พิธีไว้อาลัยในวันคริสต์มาส: ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทยหลัง ร. 9

Giuseppe Bolotta

ณโบสถ์พระเมตตาธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ประจำเขตศาสนาย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ วันคริสต์มาสที่ผ่านมาช่างแตกต่างจากงานฉลองวันคริสต์มาสที่ชาวไทยคาทอลิกเคยจัดขึ้น 1 แทนที่จะมีการประดับประดาเพื่อฉลองวันคริสต์มาสอย่างอลังการเหมือนดังที่เคยปรากฏให้เห็นทั่วไป ครั้งนี้โบสถ์กลับประดับด้วยริ้วผ้าไว้ทุกข์สีขาวดำเคร่งขรึม ต้นคริสต์มาสวิบวับแวววาวที่เคยตั้งตระหง่านหน้าประตูทางเข้าโบสถ์อันเป็นสัญลักษณ์ถึงความปีติยินดีถูกย้ายไปตั้งหลบมุมในลานสนาม มองจากภายนอกเข้ามาไม่เห็น ในวันคริสต์มาสอีฟ ผู้คนสวมชุดดำทยอยมาถึงอย่างเงียบเชียบเพื่อร่วมพิธีมิสซายามเที่ยงคืนตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมา โดยพยายามรักษาสีหน้าสุขกับโศกให้สมดุลกันอย่างน่าประหลาด มันเป็นงานฉลองวันคริสต์มาสท่ามกลางการไว้อาลัย

 การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) อันทรงเป็นที่รักของชาวไทยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ทำให้คริสชนของโบสถ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นิยมเจ้าและเป็นชนชั้นกลางเชื้อสายจีนในเมือง ตกอยู่ในภาวะเสียขวัญ โศกเศร้าและว้าวุ่นใจ ถึงขนาดที่หลายคนตั้งข้อสงสัยอย่างเอาจริงเอาจังว่า การฉลองวันเกิดของพระเยซูคริสต์เป็นการให้ความสำคัญต่อศาสนาเหนือกว่าความโศกเศร้าของคนทั้งชาติที่มีต่อการสวรรคตของกษัตริย์ที่มีสถานะประดุจสมมติเทพหรือไม่ สำหรับบาทหลวงพอล มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เป็นผู้ดูแลโบสถ์นี้ นี่เป็นคำถามที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง ในสายตาของบาทหลวงคาทอลิกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเป็นองค์อุปถัมภกที่เปิดกว้างต่อทุกศาสนา และเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระนามของพระองค์ได้รับการเอ่ยถึงในพิธีสวดของชาวไทยคาทอลิกโดยถือเป็นองค์ประกอบ “ทางโลกวิสัย” ของวัฒนธรรมไทย เช่นเดียวกับที่มีการเอ่ยชื่อผู้นำของรัฐในบทสวดระหว่างพิธีมิสซาในประเทศอื่นๆ   กระนั้นก็ตาม สำหรับสัตบุรุษชายหญิงของโบสถ์พระเมตตาธรรมอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ กษัตริย์ไม่ใช่แค่ตัวแทนคนสำคัญของประเทศไทยเท่านั้น เช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่ แม้แต่ชาวคาทอลิกในกรุงเทพฯ ก็เคารพบูชารัชกาลที่ 9 จนเกือบคล้ายความศรัทธาทางศาสนา รัชกาลที่ 9 ได้รับการยกย่องในเชิงวาทกรรมให้เป็นภาพแทนของ “พ่อแห่งแผ่นดิน” ผู้ทรงธรรมสูงสุด (ไม่ว่าจะเป็น จักรวาทิน ธรรมราชา หรือ พระโพธิสัตว์) อวตารของพระวิษณุ เทพเจ้าในศาสนาฮินดู (เทวราชา) มานานแล้ว และหากสืบย้อนกลับไปหาแนวคิดสำคัญยุคก่อนสมัยใหม่เกี่ยวกับความเป็นกษัตริย์ตามศาสนาพุทธแบบ Indo-Buddhist ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งสืบทอดมาถึงปัจจุบัน (Tambiah, 1976) กษัตริย์ในศาสนาพุทธคือผู้เชื่อมโยงสวรรค์กับโลกมนุษย์เข้าด้วยกันตามจักรวาลวิทยาและเป็นผู้ทรงธรรมที่คอยชี้นำอาณาจักรของตนจากยอดสูงสุดของจักรวาลทางสังคม-ศีลธรรมที่จัดระเบียบเป็นลำดับชั้น (โปรดดู Jackson, 2010) สำหรับชาวไทยคาทอลิกของโบสถ์พระเมตตาธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเป็นผู้ชี้นำทางจิตวิญญาณที่ได้รับการเคารพนับถือยิ่งกว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสด้วยซ้ำ เพราะสำหรับในเมืองไทย พระสันตะปาปาเป็นแค่พระสังฆราชแห่งโรมที่แทบไม่มีใครรู้จัก

 ชาวคาทอลิกบางคนในกรุงเทพฯ ที่ผู้เขียนรู้จัก พวกเขาตั้งแท่นบูชาประจำบ้านโดยบูชาทั้งรูปพระเยซูกับนักบุญเคียงข้างรูปสักการะอื่นๆ ที่เราเห็นตั้งอยู่ตามสถานศักดิ์สิทธิ์ Indo-Buddhist ในศาสนาแบบชาวบ้านของไทย (โปรดดู Pattana, 2005) กล่าวคือมีทั้งเทพเจ้าของจีนและอินเดีย พระในศาสนาพุทธและกษัตริย์ไทย โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 5 เมื่อไม่ได้อยู่ในโบสถ์ เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับหลายๆ คนที่จะซื้อขายไม้กางเขน รูปศักดิ์สิทธิ์และรูปปั้นโดยเชื่อว่ามันมีความศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์ในลักษณะเดียวกับเครื่องรางของขลังในศาสนาพุทธ นี่เป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่วัตถุและสัญลักษณ์ในศาสนาคริสต์คาทอลิกก็ถูกกลืนกลายเข้าไปในความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติที่ผสมผสานหลากหลาย อีกทั้งมีการแสดงออกและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจคล้ายกับสิ่งที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “ศาสนาการตลาด” หรือ “ศาสนาเชิงพาณิชย์” (Jackson, 1999; Suwanna, 1994; Pattana, 2005) เรื่องสำคัญยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนมักได้ยินชาวไทยคาทอลิกกล่าวถึงพระเยซูคริสต์และรัชกาลที่ 9 ว่าเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรม การเสียสละและบุญบารมีที่เท่าเทียมกันด้วย

 บาทหลวงพอลก็เช่นเดียวกับมิชชันนารีชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในประเทศไทย พวกเขาตระหนักว่ากษัตริย์ในศาสนาพุทธมีสถานะศักดิ์สิทธิ์ในจิตใจของลูกวัดทั้งหลาย แต่ก็มักทำเป็นมองข้ามความเชื่อและการปฏิบัติของลูกวัด ซึ่งหากตีความอย่างเคร่งครัดตามศาสนาคริสต์คาทอลิกก็ต้องถือว่าเป็นการบูชาพระเจ้าสององค์ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด ความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันในจักรวาลวิทยา เรื่องความเชื่อใน พระเจ้า ของศาสนาคริสต์กับสถาบันกษัตริย์ไทย สำหรับบาทหลวงพอลแล้ว ข้อขัดแย้งนี้เปรียบเสมือนการเข็นหินขึ้นภูเขาที่อาจทำให้คริสต์ศาสนจักรไทยสูญเสียผู้ศรัทธาที่มีจำนวนน้อยนิดอยู่แล้ว 2 อีกทั้งอาจทำให้บาทหลวงที่ไม่ระมัดระวังมากพอต้องเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถือว่าเข้มงวดที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

 ก่อนการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัว ชาวไทยคาทอลิก หากอยู่นอกกำแพงวัด หรือพ้นจากการสอดส่องของบาทหลวงชาวอเมริกัน จะนับถือบูชาสถาบันกษัตริย์และปฏิบัติศาสนาคริสต์แบบไม่เคร่งครัด ทว่าปฏิกิริยาทางอารมณ์ของคนจำนวนมากที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาจากการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ทำให้ความเป็นศูนย์กลางทางศาสนา (ไม่ใช่ทางวัฒนธรรม) ของกษัตริย์เด่นชัดขึ้นมาในการแสดงความศรัทธาของชาวไทยคาทอลิก ดังนั้น บาทหลวงพอลจำต้องต้องเผชิญหน้ากับความคลุมเครือทางเทววิทยาและการเมืองของศาสนาคริสต์คาทอลิก ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันคริสต์มาส ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งในปฏิทินทางศาสนาคริสต์คาทอลิก

รูปประกอบ: “การกลายเป็นไทย” ของศาสนาคริสต์คาทอลิกในโรงเรียนคาทอลิกที่กรุงเทพฯ
เครดิตภาพ: ผู้เขียน

พระบรมฉายาลักษณ์กับตู้ศีลในโบสถ์

หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 รัฐบาลทหารประกาศให้มีการไว้อาลัยอย่างเป็นทางการเป็นเวลาหนึ่งปี พลเมืองทุกคนควรใส่ชุดดำและสถานบันเทิงต้องปิดทำการหรืออย่างน้อยก็ลดความรื่นเริงลงทุกคนควรแสดงความจงรักภักดีและโศกเศร้า ปฏิบัติตามคำประกาศ และอาลัยต่อการจากไปของพระเจ้าอยู่หัว งานเลี้ยงฉลองที่กำหนดไว้ล่วงหน้าบางงานต้องยกเลิก ส่วนงานคริสต์มาสนั้นไม่ชัดเจนว่าควรจัดฉลองหรือไม่ จนกระทั่งในที่สุดมีคำแถลงอย่างเป็นทางการ จากสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยเชิญชวนชาวคาทอลิกฉลองวันคริสต์มาสด้วยความระมัดระวังและพอประมาณเพื่อเคารพต่อความรู้สึกอ่อนไหวของชาวไทยในช่วงเวลานี้ คำประกาศนี้ยังแนะนำให้บาทหลวงทั้งหลายแทรกบทสวดแสดงความอาลัยไว้ในพิธีสวดวันคริสต์มาสด้วย นี่ถือเป็นคำประกาศที่เน้นความถูกต้องทางการเมืองซึ่งสะท้อนรับการชี้นำของรัฐบาลทหารที่บอกว่า “ทำได้ แต่อย่ามากเกินไป!” กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องจัดวางความปีติยินดีไว้ให้ถูกที่ถูกทางท่ามกลางความโศกเศร้า

ที่โบสถ์พระเมตตาธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ช่วงเวลาหนึ่งเดือนก่อนวันคริสต์มาส ได้มีการจัดประชุมเพื่อให้เกิดความสมดุลกันด้านจักรวาลวิทยา พิธีทางศาสนาและการเมืองเพื่อสร้างการสังเคราะห์ที่กลมกลืนระหว่างวันประสูติของพระเยซูกับวันสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล บาทหลวงพอลเรียกประชุมสภาบาทหลวงเพื่อขอคำแนะนำจากลูกวัดไทยว่าควรจะจัดงานฉลองคริสต์มาสอย่างไรให้ดีที่สุด เมื่อการวิวาทะจบลง มิชชันนารีชาวอเมริกันแม้จะรู้สึกอึดอัดต่อการรับมือถึงข้อเรียกร้องอย่างเร่งด่วนของบรรดาลูกวัดที่ต้องการให้อุทิศพื้นที่ไว้อาลัยต่อพระมหากษัตริย์ที่เพิ่งสวรรคตอย่างเหมาะสมในพิธีฉลองวันคริสต์มาส บาทหลวงเห็นด้วยที่จะให้มีการติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์สีขาวดำขนาดใหญ่ที่กำแพงด้านนอกของโบสถ์ และย้ายต้นคริสต์มาสอันเป็นวัตถุที่มีสีสันมากที่สุดออกไปให้พ้นสายตา พร้อมกล่าวรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ในบทเทศน์ อย่างไรก็ตาม เขารู้สึกกังวลใจที่จะปฏิเสธการตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ในวัยหนุ่มที่มีแสงทองส่องประกายอย่างเร้นลับบนแท่นบูชาหน้าตู้ศีลในโบสถ์ เนื่องจากตู้ศีลคือที่ประทับของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ ซึ่งถูกติดตั้งและถูกล็อคไว้เพื่อเป็นที่เก็บแผ่นปังและเหล้าองุ่นซึ่งใช้ในพิธีศีลมหาสนิท จึงถือเป็นพื้นที่ทางพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับชาวคาทอลิก เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของพระเยซูและพระผู้เป็นเจ้า

พัฒนา กิติอาษา นักมานุษยวิทยา เคยตั้งข้อสังเกตว่า “แท่นบูชาคือการนำเทพเจ้าจากภูมิหลังและต้นกำเนิดที่แตกต่างกันมารวมกันทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเชิงกายภาพ แท่นบูชาคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งความเชื่อแบบชาวบ้านที่ผสมผสานปนเปหลายศาสนาได้แสดงออกเป็นรูปธรรมร่วมกัน” (Pattana, 2005:484) แท่นบูชาสะท้อนถึงการจัดองค์ประกอบเชิงจักรวาลวิทยาของจักรวาลทางกายภาพและจิตวิญญาณ มันบ่งบอกเส้นเขตแดนอันศักดิ์สิทธิ์และเรียกร้องแบบแผนของการทำพิธีกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัว รูปบูชาทางศาสนา รูปปั้นเทพเจ้าและวัตถุบูชาอื่นๆ ได้รับการจัดวางตามลำดับชั้นบนแท่นบูชาของศาลเจ้าในเมืองเช่นเดียวกับในโบสถ์ของวัดทางพุทธศาสนาบางแห่ง พระพุทธเจ้า รองลงมาคือกษัตริย์ในฐานะธรรมราชา มักครองตำแหน่งสูงสุดในลำดับชั้นดังกล่าว บุคคลทั้งสองได้รับการนับถือเป็นเทพสูงสุดภายในจักรวาลของไทย ทั้งนี้เพราะทั้งพุทธศาสนาและสถาบันกษัตริย์เป็นมิติแก่นกลางของลัทธิชาติพันธุ์-ชาตินิยมความเป็นไทยสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้ ตำแหน่งของการจัดวางรูปบูชาบนแท่นบูชาจึงสะท้อนทั้งมิติทางจักรวาลวิทยาและทางการเมือง

ในจักรวาลวิทยาที่เป็นหลักคำสอนของศาสนาคริสต์นั้น พระเจ้าเป็นผู้สร้างจักรวาล ส่วนการลงมาจุติของพระเยซูผู้เป็นพระบุตรได้เปลี่ยนจักรวาลนั้นไปตลอดกาล ภายในพิธีมิสซาของนิกายโรมันคาทอลิก การเป็นประจักษ์พยานถึงการเสด็จมาของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าคือหัวใจของศีลมหาสนิท ซึ่งใช้วัตถุสัญลักษณ์คือแผ่นปังกับไวน์แทนโลหิตกับร่างกายของพระเยซู แผ่นปังกับไวน์ (สำหรับพิธีศีลมหาสนิท) นี้ถูกเก็บรักษาไว้ในตู้ศีล ดังนั้น แท่นบูชากับตู้ศีลจึงถือเป็นศูนย์กลางสูงสุดของพิธีกรรมในพิธีมิสซาของนิกายคาทอลิก นี่คือเหตุผลที่บาทหลวงพอลไม่เห็นด้วยกับการตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์เบื้องหน้าตู้ศีล ดังที่บาทหลวงกล่าวกับผู้เขียนในภายหลังว่า “พระเจ้าอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้แต่ผู้ปกครองประเทศ กระนั้นก็ตาม ข้อเรียกร้องจากลูกวัดเผยให้เห็นทั้งระดับทางจักรวาลวิทยาและทางการเมือง แม้พระบรมฉายาลักษณ์จะถูกย้ายไปอยู่ที่ฉากหลังของแท่นบูชา แต่การตัดสินใจของบาทหลวงก็ไม่อาจทำให้งานฉลองการประสูติของพระเยซูปราศจากการไว้อาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ข้อถกเถียงเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ภายในฉากประกอบพิธีของโบสถ์พระเมตตาธรรมอันศักดิ์สิทธิ์เป็นข้อพึงระวัง และเป็นตัวอย่างที่มีความหมายอย่างมากซึ่งสะท้อนถึงความตึงเครียดทางเทววิทยาและทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในส่วนของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกของไทยอันเป็นผล จากการสวรรคตของรัชกาลที่ 9

รูปประกอบ: “การกลายเป็นไทย” ของศาสนาคริสต์คาทอลิกในโรงเรียนคาทอลิกที่กรุงเทพฯ
เครดิตภาพ: ผู้เขียน

ศาสนาคริสต์คาทอลิก “แบบไทยๆ”

สถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ภายในจักรวาลวิทยา พิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนาของนิกายคาทอลิกในไทยมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการเมือง “แบบโลกวิสัย” ที่ศาสนจักรคาทอลิกใช้ในการสร้างความชอบธรรมแก่การดำรงอยู่ของตนเองในประเทศไทย จากมุมมองที่ยอมรับความเป็นจริงนั้น ศาสนจักรคาทอลิกเป็นแค่ชุมชนทางศาสนาเล็กๆ ภายในบริบทที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อย่างไรก็ตาม สำหรับบทบาทในโลกฆราวาส ศาสนาจักเป็นสถาบันนิยมเจ้า และ เป็นสถาบันกึ่งทุนนิยม ที่มีกิจการโรงพยาบาลชั้นนำและโรงเรียนเอกชนรองรับนักเรียนชาวพุทธชนชั้นกลางระดับสูง ในสมัยทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ก็เคยศึกษาในโรงเรียนคาทอลิกเช่นเดียวกับสมาชิกชนชั้นนำทางการเมืองไทยส่วนใหญ่ นั่นคือ โรงเรียนมาแตร์เดอีในกรุงเทพฯ ซึ่งบริหารโดยภคินีคณะอุร์สุลิน

 “ความเคารพนับถือ” ที่ศาสนจักรคาทอลิกมีต่อสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยเป็นผลพวงมาจากปฏิสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างมิชชันนารีคาทอลิกกับสถาบันกษัตริย์ไทย ในข้อเขียนอื่นๆ ผู้เขียนบรรยายกระบวนการนี้ว่าเป็น “การกลายเป็นไทยของศาสนาคริสต์คาทอลิก” (Bolotta, อยู่ระหว่างการตีพิมพ์) กล่าวคือ การที่คำสอนในพระวรสารถูกทำให้ผสมกลืนกลายกับท้องถิ่น มีการปรับประนีประนอมและ “รับเอาวัฒนธรรม” “ความเป็นไทย” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติสมัยใหม่อันประกอบด้วยสามมิติคือ ชาติ ศาสนาพุทธและสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ความร่วมมือระหว่างชนชั้นนำในสถาบันกษัตริย์ไทยกับมิชชันนารีคาทอลิกมีบันทึกเป็นเอกสารอย่างแพร่หลายและมีความร่วมมืออย่างกว้างขวางในหลายสาขาวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม การแพทย์และเทคโนโลยีการพิมพ์ (Bressan 2005; Bressan and Smithies 2006) สายสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรคาทอลิกกับรัฐไทยอีกประการคือในภาคการศึกษาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ถึงขนาดที่ระบบโรงเรียนไทยสมัยใหม่ใช้โรงเรียนคาทอลิกที่บริหารงานโดยมิชชันนารีเป็นต้นแบบด้วยซ้ำ (Wyatt, 1969; Watson, 1980)

ศาสนาคริสต์คาทอลิก “แบบไทยๆ” ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการและอนุญาตให้มิชชันนารีปฏิบัติตามได้หลังจากการสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง (Second Vatican Council) (1962-1965) อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในเชิงสาระสำคัญเกี่ยวกับภารกิจของมิชชันนารี โดยเปลี่ยนจากแนววิธีที่เน้นการชักจูงคนมาเข้ารีตเป็นการยอมรับความจำเป็นของการปรับคำสอนให้ “รับเอาวัฒนธรรม” ที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น ในประเทศไทย “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ที่ศาสนาคริสต์คาทอลิกปรับตัวตามคือการวางตัวเชิงยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับต้นแบบ “ความเป็นไทย” ที่รัฐกำหนด (Bolotta, อยู่ระหว่างการตีพิมพ์) ถึงแม้ตามคำนิยามอย่างเป็นทางการของศาสนจักรจะมองว่าทั้งศาสนาพุทธและสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันเชิงวัฒนธรรมมากกว่าศาสนาหรือการเมือง แต่สถาบันทั้งสองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาคริสต์คาทอลิกไทยในหลายลักษณะด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนคาทอลิก รูปพระเยซู พระพุทธเจ้าและพระมหากษัตริย์มักปรากฏอยู่ด้วยกันเสมอ ในทำนองเดียวกัน ธงชาติไทย ไม้กางเขนและพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ติดตั้งอยู่เหนือกระดานดำในทุกห้องเรียน (รูป 1. และ 2.)

ปฏิกิริยาที่ชาวไทยคาทอลิกมีต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลช่วยสะท้อนให้เห็นความคลุมเครือทางการเมืองและเทววิทยาของศาสนาคริสต์คาทอลิกแบบไทยๆ อีกทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยน สำหรับศาสนจักรในประเทศนี้ เพราะมันกลายเป็นแบบอย่างที่พระคาทอลิกยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในรัชสมัยใหม่ ในขณะที่การเทิดทูนบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเสมือนดั่งเทพเจ้า สามารถผนวกเข้าในศาสนาคริสต์คาทอลิก บาทหลวงอีกหลายท่านยังรู้สึกว่าเป็นการยากที่จะเปรียบรัชสมัยต่อๆไปให้มีสถานะเทียบเท่าพระเยซูเจ้า

ในขณะที่อนาคตของศาสนาคริสต์คาทอลิกแบบไทยๆ ภายใต้รัชสมัยใหม่ยังไม่ชัดเจนนัก แต่เรื่องที่แน่นอนก็คือการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางจักรวาลวิทยาที่ส่งผลกระทบต่อระเบียบทางวัฒนธรรมและการเมืองของสังคมไทย ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในที่นี้ก็คือบรรยากาศของภาวะชะงักงันทางการเมืองที่เกิดจากการไว้ทุกข์ของประเทศบวกกับการปกครองในระบอบทหาร ด้วยเหตุผลทั้งสองประการนี้ทำให้วันคริสต์มาสที่ผ่านมากลายเป็นเทศกาลไว้อาลัย และเราอดสงสัยไม่ได้ว่าวันคริสต์มาสปีหน้าจะเป็นอย่างไร

Giuseppe Bolotta
Post-Doctoral Fellow, Asia Research Institute, National University of Singapore

Issue 22, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2017

REFERENCES

 Bolotta G. (Forthcoming), ‘Development missionaries in the slums of Bangkok: From the Thaification to the de-Thaification of Catholicism’, in Scheer, C., Fountain, P. and Feener, M. (eds), The Mission of Development: Techno-Politics of Religion in Asia. Leiden: Brill.
Bressan, L. (2005), A meeting of Worlds: The interaction of Christian Missionaries and Thai Culture. Bangkok: Assumption University Press.
Bressan, L. and Smithies, M. (2006), Thai-Vatican Relations in the Twentieth Century. Bangkok: Amarin.
Jackson, P.A. (1999), ‘The enchanting spirit of Thai capitalism: The cult of Luang Phor Khoon and the post-modernization of Thai Buddhism’. South East Asia Research (SEAR), 7, 1: 5-60.
____________ (2010) ‘Virtual Divinity: A 21st-Century Discourse of Thai Royal Influence’ In Ivarsson, S. and Isager, L. (eds), Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand, 29-60. Copenhagen: Nordic Institute of Asian Studies.
Pattana Kitiarsa (2005), ‘Beyond Syncretism: Hybridization of Popular Religion in Contemporary Thailand’. Journal of Southeast Asian Studies, 36, 3: 461-487.
Suwanna Satha-anand, (1994), Ngoen kap satsana [Money and religion]. Bangkok: Komon Keemthong Foundation.
Tambiah, S. J. (1976), World Conqueror & World Renouncer. A Study of Buddhism and Polity in Thailand against a Historical Background. Cambridge: Cambridge University Press.
Watson, D.K. (1980), Educational Development in Thailand. London: Heinemann Educational Books Limited.
Wyatt, D.K. (1969), The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkorn. New Haven: Yale University Press.

Notes:

  1. ชื่อบุคคลที่ใช้ในบทความนี้เป็นชื่อสมมติ รวมทั้งชื่อสถานที่และรายละเอียดบางอย่างมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรักษาความไม่เปิดเผยตัวตนของแหล่งข่าว
  2. จากสถิติใน Bressan and Smitihies (2006:1) ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในไทยมีประมาณ 300,000 คน บาทหลวงชาวไทย 400 คน มิชชันนารี 250 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก ภคินี 1,500 คนและภราดา 120 คน โครงสร้างของศาสนจักรคาทอลิกไทยแบ่งออกเป็น 10 สังฆมณฑล และโบสถ์ 500 แห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ