สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ที่ประเทศจีนมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งการมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มผู้วางนโยบายภายในภูมิภาคนี้จึงเห็นสมควรที่จะดำเนินการเชิงรุกในการเชิญชวนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment–FDI) จากประเทศจีนให้มากขึ้น ความน่าสนใจของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนเกิดขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาที่ความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมมีภาวะชะงักงันในเศรษฐกิจหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดภาวะที่ถูกหลอกหลอนจากปัญหากับดักรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap–MIT) 1 ในประเด็นนี้ ประสบการณ์ของมาเลเซียอาจช่วยให้เกิดความเข้าใจที่มีประโยชน์ เพื่อแสวงหาประโยชน์สูงสุดจากความสัมพันธ์อันยาวนานกับจีน มาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงพยายามผลักดันความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจ กล่าวในรายละเอียดก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก (ดำรงตำแหน่งปี 2009-2018) ได้ทุ่มเทความพยายามและความตั้งใจอย่างมากในการชักชวนบรรษัทข้ามชาติของจีนเข้ามาในประเทศ รัฐบาลนาจิบถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่ขยายการพึ่งพิงบรรษัทข้ามชาติของจีนอย่างมาก เพื่อหาทางบรรลุภารกิจอันตั้งเป้าหมายไว้สูง โดยมีช่วงระยะเวลาคืนทุนนานกว่าปรกติ 2 อันที่จริง โครงการร่วมมือกับจีนที่โดดเด่นที่สุดบางโครงการ ซึ่งริเริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลนาจิบและนายกรัฐมนตรีคนต่อๆ มาก็ยังดำเนินการสานต่อ ประกอบด้วยโครงการระบบรางเชื่อมชายฝั่งตะวันออก East Coast Rail Link (ECRL) โครงการนิคมอุตสาหกรรม Malaysia-China Kuantan Industrial Park (MCKIP) และโครงการ Bandar Malaysia ซึ่งเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบสถานีขนส่งมวลชน 3
ในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นองค์ประกอบกุญแจสำคัญ รัฐบาลมาเลเซียเลือกบริษัท Alibaba เป็นผู้ร่วมโครงการ Alibaba ขึ้นชื่อว่าเป็นบรรษัทข้ามชาติจีนที่มีพลวัตมากที่สุดหลังจากปรากฏตัวบนเวทีโลกเมื่อไม่กี่ปีก่อน บรรษัทข้ามชาติจีนบริษัทนี้เข้ามามีส่วนร่วมในเขตการค้าเสรีดิจิทัล (Digital Free Trade Zone–DFTZ) นี่คือความเป็นหุ้นส่วนรัฐ-เอกชน (Public-Private Partnership–PPP) ที่ได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างมาก โดยมีกลุ่มบริษัทที่เปรียบเสมือนสมอหลักจากทั้งจีนและมาเลเซีย เขตการค้าเสรีดิจิทัลนี้ตั้งอยู่ในอำเภอเซปัง รัฐเซอลาโงร์ โครงการนี้ถูกมองว่าจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของมาเลเซีย มีความคาดหวังว่าการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและความรู้ที่บริษัท Alibaba จะนำเข้ามาให้ จะช่วยผลักดันบริษัทต่างๆ ของมาเลเซียให้ข้ามพ้นกิจกรรมที่แข่งขันกันด้วยแรงงานราคาถูกเป็นหลัก และก้าวกระโดดไปสู่กิจกรรมที่ซับซ้อนขั้นสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเดิม แล้วด้วยวิธีนี้ก็จะผลักดันประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง อย่างน้อยที่สุดในทางทฤษฎี เขตการค้าเสรีดิจิทัลควรเป็นความสำเร็จที่ช่วยยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่ หรือความเป็นจริงกลับกลายเป็นอย่างอื่น? นี่คือคำถามหลักที่จะสำรวจดูในบทความนี้
DFTZ Goes Live 2017. Promotional launch video.
ตรวจสอบความเป็นจริงของเขตการค้าเสรีดิจิทัล
ถ้าเช่นนั้น เขตการค้าเสรีดิจิทัลมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรบ้างกับวิถีการพัฒนาของระบบนิเวศอุตสาหกรรมในมาเลเซีย? โครงการนี้เริ่มต้นมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2016 เมื่อนาจิบประกาศก่อตั้งเขตการค้าเสรีดิจิทัลในคำแถลงงบประมาณปี 2017 ภายในช่วงเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ นาจิบก็แต่งตั้งแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่นับหน้าถือตา ให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล 4 ถึงแม้มีความคาดหวังว่าแจ็ค หม่าจะช่วยเหลือมาเลเซียในภาพรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการผลักดันระบบจ่ายเงินดิจิทัล อาทิ Alipay ธุรกรรมธนาคารออนไลน์ และระบบสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ แต่หนึ่งในรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดจนถึงทุกวันนี้ก็คือ เขตการค้าเสรีดิจิทัล 5 โครงการนี้เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2017 โดยที่บริษัท Alibaba กระโจนเข้ามาทันทีในเวลาแค่ไม่กี่เดือนหลังจากรัฐบาลมาเลเซียยื่นข้อเสนอให้
บทบาทของ Alibaba เห็นได้ชัดเจนเมื่อเราพิจารณาต้นแบบธุรกิจของเขตการค้าเสรีดิจิทัล คุณค่าที่มันนำเสนอก็คือ เขตการค้าเสรีดิจิทัลคือ เขตเศรษฐกิจที่ขอบเขตงานบริการทั้งหมดซึ่งจำเป็นต่อการสร้างหลักประกันการขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว มีตารางเวลาแบบที่ทำให้สามารถทยอยส่งสินค้าได้ตลอดเวลา เขตนี้เป็นแพลตฟอร์มการค้าทางอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มการค้าโลกทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic World Trade Platform–e-WTP) แห่งแรกของ Alibaba ส่วนเสริมที่ใช้สนับสนุนแพลตฟอร์มบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (eServices Platform) ก็คือ ศูนย์รวมการจัดการหีบห่อและขนส่งตามคำสั่งซื้อออนไลน์ (eFulfilment hub) และศูนย์บริการสัญญาณดาวเทียม (satellite services hub) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาที่แบ่งเป็นสองเฟส เฟสแรกเป็นความรับผิดชอบของ Pos Malaysia (การไปรษณีย์แห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ) โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 60 ล้านริงกิต 6 งบประมาณนี้ใช้เพื่อปรับปรุงยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ 2 (Low-Cost Carrier Terminal–LCCT) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกแก่เขตการค้าเสรีดิจิทัล ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2019 ส่วนเฟสที่สองของโครงการนี้คืออะไรแทบไม่มีใครรู้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจกันว่า Alibaba ยังคงมีบทบาทหลักต่อไป โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นถึง 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นการถือหุ้นของ Malaysia Airports Holdings Berhad (MAHB) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นกัน
ข้อมูลเท่าที่เปิดเผยนี้จึงชี้ให้เห็นข้อน่าสังเกตสำคัญสองประการ ประการแรก โครงการนี้ดูเหมือนดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่เกือบเหมือนดินแดนอิสระ มีความยุ่งเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมในวงกว้างเพียงเล็กน้อย นอกเหนือจากที่ตั้งที่ค่อนข้างแยกตัว (ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง) จากศูนย์กลางธุรกิจของกัวลาลัมเปอร์แล้ว ก็ไม่มีความแน่ชัดว่าชาวมาเลเซียได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเขตการค้าเสรีดิจิทัลนี้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เรายังพออนุมานได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น โครงการนี้อ้างถึงวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนพลังของผู้ประกอบการให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) การส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าร่วมในเขตการค้าเสรีดิจิทัลเต็มไปด้วยความหวังว่า ธุรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซที่เพิ่งตั้งต้นของมาเลเซียจะได้รับแรงกระตุ้น อย่างน้อยก็ตามแนวคิดของกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ของมาเลเซีย 7 การวิเคราะห์เบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า โดยอาศัยเขตการค้าเสรีดิจิทัลนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีท้องถิ่น 13,000 แห่งสามารถเข้าถึงตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกได้ในช่วงปลายปี 2019 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นแบบชี้กำลังจากจำนวนแค่ 2,000 แห่งเมื่อปลายปี 2017 8
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นดูเหมือนปิดบังบางอย่างมากกว่าเปิดเผย งานศึกษาของ Tham และ Kam 9 ยกประเด็นที่น่าวิตกสองประเด็นคือ ไม่มีการแยกความแตกต่างเลยระหว่างบริษัทเอสเอ็มอีที่เป็นหน้าใหม่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กับบริษัทเอสเอ็มอีที่คร่ำหวอดในวงการมาก่อน ซึ่งใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซมาตั้งแต่ก่อนการตั้งเขตการค้าเสรีดิจิทัล และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการออกจากตลาดนี้ของบริษัทเอสเอ็มอีที่เคยมีรายชื่ออยู่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเขตการค้าเสรีดิจิทัลเลย ประเด็นก็คือ จนกว่าจะมีข้อมูลที่เข้าถึงได้มากกว่านี้ น่าจะเป็นความรอบคอบกว่าหากเราตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน (หรืออย่างน้อยที่สุดก็มองในแง่บวกอย่างระมัดระวัง)
ประการที่สอง “ผลของการแยกตัว” สังเกตเห็นได้ในแง่ของความเป็นเจ้าของทุนด้วย โดยหลักใหญ่ใจความแล้ว เขตการค้าเสรีดิจิทัลเป็นการร่วมหุ้นส่วนที่ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจของมาเลเซีย (Pos Malaysia และ MAHB) กับบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น (Alibaba) ความร่วมมือแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับนักวิเคราะห์ที่คุ้นเคยกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมของมาเลเซีย การเชิญชวนทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนโดยตรงก็เป็นไปเพื่อทลายความล้าหลังทางเทคโนโลยีของประเทศ ในประเด็นนี้ไม่มีตัวอย่างไหนชัดเจนยิ่งกว่าการก่อตั้งศูนย์กลางด้านอิเล็กทริกและอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติที่ปีนัง การที่มาเลเซียต้องพึ่งพิงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยิ่งขยายตัวมากกว่าเดิมในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อมาเลเซียพยายามรุกหนักด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ รัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะดึงเอารัฐวิสาหกิจเข้ามา เพื่อแก้ไขความล้าหลังด้านเทคโนโลยีขององค์กรเหล่านี้ด้วยการร่วมทุนกับบรรษัทข้ามชาติ 10 นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทางการเงินแล้ว ปัญหาท้าทายที่สุดประการหนึ่งที่รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ต้องหาทางแก้ไขก็คือ สิทธิบัตรและเงื่อนไขของเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับการบริหารถูกกันไว้ไม่ให้เอื้อมถึง ทั้งหมดนี้แปรผลไปเป็นการแบ่งงานกันทำในภาคปฏิบัติ นั่นคือ รัฐวิสาหกิจของมาเลเซียรับผิดชอบแต่เรื่องต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี (เช่น การออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลและการทำตลาด) ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติควบคุมด้านต่างๆ ที่เป็นเทคโนโลยีของการลงทุน (เช่น ปัจจัยนำเข้า การออกแบบโรงงาน และขั้นตอนระบบงานผลิต) การขาดความเป็นอิสระเช่นนี้ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชาวมาเลเซียไม่กล้าและ/หรือถูกกีดกันจากการพัฒนาความสามารถที่ยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ (เช่น การพยายามยกระดับมาตรฐานสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อเจาะตลาดในประเทศที่ก้าวหน้ากว่า)
จนถึงปัจจุบัน บริษัทเหล่านี้หลายบริษัทต้องล้มหายตายจากจากอุตสาหกรรมที่ตนเกี่ยวข้อง ผลประกอบการของมาเลเซีย (เช่น ส่วนแบ่งตลาดโลก) ในอุตสาหกรรมหนักเหล่านี้ก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอันด้วย ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องก็คือ งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การที่มาเลเซียพึ่งพิงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและรัฐวิสาหกิจภายในประเทศให้เป็นพลังขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรม ดำเนินไปพร้อมกับการเพิกเฉยละเลยภาคเอกชนและตัวแปรด้านเศรษฐกิจจุลภาคอื่นๆ (เช่น การวางรากฐานทักษะและโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้ประกอบการทุกภาคส่วนโดยถ้วนหน้า) 11 ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข เพื่อให้บริษัทธุรกิจของมาเลเซียสามารถไต่บันไดเทคโนโลยีขึ้นไปได้ และสร้างมูลค่ามากขึ้นจากผลผลิตและการขายสินค้าและบริการในขั้นสูงขึ้นไป เพื่อเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง” ให้ได้ 12
บทสรุป
กล่าวโดยสรุป รัฐบาลและองค์กรต่างๆ กำลังใช้ประโยชน์จากธุรกิจแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น โดยถือเป็นหนทางเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เขตการค้าเสรีดิจิทัลเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สาธิตให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มถูกนำมาใช้ด้วยความทะเยอทะยานที่มุ่งหวังจะกระตุ้นให้มาเลเซียเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ตาม เท่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เขตการค้าเสรีดิจิทัลมีความเกี่ยวข้องพัวพันในระดับต่ำมากกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจใหญ่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีหลากหลายและมักมีความคาดหวังที่แข่งขันกันเอง เขตการค้าเสรีดิจิทัลจึงจำเป็นต้องปรับปรุงต้นแบบธุรกิจของตนด้วยการปรับเปลี่ยนกรอบการนำเสนอคุณค่าของตัวเอง 13 ยิ่งกว่านั้น การที่รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจภายในประเทศไม่มีความเป็นเจ้าของทุนโดยตรงในเขตการค้าเสรีดิจิทัล จะยิ่งลดทอนการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีที่แท้จริง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับระบบเศรษฐกิจของมาเลเซีย
ผู้มีอำนาจวางนโยบายควรทบทวนว่า ความเป็นหุ้นส่วนรัฐ-เอกชนขนาดใหญ่อย่างเขตการค้าเสรีดิจิทัลเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการยกระดับระบบเศรษฐกิจของมาเลเซียหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นแง่มุมที่ต้องการมากที่สุดกลับขาดหายไป ผู้วางนโยบายควรหันไปพิจารณาระบบการจัดการรูปแบบอื่นบ้าง เช่น แนววิธีสร้างระบบนิเวศ เป็นต้น แนววิธีสร้างระบบนิเวศจะอำนวยโครงสร้างให้บรรษัทข้ามชาติเป็นสมอหลักและรัฐวิสาหกิจมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน วิธีการนี้เปิดโอกาสให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายจำนวนมากขึ้นได้เข้ามาอยู่ในกระบวนการสร้างมูลค่า โดยมีจุดเน้นชัดเจนที่การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ระหว่างบริษัทสมอหลัก ผู้มีหน้าที่สนับสนุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มจะบรรลุเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแท้จริงทั้งในระดับเมือง ระดับภูมิภาค และระดับชาตินั้น จำเป็นต้องมีแนววิธีการปฏิบัติรูปแบบใหม่อย่างเป็นระบบ
Guanie Lim
National Graduate Institute for Policy Studies, Japan
Yat Ming Ooi
University of Auckland, New Zealand
Notes:
- Ohno K, The Middle Income Trap: Implications for Industrialization Strategies in East Asia and Africa (National Graduate Institute of Policy Studies 2009) ↩
- Gomez ET et, China in Malaysia: State-Business Relations and the New Order of Investment Flows (1st 2020 edition edn, Palgrave Macmillan 2020) ↩
- Liu H and Lim G, ‘The political economy of a rising China in Southeast Asia: Malaysia’s response to the belt and road initiative’ (2019) Journal of Contemporary China, 28:116, 216-231; Camba A, Lim G and Gallagher K, ‘Leading sector and dual economy: how Indonesia and Malaysia mobilised Chinese capital in mineral processing’ (2022) Third World Quarterly,43:10, 2375-2395 ↩
- Ho WF, ‘Najib: Alibaba founder Jack Ma agrees to be advisor to Malaysian Govt on digital economy’ (2016) The Star ↩
- Bernama, ‘Jack Ma can help spearhead Malaysia’s digital economy – PM Najib’ (2016) ↩
- Tham SY and Yi AKJ, Exploring the Trade Potential of the DFTZ for Malaysian SMEs (ISEAS–Yusof Ishak Institute 2019) ↩
- Ee AN, ‘Govt wants more SMEs in Digital Free Trade Zone’ (2018) www.thesundaily.my ↩
- Chin M-Y and others, Digital Free Trade Zone in Facilitating Small Medium Enterprises for Globalization: A Perspective from Malaysia SMEs (2021) ↩
- Ee AN, ‘Govt wants more SMEs in Digital Free Trade Zone’ (2018) www.thesundaily.my ↩
- Hasan H and Jomo KS, ‘Rent-Seeking and Industrial Policy in Malaysia’ in Jomo KS (ed), Malaysian Industrial Policy (NUS Press 2007) ↩
- Menon J, ‘Growth without Private Investment: What Happened in Malaysia and Can it be Fixed?’ (2014) 19 Journal of the Asia Pacific Economy 247-271; Gomez ET, Cheong KC and Wong C-Y, ‘Regime Changes, State-Business Ties and Remaining in the Middle-Income Trap: The Case of Malaysia’ (2021), Journal of Contemporary Asia, 51:5, 782-802 ↩
- Wang H and Lim G, ‘Catching-up in the semiconductor industry: Comparing the Chinese and Malaysian experience’ (2021), Asian Journal of Technology Innovation, DOI: 10.1080/19761597.2021.2007144 ↩
- Ooi YM and Husted K, ‘Framing multi-stakeholder value propositions: A wicked problem lens’ (2021), Technology Innovation Management Review, 11:4, 26-37 ↩