เมียนมาไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับการปกครองระบอบเผด็จการทหารและการจำกัดเสรีภาพสื่อที่เป็นของคู่กัน แต่ในช่วงทศวรรษสั้นๆ ระหว่างปี 2011 จนถึง 2021 เมียนมาเริ่มโผล่ออกมาจากภาวะจำศีลอันมืดมิดยาวนานถึงห้าทศวรรษที่มีแต่วิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของรัฐที่เซนเซอร์ความคิดเห็นอย่างเข้มงวด ชาวเมียนมาก้าวออกมาพบกับโลกยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งโทรศัพท์มือถือและสื่อสังคมออนไลน์มีอยู่ทุกหนแห่ง ซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือที่เคยมีราคาหลายพันดอลลาร์ในยุคทศวรรษ 2000 ภายใต้การปกครองของกองทัพ ราคาลดลงเหลือแค่ 1.50 ดอลลาร์ในครึ่งหลังของปี 2014 เมื่อบริษัทต่างชาติเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศเป็นครั้งแรก การใช้เฟสบุ๊กในโทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องสื่อสารโดยพฤตินัยภายในประเทศ แซงหน้าอีเมล์และเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน รวมทั้งกลายเป็นแหล่งข่าวสารสำคัญด้วย (Simpson 2019)
สภาพแวดล้อมของสื่อที่ได้รับการปลดแอกแต่ไร้การควบคุมเช่นนี้มีผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ก็มีผลลัพท์ด้านลบเช่นกันในแง่ของการแพร่ขยายวาทะสร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีชที่มุ่งเป้าชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา (Simpson and Farrelly 2021b) กระนั้นก็ตาม ช่องทางเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งมาพร้อมกับทศวรรษของการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดวิถีโคจรที่มุ่งไปสู่สังคมที่เปิดกว้าง มีความเป็นประชาธิปไตยและโปร่งใสมากขึ้น แม้จะต้องเริ่มต้นจากฐานขั้นแรกที่ต่ำมากก็ตาม
แต่ความก้าวหน้าทั้งหมดก็พังทลายลงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เมื่อกองทัพล้มล้างรัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy–NLD) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายในเดือนพฤศจิกายนของปีก่อนหน้านั้น เช้าวันนั้น กองทัพจับกุมนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาพรรค NLD คนอื่นๆ รวมทั้งนักกิจกรรมอีกหลายคน พร้อมกับยึดครองกลไกการบริหารงานของรัฐบาล เกิดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ ตามมาด้วยการสั่งห้ามและการจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งยังมีการกดขี่ปราบปรามอย่างกว้างขวางที่เข้าองค์ประกอบของอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Andrews 2022; Fortify Rights 2022; Human Rights Watch 2021; Simpson 2021a)
ก่อนหน้านี้ กฎหมายความมั่นคงด้านไซเบอร์ฉบับใหม่อยู่ระหว่างการยกร่างภายใต้รัฐบาล NLD และรัฐบาลทหาร หลังจากรัฐประหารไม่นาน สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council—SAC) ก็เผยแพร่ฉบับยกร่างเพื่อรับฟังความคิดเห็น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควรจากกลุ่มธุรกิจและเอ็นจีโอ แต่ยกร่างฉบับใหม่ที่แก้ไขออกมา ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปี 2022 กลับยิ่งเลวร้ายกว่าฉบับแรก (Free Expression Myanmar 2022) มีเสียงคัดค้านต่อร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ (มิถุนายน 2022) เสียงสะท้อนเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการความมั่นคงด้านไซเบอร์ของ SAC บทความนี้จะปูพื้นประวัติศาสตร์โดยสังเขปของการเซนเซอร์และการจำกัดเสรีภาพสื่อในเมียนมา รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายความมั่นคงด้านไซเบอร์ฉบับใหม่
การเซนเซอร์ก่อนรัฐประหาร 2021
นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในปี 1962 จนกระทั่งปี 2011 เมียนมาผ่านการปกครองระบอบเผด็จการทหารมาหลายยุคสมัย ไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันของเอกชน เนื่องจากสื่อมวลชน สำนักพิมพ์ นักดนตรีและศิลปิน ต้องส่งผลงานของตนให้คณะกรรมการตรวจสอบสื่อทำการตรวจสอบเซนเซอร์ก่อนเผยแพร่ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเนื้อหาถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์กองทัพหรือรัฐบาล มีข้อจำกัดอย่างเข้มงวดว่าอะไรที่เผยแพร่ได้ ยกตัวอย่างเช่น หลังจากอองซานซูจีมีชื่อเสียงโดดเด่นขึ้นมาระหว่างการประท้วงระดับชาติในปี 1988 การเอ่ยพาดพิงถึงเธอในสื่อใดๆ จะถูกตัดออกหรือคาดหมึกดำทับ สื่อโทรทัศน์และสำนักข่าวส่วนใหญ่เป็นองคาพยพของรัฐ
โทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดเท่าที่มีอยู่นั้น มีราคาแพงลิบลิ่ว โทรศัพท์พื้นฐานก็มีขอบเขตและประสิทธิภาพจำกัด ส่วนอินเทอร์เน็ตก็ช้าอย่างไม่น่าเชื่อ ราคาแพงและแทบไม่มีการใช้งา
ในปี 2010 การเลือกตั้งระดับชาติจัดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 ที่เขียนขึ้นใหม่โดยกองทัพ นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับจากที่เคยมีการเลือกตั้งในปี 1990 ซึ่งพรรค NLD ได้รับชัยชนะ แต่กองทัพกลับเพิกเฉย ในปี 2010 อองซานซูจียังถูกกักขังในบ้านและพรรค NLD คว่ำบาตรการเลือกตั้ง ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจึงไม่น่าแปลกใจว่า พรรค USDP ที่ทหารหนุนหลังและนำโดยนายพลเต็งเส่งชนะการเลือกตั้ง นายพลเต็งเส่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อมีการตั้งรัฐบาลในเดือนเมษายน 2011 แต่เรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างยิ่งก็คือ เต็งเส่งกลับเป็นผู้เปิดประตูเข้าสู่ยุคสมัยของการปฏิรูปด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นำพาเมียนมาออกจากการปิดประเทศกลับคืนมาสู่เวทีโลก
ในเดือนสิงหาคม 2012 รัฐบาลยกเลิกกฎหมายเซนเซอร์ก่อนเผยแพร่ และในวันที่ 1 เมษายน 2013 หนังสือพิมพ์รายวันที่เจ้าของเป็นเอกชนฉบับแรกในช่วงครึ่งศตวรรษก็ได้ปรากฏตัวบนแผงขายหนังสือพิมพ์ มีการผ่านกฎหมายที่รับรองให้การประท้วงและสหภาพแรงงานถูกกฎหมาย กฎหมายใหม่อีกฉบับหนึ่งเปิดประตูให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจากต่างประเทศ บริษัท Ooredoo ของกาตาร์และ Telenor ของนอร์เวเริ่มเข้ามาทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2014 ราคาของการใช้โทรศัพท์มือถือลดลงอย่างมหาศาลและเพิ่มสัญญาณให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
ในช่วงเวลาราวกับข้ามคืนเดียว ทุกคนก็ “เชื่อมต่อ” และเฟสบุ๊คกลายเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารหลักภายในประเทศ สภาพแวดล้อมใหม่นี้เอื้อคุณประโยชน์แก่สังคม การเมืองและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางใหม่ให้องค์กรและสื่อเกิดใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการกำกับดูแล ใช้ถ้อยคำหยาบหยามคลั่งชาติโจมตีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา (Simpson and Farrelly 2021a)
ความรุนแรงในชุมชนปะทุขึ้นมาในรัฐยะไข่ในปี 2012 พลเรือนชาวยะไข่กลายเป็นคนกลุ่มหลักที่ใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่นๆ ในตอนนั้น เรื่องราว ข่าวลือและข่าวซุบซิบส่วนใหญ่แพร่กระจายแบบปากต่อปาก การมีสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อให้การแพร่ข่าวปลอมและเฮทสปีชในระดับชาติทำได้รวดเร็วและง่ายดาย ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงสาหัสต่อชาวโรฮิงญาในปี 2017 (Simpson and Farrelly 2020)
อองซานซูจีและพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งในปี 2015 ทำให้เกิดความหวังสูงมากว่าระหว่างที่พวกเขาเป็นรัฐบาลตลอดวาระห้าปีนั้น น่าจะส่งผลให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกว่าเดิม
แต่ความคาดหวังนี้กลับต้องผิดหวัง เนื่องจากเมื่อพรรค NLD มาเป็นรัฐบาล ก็แสดงให้เห็นว่าตนมีความอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนหรือเอ็นจีโอไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ซ้ำร้ายยังไม่คัดค้านการใช้กฎหมายความมั่นคงยุคอาณานิคมหรือยุคทหาร เช่น รัฐบัญญัติเกี่ยวกับความลับของทางการ (Official Secrets Act) มาดำเนินคดีต่อผู้สื่อข่าวเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ที่เปิดโปงให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา (Shoon Naing and Lewis 2019) รัฐบาลพรรค NLD แทบไม่แตะต้องแก้ไขกฎหมายความมั่นคงล้าหลังที่เพิ่งออกมา อันรวมถึงกฎหมายโทรคมนาคมปี 2013 มาตรา 66(d) ซึ่งใช้ปิดปากความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ทั้งรัฐบาลพรรค NLD และกองทัพยังคงใช้กฎหมายกึ่งเผด็จการเหล่านี้มากำราบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ (Simpson and Farrelly 2021b)
ยิ่งกว่านั้น รัฐบาล NLD ยังสนับสนุนการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่รัฐยะไข่ในภาคตะวันตกของเมียนมา ขณะที่กองทัพกำลังปะทะกับกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ในยะไข่ ในบางพื้นที่แถบนี้มีประชากรเป็นชาวโรฮิงญาที่ถูกขับไล่ออกไปในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อปี 2017 การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่แถบนี้ยิ่งซ้ำเติมความยากลำบากในการทำงานของหน่วยงานสงเคราะห์ สื่อมวลชน ผู้ติดตามตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนพลเมืองในการทำกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายของตน (Simpson 2019)
การที่อองซานซูจีไม่กระตือรือร้นต่อการสนับสนุนหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อาทิ สื่อเสรี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง แต่กระนั้นเธอก็ยังเป็นผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรับผิดชอบต่อรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมาเกือบทั้งหมด
ยุคปฏิรูปนี้เปิดช่องทางให้เอ็นจีโอท้องถิ่น เช่น Phandeeyar, Free Expression Myanmar (FEM), Myanmar ICT Development Organisation และ Myanmar Centre for Business Responsibility ได้จับมือร่วมกันทำงานเพื่อต่อต้านการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต การปล่อยข่าวปลอมและปกป้องสิทธิด้านดิจิทัล โดยอาศัยการจัดงานต่างๆ อาทิ Digital Rights Forums ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี (Myanmar Centre for Responsible Business 2020) อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ทำให้กิจกรรมแบบนี้ต้องหยุดชะงักลง
การจำกัดเสรีภาพในโลกไซเบอร์นับตั้งแต่รัฐประหาร
เมื่อเกิดการรัฐประหาร ประชาชนเริ่มจัดตั้งเพื่อต่อต้านกองทัพทั้งในเฟสบุ๊คและสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เพจเปิดใหม่ที่เรียกร้องการดื้อแพ่งของพลเมืองมีผู้ติดตามถึง 200,000 รายในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ เพียงสองวันหลังจากรัฐประหาร กองทัพจึงสั่งปิดเฟสบุ๊คและ WhatsApp สำหรับในเมียนมาแล้ว การสั่งปิดสองแพลตฟอร์มนี้เทียบเท่ากับการสั่งห้ามใช้อินเทอร์เน็ต (Potkin 2021) สองวันต่อมา หลังจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลั่งไหลไปหาแอพทางเลือกอื่นเพื่อจัดตั้งและประท้วง กองทัพจึงสั่งให้ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือบล็อกการเข้าถึงทวิตเตอร์และอินสตาแกรมด้วย (DW 2021) ประชาชนในเมียนมาสามารถหาทางหลบเลี่ยงการจำกัดการเข้าถึงแอพสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซท์ด้วยการใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Networks—VPNs) ซึ่งซ่อนการไหลเข้าออกของข้อมูลและช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกบล็อกหรือสื่อสารกันได้อย่างเป็นส่วนตัว
นับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือถูกตัดสัญญาณเป็นระยะๆ บางทีก็ทั่วประเทศ หรือบางทีก็ในบางท้องที่ ทั้งนี้เพื่อตอบโต้ต่อการประท้วงและปฏิบัติการของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร อีกทั้งเพื่อปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพ เช่น การจับกุมตามอำเภอใจ การกักขังหน่วงเหนี่ยวและการทรมาน (Access Now 2022b; Nachemson 2021)
นอกจากนี้ รัฐบาลทหารยกยกเลิกการคุ้มครองที่เคยมีภายใต้ “กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของพลเมือง” รวมทั้ง “ยกเลิกการคุ้มครองพื้นฐาน ซึ่งรวมถึง…สิทธิในการปลอดพ้นจากการถูกติดตาม การค้นตัวและการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ” (International Commission of Jurists and Human Rights Watch 2021)
รัฐบาลทหารสั่งให้ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงบริษัท Telenor และ Ooredoo ส่งมอบข้อมูลของลูกค้าและติดตั้งเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการติดตามตรวจสอบผู้ใช้บริการ บริษัท Telenor ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ก้าวหน้าที่สุด ประกาศว่าบริษัทจะยุติการทำธุรกิจในเมียนมาในกลางปี 2021 เนื่องจากเงื่อนไขใหม่ๆ เหล่านี้ละเมิดกฎหมายของยุโรปและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ (Potkin and Mcpherson 2021)
ถึงแม้นักกิจกรรมเคยต่อต้านบริษัทข้ามชาติที่มาทำธุรกิจในเมียนมา แต่ Telenor กลับถูกกดดันให้ดำเนินธุรกิจในประเทศต่อไป เนื่องจากการที่มันเป็นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพียงเจ้าเดียวที่เป็นของตะวันตก Telenor จึงเป็นเครือข่ายที่นักกิจกรรมใช้งานเป็นหลัก ลงท้ายแล้ว Telenor ก็ถูก M1 Group ซื้อกิจการไป เจ้าของรายใหม่เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีฐานอยู่ในเลบานอนและซื้อกิจการภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นหุ้นส่วนกับนักลงทุนท้องถิ่น บริษัท Shwe Byain Phyu ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกองทัพ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เจ้าใหม่และบริษัทกลับมาดำเนินการอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2022 โดยเปลี่ยนชื่อเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเป็น ATOM ในขณะที่ ATOM ประกาศว่า “ผู้ใช้บริการจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ” แต่ปัญหาก็คือ รัฐบาลทหารยื่นเงื่อนไขให้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้งหมดต้องยอมลดมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ใช้บริการลง ด้วยการส่งมอบข้อมูลของผู้ใช้บริการและยินยอมให้มีการติดตามตรวจสอบกิจกรรมของผู้ใช้บริการโทรศัพท์ (Bangkok Post 2021; Eleven 2022; Justice for Myanmar 2022)
ร่างกฎหมายความมั่นคงด้านไซเบอร์ฉบับใหม่
หลังจากเผยแพร่ร่างกฎหมายความมั่นคงด้านไซเบอร์ทันทีหลังรัฐประหาร ต่อมา SAC ออกร่างฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเดือนมกราคม 2022 (State Administration Council 2022) ปัญหาของร่างกฎหมายฉบับใหม่ปรากฏให้เห็นชัดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาในร่างฉบับแรกไม่มีจุดไหนที่ได้รับการแก้ไข แถมยังมีการเพิ่มข้อบังคับมากกว่าเดิมอีกด้วย ร่างกฎหมายฉบับนี้ละเมิดสิทธิทางดิจิทัลที่นานาชาติรับรองทุกข้อ ไม่มีการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว มีแต่การตัดสินใจตามอำเภอใจและตามเงื่อนไขเฉพาะกิจ รวมทั้งมีบทลงโทษกำหนดไว้แล้วในระบบ กฎหมายฉบับนี้ยินยอมให้ SAC เข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ บล็อกเว็บไซท์ สั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งฝ่ายหลังสามารถพึ่งพาอาศัยกฎหมายได้น้อยมาก (Access Now 2022a; Human Rights Watch 2022; Myanmar Centre for Responsible Business 2022)
เงื่อนไขสำคัญข้อใหม่ในร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้คือการกำหนดให้การใช้ VPNs เป็นอาชญากรรม ไม่มีความจำเป็นต้องใช้การพิสูจน์อย่างเป็นกลางระหว่างการพิจารณาคดี และตั้งเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการออนไลน์ต้องบล็อกหรือลบคำวิพากษ์วิจารณ์ออนไลน์ที่มีต่อ SAC คณะผู้นำและสมาชิกของกองทัพ
แถลงการณ์ร่วมของสมาคมหอการค้าระหว่างประเทศสิบแห่งในเดือนมกราคม 2022 โต้แย้งว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะ
ขัดขวางการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสารและส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถของภาคธุรกิจในการดำเนินการตามกฎหมายและมีประสิทธิภาพในเมียนมา….VPNs
เป็นเครื่องมือด้านความปลอดภัยที่ถูกกฎหมายในการคุ้มครองภาคธุรกิจจากอาชญากรรมไซเบอร์และอาชญากรรมทางการเงิน
VPNs เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากที่สุดสำหรับนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปในการหลบเลี่ยงข้อจำกัดในการใช้เว็บไซท์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น เฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข่าวและข้อมูลจากแหล่งข่าวอิสระ นี่เองคือเหตุผลชัดเจนที่ทำให้รัฐบาลทหารสั่งห้าม VPNs
ตามร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ การละเมิดข้อบังคับเกือบทั้งหมดจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกินสามปีและมีค่าปรับ ความผิดไม่ได้มีแค่การใช้ VPNs แต่ครอบคลุมถึงการสนับสนุนให้ใครก็ตามใช้ VPNs ซึ่งรวมถึงร้านขายโทรศัพท์ที่ติดตั้ง VPNs สื่อและองค์กรภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมการใช้ VPNs หรือนักปกป้องสิทธิทางดิจิทัลที่ให้การอบรมด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (Free Expression Myanmar 2022)
เนื้อหาต้องห้ามในร่างกฎหมายฉบับใหม่ครอบคลุมถึง “ข้อมูลผิดและข้อมูลปลอม” ตลอดจนข้อมูลที่ “ก่อกวนความสามัคคี ความมีเสถียรภาพและสันติสุข” กองทัพมีประวัติในการกำหนดให้การกระทำที่คลุมเครือมาก เช่น “ก่อกวนความสามัคคี” กลายเป็นอาชญากรรมที่ผิดกฎหมาย และตอนนี้ดูเหมือนกองทัพจะพยายามฝังความผิดอาญาแบบนี้ไว้ในโลกดิจิทัลเพื่อเป็นการเหมารวมไว้มุ่งเป้าจัดการนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน
กลุ่มประชาสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศหลายกลุ่ม อาทิ Article 19 และ PEN America ได้ลงนามในแถลงการณ์ตำหนิ “การรัฐประหารทางดิจิทัล” เนื่องจากรัฐบาลทหารละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยพ้นผิดลอยนวล (Joint Civil Society Statement 2022)
เมื่อปราศจากรัฐสภาคอยตรวจสอบการออกกฎหมาย รัฐบาลทหารจึงมีอำนาจตามอำเภอใจในการร่างบทบัญญัติอะไรก็ได้ ไม่ว่าน่าเกลียดแค่ไหน ออกมาใช้เป็นกฎหมาย แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว การรัฐประหารที่ผิดกฎหมายย่อมทำให้กฎหมายใดๆ ที่ SAC นำออกมาใช้เป็นกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม (Simpson 2021b) ชุมชนระหว่างประเทศควรเร่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านวัตถุและการทูตแก่กลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐประหารและรัฐบาลทหาร รวมทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) (Simpson 2021c) อันเป็นการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางดิจิทัลในประเทศนี้และในทุกหนแห่ง
Adam Simpson
Senior Lecturer, International Studies, Justice & Society, University of South Australia
References
Access Now (2022a). Analysis: The Myanmar junta’s Cybersecurity Law would be a disaster for human rights. https://www.accessnow.org/analysis-myanmar-cybersecurity-law/. Updated: 27 January. Accessed: 12 June 2022.
Access Now (2022b). Update: Internet access, censorship, and the Myanmar coup. https://www.accessnow.org/update-internet-access-censorship-myanmar/. Updated: 18 March. Accessed: 10 June 2022.
Andrews, T. (2022). ‘UN expert: Myanmar people betrayed with ‘vague declarations’ and ‘tedious, endless wait’ for action.’ The Office of the High Commissioner for Human Rights. Geneva. 21 March. https://www.ohchr.org/en/press-releases/2022/03/un-expert-myanmar-people-betrayed-vague-declarations-and-tedious-endless. Accessed:10 June 2022.
Bangkok Post (2021, 9 July). ‘Telenor announces Myanmar exit.’ Bangkok Post. https://www.bangkokpost.com/business/2145843/telenor-announces-myanmar-exit. Accessed:11 June 2022.
DW (2021, 5 February). ‘Myanmar blocks Twitter amid outrage at coup.’ DW. https://www.dw.com/en/myanmar-blocks-twitter-amid-outrage-at-coup/a-56477238. Accessed:10 June 2022.
Eleven (2022, 10 June). ‘Atom says it will invest US$ 330 M over the next three years and protect individual security in accordance with local and international laws.’ Eleven. https://elevenmyanmar.com/news/atom-says-it-will-invest-us-330-m-over-the-next-three-years-and-protect-individual-security-in. Accessed:12 June 2022.
Fortify Rights (2022). “Nowhere is Safe”: The Myanmar Junta’s Crimes Against Humanity Following the Coup d’État.). 24 March. https://www.fortifyrights.org/mya-inv-2022-03-24/. Accessed:11 June 2022.
Free Expression Myanmar (2022). Military’s cyber security bill worse than their previous draft. https://freeexpressionmyanmar.org/militarys-cyber-security-bill-worse-than-their-previous-draft/. Updated: 27 January. Accessed: 10 June 2022.
Human Rights Watch (2021). Myanmar: Coup Leads to Crimes Against Humanity. (Human Rights Watch, New York). 31 July. https://www.hrw.org/news/2021/07/31/myanmar-coup-leads-crimes-against-humanity. Accessed:9 August 2021.
Human Rights Watch (2022). Myanmar: Scrap Draconian Cybersecurity Bill. https://www.hrw.org/news/2022/02/15/myanmar-scrap-draconian-cybersecurity-bill. Updated: 15 February. Accessed: 10 June 2022.
International Commission of Jurists and Human Rights Watch (2021). Myanmar: Post-Coup Legal Changes Erode Human Rights. (International Commission of Jurists and Human Rights Watch). 2 March. https://www.icj.org/myanmar-post-coup-legal-changes-erode-human-rights/. Accessed:11 June 2022.
Joint Civil Society Statement (2022). ‘Resist Myanmar’s digital coup: Stop the military consolidating digital control.’ Access Now. 8 February. https://www.accessnow.org/myanmars-digital-coup-statement/. Accessed:11 June 2022.
Justice for Myanmar (2022). Shwe Byain Phyu’s military links exposed. https://www.justiceformyanmar.org/stories/shwe-byain-phyus-military-links-exposed. Updated: 13 February. Accessed: 11 June 2022.
Myanmar Centre for Responsible Business (2020). Digital Rights Forum. https://www.myanmar-responsiblebusiness.org/dialogues/digital-rights-forum/. Updated: 29 February. Accessed: 10 June 2022.
Myanmar Centre for Responsible Business (2022). Update on Draft Cybersecurity Law and its Impacts on Digital Rights and the Digital Economy. https://www.myanmar-responsiblebusiness.org/news/draft-cybersecurity-law.html. Updated: 15 February. Accessed: 10 June 2022.
Nachemson, A. (2021, 4 March). ‘Why is Myanmar’s military blocking the internet?’ Al Jazeera. https://www.aljazeera.com/news/2021/3/4/myanmar-internet-blackouts. Accessed:10 June 2022.
Potkin, F. (2021, 5 February). ‘Facebook faces a reckoning in Myanmar after blocked by military.’ Reuters. https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-facebook-focus-idUSKBN2A42RY. Accessed:10 June 2022.
Potkin, F. and P. Mcpherson (2021, 19 May). ‘How Myanmar’s military moved in on the telecoms sector to spy on citizens.’ Reuters. https://www.reuters.com/world/asia-pacific/how-myanmars-military-moved-telecoms-sector-spy-citizens-2021-05-18/. Accessed:12 June 2022.
Shoon Naing and S. Lewis (2019, 23 April). ‘Myanmar’s top court rejects final appeal by jailed Reuters journalists.’ Reuters. https://www.reuters.com/article/us-myanmar-journalists/myanmars-top-court-rejects-final-appeal-by-jailed-reuters-journalists-idUSKCN1RZ06O. Accessed:29 December 2019.
Simpson, A. (2019). ‘Facebook, the Rohingya, and internet blackouts in Myanmar.’ The Interpreter. The Lowy Institute. 21 October. https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/facebook-rohingya-and-internet-blackouts-myanmar. Accessed:10 June 2022.
Simpson, A. (2021a). ‘Coups, conflicts, and COVID-19 in Myanmar: Humanitarian intervention and responsibility to protect in intractable crises.’ Brown Journal of World Affairs, 28(1): 1-19.
Simpson, A. (2021b). ‘Myanmar: Calling a coup a coup.’ The Interpreter. The Lowy Institute. 8 February. https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/myanmar-calling-coup-coup. Accessed:9 August 2021.
Simpson, A. (2021c). ‘Myanmar’s exile government signs up to ICC prosecutions.’ East Asia Forum. 17 September. https://www.eastasiaforum.org/2021/09/17/myanmars-exile-government-signs-up-to-icc-prosecutions/. Accessed:24 September 2021.
Simpson, A. and N. Farrelly (2020). ‘The Rohingya crisis and questions of accountability.’ Australian Journal of International Affairs, 74(5): 486-94.
Simpson, A. and N. Farrelly (2021a). ‘Interrogating Contemporary Myanmar: The Difficult Transition.’ in A. Simpson and N. Farrelly (eds), Myanmar: Politics, Economy and Society. (London and New York: Routledge): 1-12.
Simpson, A. and N. Farrelly (2021b). ‘The Rohingya Crisis: Nationalism and its Discontents.’ in A. Simpson and N. Farrelly (eds), Myanmar: Politics, Economy and Society. (London and New York: Routledge): 249-64.
State Administration Council (2022). Cyber Security Law [Draft – Unofficial English Translation by Free Expression Myanmar]. (SAC, Naypyitaw, Myanmar).