ในช่วงทศวรรษ 1990 มีผู้หญิงเวียดนามจำนวนไม่น้อยแต่งงานกับชาวไต้หวันและอพยพย้ายถิ่นไปอยู่กับคู่สมรสในไต้หวัน อย่างไรก็ตาม หลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหมู่คู่สมรสชาวเวียดนาม-ไต้หวันที่จะอยู่อาศัยในนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ใช้แนวทางการศึกษาจากมุมมองของตัวแปรทางวัฒนธรรมและการเลือกอย่างมีเหตุมีผล โดยนำเสนอข้อค้นพบจากการสัมภาษณ์ผู้คน 33 ราย ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์มาจากครอบครัวพหุวัฒนธรรม ครอบคลุมเรื่องราวชีวิตของผู้หญิง 12 คน สามี 10 คน และลูก 11 คน โดยคำนึงถึงแง่มุมต่างๆ ภายในพลวัตของครอบครัว อีกทั้งพิจารณาถึงสัญชาติและสถานะพลเมืองด้วย จากงานวิจัยนี้จะแยกออกเป็นสองบทความด้วยกัน เราจะนำข้อค้นพบหลักของงานวิจัยมาอภิปรายถึงในบทความแรกเท่านั้น ส่วนบทความชิ้นที่สองจะนำเสนอรายละเอียดจากผลลัพธ์ของการสัมภาษณ์มากขึ้น
ข้อค้นพบชี้ให้เห็นว่า การลงหลักปักฐานครอบครัวพหุวัฒนธรรมในนครโฮจิมินห์เริ่มต้นมาจากการตัดสินใจโดยสมัครใจเป็นหลัก ขับเคลื่อนด้วยความรักและความปรารถนาการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน และแสดงออกอย่างเด่นชัดถึงความเข้าอกเข้าใจ ความกลมเกลียว และการปรับตัว ทั้งในแง่ของการใช้ภาษาและการสืบทอดวัฒนธรรมภายในกิจกรรมของแต่ละครัวเรือน เด็กที่เกิดจากครอบครัวพหุวัฒนธรรมซึ่งจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย มักมีโอกาสได้สถานะพลเมืองสองสัญชาติ อย่างไรก็ตาม ระดับความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิความเป็นพลเมืองแปรผันไปตามสภาพแวดล้อมและบริบทเฉพาะของแต่ละตัวอย่างผู้ให้สัมภาษณ์ คู่สมรสชาวต่างชาติของพลเมืองชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในเวียดนามต้องประสบข้อเสียเปรียบบางประการ ซึ่งรวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้เข้ามามีถิ่นที่อยู่ในเวียดนาม
คำนำ
ปรากฏการณ์ของสภาวะพหุวัฒนธรรมและการเกิดครอบครัวพหุวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงและเป็นผลลัพธ์ของโลกาภิวัตน์ ในสหรัฐอเมริกา มีการคาดการณ์ว่า ครัวเรือนพหุวัฒนธรรมที่นั่นจะขยายตัวถึง 213% ระหว่างปี 2000 จนถึง 2050 และสัดส่วน 8% ใน 213% นั้นจะเป็นชาวเอเชียกับชาวอเมริกัน (Kim, 2022) เกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ ล้วนอยู่ตรงแถวหน้าของกระแสโลกาภิวัตน์ และครอบครัวพหุวัฒนธรรมในประเทศเหล่านี้ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ในเกาหลี มีบุคคลทั้งหมด 1.09 ล้านคน หรือ 2.1% ของประชากรทั้งหมดในเกาหลี เป็นสมาชิกของครัวเรือนพหุวัฒนธรรม (Lee, 2021) ในไต้หวัน สัดส่วนของผู้หญิงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อพยพย้ายถิ่นมาสืบเนื่องจากการแต่งงาน มีประมาณ 2.4% ของประชากรทั้งหมดในไต้หวัน (Wu, 2023) ยิ่งกว่านั้น ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การแต่งงานข้ามพรมแดนมีสัดส่วนสูงอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ 10% จนถึง 39% ของการแต่งงานทั้งหมดในเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ ในปี 2015 ตามรายงานของ International Organization for Migration (Ahn, 2022)
ในปี 2022 มีผู้หญิงชาวเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่ในไต้หวันผ่านการแต่งงาน (Wu, 2023) และชาวเวียดนามจัดเป็นอันดับสองในแง่ของจำนวนเจ้าสาวชาวต่างชาติในไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ ในช่วงหลายปีก่อนนั้น แนวโน้มของการวิจัยเชิงวิชาการจึงวนเวียนอยู่กับหัวข้อเกี่ยวกับผู้หญิงชาวเวียดนามที่แต่งงานแล้วอพยพย้ายตามสามีชาวไต้หวันมาอาศัยอยู่ในไต้หวัน
แต่ในระยะหลัง มีแนวโน้มที่เห็นได้ชัดในหมู่ผู้แต่งงานข้ามพรมแดนว่า ครอบครัวพหุวัฒนธรรมเหล่านี้ที่มีคนหนึ่งเป็นชาวเวียดนาม จะย้ายมาอยู่เวียดนามเพื่อการจ้างงาน การแต่งงาน และการพำนักอาศัยระยะยาวมากขึ้น (Ha et al., 2021) นครโฮจิมินห์กลายเป็นจุดหมายหลักในการลงหลักปักฐานของครอบครัวชาวไต้หวัน-เวียดนาม เหตุผลคืออะไรบ้าง? นครโฮจิมินห์เป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงสำหรับธุรกิจสัญชาติไต้หวัน ด้วยเหตุนี้จึงมีลูกจ้างพนักงานชาวไต้หวันหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก มีโรงเรียนนานาชาติ 1 และเป็นพื้นที่ที่แสวงหาความช่วยเหลือจากคนชาติเดียวกันได้ง่าย สืบเนื่องจากมีประชากรชาวไต้หวันมาพำนักค่อนข้างหนาแน่น นั่นเป็นสาเหตุที่ครอบครัวชาวไต้หวัน-เวียดนามมักเลือกมาลงหลักปักฐานในนครโฮจิมินห์
งานวิจัยที่เป็นหัวข้อของคำนำนี้ใช้แนวทางการศึกษาจากมุมมองของตัวแปรด้านวัฒนธรรมและการเลือกอย่างมีเหตุมีผล เพื่อวางกรอบความรู้ใหม่เกี่ยวกับครัวเรือนพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวัน การสอบถามเก็บข้อมูลเบื้องต้นที่ใช้ในงานวิจัยมีดังนี้คือ (1) ที่พักอาศัยเริ่มแรกของครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันในนครโฮจิมินห์มีขนาดและลักษณะอย่างไร? (2) อะไรคือองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันภายในครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวัน โดยเน้นไปที่ประเด็น ภาษา การสื่อสาร และอาหารการกิน? (3) พวกเขาจัดการและแก้ไขความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างไร? และ (4) สัญชาติและสถานะพลเมืองส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อการดำเนินชีวิตของครอบครัวพหุวัฒนธรรมที่มีถิ่นที่อยู่ในเวียดนาม? เนื่องจากข้อจำกัดด้านความยาวของแต่ละบทความในวารสารฉบับนี้ งานวิจัยจึงได้รับการนำเสนอเป็นบทความสองชิ้นในชุดนี้
สมมติฐานของงานวิจัยที่เราตั้งไว้ครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้คือ (1) การเลือกสถานที่สำหรับลงหลักปักฐานของครอบครัวเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับการหางานทำ การมีโรงเรียนสำหรับลูก และสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัย (2) การเลือกมีถิ่นที่อยู่และแสวงหาความก้าวหน้าด้านการงานอาชีพในเมืองถิ่นเกิดของภรรยา ฝ่ายสามีต้องเผชิญอุปสรรคมากมายหลายประการกว่า ทั้งในแง่ของเงื่อนไขการเป็นผู้เข้ามามีถิ่นที่อยู่ การกลืนกลายทางวัฒนธรรม และกิจกรรมที่มีให้ทำ นอกจากนี้ ฝ่ายภรรยาประสบปัญหาน้อยลงหรือไม่มีเลยในการยึดมั่นกับปทัสถานด้านเพศสภาพตามประเพณี (3) ระหว่างชาวเวียดนามกับชาวไต้หวัน ทั้งสองฝ่ายต่างมีความแตกต่างด้านภาษาและลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมหลายประการ ผลที่ตามมาก็คือ ครอบครัวพหุวัฒนธรรมเวียดนาม-ไต้หวันอาจประสบปัญหาท้าทายบางประการเกี่ยวกับการสื่อสารและอาหารการกิน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ไม่ค่อยบานปลายจนกลายเป็นข้อพิพาทที่มีความสำคัญแต่อย่างใด (4) การแก้ไขความแตกต่างด้านวัฒนธรรมสามารถได้รับการหนุนเสริมอย่างมากจากการบ่มเพาะความเข้าอกเข้าใจ การช่วยเหลือกัน การวางรากฐานอิทธิพลทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน รวมทั้งการค่อยๆ พัฒนาความกลมเกลียวภายในคู่รักที่ร่วมชีวิตกัน (5) คู่สมรสพหุวัฒนธรรมอาจมีข้อได้เปรียบด้านสัญชาติในช่วงเริ่มแรกด้วยการมีถิ่นที่อยู่ในบ้านเกิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นโยบายผู้เข้ามามีถิ่นที่อยู่สำหรับคู่สมรสชาวต่างชาติในเวียดนามส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อชีวิตและครอบครัวภายในประเทศนี้
งานวิจัยนี้ให้คุณูปการเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติหลายประการ ประการแรก งานวิจัยมุ่งเน้นศึกษาปรากฏการณ์การอพยพย้ายถิ่นจากการแต่งงาน และสำรวจตรวจสอบการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลที่ลงหลักปักฐานในเวียดนาม ประเทศซึ่งเดิมทีถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีการ “อพยพออกไป” ไม่ใช่ “อพยพเข้ามา”
ต่อไปนี้คือข้อค้นพบสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้
ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งเสริมการแต่งงานระหว่างชาวไต้หวันกับชาวเวียดนาม
ไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเวียดนามมาตั้งแต่ปี 1989 นี่เป็นรากฐานและมาก่อนความสัมพันธ์ทางสังคม 2 (Wang & Bélanger, 2008) นับตั้งแต่ปี 1995 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2005 มีชาวเวียดนาม 89,085 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เข้าร่วมการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวที่ Taipei Economic and Cultural Office ในเวียดนามเพื่อเข้าถึงสิทธิในการแต่งงานกับชาวไต้หวัน (Huệ, 2006) ไต้หวันดำรงสถานะการเป็นจุดหมายปลายทางแถวหน้าสุดสำหรับเจ้าสาวชาวเวียดนามมาอย่างต่อเนื่อง การมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กัน อีกทั้งมีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมและภาษา มีส่วนที่ส่งเสริมการแต่งงานข้ามชาติระหว่างชาวไต้หวันกับชาวเวียดนามเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ชายชาวเวียดนามที่มองหาคู่แต่งงานย่อมประสบอุปสรรคจากการที่ผู้หญิงไต้หวันมีความคาดหวังสูง เนื่องจากฝ่ายหลังมักมีการศึกษาดีกว่าและเป็นพลังทางเศรษฐกิจในตัวเอง (Le-Phuong et al., 2022) ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงเวียดนามมีแรงจูงใจที่จะยกระดับสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจของตนเอง และการเข้าสู่ประเทศไต้หวันได้ง่าย สืบเนื่องจากแนวนโยบายของไต้หวันที่ค่อนข้างผ่อนผันและเปิดกว้าง (Xuan et al., 2022) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมการแต่งงานระหว่างชาวไต้หวันกับชาวเวียดนาม
อคติต่อผู้หญิงชาวเวียดนามที่แต่งงาน-ย้ายไปไต้หวัน
ผู้หญิงชาวเวียดนามที่แต่งงานกับชาวไต้หวันและอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในไต้หวันมักเผชิญการเลือกปฏิบัติหลังจากย้ายไป พวกเธอมักมีอายุน้อย ส่วนใหญ่มาจากชนบท มีการศึกษาต่ำ และมีความเสียเปรียบทางสังคม-เศรษฐกิจ (Xuan et al., 2021) ผู้หญิงที่ย้ายไปมีจำนวนพอสมควรที่ต้องทำงานเพื่อรับใช้พันธะทางการเงินของครอบครัวในทั้งสองประเทศ (Wu, 2022) ผู้ชายไต้หวันที่แต่งงานด้วยมักมีอายุมากกว่า (มักมีอายุระหว่าง 30-60 ปี) และเกือบทั้งหมดมีการงานมั่นคง
เนื่องจากผู้หญิงเวียดนามส่วนใหญ่มักพบคู่ครองในอนาคตผ่านธุรกิจพ่อสื่อแม่สื่อ เมื่อบวกรวมกับลักษณะเฉพาะข้างต้น ผู้หญิงชาวเวียดนามที่แต่งงานและอพยพย้ายถิ่นฐานไปจึงตกเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตยและถูกสื่อมวลชนไต้หวันวาดภาพในทางลบ ถ้าพวกเธอไม่ใช่คนบ้าวัตถุที่ใช้การอพยพเป็นวิธีการหาเงิน ก็เป็น “เจ้าสาวหนีหาย” ที่หย่ากับสามีชาวไต้หวันหลังจากได้สัญชาติและกอบโกยเงินทองจนพอใจแล้ว (Wu, 2023) รัฐเองก็มีบทบาทในการตอกย้ำภาพเหมารวมแบบนี้ (Wang & Bélanger, 2008)
ภาษาและการสื่อสาร
ทายาทที่เกิดจากการแต่งงานข้ามชาติดังกล่าว ส่วนใหญ่มักละทิ้งภาษาแม่ของฝ่ายมารดาไปบางส่วนหรือทั้งหมด และเลือกภาษาจีนกลางเป็นภาษาสื่อสารในบ้าน สถานการณ์นี้อาจมีแรงจูงใจมาจากความจำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกได้ง่าย หรือมิฉะนั้น ถ้าหากมีการให้ความสำคัญกับภาษาเวียดนามเป็นพิเศษ ก็ต้องสืบเนื่องมาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงของครอบครัวนั้น (Cheng, 2017) ในขณะเดียวกัน ผู้อพยพเข้ามาใหม่มักเสียเปรียบมากในการหางานทำ และอาจเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในภาษาจีนไม่มากพอ (Wu, 2023) มีงานวิจัยอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นด้วยว่า ผู้หญิงเวียดนามมุ่งมั่นทำงานเพื่อยกระดับสถานะของตน ทั้งในด้านรายได้ ภาษา และการศึกษาของลูกๆ (Chen, 2011)
สัญชาติและความตระหนักในสิทธิพลเมือง
รัฐบาลไต้หวันทำการวิจัยไว้สองชิ้นในปี 2004 และ 2008 เผยให้เห็นว่า 50-70% ของภรรยาชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามา ให้กำเนิดลูกหลังจากย้ายมาอยู่ในไต้หวันแล้ว งานวิจัยบางชิ้นอ้างว่า เด็กมักถือกำเนิดภายในสองสามปีแรกที่แม่ย้ายมาไต้หวัน สหสัมพันธ์ระหว่างอัตราการได้สัญชาติและการมีลูกในหมู่ผู้หญิงต่างชาติที่แต่งงานและย้ายเข้ามาอยู่ในไต้หวัน ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการได้สัญชาติกับการก้าวสู่ความเป็นมารดาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (Cheng, 2017) เราอาจมองว่าการมีลูกเป็นหลักฐานสนับสนุนความจริงใจในการแต่งงานระหว่างชาวไต้หวันกับคู่สมรสชาวต่างชาติ และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การได้ใบอนุญาตถิ่นที่อยู่หรือสัญชาติรวดเร็วขึ้นสำหรับผู้อพยพหญิงที่แต่งงาน ซึ่งจะทำให้ได้รับการดูแลแบบพลเมือง (Chiu & Yeoh, 2021) ในเดือนธันวาคม 2014 ผู้อพยพหญิงส่วนใหญ่ที่แต่งงานกับคนชาติไต้หวันได้รับสัญชาติไต้หวันในที่สุด ผู้หญิงเวียดนามเป็นกลุ่มย่อยใหญ่ที่สุด (75%) ภายในกลุ่มประชากรผู้หญิงอพยพ/พลเมืองเพิ่งได้สัญชาติจำนวน 145,441 คน แม่ชาวเวียดนามมีความคาดหวังว่า ลูกของตนจะสั่งสมสำนึกของอัตลักษณ์ความเป็นคนไต้หวันระหว่างการเลี้ยงดู ในขณะที่มีแม่บางคนแสดงความปรารถนาให้ลูกของตนโอบรับอัตลักษณ์แบบทวิวัฒนธรรม ไม่มีผู้ตอบคำถามคนไหนเลยที่ระบุว่า ต้องการให้ลูกมีอัตลักษณ์เป็นชาวเวียดนาม (Chen, 2011)
ทัศนคติใหม่ต่อเจ้าสาวชาวเวียดนามในไต้หวัน
ในระยะหลัง เห็นได้ชัดว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มของทัศนคติเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับการแต่งงานของผู้อพยพหญิงและลูกๆ ของพวกเธอภายในบริบทของไต้หวัน เรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับขบวนการสังคมที่ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางวัฒนธรรมของบุคคลที่เป็นผู้อพยพและแต่งงานกับคนไต้หวัน รวมไปถึงทายาทของพวกเขาด้วย (Hsia, 2021) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากนโยบาย New Southern Policy (NSP) ที่รัฐบาลไต้หวันนำมาใช้ในปี 2016 เพื่อเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการอ้างว่า การใช้นโยบาย NSP ช่วยเปลี่ยนแปลงพลวัตของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพหญิงกับรัฐบาลไต้หวันอย่างลึกซึ้ง ในปัจจุบัน ผู้อพยพหน้าใหม่เหล่านี้ไม่เพียงได้รับการส่งเสริมให้รักษาการติดต่อสื่อสารกับญาติทางสายเลือดของตนที่ยังอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสม่ำเสมอเท่านั้น แต่ยังสามารถถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมและภาษาของตนให้แก่ทายาทที่มีสองเชื้อชาติในไต้หวันได้ด้วย (Cheng, 2021) มีรายงานว่า ประชากรรุ่นที่สองที่เกิดจากการแต่งงานของผู้อพยพคือแกนหลักของนโยบาย NSP และรัฐบาลไต้หวันมองพวกเขาในแง่บวกมากขึ้น พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านทัศนคติเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามพรมแดนจาก “ปัญหาสังคม” มาเป็น “สินทรัพย์ทางสังคม” (Hsia, 2021)
นี่คือตอนจบของส่วนแรกในงานวิจัยขนาดใหญ่และเต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าสาวจากเวียดนามในไต้หวัน ส่วนที่สองของบทความถัดไปในชุดนี้จะให้ข้อมูลจากการทำงานภาคสนามของการวิจัยครั้งนี้ ในส่วน/บทความที่สอง ข้อค้นพบหลักครอบคลุมถึงการที่ครอบครัวชาวเวียดนาม-ไต้หวันหันไปนิยมการมีถิ่นที่อยู่ในนครโฮจิมินห์ ระดับความเชี่ยวชาญในภาษาเวียดนามและภาษาจีนของสมาชิกในครอบครัว การเลือกอาหารการกินในชีวิตประจำวัน และปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของครอบครัว โดยเฉพาะของลูกๆ ในแง่ของการมีสองสัญชาติและสองอัตลักษณ์
Phan Thi Hong Xuan, Ho-Hsien Chen, Vo Phan My Tra
Tผู้เขียนบทความประกอบด้วย: Phan Thi Hong Xuan (University of Social Sciences and Humanities – Vietnam National University Ho Chi Minh City), Ho-Hsien Chen (Taipei Economic and Cultural Office in Ho Chi Minh City) และ Vo Phan My Tra (University of Leipzig, Germany). หากมีคำถามใด โปรดสอบถามได้ที่อีเมล์นี้: xuan.pth@hcmussh.edu.vn
กิตติกรรมประกาศ : งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Vietnam National University Ho Chi Minh City (VNU-HCM) ภายใต้ทุนหมายเลข B2022-18b-04.
Ahn, S. Y. (2022). Matching across markets: An economic analysis of cross-border marriage. University of Illinois at Chicago. https://syahn.people.uic.edu/JMP_SA.pdf
Bélanger, D., Hồng, K. T., & Linh, T. G. (2013). Transnational Marriages between Vietnamese Women and Asian Men in Vietnamese Online Media. Journal of Vietnamese Studies, 8(2), 81–114. https://doi.org/10.1525/vs.2013.8.2.81
Berry, J. W. (1997). Immigration, Acculturation, and Adaptation. Applied Psychology, 46(1), 5–34. https://doi.org/10.1111/j.1464-0597.1997.tb01087.x
Berry, J. W. (2005). Acculturation: Living successfully in two cultures. International Journal of Intercultural Relations, 29(6), 697–712. https://doi.org/10.1016/j.ijintrel.2005.07.013
Chen, E. C.-H. (2011). Taiwanese-Vietnamese transnational marriage families in Taiwan: Perspectives from Vietnamese immigrant mothers and Taiwanese teachers [Doctoral thesis]. University of Illinois.
Cheng, I. (2017). She cares because she is a mother: The intersection of citizenship and motherhood of Southeast Asian immigrant women in Taiwan. In International Marriages and Marital Citizenship. Routledge.
Cheng, I. (2021). Motherhood, empowerment and contestation: The act of citizenship of Vietnamese immigrant activists in the realm of the new southbound policy. Citizenship Studies, 25(7), 975–992. https://doi.org/10.1080/13621025.2021.1968688
Chiu, T. Y., & Yeoh, B. S. A. (2021). Marriage migration, family and citizenship in Asia. Citizenship Studies, 25(7), 879–897. https://doi.org/10.1080/13621025.2021.1968680
Ha, P. T. T., Thuy, H. T., Thanh, T. V., & Hang, T. T. (2021). Vai trò giới trong gia đình phụ nữ Việt Nam kết hôn với lao động nước ngoài. Tạp Chí Khoa Học Hội Phụ Nữ, 2021(2), Article 2.
Hsia, H.-C. (2021). From ‘social problems’ to ‘social assets’: Geopolitics, discursive shifts in children of Southeast Asian marriage migrants, and mother-child dyadic citizenship in Taiwan. Citizenship Studies, 25(7), 955–974. https://doi.org/10.1080/13621025.2021.1968687
Huệ, P. T. (2006). Phụ nữ Việt Nam lấy chồng Đài Loan: Hiện trạng và một số định hướng chính sách—Tài liệu, Luận văn. Xã Hội Học, 2(94), 74–83.
Kim, K. (2022). A Study on Parenting Experiences of Multicultural Families with Disabled Children in Korea. Social Sciences, 11(9), Article 9. https://doi.org/10.3390/socsci11090381
Lệ, T. T. (2022). Báo cáo tổng hợp kết quả khoa học và công nghệ nhiệm vụ Người nước ngoài di cư đến thành phố Hồ Chí Minh—Thực trạng và giải pháp. Viện Nghiên cứu Phát triển thành phố Hồ Chí Minh.
Lee, H. (2021). Gov’t to conduct survey of multicultural families—The Korea Times. https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2021/08/119_313183.html
Le-Phuong, L., Lams, L., & Cock, R. D. (2022). Social Media Use and Migrants’ Intersectional Positioning: A Case Study of Vietnamese Female Migrants. Media and Communication, 10(2), 192–203. https://doi.org/10.17645/mac.v10i2.5034
Redfield, R., Linton, R., & Herskovits, M. J. (1936). Memorandum for the Study of Acculturation. American Anthropologist, 38(1), 149–152.
Sam, D. L., & Berry, J. W. (2010). Acculturation: When Individuals and Groups of Different Cultural Backgrounds Meet. Perspectives on Psychological Science, 5(4), 472–481. https://doi.org/10.1177/1745691610373075
Scott, J. (2000). Rational Choice Theory. In Understanding Contemporary Society: Theories of the Present (pp. 126–138). SAGE Publications Ltd. https://doi.org/10.4135/9781446218310
Sở Tư pháp TP.HCM. (2022). Báo cáo kết quả đăng ký khai sinh, khai tử, kết hôn trên địa bàn thành phố Hồ Chí Minh năm 2022.
Tang, W. A., Anna, W., & Chen, P. (2013). Tactical resistances in daily politics: How do battered Vietnamese wives negotiate family and state tightropes in Taiwan? In Migration to and From Taiwan. Routledge.
Trường Quốc tế Đài Bắc tại TP.HCM. (2023). Thống kê số học sinh là con em của gia đình đa văn hóa Việt—Đài đang theo học tại trường Quốc tế Đài Bắc tại TP.HCM giai đoạn 2010-2023.
Văn phòng Kinh tế và Văn hóa Đài Bắc tại thành phố Hồ Chí Minh. (2023). Thống kê số cặp đôi Việt—Đài đăng ký kết hôn tại Văn phòng Kinh tế và Văn hóa Đài Bắc TP.HCM từ năm 2015-2022.
Wang, H., & Bélanger, D. (2008). Taiwanizing female immigrant spouses and materializing differential citizenship. Citizenship Studies, 12(1), 91–106. https://doi.org/10.1080/13621020701794224
Wu, Y.-L. (2022). Entrepreneurship Experiences among Vietnamese Marriage Immigrant Women in Taiwan. Sustainability, 14(3), Article 3. https://doi.org/10.3390/su14031489
Wu, Y.-L. (2023). Negotiating and Voicing: A Study of Employment Experiences among Vietnamese Marriage Immigrant Women in Taiwan. Social Sciences, 12(2), Article 2. https://doi.org/10.3390/socsci12020094
Xuan, P. T. H., Huyen, L. N. A., & Nghia, P. H. (2021). Overview of Studies on Multicultural Families between Vietnamese and Foreigners in Vietnam. Hor J. Hum. & Soc. Sci. Res, 131–138. https://horizon-jhssr.com/view-issue.php?id=108
Xuan, P. T. H., Nghia, P. H., Huyen, L. N. A., Soo, K. M., & Tra, V. P. M. (2022). Research Overview on the Life of Families with Foreign Elements in Ho Chi Minh City, Vietnam. 701–709. https://doi.org/10.2991/978-94-6463-008-4_88
Notes:
- โรงเรียนนานาชาติ Taipei International School นี้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถานกงสุลไทเป รับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงเกรด 12 เรื่องที่น่าสังเกตคือ ประมาณ 50% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดในแต่ละปี ประกอบด้วยนักเรียนที่มาจากภูมิหลังแบบพหุวัฒนธรรมของครอบครัวเวียดนาม-ไต้หวัน (Taipei International School, 2023). ↩
- สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐเวียดนาม (เวียดนามใต้) มีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาตลอดจนกระทั่งฝ่ายหลังล่มสลายไปในเดือนเมษายน 1975 เวียดนามภายหลังการรวมประเทศใช้นโยบายจีนเดียว ดังนั้นจึงยกเลิกการรับรองสาธารณรัฐจีนในฐานะรัฐที่ปกครองจีน อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไม่เป็นทางการก็ยังดำเนินต่อมาหลังจากเสื่อมทรามลงในช่วงแรกหลังจากการยกเลิกการรับรอง ↩