ทัศนะต่อที่ดินที่เปลี่ยนไปในประเทศลาว: จากอำนาจอธิปไตยของรัฐกลายเป็นการระดมทุน

Ian G. Baird

KRSEA-Laos-Baird-Banner

วันที่ 23 สิงหาคม 2013 ผู้เขียนได้พบนางคำตัน สุรีดาราย สยารัด (Khamtanh Souridaray Sayarath) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  นางคำตันเกิดที่เมืองจำปาศักดิ์ในภาคใต้ของประเทศลาว  เธอเป็นผู้หญิงลาวคนแรกๆ ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายในเวียงจันทน์เมื่อช่วงทศวรรษ 1950  หลังจากจบการศึกษา เธอเคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการค้า  ในปี 1962 เธอรับตำแหน่งอธิบดีในกระทรวงเศรษฐกิจ รับผิดชอบการอนุมัติสัมปทานที่ดิน ป่าไม้และเหมืองในนามของราชอาณาจักรลาว  เธอดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี 1975 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ปะเทดลาวเข้ายึดครองประเทศ  เช่นเดียวกับชาวลาวจำนวนมาก เธอหนีมาอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยก่อนลงเอยด้วยการย้ายไปพำนักอาศัยในปารีส

การสนทนาของผู้เขียนกับนางคำตันเกี่ยวโยงกับการพิจารณาว่ากรอบมโนทัศน์ของคนลาวที่มีต่อดินเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ไม่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาก่อนระบอบคอมมิวนิสต์และในระบอบคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่ครอบคลุมตั้งแต่มีการผลักดันนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในลาวเมื่อกลางทศวรรษ 1980 และโดยเฉพาะตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายที่ดินฉบับปี 2003 ซึ่งเป็นการวางกรอบทางกฎหมายที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติได้รับสัมปทานไร่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ อันเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในสมัยที่นางคำตันยังอยู่ในประเทศลาว  ข้อถกเถียงของผู้เขียนในบทความนี้ก็คือ ทัศนะเกี่ยวกับที่ดินและอำนาจอธิปไตยของชาติในลาวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา  ในปัจจุบัน ทัศนะต่อที่ดินมีลักษณะแบบธนานุวัตร (financialized) มากขึ้นและถูกมองเป็นสินทรัพย์สำหรับดึงดูดการลงทุนจากภาคธุรกิจเอกชนต่างประเทศ แทนที่การมองที่ดินเป็นอาณาเขตอธิปไตยที่ไม่ควรอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาควบคุม                 

คำให้สัมภาษณ์ของนางคำตัน

ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษในการสัมภาษณ์นางคำตันก็คือ การเรียนรู้ว่านางคำตันมีทัศนะต่อการให้สัมปทานที่ดินอย่างไรในสมัยราชอาณาจักรลาว  เธอเล่าว่า ระหว่างปี 1962-1975 สัมปทานที่ดินมีเพดานสูงสุดแค่ไม่เกินห้าเฮกตาร์  อันที่จริง กฎหมายฉบับ 59/10 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ดินฉบับพฤษภาคม 1958 และลงวันที่ 21 ธันวาคม 1959 เป็นกฎหมายที่ใช้กำกับการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติมาจนถึงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 1975 1 กฎเกณฑ์นี้มีความแตกต่างอย่างมากจากกฎเกณฑ์ในภายหลังที่เริ่มต้นในช่วงทศวรรษ 2000 ซึ่งเปิดทางให้บริษัทต่างชาติสามารถขอสัมปทานที่ดินเพื่อการเกษตรได้ถึง 10,000 เฮกตาร์ 2  จากคำให้สัมภาษณ์ของนางคำตัน หากบริษัทใดต้องการใช้ที่ดินมากขึ้น บริษัทต้องซื้อที่ดินจากชาวบ้านหรือเจ้าของที่ดินคนอื่น  แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้ถือสัญชาติลาวเท่านั้นสามารถเป็นเจ้าของที่ดิน ถึงแม้ลาวจะส่งเสริมให้ชาวต่างชาติลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมโรงงานก็ตาม 3  นโยบายของราชอาณาจักรลาวก็เช่นเดียวกับรัฐบาลยุคหลังอาณานิคมตอนต้นส่วนใหญ่  ประเทศที่เพิ่งได้เอกราชเหล่านี้มักผูกแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของชาติกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างแนบแน่น และระมัดระวังในการให้สัมปทานที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ แก่บริษัทต่างชาติ  ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1961 เมื่อแทนซาเนียได้รับเอกราชจากมหาอำนาจยุโรป  วาลีมู จูเลียส เนียเรเร ประธานาธิบดีผู้ก่อตั้งประเทศ “สนับสนุนให้เก็บทรัพยากรแร่ธาตุไว้โดยไม่ต้องมีการพัฒนา ตราบจนชาวแทนซาเนียมีความเชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมมากพอที่จะพัฒนาการขุดค้นทรัพยากรนั้นด้วยตัวเอง” 4  ในวิทยานิพนธ์ปี 1971 ของ Khamchong Luangpraseut ก็สะท้อนแนวคิดและสภาพการณ์ในลาวสมัยนั้น ดังที่เขียนไว้ว่า “ไม่มีไร่เกษตรขนาดใหญ่แบบฟาร์ม [ในลาว]” เขายังเขียนด้วยว่า “ในราชอาณาจักรลาว รัฐคือเจ้าของที่ดิน  ตามกฎหมายของลาว ผู้เพาะปลูกหว่านไถเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน แต่ไม่ใช่เจ้าของ” 5

ผู้คนจำนวนมากในราชอาณาจักรลาวมุ่งมั่นปกป้องที่ดินของชาติเป็นพิเศษ สืบเนื่องจากทัศนคติที่เชื่อมโยงที่ดินกับอำนาจอธิปไตยของชาติ  ถึงแม้นางคำตันยอมรับว่า ในราชอาณาจักรลาวก็มีการคอร์รัปชั่นและมีคนเต็มใจผลาญทรัพยากรของชาติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว  ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นทัศนคติในสมัยนั้นดังเช่นนางคำตันอธิบายว่า ในช่วงทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 ในลาวมีเหมืองเปิดดำเนินการเพียงไม่กี่แห่ง  รัฐบาลเองก็ค่อนข้างระมัดระวังการให้สัมปทานเหมือง ถึงแม้มีการยื่นขอสัมปทานไม่น้อย  ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่บ้านโพนติ้ว เมืองหินบูรณ์ในแขวงคำม่วน มีสองสามบริษัทที่เข้าไปทำเหมืองดีบุก  กระนั้นก็ตาม จากปากคำของนางคำตัน โดยทางการแล้ว สัมปทานเหมืองแร่ทั้งหมดที่นั่นเป็นของเจ้าบุญอุ้ม ประมุขราชวงศ์จำปาศักดิ์ แม้ว่าเจ้าบุญอุ้มให้สัญญาเช่าสิทธิ์แก่บริษัทจากฝรั่งเศสก็ตาม  ประเด็นสำคัญคือ นางคำตันย้ำว่าราชอาณาจักรลาวต้องการปกป้องธรรมชาติและเก็บรักษาทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานและประเทศในอนาคต  ดังนั้นจึงไม่อยากให้สัมปทานเหมืองมากเกินไป  โดยพื้นฐานแล้ว พวกเขาไม่ได้คิดว่าที่ดินในชนบทเป็นสินค้าหรือเป็นทุนรูปแบบหนึ่ง

นางคำตันยังคอยตรวจตราสอดส่องโรงเลื่อยทั้งหมดในประเทศ  การส่งออกไม้บางส่วนได้รับการอนุมัติ แต่ปริมาณไม้ที่อนุญาตให้ส่งออกมีจำนวนค่อนข้างน้อย  เธออธิบายว่าเป็นเพราะรัฐบาลเกรงว่าจะทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก  กระทรวงป่าไม้รับผิดชอบการอนุญาตตัดไม้และส่งออกไม้ซุงทั้งหมด  ส่วนเธอเป็นผู้ตรวจสอบการส่งออกไม้ซุงให้กระทรวงเศรษฐกิจ  บางครั้งเธอก็สั่งปรับเจ้าหน้าที่ที่จงใจประเมินจำนวนไม้ส่งออกน้อยเกินไป  เธออ้างว่าตามกฎระเบียบราชการในสมัยนั้น ข้าราชการที่สั่งปรับเจ้าหน้าที่คนอื่นจากการกระทำผิดจะได้รับส่วนแบ่ง 15% ของค่าปรับเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลงโทษผู้ละเมิดกฎหมาย

KRSEA-Flag_of_the_Lao_People's_Revolutionary_Party
Flag of Lao People’s Revolutionary Party

หลังการปฏิวัติสู่ระบอบคอมมิวนิสต์

ในปี 1975 เมื่อขบวนการปะเทดลาวยึดครองลาวสำเร็จ รัฐบาลในระบอบใหม่เริ่มดึงที่ดินออกจากระบบธนานุวัตรยิ่งกว่าสมัยราชอาณาจักรลาว  รัฐบาลประกาศว่าที่ดินทั้งหมดในประเทศเป็นของประชาชนผ่านการบริหารของรัฐบาล  แนวคิดก็คือรัฐจะช่วยป้องกันไม่ให้นายทุนครอบครองที่ดินผืนใหญ่เกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกร  ในช่วงระยะสั้นๆ ระหว่างปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 มีการนำระบบนารวมมาใช้  แต่การทดลองครั้งนี้ไม่ประสบผล  รัฐบาลจึงปรับการใช้ที่ดินใหม่โดยอนุญาตให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบกรรมสิทธิ์เอกชนเช่นเดียวกับในสมัยก่อนปี 1975 ถึงแม้ว่าที่ดินทั้งหมดยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเป็นทางการก็ตาม 6

ในปี 1986 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เริ่มดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ—แต่ไม่รวมการเมือง—ครั้งใหญ่เพื่อสนับสนุนการพาณิชย์เอกชน หรือที่เรียกกันว่า “กลไกเศรษฐกิจใหม่” (New Economic Mechanism)  นโยบายปฏิรูปชุดนี้ค่อยๆ ขยายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยได้รับคำแนะนำจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ 7  กระนั้นก็ตาม การปฏิรูปเหล่านี้ก็ยังดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป  รัฐบาลยังไม่ยอมอนุมัติการให้สัมปทานที่ดินขนาดใหญ่ ไม่ว่าแก่ประชาชนลาวหรือชาวต่างชาติ

ในปี 1991 มีการให้สัมปทานที่ดินขนาดใหญ่ครั้งแรกเพื่อวัตถุประสงค์ด้านอุตสาหกรรมเกษตรแก่บริษัทไทยชื่อ Asia Tech โดยได้รับสัมปทานที่ดินถึง 16,000 เฮกตาร์บนที่ราบสูงบอละเวนในเมืองปากช่อง แขวงจำปาศักดิ์   บริษัท Asia Tech เริ่มต้นด้วยการปลูกต้นยูคาลิปตัสและพยายามบุกเบิกโครงการเลี้ยงวัวนม  ในปี 1995 บริษัทเริ่มพัฒนาพื้นที่ทำไร่เกษตรเพื่อปลูกต้น Acacia mangium (กระถินเทพา) ก่อนที่สุดท้ายจะเปลี่ยนไปปลูกต้นสน 8  การให้สัมปทานที่ดินครั้งนี้ก่อให้เกิดปัญหามากพอสมควรต่อชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินเพื่อการเกษตรและการใช้สอยอื่นๆ  ชาวบ้านไม่ได้จดทะเบียนที่ดิน แต่ใช้ที่ดินนั้นเพื่อเก็บของป่าและเลี้ยงปศุสัตว์มาก่อน  โดยเฉพาะแถบพื้นที่ป่าล้อมรอบไร่กาแฟขนาดเล็กของชาวบ้านถูกนำไปสัมปทานให้บริษัท  พื้นที่ป่าแถบนี้มีความสำคัญเพราะมันช่วยป้องกันไม่ให้เมล็ดกาแฟเสียหายจากน้ำค้างแข็ง  ชาวบ้านไม่ได้จดทะเบียนที่ดินเพราะไม่อยากจ่ายภาษี “ที่ดินป่า” ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้ว ที่ดินนั้นเป็นส่วนหนึ่งในระบบเกษตรกรรมของตนก็ตาม  ชาวบ้านนึกไม่ถึงว่าจะมีใครมาเอาที่ดินนั้นไป  แต่นี่คือสิ่งที่บริษัท Asia Tech ทำโดยมีรัฐบาลลาวให้การสนับสนุน 9

อย่างไรก็ตาม บริษัท Asia Tech ไม่ประสบความสำเร็จกับกิจการไร่เกษตรในเมืองปากช่อง สืบเนื่องจากเหตุผลสองประการคือ รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายไม่อนุญาตให้ปลูกต้นยูคาลิปตัสบนที่ราบสูงบอละเวนซึ่งดินมีคุณภาพความอุดมสมบูรณ์สูง  กับอีกประการคือปัญหาทางเทคนิคและการต่อต้านจากชาวบ้าน  ในที่สุด ปัญหาทางการเงินที่เชื่อมโยงกับวิกฤตการณ์การเงินของเอเชียในปี 1997 ส่งผลให้บริษัท Asia Tech ถอนตัวจากประเทศลาว 10  แม้ว่าการได้สัมปทานที่ดินจะเปิดโอกาสให้ได้รับอนุมัติสัมปทานที่ดินแปลงอื่นๆ เช่น กรณีที่บริษัท Oji Paper ได้รับสัมปทานที่ดินเพื่อปลูกสวนยูคาลิปตัสในแขวงคำม่วน เป็นต้น 11

Para rubber plantation in Laos at summer season
Para rubber plantation in Laos.

กระนั้นก็ตาม ระบบที่เอื้ออำนวยการให้สัมปทานที่ดินขนาดใหญ่ระยะยาวเพื่อทำธุรกิจเกษตรแก่บริษัทต่างชาติก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งกฎหมายที่ดินฉบับใหม่ได้รับการประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2003 12  กฎหมายที่ดินฉบับใหม่เปิดโอกาสเป็นพิเศษแก่การพัฒนาสวนยางพาราขนาดใหญ่ในประเทศลาว  ราคายางพาราที่พุ่งขึ้นในช่วงทศวรรษ 2000 เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ 13  เห็นได้จากการที่บริษัท Vietnam Rubber Group (VRG) ส่งผู้แทนธุรกิจมาเยือนลาวในเดือนมิถุนายน 2004  ตัวแทนของรัฐบาลลาวยื่นข้อเสนอชัดเจนว่าจะให้สัมปทานที่ดินตั้งแต่ 50,000-100,000 เฮกตาร์แก่บริษัทเวียดนามเพื่อปลูกสวนยาง 14  อันที่จริง ตั้งแต่ก่อนคณะผู้แทนเวียดนามมาเข้าพบ  ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2004 รัฐบาลกลางของลาวก็ลงนามในข้อตกลงทวิภาคีกับรัฐบาลเวียดนามเพื่อสนับสนุนให้เวียดนามเข้ามาลงทุนด้านยางพาราในลาว 15  ข้อตกลงนี้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดการด้านการลงทุนในอนาคตระหว่างกลุ่มบริษัทยางพาราของเวียดนามกับรัฐบาลกลางของลาว  อีกทั้งถือเป็นการเปิดศักราชของนโยบาย “การแปลงที่ดินเป็นทุน” ซึ่งรัฐบาลลาวเริ่มส่งเสริมในช่วงกลางทศวรรษ 2000 ด้วย 16  การขยายตัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  ในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 คณะกรรมการเพื่อการวางแผนและการลงทุน (Committee for Planning and Investment–CPI) ของรัฐบาลลาวรายงานว่า มี 17 บริษัทได้รับสัมปทานที่ดินเพื่อการทำธุรกิจเกษตรถึง 200,000 เฮกตาร์ 17 ส่วนใหญ่เป็นการปลูกยางพารา  นับจากนั้นก็มีการให้สัมปทานเกี่ยวกับยางพาราแก่บริษัทอื่นๆ เช่น การให้สัมปทานในแขวงอัตตะปือแก่บริษัท Hoang Anh Gia Lao (HAGL) ของเวียดนาม 18  ถึงแม้มีกระแสต่อต้านการให้สัมปทานที่ดินอยู่บ้าง 19 แต่ไร่ธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากตั้งแต่กลางทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา 20

บทสรุป

แนวคิดในการให้สัมปทานที่ดินขนาดใหญ่เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศลาว มีการนำมาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและในปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีตมาก  ตามแนวคิดของผู้นำรัฐบาลสมัยก่อน ที่ดินเชื่อมโยงกับลัทธิชาตินิยมและอำนาจอธิปไตย  การให้สัมปทานที่ดินจึงถือเป็นการรุกรานแบบอาณานิคม

การให้สัมปทานที่ดินเริ่มต้นในปี 2004  พร้อมกับการพยายามเผยแพร่แนวคิดว่า สัมปทานที่ดินเป็นวิธีการอันชอบธรรมในการสร้างรายได้และพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่มีผลเสียต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ  ถึงแม้การให้สัมปทานที่ดินขนาดใหญ่ยังเป็นเรื่องที่มีข้อถกเถียงกันอยู่ แต่ในบางแง่มันก็กลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาไปแล้วในประเทศลาว

ในระดับโลกนั้น ลัทธิเสรีนิยมใหม่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะหลัง 21  ดังที่ Green and Baird 22 ชี้ให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงในการประเมินมูลค่าทางการเงินของที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ อาจเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลากหลายประการและภายใต้สภาพการณ์แตกต่างกันไป ถึงแม้กระบวนการชดเชยมักเชื่อมโยงกับการสร้างเขื่อนพลังน้ำขนาดใหญ่  การเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่ายหรือตรงไปตรงมา แต่การให้สัมปทานที่ดินขนาดใหญ่แก่ชาวต่างชาติกลายเป็นเรื่องค่อนข้างปรกติธรรมดาไปแล้วในลักษณะที่จินตนาการไม่ถึงหากยังอยู่ในสมัยราชอาณาจักรลาวและ สปป.ลาวยุคต้น  ในสมัยนั้น การควบคุมที่ดินเป็นเรื่องคอขาดบาดตายและเกี่ยวโยงกับการรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติ  แต่ในระยะหลัง จุดเน้นหนักย้ายมาอยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายตัวทางการเงินมากขึ้น  ด้วยเหตุนี้ การให้สัมปทานที่ดินแก่นักลงทุนต่างชาติจึงไม่ใช่แค่ทางเลือกอันชอบธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่กลายเป็นหัวใจสำคัญของวาระทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ด้วย  เราต้องยอมรับว่ามีความเปลี่ยนแปลงพลิกผันเกิดขึ้นในทัศนคติที่มีต่อที่ดินและอำนาจอธิปไตยของชาติ  เพราะมันจะช่วยให้เราตระหนักว่าปทัสถานในวันนี้ไม่เหมือนกับในอดีตและความเป็นจริงในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

Ian G. Baird
Associate Professor, Department of Geography, University of Wisconsin-Madison
ibaird@wisc.edu

Bibliography

Baird, I.G. 2017. Resistance and contingent contestations to large-scale land concessions in southern Laos and northeastern Cambodia. Land 6(16): 1-19.
Baird, I.G. 2014. Degraded forest, degraded land, and the development of industrial tree plantations in Laos. Singapore Journal of Tropical Geography 35: 328-344.
Baird, I.G. 2011. Turning land into capital, turning people into labour: Primitive accumulation and the arrival of large-scale economic land concessions in Laos. New Proposals: Journal of Marxism and Interdisciplinary Inquiry 5(1): 10-26.
Baird, I.G. 2010. Land, rubber and people: Rapid agrarian change and responses in southern Laos. Journal of Lao Studies 1(1): 1-47.
Baird, I.G. and J. Fox 2015. How land concessions affect places elsewhere: Telecoupling, political ecology, and large-scale plantations in southern Laos and northeastern Cambodia. Land 4(2): 436-453.
Barney, K. 2011. Grounding global forest economies: Resource governance and commodity power in rural Laos. PhD Dissertation, Department of Geography, York University, Toronto.
Dwyer, M. 2007. Turning land into capital. A review of recent research on land concessions for investment in the Lao PDR. Part 1 and 2, Vientiane.
Emel, J., M.T. Huber, M.H. Makene 2011. Extracting sovereignty: Capital, territory, and gold mining in Tanzania. Political Geography 30: 70-79.
Evans, G. 2002. A Short History of Laos: The Land in Between. Allen & Unwin.
Government of Laos [GoL] 2003. Land Law. Decree No. 4/NA, 14 October 2003.
Harvey, D. 2005. A Brief History of Neoliberalism. Oxford University Press, Oxford and New York.
Kenney-Lazar, M., M. Dwyer and C. Hett 2018. Turning land into capital:  Assessing a decade of policy in practice. A report commissioned by the Land Issues Working Group, Vientiane.
Kingdom of Laos 1974. Investment Code. Commisariat General au Plan, Vientiane.
Lang, C. 2006. The expansion of industrial tree plantations in Cambodia and Laos, http://chrislang.org/tag/laos/, accessed September 10, 2008.
Luangpraseut, Khamchong 1974 (1971). Underutilized Capacity in Laotian Agriculture. Thesis, Warsaw University, Warsaw (translated from Polish to English by Jacques Rossi).
Obein, F. 2007. Industrial rubber plantation of the Viet-Lao Rubber Company, Bachiang District, Champasack Province: Assessment of the environmental and social impacts created by the VLRC Industrial Rubber Plantation and proposed environmental and social plans. Produced for Agence Francaise de Développement, Earth Systems Lao, 93 pp.
Ozdogan, M., I.G. Baird and M. Dwyer 2018. The role of remote sensing for understanding large-scale rubber concession expansion in southern Laos. Land 7(2): 55-74.
Phanvilay, Khamla 2010. Livelihoods and land use transition in northern Laos. PhD Dissertation, Geography, University of Hawai’i, Honolulu.
Ziegler, A.D., J.M. Fox and J. Xu 2009. The Rubber Juggernaut. Science 324: 1024-5.

Notes:

  1. Kingdom of Laos 1974. Investment Code. Commisariat General au Plan, Vientiane.
  2. Dwyer, M. 2007. Turning land into capital. A review of recent research on land concessions for investment in the Lao PDR. Part 1 and 2, Vientiane.
  3. Kingdom of Laos 1974.
  4. Emel, J., M.T. Huber, M.H. Makene 2011. Extracting sovereignty: Capital, territory, and gold mining in Tanzania. Political Geography 30: 70-79, pg 75.
  5. Luangpraseut, Khamchong 1974 (1971). Underutilized Capacity in Laotian Agriculture. Thesis, Warsaw University, Warsaw, pgs 6 and 9 (translated from Polish to English by Jacques Rossi).
  6. Evans, G. 2002. A Short History of Laos: The Land in Between. Allen & Unwin.
  7. Phanvilay, Khamla 2010. Livelihoods and land use transition in northern Laos. PhD Dissertation, Geography, University of Hawai’i, Honolulu; Evans 2002
  8. Baird, I.G. 2014. Degraded forest, degraded land, and the development of industrial tree plantations in Laos. Singapore Journal of Tropical Geography 35: 328-344.
  9. Lang, C. 2006. The expansion of industrial tree plantations in Cambodia and Laos, http://chrislang.org/tag/laos/, accessed September 10, 2008; Baird 2014.
  10. Baird 2014; Lang 2006.
  11. Barney, K. 2011. Grounding global forest economies: Resource governance and commodity power in rural Laos. PhD Dissertation, Department of Geography, York University, Toronto.
  12. Government of Laos [GoL] 2003. Land Law. Decree No. 4/NA, 14 October 2003; Baird, I.G. 2010. Land, rubber and people: Rapid agrarian change and responses in southern Laos. Journal of Lao Studies 1(1): 1-47; Dwyer 2007.
  13. Ziegler, A.D., J.M. Fox and J. Xu 2009. The Rubber Juggernaut. Science 324: 1024-5.
  14. Lang 2006.
  15. Obein, F. 2007. Industrial rubber plantation of the Viet-Lao Rubber Company, Bachiang District, Champasack Province: Assessment of the environmental and social impacts created by the VLRC Industrial Rubber Plantation and proposed environmental and social plans. Produced for Agence Francaise de Développement, Earth Systems Lao, 93 pp.
  16. Baird, I.G. 2011. Turning land into capital, turning people into labour: Primitive accumulation and the arrival of large-scale economic land concessions in Laos. New Proposals: Journal of Marxism and Interdisciplinary Inquiry 5(1): 10-26; Kenney-Lazar, M., M. Dwyer and C. Hett 2018. Turning land into capital:  Assessing a decade of policy in practice. A report commissioned by the Land Issues Working Group, Vientiane.
  17. Baird 2010.
  18. Baird, I.G. and J. Fox 2015. How land concessions affect places elsewhere: Telecoupling, political ecology, and large-scale plantations in southern Laos and northeastern Cambodia. Land4(2): 436-453.
  19. Baird, I.G. 2017. Resistance and contingent contestations to large-scale land concessions in southern Laos and northeastern Cambodia. Land 6(16): 1-19; Baird 2010; Baird and Fox 2015.
  20. Ozdogan, M., I.G. Baird and M. Dwyer 2018. The role of remote sensing for understanding large-scale rubber concession expansion in southern Laos. Land 7(2): 55-74.
  21. Harvey, D. 2005. A Brief History of Neoliberalism. Oxford University Press, Oxford and New York.
  22. Green, W.N. and I.G. Baird 2016. Capitalizing on compensation: Hydropower resettlement and the commodification and decommodification of nature-society relations in southern Laos. Annals of the American Association of Geographers 106(4): 853-873.