เมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ทั่วโลกในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนต่างกระตือรือร้นกับการใช้มันเป็นช่องทางเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ความคาดหวังนี้ยิ่งขยายตัวเมื่อแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียปรากฏขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เนื่องจากประชาชนคาดหวังว่าสื่อสังคมออนไลน์จะช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างขบวนการทางสังคม เอื้อให้ประชาชนก้าวข้ามอุปสรรคในการรวมตัวเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิดปริมณฑลสาธารณะที่เข้มแข็งขึ้นในหลายๆ ด้าน
ในประเทศไทย สังคมใช้ประโยชน์กันเต็มที่จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology—ICT) รวมทั้งดึงเอาโลกออนไลน์ที่แข็งแกร่งมาเติมเต็มเสริมสร้างการเคลื่อนไหวทางการเมือง สถิติด้านดิจิทัลล่าสุดจาก DataReportal (2022) รายงานว่า ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีการเชื่อมต่อทางดิจิทัลมากที่สุดสังคมหนึ่งในเอเชีย ในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2565 ประชากรไทยประมาณ 78% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเชื่อว่าแทบทั้งหมดเป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ระยะเวลาที่คนไทยใช้กับโลกออนไลน์จัดว่ามากพอสมควรทีเดียว ค่าเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 9 ชั่วโมงบนเว็บไซต์ และ 3 ชั่วโมงเศษบนสื่อสังคมออนไลน์ (Leesa-nguansuk 2019) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการประท้วงและการเดินขบวนอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องในประเด็นปัญหาทางการเมืองและสังคมเศรษฐกิจหลากหลายประการ ถึงแม้เป้าหมายของการเคลื่อนไหวเหล่านี้แตกต่างกันไป แต่ไม่น่าแปลกใจที่ทุกขบวนการมีตัวชี้วัดร่วมกันคือ การผนวกรวมแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาอยู่ในยุทธศาสตร์ปฏิบัติการของการเคลื่อนไหว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นแถวหน้าของวาระถกเถียงทางการเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2563 ยังไม่สามารถบรรลุข้อเรียกร้องสำคัญสามประการแม้แต่เพียงข้อเดียว ทั้งๆ ที่ใช้ยุทธศาสตร์แปลกใหม่และสร้างสรรค์จากการเอื้ออำนวยของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บทความนี้ขอเสนอการวิเคราะห์ขบวนการนี้ผ่านแว่นของแนวคิดเกี่ยวกับการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนขอเสนอว่า นอกเหนือจากอุปสรรคอื่นๆ แล้ว มีปัญหาสำคัญสามประการที่ขัดขวางศักยภาพของขบวนการที่จะสั่งสมแรงผลักดันจนมีกำลังมากเพียงพอต่อการบรรลุถึงจุดที่ข้อเรียกร้องทั้งสามจะกลายเป็นจริง ถึงแม้มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้ ซึ่งจะอภิปรายถึงต่อไป มีความเกี่ยวโยงกับความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางโอกาส อันเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตเป็น “เทคโนโลยีเพื่อการปลดปล่อย” (Diamond 2012, ix) อย่างมีประสิทธิภาพในบริบทของประเทศไทยในท้ายที่สุด
จากมุมมองของการเลือกอย่างมีเหตุผล มีปัจจัยหลายอย่างที่คนคนหนึ่งพิจารณาเพื่อตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว เนื่องจากมนุษย์มีธรรมชาติที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเอง ความมีเหตุมีผลหมายความว่าพวกเขาจะไม่เข้าร่วมกับขบวนการใดๆ เมื่อใคร่ครวญแล้วว่าโอกาสในการบรรลุเป้าหมายของขบวนการนั้นๆ มีต่ำกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น กล่าวคือ ถ้าต้นทุนสูงกว่าผลดีที่ขบวนการจะนำมาให้ แง่มุมของการรับรู้ถึงโครงสร้างทางโอกาสจึงควรได้รับการเน้นย้ำด้วย ทั้งนี้เพราะตรรกะของการเลือกอย่างมีเหตุผลถือว่า มนุษย์ดำเนินการภายใต้ความไม่แน่นอนของข้อมูล ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจว่าจะมีส่วนร่วมในขบวนการหนึ่งๆ หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับการประเมินตามอัตวิสัยของคนคนนั้นต่อสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนในระดับหนึ่ง คำถามสามัญที่คนทั่วไปใช้ประเมินโครงสร้างทางโอกาสก็คือ “มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ขบวนการนี้จะประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับความเป็นไปได้ที่จะถูกรัฐบาลสลายการชุมนุม?” และ “ฉันจะได้อะไรจากการเข้าร่วมกับขบวนการนี้?” ถึงแม้มีนักวิชาการหลายคน เช่น Tilly, Tarrow และ McAdams (2004; 2007) ได้เสนอแนะวิธีการต่างๆ ที่นักกิจกรรมสามารถเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จด้วยการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ แต่พวกเขาก็ยอมรับเช่นกันว่า โครงสร้างทางโอกาสมักไม่เข้าข้างประชาชนร่ำไป ทั้งนี้เพราะปัญหาของปฏิบัติการรวมหมู่ที่เป็นปัญหาใหญ่ในทุกขบวนการสังคม ซึ่งรวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวแนวใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลด้วย
ประการที่หนึ่ง: ขบวนการเข้มแข็ง รัฐบาลเข้มแข็ง
ในช่วงต้นปี 2563 เมื่อขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยมีความเคลื่อนไหวมากที่สุด อำนาจและการควบคุมของรัฐบาลก็อยู่ในจุดสูงสุดเช่นกัน ในด้านหนึ่ง คลื่นใต้น้ำของความไม่พอใจในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาวที่มีต่อรัฐบาลปรากฏขึ้นมาให้เห็นหลังจากเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่พวกเขามองว่าไม่เพียงเป็นตัวแทนของคนรุ่นหนุ่มสาวเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนของค่านิยมแบบเสรีนิยมด้วย ชั่วเวลาไม่นานหลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ขบวนการก็ลงสู่ท้องถนนและสามารถดึงดูดผู้คนมาเข้าร่วมได้หลายพันคนในการรณรงค์ช่วงแรกๆ เมื่อวัดจากแนวคิด WUNC (คุณค่า [worthiness], ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน [unity], จำนวน [numbers], ความยึดมั่น [commitment]) ของ Charles Tilly ขบวนการนี้นับว่าบรรลุมาตรวัดอย่างน้อยสองประการ นั่นคือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและจำนวน ดังนั้น จึงควรมีศักยภาพเพียงพอที่จะคัดง้างกับรัฐบาลในระดับหนึ่ง ถ้าเช่นนี้แล้ว ทำไมเราจึงไม่เห็นเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น? คำตอบอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่า โครงสร้างทางโอกาสยังอยู่ในฝ่ายสถานภาพคงเดิม นั่นคือ ยังอยู่ข้างรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากับพรรคพลังประชารัฐเพิ่งได้รับการเลือกตั้งผ่านมาแค่ปีเดียว รัฐบาลยังสามารถรักษาเสถียรภาพภายในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลได้ ด้วยแรงสนับสนุนจากเครือข่ายและกลไกรัฐอื่นๆ รัฐบาลจึงไม่แยแสที่จะรับฟังข้อเรียกร้องของขบวนการและมุ่งมั่นที่จะสลายการชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรงและการดำเนินการทางกฎหมายมากกว่า
ต้องบันทึกไว้ว่า ค่าตั้งต้นของโครงสร้างทางโอกาสมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยที่คนส่วนหนึ่งไม่ทันรู้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีการแตกแยกกันเองภายใน ผู้เขียนคาดเดาว่า การที่พรรคพลังประชารัฐมีมติขับธรรมนัส พรหมเผ่ากับ สส. อีก 20 คนออกจากพรรคเมื่อกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงรอยแยกทางการเมืองภายในรัฐบาลที่ค่อยๆ บ่อนเซาะการควบคุมและการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสภาพที่เปลี่ยนไปนี้ เนื่องจากเหตุผลหลายประการ อาทิ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ทั่วประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งผู้นำการเคลื่อนไหวหลายคนก็ถูกจับกุมด้วย ผลที่ตามมาก็คือ ขบวนการสูญเสียโมเมนตัมไปพร้อมๆ กับที่รัฐบาลผสมอ่อนแอลง หน้าต่างแห่งโอกาสที่พลาดไปนี้เห็นได้ชัดจากบทวิเคราะห์ของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อมูลรวบรวมเหตุการณ์การประท้วงที่ iLaw 1 บันทึกไว้ บทวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2563 จนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2565 มีการประท้วงเกิดขึ้น 559 ครั้งในกรุงเทพฯ แค่จังหวัดเดียว ปี 2564 เป็นปีที่ขบวนการทำได้ดีที่สุด มีรายงานชุมนุมรวมทั้งหมดถึง 307 ครั้ง หรือเกือบ 55% ของกิจกรรมการประท้วงทั้งหมด รูป 1. ด้านล่างนี้แสดงให้เห็นตำแหน่งของโครงสร้างทางโอกาสที่ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยดูเหมือนมีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในขณะที่รัฐบาลเองก็อยู่ในช่วงที่มีอำนาจแข็งแกร่งที่สุดเช่นกัน (กล่าวคือ มีแนวโน้มที่จะสลายการชุมนุมมากกว่าจะยอมประนีประนอม) และเมื่ออิทธิพลอำนาจของรัฐบาลเริ่มเสื่อมถอยลง น่าเสียดายที่ขบวนการก็อ่อนกำลังลงด้วย
จากข้อมูลข้างต้น มีการประท้วง 34 ครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 แน่นอน การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดในปี 2564 เมื่อขบวนการได้รับความสนใจจากสาธารณชนและรัฐบาลมีอำนาจควบคุมเต็มที่ แต่การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นแค่สองครั้งในปี 2565 ชี้ให้เห็นผลพวงจากรอยปริแยกดังกล่าวในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีต่อโครงสร้างทางโอกาส
ประการที่สอง: ยุทธวิธีของขบวนการ “หลงทางและไร้ผู้นำ”
นักกิจกรรมออนไลน์ป่าวประกาศหลายต่อหลายครั้งว่าขบวนการของพวกเขามีลักษณะแนวระนาบ เน้นย้ำแนวคิดว่าไม่มีใครเป็นผู้นำตัวจริง พวกเขาเชื่อว่า ลักษณะเช่นนี้จะช่วยให้ขบวนการมีความทนทานต่อการปราบปรามจากภาครัฐดังเช่น “อาหรับสปริง” (Arab Spring) อันเป็นปรากฏการณ์ที่ลุกลามไปทั่วทุกประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการในตะวันออกกลางช่วงปี 2554 อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกชื่นชมต่อความสำเร็จของปรากฏการณ์อาหรับสปริงกลับชักนำให้ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยที่วาดหวังต่ออนาคตหลงทาง เพราะพวกเขามัวมุ่งเป้าอยู่ที่แผนการระดมมวลชนระยะสั้นมากกว่าตระเตรียมสั่งสมศักยภาพด้านการจัดตั้งเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาว หากใช้ตะวันออกกลางในช่วงสิบปีหลังจากอาหรับสปริงเป็นตัวอย่าง ยกเว้นตูนีเซียแล้ว ประเทศที่เหลือทุกประเทศล้วนถอยหลังกลับไปตกอยู่ในระบอบอำนาจนิยมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะเหตุใด? ในบทความพิเศษของ New York Times Tufekci (2022) ยอมรับว่าเธอผิดพลาดที่คาดหวังว่าสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นเครื่องมือสร้างขบวนการสังคมดังที่เคยเขียนไว้ในหนังสืออันโด่งดังของเธอเอง เธอชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือที่ดีมากในการระดมมวลชน แต่มันไม่สามารถรองรับการเป็นแหล่งบ่มเพาะความผูกพันและการอุทิศตนที่เหนียวแน่นในหมู่ผู้ประท้วง มันสร้างได้แต่ขบวนการที่รวมตัวกันหลวมๆ และไร้ผู้นำเท่านั้น ซึ่งในทัศนะของ Gladwell (2011) ย่อมไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐาน
สำหรับประเทศไทยนั้น ขบวนการแนวระนาบพิสูจน์ให้เห็นเช่นกันว่าเป็นแนวคิดที่ไร้สาระ โดยเฉพาะในการกำหนดทิศทางของขบวนการ นับแต่เริ่มต้น ขบวนการประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มีวาระและลำดับความสำคัญของเป้าหมายแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม LGBTQ+ และกลุ่มเฟมินิสต์ มีจุดเน้นที่ความเท่าเทียมทางสังคมและทางเพศมากกว่า ส่วนนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยมีความสนใจในประเด็นทางการเมืองมากกว่า ถึงแม้ในเวลาต่อมา พวกเขามารวมตัวกันภายใต้ข้อเรียกร้องสำคัญสามข้อ แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ยังจัดกิจกรรมแยกต่างหากจากกันเป็นครั้งคราว ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากเกือบทุกกลุ่มเป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (digital natives) ต่างก็มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ยุทธวิธีของขบวนการจึงมีความลื่นไหลมากกว่า (เช่น แฟลชม็อบที่ใช้ทวิตเตอร์ชักชวนคนมาร่วมแค่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าเวลานัด ย้ายสถานที่ในนาทีสุดท้ายผ่านทางแอพ Telegram ฯลฯ) เมื่อเปรียบเทียบกับขบวนการอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ในแง่หนึ่ง มันเป็นข้อดีที่ช่วยให้พวกเขาสามารถหลบหลีกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ง่ายขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นจึงช่วยลดความเสี่ยงที่คาดการณ์ไว้ในโครงสร้างทางโอกาส แต่ในด้านตรงข้าม ความลื่นไหลของยุทธวิธีบวกกับลักษณะแนวระนาบของขบวนการก็สามารถก่อให้เกิดผลเสีย โดยเฉพาะเมื่อแกนนำคนสำคัญบางคนถูกจับกุม 2 ในบางกรณี ประชาชนจะลงถนนมากขึ้นเมื่อพวกเขาโกรธแค้นที่เห็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ แต่สำหรับขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยของไทย การที่แกนนำคนสำคัญถูกจับกุมไม่เพียงทำให้ขบวนการหลงทางและไร้ผู้นำในแง่ของทิศทางเท่านั้น แต่ยังเป็นยุทธวิธีสร้างความกลัวซึ่งช่วยเสริมสร้างให้โครงสร้างทางโอกาสของรัฐแข็งแกร่งขึ้น ผลลัพธ์ก็คือ ไม่มีกิจกรรมขนาดใหญ่หรือมีความสำคัญใดๆ เกิดขึ้นอีกนับตั้งแต่แกนนำอย่างเพนกวิน ชีวารักษ์, อานนท์ นำภา, รุ้ง ปนัสยา ถูกจับเข้าคุกหรือหลังจากพวกเขาได้รับการปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไขห้ามไม่ให้เข้าร่วมในการประท้วงใดๆ อีก
Arnon Nampa is a Thai human rights lawyer and activist. He is renowned in Thailand for openly criticizing the monarchy of Thailand, breaking the country’s taboo. He was initially regarded as a prominent human rights defender during his tenure as a human rights lawyer and later accumulated multiple criminal charges due to his active involvement in pro-democracy activism. Wikipedia Commons
ประการที่สาม: ข้อเสนอที่ท้าทายเกินไปไม่จำเป็นต้องเป็นข้อเสนอที่จูงใจคนเสมอไป
อุปสรรคประการสุดท้ายที่ขบวนการอันมีเยาวชนเป็นผู้นำต้องประสบคือประเด็นง่ายๆ แต่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ นั่นคือ ข้อเรียกร้องสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หากว่าเราตั้งต้นด้วยตรรกะของการคิดอย่างมีเหตุผล ก็ย่อมเข้าใจได้ว่ามีเหตุผลหลายประการที่สามารถทำให้ผู้คนไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรม ข้อเรียกร้องที่ท้าทายเกินไปอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลเหล่านั้นเช่นกัน เพราะมันไม่สอดคล้องกับกลุ่มคนกลางๆ โดยเฉพาะในสังคมหัวมังกุท้ายมังกรที่มีแต่ความก้าวหน้าจอมปลอมอย่างประเทศไทย เมื่อใช้มาตรวัด WUNC ของ Tilly ดังที่อ้างถึงไปแล้วข้างต้น วิธีการหนึ่งที่ขบวนการใดๆ สามารถควบคุมโครงสร้างทางโอกาสให้เป็นผลดีต่อขบวนการเองก็คือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในจำนวนผู้มาเข้าร่วม แต่เมื่อขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง ข้อเสนอนี้ลดทอนพลังของการระดมมวลชนลงเพราะมันสกัดมิให้ประชาชนจำนวนมากที่อาจเข้าร่วมกับขบวนการไม่อยากมาเข้าร่วมกับการประท้วง ไม่ว่าเนื่องจากความกลัวหรือความไม่เห็นพ้องด้วยอย่างแท้จริงก็ตาม ในเชิงปฏิบัติแล้ว ขบวนการควรโน้มน้าวประชาชนวงกว้างกว่านี้ด้วยการปรับลดข้อเรียกร้องลง แต่ในเชิงอุดมการณ์นั้น ทางเลือกนี้ไม่มีทางทำได้เลย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
กล่าวโดยสรุป ปริมณฑลสาธารณะของไทยได้รับประโยชน์จากการมีสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพราะมันอำนวยช่องทางให้ประชาชนได้เผยแพร่แนวคิด แสดงความคิดเห็น หรือกระทั่งจัดตั้งระดมมวลชนเพื่อการประท้วงได้สะดวกมากขึ้นกว่าสมัยก่อนอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ กระนั้นก็ตาม แนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จและประสิทธิผลของกิจกรรมเหล่านี้ยังไม่มีความแน่ชัด ถึงแม้มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นแพลตฟอร์มในการระดมมวลชนและประสานงานก็ตาม อันที่จริง ขบวนการต่างๆ ในยุคสมัยนี้ต่างก็เผชิญกับอุปสรรคชุดเดิมๆ ซึ่งยังสามารถใช้กรอบแนวคิดคลาสสิกในงานศึกษาเกี่ยวกับขบวนการสังคมมาอธิบายได้ สำหรับประเทศไทย กลุ่มเยาวชนที่เป็นแกนนำขบวนการยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่จากโครงสร้างทางโอกาสที่แปรผันขึ้นลงเลย เนื่องจากพวกเขาต้องเผชิญอุปสรรคส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์การดำเนินการของตนเอง ทำให้พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปอย่างไม่รู้ที่สิ้นสุด กระนั้นก็ตาม การที่ขบวนการเริ่มเปลี่ยนสาส์นหลักที่สื่อต่อสังคมในระยะหลัง โดยหันไปมุ่งเน้นที่การเรียกร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากขึ้น นับว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญ ทัศนะเช่นนี้ไม่เพียงเป็นที่ยอมรับกันในสังคมอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลซึ่งอำนาจกำลังถดถอยลง ณ จุดนี้ ก็มองว่าเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำสุดในการลงจากหลังเสือเช่นกัน
Surachanee “Hammerli” Sriyai
Surachanee “Hammerli” Sriyai is a lecturer and digital governance track lead at the School of Public Policy, Chiang Mai University.
Banner: October 2020, Bangkok, Thailand. Tens of thousands of pro democracy people gather to address various social problems, including government work problems, and criticize the monarch. Photo: kan Sangtong, Shutterstock
References
DataReportal. 2022. “Digital 2022: Thailand — DataReportal – Global Digital Insights.” Kepios. https://datareportal.com/reports/digital-2022-thailand (June 14, 2022).
Diamond, Larry. 2012. Liberation Technology: Social Media and the Strugle for Democracy Introduction. eds. Larry Diamond and Marc F. Plattner. The Johns Hopkins University Press. https://books.google.com/books/about/Liberation_Technology.html?id=xhwFEF9HD2sC (December 14, 2022).
Gladwell, Malcolm. 2011. “From Innovation to Revolution-Do Social Media Made Protests Possible: An Absence of Evidence.” Foreign Affairs 90: 153.
Leesa-nguansuk, Suchit. 2019. “Thailand Tops Global Digital Rankings.” Bangkok Post. https://www.bangkokpost.com/tech/1631402/thailand-tops-global-digital-rankings (December 11, 2019).
McAdam, Doug, Sidney Tarrow, and Charles Tilly. 2004. Dynamics of Contention. Cambridge University Press.
Tarrow, Sidney, and Charles Tilly. 2007. The Oxford handbook of Comparative Politics Contentious Politics and Social Movements. Oxford University Press.
Tufekci, Zeynep. 2022. “I Was Wrong About Why Protests Work.” The New York Times. https://www.nytimes.com/2022/07/21/opinion/zeynep-tufekci-protests.html.
Notes:
- ผู้เขียนขอขอบคุณ iLaw ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วง iLaw เป็นเอ็นจีโอไทยที่ทำงานส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งระบบยุติธรรมในประเทศไทยที่เป็นธรรมและโปร่งใส่มากขึ้น ↩
- ข้อเท็จจริงที่รัฐบาลสามารถชี้เป้าและจับกุมนักกิจกรรมแกนนำได้ ยังสะท้อนถึงความย้อนแย้งด้านแนวคิดเกี่ยวกับขบวนการแนวระนาบด้วย ↩