บทความนี้เสนอแนวคิดที่ว่า “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” ในประเทศไทยเป็นผลมาจากการแทรกแซงของรัฐในเขตพื้นที่ตามธรรมชาติและแนวคิดที่ว่าป่าไม้เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยและก้าวหน้า การนำความคิดเกี่ยวกับป่าตามแบบทวีปอเมริกาเหนือมาใช้ในการพัฒนารัฐของไทยให้ทันสมัยและก้าวหน้าทำให้เกิดความคิดที่ขัดแย้งกันระหว่าง “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” และ “การพัฒนาเศรษฐกิจ” ถึงแม้ว่าจะมุ่งให้เป็นเขตป่าที่ปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์ “เขตป่าสงวน” ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการระดมทุนจากทรัพยากรธรรมชาติในแผนการ “พัฒนา”
ความสนใจในการทำป่าไม้ของประเทศอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมเมื่อศตวรรษที่ 19 ซึ่งเข้ามาทางประเทศพม่าเริ่มเข้าแทนที่แนวคิดก่อนยุคสมัยใหม่ของคำว่า “ป่า” ที่ว่าเป็นเขตลึกลับ ไร้ระเบียบ ซึ่งอยู่รอบนอกและแตกต่างจากเขต ”เมือง” อันศิวิไลซ์ แนวคิดนี้ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “ป่าไม้” “ธรรมชาติ” ถูกแทนที่ด้วย “ทรัพยากรธรรมชาติ” ซึ่งเน้นการใช้ประโยชน์เชิงการค้า วนศาสตร์ซึ่งริเริ่มโดยผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศได้เปลี่ยนป่าซึ่งยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบมาเป็นการจัดระบบต้นไม้อย่างมีระเบียบและหลักการ สิ่งนี้ทำให้รัฐของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมป่าไม้ สามารถพัฒนาวิธีใหม่ ๆ ในการควบคุม อาทิ การทำป่าไม้สักภายใต้การดูแลของรัฐ การจัดการป่าพันธุ์เดียว และการรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางโดยการพัฒนาทางรถไฟ
ในลักษณะเดียวกับที่การทำป่าไม้ของประเทศอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมมีผลต่อแนวคิดเชิงการค้าเกี่ยวกับธรรมชาติของไทย องค์การระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นหลังยุคล่าอาณานิคมทำให้เกิดการส่งต่อรูปแบบการพัฒนาและรูปแบบอุทยานแห่งชาติจากประเทศอุตสาหกรรมสู่ประเทศด้อยพัฒนา อุทยานแห่งชาติซึ่งมีอยู่เสมอเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมภาคเอกชนและการท่องเที่ยวได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติซึ่งแสดงถึงรัฐชาติของไทยซึ่งเจริญก้าวหน้าและศิวิไลซ์ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวนศาสตร์และกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ ส่งเสริมและปกป้อง “อุทยานแห่งชาติ” และ “เขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า” เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านสุนทรียภาพ การศึกษาและการสันทนาการของชนชั้นกลางซึ่งมีการศึกษาและอยู่ในเมือง
เมื่อมีการนำแนวคิดที่ว่าการศึกษาในระบบจำเป็นต้องมาก่อนการชื่นชมธรรมชาติอย่างเหมาะสมมาใช้ จึงทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นและชาวเขาไม่อาจมีส่วนร่วมในการจัดการอุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้ความเชื่อมโยงที่เคยมีระหว่างการดำรงชีวิตในท้องถิ่นกับป่าได้ถูกทำลายลง เพื่อรักษา “ธรรมชาติที่ไม่ถูกทำลาย” คนเหล่านี้ถูกกีดกันออกจากเขตป่าสงวนเพื่อให้เข้าไปสู่ป่าโดยรอบซึ่งพวกเขาไม่มีสิทธิ์ในชุมชน แล้วก็มีการใช้เขตป่าสงวนเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของภาครัฐและเอกชน ในขณะที่มีการประกาศว่าผู้อยู่อาศัยในเขตเหล่านี้เองเป็น “ภัยคุกคาม” ที่อันตรายต่อป่าตามธรรมชาติ หรือผู้ทำลายชาตินั่นเอง
Pinkaew Laungaramsri
Read the full unabridged article (in English) HERE
Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 2 (October 2002). Disaster and Rehabilitation