ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คนงานชาวฟิลิปปินส์โพ้นทะเล หรือที่เรียกกันว่า OFW (overseas Filipino workers) ได้กลายเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศฟิลิปปินส์ รัฐบาลฟิลิปปินส์ถือว่า พวก OFW ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกกันว่า คนงานสัญญาจ้างโพ้นทะเลหรือ OCW (overseas contract workers) เป็นวีรบุรุษยุคใหม่ของประเทศ ด้วยเหตุผลหลักเพราะว่าเงินที่คนเหล่านี้ส่งกลับประเทศนั้นเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ คำว่า OFW มีความหมายครอบคลุมคนงานชาวฟิลิปปินส์โพ้นทะเลหลายๆ กลุ่มด้วยกัน ซึ่งได้แก่ ผู้ย้ายถิ่นฐานหรือคนงานที่มีสัญญาจ้าง ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน จากหลักฐานทางสถิติที่รวบรวมไว้ พวกนี้จะถูกจัดประเภทเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานและ OFW ในปี 2542 มีชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานเป็นจำนวน 2.8 ล้านคน และผู้ที่เป็น OFW 4.2 ล้านคน ซึ่งในจำนวน 4.2 ล้านนี้ 2.8 ล้านคนขึ้นทะเบียนไว้ ขณะที่อีก 1.8 ล้านคนไม่ได้ขึ้นทะเบียน นอกจากนี้แล้วในทางสถิติยังจัดประเภทพวก OFW ออกเป็นคนงานที่ทำงานในทะเลเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาย และคนงานที่ทำงานบนแผ่นดิน ซึ่งนับวันจะมีแต่สตรี บทความนี้เน้นถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของสตรีในกระบวนการแรงงานย้ายถิ่น ที่กำลังดำเนินอยู่ และบทบาทที่แข็งขันของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการส่งเสริมการย้ายถิ่นของแรงงานโพ้นทะเล
รายงานของสื่อต่างๆ เกี่ยวกับชะตากรรมของแรงงานย้ายถิ่นโพ้นทะเลได้เน้นประสบการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไปของการย้ายถิ่นไปอยู่ต่างประเทศของชาวฟิลิปปินส์ สถิติยืนยันว่าผู้อพยพนับวันจะเป็นสตรีมากขึ้นทุกทีและมักจะทำงานบริการ นอกจากนี้การย้ายถิ่นของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ยังเกิดขึ้นในบริบทที่กว้างขึ้นของการหมุนเวียนแรงงานในภูมิภาคอาเซียน โดยผู้ที่แสวงหางานจะพากันเดินทางข้ามชายแดนและบางประเทศก็มีการรับและส่งออกแรงงานย้ายถิ่น ที่น่าสังเกตก็คือแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นว่าสตรีชาวเอเชียจากประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าจะหลั่งไหลเข้ามารับทำงานที่จำเจน่าเบื่อในประเทศที่พัฒนากว่าในภูมิภาคอาเซียน อาทิ คนงานสตรีชาวฟิลิปปินส์และชาวอินโดนีเซียจะยึดหัวหาดทำงานบ้านในประเทศมาเลเซียซึ่งมั่งคั่งกว่า แม้ว่า “ราคา” ของคนงานเหล่านี้ในอุตสาหกรรมบริการจะไม่เท่าเทียมกัน แต่พวกเขาต้องผจญกับการถูกเอารัดเอาเปรียบคล้ายๆกัน สตรีชาวฟิลิปปินส์ และ ชาวอินโดนีเซีย ที่ทำงานบ้านอยู่ในประเทศตะวันออกกลางก็เผชิญเคราะห์กรรมที่ไม่แตกต่างออกไป หลายต่อหลายครั้งตั้งแต่เริ่มโครงการส่งออกแรงงาน รัฐบาลของทั้งสองประเทศจำต้องยับยั้งการส่งออกคนงานเหล่านี้เพื่อปกป้องคนเหล่านี้จากการเอารัดเอาเปรียบของนายจ้าง
ปัญหาใหญ่เรื่องการเอารัดเอาเปรียบผู้อพยพ ตลอดจนการลักลอบค้าสตรีที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกทีได้เรียกร้องความสนใจจากประชาคมนานาชาติ บทความนี้จะวิเคราะห์บทบาท 2 รูปแบบ ของประชาคมนานาชาติในการจัดการกับปัญหาสตรีย้ายถิ่น ซึ่งได้แก่การส่งเสริมการคุ้มครองในระดับนานาชิต และงานวิจัยในประเทศตะวันตกเกี่ยวกับปัญหาสตรีย้ายถิ่นในแง่มุมต่างๆ
สมาชิกองค์การสหประชาชาติที่วิตกกังวลในเรื่องนี้ได้รณรงค์อย่างแข็งขันให้มีการออกสียงสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิของผู้ย้ายถิ่นในระดับนานาชาติ อนุสัญญานานาชาติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานย้ายถิ่นและครอบครัว ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดากฎหมายไม่กี่ฉบับที่เกี่ยวข้องกับแรงงานย้ายถิ่นระดับนานาชาติ ใช้เวลากว่า 10 ปีในการรณรงค์กว่าจะได้รับความเห็นชอบ จากสหประชาชาติ ในที่สุด เมื่อ พ.ศ. 2533 สำหรับในหมู่นักวิชาการ งานวิจัยของนักวิชาการที่อยู่ในโลกตะวันตก ศึกษาว่าผู้ย้ายถิ่นชาวฟิลิปปินส์ต่อรองและจัดการกับแง่มุมทางอารมณ์ที่ต้องเสียไปกับการมีชีวิตเฉกเช่นผู้ย้ายถิ่นในประเทศอื่นอย่างไร ตลอดจนกลไกที่พวกเขาต้องใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในการ “ต่อต้าน” กับการเอารัดเอาเปรียบ แม้งานวิจัยนี้จะเหมือนกับเล่าเกร็ดชีวิตของผู้คนต่างๆ แต่ก็มุ่งที่จะให้คุณูปการในการศึกษาผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อชีวิตที่เป็นอยู่จริง
โอดีน เดอ กูซเมิน
Odine de Guzman
Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 4 (October 2003). Regional Economic Integration