พัฒนาการในพม่า: อนาคตของความยิ่งใหญ่ของกองทัพ

เดวิด ไอ.สไตน์เบิร์ก

ทฤษฎีและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการปกครองแบบตะวันตกสมัยใหม่ได้กำหนดเงื่อนไขของการเป็น “รัฐบาลที่ดี” ไว้ว่า จะต้องเป็นรัฐบาลที่การทหารอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน  แม้แต่ในรัฐระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการคาดหวังว่าจะต้องรับบทบาทการนำด้านการปกครอง ทหารก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามและยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งรัฐ แม้ว่าสิ่งนั้นเป็นดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝันมากกว่าความเป็นจริง

ในบางประเทศที่ไม่ได้อยู่ในโลกตะวันตก แนวคิดเรื่องบทบาทดังกล่าวยังคงถูกยึดมั่นเอาไว้ บ่อยครั้ง มักจะเกิดขึ้นหลังจากได้ผ่านประสบการณ์อันขมขื่น เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ใน ค.ศ.1989 แม้แต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (Myanmar National League for Democracy – NLD) ก็สนับสนุนการที่พลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพทหารพม่าซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของพรรค ทั้งนี้ กองทัพพม่าสามารถเข้าครอบงำทางการเมืองได้ตั้งแต่ ค.ศ.1962 อย่างไรก็ตาม วิธีการมองเรื่องนี้ที่แยกเป็นสองขั้วที่สุดโต่ง คือแยกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารที่ต่างคอยเอาชนะกัน นับเป็นวิธีการที่ทำให้เรื่องซับซ้อนได้เข้าใจได้ง่าย และเป็นชุดเชื่อมต่อของความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างฝ่านทหารและพลเรือน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของพม่า จากการประกาศอิสรภาพไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน (ค.ศ.1948-1958 และ ค.ศ.1960-1962) บทบาทของทหารยังห่างไกลจากการยอมจำนนภายใต้อำนาจของพลเรือนเมื่อเทียบกับชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือเป็นเพียงตำนานที่ถูกแต่งเติมขึ้นเพื่อเสริมบทบาทกองทัพทหารพม่าในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพขากอังกฤษ แต่ต้องยอมรับว่า กองทัพเป็นส่วนสำคัญในการรักษาสหภาพพม่าเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะในการต่อต้านกลุ่มจราจลชาวกะเหรี่ยงที่ลุกลามขึ้นในระยะเวลาอันสั้นซึ่งกินพื้นที่กว้างใหญ่ที่ลุกลามไปถึงชานเมืองย่างกุ้ง ทหารยังได้ต่อสู้กับกลุ่มกบฏหลากหลาย (ในรูปของกลุ่มคอมมิวนิสต์) และการก่อความไม่สงบของชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม นอกจากนี้ ทหารยังอ้างความสำเร็จในการหยุดยั้งองค์การสันนิบาตเสรีภาพแห่งประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist People’s Freedom League – AFPFL) จากการเข้าร่วมในสงครามกลางเมืองที่ฆ่าล้างกันเองในปี ค.ศ.1958 และอ้างว่าได้รวมประเทศเข้าด้วยกันจากการทำรัฐประหารในปี ค.ศ. 1962 ที่นำไปสู่การก่อตั้งพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Programme Party – BSPP) ที่ถูกควบคุมโดยการทหาร ผู้นำกองทัพได้ขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในเวลานี้ รัฐบาลพลเรือนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้น การทำรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.1988 ที่มีจุดมุ่งหมายในการกู้ระบอบของ BSPP ที่ประสบกับความล้มเหลวในการบริหารกิจการ เพื่อให้อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพจึงเกิดขึ้น ชี้ถึงการครอบงำการเมืองของกองทัพมีอายุยืนยาวถึง 28 ปีในช่วง ค.ศ. 1958-1960, 1962-1988 และยังคงอยู่ต่อไปได้อีก 23 ปีภายใต้การปกครองที่ตั้งอยู่บนการประกาศกฤศฏีกาพิเศษ (ค.ศ.1988-2011) อิทธิพลของทหารยังคงมีอยู่จริงอยู่ในทุกหนทุกแห่ง และนับได้ว่า พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกปกครองโดยการทหารยาวนาน (หรือยาวนานมากที่สุด) ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

 บทบาทของทหารในพม่าสมัยใหม่

พม่าอยู่ภายใต้อำนาจของทหารทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1962 จากช่วงเวลาดังกล่าว สังเกตเห็นได้ชัดว่า ทหารวางแผนที่จะยึดครองอำนาจไว้อย่างไม่มีกำหนด ในทางตรง กองทัพพม่าได้ปกครองประเทศโดยอาศัยการประกาศใช้กฤษฏีกาเป็นเวลา 35 ปี นับแต่นั้นมา (ค.ศ.1962-1974, 1988-2011) และในทางอ้อม ทหารได้ครอบงำพรรครัฐบาล BSPP เป็นเวลา 14 ปี (ค.ศ.1974-1988) อิทธิพลของทหารได้ฝังลึกเข้าไปในทุกภาคส่วนของสังคม และควบคุมลู่ทางต่างๆ ในการขับเคลื่อนทางสังคม พวกเขาครอบงำเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระยะแรกโดยผ่านพรรค BSPP และต่อมาผ่านการครอบงำภาคเอกชน ผ่านการครอบงำ Myanmar Economic Holdings Corporation และ the Myanmar Economic Corporation ที่ก่อตั้งและบริหารจัดการโดยทหาร รวมถึงผ่านการครอบงำอุตสาหกรรมภายใต้สำนักงานการจัดซื้อจัดจ้าง (Office of Procurement) สังกัดกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ กองทัพยังควบคุมการตรวจสอบ (censorship) สื่อและหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถึงแม้จะไม่สำเร็จมากนักแต่ก็พยายามที่จะปิดกั้นประชาชนจากอิทธิพลทางด้านการเมืองภายนอกสมัยใหม่

The Tatmadaw Emblem
The Tatmadaw Emblem

กองทัพประสบความสำเคร็จในการทำลายระบบการศึกษาและระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสำหรับสาธารณชน ในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างสถานะพิเศษให้กับบุคลากรทางการทหารและครอบครัวที่อยู่ในสถานภาพที่ดีกว่ากับสถาบันอื่นๆ ในปี ค.ศ. 1980 กองทัพสามารถที่ควบคุมพระสงฆ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของทหารในการครอบครองระบบการบริหารจัดการทั้งหมดมาช้านาน ในปี ค.ศ. 1982 ทหารกำหนด “ความเป็นพลเมือง” ให้สอดคล้องต่อการวางแผนด้านการควบคุมประชากรของประเทศ กฏระเบียบใหม่ๆ ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อที่จะป้องกันกลุ่มที่ไม่นับถือศาสนาพุทธ (ชาวคริสต์และชาวมุสลิม) ในการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง และแม้ทหารจะริเริ่มกระบวนการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงโดยเฉพาะต่อชนกลุ่มน้อยที่ยังจับอาวุธ แต่ก็ยังปฏิบัติต่อพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นในฐานะของพื้นที่ติดอาวุธที่ไม่เป็นมิตร หรือเป็นเขตแดนของศัตรู เนื่องจากพม่าเป็นสังคมที่อำนาจถูกมุ่งเน้นไปที่บุคคลมากกว่าสถาบัน ผู้นำกองทัพจึงสามารถใช้เครือข่ายส่วนบุคคลในการครอบงำสังคมทั้งหมดได้จนสำเร็จลุล่วง

 ประชาธิปไตยแบบที่ตั้งบนระเบียบวินัย: การวางแผนบทบาทในอนาคตของกองทัพ

จวบจนปี ค.ศ.2003 นายกรัฐมนตรี พลเอกขิ่น ยุ้นต์ (Khin Nyunt) ในฐานะผู้นำหน่วยสืบราชการลับทางการทหารอีกตำแหน่งด้วย ได้วางแผนการเจ็ดขั้นที่นำไปสู่สิ่งที่พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย (ในฐานะผู้นำรัฐ) เรียกว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบที่ตั้งบนระเบียบวินัย” ที่จริงแล้ว “ระเบียบวินัย” เป็นวาทกรรมที่กำหนดขึ้นโดยกองทัพเพื่อที่จะขยายการอำนาจการควบคุมประชาชนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่สำคัญยิ่ง ได้แก่ เอกภาพแห่งชาติ อธิปไตยของชาติ สิทธิในการบริหารกิจการของทหาร และงบประมาณของทหาร และอาจรวมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพวกเขา

แม้กระทั่งนับจากปี ค.ศ.1993 การประชุมรัฐสภาแห่งชาติที่ถูกครอบงำและชักใยโดยรัฐบาล เพื่อที่จะกำหนดแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ได้ถูกชักจูงให้ให้ความสำคัญต่อกองทัพในฐานะของสถาบันหลักทางด้านการเมือง สิ่งนี้ถูกระบุในรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ว่า “วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของสหภาพ คือ“เปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านความมั่นคงสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำทางการเมืองแห่งชาติของรัฐ” (อยู่ในมาตรา 20 ด้วย) ข้อเสนอนี้ได้รับการเห็นชอบด้วยการลงคะแนนเสียงแบบ Stalinistic Vote ในปี ค.ศ.2008 (ส่วนหนึ่งได้รับความเห็นชอบอย่างรวดเร็วหลังเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติผ้าเหลือง หรือ “Saffron Revolution” ของกลุ่มพระสงฆ์ที่แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านรัฐบาลใน ค.ศ.2007) ทหารจะได้รับสถานะสำคัญทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยมีการเก็บที่นั่งร้อยละ 25 ของสภานิติบัญญัติทั้งหมดให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร ในจำนวนนี้จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะต้องยังปฏิบัติหน้าที่เป็นทหารด้วยเช่นเดียวกัน รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ควบคุมตำรวจ) และรัฐมนตรีที่รับหน้าที่ดูแลพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐธรรมนูญระบุว่า ผู้บัญชาการกองทัพสามารถที่จะควบคุมรัฐบาลได้ ห้ามสมาชิกคนใดในครอบครัวของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดี (ซึ่งได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภานิติบัญญัติ) มีความจงรักภักดีต่ออำนาจจากต่างประเทศได้ ห้ามการแยกสหภาพพม่า และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับการอนุมัติเห็นชอบร้อยละ 75 จากสภานิติบัญญัติ ทหารสามารถที่จะควบคุมกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งอาจผ่านการควบคุมของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party – USDP) ซึ่งเป็นพรรคเสียงข้างมากในรัฐสภา

กองทัพ ซึ่งมักแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงการเป็นสถาบันที่มีความเป็นหนึ่งเดียวนั้น ในทางนามธรรม ได้กำหนดระบบที่เปิดโอกาสให้ทหารครอบงำการเมืองได้ตลอดไป แต่ในทางปฏิบัติ กูเหมือนว่า ภารกิจการครอบงำนี้ได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว แต่แม้จะฉายภาพลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวของกองทัพเท่าไหร่ ประสบการณ์ในอดีตชี้ว่า กองทัพอาจจะไม่มีเอกภาพอย่างที่หลายคนคิด การแข่งขันระหว่างบุคคลมีท่าทีว่าจะยังคงอยู่ ระบบความสัมพันธ์ของผู้ติดตามและผู้อุปถัมภ์และผู้พึ่งพาจะเป็นตัวทดสอบความเป็นเอกภาพดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเอกภาพขององค์กรดังที่เกิดปัญหาในยุคของพรรค BSPP ซึ่งทหารที่ยังประจำการและทหารที่ที่เกษียณอายุอาจจะได้พบว่า ความต้องการส่วนตัวและวัตถุประสงค์ของสถาบันอาจต่างกันมาก รายงานของส่วนงานวิจัยของรัฐสภาสหรัฐ (The U.S. Congressional Research Service) ได้อธิบายถึงรัฐบาลใหม่ของพม่าว่าเป็น “กึ่งพลเรือน” เพราะมีผู้นำเป็นทหารที่เกษียณอายุแล้ว

 จาก Burma ไปเป็น Myanmar  ความแตกต่างในการขับเคลื่อนของสังคม

ในช่วงการเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลใหม่เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2011  ดูเหมือนว่า พม่าได้กลายมาเป็นประเทศที่แตกต่างไปอย่างมากจากพม่าในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1962  ซึ่งเป็นวันก่อนที่ทหารทำรัฐประหาร 1 วัน ในเวลานั้น พื้นที่ของชาติพันธุ์พม่า ยกเว้นในส่วนที่เป็นพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย (หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด) น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างเสรีมากที่สุดในสังคมเอเชียตะวันออก การบริหารจัดการมีความหลากหลาย แม้แต่คณะรัฐมนตรีเองก็ได้รับการเปิดกว้างด้านเชื้อชาติ การเคลื่อนไหวดำรงอยู่โดยหลักผ่านทาง 4 ช่องทาง ได้แก่ ระบบการศึกษาที่ซึ่งมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ในกลุ่มคนที่ยากจนที่สุด ทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็อาจจะเข้ามหาวิทยาลัยที่เปิดอย่างเสรีในกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ได้ โลกแห่งสงฆ์ก็เปิดกว้าง และผู้ชายสามารถยกฐานะตนเองขึ้นผ่านระบบการศึกษาของสงฆ์และสึกออกมากด้วยความภาคภูมิใจ องค์กรทางการเมืองขนาดใหญ่ และองค์ก NGOs ของมวลชนต่างกลายมาเป็นหนทางสู่อำนาจ สมาคมชาวนาพม่าทั้งหมด สมาคมแรงงานพม่าทั้งหมด ทหารผ่านศึกและกลุ่มอื่นๆ ได้กลายมาเป็นช่องทางที่นำไปสู่อำนาจเช่นกัน ทหารเองก็เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติที่ต่างทำงานด้วยใจอาสาจนมีมากกว่าตำแหน่งที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมักจะถูกครอบงำโดยชาวต่างชาติ  ผู้หญิงมีความโดดเด่นในสังคมด้านวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการแพทย์ และมีสิทธิตามกฎหมายซึ่งยังเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอยู่ในสังคมอื่นๆ

Yangon University (ရန်ကုန် တက္ကသိုလ်). Universities Central Library
Yangon University (ရန်ကုန် တက္ကသိုလ်). Universities Central Library

หลังจาก 50 ปีของการครอบงำทางการเมืองของทหาร ความย้อนแย้งของอดีตและปัจจุบันมันมีความเด่นชัดมากขึ้น เส้นทางของการเคลื่อนไหวทางสังคมตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร กองทัพเป็นผู้กำหนดว่าใครที่จะได้ศึกษาในมหาวิทยาลัย คณะสงซ์ถูกบังคับให้ลงทะเบียนกับรัฐ และสถาบันการศึกษาทางสงฆ์ก็ถูกควบคุมทั้งด้านองค์ความรู้และการบริหารจัดการ องค์กรด้านมวลชนและภาคเอกชนถูกสั่งแบนโดยพรรค BSPP หรือไม่ก็ถูกควบคุมโดยรัฐ ชาวมุสลิมและชาวคริสต์เช่นเดียวกันกับชนส่วนน้อยส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธไม่ให้รับตำแหน่งราชการระดับสูงและตำแหน่งทางการทหาร ขณะที่กองทัพกลายเป็นหนทางเพียงหนึ่งเดียวที่จะนำไปสู่อำนาจ  แม้ว่าสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (the State Law and Order Restoration Council -SLORC) ซึ่งต่อมาเรียกว่า สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (the State Peace and Development Council – SPDC) แต่ผู้นำทหารทั้งใน 2 คณะทำงาน (ค.ศ.1988-2011) ได้อนุญาตให้มีการพัฒนา “ภาคประชาสังคม” (civil society) (ซึ่งอาจจะมีต้นแบบมาจากจีนในปี ค.ศ. 1987) แต่กลุ่มเหล่านี้ถูกห้ามไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือเรียกร้องประเด็นทางการเมืองอื่นๆ จากการเป็นสังคมที่เปิดกว้างมากที่สุดของเอเชียตะวันออก พม่าได้กลายมาเป็นรัฐที่ถูกควบคุมตามแบบแผนของทหาร และได้กลายมาเป็น “รัฐภายในรัฐ”  หรือแม้แต่เป็นรัฐเสียเอง การศึกษาที่ดีที่สุดอยู่ในสถาบันของทหารและใครที่ไม่เห็นด้วย (กับทหาร) ได้อพยพหนีไปนอกประเทศเพื่อหางานทำหรือที่พักทางการเมืองจากที่อื่น ประชาชนที่มีการศึกษาประมาณห้าแสนคนโดยประมาณย้ายออกไป นอกจากนี้ อาจจะมีแรงงานประมาณสองล้านคนที่หาที่หลบภัยและงานประเภทต่ำต้อย เช่น ใช้แรงงานและรับใช้ ในประเทศไทยเพื่อที่จะหนีจากสงครามและความยากจนที่เลวร้าย

อนาคตของกองทัพในบริบทสังคมพม่า

ในวันที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2011 ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (Thein Sein) ได้ยอมรับต่อสาธารณชนถึงหายนะที่เกิดขึ้นกับพม่า ทั้งๆ ที่มีศักยภาพของการเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาแสวงหาหนทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปสังคมในทุกแง่มุม  ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สมรรถภาพในการพัฒนาประเทศของพม่ายังไม่เพียงพอแม้ว่ารัฐบาลได้เชื้อเชิญให้ชาวพม่าที่พำนักในต่างประเทศได้กลับเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป ได้มีเสียงเรียกร้องทางกฎหมายและเพื่อการเปิดกว้างที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐสภา รวมทั้งการเปิดเสรีของสื่อมวลชน ส่วนเสียงเรียกร้องจากภายนอกมากมายซึ่งต้องการจะลดทอนอำนาจของทหารมักจะมาในรูปของการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อกำจัดบทบาททางการเมืองของทหาร และการเปลี่ยนกฏของการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบอ้อม

Myanmar Army personnel at Naypyidaw reception
Myanmar Army personnel at Naypyidaw reception

ประเด็นที่จะทำให้บทบาทของทหารนั้นลดลงไม่ใช่เรื่องที่จะแก้กันได้ง่ายดาย สำหรับข้อบัญญัติหลายข้อในรัฐธรรมนูญที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าไม่เหมาะสมนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการครอบงำโดยทหาร แต่น่าจะเกิดจากผลสะท้อนของปัญหาพื้นฐานต่างๆ ที่คงอยู่มาอย่างยาวนานมากกว่า ไม่มีวิธีแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วนที่จะลดบทบาททหารลง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นแนวทางที่ดีที่จะเข้าถึงปัญหาพื้นฐานนั้น

การสร้างระเบียบพหุสังคมนั้นต้องใช้เวลา มันหมายถึงหนทางที่เปิดกว้างของการขับเคลื่อนทางสังคมที่จะเปลี่ยนสภาพธรรมชาติที่เป็นอยู่ของรัฐ และการรับรู้ของทหารเกี่ยวกับอำนาจของพวกเขาเอง

การเมืองในปัจจุบันเปิดกว้างขึ้น แม้ว่าพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วยทหารเกษียณอายุ จะครอบงำการเมืองอยู่ ภาคประชาสังคมก็เป็นอิสระมากขึ้น มหาวิทยาลัยได้ยกเลิกระบบการใช้อำนาจตรวจสอบและความเข้มงวดด้านความเห็นทางวิชาการ แม้ว่าการเรียนแบบท่องจำยังมีอิทธิพลคงอยู่ โลกแห่งวิชาการได้รับการฟื้นฟู ทหารยังคงเป็นอาชีพที่น่าปรารถนา และดูเหมือนว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงและอาจจะกลับมาเรืองอำนาจมากยิ่งขึ้นอีกครั้ง ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างทหารและพลเรือนอาจจะส่งผลให้การเกิดการเคารพซึ่งกันและกันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สูญหายไปในช่วงเวลาหลายปีที่ โดยเฉพาะในช่วงที่กองทัพประณามนักการเมืองพลเรือนว่าเลวร้าย ทุจริต และไร้ความสามารถ พดัฒนาในความสัมพันธ์นี้ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้าในช่วงทศวรรษหน้า

แต่ว่าปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่ ภาคเอกชน ซึ่งขาดแคลนทุนสาธารณะภายใต้ระบบการธนาคารที่เป็นทางการของพม่า อาจจะต้องสิ้นสุดลงด้วยการถูกครอบงำโดยชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีลู่ทางต่างๆ ในการหาเงินทุนที่จำเป็นต่อการขยายธุรกิจ ประเด็นดังกล่าวต้องถูกนำมากล่าวถึง ด้วยเหตุที่คนกลุ่มเล็กๆ ที่ร่ำรวยอาจจะกลายมาเป็นแพะรับบาป (อีกครั้ง) หากพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจไม่คืบหน้าและนำไปสู่ความโกรธแค้นของชาวพม่าทั่วไป

มีตัวอย่างที่ถูกนำมาเปรียบเทียบเพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงในพม่า เกาหลีใต้ซึ่งสังคมที่เข้มงวดเรื่องชนชั้นซึ่งถูกครอบงำโดยทหารตั้งแต่ ค.ศ. 1961-1987 สามารถที่สร้างสภาพที่ทำให้ทหารถอนตัวออกจากอำนาจอย่างสันติโดยไร้เสียงร้องบ่นเพราะการเปิดพื้นที่ที่หลากหลายให้กับการเคลื่อนไหวทางสังคม ในประเทศไทย ก็อาจมองเห็นถึงการที่ทหารเข้ามาครอบงำน้อยลง เพราะทหารไทยพบหนทางที่จะไปสู่อำนาจผ่านทางการเมืองระดับท้องถิ่นและการทำธุรกิจ  อินโดนีเซียเองก็ได้เริ่มกระบวนการที่คล้ายกันแบบเงียบๆ ในสังคมที่กล่าวถึงแต่ละแห่งนั้น การเปิดกว้างประตูไปสู่ศักดิ์ศรีและอำนาจซึ่งในอดีตนั้นถูกผูกขาดโดยทหารนั้น ตอนนี้ได้ถูกเปลี่ยนสภาพไปสู่การเปิดลู่ทางที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นกับพม่าเช่นเดียวกัน

แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าขันเช่นกันหากมองว่า พม่านั้นอาจจะเดินหน้าไปได้ไกลได้ง่ายกว่าประเทศไทย ประเทศไทยเป็นสังคมที่ยึดในชนชั้นอย่างชัดเจนและถึงแม้ว่าจะค่อยๆ พัฒนา แต่ความคืบหน้าก็ยังไม่ค่อยราบรื่น อย่างไรก็ตาม ในพม่า ทหารยังคงถูกยกระดับขึ้นมาเฉกเช่นประชาชนธรรมดาทั่วๆ ไป แม้แต่บุตรชาย (ซึ่งในประเทศจีนเปรียบดั่งเจ้าชาย) ของผู้นำทางการทหารจะยังคงโดดเด่นในสถาบันทหารก็ตาม ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้น ประเทศพม่าจึงมีโอกาสที่ดีกว่าประเทศไทยในการที่จะขับเคลื่อนไปสู่ระบบอำนาจแห่งความเสมอภาคของประชาชน

ถึงแม้ว่ากองทัพจะกำหนดรูปแบบของการคงไว้ซึ่งอำนาจในระยะยาว แต่ดูเหมือนว่าสิ่งนี้กำลังถูกกัดเซาะลง สถานการณ์นี้จะเปิดกว้างให้แก่ชาวพม่า (ชาติพันธุ์พม่า) ส่วนใหญ่ รวมทั้งกลุ่มผู้หญิง ให้ได้รับโอกาสมากขึ้น อย่างไรก็ดี ชนกลุ่มน้อยทั้งด้านชาติพันธุ์และศาสนาจำเป็นต้องถูกนำมารวมในหพุสังคมที่เกิดขึ้นใหม่นี้ และสิ่งนี้เองรัฐบาลพม่าต้องตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งเราเองยังไม่เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว

เดวิด ไอ.สไตน์เบิร์ก
มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์

แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดย จารุณี  สุวรรณรัศมี และ ชินสึเกะ  ฮินะตะ
Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 14 (September 2013). Myanmar

 modern-china-myanmar-relationsเดวิด ไอ.สไตน์เบิร์ก (David I. Steinberg) เป็นศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษา จากภาควิชาด้านการทูต มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (School of Foreign Service, Georgetown University) ผลงานล่าสุดของเขา (ร่วมกับ Fan Hongwei) คือ เรื่อง ความสัมพันธ์จีนพม่าสมัยใหม่: ภาวะวิกฤตในการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (ค.ศ.2012)

 

 

 

 

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 14 (September 2013). Myanmar

Issue14_banner)small

2 Comments

  1. An impressive share! I’ve just forwarded this onto a friend who had been doing a little homework on this.
    And he actually bought me lunch simply because I found
    it for him… lol. So allow me to reword this….
    Thanks for the meal!! But yeah, thanks for spending the time to
    talk about this subject here on your blog.

Comments are closed.