เอกสารเชิงนโยบายและรายงานข่าวของสื่อมวลชนมักมองว่าลัทธิซาลาฟี (Salafism) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเสมือนกองหน้านำธงของลัทธิศาสนานิยมสุดขั้ว รวมทั้งเป็นม้าโทรจันของ “จักรวรรดินิยม” ซาอุดีอาระเบีย รายงานเหล่านี้มักทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่า กลุ่มซาลาฟีมีอยู่ในภูมิภาคนี้เพราะได้รับเงินอุดหนุนจากกรุงริยาด ในบทความนี้ ผู้เขียนประสงค์จะวาดภาพให้เห็นโดยละเอียดว่ากลุ่มซาลาฟีในภูมิภาคนี้มีความเชื่อมโยงกับโลกภายนอกอย่างไร โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับ ผู้เขียนจะนำเสนอกรณีศึกษาขบวนการซาลาฟีในสองประเทศคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยจะชี้ให้เห็นว่าบริบททางสังคมการเมืองมีผลต่อรูปลักษณ์ต่างๆ ในเครือข่ายข้ามชาติของขบวนการนี้อย่างไรบ้าง
ในบทความนี้ คำว่า ขบวนการซาลาฟี (Salafism) หมายถึงขบวนการเผยแผ่ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางศาสนาของมุสลิมสำนักนิกายอื่นๆ ขบวนการซาลาฟีมุ่งหมายที่จะเจริญรอยตามวัตรปฏิบัติทางศาสนาและศีลธรรมของอิสลามสามรุ่นแรก (al-salaf al-salih—บรรพบุรุษผู้ทรงธรรม) เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ ขบวนการซาลาฟีจึงตีความพระคัมภีร์แบบตรงตามตัวอักษร เป้าหมายสูงสุดของขบวนการซาลาฟีคือทำให้มุสลิมสำนักนิกายอื่นๆ ยอมรับว่าอิสลามในแบบของซาลาฟีคือหลักศาสนาดั้งเดิม ในขณะที่การตีความแบบอื่นเป็นการบิดเบือนจากรูปแบบบริสุทธิ์ของศาสนา ในเชิงความคิดนั้น กลุ่มเหล่านี้แตกต่างจากขบวนการปฏิรูปศาสนาอิสลาม ซึ่งอ้างตัวเป็นขบวนการซาลาฟีเช่นกันและหยั่งรากลึกอยู่ในภูมิภาคนี้
อินโดนีเซีย
เงินทุนที่ไหลมาจากอ่าวอาหรับและกิจกรรมการกุศลข้ามชาติของศาสนาอิสลามมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเกิดขบวนการซาลาฟีในอินโดนีเซีย ขบวนการซาลาฟีปักหลักในประเทศนี้ได้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ท่ามกลางการรื้อฟื้นความนิยมในศาสนาอิสลามขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลานั้น 1 กลุ่มซาลาฟีกลุ่มแรกๆ ก่อตัวขึ้นมาจากผู้จบการศึกษามหาวิทยาลัย Islamic University of Madinah (IUM) ซึ่งทุ่มทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ต้องการเรียนวิชาด้านศาสนา
ในช่วงทศวรรษ 1980 มหาวิทยาลัย University of Imam Muhammad bin Sa‘ud ของซาอุดีอาระเบียเข้ามาก่อตั้งมหาวิทยาลัยสาขาในกรุงจาการ์ตาในชื่อ Lembaga Ilmu Pengetahuan Islam dan Arab (LIPIA) มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดซาลาฟีในประเทศ ผู้นับถือซาลาฟีในอินโดนีเซียจำนวนมากคือนักศึกษาที่ไม่สามารถขอทุนไปเรียนต่อที่ IUM แล้วหันมาเข้าเรียนและจบการศึกษาจาก LIPIA แทน ภาษาของการเรียนการสอนที่ใช้ในมหาวิทยาลัย LIPIA คือภาษาอาหรับและการสอนวิชาศาสนามีพื้นฐานจากแนวคิดของขบวนการซาลาฟีเป็นหลัก
บัณฑิตจาก IUM จำนวนหนึ่งสะสมทุนทางสังคมและสร้างสายสัมพันธ์กับองค์กรการกุศลและองค์กรให้ทุนหลายองค์กรระหว่างศึกษาอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ดังนั้น ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 องค์กรการกุศลจากอ่าวอาหรับจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในอินโดนีเซียและให้เงินอุดหนุนส่วนใหญ่แก่กลุ่มซาลาฟี องค์กรที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ Jama‘iyyat Ihya’ al-Turath al-Islami (Society for the Revival of Islamic Heritage – SRIH) ซึ่งเป็นองค์กรจากคูเวต องค์กรนี้ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคขึ้นในกรุงจาการ์ตาและสนับสนุนการสร้างโรงเรียนประจำสอนศาสนาอิสลาม (pesantren—เปอซานเตร็นหรือปอเนาะ) หลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเกาะชวา แต่ก็มีบางแห่งในเกาะสุมาตรา ลอมบอกและกาลีมันตัน จากโรงเรียนเปอซานเตร็นเหล่านี้ เครือข่ายซาลาฟีขนาดใหญ่ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อเรียกว่า เครือข่าย “ตูราตี” (Turathi) ซึ่งเป็นชื่อที่บอกถึงความเชื่อมโยงกับองค์กรคูเวตที่ให้ทุนสนับสนุน
ลักษณะเด่นประการหนึ่งของเครือข่ายตูราตีคือการเน้นแนวทางปฏิบัตินิยมและเต็มใจร่วมมือกับรัฐฆราวาส โรงเรียนเปอซานเตร็นไม่ได้สอนแค่วิชาศาสนา แต่สอนตามหลักสูตรของโรงเรียนรัฐบาลอินโดนีเซียด้วย เรื่องนี้ทำให้เครือข่ายตูราตีเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน ชาวอินโดนีเซียที่ไม่ได้นับถือซาลาฟีจำนวนมากส่งลูกหลานเข้าเรียนในเปอซานเตร็น เพราะเชื่อว่าขบวนการซาลาฟีแตกฉานภาษาอาหรับและการศึกษาพระคัมภีร์กุรอานกับคำสอนหะดีษ ดังนั้น เด็กๆ จะได้รับการศึกษาด้านศาสนาที่ดี ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนตามหลักสูตรของรัฐบาลด้วย ซึ่งช่วยสร้างโอกาสในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย 2
กลุ่มซาลาฟีตูราตีเลือกแนวทางร่วมมือกับรัฐในเรื่องอื่นๆ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาให้ความร่วมมือกับเทศบาลอย่างสม่ำเสมอในการจัดอบรมเยาวชนเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย อีกทั้งช่วยเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจในการสอดส่องหากลุ่มนักรบญิฮาดที่อาจฝังตัวในชุมชน อุสตาซ อารีฟ เซียรีฟุดดินจากเมืองซิเรบอน ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของเครือข่ายตูราตี อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า ลัทธิซาลาฟีสอนถึงความจำเป็นของการเชื่อฟังและช่วยเหลือผู้ปกครองของรัฐ หากผู้ปกครองคนนั้นเป็นมุสลิม เนื่องจากประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นมุสลิม คนมุสลิมจึงมีหน้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือประธานาธิบดี
การที่เครือข่ายตูราตีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำให้พวกเขาค่อนข้างมีอิสระในการทำกิจกรรมดะวะห์ (da‘wa) หรือการเผยแผ่ศาสนาและรักษาเครือข่ายข้ามชาติอันกว้างขวางไว้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ทุกปีอย่างน้อยปีละครั้ง ชีคซาลาฟีจากคูเวตและซาอุดีอาระเบียจะมาอินโดนีเซียเพื่อตระเวนทำกิจกรรมดะวะห์และเยี่ยมเยียนโรงเรียนเปอซานเตร็นของเครือข่ายตูราตีตั้งแต่เกาะบาตัมจนถึงเกาะลอมบอก
เครือข่ายซาลาฟีอีกเครือข่ายหนึ่งเกิดขึ้นในเมืองมากัสซาร์บนเกาะซูลาเวซีใต้ในชื่อ Wahdah Islamiyah (เอกภาพอิสลาม – WI) เครือข่ายนี้แตกออกมาจากองค์กรมูฮัมมาดียะห์ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ในสมัยนั้น ประธานาธิบดีซูฮาร์โตบังคับให้องค์กรอิสลามทั้งหมดยึดหลักปัญจศีลเป็นหลักการพื้นฐาน องค์กรมูฮัมมาดียะห์จึงปรับตัวตามแนวทางสมัยใหม่ สมาชิกหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งขององค์กรยอมรับแนวทางนี้ไม่ได้ สมาชิกกลุ่มนี้จึงแตกออกมาจากองค์กรและสร้างกลุ่มใหม่ในชื่อ Yayasan Fathul Muin (Fathul Muin Endowment) ซึ่งต่อมากลายเป็นเครือข่าย WI
WI ค่อยๆ หันมารับแนวทางซาลาฟีมากขึ้นๆ เมื่อสมาชิกของเครือข่ายหลายคนเดินทางไปศึกษาต่อในซาอุดีอาระเบีย ตอนแรกเครือข่ายได้รับเงินสนับสนุนจาก SRIH และต่อมาจากผู้บริจาคในซาอุดีอาระเบียหลายองค์กร รวมทั้งสถาบัน Qatari Shaykh Eid Charity Foundation (SACF) 3 WI แตกต่างจากเครือข่ายตูราตีในหลายแง่มุม กล่าวคือ WI มีโครงสร้างการจัดองค์กรอย่างเป็นทางการ มีลำดับชั้นการบังคับบัญชาและกลไกการตัดสินใจซับซ้อนหลายขั้นตอนคอยควบคุมโครงการการกุศลและโรงเรียนประจำของ WI ที่ก่อตั้งทั่วประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ WI ยังมีการทำกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัย ร่วมจัดหลายโครงการและจัดกลุ่มศึกษาสำหรับนักศึกษา ลักษณะเด่นอีกประการของ WI คือการมีบทบาทในการเมืองระบบรัฐสภา ถึงแม้ไม่ได้เสนอผู้สมัครรับเลือกตั้งของตนเอง แต่ก็มักทำตัวเป็นหัวคะแนนเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางวัตถุจากนักการเมืองชั้นนำ
ถึงแม้รักษาโครงสร้างสถาบันที่เหนียวแน่นเอาไว้ แต่ WI ก็ยังอาศัยวาทกรรมคำสอนของขบวนการซาลาฟี WI สร้างความชอบธรรมให้แก่การดำเนินกิจกรรมของตนเองด้วยการอ้าง “อุลามะฮ์” ซาลาฟีจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความเห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการก่อตั้งองค์กรไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกจากอิสลาม 4
ถึงแม้การสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อตั้งขบวนการซาลาฟีในอินโดนีเซีย แต่ก็ยากที่จะอ้างว่าเงินจากคาบสมุทรอาหรับคือเส้นหล่อเลี้ยงชีวิตของขบวนการนี้ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนเปอซานเตร็นของเครือข่ายตูราตีไม่ได้รับเงินสนับสนุนจาก SRIH อย่างสม่ำเสมอ แต่เลี้ยงตัวเองได้จากค่าเล่าเรียนต่างหาก WI เองก็หาทุนจากในประเทศอินโดนีเซียได้มากกว่าจากต่างประเทศ
ชุมชนซาลาฟีที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสามในอินโดนีเซียไม่ยอมรับเงินบริจาคจากองค์กรการกุศลใดๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ Din Wahid เรียกเครือข่ายนี้ว่า “ผู้ปฏิเสธ” (rejectionist) เพราะกลุ่มนี้ปฏิเสธการร่วมมือใดๆ กับองค์กรการกุศลและกลุ่มอิสลามอื่นๆ เครือข่าย “ผู้ปฏิเสธ” มองว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นมุบตาดี (mubtadi) หรือกลุ่มคนที่กระทำอุตริกรรมซึ่งไม่มีแบบอย่างมาก่อนในศาสนาอิสลาม (บิดอะห์) “ผู้ปฏิเสธ” ไม่ยอมสอนหลักสูตรของรัฐบาลในโรงเรียนของตน พวกเขาก่อตั้งชุมชนสันโดษที่ลดการติดต่อสัมพันธ์กับสมาชิกของสังคมที่ไม่ใช่ซาลาฟีให้น้อยที่สุด
เครือข่าย “ผู้ปฏิเสธ” มีความเชื่อมโยงแนบแน่นกับตะวันออกกลาง หลายคนเดินทางไปศึกษาในเยเมนภายใต้การสั่งสอนของ Muqbil al-Wadi‘ นักวิชาการศาสนาคนสำคัญของเยเมนผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือเป็นลูกศิษย์ของสาวกคนสำคัญของเขาอีกทีหนึ่ง กระนั้นก็ตาม “ผู้ปฏิเสธ” ไม่รับทุนการศึกษาจากต่างประเทศ ชุมชนเป็นผู้รวบรวมเงินที่นักศึกษาต้องใช้จ่ายระหว่างหลายปีที่ศึกษาในเยเมน (ส่วนเยเมนไม่คิดค่าเล่าเรียนและจัดหาที่พักอาศัยให้) ตัวอย่างอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความเชื่อมโยงข้ามชาติก็คือการใช้สไกป์ถ่ายทอดคำบรรยายของนักวิชาการศาสนาชาวเยเมนในมัสยิดบ่อยครั้ง 5
มาเลเซีย
ในมาเลเซียก็เช่นกัน สายสัมพันธ์ข้ามชาติมีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของลัทธิซาลาฟี กระนั้นก็มีลักษณะแตกต่างออกไปเนื่องจากบริบททางสังคมการเมืองที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ในมาเลเซีย องค์กรการกุศลและงานบรรเทาทุกข์แทบไม่มีบทบาทในการขยายแนวคิดซาลาฟีเลย
ขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียแตกแขนงมาจากชุมชนอิสลามแนวปฏิรูปหรือขบวนการ Kaum Muda ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในพื้นที่นิคมช่องแคบที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (เช่น ปีนัง มะละกา สิงคโปร์ ฯลฯ) และรัฐปะลิสที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ผู้นับถืออิสลามสายปฏิรูปบางคนเริ่มหันมาตีความพระคัมภีร์ตรงตามตัวอักษรมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากได้รับอิทธิพลจากขบวนการซาลาฟีในซาอุดีอาระเบียและจอร์แดน ผู้บุกเบิกขบวนการซาลาฟีในปัจจุบันจำนวนหนึ่ง ถึงแม้มีภูมิหลังจากขบวนการ Kaum Muda แต่หันมานับถือแนวทางซาลาฟีหลังจากศึกษาในซาอุดีอาระเบียในช่วงทศวรรษ 1980-1990 คนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดมีอาทิ โจฮารี มัท, ฮุสเซน ยี และชาวสิงคโปร์ เช่น ราซูล ดารี เป็นต้น
อีกประเทศที่มีอิทธิพลต่อขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียคือจอร์แดน ขบวนการซาลาฟีในจอร์แดนต่างจากในซาอุดีอาระเบีย กล่าวคือ ในจอร์แดนไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ กระนั้นก็ตาม ขบวนการซาลาฟีก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากคุณูปการของชีคนาซีร์ อัล-ดิน อัล-อัลบานี และลูกศิษย์ของเขา เช่น ชีคอาลี อัล-ฮาลาบี นักศึกษาชาวมาเลเซียที่ไปศึกษาวิชาศาสนาและภาษาอาหรับที่มหาวิทยาลัยในจอร์แดนได้รู้จักขบวนการซาลาฟีหลังจากเข้าร่วมกลุ่มศึกษาที่ก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการตามมัสยิดต่างๆ ในกรุงอัมมานและในเมืองใหญ่อื่นๆ ของจอร์แดน รวมทั้งตามบ้านของผู้เข้าร่วมขบวนการบางคน
สมาชิกขบวนการซาลาฟีมาเลเซียที่โดดเด่นบางคน เช่น ซูไลมาน นอร์ดิน ทำความรู้จักแนวคิดของขบวนการนี้ระหว่างศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักร ลัทธิซาลาฟีลงหลักปักรากฐานในหมู่ชุมชนมุสลิมตามเมืองใหญ่ๆ ของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1980 นักศึกษาชาวมาเลเซียบางคนได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการหลังจากเข้าร่วมกลุ่มซาลาฟีอังกฤษและเผยแพร่แนวทางนี้ต่อไปหลังจากกลับมามาเลเซียแล้ว
ขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียแทบไม่เคยเป็นตัวแทนขององค์กรการกุศลข้ามชาติเลย รวมทั้งไม่มีการตั้งเครือข่ายโรงเรียนและการกุศลอย่างกว้างขวางแบบในอินโดนีเซีย เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะทั้งระบบราชการศาสนาของรัฐ (Jabatan Kemajuaan Islam Malaysia – JAKIM) และสุลต่านในรัฐต่างๆ ของมาเลเซียล้วนมีอคติต่อขบวนการซาลาฟี JAKIM มีแนวโน้มที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้ศาสนาอิสลามในประเทศและพยายามครอบงำสำนักคิดชาฟีอี (Shafi‘i madhab) อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนสุลต่านทั้งหลายมักเป็นสาวกของสำนักคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับขบวนการซาลาฟี ยกตัวอย่างเช่น สุลต่านของรัฐเประก์มีความคิดโน้มเอียงไปทางสำนัก Naqshbandi-Haqqani Sufi ด้วยเหตุนี้ หนังสือของขบวนการซาลาฟีจึงมักถูกสั่งห้ามในมาเลเซีย นอกจากนั้น นักวิชาการของขบวนการซาลาฟีที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ฟาตุล บารี มัต ยะห์ยา ก็ถูกสั่งห้ามสอนศาสนา
เจ้าหน้าที่รัฐยังขัดขวางองค์กรการกุศลจากอ่าวอาหรับมิให้เข้ามาดำเนินการในมาเลเซีย ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้ SRIH มีสำนักงานในมาเลเซีย แต่เจ้าหน้าที่ขององค์กรการกุศลแห่งนี้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า พวกเขาประสบอุปสรรคจากรัฐบาลหลายครั้ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังแสดงความไม่พอใจอย่างเปิดเผยเมื่อพวกเขาพยายามขยายบทบาทในประเทศนี้
ดังนั้น ความเชื่อมโยงข้ามชาติของขบวนการซาลาฟีในมาเลเซียจึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายระหว่างตัวบุคคลที่แนบแน่นแต่ไม่เป็นทางการ ชีคของขบวนการซาลาฟีจากประเทศตะวันออกกลางและยุโรปมักมาเยือนมาเลเซียในฐานะนักท่องเที่ยว เข้าร่วมในการตระเวนทำกิจกรรมดะวะห์ หรือแสดงปาฐกถาและสอนบทเรียนทางศาสนา ในรัฐยะโฮร์ มีเครือข่ายที่คล้ายคลึงกับ “ผู้ปฏิเสธ” ในอินโดนีเซียเกิดขึ้นเช่นกัน โดยมีความเชื่อมโยงทางวิชาการกับซาอุดีอาระเบียและคูเวตอย่างแนบแน่น ชีคมูฮัมหมัด อัล-อันจารี ศาสนาจารย์ชาวคูเวตผู้มีชื่อเสียง เคยเดินทางมาเยือนมาเลเซียหลายครั้งเพื่อแสดงปาฐกถาและสอนบทเรียนทางศาสนา สมาชิกขบวนการซาลาฟีชาวมาเลเซียที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น ฮุสเซน ยี ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับขบวนการซาลาฟีในตะวันตก การที่พวกเขาพูดภาษาอังกฤษได้ดี ทำให้ได้ปรากฏตัวในช่องทางสื่อนานาชาติ เช่น Peace TV หลายครั้ง
จากที่บรรยายมาทั้งหมดข้างต้น เราเห็นแล้วว่าความเชื่อมโยงข้ามชาติกับกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับมีบทบาทสำคัญต่อพลวัตของขบวนการซาลาฟีทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่การดำรงอยู่ของขบวนการไม่ถือเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียหรือประเทศอื่นๆ ในอ่าวอาหรับ อันที่จริง ทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย องค์กรหรือเครือข่ายที่ไม่ใช่ซาลาฟีได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรการกุศลและรัฐบาลกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) มากกว่าเสียอีก กลุ่มกระแสหลัก เช่น องค์กรมูฮัมมาดียะห์ และองค์กรตามจารีตประเพณีดั้งเดิมอย่างนะห์ดาตุล อูลามะ ได้รับเงินช่วยเหลือจากซาอุดีอาระเบียมากกว่าขบวนการซาลาฟี ทั้งนี้เพราะองค์กรกระแสหลักเหล่านี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่กว้างขวางกว่า จึงเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าสำหรับซาอุดีอาระเบียและคูเวตที่จะสร้างเสริม “อำนาจอ่อน” (soft power) ของตน อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี องค์กรการกุศลจากกลุ่มประเทศในอ่าวอาหรับที่สนับสนุนขบวนการซาลาฟีมักบริจาคเงินให้กลุ่มที่ไม่ใช่ซาลาฟีมากกว่าไปพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น SACF ทำโครงการการกุศลโดยร่วมมือกับองค์กรมูฮัมมาดียะห์และ PERSIS ซึ่งเป็นองค์กรแนวปฏิรูปอีกองค์กรหนึ่ง ในมาเลเซียก็ทำนองเดียวกัน เงินทุนจากองค์กรผู้บริจาค เช่น World Muslim Youth ของซาอุดีอาระเบียไหลไปสู่ขบวนการอิสลามต่างๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับขบวนการซาลาฟีเลย เช่น องค์กร Angkatan Belia Islam Malaysia (ABIM) เป็นต้น
Zoltan Pall
Peneliti
Institut Timur Tengah
Universitas Nasional Singapura
Reference
Hasan, Noorhaidi. Laskar Jihad: Islam, Militancy and the Quest for Identity in Post-New Order Indonesia. Ithaca, NY: Cornell Southeast Asia Program, 2006.
Wahid, Din. Nurturing the Salafi Manhaj: A Study of Salafi Pesantrens in Indonesia. Utrecht, PhD Thesis submitted to Utrecht University, 2014.