุมเครือเช่นนี้ การ์ตูนช่องเวียดนามยังไม่มีพื้นที่เสรีที่จะปักหลักมั่นลงในวัฒนธรรมเวียดนามร่วมสมัย

โดย Nguyen Hong Phuc นักศึกษาปริญญาโท ณ สถาบัน Graduate School of Manga Studies มหาวิทยาลัย Kyoto Seikaประเทศญี่ปุ่น 

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 16 (September 2014) Comics in Southeast Asia: Social and Political Interpretations

Bibliography

Berndt, Jaqueline edited. Comics Worlds and the World of ComicsTowards Scholarship on a Global Scale (Global Manga Studies, vol.1), Kyoto Seika University International Manga Research Center, 2010.
Do, Huu Chi “Comic art in Vietnam: A Brief History,” International Journal of Comic Art 13.1 (Spring 2011): 62-86.
Do, Mimi H. The Search for Modernity: Literature and Vietnamese Nationalism, 1900-1939 (M.A. Thesis), University of Hawaii, 2002.
Furuta, Motoo. Betonamu no Sekaishi – Chuuka Seikai kara Tounan Ajia Sekai e (Vietnam in the world history Toward to the world of Southeast Asia from the world of China), (Tokyo Daigaku Shuppankai, 1995).
Groensteen,Thierry. The System of Comics, (University Press of Mississippi, 2009).
Ichiki, Jun – Ogi, Fusami – Motohama, Hidehiko jointly edited. Manga wa ekkyou suru! (Beyond Borders: the Transnational Power of Manga), (Sekaishisousha, 2010).
Iwashita, Houyuu. “Manga no Zuzou ni okeru “Kigosei” nitsuite”, Manga Kenkyuu Vol.12 (Manga Studies Vol.12), (Nihon Manga Gakkai, 2007), 54-61.
Marr, David G. Vietnamese Tradition on Trial, 1920-1945, (University of California Press, 1984).
McHale, Shawn Frederick. Print and Power: Confucianism, Communism, and Buddhism in the Making of Modern Vietnam (Southeast Asia: Politics, Meaning, and Memory), (Honolulu: University of Hawaii Press, 2004).
Natsume, Fusanosuke. Manga wa naze omoshiroi no ka – Sono hyougen to bunpou (Why are manga interesting? – Its expression and grammar), Tokyo: Nihon Housou Shuppan Kyoukai, 1997.
Ono, Kouse. “Zoushoku suru Manga – MANGA wa Sekai ni hirogatteiru” (Growing Manga – MANGA is spreading throughout the world), Manga wa ekkyou suru! (Beyond Borders: the Transnational Power of Manga), (Sekaishisousha, 2010), pp. 40-64.
Sekiguchi, Sueo – Tran, Van Tho jointly edited. Gendai Betonamu Keizai – Sasshin (Doi Moi) to Keizai Kensetsu (The contemporary Vietnamese economy – Renovation (Doi Moi) and Economic construction), (Keisoshobo, 1992).
Tran, Huy Lieu. Mot bau tam su (A gourdful of confidences), (Cuong Hoc Thu Xa Press, 1927).
Yoshikawa, Norihiro. “Chugoku ni okeru Kaizokuban Nihon Manga nitsuite no Kousatsu” (The consideration of pirated Japanese manga in China), Manga Kenkyuu Vol.2 (Manga Studies Vol.2), (Nihon Manga Gakkai, 2002), pp. 131-136.

Website (Last access date: February 10, 2014)

“Comic popularises VN sovereignty”, Viet Nam News <http://vietnamnews.vn/life-style/245480/comic-popularises-vn-sovereignty.html>.

Ha Trang, “Theneighbor was not allowed to be exhibited, the Director of Fine Art Department explained the reasons (Truyen tranh Hang xom bi cam, Cuc truong ly giai nguyen nhan),Infonet of Ministry of Information and Communication of Vietnam <http://infonet.vn/truyen-tranh-hang-xom-bi-cam-cuc-truong-ly-giai-nguyen-nhan-post104877.info>.

Hoang Anh, “The Killer With a Head Full of Festering Sores: The old people support, the young people object” (Sat thu dau mung mu: Nguoi gia me, nguoi tre che), VN Express <http://giaitri.vnexpress.net/tin-tuc/gioi-sao/trong-nuoc/sat-thu-dau-mung-mu-nguoi-gia-me-nguoi-tre-che-1918247.html>.

Minh Nhat, “Re-created Idioms: the more being withdrawn, the more spreading” (Thanh ngu sanh dieu: Thu hoi, cang lan nhanh), Nhan Dan Online <http://www.nhandan.org.vn/mobile/_mobile_vanhoa/_mobile_diendan/item/18830002.html>.

Phong’s interview, “Thanh Phong – I can’t live without drawing” (Thanh Phong – “Neu khong ve truyen tranh, toi se chet”), Japan Foundation Online <http://jpf.org.vn/2012/05/10/thanh-phong-neu-khong-ve-truyen-tranh-toi-se-chet>.

Shine Toshihiko, “Current State of Creating Comics in Vietnam and the Role of Japan”(Thuc trang sang tac “truyen tranh co cot truyen” o Viet Nam va vai tro cua Nhat Ban), Vietnamese History Forum <http://www.lichsuvn.info/forum/showthread.php?t=9232&page=3>.

Thanh Huong, “Nguyen Thanh Phong: Eat – Sleep – Draw and Imagine” (Nguyen Thanh Phong: An – Ngu – Ve va tuong tuong), VTC News{こうどじょうほうつうしん}{すいみん} <http://vtc.vn/chan-dung-doi-thoai/nguyen-thanh-phong-an-ngu-ve-va-tuong-tuong-359807.html>.

Thanh Phong, “To the Thief (Gui ban an cap) <http://phong210.wordpress.com/2011/10/21/g%E1%BB%ADi-b%E1%BA%A1n-an-c%E1%BA%AFp>.

The withdrawal of “The Killer With a Head Full of Festering Sores”: Resolved in accordance with the social criticism? (Thu hoi Sat Thu dau mung mu: Xu ly theo “du luan”?), Tuoi Tre Onlin <http://tuoitre.vn/Tet-2014/Tet-moi-mien/462350/Thu-hoi-Sat-thu-dau-mung-mu%C2%A0-Xu-ly-theo-%E2%80%9Cdu-luan%E2%80%9D.html>.

Thoai Ha, “The picture book about “Re-created Idioms” has caused the pros and cons” (Tranh ve “ngon ngu cai bien” cua gioi tre gay tranh cai), VN Express <http://giaitri.vnexpress.net/tin-tuc/gioi-sao/trong-nuoc/tranh-ve-ngon-ngu-cai-bien-cua-gioi-tre-gay-tranh-cai-1915509.html>.

Vietnamese Online Dictionary <http://tratu.soha.vn/dict/vn_vn/Truy%E1%BB%87n_tranh>.

Vietnamese Wikipedia <http://vi.wikipedia.org/wiki/Truy%E1%BB%87n_tranh>.

The list of Phong’s works:

“Truyen thuyet Long Than Tuong (The Legend of Long Than Tuong) ”, Truyen tranh tre, (Tre Publishing House, 2004).
“Nhi va Tun (Nhi and Tun)”, Than Dong Dat Viet Fanclub, (Phan Thi Company, 2004).
“Cau be va may bay giay (The Boy and the Paper Plane)”, Liquid City Volume 1, (Image Comics, 2008), p. 7.
Bon anh tai – Sang tau doi no (Four Incredible Guys – A Journey to China to Recover a Debt), (Nha Nam Company, 2009).
“Be lon, lon bo (Pig when small – Cow when big)”, 2010, p. 12.
“Bicof Story,” in Liew, Sonny, and Lim Cheng Tju, eds, Liquid City 2, (Image Comics, 2010), p.7.
 Orange, Phan Thi Company, 2011.
“Nguoi hoa ho (Man-Turned-Tiger)”, 2011, p.9.
Sat thu dau mung mu (The killer with a head full of suppurating sores), (Nha Nam Company and the Fine Arts Publishing House), 2013.
“Hang xom (The neighbor)”, 2013, p.21 

Notes:

  1. Tran, Huy Lieu(1927, p.26).
  2. Do, Huu Chi (2011, p.73).
  3. Vo Hung Kietเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1945 ในจังหวัดหวิงลอง ประเทศเวียดนาม และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปกรรมไซ่ง่อนใน ค.ศ. 1968  เขาเลือกตัวอักษร VV (“vee-vee” ในภาษาอังกฤษ หรือ “vi-vi” ในภาษาเวียดนาม) เป็นนามปากกา  เขาเป็นนักออกแบบศิลปะและวาดรูปประกอบให้นิตยสารต่าง ๆ เช่น Tuoi Hoa, Tuoi Xanh ฯลฯ
  4. <http://www.lichsuvn.info/forum/showthread.php?t=9232&page=3>(accessed February 10, 2014)
  5. ]ศิลปินกลุ่มนี้ประกอบด้วยสมาชิก อาทิ Dinh viet Phuong, Do Nhu Trang, Le Lam Vienฯลฯ
  6. รางวัลที่มอบเพื่อเป็นเกียรติแก่ศิลปินมังงะที่มีส่วนสร้างคุณูปการในการส่งเสริมมังงะในต่างประเทศ ผู้จัดมอบรางวัลคือกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น
  7. Son Tinh – Thuy Tinh เป็นหนึ่งในตำนานที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม Son Tinh คือเทพแห่งภูเขา ส่วนThuy Tinh คือเทพแห่งน้ำ  Son Tinh ชนะการแข่งขันที่ชนะใจเจ้าหญิง  แต่เทพ Thuy Tinh ผู้พ่ายแพ้ผูกใจเจ็บ และการต่อสู้ระหว่างเทพทั้งสองจึงเกิดขึ้นทุกวี่วัน  ในท้ายที่สุด  Thuy Tinh ก็ถอนกำลังน้ำกลับไป  อย่างไรก็ตาม เทพแห่งน้ำไม่เคยละความคิดที่จะแก้แค้น  ดังนั้น ทุก ๆ ปี ประชาชนจึงต้องทุกข์ทรมานจากน้ำท่วมอันเป็นผลพวงจากความอาฆาตและคิดแก้แค้นตลอดกาลของเทพThuy Tinh
  8. ศิลปินกลุ่มนี้ก่อตั้งใน ค.ศ. 2005 ประกอบด้วยสมาชิกสามคนคือ  Hoang Anh Tuan, Pham Kieu Oanh และNguyen Nhat Nguyen
  9. <http://www.nhandan.org.vn/mobile/_mobile_vanhoa/_mobile_diendan/item/18830002.html> (accessed February 10, 2014)
  10. <http://giaitri.vnexpress.net/tin-tuc/gioi-sao/trong-nuoc/tranh-ve-ngon-ngu-cai-bien-cua-gioi-tre-gay-tranh-cai-1915509.htm> (accessed February 10, 2014).
  11. ]เว็บไซท์เดิม (accessed February 10, 2014).
  12.  <http://tuoitre.vn/van-hoa-giai-tri/462107/thu-hoi quyen-sat-thu-dau-mung-mu.html> (accessed February 10, 2014).
  13. ]ศาสตราจารย์ Van Nhu Cuong (1937- ) จบปริญญาเอกด้านคณิตศาสตร์ เป็นสมาชิกในคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติของเวียดนาม และเป็นศาสตราจารย์ผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการตำราเรียนสำหรับชั้นเตรียมอุดมศึกษาและตำราเรขาคณิตสำหรับมหาวิทยาลัย
  14. <http://giaitri.vnexpress.net/tin-tuc/gioi-sao/trong-nuoc/sat-thu-dau-mung-mu-nguoi-gia-me-nguoi-tre-che-1918247.htm>(accessed February 10, 2014).
  15. ศาสตราจารย์ผู้นี้เป็นนักภาษาศาสตร์และปัจจุบันเป็นรองบรรณาธิการใหญ่ของนิตยสารศัพทานุกรมศาสตร์และสารานุกรม  ทั้งยังเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาของสมาคมภาษาศาสตร์เวียดนาม
  16. เว็บไซท์เดิม
  17. <http://phong210.wordpress.com/2011/10/21/gui-ban-an-cap>(accessed February 10, 2014).
  18. <http://jpf.org.vn/2012/05/10/thanh-phong-neu-khong-ve-truyen-tranh-toi-se-chet>(accessed February 10, 2014).
  19. <http://infonet.vn/truyen-tranh-hang-xom-bi-cam-cuc-truong-ly-giai-nguyen-nhan-post104877.info>(accessed February 10, 2014)
  20. ฉบับภาษาเวียดนาม <http://phong210.wordpress.com/2013/11/14/hang-xom-a-comic-by-thanh-phong>.
  21. <http://vietnamnews.vn/life-style/245480/comic-popularises-vn-sovereignty.html> (accessed February 10, 2014).