ขบวนการสิ่งแวดล้อมกับการเมืองเชิงศีลธรรม: วิพากษ์และทบทวนขบวนการสิ่งแวดล้อมภายใต้และ (อาจจะ) ภายหลังรัฐบาลทหารไทย

Bencharat Sae Chua

“การเคลื่อนไหวของเราไม่เกี่ยวกับการเมือง”

ผู้เขียนได้ยินข้ออ้างทำนองนี้จากปากนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยหลายครั้งหลายหน ทั้งในเวทีแสดงความคิดเห็นสาธารณะและในการประชุมวงปิด  ข้ออ้างนี้แพร่หลายเป็นพิเศษในการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในระยะหลังสามขบวนการด้วยกัน กล่าวคือ การประท้วงต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ การเคลื่อนไหวต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ป่า อันสืบเนื่องมาจากข่าวอื้อฉาวที่นักธุรกิจไทยพัวพันกับการฆ่าเสือดำ และการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการบ้านพักของผู้พิพากษาที่ก่อสร้างภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยสุเทพ  เหตุใดการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจึงป่าวประกาศตัดขาดตัวเองจากการเมืองเช่นนี้?  แนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยม (Environmentalism) ที่ลดทอนความเป็นการเมืองแบบนี้ส่งผลอย่างไรบ้าง?  ข้ออ้างของขบวนการสิ่งแวดล้อมอาจเปลี่ยนไปอย่างไรในบริบทที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ?  ผู้เขียนจะสำรวจตรวจสอบคำถามดังกล่าวในบทความนี้ โดยพิจารณาถึงผลกระทบของการตัดขาดจากการเมือง  ตลอดจนแนวทางที่เป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดขบวนการสิ่งแวดล้อมทางการเมืองที่เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมปรับทิศทางให้สอดรับกับเป้าหมายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระดับประเทศ

การทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่มีการเมือง

การทำให้การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองกลายเป็นแนวปฏิบัติทั่วไปภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  รัฐบาลทหารปกครองประเทศไทยภายหลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2562  ภายใต้การปกครองของกองทัพ นักกิจกรรมในทุกประเด็นต้องแบกรับการต่อสู้ทางการเมืองที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่งทั้งต่อตัวเองและชุมชนของตน  ในบริบทที่มีการกดขี่ปราบปรามเช่นนี้ เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ขบวนการต่างๆ พยายามทำให้ข้อเรียกร้องของตนมีระยะห่างจากข้อเรียกร้องทางการเมืองระดับชาติเพื่อให้ตัวเองปลอดภัย  อย่างไรก็ตาม การป่าวประกาศความไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองของบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกลับยังคงเหมือนเดิมภายใต้รัฐบาลใหม่ที่มาแทน คสช. ซึ่ง คสช.เองก็รักษาอิทธิพลของตนเอาไว้ภายหลังการเลือกตั้งที่มีข้อน่าเคลือบแคลงและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง  การยืนยันกรอบการเคลื่อนไหวกรอบเดิมนี้ชี้ให้เห็นว่ามีอะไรมากกว่าแค่การเมืองเชิงยุทธศาสตร์  มันเผยให้เห็นความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่ซุกซ่อนอยู่ข้างใต้ ซึ่งคอยกำหนดทิศทางการเมืองในภาพใหญ่ของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลักษณะที่พวกเขาออกแบบขบวนการของตน

อันที่จริง ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้มุ่งประเด็นปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก  ตรงกันข้าม มีหลายขบวนการที่เชื่อมโยงประเด็นสิทธิในการดำรงชีพและการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติโดยมีสำนึกถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วย  แต่เนื่องจากขบวนการที่มีเป้าหมายในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและ/หรืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมักได้รับความสนใจจากสาธารณชนและได้รับการสนับสนุนมากกว่าขบวนการที่มุ่งเน้นประเด็นสิทธิการดำรงชีพและเข้าถึงทรัพยากร

ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจนก็คือขบวนการต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ 1 ในจังหวัดนครสวรรค์  ในปี 2556 ขบวนการนี้ช่วยเติมพลังให้การเมืองด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมืองภาพใหญ่ในช่วงปลายทศวรรษ 2540  แต่ขบวนการนี้แตกต่างจากขบวนการต่อต้านเขื่อนในอดีต  ขบวนการต่อต้านเขื่อนที่ผ่านมามักเน้นย้ำผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการดำรงชีพของชุมชนท้องถิ่น (จึงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางมากนัก)  ส่วนขบวนการต่อต้านเขื่อนแม่วงก์วางข้ออ้างหลักที่การปกป้องป่าต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรเสือโคร่งกลุ่มสุดท้ายในประเทศไทย  ขบวนการนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากชนชั้นกลางในเมือง และกลายเป็นต้นแบบโดดเด่นด้านการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมในทศวรรษที่แล้วในสายตาของหลายๆ คน

ในทำนองเดียวกัน เมื่อต้นปี 2561 มีกรณีการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมแบบไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอีกสองกรณีที่ได้เป็นข่าวพาดหัว  กรณีแรกเกิดขึ้นโดยเป็นปฏิกิริยาต่อคดีที่เจ้าพ่อนักธุรกิจใหญ่พัวพันกับการลักลอบล่าสัตว์ป่า 2 ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร  ภาพถ่ายอุจาดตาของผู้ลักลอบล่าสัตว์กับซากหนังเสือดำที่เป็นสัตว์ป่าหายากทำให้เกิดขบวนการที่เรียกร้องความรับผิดชอบ  ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่านักล่าสัตว์ทรงอิทธิพลคนนี้มีโอกาสหลุดจากการถูกดำเนินคดี  การประท้วงจึงปลุกประเด็นเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นในกระบวนการยุติธรรมและการอนุรักษ์สัตว์ป่า  กรณีโครงการบ้านพักผู้พิพากษา 3 ก็เช่นกัน ผู้ประท้วงส่งเสียงแสดงความไม่พอใจคล้ายๆ กันต่อการรุกป่าสงวนดอยสุเทพในจังหวัดเชียงใหม่  ทั้งสองกรณีก่อให้เกิดการประท้วงสาธารณะและขบวนการเรียกร้องให้ปกป้องผืนป่าอย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าการคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจในทางมิชอบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้ทั้งสองกรณีนี้เน้นย้ำให้เห็นความอยุติธรรม แต่ทั้งสองขบวนการก็โฟกัสที่การปกป้องผืนป่ามากกว่าปัญหาโครงสร้างระบบใหญ่   สองขบวนการนี้และขบวนการสิ่งแวดล้อม “สีเขียว” อื่นๆ 4 มักไม่ค่อยท้าทายโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่กำหนดสิทธิในการเข้าถึง จัดสรร คุ้มครองหรือใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติ  ขบวนการสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จัดลำดับให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญเหนือกว่าการเรียกร้องการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียม คุ้มครองประชาชนจากผลกระทบที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าเทียม รวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการวางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ  ในแง่นี้ มันสะท้อนให้เห็นความแตกแยกภายในแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมของไทย  ยกตัวอย่างเช่น ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายป่าชุมชนเต็มไปด้วยความขัดแย้งบาดหมางระหว่างกลุ่มที่เชื่อว่าการปกป้องป่าจำเป็นต้องกีดกันกิจกรรมของมนุษย์ออกไปให้พ้นป่ากับกลุ่มที่รณรงค์เรียกร้องสิทธิของชุมชนในการจัดการดูแลป่า (โปรดดูตัวอย่างเช่น Forsyth & Walker 2008)

ยิ่งกว่านั้น ขบวนการสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ขยายข้ออ้างทางศีลธรรมและความรู้สึกชิงชังการคอร์รัปชั่นไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งครอบงำความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยยาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษ  ภายในกรอบคิดเชิงศีลธรรมนี้ ปัญหาสังคมดูเหมือนเป็นผลลัพธ์ของความล้มเหลวทางศีลธรรมส่วนบุคคลมากกว่าเป็นเพราะการตัดสินใจทางการเมืองที่ผิดพลาด หรือการวางนโยบาย หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม  การเมืองเชิงศีลธรรมของแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมของชนชั้นกลางหันเหความสนใจของสังคมไปจากประเด็นความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นคำถามใหญ่กว่า  ยกตัวอย่างเช่น ขบวนการต่อต้านโครงการเหมือง ซึ่งมักอ้างอิงกรอบความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม มักมีการขับเคลื่อนในท้องถิ่นโดยชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้าง  ในแง่นี้ การลดทอนความเป็นการเมืองในประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและในขบวนการสิ่งแวดล้อมไทยจึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองเป็นวงกว้างมาก

แนวคิดศีลธรรมนิยม ท้องถิ่นนิยมและสิ่งแวดล้อมนิยม

เราอาจอธิบายการลดทอนความเป็นการเมืองในประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการทบทวนอุดมการณ์และความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของขบวนการสิ่งแวดล้อมของไทย  ทั้งขบวนการสิ่งแวดล้อมสายสีเขียวและขบวนการความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่างก็รับแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมและกรอบการมองปัญหาเชิงสิ่งแวดล้อมมาใช้ตลอดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทย  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมดึงการสนับสนุนจากชนชั้นกลางได้มากกว่า  ส่วนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะขบวนการรากหญ้า มักนำเสนอปัญหาของตนในฐานะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่แท้ที่จริงใช้แนวทางที่ Guha and Martinez-Alier เรียกว่า “แนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมของคนจน” (Environmentalism of the Poor) (Guha and Martinez Alier 1997, 12) เพื่อยืนยันสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วยข้ออ้างว่าตนคือผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมตัวจริง  แนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยก่อให้เกิดพันธมิตรตัดข้ามชนชั้นที่ทำให้ความแตกต่างหลายประการพร่าเลือน (Hirsch 1997, 192)   อย่างไรก็ตาม ภายในบริบทนี้ นักเคลื่อนไหวมักให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมของคนจนน้อยกว่าเพราะเกรงว่าจะสูญเสียแรงสนับสนุนจากชนชั้นกลาง

แนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมของคนจนยังได้รับอิทธิพลจากวาทกรรมท้องถิ่นนิยมและวัฒนธรรมชุมชนที่เอ็นจีโอส่วนใหญ่ใช้สร้างภาพอุดมคติแก่วิถีชีวิตในชนบทและภูมิปัญญาท้องถิ่น  มันมีนัยยะถึงความไม่พอใจต่อวิถีชีวิตทุนนิยมสมัยใหม่และการเมืองแบบเลือกตั้งผู้แทนด้วย  ภายในกรอบแนวคิดดังกล่าวนี้ ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนถูกมองว่าเป็นแนวคิดตะวันตกที่ขาดรากฐานทางศีลธรรม มันเป็นแค่เวทีให้นักการเมืองฉ้อฉลปั่นหัวคนจนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว  วาทกรรมการเมืองสกปรกนำเสนอว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อชุมชนไทยพุทธ โดยอ้างเหตุผลว่าประเทศไทยควรถูกปกครองด้วยผู้นำที่มีศีลธรรมสูง  วาทกรรมศีลธรรมนิยมนี้เชื่อมโยงภาคประชาสังคมบางส่วนเข้ากับชนชั้นนำสายอนุรักษ์นิยมที่มีแนวคิดการเมืองเชิงศีลธรรมนิยมแบบเดียวกัน (Thorn 2016, 530)  ทั้งสองกลุ่มต่างเน้นย้ำ “ความชอบธรรม” ของ “คนดี” โดยมองว่าคนดีสมควรเป็นผู้ปกครองเพราะความดี ไม่ใช่นักการเมืองจากการเลือกตั้งที่ได้รับเลือกจากเสียงข้างมากของประชาชน เพราะคนสองกลุ่มนี้มองว่าประชาชนไม่มีความสามารถในการเลือกคนดีมีศีลธรรม  ความขัดแย้งทางการเมืองและการเคลื่อนไหวประท้วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่กระทำในนามของประชาธิปไตย จึงถูกมองว่าเป็นแค่วิธีการรุนแรงและสร้างความวุ่นวายเพื่อต่อสู้ให้กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองกลุ่มเล็กๆ

ภายในบริบทเชิงสถาบันและวาทกรรมเช่นนี้เองที่ขบวนการสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันต้องวางกรอบกำหนดการพัวพันกับการเมือง  ระหว่างการประท้วงขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในช่วงปลายทศวรรษ 2540 และการประท้วงครั้งต่อๆ มาเพื่อขับไล่รัฐบาลที่เป็นพันธมิตรของทักษิณช่วงปลายปี 2556 จนถึงต้นปี 2014 นักกิจกรรมและองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มที่ทำงานกับขบวนการสิ่งแวดล้อมด้วย จับมือกันเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทน  พวกเขาเรียกร้องเช่นนั้นเพราะเชื่อว่ากองทัพมีศีลธรรมสูงกว่านักการเมือง  ระหว่างการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนไม่ได้ส่งเสียงคัดค้านการรัฐประหาร  ยิ่งกว่านั้น บุคคลสำคัญจากภาคประชาสังคมบางคนยังเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ “ปฏิรูปการเมือง” ของรัฐบาลทหาร โดยมองว่านี่คือโอกาสในการกำจัดการเมืองที่ไร้ศีลธรรม  ในบริบทเช่นนี้ ในสายตาของพวกเขา รัฐบาลทหารสามารถส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมในฐานะการกระทำอันมีศีลธรรมและชอบธรรม

ถึงขนาดที่นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมระดับแถวหน้าคนหนึ่ง 5 ฝากความหวังไว้กับ คสช. “ตอนนี้แค่อยากให้วางรากฐานอะไรให้ดีๆ ใช้ความรวดเร็วขณะที่บ้านเมืองยังไม่มีฝ่ายค้าน” เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการตัดไม้ทำลายป่า หรือออกกฎหมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ระบอบการปกครองของไทยมุ่งเน้นการพัฒนามากกว่ารักษาสิ่งแวดล้อม  นัยยะของคำให้สัมภาษณ์นี้เห็นได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ การเมืองเชิงศีลธรรมของการปกป้องสิ่งแวดล้อมสอดคล้องเป็นอย่างดีกับการปกครองระบอบทหารอำนาจนิยม

Bangkok’s smog cloaking the Chao Praya River

การนำการเมืองกลับมาสู่การเมืองด้านสิ่งแวดล้อม?

การที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอ้าแขนรับรัฐบาลทหารชุดนี้น่าจะเป็นเรื่องย้อนแย้งมากทีเดียว  ภายหลังการรัฐประหาร 2557 รัฐบาลทหารภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงให้เห็นความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมกับโครงสร้างการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  กล่าวคือ คสช. ออกคำสั่งจำนวนหนึ่งภายใต้อำนาจของมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559  เปิดทางให้รัฐบาลดำเนินโครงการพัฒนาโดยจำกัดการมีส่วนร่วมของสาธารณชน

โครงการเหล่านี้จำนวนมากก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วงทั้งต่อการดำรงชีพของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ  ตัวอย่างเช่น การประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าและการจัดการของเสียได้รับการยกเว้นจากกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร (คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2559 และ 4/2559) คำสั่งยกเว้นข้อบังคับอีกฉบับที่ทำให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนสภาพที่ดินสาธารณะและป่ามาใช้เป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่อนุญาตให้ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือใช้ที่ดินนั้นหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินนั้นคัดค้าน (คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 17/2558)  คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 9/2559 อนุญาตให้รัฐสามารถจัดหานักลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาลหรือที่อยู่อาศัย ที่พิจารณาแล้วว่า “มีความจำเป็นเร่งด่วน” โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จสิ้นเสียก่อน  คำสั่งเหล่านี้ยังคงมีผลบังคับภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน  การปกครองที่กดขี่ของ คสช.และรัฐบาลชุดต่อมาส่งผลให้มีการจับกุม คุกคามและข่มขู่นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง 6 ไม่แตกต่างจากนักกิจกรรมด้านการเมือง

นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมไทยหลายคนที่มีบทบาทในการรณรงค์เพื่อสิทธิการดำรงชีพหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการแก้ไขประเด็นปัญหาสังคมอื่นๆ ก่อนความขัดแย้งทางการเมืองปะทุขึ้น ต่างค่อนข้างปิดปากเงียบในช่วงที่กองทัพกดขี่ปราบปรามผู้คิดต่าง  แม้ว่าบางคนตั้งคำถามต่อนโยบายบางอย่าง แต่มักไม่เรียกร้องประชาธิปไตย ตรงกันข้าม พวกเขากลับยืนยันจุดยืนไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง  แม้กระทั่งเมื่อเครือข่ายขบวนการประชาชนที่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมออกมาวิจารณ์คำสั่ง คสช. ที่มีปัญหา 7 แต่เครือข่ายก็ยังยอมรับอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยไม่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงที่มาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ผู้เขียนไม่ได้เหมารวมว่าขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในประเทศไทยตัดขาดจากการเมือง  อันที่จริง มีบางขบวนการที่มีเป้าหมายเชื่อมโยงกับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง 8 หรือจากอุตสาหกรรรมไร่อ้อยและโรงไฟฟ้าชีวมวล 9 ไม่ได้ใช้ข้ออ้างในการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว แต่ระบุว่าการต่อต้านโครงการเหล่านี้เป็นการต่อต้านระบอบทหารด้วย โดยมีการเรียกร้องประชาธิปไตยพร้อมกันไปกับการต่อต้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อตนโดยตรง  การเรียกร้องแบบนี้ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมเชิงศีลธรรม แต่ได้รับอิทธิพลจากวาทกรรมสิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตย  นักเคลื่อนไหวแนวทางนี้มักแสดงออกโดยไม่กลัวว่าเป้าหมายการต่อสู้ของตนจะถูกติดป้ายฉลากว่าเป็นเรื่องการเมือง  อันที่จริง บางกลุ่มตอบรับความเป็นการเมืองและถึงขั้นจับมือกันก่อตั้งพรรคสามัญชน 10 ในการเลือกตั้งปี 2562

ถึงแม้เราอาจไม่จัดประเภทขบวนการกลุ่มหลังนี้เป็นขบวนการสิ่งแวดล้อมแท้ๆ  แต่เป้าหมายของพวกเขาในการปกป้องสิ่งแวดล้อมก็เข้มแข็งและอาจเปลี่ยนโฉมหน้าของขบวนการสิ่งแวดล้อมไทยในระยะยาวได้  หากต้องการทำความเข้าใจการเมืองเชิงสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เราก็ต้องจับตาดูอิทธิพลของความพยายามที่จะนำการเมืองกลับมาสู่แนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมควบคู่ไปกับวาทกรรมสิ่งแวดล้อมเชิงศีลธรรมแบบดั้งเดิม

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว
อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

Banner: Protesters hold an anti-Mae Wong Dam rally on September 22,2013 in Bangkok, Thailand. The protesters known as Stop EHIA Mae wong Dam by walking 388 Km. from Mae wong to Bangkok. Photo: jirawatfoto / Shutterstock.com

Reference:

Forsyth, T & Walker, A 2008, Forest Guardians, Forest Destroyers: The politics of environmental knowledge in northern Thailand, University of Washington Press, Seattle.
Guha, R & Martinez Alier, J 1997, Varieties of Environmentalism: Essays North and South, Earthscan Publications, London.
Hirsch, P 1997, ‘The Politics of Environment: Opposition and legitimacy’, in Hewison, KJ (Ed.) Political change in Thailand: Democracy and participation, Routledge, New York, pp. 179-194.
Thorn P 2016, Redefining Democratic Discourse in Thailand’s Civil Society. Journal of Contemporary Asia. Vol 46, No. 3, 520-537.

Notes:

  1. https://www.nationthailand.com/politics/30215514
  2. https://www.bbc.com/news/world-asia-42959262
  3. https://www.khaosodenglish.com/news/2018/02/23/homes-carved-doi-suthep-forest-totally-legal-official/
  4. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0305750X07001453
  5. https://www.posttoday.com/politic/report/314591
  6. https://www.tlhr2014.com/?p=17808&lang=en
  7. http://www.enlawfoundation.org/newweb/wp-content/uploads/Statement-NCPO3-4-2559-Eng.pdf
  8. https://www.thaienquirer.com/12907/the-cost-of-opposing-mines-in-thailands-rural-heartland/
  9. https://isaanrecord.com/2019/09/25/sweetness-and-power-part-14/
  10. https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/1633994/commoners-party-says-it-wont-censor-election-ads