เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบเสมือนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์สำหรับการงอกงามของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในพื้นที่อื่นๆ บริษัทแพลตฟอร์มของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาทิ Grab, Lazada, Shopee) ได้พลิกโฉมหน้าชีวิต เศรษฐกิจ โครงสร้างแรงงาน และพื้นที่เมืองในภูมิภาคนี้ ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งของ “กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบแพลตฟอร์ม” (platformization) ที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้และมีความสำคัญไม่แพ้กัน กระนั้นกลับได้รับความสนใจค่อนข้างน้อยกว่า นั่นคือ การเกิดขึ้นของ “การบริหารงานภาครัฐด้วยระบบแพลตฟอร์ม” (platform governance) Ansell and Miura (2020) นิยามการบริหารรัฐกิจด้วยระบบแพลตฟอร์มว่า “สถาบันที่ใช้สถาปัตยกรรมของมันในเชิงยุทธศาสตร์เพื่องัดง้าง กระตุ้น และควบคุมขับเคลื่อนปฏิบัติการทางสังคมที่กระจัดกระจาย ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการบริหารรัฐกิจตามที่มุ่งหมายไว้” 1 การนำมาใช้และการปรับแปลงแนวคิดระบบแพลตฟอร์มของผู้กระทำการทางการเมืองท้องถิ่นในประเทศไทยดำเนินไปท่ามกลางบริบทเชิงสถาบันและการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ ในระดับชาติ ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลผสมที่กองทัพเป็นผู้นำมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 จนถึงเมื่อไม่นานนี้เอง 2 อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีท้องถิ่นยังมาจากการเลือกตั้งและดังนั้นจึงต้องเก็บเกี่ยวเสียงสนับสนุนจากประชาชนเพื่อชนะการเลือกตั้ง เมื่อได้อำนาจแล้ว นายกเทศมนตรีต้องพบอุปสรรคจากระบบการเงินการคลังรวมศูนย์ จากการอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย และงบประมาณท้องถิ่นที่มีจำกัด ในปี 2565 กรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์กรระดับจังหวัดซึ่งทำหน้าที่บริหารเมืองหลวง ได้รับงบประมาณถึง 81% จากการจัดสรรของส่วนกลาง 3 ในบริบทเช่นนี้ ระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลจึงได้รับการตอบรับในฐานะวิธีการหนึ่งที่จะ “ทำน้อยได้มาก” โดยหวังว่าแพลตฟอร์มจะเอื้ออำนวยอำนาจทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรมแก่พนักงานปกครองท้องถิ่น รวมทั้งเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสื่อสารกับฐานเสียงและจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดจำเขี่ยในเมือง
ไทยแลนด์ 40.: ยกระดับประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล?
ในปี 2559 สองปีภายหลังการรัฐประหาร 2557 รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีกองทัพคอยหนุนหลัง ได้ประกาศหนึ่งในนโยบายเด่นของตน นั่นคือ “ไทยแลนด์ 4.0” มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล และผลักดันประเทศให้หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ประจำปี 2560 ซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี เน้นความสำคัญของแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 อันประกอบด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านการบริหารประเทศเข้าสู่ระบบดิจิทัล และส่งเสริมอุตสาหกรรมหัวหอก “S-Curve” หรืออุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและอุตสาหกรรมใหม่ที่มีอนาคต ในปี 2559 มีการก่อตั้งกระทรวงชื่อใหม่ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) และ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล” (DEPA) ได้รับมอบหมายให้ส่งเสริมโครงการ “เมืองอัจฉริยะ” ในขณะที่ DEPA ช่วยประชาสัมพันธ์แนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ แต่สำนักงานนี้ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งในบรรดาผู้กระทำการภาครัฐและนอกภาครัฐมากมายที่ส่งเสริมแพลตฟอร์มดิจิทัลและการประยุกต์ใช้ในการบริหารรัฐกิจระดับเมือง ในระบบการเงินการคลังรวมศูนย์ของประเทศไทย แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นที่นิยมในหมู่พนักงานปกครองท้องถิ่นที่มีแนวคิดแบบผู้ประกอบการ ซึ่งต้องการใช้มันเป็นเครื่องมือในการงัดง้างกับงบประมาณที่มีจำกัดจำเขี่ยและสร้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ในบทความนี้ ผู้เขียนขอสำรวจดูการบริหารรัฐกิจด้วยระบบแพลตฟอร์มที่นักการเมืองสองคนนำมาใช้ดำเนินการ คนหนึ่งคือชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในปี 2565 จนได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากการเลือกตั้งคนแรกภายหลังการรัฐประหารของกองทัพในปี 2557 อีกคนคือ ดร. กนพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดขนาดเล็กในภาคใต้
กรุงเทพ: ชัชชาติและ Traffy Fondue
ในปี 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์กวาดชัยชนะทุกเขตของกรุงเทพในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขาหาเสียงในฐานะผู้สมัครอิสระ (แม้ว่าก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ตาม) ชัชชาตินำเสนอตนเองในฐานะเทคโนแครตที่พร้อมแก้ไขปัญหาเมืองหลวงของไทยด้วยเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของพลเมือง ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “หน้าที่ของเราคือการฟื้นความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนสูญเสียความศรัทธา ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าระบบมันฉ้อฉล หน้าที่ของเราคือการนำความไว้วางใจกลับคืนมา” 4 ระหว่างการหาเสียง ทีมงานของชัชชาตินำเสนอมากกว่า 200 นโยบาย แต่หนึ่งในแนวคิดหลักของเขาก็คือ การแก้ไขสิ่งที่เขาเรียกว่า “ปัญหาเส้นเลือดฝอย” กรุงเทพมีโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อยู่พอสมควร อาทิเช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ตรอกซอยซอยตามย่านที่อยู่อาศัยและชุมชนของแรงงานนอกระบบกลับถูกละเลย
หนึ่งในโครงการที่เป็นเสมือนลายเซ็นของชัชชาติก็คือ การริเริ่มใช้แพลตฟอร์มร้องทุกข์ของพลเมืองที่มีชื่อเรียกว่า Traffy Fondue ชัชชาติไม่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเอง แต่ส่งเสริมให้มีการใช้โดยอาศัยชื่อเสียงของตนในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังที่ชัชชาติให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนว่า “เราต้องการอะไรที่เห็นผลลัพธ์เร็ว และผมคิดว่า Traffy คือสิ่งที่จะเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว” 5 ล่วงมาถึงเดือนสิงหาคม 2023 Traffy Fondue ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพลเมืองแล้วถึง 407,000 เรื่อง ในจำนวนนี้มี 299,000 เรื่อง (กว่า 70%) ที่ทำเครื่องหมายว่า “ได้รับการแก้ไข” จากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ แพลตฟอร์มง่ายๆ นี้สามารถใช้ผ่านช่องทางโปรแกรมตอบกลับอัตโนมัติ (Chatbot) บนแอพพลิเคชั่นส่งข้อความของ Line ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในหมู่คนไทย หรือใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นที่แยกออกไปต่างหากก็ได้ มันช่วยเอื้อให้พลเมืองสามารถรายงานปัญหาในย่านที่อยู่อาศัยของตน เช่น ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือไฟดับ เป็นต้น จากนั้นหน่วยงานภาครัฐหรือสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องต้องรับเรื่องหรือส่งทีมงานเข้าไปแก้ไข แอพพลิเคชั่นมีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการปี 2561 ที่ต้องการสร้างระบบอัตโนมัติเพื่อจัดการเรื่องการเก็บขยะ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะของ DEPA ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 ผู้นำในการพัฒนา Traffy Fondue ก็คือ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต้นทุนในการสร้างแอพจึงต่ำเพราะเป็นแอพที่หน่วยงานระดับชาติพัฒนาขึ้นมาแล้ว
ตรรกะของแพลตฟอร์มนี้เดิมทีมีต้นแบบมาจากภาคธุรกิจ แล้วถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบในการบริหารรัฐกิจ ดังที่ ดร.วสันต์กล่าวว่า “Traffy Fondue ทำงานไม่แตกต่างจาก Grab หรือตลาดออนไลน์อื่นๆ ที่เป็นตัวกลางนำผู้ให้บริการและประชาชนผู้ต้องการใช้บริการมาเจอกัน” 6 ชัชชาติเสริมว่า “แพลตฟอร์มมีคุณสมบัติสำคัญสี่ประการคือ ไม่มีคนคอยกีดกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีการปะทะขัดแย้ง และสามารถเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว” เขากล่าวอีกว่า “ผมไม่ต้องสั่งการอะไรเลย คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็แค่เข้ามาดูในแพลตฟอร์มและแก้ปัญหา และรายงานกลับมาเมื่อแก้ไขได้แล้ว” เขาชี้ให้เห็นด้วยว่าแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการสร้างความไว้วางใจ “เมื่อคุณปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ประชาชนก็ไว้วางใจ Traffy Fondue ช่วยสร้างความไว้วางใจให้แก่ประชาชน” 7
กรุงเทพมหานครย่อมไม่สามารถตอบสนองทุกคำร้องทุกข์ที่รายงานมาในแพลตฟอร์ม แต่ระบบช่วยให้ข้อมูลและทำให้มองเห็นได้ว่า เขตและแผนกต่างๆ ตอบสนองต่อปัญหาที่พลเมืองแจ้งเข้ามาอย่างไรบ้าง แผนผังสรุปข้อมูลแสดงให้เห็นว่าคำร้องเรียนที่ส่งเข้ามามาจากไหนและประเภทไหน ทำให้รับรู้ข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับเมืองและ “ปัญหาเส้นเลือดฝอย” ในแง่นี้ Traffy Fondue จึงกลายเป็นหนทางหนึ่งสำหรับกรุงเทพมหานครที่จะช่วยติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของผู้บริหารสำนักงานเขตในแต่ละท้องที่ ซึ่งกรุงเทพแบ่งออกเป็น 50 เขต 8 กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้เขตที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่าได้มาแบ่งปันประสบการณ์ ตอนนี้มีการส่งเสริมแอพพลิเคชั่นแบบเดียวกันให้นำไปใช้กับหน่วยงานอื่น และมีการนำไปใช้แล้วในเทศบาล 1300 แห่งใน 14 จังหวัดทั่วประเทศไทย 9 มีแผนการที่จะเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ๆ และความสามารถในการวิเคราะห์ เช่น AI เพื่อช่วยในการจัดการปัญหาด้วยระบบอัตโนมัติมากขึ้น
ถึงแม้การใช้ Traffy Fondue จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า ชัชชาติจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ได้หรือไม่ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระบบราชการที่ฝังรากลึกและกรุงเทพมหานครมีความอิสระทางการเงินการคลังค่อนข้างจำกัด 10 โครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ของกรุงเทพก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่างเช่น ระบบไฟฟ้านั้นจัดการโดยการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งต่างหาก ถนนสายหลักอยู่ภายใต้การจัดการของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ระบบอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ ก็อยู่นอกเหนือขอบเขตการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแบบที่จัดการใน Traffy Fondue ถึงแม้ชัชชาติจะประชาสัมพันธ์การใช้ Traffy Fondue มากแค่ไหน แต่ตัวเขาเองก็พูดตรงไปตรงมาถึงความเสี่ยงของการพึ่งพิงแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเตือนว่ามัน “อาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม จากการที่ประชาชนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงแพลตฟอร์ม” เขาเสนอว่ายังมีความจำเป็นต้องอาศัยการประชุมพบปะกับชุมชนเพื่อเข้าถึงประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งกลุ่มต่างๆ
นครศรีธรรมราช: เมืองอัจฉริยะออนไลน์
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณในภาคใต้ของประเทศ มีชื่อเสียงด้านวัดและโรงเรียน อีกทั้งเคยเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ในภูมิภาคนี้ ประชากรของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชมีประมาณ 100,000 คน ส่วนทั้งจังหวัดมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 1.5 ล้านคน นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันคือ ดร. กนพ เกตุชาติ เขาทำหน้าที่กำกับงานบุกเบิกชุดหนึ่งเพื่อเปลี่ยนเมืองนครฯ ให้เป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า “เมืองอัจฉริยะที่มีคนเป็นศูนย์กลาง” โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในโรงเรียนท้องถิ่นและใช้แพลตฟอร์มที่พลเมืองมีส่วนร่วมในชื่อ “My City” บริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กของไทยชื่อ บริษัท สยาม อินโน ซิตี้ จำกัด (Siam Inno City) เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม “Smart City On Line” ขึ้นมา โดยใช้ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (Application Programming Interface–API) ที่เป็นโปรแกรมเปิดของ Line ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นรับส่งข้อความของญี่ปุ่นและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยและไต้หวัน ถึงแม้มีความคล้ายคลึงกับ Traffy Fondue แต่ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ (อินเทอร์เฟซ) อาศัยต้นแบบจากแอพในไลน์ที่ใช้ในเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น 11 แอพ @nakhoncity ได้รับการพัฒนาผ่านการเป็นหุ้นส่วนระหว่างเทศบาลนครกับบริษัท สยาม อินโน ซิตี้ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก DEPA เพื่อขอรับทุนระดับชาติ และส่งเสริมต้นแบบนี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ที่เป็นแกนหลักของแพลตฟอร์มนี้คือ Line ที่ใช้ชื่อว่า @Nakhoncity ใครก็ตามที่มีบัญชีผู้ใช้ Line สามารถลงทะเบียนและติดตามได้ “ในประเทศไทย คนจำนวนมากฟอลโลว์บัญชีไลน์ของราชการอยู่แล้ว เพราะช่วยให้ได้รับข่าวสารใหม่ๆ ทันท่วงที เราทำให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาดีกว่าไปสร้างแอพต่างหากที่ต้องดาวน์โหลดใหม่” ข้อความข้างต้นเป็นคำพูดของ ดร. นนท์ อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของ DEPA แรกเริ่มเดิมทีนั้น นายกเทศมนตรีกนพต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่จะแจ้งให้พลเมืองทราบเกี่ยวกับน้ำท่วม ในกรณีที่ระดับน้ำสูงขึ้นในแหล่งเก็บน้ำต้นน้ำบางแห่ง ซึ่งมีการตรวจสอบโดยเซนเซอร์จับสัญญาณระดับน้ำ จากนั้นค่อยๆ เพิ่มฟังก์ชั่นอื่นๆ เข้ามา อันประกอบด้วยแพลตฟอร์มสำหรับการร้องทุกข์ของพลเมือง และแพลตฟอร์มเปิดเพื่อให้ประชาชนสามารถดูภาพไลฟ์สดจากกล้อง CCTV ข้อมูลที่รวบรวมจากรายงานของพลเมืองจะแสดงบนหน้าแผนผังสรุปข้อมูล พร้อมแผนที่แสดงถึงตำแหน่งแห่งที่ของคำร้องทุกข์ รวมทั้งข้อมูลสรุปที่สร้างขึ้นสำหรับพนักงานเทศบาล
นายกเทศมนตรีกนพอธิบายว่าแพลตฟอร์มนี้สะท้อนปรัชญาการปกครองที่ยึดความถ่อมตนของเขา กล่าวคือ “ผมไม่ใช่ผู้นำ ประชาชนเลือกผมมาอยู่ในตำแหน่งนี้ เพื่อให้ผมเป็นคนจัดสรรทรัพยากร ผมปฏิบัติตามประชาชน อะไรก็ตามที่ประชาชนต้องการ สิ่งที่ถูกต้องที่เป็นประโยชน์แก่พวกเขา ผมก็แค่ทำตาม …. เหมือนฝูงนกที่บินไปด้วยกัน นกที่แข็งแรงก็บินนำหน้า นกที่อ่อนแอก็บินตามหลัง” 12 จากข้อมูลของสำนักนายกเทศมนตรี มีพลเมือง 44,000 คน หรือ 40% ของประชากรทั้งหมดในเทศบาลนครใช้ช่องทางนี้ นายกเทศมนตรีเอ่ยถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาที่พลเมืองร้องเรียนเข้ามาให้ได้ภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังจากคำร้องทุกข์ได้รับการบันทึก “ถ้าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข คุณก็เป็นถังสุดท้าย มันมาหยุดที่นายกเทศมนตรีนี่แหละ ประชาชนเลือกตั้งคุณมา ก็ต้องทำสิ่งที่ต้องทำ ถ้าต้องไปกับรถบรรทุกเพื่อทำความสะอาดด้วยตัวเองก็ต้องไป” ตามข้อมูลของสำนักนายกเทศมนตรี แพลตฟอร์มนี้ช่วยประหยัดเงินค่าดำเนินการถึง 10 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับเมืองเล็กๆ ในประเทศไทย ตอนนี้มีความพยายามที่จะขยายแอพ MyCity ไปใช้ในญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่ Line เป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารหลักด้วย
สรุป
บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้กระทำการทางการเมืองในประเทศไทยเปิดรับและนำแนวคิดเกี่ยวกับ “แพลตฟอร์ม” ไปใช้อย่างไรบ้าง โดยมีการใช้ทั้งในฐานะเครื่องมือเชิงนามธรรมเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือจากการเลือกตั้ง รวมทั้งนำไปใช้แก้ไขปัญหาเมืองในเชิงรูปธรรมด้วย อาจเร็วเกินไปที่จะบอกว่า แพลตฟอร์มแบบนี้มีประสิทธิภาพขนาดไหนในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีการปฏิรูปสถาบันอย่างถึงแก่น เงินงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองยังมีอยู่จำกัด โดยเฉพาะในเมืองรองนอกกรุงเทพ พรรคก้าวไกลซึ่งกวาดคะแนนได้มากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แต่กลับถูกวุฒิสมาชิกที่รัฐบาลทหารแต่งตั้งสกัดไม่ให้เป็นรัฐบาล เป็นพรรคที่หาเสียงด้วยนโยบายปฏิรูปเพื่อการกระจายอำนาจ พรรคก้าวไกลได้รับเสียงสนับสนุนอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะจากชาวเมืองและคนหนุ่มสาว แพลตฟอร์มต่างๆ ที่นายกเทศมนตรีในประเทศไทยนำมาใช้กันขณะนี้ ชี้ให้เห็นว่าประชาชนกระหายหานักการเมืองที่จะมาช่วยแก้ปัญหาของเมือง ดังที่ชัชชาติสะท้อนว่า “ประชาชนอาจมีอำนาจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะตอนนี้พวกเขามีแพลตฟอร์มไว้แสดงความคิดเห็น” คำถามใหญ่กว่านั้นที่ผุดขึ้นมาก็คือ “การบริหารรัฐกิจด้วยแพลตฟอร์ม” ในประเทศไทย จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองหรือสถาบันและการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในเมืองได้บ้างไหม หรือมันจะถูกใช้เป็นแค่ผักชีโรยหน้าแบบเทคโนแครตเพื่อสกัดกั้นการปฏิรูปสถาบันและการเมืองในระดับใหญ่กว่า?
Andrew Stokols
PhD Candidate, MIT Department of Urban Studies and Planning
Notes:
- Ansell, Christopher, and Satoshi Miura. 2020. “Can the Power of Platforms Be Harnessed for Governance?” Public Administration 98 (1): 261–76 ↩
- ถึงแม้การเลือกตั้ง 2566 ทำให้รัฐบาลผสมของพลเอกประยุทธ์หลุดจากตำแหน่ง แต่กองทัพยังคงเป็นผู้เล่นที่สำคัญในการเมืองไทย ↩
- https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2336748/city-hall-needs-a-much-larger-budget ↩
- Chadchart Sittipunt, 2023 presentation to the Thai students association at Harvard Graduate School of Design ↩
- Interview with Chadchart Sittipunt, August 25, 2023 ↩
- https://adaymagazine.com/traffy-fondue/ ↩
- Chadchart Interview, Aug 25, 2023 ↩
- การปฏิรูปกรุงเทพมหานครในปี 2515 ทำให้กรุงเทพเป็นพื้นที่บริหารราชการรูปแบบพิเศษที่มีสถานะเทียบเท่ากับจังหวัด โดยแบ่งออกเป็น 50 เขตและ 180 แขวง ↩
- https://www.nationthailand.com/thailand/general/40031089 ↩
- งบประมาณของกรุงเทพมหานครในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 80 ล้านบาท ↩
- จากการสัมภาษณ์ พรชัย เอี่ยมสุกใส ผู้ก่อตั้งบริษัท สยาม อินโน ซิตี้ ↩
- คำพูดของนายกเทศมนตรีกนพคัดอ้างจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อผู้เขียนไปเยี่ยมชมจังหวัดนครศรีธรรมราช ↩