ระบอบสหพันธรัฐในฐานะธงนำการปฏิวัติของเมียนมา

Htet Min Lwin

นับตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา เมียนมาพยายามแสวงหาระบบการเมืองที่จะรองรับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา ชาติพันธุ์และศาสนาอันหลากหลายรุ่มรวยของตน  ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เรียกร้องระบอบสหพันธรัฐมาตลอด โดยเชื่อว่าจะเป็นวิถีทางหนึ่งในการสร้างหลักประกันให้แก่ความเท่าเทียมและสิทธิของทุกกลุ่มชน  อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบบรวมศูนย์รวบอำนาจที่เผด็จการทหารยัดเยียดให้แก่ประเทศ ซึ่งควบคุมปกครองเมียนมามาตั้งแต่ปี 1962 จนถึงปี 2010 การหยิบยกประเด็นระบอบสหพันธรัฐมาอภิปรายถกเถียงกันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ก่อให้เกิดรูปแบบระบอบสหพันธรัฐที่มีลักษณะรวมศูนย์  แม้กระทั่งภายใต้รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy—NLD) (2016-2021) การดำเนินนโยบายในภาคปฏิบัติและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเมียนมาก็ยังคงมีลักษณะรวมศูนย์เช่นเดิม

หลังจากสรุปประวัติศาสตร์ด้านนี้พอสังเขปแล้ว บทความนี้เน้นความสนใจไปที่สภาพการณ์ต่างๆ ซึ่งการรัฐประหารปี 2021 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิวาทะเกี่ยวกับระบอบสหพันธรัฐอย่างลึกซึ้ง  บทความจะวิเคราะห์ถึงการที่กลุ่มผู้นำหนุ่มสาวของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ผลักดันให้ประเด็นระบอบสหพันธรัฐกลายเป็นจุดศูนย์กลางของข้อเรียกร้องของขบวนการต่อต้านรัฐประหาร และชี้ให้เห็นจุดยืนที่เปลี่ยนไปในวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นชาติพันธุ์  กล่าวคือ มีการเปลี่ยนจุดยืนจากก่อนหน้านี้ที่เน้นระบอบสหพันธรัฐซึ่งตั้งอยู่บนตัวแบบวงศ์วาน-ชาติพันธุ์ (ethnic-genealogical model) เปลี่ยนมาเป็นระบอบสหพันธรัฐที่ตั้งอยู่บนตัวแบบอาณาเขต-ประชากร (civic-territorial model)  จากนั้นจะพิจารณาถึงนัยสำคัญของการที่คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw—CPRH) ประกาศล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 และประกาศใช้กฎบัตรสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Federal Democracy Charter) แทน  ส่วนที่ 1 ของกฎบัตรนี้เชิดชูหลักการสหพันธรัฐที่เปิดกว้างอย่างมาก  ความคลี่คลายดังกล่าวและการยอมรับระบอบสหพันธรัฐว่าเป็นอนาคตทางการเมืองของเมียนมา แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพยายามบ่มเพาะแนวคิดเกี่ยวกับระบอบสหพันธรัฐตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกทางสังคมอย่างลึกซึ้ง หลายด้านและหลายชั้น ยังคงฝังอยู่ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ ภูมิศาสตร์ ความเป็นพลเมืองและศาสนา ตลอดจนความแตกแยกในประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย  สถานการณ์ในปัจจุบันมิได้คลี่คลายการแบ่งแยกเหล่านี้และรวมประชาชนเข้าด้วยกันได้ในชั่วข้ามคืน  ปัญหาของความไว้วางใจยังมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง  ยิ่งกว่านั้น การเจรจาในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะเกี่ยวกับส่วนที่ 2 ของกฎบัตรสหพันธรัฐประชาธิปไตย ยังจำเป็นต้องทำให้คุณค่าที่วางไว้ในส่วนที่ 1 ปรากฏเป็นจริงและสถาปนาระบอบสหพันธรัฐให้ได้

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของระบอบสหพันธรัฐในเมียนมา

เมียนมาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายอย่างมาก ทั้งในด้านชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม แต่ชนชาติบะหม่า (Bamar ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า พม่า) ที่นับถือพุทธศาสนาเป็นประชากรชนกลุ่มใหญ่และมีอำนาจครอบงำด้านการปกครองมาแต่ไหนแต่ไร  กลุ่มผู้นำชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ทั้งจากพรรคการเมืองและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations—EAOs) ต่างมีความเห็นมานานแล้วว่า ระบอบสหพันธรัฐเป็นหนทางที่จะคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของประชากรตน รวมทั้งคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากการขูดรีดและการกดขี่ของชนชาติบะหม่าด้วย  อีกทั้งยังเป็นการโอนถ่ายอำนาจจากรัฐบาลกลางไปสู่ระดับมลรัฐ  ผู้นำระดับชาติไม่เคยตอบรับเสียงเรียกร้องให้กระจายอำนาจและใช้ระบอบสหพันธรัฐเลย  ตั้งแต่ต้นปี 1959 Silverstein 1 บัญญัติศัพท์คำว่า “ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของระบอบสหพันธรัฐ” เพื่อใช้บรรยายถึงสภาพการณ์ที่ชนชั้นนำชมชอบรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากมากกว่า แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองจึงจำต้องยอมให้มีลักษณะแบบสาธารณรัฐอยู่บ้างเพื่อเอาใจชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

รัฐบาลทหารที่ปกครองเมียนมาตั้งแต่ปี 1962 จนถึงปี 2010 วางรากฐานระบบที่มีการรวมศูนย์อย่างยิ่ง  ข้ออ้างประการหนึ่งที่ระบอบทหารนำมาใช้ก็คือความจำเป็นต้องป้องกันมิให้เมียนมาแตกเป็นเสี่ยงๆ  ระบอบสหพันธรัฐ (ซึ่งถูกมองว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งที่อาจนำไปสู่การแยกตัวเป็นเอกราชของรัฐชาติพันธุ์) จึงกลายเป็นทัศนะที่น่าหวาดระแวง  เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2010  แนวคิดเกี่ยวกับระบอบสหพันธรัฐมิใช่หัวข้อต้องห้ามอีกต่อไป  กระนั้นอำนาจการปกครองยังคงรวมศูนย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008

ภายใต้รัฐบาล NLD เช่นเดียวกับรัฐบาลชุดอื่นก่อนหน้านี้ ชนชั้นนำทางการเมืองยังคงมีความคิดแตกแยกกันเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองที่จะเปิดทางให้แก่การปกครองตนเองดังที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เรียกร้อง ในขณะเดียวกันก็ไม่สร้างหรือซ้ำเติมปัญหาอื่นๆ ขึ้นมา  อย่างไรก็ตาม มีข้อยอมรับร่วมกันที่สำคัญคือ การเจรจาเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพบรรลุความเห็นพ้องต้องกันว่า อนาคตของเมียนมาคือสหพันธรัฐ  กระนั้นก็ตาม ยังคงมีความไม่เห็นพ้องต้องกันอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับคำศัพท์ โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่าง “ระบอบประชาธิปไตยสหพันธรัฐ” กับ “รัฐสหพันธรัฐประชาธิปไตย”  ความไม่ลงรอยกันในเรื่องนี้สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ก็ตอกย้ำทัศนะของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยว่า รัฐบาล NLD ให้ความสำคัญแก่กระบวนการประชาธิปไตยมากกว่าระบอบสหพันธรัฐ

ในขณะเดียวกัน องค์กรภาคประชาสังคมใช้โอกาสที่เกิดจากการเปิดพื้นที่ในภาคพลเรือนมากขึ้นหลังจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวระบอบสหพันธรัฐอย่างกว้างขวาง มีตั้งแต่การประชุมแบบประชาพิจารณ์ไปจนถึงหลักสูตรขั้นก้าวหน้าและออกแบบให้เข้ากับผู้เรียนมากขึ้น  การรณรงค์นี้ช่วยขยายประเด็นให้เป็นที่รับรู้และทำให้แนวคิดนี้มีที่ทางในวาทกรรมเกี่ยวกับการพัฒนา รวมทั้งดึงดูดผู้สนับสนุนหน้าใหม่เข้ามาได้มากขึ้น

ระบอบสหพันธรัฐในขบวนการต่อต้านรัฐประหารและ GSC-N

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ระบอบสหพันธรัฐยังไม่ใช่ธงนำของข้อเรียกร้องทางการเมืองในทันที  การประท้วงช่วงแรกเรียกร้องแค่ปล่อยตัวผู้นำทางการเมืองและคืนอำนาจให้รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย 2  ไม่มีการเอ่ยถึงระบอบสหพันธรัฐแต่อย่างใด  กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ล้มล้างการรัฐประหาร แต่ยังอยู่ภายในกรอบแนวคิดของรัฐธรรมนูญ 2008

คณะกรรมการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศแห่งชาติพันธุ์ (General Strike Committee of nationalities หรือ GSC-N) คือผู้นำพาประเด็นระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตยเข้ามาเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองของขบวนการต่อต้านรัฐประหาร ทั้งในแง่ของการเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนและเป็นเป้าหมายที่ CRPH ให้การรับรองอย่างเป็นทางการ  GSC-N เป็นเครือข่ายพันธมิตรของคนหนุ่มสาว พวกเขาส่วนใหญ่ได้เรียนรู้และศึกษาแนวคิดระบอบสหพันธรัฐและแนวคิดอื่นๆ ทางสังคมศาสตร์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา  ถึงแม้เกือบทุกคนพำนักอยู่ในย่างกุ้ง แต่พวกเขาเกิดและเติบโตในรัฐชาติพันธุ์ อีกทั้งมีสายสัมพันธ์ทั้งในเชิงส่วนตัวและเชิงสถาบันกับพรรคการเมืองชาติพันธุ์และ EAOs  ด้วยภูมิหลังเช่นนี้  จึงไม่น่าประหลาดใจที่ข้อเรียกร้องของ GSC-N จึงมีประเด็นการก่อตั้งสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตย ตลอดจนแนวคิดระบบการนำเป็นหมู่คณะ ความเท่าเทียมและความยุติธรรม การเคารพซึ่งกันและกัน และการกำหนดชะตากรรมตัวเอง  ข้อเรียกร้องเหล่านี้ทำให้ GSC-N แตกต่างจากกลุ่มประท้วงอื่นๆ ซึ่งมุ่งเน้นแค่การปล่อยตัวนักโทษการเมืองและเรียกร้องให้ยอมรับผลการเลือกตั้งปี 2020  ดังที่ผู้นำคนหนึ่งของ GSC-N กล่าวว่า “พวกเรา ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ มีข้อเรียกร้องที่ลุ่มลึกกว่า  วิสัยทัศน์ของเราคือการสถาปนาสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตยของทุกชนชาติในเมียนมา” 3  วิสัยทัศน์นี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในรัฐชาติพันธุ์ ซึ่งจัดการประท้วงในนามของ GSC-N และส่งเสียงสะท้อนข้อเรียกร้องทั้งห้าประการ

“Spiralling into Chaos”: anti-coup protesters in Yangon, Myanmar in March 2021. Photo: Maung Nyan / Shutterstock.com

ความจำเป็นของการมีจินตกรรมที่โอบอุ้มทุกหมู่ชน: คำขอโทษสาธารณะของกลุ่มคน

แต่ไหนแต่ไรมา การเรียกร้องระบอบสหพันธรัฐในเมียนมามักอยู่ในกรอบของตัวแบบวงศ์วาน-ชาติพันธุ์ กล่าวคือ การกำหนดมลรัฐหนึ่งๆ โดยดูจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในมลรัฐนั้นๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง  ผลที่ตามมาก็คือ ประเด็นของชาติพันธุ์กับระบอบสหพันธรัฐจึงเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ควรตั้งข้อสังเกตว่า GSC-N พยายามปรับนิยามแนวคิดและเรื่องเล่าแม่บทเกี่ยวกับชาติพันธุ์ในเมียนมาเสียใหม่ด้วย

แต่เดิมนั้น คำว่า “ชาติพันธุ์” มีความหมายเทียบเท่ากับคำว่า “taìn-yìn-dhà” ในภาษาพม่า  คำคำนี้เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงเพียงแค่ “เชื้อชาติประจำชาติ” 135 กลุ่มที่รัฐให้การรับรองเท่านั้น  ดังนั้นจึงเท่ากับกีดกันชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ ออกไป เช่น ชาติพันธุ์จีนและโรฮิงญา  GSC-N ต้องการตีตัวออกห่างจากคำนิยามที่คับแคบของคำว่า “taìn-yìn-dhà” พวกเขาจึงเปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า “lu-myò-zoun” ซึ่งมีความหมายว่า “lu-myò ที่หลากหลาย” (ชนชาติต่างๆ)   ในรายการ lu-myò ที่พวกเขาแจกแจงนั้น มี “ka-byà” และ “ชาวมุสลิมเมียนมา” ด้วย ซึ่งคนสองกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรับรองว่าเป็น “taìn-yìn-dhà”  เมื่อผู้ประท้วงทั่วประเทศยอมรับชื่อและหลักการของ GSC-N ก็เท่ากับยอมรับการเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับชาติพันธุ์

ในขณะเดียวกัน เมื่อได้ประจักษ์ต่อความโหดเหี้ยมป่าเถื่อนของกองทัพเมียนมากับตัวเอง ทำให้ประชาชนจำนวนมากย้อนกลับมาทบทวนการรับรู้ของตนที่มีต่อความทุกข์ทรมานของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึงชาวโรฮิงญา  ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ออกมาขอโทษต่อทัศนคติของตนในอดีตและแสดงความสมานฉันท์ร่วมกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์  ยกตัวอย่างเช่น มีผู้หนึ่งเขียนว่า “เราจะเก็บรับบทเรียนจากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้  นับแต่นี้เป็นต้นไป ทุกการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทุกความอยุติธรรมที่กระทำต่อ taìn-yìn-dhà โรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เราจะขอคัดค้านและต่อสู้เพื่อสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตยและเพื่อความยุติธรรมโดยไม่กีดกั้นด้วยภูมิศาสตร์ ชาติพันธุ์และศาสนา  เราจะต่อสู้ต่อไปในสมรภูมินี้โดยร่วมแรงร่วมใจกับประชาชนทุก taìn-yìn-dhà ในเมียนมา”  คนหนุ่มสาวในสื่อสังคมออนไลน์เริ่มตั้งคำถามกับแนวคิด “taìn-yìn-dhà” 4 และการใช้แนวคิดนี้เป็นพื้นฐานของระบอบสหพันธรัฐที่วางบนตัวแบบวงศ์วาน-ชาติพันธุ์  แล้วหันมาให้เหตุผลสนับสนุนตัวแบบอาณาเขต-ประชากรแทน  พร้อมกันนั้น ผู้ประท้วงตามท้องถนนก็เรียกร้องให้ยุติการแบ่งแยกกีดกันอันสืบเนื่องจากชาติพันธุ์และศาสนา  ด้วยเหตุนี้ การที่ GSC-N หยิบยกประเด็นระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตยขึ้นมา บวกกับการออกมากล่าวขออภัยสาธารณะ ได้กลายเป็นเสียงอันทรงพลังของประชาชนที่ร่วมกันเรียกร้องต้องการระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย

Muslim Rohingya waiting the foods in the refugee camp in Bangladesh. HAFIZIE SHABUDIN / Shutterstock.com

CRPH และแกนนำคนรุ่นใหม่

ระหว่างการหารือเพื่อก่อตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ  สภาปรึกษาหารือเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Consultative Council—NUCC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวทีให้ CRPH พรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้นำขบวนการต่างๆ มาประชุมหารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนใหม่  ในบริบทนี้ สมาชิกของ CRPH ได้พบปะกับ GSC-N ซึ่งเสนอให้ CRPH แสดงออกถึงความยึดมั่นในพันธกิจเพื่อระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตยโดยประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2008 และลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นทางการเพื่อรับรองหลักการ 5 ข้อของ GSC-N  คำขวัญของ GSC-N ได้รื้อฟื้นวิวาทะดั้งเดิมว่า ระหว่าง “ระบอบสหพันธรัฐ” หรือ “ประชาธิปไตย” อะไรควรมาก่อนกันในคำศัพท์ทางการเมืองอย่างเป็นทางการ  การใช้คำว่า “ระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย” ได้รับพลังผลักดันจากประชาชนและได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากผู้นำระดับสูง รวมทั้งพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และ EAOs

สมาชิกของ CRPH ตระหนักดีถึงวิวาทะเกี่ยวกับคำศัพท์ที่ไม่มีทางจบสิ้น ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการเจรจากระบวนการสันติภาพและความจำเป็นเร่งด่วนที่พวกเขาต้องการก่อตั้งแนวร่วมพันธมิตรขึ้นมา  ด้วยเหตุนี้ CRPH จึงยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่มการเมืองชาติพันธุ์  และในวันที่ 5 มีนาคม  CRPH ก็ยอมรับคำว่า “ระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย” เป็นคำเรียกอย่างเป็นทางการ  ในขณะเดียวกันก็เกิดจุดหักเหทางการเมืองอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อ CRPH ละทิ้งนโยบายปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเป็นนโยบายทางการของพรรค NLD ก่อนหน้านี้ และปฏิญาณว่าจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2008 และร่างรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐขึ้นมาแทน 5  เพื่อปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานี้ NUCC จึงยกร่างกฎบัตรสหพันธรัฐประชาธิปไตยส่วนที่ 1 ขึ้นมา ซึ่งวางหลักการของระบอบสหพันธรัฐอย่างเปิดกว้างมาก ส่วน CRPH ก็ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008  ดังที่ที่ปรึกษาทางกฎหมายผู้หนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้  การตัดสินใจนี้มาจากแรงผลักดันทางการเมืองมากกว่าหลักพิจารณาทางกฎหมาย  ในเชิงกฎหมายนั้น มันค่อนข้างประหลาดที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2008 ซึ่งรับรองความต่อเนื่องและความชอบธรรมทางกฎหมายแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันเห็นข้ออ้างสำคัญที่จะใช้แสวงหาการยอมรับจากนานาประเทศ

แน่นอน มีความกังวลว่าการที่ CRPH ยอมโอนอ่อนครั้งนี้ เป็นแค่การเอาใจสาธารณชนมากกว่าจะผูกมัดตัวเองกับระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตยอย่างจริงจัง  กล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่คือการย้อนกลับไปหา “ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของระบอบสหพันธรัฐ” ที่ Silverstein เคยชี้ให้เห็น การปลุกแนวคิดเรื่องระบอบสหพันธรัฐของผู้นำทางการเมืองชาวบะหม่าก่อนหน้านี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นแค่ “ความเอาแต่ได้และฉวยโอกาส ไม่มีความจริงใจและความคงเส้นคงวา”  ความกังวลนี้ยิ่งมีมากขึ้นสืบเนื่องจาก CRPH เป็นทายาทจากมรดกทางการเมืองของพรรค NLD เพราะ CRPH ก่อตั้งจากสมาชิกพรรค NLD เกือบทั้งหมด  ทั้งยังได้รับการรับรองจากแกนนำพรรค NLD ด้วย  ดังนั้น จึงมีเหตุผลไม่น้อยที่จะมองว่า CRPH ถูกครอบงำจากพรรค NLD (และจึงถูกครอบงำจากชาวบะหม่า)  ข้อนี้ทำให้หลายคนระแวงว่า ทั้งหมดอาจเป็นแค่การเอาจุดยืนของคนรุ่นก่อนมาปรับโฉมใหม่  ในมุมมองตรงกันข้าม การที่ CRPH ไม่ได้ก่อตั้งจากแกนนำระดับสูงสุดของพรรค NLD ก็ช่วยสนับสนุนทัศนะที่มองว่า กลุ่มผู้นำหน่มสาวรุ่นใหม่มีความจริงใจที่ต้องการเห็นสหพันธรัฐพม่าเกิดขึ้น  ในแง่นี้ คำขอโทษชาวโรฮิงญาของสมาชิก CRPH คนหนึ่ง 6 ถือเป็นเครื่องชี้วัดจุดยืนของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ

บทสรุป

บทความนี้พยายามทำความเข้าใจพัฒนาการโดยรวมของวิวาทะเกี่ยวกับระบอบสหพันธรัฐในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่เน้นความสนใจไปที่ช่วงเวลาอันละเอียดอ่อนซับซ้อนภายหลังรัฐประหาร  ถึงแม้จุดมุ่งเน้นของขบวนการในช่วงแรกอยู่ที่การขับไล่เผด็จการทหาร แต่เกิดการพลิกผันอย่างรวดเร็วและหันไปหาเป้าหมายทางการเมืองที่กว้างใหญ่กว่าเดิม กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐ โดยเฉพาะหลังจากกลุ่ม GSC-N และขบวนการทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกันมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  แน่นอน การบรรลุเป้าหมายใหม่นี้จำเป็นต้องขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารออกไปก่อน  แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการก็คือ มันจำเป็นต้องมีแกนนำทางการเมืองที่ผนึกรวมกลุ่มต่อต้านรัฐประหารฝ่ายต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความเจ็บช้ำน้ำใจที่ฝังรากลึกในพรรคการเมืองชาติพันธุ์ได้รับการแก้ไขทุเลาลง ลดอคติและเชื้อชาตินิยม รวมทั้งก้าวพ้นความไม่ไว้วางใจที่มีมายาวนานในประวัติศาสตร์

ถึงแม้ทั้งหมดนี้อาจดูเหมือนเป็นอุปสรรคที่ยากต่อการฝ่าฟันอย่างยิ่ง แต่อย่างน้อยทัศนคติของประชาชนก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ  ประชาชนไม่เพียงโอบรับแนวคิดระบอบสหพันธรัฐ แต่ยังโน้มเอียงไปในทางตัวแบบอาณาเขต-ประชากรมากกว่าตัวแบบวงศ์วาน-ชาติพันธุ์ด้วย  เรื่องนี้ช่วยผลักดันให้ CRPH ปวารณาตนที่จะก่อตั้งระบอบสหพันธรัฐและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2008  ทั้งหมดนี้เป็นพัฒนาการในเชิงบวก ถึงแม้มันยังไม่ได้คลี่คลายข้อถกเถียงเกี่ยวกับรูปแบบของระบอบสหพันธรัฐที่ดีที่สุดสำหรับเมียนมา ซึ่งดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษก็ตาม  กล่าวสั้นๆ ก็คือ รัฐประหารครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงข้อพิจารณาเกี่ยวกับระบอบสหพันธรัฐของเมียนมาอย่างลึกซึ้งถึงรากฐาน  อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับประเด็นของ “taing-yin-dhà” ด้วย  ทว่าเส้นทางสู่การปฏิรูประบบการเมืองยังทอดไปอีกยาวไกล

Htet Min Lwin
PhD Candidate, York University, UK

Notes:

  1. https://online.ucpress.edu/as/article-abstract/28/7/97/36289/The-Federal-Dilemma-in-Burma?redirectedFrom=fulltext
  2. https://www.youtube.com/watch?v=WVN2GUuk50g
  3. https://www.bbc.com/news/world-asia-56356213
  4. https://www.facebook.com/kyawkyaw.thet.7359/posts/3102665506680806
  5. https://www.facebook.com/crph.official.mm/photos/129168539209126
  6. https://www.facebook.com/watch/live/?v=792966301605507&ref=watch_permalink