กัมพูชากับสหรัฐอเมริกาฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 70 ปีในปี 2020 ที่ผ่านมา การฉลองวาระครบรอบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่ไว้วางใจและความคลางแคลงที่พอกพูนขึ้นระหว่างสองประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ ค่อนข้างผันผวนขึ้นๆ ลงๆ สืบเนื่องจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน อันประกอบด้วยผลประโยชน์ด้วยภูมิศาสตร์การเมืองและยุทธศาสตร์ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และในระยะหลังก็คือปัจจัยจีน (China Factor) 1 อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สายสัมพันธ์ทวิภาคียิ่งเสื่อมถอยลงเพราะการกล่าวหา การเผชิญหน้าและความไม่ไว้วางใจ ในปี 2017 กัมพูชากล่าวหาสหรัฐฯ ว่าสมรู้ร่วมคิดกับพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party–CNRP) ต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา พรรคสงเคราะห์ชาติคือพรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ของกัมพูชา ซึ่งตอนนี้ถูกยุบพรรคไปแล้ว ในปี 2019 สหรัฐอเมริกากล่าวหากัมพูชาว่าลงนามในสัญญาลับกับจีน อนุญาตให้กองทัพจีนเข้าถึงฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาในจังหวัดพระสีหนุ ทั้งสองประเทศต่างฝ่ายต่างก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาของอีกฝ่ายและพยายามหาทางกระชับสัมพันธไมตรีขึ้นมาอีกครั้ง แต่กระนั้นดูเหมือนความสัมพันธ์ของสองประเทศกลับติดขลุกขลักอยู่ในขาลงมาตลอด
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะตรวจสอบสายสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างกัมพูชากับสหรัฐฯ ในระยะหลัง และให้ข้อเสนอแนะว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้างเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ในบริบทที่จีนกำลังเรืองอำนาจและการเป็นคู่แข่งกันระหว่างสหรัฐฯ-จีนนับวันจะเข้มข้นยิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างกัมพูชา-สหรัฐอเมริกา
นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ ถดถอยลงสู่จุดต่ำสุดครั้งใหม่ ในเดือนมกราคม 2017 กัมพูชาขอยกเลิกการฝึกทหารร่วมกันกับสหรัฐฯ ในชื่อปฏิบัติการ “อังกอร์เซนทิเนล” (Angkor Sentinel) โดยอ้างว่าตนติดภารกิจการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 วิลเลียม ไฮท์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงพนมเปญในตอนนั้น กล่าวว่ากัมพูชาควรจ่ายคืนหนี้สงครามจำนวน 500 ล้านดอลลาร์ นี่เป็นข้อเรียกร้องที่รื้อกลับขึ้นมาใหม่ ก่อให้เกิดเสียงโวยวายไม่พอใจในหมู่ประชาชนชาวกัมพูชา โดยเฉพาะบรรดาผู้นำทางการเมือง ซึ่งมองว่าหนี้ก้อนนี้ “สกปรก” และ “เปื้อนเลือด” 2
ปลายปี 2017 ศาลมีคำสั่งยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ ในสายตาของสังคมวงกว้างมองว่าเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของรัฐบาลที่จะกวาดล้างสื่ออิสระ ภาคประชาสังคมและกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม การกวาดล้างครั้งนี้เอื้อให้พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ไม่มีคู่แข่งในการเลือกตั้งปี 2018 เปิดช่องให้พรรคนี้ชนะหมดทั้ง 125 เก้าอี้ในสมัชชาแห่งชาติ หลังจากการเลือกตั้งและการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามที่ตามมาส่งสัญญาณบ่งบอกถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เสื่อมทรามลงและระบอบประชาธิปไตยที่ถดถอยลงของกัมพูชา สหรัฐอเมริกาสั่งระงับวีซ่าและอายัดทรัพย์สินของข้าราชการอาวุโสและเจ้าพ่อนักธุรกิจชาวกัมพูชาหลายคนที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซนโดยอ้างเหตุผลเรื่องการคอร์รัปชั่น ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้กฎหมายแมกนิตสกีฉบับครอบคลุมทั่วโลก (Global Magnitsky Act) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรพลเอกฮิงบุนเฮียง ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารรักษาความปลอดภัยของฮุนเซน และพลเอกคุนคิม อดีตหัวหน้าคณะเสนาธิการร่วมกองทัพกัมพูชา สหรัฐอเมริกายังสั่งคว่ำบาตรบริษัทธุรกิจของจีนชื่อ Union Development Group (UDG) ด้วยข้อหาบุกรุกยึดริบและรื้อทำลายที่ดินของชาวบ้านกัมพูชา 3 บริษัท UDG เป็นผู้ดำเนินโครงการดาราสาคร (Dara Sakor) มูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสนามบินนานาชาติพร้อมรันเวย์ขนาดยาวเพียงพอที่จะรองรับเครื่องโบอิ้ง 747 หรือเครื่องบินทหาร
ในเดือนธันวาคม 2020 สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่สหรัฐอเมริกาเคยให้แก่กัมพูชาหมดอายุลงและการต่ออายุใหม่ก็ยังคาราคาซังอยู่ ผู้สันทัดกรณีบางคนเตือนว่า กัมพูชาอาจถูกตัดสิทธิ์ GSP เนื่องจากความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาช่วงระยะหลัง 4 ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย Cambodia Democracy Act ในปี 2019 และอีกครั้งในเดือนกันยายน 2021 ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการประกาศเป็นกฎหมาย จะส่งผลให้มีการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐระดับอาวุโสของกัมพูชาที่มีส่วนในการบ่อนทำลายประชาธิปไตยของกัมพูชาเพิ่มขึ้นอีกหลายคน
ในเดือนมิถุนายน 2021 สหรัฐอเมริกาตัดสินใจยุติโครงการช่วยเหลือเพื่อต่อสู้การตัดไม้ทำลายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Prey Lang ของกัมพูชา ซึ่งเป็นการยุติโครงการก่อนกำหนดเวลา โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลกัมพูชาไม่สามารถหยุดยั้งการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่คุ้มครอง 5 การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากหน่วยงานรัฐของกัมพูชาจับกุมนักกิจกรรมเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมหลายคน ในปี 2020 สวีเดนก็ปฏิบัติตามด้วยการตัดสินใจค่อยๆ ยกเลิกความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่รัฐบาลกัมพูชาและหันเหทิศทางไปให้การสนับสนุนกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มภาคประชาสังคมแทน
ในเดือนพฤศจิกายน 2021 วอชิงตันสั่งคว่ำบาตรนายทหารอาวุโสชาวกัมพูชาอีกสองคน หนึ่งในนั้นคือพลเรือเอกเตีย วิญ ผู้บัญชาการกองทัพเรือกัมพูชา สืบเนื่องจากข้อหาคอร์รัปชั่นที่เชื่อมโยงกับการก่อสร้างฐานทัพเรือเรียม ซึ่งเป็นฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา การคว่ำบาตรนี้เกิดขึ้นภายหลังกรณีที่กัมพูชารื้อทำลายอาคารซึ่งได้รับเงินทุนอุดหนุนจากสหรัฐฯ ที่ฐานทัพนี้ในเดือนกันยายน 2020 และความกังวลมากขึ้นในวอชิงตันเกี่ยวกับการมีกองทัพจีนอยู่ในกัมพูชา 6
ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการที่จีนมีอิทธิพลทางทหารเพิ่มขึ้นในกัมพูชา ในเดือนธันวาคม 2021 วอชิงตันจึงดำเนินการคว่ำบาตรพนมเปญอีกชุดหนึ่ง อันประกอบด้วยการสั่งห้ามขายอาวุธและจำกัดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ นายกรัฐมนตรีฮุนเซนตอบโต้การคว่ำบาตรครั้งนี้ด้วยการสั่งให้กองทัพกัมพูชารวบรวมอาวุธของสหรัฐฯ ในประเทศทั้งหมดไปเก็บในโกดังหรือทำลายทิ้งเสียเลย 7
การคว่ำบาตร การตอบโต้และเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างพนมเปญกับวอชิงตัน บ่งบอกถึงความไม่ไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเด็นใหญ่ที่สุดคือ สหรัฐฯ กล่าวหาว่ากัมพูชาอนุญาตให้ปักกิ่งใช้บางส่วนในฐานทัพเรือเรียมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร ประเด็นเรื่องที่อาจจะมีกองทหารของจีนอยู่ในกัมพูชาเป็นเรื่องน่าวิตก เพราะมันจะยิ่งซ้ำเติมให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐฯ ที่ตึงเครียดอยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม มันจะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนและความหวาดระแวงระหว่างสองชาติ โดยเฉพาะท่ามกลางความกังวลในประเด็นใหญ่กว่านั้นเกี่ยวกับการมีกองทัพจีนอยู่ในกัมพูชาและอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาแสดงความไม่สบายใจมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางของกัมพูชาที่หันเหไปทางระบอบอำนาจนิยมมากขึ้นและการมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน ประเด็นปัญหาอีกมากมายดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นจะยิ่งผุดขึ้นมาและส่งผลกระทบต่ออนาคตของกัมพูชา เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่กัมพูชาควรหันทิศทางกลับไปหาระบอบประชาธิปไตยและดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศให้รัดกุมและระมัดระวังมากขึ้น ในบริบทที่การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความเข้มข้น กัมพูชาพึงหลีกเลี่ยงการติดกับดักอยู่ระหว่างการแข่งขันของมหาอำนาจครั้งนี้ มิฉะนั้น กัมพูชาอาจจะต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมดังที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน 8
หนทางแก้ไขมีอะไรบ้าง?
เพื่อซ่อมสร้างปรับปรุงความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ นักวิเคราะห์บางคนเสนอแนะว่า สหรัฐฯ ควรพัวพันกับกัมพูชานอกเหนือจากปัจจัยจีนเพื่อสร้าง “เงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจกันมากขึ้น” 9 นี่เป็นคำแนะนำที่ดี แต่ผู้เขียนขอแย้งว่าความรับผิดชอบในเรื่องนี้น่าจะตกอยู่ที่รัฐบาลกัมพูชามากกว่า รัฐบาลกัมพูชาควรทำให้คณะวางนโยบายของสหรัฐฯ เกิดทัศนคติในทางที่ดี ฟื้นฟูความไว้วางใจและความเชื่อมั่นเพื่อให้ความสัมพันธ์กลับมาแน่นแฟ้นเช่นเดิม เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องพิจารณาการกระทำบางอย่าง โดยเฉพาะในส่วนของรัฐบาลกัมพูชา ทั้งนี้เพราะกัมพูชาเป็นฝ่ายเสียมากกว่าสหรัฐฯ ในกรณีที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีของสองประเทศยังเสื่อมทรามด้วยความไม่ไว้วางใจและการเผชิญหน้ากันเช่นนี้
ประการแรก กัมพูชาต้องแก้ไขภาพพจน์ที่ด่างพร้อยของตน เนื่องจากความแนบแน่นกับจีน กัมพูชาจึงถูกขนานนามว่าเป็นรัฐบริวารหรือรัฐตัวแทนของจีน 10 ความล้มเหลวไม่เป็นท่าของอาเซียนในปี 2012 เมื่อกัมพูชาเป็นประธานอาเซียน ถือเป็นการตอกย้ำทัศนคติว่ากัมพูชาเป็นแค่รัฐตัวแทนของจีน ถึงแม้กัมพูชาจะโต้แย้งปฏิเสธเป็นพัลวันก็ตาม แต่ทัศนคตินี้ยังคงอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในกัมพูชาและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม ด้วยเหตุนี้ กัมพูชาจึงต้องคำนวณปัจจัยจีนให้รอบคอบและรัดกุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการระหว่างประเทศและปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองในภาพใหญ่ กัมพูชาควรทรงตัวให้ดีและเดินไต่เชือกทางการทูตอันละเอียดอ่อนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลกับจีนและสหรัฐฯ แทนที่จะกระโดดขึ้นรถไฟขบวนเดียวกับจีนโดยไม่คำนึงถึงเสถียรภาพในระยะยาว
ประการที่สอง รัฐบาลกัมพูชาควรงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจกระตุ้นความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ โดยไม่ตั้งใจ ในช่วงไม่กี่ปีหลัง เพื่อตอบโต้ต่อการคว่ำบาตรและแรงกดดันจากสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่รัฐและนักการทูตอาวุโสของกัมพูชามักโจมตีสหรัฐฯ ด้วยวิธีการที่ไร้ชั้นเชิงทางการทูต 11 การกระทำเช่นนี้อาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกด้านลบต่อสหรัฐฯ ในหมู่ประชาชนชาวกัมพูชา นี่เป็นอันตรายต่อสายสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในแง่นี้ เจ้าหน้าที่รัฐและนักการทูตกัมพูชาไม่ควรใช้แนวทางการทูตแบบ “แข็งกร้าวข่มขู่” หรือที่เรียกว่าการทูตแบบ “กองพันหมาป่า” (“wolf warrior” diplomacy) ตรงกันข้าม พวกเขาควรส่งเสริมความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อนโยบายต่างประเทศและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อีกทั้งหาทางปรับตัวตามนโยบายดังกล่าวและแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมืองในประเทศของตน
ประการที่สาม ในสายตาของโลกภายนอก ระบอบประชาธิปไตยที่เยาว์วัยและเปราะบางของกัมพูชากำลังถอยหลังนับตั้งแต่มีการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ การถอยห่างออกจากความเป็นประชาธิปไตยเช่นนี้แสดงให้เห็นเส้นทางระหกระเหินที่ทำให้กัมพูชายากจะพัวพันอย่างมีความหมายกับกลุ่มประเทศและองค์กรประชาธิปไตยเสรีนิยม เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป การที่สหภาพยุโรปถอดกัมพูชาออกจากสิทธิพิเศษทางการค้าบางส่วนในโครงการ Everything but Arms ในปี 2020 และการคว่ำบาตรหลายครั้งที่สหรัฐฯ ดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงของกัมพูชา คือตัวอย่างสำคัญที่บ่งชี้ชัดเจนถึงความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยลงระหว่างกัมพูชากับกลุ่มประเทศใหญ่ๆ ในค่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม 12 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่กัมพูชาควรหวนคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตยเพื่อให้ความหวังทั้งแก่ประชาชนในประเทศและหุ้นส่วนการพัฒนา ซึ่งเคยช่วยกันทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นมาระดับหนึ่งในประเทศนี้
ประการที่สี่ เมื่อคำนึงถึงบทบาทของการเป็นประธานอาเซียนปี 2022 กัมพูชามีโอกาสที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตของตนกับสหรัฐฯ และขยายความสัมพันธ์ของอาเซียน-สหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ กัมพูชาต้องยึดหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและการดำรงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ถึงแม้เป็นเรื่องยากสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างกัมพูชาที่จะต้านทานอิทธิพลจากภายนอก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มหาอำนาจกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่จะเป็นการดำเนินการที่ฉลาดกว่าถ้ากัมพูชาจะใช้วิถีปฏิบัติแบบวางตัวเป็นกลางและพหุภาคีต่อประเด็นปัญหาในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ถ้ากัมพูชาสามารถพิสูจน์ให้เห็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มั่นคงและเป็นอิสระในปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีน ในการประชุมระดับสูง เช่น การประชุมสุดยอดอาเซียน ก็จะช่วยให้สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ ที่มีไมตรีมากกว่านี้ได้
ประการที่ห้า สหรัฐอเมริกาเองก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและปรับปรุงความสัมพันธ์กับกัมพูชา สหรัฐฯ ต้องพัวพันกับกัมพูชามากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง และดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ยิ่งกว่าเดิม 13 นอกเหนือจากมองกัมพูชาให้มากกว่าปัจจัยจีนแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในกัมพูชาและภูมิภาคนี้ สหรัฐฯ ยังต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นด้วย โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำของกัมพูชา เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ มีความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะต้องเพิ่มการพัวพันกับกัมพูชานอกเหนือจากประเด็นเรื่องประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชน การให้ความสนับสนุนเพิ่มขึ้นต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโรคระบาดจะช่วยพลิกฟื้นและเพิ่มความเข้มแข็งแก่สายสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ
กล่าวโดยสรุป ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์สหรัฐฯ-กัมพูชา แต่เป็นฝ่ายกัมพูชาต่างหากที่ควรเริ่มต้นก่อนในการปรับปรุงสายสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐฯ การเป็นประเทศเล็ก มีอำนาจและการต่อรองจำกัด มันจึงมีความเป็นไปได้น้อยที่กัมพูชาจะใช้อิทธิพลบีบให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายต่างประเทศตามที่ตนต้องการ กระนั้นก็ตาม กัมพูชาสามารถดำเนินการเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน พนมเปญต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์กับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกด้วยความยืดหยุ่น รอบคอบและรัดกุม อีกทั้งยังต้องคำนึงว่าตนเองจะแสดงภาพพจน์อย่างไรในเวทีระดับภูมิภาคและนานาชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตีตราเป็นรัฐตัวแทนของจีน เพราะภาพพจน์แบบนี้ย่อมสร้างความเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ในขณะที่ฝ่ายหลังกำลังรณรงค์จำกัดอำนาจอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยรวม สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัมพูชา-สหรัฐฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้เข้มแข็งขึ้นในกัมพูชา ส่วนความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดจะทำให้กัมพูชามีแต่อนาคตที่ไม่แน่นอน
Kimkong Heng
Kimkong Heng is an Australia Awards scholar and a PhD candidate at the University of Queensland, Australia. He is also a co-founder and chief editor of the Cambodian Education Forum and a visiting senior research fellow at the Cambodia Development Center.
Notes:
- Leng, Thearith, and Vannarith Chheang, “Are Cambodia-US Relations Mendable?,” Asia Policy 28, no. 4 (2021): 124-133. https://muse.jhu.edu/article/836215/pdf ↩
- Chheang, Vannarith, “Cambodia Rejects Paying ‘Dirty Debt’ to the US,” Al Jazeera, March 21, 2017, https://www.aljazeera.com/opinions/2017/3/21/cambodia-rejects-paying-dirty-debt-to-the-us. ↩
- US Department of the Treasury, “Treasury Sanctions Chinese Entity in Cambodia Under Global Magnitsky Authority,” September 15, 2020, https://home.treasury.gov/news/press-releases/sm1121 ↩
- Suy, Heimkhemra, “Trade Holds the Key to the Renewal of US-Cambodia Ties,” The Diplomat, May 27, 2021, https://thediplomat.com/2021/05/trade-holds-the-key-to-the-renewal-of-us-cambodia-ties/ ↩
- Mech, Dara, “Updated: US Ends Funding in $21M Prey Lang Project, Citing Continued Logging,” VOD English, June 17, 2021, https://vodenglish.news/us-ends-funding-to-21m-prey-lang-project-citing-continued-logging/ ↩
- Ali, Idrees, “Cambodia Demolished U.S.-Built Facility on Naval Base: Researchers,” Reuters, October 3, 2020, https://www.reuters.com/article/us-usa-cambodia-military-idUSKBN26N39O ↩
- Bangkok Post, “Angry Hun Sen Orders US Weapons Destroyed,” December 10, 2021, https://www.bangkokpost.com/world/2230015/angry-hun-sen-orders-us-weapons-destroyed ↩
- Vann, Bunna, “As US-China Rivalry Grows, Will Cambodia’s Tragedy Return?,” Politikoffee, June 28, 2021, https://www.politikoffee.com/en/politik/5685 ↩
- Sao, Phal Niseiy, “US Engagement with Cambodia Needs to Move Beyond the ‘China Factor,’” The Diplomat, June 4, 2021, https://thediplomat.com/2021/06/us-engagement-with-cambodia-needs-to-move-beyond-the-china-factor/ ↩
- Heng, Kimkong, “Rethinking Cambodia’s Foreign Policy Towards China and the West,” International Policy Digest, May 31, 2019, https://intpolicydigest.org/rethinking-cambodia-s-foreign-policy-towards-china-and-the-west/ ↩
- Heng, Kimkong, “Cambodia in 2019 and Beyond: Key Issues and Next Steps Forward,” Cambodian Journal of International Studies 3, no. 2 (2019): 121-143. https://uc.edu.kh/cjis/CJIS%203(2)%20Heng%20paper%20abstract.pdf ↩
- Heng, Kimkong, “The West’s Cambodia Dilemma,” Pacific Forum, October 13, 2020, https://pacforum.org/publication/pacnet-56-the-wests-cambodia-dilemma ↩
- Heng, Kimkong, “The West’s Cambodia Dilemma,” Pacific Forum, October 13, 2020, https://pacforum.org/publication/pacnet-56-the-wests-cambodia-dilemma ↩