การดำเนินชีวิตของชาวต่างชาติในเวียดนาม: การสำรวจเชิงชาติพันธุ์วรรณาบางส่วน

David Koh

ภูมิหลัง

ตลอดหลายยุคสมัยที่ผ่านมา การอพยพย้ายถิ่นและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเปรียบเสมือนแม่เหล็กในอารยธรรมและสังคมของเวียดนาม  ภูมิภาคนี้ผ่านพบการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องในสามทิศทางด้วยกัน กล่าวคือ ระหว่างผู้อพยพชาวเหนือจากราชอาณาจักรจีนทางทิศเหนือกับชาวพื้นเมืองในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง  ระหว่างชาวเขาทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกับผู้คนในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และระหว่างดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกับอาณาจักรจามปาซึ่งเป็นดินแดนทางทิศใต้ 1  ชาวเวียดนามต้อนรับคนต่างชาติชาวตะวันตก ผู้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเวียดนาม  เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันดีก็คือการที่บาทหลวงอเล็กซานเดอร์ โรดส์ (Alexander Rhodes) ใช้พยัญชนะอักษรลาตินจากโปรตุเกสแปลคัมภีร์ไบเบิลให้ชาวเวียดนามได้อ่าน  ในศตวรรษที่ 20 ประเทศเวียดนามรับเอาระบบตัวอักษรชุดนี้มาใช้ พร้อมกับละทิ้งตัวอักษรจีนและระบบอักษรจื๋อโนม (Nom script) (ระบบตัวอักษรที่ผสมผสานตัวอักษรจีนเข้ากับการออกเสียงแบบเวียดนาม)  เรื่องที่ย้อนแย้งก็คือ เพื่อการอยู่รอดของชาติและตอกย้ำการต่อต้านระบอบอาณานิยม ภาษาต่างประเทศกลับมีบทบาทสำคัญมากในการวางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า

นโยบายโด๋ยเม้ย (Doi Moi แปลว่าการปฏิรูป) คือการปิดฉากบทตอนของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นความมั่นคงอันมีพื้นฐานมาจากภาวะสงคราม และเปิดฉากบทตอนใหม่ของสังคมเปิดที่ต้อนรับการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกผ่านกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ  กระบวนการพบปะ เรียนรู้ และยอมรับชาวต่างชาติ อาจเต็มไปด้วยอุปสรรคและเริ่มต้นช้า  ยกตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติเชื้อสายอินเดียคนหนึ่ง ซึ่งเล่าว่ามาเยี่ยมเยือนเดียนเบียนฟูในปี 1993 (6 ปีหลังจากเริ่มนโยบายโด๋ยเม้ย) และต้องประหลาดใจที่พบว่า ไม่มีใครเคยเห็นชาวอินเดีย ซึ่งมีผิวสีเข้ม ฯลฯ มาก่อนเลยในภูมิภาคนี้ 2  ระหว่างสงคราม ชาวต่างชาติจากประเทศที่ไม่ใช่พันธมิตรมักถูกสั่งห้ามไม่ให้อยู่อาศัยในเวียดนาม  เนื่องจากถือว่าชาวต่างชาติเป็นอาคันตุกะและชาวเวียดนามต้องแสดงความเป็นเจ้าบ้าน ชาวต่างชาติจึงควรได้รับบริการและสินค้าที่ดีที่สุดเท่าที่เวียดนามสามารถเสนอให้ได้  ชาวต่างชาติจึงต้องพำนักอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยพิเศษ ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ รวมทั้งได้รับสินค้าและบริการที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่  ก่อนจะมีซูเปอร์มาร์เก็ต ชาวต่างชาติในฮานอยต้องซื้อสินค้านำเข้าพิเศษ (ต้องแสดงใบอนุญาต) หากพวกเขาโหยหาเครื่องอุปโภคบริโภคประจำวันที่เคยใช้ในประเทศของตน  เวียดนามเป็นสถานที่ทำงานที่อยู่ลำบากสำหรับชาวต่างชาติ

  ล่วงมาสามทศวรรษ พอถึงช่วงทศวรรษ 2010 บทบาทของชาวต่างชาติยกระดับเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อต้อนรับชาวต่างชาติ  เดี๋ยวนี้ชาวต่างชาติในเวียดนามสามารถอยู่อาศัยที่ไหนก็ได้ตามต้องการ ยกเว้นในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยบางแห่งในจังหวัดห่างไกลตามชายแดน  ความเชี่ยวชาญของชาวต่างชาติเป็นที่ต้องการอย่างสูงในระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่นี้ อีกทั้งทัศนคติที่มีต่อชาวต่างชาติ รวมทั้งสินค้า บริการ และสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยสำหรับพวกเขา ก็ได้รับการปรับปรุงให้สะดวกสบายกว่าเดิมด้วย

ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีปริมาณผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สืบเนื่องจากความเติบโตทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน อาทิ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ มิตรภาพ การแต่งงานข้ามสัญชาติ และการปรับเปลี่ยนย่านที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติ  ภูมิทัศน์ทั้งในเมือง ในชนบท รวมทั้งภูมิทัศน์ทางสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเข้ามาอยู่อาศัยและความต้องการของชาวต่างชาติ

แนวคิดสำหรับบทความต่างๆ ในวารสารฉบับพิเศษนี้เกิดจากความจำเป็นที่ต้องการเข้าใจว่า วิถีชีวิตของชาวต่างชาติดำเนินไปอย่างไรในสภาพแวดล้อมของสังคมเวียดนาม  คำถามใหญ่กว่านั้นก็คือ สภาพแวดล้อมของเวียดนามได้รับการปรับแต่งให้เหมาะกับชาวต่างชาติอย่างไรบ้าง?  คำว่า “สภาพแวดล้อม” หมายถึง การจัดการสภาพความเป็นอยู่และพื้นที่การอยู่อาศัย (ซึ่งรวมถึง การดูแลสุขภาพ การศึกษา สันทนาการ บริการต่างๆ เช่น ธนาคาร การบริโภค) และความยากง่ายในการใช้ชีวิตในเวียดนามโดยรวม  การวางรากฐานทางวัตถุเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นทัศนคติโดยรวมของรัฐและสังคมเวียดนามที่มีต่อชาวต่างชาติ

การไม่เริ่มต้นด้วยกรอบแนวคิดนามธรรม

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่จะมีต่อบทความชุดนี้อย่างแน่นอนก็คือ การไม่มีคำศัพท์เชิงกรอบแนวคิดนามธรรมที่นิยามอย่างชัดเจนและรากฐานเชิงทฤษฎี   การมีสิ่งเหล่านั้นจะไม่ต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของบทความฉบับพิเศษนี้ กล่าวคือ การนำเสนอข้อมูลดิบเชิงชาติพันธุ์วรรณาและมานุษยวิทยา เพื่อให้การทำงานเชิงกรอบแนวคิดและเชิงทฤษฎีที่จะตามมามีรากฐานที่แข็งแกร่ง  ด้วยเหตุนี้ บทความในที่นี้จึงไม่ประสงค์จะถกเถียงเรื่องกรอบแนวคิดหรือทฤษฎี  อย่างไรก็ตาม Phan Thi Hong Xuan et al (1) ชี้ให้เห็นว่า แนววิธีศึกษาแบบการปรับตัวผสมผสานข้ามวัฒนธรรม (Acculturation) และการเลือกอย่างมีเหตุมีผล (Rational Choice) ช่วยสร้างความกระจ่างแก่งานวิจัยของพวกเขา  ผู้อ่านสามารถสำรวจกรอบแนวคิดเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งบทความชุดพิเศษนี้ไม่สามารถนำเสนอให้ได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านความยาว

ขอบข่ายคำถามในระดับรูปธรรมกว่า

 กระนั้นก็ตาม เราได้รับแรงบันดาลใจจากหลายคำถามด้วยกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราพยายามแสวงหาคำตอบหลากหลายแง่มุมต่อคำถามว่า การดำเนินชีวิตของชาวต่างชาติในเวียดนามมีลักษณะอย่างไร และมันส่งผลกระทบต่อสังคมเวียดนามอย่างไรบ้าง?  จากการประชุมของกลุ่มนักวิจัยที่สนใจในโครงการนี้และกำลังทำงานด้านนี้อยู่  เราระบุชี้ว่า การขยายตัวของเมืองและการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในเวียดนาม คือพัฒนาการสองประการที่เป็นกุญแจสำคัญควรแก่การจับตามอง  ต่อไปนี้คือข้อชวนคิดของบรรณาธิการที่มีต่อผลงานของนักวิจัยในบทความชุดนี้

ผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติในเวียดนาม

 การที่ชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในประเทศเวียดนามยุคปัจจุบันก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมหลายทบซ้อน  บทความของ Nhut แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการของรัฐที่ค่อยๆ พัฒนาเพื่อดึงชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ใต้ร่มนโยบายของตน สร้างความมั่นใจว่าชาวต่างชาติจะถูกเหนี่ยวนำเข้าสู่วิถีชีวิตแบบเวียดนาม อาทิ การเข้าใจคุณค่าที่มีร่วมกันของเวียดนาม (จากกิจกรรมฉลองการชักธงขึ้นเสา เป็นต้น) หรือเชื้อเชิญชาวต่างชาติมาเข้าร่วมประชุมพบปะภายในชุมชน  การพัวพันกับชาวต่างชาติสะท้อนให้เห็นความกังวลลึกๆ ว่า ชาวต่างชาติสามารถสร้างผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นได้ในหลากหลายหนทาง  ความกังวลประการหนึ่งก็คือ ความคิดและการกระทำของชาวต่างชาติที่รัฐอาจมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องหลอมรวมกับวิถีท้องถิ่น  กลยุทธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการระดมมวลชน ซึ่งสังคมสังคมนิยมใช้จัดระเบียบกลุ่มชนที่หลากหลายในสังคมให้อยู่ในแนวทางเดียวกัน โดยการกระตุ้นให้กลุ่มชนเหล่านั้นมีบทบาทในการสนับสนุนระบอบด้วยความเข้าใจและการมีส่วนร่วม  แนวคิดว่าสังคมที่เหนียวแน่นควรมีความขัดแย้งทางสังคมน้อยเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมประเภทที่เน้นความเป็นเอกภาพและมีรัฐที่เป็นเอกเทศ (autonomous state หรือรัฐที่ไม่ถูกสังคมท้าทายช่วงชิงอำนาจ) ดังที่เคยปรากฏให้เห็นในประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ (จนกระทั่งทศวรรษ 1980) และสิงคโปร์ (จนกระทั่งถึงปัจจุบัน)

บทความของ Hung และ Thanh ชี้ให้เห็นว่า ชาวต่างชาติต้องการมาตรฐานการครองชีพที่สูงกว่าและสามารถจ่ายเพิ่มให้ได้  บทความของพวกเขาสะท้อนว่า ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 รัฐบาลเวียดนามมีการวางแผนเรียบร้อยแล้วว่าจะสร้างเขตเมืองใหม่แยกต่างหากและแตกต่างจากเขตเมืองเก่า ทั้งในแง่ของบรรยากาศและลักษณะหน้าตา  อันที่จริง การออกแบบย่านฝูไหมเฮิง (Phu My Hung) เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและยังไม่เคยนำไปเลียนแบบที่ไหนอีกในแง่ของขนาดแม้จะผ่านมาแล้ว 20 ปี  ผังเมืองแสดงถึงการยอมรับความจำเป็นที่ต้องจัดสรรให้เหมาะกับความนิยมชมชอบของชาวต่างชาติในแง่สภาพแวดล้อมของเมือง ไม่ว่าจะเป็นถนนกว้างสะอาด ความประพฤติมีระเบียบ วิถีการดำเนินชีวิตที่มีอนามัยและมีการจัดการ ตั้งแต่การเก็บขยะไปจนถึงการดำเนินการของโรงเรียนและตลาด  อย่างไรก็ตาม กรณีของย่านเถาเดี๋ยน (Thao Dien) ที่วิเคราะห์ไว้ในบทความเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นด้วยว่าชาวต่างชาติยอมรับวิถีชีวิตที่มีระเบียบน้อยกว่าย่านฝูไหมเฮิงได้ในระดับหนึ่ง

The Ho Chi Minh City view from the top of Landmark 81 building, 2024. Photo Edwin Petrus, Unsplash

Coming together, Staying together
มาเจอกัน อยู่ด้วยกัน

ในปี 2022 นครโฮจิมินห์มีการแต่งงานที่เกี่ยวข้องกับพลเมืองชาวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 2,927 กรณี (Phan Thi Hong Xuan et al. {1})   นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนนโยบายโด๋ยเม้ย  ในสมัยนั้น ชาวเวียดนามจะได้พาสปอร์ตเพื่อการเดินทางยังยาก อย่าว่าแต่การแต่งงานกับชาวต่างชาติ  ตอนนั้นก็มีชาวต่างชาติแค่ไม่กี่รายที่มีวีซ่าเยี่ยมเยียนหรือวีซ่าพำนักในเวียดนาม  คู่แต่งงานที่ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยชิ้นนี้พบรักในสภาพการทำงานในประเทศเวียดนาม  หากกลับไปไต้หวัน ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหารายได้ได้ทั้งคู่  อีกทั้งค่าครองชีพในเวียดนามที่ต่ำกว่าและโอกาสในการลงทุนด้านการเงินเพื่อผลตอบแทน ล้วนเป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้คู่สามีภรรยาเหล่านี้ตั้งรกรากในเวียดนามมากกว่าจะย้ายไปไต้หวัน แตกต่างจากที่พบเห็นได้ทั่วไปในช่วงปีต้นๆ ของนโยบายโด๋ยเม้ย  แรงจูงใจเพิ่มเติมแต่สำคัญก็คือการมีโรงเรียนนานาชาติสำหรับลูกๆ  พร้อมกันนั้นการพำนักในเวียดนามหมายถึงสามีหรือภรรยาชาวเวียดนามสามารถอยู่ใกล้กับครอบครัวของตนเอง

Phan Thi Hong Xuan et al (1) และ (2) เรียบเรียงการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ภายในครอบครัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าครอบครัวเหล่านี้ประนีประนอมความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมและค่านิยมที่ยึดถืออย่างไร  การผสมผสานหรือการใช้หลายภาษาควบคู่กัน (อังกฤษ จีนกลาง เวียดนาม) ในครอบครัวเหล่านี้เป็นเรื่องน่าทึ่ง เช่น เมื่องานวิจัยเจาะลึกถึงเหตุผลในการเลือกภาษาเพื่อการสื่อสาร การเลือกที่แปรผันตามสถานการณ์และผู้คน  บทความทั้งสองชิ้นนี้ยังอภิปรายถึงประเด็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของรุ่นลูกด้วย

Foreigners’ experience
ประสบการณ์ของชาวต่างชาติ

บทความชุดพิเศษนี้ไม่มีชิ้นไหนที่เขียนถึงประสบการณ์ของชาวต่างชาติในเวียดนามโดยตรง  เท่าที่พอหาอ่านผ่านๆ ได้จากอินเทอร์เน็ตแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีข้อได้เปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ค่าครองชีพต่ำ และชาวต่างชาติสามารถหางานทำได้รวดเร็วและค่อนข้างง่าย 3 รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่มีการใช้ภาษาอังกฤษ แม้จะอยู่ในระดับขั้นต่ำสุดก็ตาม

เวียดนามยังต้องปรับปรุงอีกมากเพื่อให้เป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดผู้อพยพย้ายถิ่นและชาวต่างชาติที่โยกย้ายมาทำงาน  เว็บไซท์ Internations (Expats Essential Index) ทำการสำรวจทัศนะของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศเจ้าบ้านเป็นประจำ และในปี 2023 เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 52 ประเทศที่มีการทำแบบสอบถาม  ปัญหาหลักที่ชาวต่างชาติหยิบยกขึ้นมามีอาทิ ระเบียบราชการที่ยุ่งยากเกี่ยวกับวีซ่า การขาดการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ ความยากลำบากในการเปิดบัญชีธนาคาร มลพิษทางอากาศและเสียง ความต้องการให้เคารพพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนรวมมากกว่านี้ การเคารพกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งรวมถึงกฎจราจร  ความยากในการเรียนรู้ภาษาก็ถูกยกขึ้นมาบ่อยครั้งเช่นกัน  ในการสำรวจครั้งอื่นซึ่งกระทำก่อนหน้านี้ในปี 2019  60% ของชาวต่างชาติที่ทำงานในเวียดนามรายงานถึงอาการช็อกทางวัฒนธรรม “สาเหตุสามอันดับแรกสุดที่ทำให้เกิดอาการช็อกทางวัฒนธรรมที่ผู้ให้สัมภาษณ์ลงคะแนนก็คือ อุปสรรคทางภาษา (29%)  ความขัดแย้งระหว่างภาพที่เห็นภายนอกกับความเป็นจริง ในแง่ของสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่น ความสัมพันธ์ (27%) และการขาดความเข้าใจ (18%)” 4  มีบางคนเอ่ยถึงเพื่อนบ้านน่ารำคาญที่มีนิสัยประหลาดด้วย

Tan Son Nhat International Airport, Ho Chi Minh City. Trung Cao, Unsplash

ปีเตอร์ สเปนซ์ ครูสอน IELTS ชาวอังกฤษ เล่าว่า “ภรรยากับผมย้ายมาเวียดนามราวสามปีก่อน ตอนแรกอยู่ที่ฮานอย แล้วจากนั้นก็ย้ายมาไซ่ง่อน  ในฮานอย สิ่งที่ทำให้ให้เราช็อกมากที่สุดคือกฎเกณฑ์บนท้องถนน  ผู้คนไม่สนใจสัญญาณจราจรและข้อบังคับใดๆ  ขับขี่บนทางเท้า และแทบไม่แยแสผู้ใช้รถและคนเดินเท้าคนอื่น” 5  ชาวต่างชาติที่มาทำงานอีกคนพูดในทำนองเดียวกันและตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนชาวเวียดนามไม่ค่อยยอมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ด้วย 6

ภาพของเวียดนามในสายตาชาวต่างชาติในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาก็ไม่แย่จนเกินไปด้วย  จากการสำรวจความคิดเห็นของ Internations เจ้าเดิม ระบุว่า ชาวต่างชาติในเวียดนามมีความพอใจระดับสูงกับการเงินของตน (อันดับ 1) และพอใจกับความเป็นมิตรของคนท้องถิ่น (อันดับ 5) รวมทั้งความสมดุลระหว่างการทำงานกับการพักผ่อนค่อนข้างดี (อันดับ 6)  85% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความพึงพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ในเวียดนาม เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยระดับโลกซึ่งอยู่ที่ 72% 7  จำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นตราบที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับนี้ แต่ยังไม่มีความแน่ชัดว่าประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ชาวต่างชาติประสบจะได้รับการแก้ไขในระยะเวลาอันใกล้

สรุป

ประสบการณ์ของชาวต่างชาติในเวียดนามในยุคสมัยใหม่ภายหลังการเปิดประเทศ โดยรวมแล้วเป็นการบอกกล่าวถึงเรื่องราวของการปรับตัวและการผสมผสานข้ามวัฒนธรรมของชาวเวียดนามและชาวต่างชาติ  เวียดนามยอมเปลี่ยนลักษณะเมืองของตนให้ต้องตรงกับวิถีชีวิตแบบตะวันตก ปรับแต่งภูมิทัศน์ในเมือง ส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ รวมทั้งอนุญาตให้ชาวเวียดนามแต่งงานกับคนต่างชาติและเปิดโรงเรียนนานาชาติ  รวบรวมคนสัญชาติต่างๆ เข้ามาอยู่รวมกันในเมืองและบริโภควัฒนธรรมของพวกเขา

David Koh
David KOH ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์อยู่ที่ College of Arts & Sciences, VinUniversity ทัศนะของผู้เขียน ไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมด เป็นความคิดของพวกเขาเอง และมิได้เป็นตัวแทนทัศนะของ VinUniversity หรือสถาบันที่ผู้เขียนนั้นๆ สังกัด

Banner: Ho Chi Minh, Vietnam – December 6, 2022: People stand in line to cross the border control area into Vietnam in Tan Son Nhat international airport. Photo: Nelson Antoine, Shutterstock

Notes:

  1. Phung Hieu Corsi (2018) An Early History of the Vietnamese. Gale Researcher World History Series I, p. 2.
  2. Conversation over dinner with a few foreigner friends, 4 April 2024, in Hanoi, Vietnam.
  3. Sean Nolan (2022) Why do so many foreigners decide to make Việt Nam their home? Viet Nam News 9 June 2022.  https://vietnamnews.vn/life-style/expat-corner/1209251/why-do-so-many-foreigners-decide-to-make-viet-nam-their-home.html accessed 24 April 2024; Minh Nga (2023) Expats unhappy with Vietnam visa policy, survey affirms. VN Express 23 March 2023.  https://e.vnexpress.net/news/news/expats-unhappy-with-vietnam-visa-policy-survey-affirms-4584623.html accessed 24 April 2024.
  4. Thanh Danh, Minh Tam (2023) Vietnam expats overcome culture clashes with neighbors. VN Express 20 August 2023.  https://e.vnexpress.net/news/trend/vietnam-expats-overcome-culture-clashes-with-neighbors-4643130.html# accessed 27 April 2024.
  5. Tuoi Tre News (2018) Expats discuss integrating into Vietnamese culture. 12 February 2018.  https://tuoitrenews.vn/news/city-diary/20180212/expats-discuss-integrating-into-vietnamese-culture/44091.html accessed 7 April 2024.
  6. Tuoi Tre News (2018) Expats discuss integrating into Vietnamese culture. 12 February 2018.  https://tuoitrenews.vn/news/city-diary/20180212/expats-discuss-integrating-into-vietnamese-culture/44091.html accessed 7 April 2024.
  7. https://www.internations.org/expat-insider/2023/vietnam-40382 accessed 5 April 2024.