ผู้เขียนศึกษาว่าวิกฤตทางการเงินในเอเชียที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2540 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของชาวจีนในประเทศมาเลเซียอย่างไร โดยเสนอแนะว่า ขนาด ภาคธุรกิจ หนี้สิน และการกระจายการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าธุรกิจใดประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว วิสาหกิจขนาดใหญ่ในภาคธุรกิจการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการผลิต ซึ่งมีหนี้สินจำนวนมาก และมีการกระจายการลงทุนเพื่อการเก็งกำไรโดยอาศัยเงินกู้ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤต นอกจากนี้ วิสาหกิจที่ หาเงินทุนมาได้ หรือขยายธุรกิจไปยังภาคการเงินก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ รวมถึงผู้จู่โจมกิจการซึ่งซื้อหุ้นจำนวนมากของบริษัทเป้าหมาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างราคาหุ้นก่อนที่จะขายหุ้นเหล่านั้นออกไป และได้รับกำไรมหาศาล
กลุ่มธุรกิจที่รอดพ้นจากวิกฤตคือวิสาหกิจซึ่งดำเนินกิจการและขยายกิจการอย่างรอบคอบและเลือกสรร ธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วนี้มีลักษณะ 4 ประการ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจที่แท้จริงซึ่งมีการผลิตสินค้าและให้บริการ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจที่อ่อนไหวต่อวิกฤตทางการเงินน้อย ธุรกิจที่มุ่งเน้นในธุรกิจหลักของตน และธุรกิจที่หลีกเลี่ยงการก่อหนี้จนเกินตัว มีสินทรัพย์รองรับ และมีกระแสเงินสดรับเพื่อชำระหนี้อย่างเพียงพอ ตลอดจนมีการจัดสรรกำไรไว้เป็นเงินสำรอง ธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วบางธุรกิจมีการลงทุนนอกประเทศมาเลเซียอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งช่วยปกป้องธุรกิจเหล่านี้จากการลดค่าเงิน แต่บางธุรกิจก็สูญเสียสินทรัพย์จำนวนมากในฮ่องกง เวียดนาม และกัมพูชา
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของชาวจีนสามารถรอดพ้นวิกฤตมาด้วยดี โดยสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาหนี้สินได้เนื่องจากก่อนหน้าวิกฤต ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ง่าย อุตสาหกรรมขนาดเล็กบางแห่งยังได้รับประโยชน์จากวิกฤตทางการเงิน เนื่องจากปัจจัย 2 ประการ ประการแรกคือ การลดค่าเงิน ริงกิตของมาเลเซียช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตมาเลเซียในตลาดระหว่างประเทศ แม้ว่าธุรกิจบางแห่งจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการพึ่งพาวัตถุดิบ เครื่องจักร และชิ้นส่วนที่นำเข้าก็ตาม ประการที่สอง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศอินโดนีเซียที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติจำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตมายังประเทศมาเลเซีย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากภาคการผลิตยังเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจของมาเลเซีย และวิสาหกิจเหล่านี้ก็มีความเชื่อมโยงทางการผลิตกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงบริษัทในประเทศของชาวจีน
วิกฤตของเอเชียควรจะเป็นเครื่องเตือนใจว่าการให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งของธุรกิจของชาวจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องไม่ละเลยที่จะวิเคราะห์ถึงความล้มเหลว ความล้มเหลวหลายครั้งที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม สินค้าคุณภาพต่ำ เทคโนโลยีต่ำ การขาดนวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และการผลิต การกู้ยืมเงินจนเกินตัว และการหันเหจากธุรกิจหลักไปสู่การลงทุนเพื่อเก็งกำไร วิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ได้เผยให้เห็นถึงความหลากหลายของรูปแบบธุรกิจที่ชาวจีนใช้เพื่อพัฒนาวิสาหกิจของตน และแสดงให้เห็นว่า อันที่จริงแล้ว ความแข็งแกร่งและความอ่อนแอของธุรกิจของชาวจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากโครงสร้างของธุรกิจนั่นเอง
ลี กัม ฮิง และ ลี โปะ ปิง
Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 4 (October 2003). Regional Economic Integration