ในช่วงเวลา 4 ปีระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซียในเดือนพฤษภาคม 2018 และธันวาคม 2021 ปูตราจายาได้เห็นการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีถึงสามคนและการล่มสลายของพรรคแนวร่วมรัฐบาลถึงสองครั้ง ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมีการผลัดเปลี่ยนถึงสามครั้งระหว่างผู้ได้รับการแต่งตั้งสองคน และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศก็เปลี่ยนหน้ารัฐมนตรีถึงสามคนตามลำดับ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางฉากหลังที่วิกฤตการณ์ด้านสุขภาพและเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 กำลังเริ่มต้นซ้ำเติมภูมิทัศน์ทางการเมืองภายในประเทศ
ในช่วงกรอบเวลานี้เช่นกัน มาเลเซียได้เผยแพร่สมุดปกขาวด้านการป้องกันประเทศ (Defence White Paper—DWP) ออกมาเป็นครั้งแรก พร้อมกับกรอบนโยบายต่างประเทศสองฉบับที่บรรยายถึงลำดับความสำคัญและสถานะตำแหน่งของประเทศในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ความปั่นป่วนทางการเมืองครั้งใหญ่ภายในประเทศเกิดขึ้น และมีการเดินหมากพลั้งพลาดเป็นครั้งคราวในการผูกสัมพันธ์กับภายนอกตลอดช่วงสี่ปีที่ผ่านมา แต่พื้นฐานแนวคิดด้านนโยบายต่างประเทศโดยรวมของมาเลเซียยังมีสาระคงเดิมที่ไม่เปลี่ยนแปลง การดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศตามบุคลิกภาพของรัฐมนตรีแต่ละคนอาจก่อให้เกิดบรรยากาศของความไม่สม่ำเสมอด้านนโยบายบ้าง แต่หลักเกณฑ์ด้านการทูตของมาเลเซียยังคงเส้นคงวาอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงอนาคตข้างหน้า พื้นที่ที่เป็นจุดสนใจใหม่และยังทรงพลังอยู่ อาทิ การทูตด้านสุขภาพ ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ และการทูตด้านวัฒนธรรม จะขึ้นอยู่กับเสถียรภาพภายในประเทศ ภาวะผู้นำและการจัดลำดับความสำคัญด้านทรัพยากรของประเทศเป็นอย่างมาก
หนึ่งก้าวไปข้างหน้า: หลักเกณฑ์และนโยบาย
ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองในมาเลเซียเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประเทศนี้ ในอดีตที่ผ่านมาจนกระทั่งปี 2018 มาเลเซียอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของรัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) มาเกือบหกทศวรรษ ผลที่ตามมาจากการเดินหมากกลทางการเมืองของผู้มีอำนาจเบื้องหลังพรรคลงเอยด้วยการคว่ำกลุ่มแนวร่วมแห่งความหวังหรือกลุ่มปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) ที่ได้รับเลือกตั้งในปี 2018 ลงจากการเป็นรัฐบาล นับแต่นั้นมาก็จุดชนวนให้เกิดแรงระเบิดทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและยังปะทุเป็นคลื่นใต้น้ำมาจนถึงปัจจุบัน
บันทึกความเข้าใจ 1 เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านและเสถียรภาพระหว่างรัฐบาลกลางกับกลุ่มแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาความปรองดองระหว่างพรรคการเมืองจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ซึ่งมีกำหนดจะดำเนินการภายหลังการยุบสภาสมัยที่ 14 ในเดือนกรกฎาคม 2023 กระนั้นก็ตาม ถึงแม้จะมีสัญญาสงบศึกฉบับนี้ สภาพแวดล้อมภายในประเทศมาเลเซียก็ยังมีประจุไฟทางการเมืองสูงสืบเนื่องจากการเลือกตั้งในรัฐต่างๆ เมื่อช่วงปลายปี 2021 ซึ่งถูกมองว่าเป็นการอัดฉีดเพื่อเตรียมการให้แก่การเลือกตั้งทั่วไปสมัยที่ 15 ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกไม่แน่นอนเกี่ยวกับความมั่นคงในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของมาเลเซียจึงยังมีอยู่
ในเดือนกันยายน 2019 ผ่านมาเพียงปีเศษหลังจากรัฐบาลแนวร่วมกลุ่มปากาตัน ฮาราปันได้รับเลือกตั้งพร้อมคำมั่นสัญญาถึง Malaysia Baharu (มาเลเซียใหม่) กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียก็เผยแพร่เอกสาร “Foreign Policy Framework of the New Malaysia” 2 (“2019 Framework”) ในชื่อหัวข้อว่า “Change in Continuity” สามเดือนต่อมา กระทรวงกลาโหมก็นำเสนอสมุดปกขาวด้านการป้องกันประเทศ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า DWP) ให้รัฐสภารับรอง นี่เป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำ DWP อย่างครอบคลุมเช่นนี้ ในการวางเค้าโครงของจุดยืนด้านการต่างประเทศและการป้องกันประเทศของมาเลเซีย เอกสารสองฉบับดังกล่าวยืนยันถึงรากฐานทางนโยบายที่ดำเนินมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับนานาประเทศอย่างเปิดกว้าง การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น การแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี และการรักษาหลักนิติรัฐ เอกสารทั้งสองฉบับยังเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะยังคงเป็นเสาหลักสำคัญในนโยบายต่างประเทศของมาเลเซีย
เรื่องที่น่าสังเกตก็คือ เอกสารสองฉบับนี้เป็นผลผลิตของช่วงเวลาเฉพาะ ทั้ง 2019 Framework และ DWP ล้วนสะท้อนการมองโลกในแง่ดีของชาติที่ตอนนั้นดูเหมือนกำลังหักเลี้ยวพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มันจึงมุ่งหวังที่จะตอบสนองต่อความเป็นจริงที่กำลังวิวัฒน์ไปสู่สภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์แบบใหม่ของมาเลเซีย เอกสารทั้งสองฉบับเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการปรึกษาหารือที่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่รัฐบาลด้วย 2019 Framework ตั้งปณิธานถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกและการมีความสำคัญบนเวทีระหว่างประเทศ มันกล่าวถึงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ปกป้องอำนาจอธิปไตย และยอมรับปัญหาท้าทายใหม่ๆ ด้านความมั่นคง อาทิ การอพยพข้ามชาติ ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ และการก่อการร้าย ส่วน DWP เสนอร่างแผนการสำหรับกองกำลังป้องกันประเทศในอนาคตที่มีลักษณะบูรณาการ คล่องตัวและเล็งเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะช่วยรักษาสถานะของมาเลเซียในฐานะ “ชาติทางทะเลที่มีรากเหง้าบนภาคพื้นทวีป” ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม มันนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศภายในประเทศ DWP มีความมุ่งหมายที่จะเป็น “องค์ประกอบอีกประการหนึ่ง [ที่จะ] ขยายบทบาทโดดเด่นของมาเลเซียในด้านภูมิศาสตร์การเมือง”
สองก้าวถอยหลัง: ความไม่คงเส้นคงวาท่ามกลางความต่อเนื่อง
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 รัฐบาลปากาตัน ฮาราปันหลุดจากอำนาจ กลุ่มแนวร่วมพันธมิตรแห่งชาติ (Perikatan Nasional) ที่นำโดยมูห์ยิดดิน ยัสซินก้าวขึ้นสู่อำนาจแทน พร้อมกันนั้นโรคระบาดโควิด-19 ก็พลิกคว่ำโลก ทั้ง 2019 Framework และ DWP ต้องถูกระงับไว้ก่อน กระนั้นก็ตาม หลักเกณฑ์ที่เป็นรากฐานของเอกสารสองฉบับนี้ยังคงอยู่ แม้ในเวลาที่ผู้บริหารนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียทำตัวเหมือนขาดการประสานกันหรือขาดความคงเส้นคงวาเป็นครั้งคราวก็ตาม ความไม่คงเส้นคงวานี้ดูเหมือนเด่นชัดเป็นพิเศษในสองกรณีคือ การตอบโต้ต่อการยั่วยุของปักกิ่งที่มีต่อการอ้างสิทธิ์ของมาเลเซียในทะเลจีนใต้ และการประกาศข้อตกลงไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย-สหราชอาณาจักร-สหรัฐอเมริกา (AUKUS หรือออคัส)
ขณะที่มาเลเซียกำลังต่อสู้กับโรคระบาดระลอกแรกในครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 2020 มาเลเซียยังต้องรับมือกับเหตุการณ์ที่เรือสำรวจน้ำมัน West Capella ของตนถูกข่มขู่จากเรือสมุทรศาสตร์ Haiyang Dizhi 8 ของจีนในทะเลจีนใต้ สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียส่งกองเรือรบเข้าไปในพื้นที่เพื่อส่งสัญญาณให้รับรู้ถึงความพร้อมประจำการและศักยภาพ การเคลื่อนไหวนี้อาจตั้งใจแสดงให้เห็นถึงท่าทีสนับสนุนต่อกลุ่มประเทศพันธมิตรในภูมิภาค แต่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียในขณะนั้น ฮิซัมมูดิน ฮุสเซน กลับสร้างระยะห่างระหว่างปูตราจายากับการตอบโต้ของสหรัฐฯ คำพูดของรัฐมนตรีที่เตือนว่า การมีทั้ง “เรือรบและเรือเดินสมุทร” ในทะเลจีนใต้อาจทำให้ความตึงเครียดทวีมากขึ้น คำพูดเช่นนี้ดูเหมือนสร้างความกำกวมต่อผลกระทบที่เพิ่มขึ้นทั้งจากเรือของจีนในฝ่ายหนึ่งกับเรือของสหรัฐฯ และออสเตรเลียอีกฝ่ายหนึ่ง
ดังที่ผู้สันทัดกรณีหลายคนชี้ให้เห็นแล้วว่า เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด ผู้นำด้านนโยบายของมาเลเซียควรสร้างความกระจ่างว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวสะท้อนถึงความต่อเนื่องของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายรักษาระยะห่างเท่าเทียมจากประเทศมหาอำนาจทุกฝ่าย ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 3 ความวิตกกังวลของปูตราจายาเกี่ยวกับความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯ-จีนกำลังเปลี่ยนลักษณะของข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จากประเด็นการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันในภูมิภาคให้กลายเป็นความขัดแย้งกันของประเทศมหาอำนาจ มาเลเซียควรสื่อสารให้ดีกว่านี้ ภาพพจน์ที่มาเลเซียเชื่อมโยงตัวเองกับเรื่องเล่าแม่บทของจีนในภูมิภาคนี้ยิ่งไม่ดีขึ้นจากคำพูดไม่ทันคิดของฮิซัมมูดินในปีต่อมา เมื่อเขาใช้คำว่า “พี่ชาย” ในการประชุมสื่อมวลชนเพื่อแถลงข่าวร่วมกับหวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน หลังจากถูกชาวมาเลเซียวิจารณ์อย่างหนักหน่วงในสื่อสังคมออนไลน์ ฮิซัมมูดินอธิบาย 4ว่า “มาเลเซียยังคงความเป็นอิสระ ยึดมั่นหลักการและหลักปฏิบัติในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเรา” และคำว่า “พี่ชาย” ที่เขาเอ่ยออกมานั้น เป็นแค่คำพูดส่วนตนที่พาดพิงถึงวัยของหวังอี้ที่อาวุโสกว่าตัวเขา ไม่ใช่การบ่งบอกถึงสายสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างมาเลเซียกับจีนแต่อย่างใด
หนึ่งปีต่อมา ในวาระครบรอบปีที่ 47 แห่งความสัมพันธ์มาเลเซีย-จีน เครื่องบินรบ 16 ลำของกองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army Air Force—PLAAF) ของจีนได้ทำการบินหมู่เชิงยุทธการใกล้กับน่านฟ้าแห่งชาติของมาเลเซียเหนือทะเลจีนใต้ เรื่องที่แปลกก็คือ ทั้งกองทัพอากาศมาเลเซีย 5 และกระทรวงการต่างประเทศ 6 ต่างก็ออกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนโดยหน่วยงานหลังอ้างอิงมาจากแถลงการณ์ของหน่วยงานแรก กองทัพอากาศมาเลเซียรายงานเหตุการณ์นี้อย่างละเอียดด้วยถ้อยคำที่ใช้อย่างระมัดระวัง แถลงการณ์กล่าวว่า ฝูงเครื่องบินของจีนเข้าสู่ “น่านฟ้าของอาณาเขตทางทะเลของมาเลเซีย อาณาเขตแถลงข่าวการบินโคตาคินาบาลูและเข้าใกล้ [ตัวเอนโดยผู้เขียน] น่านฟ้าของมาเลเซีย” แถลงการณ์ยังเอ่ยถึงการที่ฝูงอากาศยานจีนเป็น “การคุกคามต่ออธิปไตยแห่งชาติและความปลอดภัยด้านการบิน[ของมาเลเซีย]” ในทางตรงกันข้าม แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึง “การละเมิดน่านฟ้าและอธิปไตยของมาเลเซีย[ข้อความตามต้นฉบับ]ครั้งนี้” กลับมีนัยยะบ่งบอกว่ามีการละเมิดน่านฟ้าแห่งชาติไปแล้ว ไม่ใช่แค่การคุกคาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนมักมีพฤติกรรมยั่วยุ ส่วนมาเลเซียก็พร้อมจะปกป้องอาณาเขตดินแดนของตน (กองทัพอากาศมาเลเซียเองก็รีบนำเครื่องบินเจ็ตขึ้นสกัดกั้น) กระนั้นก็ตาม หากมีการประสานงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและให้คำปรึกษาแก่การร่างแถลงการณ์ของกระทรวงหลังจากเกิดเหตุการณ์ น่าจะช่วยให้แถลงการณ์มีความแม่นยำทางกฎหมายมากกว่านี้และปรับปรุงการแถลงข่าวต่อสาธารณะของทั้งสองหน่วยงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันมากขึ้น
เรื่องที่มาเลเซียไม่อยากเข้าไปพัวพันกับการเมืองของมหาอำนาจในหลังบ้านของตัวเองยิ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งจากปฏิกิริยาของรัฐบาลที่มีต่อการประกาศของออคัส (AUKUS) ในเดือนกันยายน 2021 อิซมาอิล ซับรี นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของประเทศ ซึ่งเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเพียงหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของออคัสที่อาจมีต่อเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ ซึ่งหวนคืนมาดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีของอิซมาอิล หลังจากเคยนั่งเก้าอี้นี้มาก่อนในสมัยรัฐบาลปากาตัน ฮาราปัน ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนจุดยืนของนายกรัฐมนตรี 7 ฮิซัมมูดิน ฮุสเซน ซึ่งย้อนกลับมาคุมกระทรวงกลาโหมอีกครั้ง ก็ทำอย่างเดียวกัน แถลงการณ์ทั้งสามฉบับเน้นย้ำถึงความเสี่ยงของการแข่งขันด้านอาวุธ ทั้งอาวุธทั่วไปและอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ไซฟุดดินยังย้ำถึงความวิตกกังวลของปูตราจายาเคียงคู่มากับจาการ์ตาในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกันกับเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย
ถึงแม้มาเลเซียจะมีข้อสงวนบางอย่างเกี่ยวกับออคัส แต่รัฐบาลก็ตอบรับการมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยิ่งขึ้นกับทั้งสามประเทศในข้อตกลงด้านความมั่นคง ทั้งในแบบทวิภาคีและพหุภาคีผ่านเวทีข้อตกลงอื่นๆ เช่น ความตกลงด้านการป้องกันประเทศระหว่างสมาชิก 5 ประเทศ (Five Power Defence Arrangements–FPDA) นอกจากนี้ ถึงแม้ฮิซัมมูดินพูดผิดพลาดว่าจะหารือกับจีนเกี่ยวกับออคัส (หลังจากนั้นเขาแก้ไขคำพูดของตัวเอง 8) เขาเน้นย้ำว่า มาเลเซียจะ “ยึดความได้เปรียบ [หมายถึง FPDA] ที่เรามีเมื่อต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจทางภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้” อันที่จริง กระทรวงของเขาเป็นเจ้าภาพจัดงานฉลองครบรอบ 50 ปีความตกลง FPDA และมีการประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม FPDA หลังจากซ้อมรบร่วมกัน 10 วันกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์และสหราชอาณาจักร
การกลับมานั่งกระทรวงการต่างประเทศของไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการรื้อฟื้นการเน้นประเด็นสิทธิมนุษยชนขึ้นมาอีกครั้งของรัฐบาลอิซมาอิล ซับรีในปี 2021 เอกสาร 2019 Framework ของกระทรวงการต่างประเทศบอกถึงความพยายามที่จะมีจุดยืนเชิงรุกมากขึ้นในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการที่มาเลเซียจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นชาติพัฒนาและมีความเป็นธรรมมากขึ้น แต่ความตั้งใจไม่แปรเปลี่ยนที่จะสนับสนุนเป้าหมายด้านนโยบายต่างประเทศที่ตั้งอยู่บนการรับรองสิทธิมนุษยชนนั้น ส่วนใหญ่น่าจะมาจากการปวารณาตนของรัฐมนตรีเอง ซึ่งสืบเนื่องมาจากสมัยที่เขาเคยเป็นนักกิจกรรมเยาวชนและมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรรากหญ้าในช่วงต่อมาของเส้นทางนักการเมือง
ในปี 2018 ไซฟุดดินเรียกร้องให้ผู้บัญญัติกฎหมายของมาเลเซียทบทวนนโยบายของอาเซียนที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน โดยอ้างอิงเป็นพิเศษถึงชะตากรรมของชาวโรฮิงยาในตอนนั้น ในปี 2021 รัฐมนตรีผู้นี้แสดงให้เห็นจุดยืนของเขาอีกครั้งเมื่อวิกฤตการณ์ปะทุขึ้นมาในเมียนมา กล่าวคือเรียกร้องให้อาเซียนหันมาใช้นโยบายไม่เพิกเฉยต่อปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ไซฟุดดินมีจุดยืนมั่นคงในการไม่ยอมรับให้นายพลอาวุโสมินอ่องหล่ายของตะมะดอว์มาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนตุลาคม 2021 จนกว่าจะมีความก้าวหน้าตามฉันทามติ 5 ข้อ 9ของอาเซียน
บทสรุป: กรอบนโยบายต่างประเทศสำหรับอนาคต?
ในเดือนธันวาคม 2021 กระทรวงการต่างประเทศเผยแพร่กรอบนโยบายต่างประเทศอีกฉบับหนึ่ง 10 ครั้งนี้ตั้งชื่อว่า “Focus in [เขียนตามต้นฉบับ] Continuity: A Framework for Malaysia’s Foreign Policy in a Post-Pandemic World” (“2021 Framework”) เอกสารฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นส่วนต่อขยายจากเอกสารฉบับ 2019 Framework โดยยืนยันหลักการพื้นฐานด้านนโยบายต่างประเทศของมาเลเซีย แต่มีจุดประสงค์ที่จะ “ให้แรงดลใจ จุดสนใจและทิศทางใหม่” โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 เช่นเดียวกับ 2019 Framework เอกสารฉบับล่าสุดย้ำเน้นในหลักการดั้งเดิม นั่นคือจุดยืนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด กฎหมายและบรรทัดฐานสากล รวมทั้งสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับแนวทางก่อนหน้านี้ การจัดทำ 2021 Framework มีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่รัฐบาล มันย้ำอีกครั้งว่าความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์เป็นประเด็นจุดสนใจ แต่เพิ่มเติมเข้ามาคือ ประเด็นที่มาเลเซียต้องเชื่อมโยงเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก การทูตด้านสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล การทูตด้านวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระบบพหุภาคี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ของสหประชาชาติ มีการขยายความในรายละเอียดของแต่ละหัวข้อในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และการนำมาปฏิบัติในนโยบายต่างประเทศ
เมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์ภายในประเทศมาเลเซียที่มีความผันผวน เอกสาร 2021 Framework พยายามตอบปัญหาที่วนเวียนเกี่ยวกับข้อบังคับเฉพาะหน้าด้านนโยบายต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มันยังเกี่ยวเนื่องกับรากฐานที่มีการเคลื่อนตัวของภูมิทัศน์ทางการเมืองในมาเลเซียด้วย ด้วยเหตุนี้จึงยังมีความไม่แน่นอนว่าเอกสาร 2021 Framework ทั้งฉบับจะอยู่ยงคงทนแค่ไหน หัวข้ออันดับต้นๆ เช่น การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและระบบพหุภาคี เป็นวัตถุประสงค์ระยะยาวอยู่แล้วและน่าจะฝ่าผ่านคลื่นลมทางการเมืองไปได้ ยิ่งกว่านั้น อาชีพด้านการทูตของมาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งในระบบราชการขนาดใหญ่ นักการทูตจึงทำงานเป็นวิชาชีพโดยไม่ขึ้นกับผู้นำทางการเมือง ทำให้มีเสถียรภาพด้านการทำงานท่ามกลางกระแสปั่นป่วนระหว่างพรรคการเมืองที่กำลังดำเนินไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายต่างประเทศที่ก้าวหน้ากว่าเดิม ในหัวข้ออุบัติใหม่ เช่น ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งการทูตด้านสุขภาพ วัฒนธรรมและไซเบอร์ จำเป็นต้องการมีการปลูกฝังอบรมชุดทักษะเฉพาะทาง ความรู้ที่เชื่อมโยงกันข้ามสาขาต่างๆ และการประสานงานข้ามหน่วยงานโดยพร้อมเพรียง ในทางกลับกัน หัวข้อเหล่านี้จะทำให้เกิดความจำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอ ความสามารถในการทำให้เกิดเป็นสถาบัน และการตัดสินใจทางการเมืองที่เด็ดขาดชัดเจน หลักการพื้นฐานด้านนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียมีความมั่นคงพอสำหรับการดำเนินงานแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในกรณีที่จำเป็น แต่หลักการพื้นฐานเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอแล้วในโลกที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกวัน ดังที่สมุดปกขาวด้านการป้องกันประเทศและเอกสารกรอบนโยบายต่างประเทศเองก็ยอมรับ มาเลเซียต้องมีบทบาทเชิงรุกและกล้าได้กล้าเสียมากขึ้นในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ถ้าความสะเปะสะปะทางการเมืองภายในประเทศไม่ลดลง วาระระหว่างประเทศก็อาจก้าวไม่พ้นการทำงานไปวันๆ ถึงที่สุดแล้ว นโยบายต่างประเทศเป็นแค่ส่วนต่อขยายจากนโยบายภายในประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานภายนอกประเทศเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง มาเลเซียต้องหาทิศทางที่ถูกต้องภายในประเทศให้ได้เสียก่อน
Elina Noor
Elina Noor is Director, Political-Security Affairs and Deputy Director, Washington, DC office, Asia Society Policy Institute
Notes:
- https://www.malaymail.com/news/what-you-think/2021/09/17/a-legal-view-of-the-mou-between-the-government-of-malaysia-and-pakatan-hara/2006370 ↩
- https://www.pmo.gov.my/wp-content/uploads/2019/09/Foreign-Policy-Framework-for-New-Malaysia-min.pdf ↩
- Kuik, C. C. and Thomas, D. (2022), “Malaysia’s Relations with the United States and China: Asymmetries (and Anxieties) Amplified”, Southeast Asian Affairs, forthcoming ↩
- https://www.youtube.com/watch?v=UP0HhdNe2cc ↩
- https://twitter.com/tudm_rasmi/status/1399685724706770946/photo/1 ↩
- https://www.kln.gov.my/web/guest/-/ministry-of-foreign-affairs-will-issue-a-diplomatic-protest-and-summon-the-ambassador-of-the-people-s-republic-of-china ↩
- https://www.kln.gov.my/web/guest/-/announcement-by-australia-united-kingdom-and-the-united-states-on-enhanced-trilateral-security-partnership-aukus ↩
- https://www.nst.com.my/news/nation/2021/09/730726/we-only-want-know-chinas-stand-aukus-said-hishammuddin ↩
- https://asean.org/wp-content/uploads/Chairmans-Statement-on-ALM-Five-Point-Consensus-24-April-2021-FINAL-a-1.pdf ↩
- https://www.kln.gov.my/web/guest/-/launching-ceremony-of-foreign-policy-framework-7-december-2021 ↩