เพศกับการบริหารเขตอนุรักษ์ในเวียดนาม

Tuong Vi Pham

        

รัฐบาลเวียดนามได้พยายามแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาวะแวดล้อมและปัญหาความยากจนตลอดมา ด้วยการจัดตั้งเขตอนุรักษ์และเริ่มใช้นโยบายที่ให้ประโยชน์แก่ชุมชนซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์และโดยรอบ   อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้บางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง และสร้างความเหลื่อมล้ำทางเพศ   ตัวอย่างในกรณีศึกษาต่อไปนี้ได้จากชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์สองแห่ง คือหมู่บ้านเผ่าคินห์ในเขตอนุรักษ์บินห์เชาฟวคบู และหมู่บ้านเผ่าบานาในเขตอนุรักษ์คอนคาคินห์   ทั้งสองกรณีแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชายและหญิงในเรื่องโอกาสใช้ที่ดิน  การฝึกอบรม สินเชื่อ ทรัพยากรธรรมชาติ  และบทบาทในการเป็นผู้ตัดสินใจในระดับครอบครัวและชุมชน

กฎหมายที่ดิน ฉบับปี 1993 ระบุว่าการจัดสรรที่ดินจะต้องกระทำโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ  ทว่าร้อยละ 80 ของใบรับรองการใช้ที่ดินได้ให้ไว้ในนามของหัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้ชาย    ในหมู่บ้านบานา มีการลักลอบขายที่ดิน    เนื่องจากไม่มีการออกใบรับรองการใช้ที่ดินและจำนวนผู้อพยพเข้ามาอยู่ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว  ในทั้งสองหมู่บ้าน สามีได้ขายที่ดินของครอบครัวโดยไม่ได้ขออนุญาตจากภรรยาของตนก่อน

 

การหันไปปลูกพืชเศรษกิจและข้าวเปียกแทนพืชที่เป็นอาหารดั้งเดิมหมายถึงการใช้เทคนิคใหม่ ๆ ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนและเงินทุน  ขณะที่ชาวนาซึ่งเป็นผู้ชายได้เข้ารับการอบรม  ผู้หญิงกลับถูกละเลยเนื่องจากไม่ได้รับข่าวสาร ขาดเครือข่ายที่เข้มแข็ง ไม่รู้หนังสือ และอคติของผู้ชาย    ในกรณีของหมู่บ้านบานา อุปสรรคคือภาษา  โอกาสที่ผู้หญิงจะได้รับสินเชื่อก็น้อยมาก  ขณะที่โครงการสินเชื่อขนาดย่อมของธนาคารมีข้อแม้ว่าจะต้องมีหลักประกันการกู้ยืมและการศึกษาในระดับหนึ่ง   โครงการสหภาพสินเชื่อขนาดย่อมของผู้หญิงมีเงื่อนไขที่เข้มงวดมาก

 

ดินที่มีคุณภาพต่ำเป็นสาเหตุให้ผลผลิตข้าวต่ำ ส่งผลให้ค่าแรงที่ฝ่ายชายได้รับต่ำไปด้วย   ผู้หญิงซึ่งไม่มีโอกาสทำงานจึงต้องเข้าป่าเพื่อเก็บของป่าเพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ของป่าเหล่านี้กำลังร่อยหรอลงทุกทีอันเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมและนโยบายการบริหารการอนุรักษ์  การถูกกีดกันจากบทบาทเรื่องความอยู่รอดของครอบครัวทำให้สตรียากจนมีสิทธิ์มีเสียงไม่มากในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติซึ่งร่อยหรอลง  ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนจำกัดบทบาทของสตรีในการตัดสินใจในระดับครอบครัวและชุมชน

 

ผลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ชี้แนะว่าความรู้ในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศน่าจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถคุ้มครองเขตอนุรักษ์และแก้ปัญหาโอกาสที่เหลื่อมล้ำในการใช้ที่ดินและทรัพยากร  ข้อเสนอแนะประการหนึ่งคือควรทบทวนกฎหมายที่ดินเพื่อให้สตรีมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของที่ดินได้ อีกประการหนึ่งคือควรมีโครงการพิเศษที่มุ่งให้สินเชื่อและการอบรมแก่สตรี  และประการสุดท้ายคือปรับโครงสร้างการปกครองในระดับท้องถิ่นเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสตรีที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารงานได้

ตวง วี ฟาม
Tuong Vi Pham

Read the full unabridged article (in English) HERE

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 2 (October 2002). Disaster and Rehabilitation

issue_2_banner_small