
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเซาะกร่อนบ่อนทำลายความสุจริตและเป็นธรรมของการเลือกตั้งในประเทศไทย
ในเดือนสิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีคำวินิจฉัยสองคดีที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีการเมืองไทย ในวันที่ 7 สิงหาคม คณะตุลาการสั่งยุบพรรคก้าวไกลด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์[1] หนึ่งสัปดาห์ถัดมา ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินจากแนวร่วมพรรคการเมืองที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลถึงการขาดความซื่อสัตย์สุจริตอันสืบเนื่องจากการแต่งตั้งบุคคลที่เคยต้องโทษคนหนึ่งดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งศาลพิจารณาเห็นว่าบุคคลผู้นั้นขาดคุณสมบัติ[2] นับตั้งแต่มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาในปี 2540 ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ที่จัดตั้งขึ้นชั่วคราวภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารภายหลังการรัฐประหารปี 2549[3] ได้กลายเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเมืองไทย[4] ยิ่งมีการรัฐประหารต่อเนื่องและการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง[5] อำนาจของศาลนี้ก็ยิ่งขยายมากขึ้น และยิ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจของวุฒิสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยภายใต้โครงสร้างในปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยหลายครั้งหลายหนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้ความสุจริตและเป็นธรรมของการเลือกตั้งอ่อนแอลง มักมีผลการตัดสินที่เอียงข้างเอื้อต่อการรวบอำนาจของชนชั้นนำและบ่อนเซาะพรรคฝ่ายค้าน หลักฐานต่างๆ ชี้ให้เห็นแบบแผนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ศาลรัฐธรรมนูญมักมีบทบาทระหว่างหรือหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นลงไม่นาน ส่งผลให้สมาชิกรัฐสภาต้องพ้นจากตำแหน่ง มีการยุบพรรค และในบางกรณีก็ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ มีการใช้ข้ออ้างเหตุผลทางกฎหมายมาประกาศคำพิพากษาที่อุทธรณ์ไม่ได้ คำตัดสินของศาลต่อผลการเลือกตั้งที่มีมากขึ้น […]