อนุสาวรีย์และรูปปั้นเป็นที่นิยมมานานในรัฐที่พยายามกำหนดนิยามความทรงจำส่วนรวม (collective memory) บางคนถึงกับเรียกความหมกมุ่นที่มีต่อการสร้างอนุสรณ์สถานที่มีรูปปั้นว่า “ลัทธิคลั่งรูปปั้น” (statuemania) ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตของชนชั้นนำระดับชาติและนักวางผังเมืองไม่เฉพาะในตะวันตกเท่านั้น แต่รวมถึงในหลายสถานที่อย่างประเทศไทยด้วย อนุสาวรีย์ใหม่ๆ เริ่มผุดขึ้นมาเป็นจุดหมายภูมิทัศน์ของเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 1 ในหลายๆ แง่ ความคลั่งไคล้นี้ยังคงแพร่กระจาย—และขยายตัว—พร้อมกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่หัวหิน ซึ่งมีผู้บรรยายว่าเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์พร้อมอนุสาวรีย์เจ็ดกษัตริย์ที่รัฐบาลทหารสร้างเพื่อสักการบูชา” 2
ความหลงใหลในอนุสาวรีย์รูปปั้นเป็นสิ่งที่แผ่พ้นปัจจุบัน พ้นศูนย์กลางและพ้นรัฐ ดินแดนเทพนิยายประวัติศาสตร์ราชภักดิ์ของรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นแค่การสำแดงครั้งล่าสุดของประวัติศาสตร์อันยาวนานในการสร้างอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกษัตริย์ในประเทศไทย ในทำนองเดียวกัน โฉมหน้าเมืองที่เปลี่ยนไปของกรุงเทพฯ ในช่วงอัสดงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นแค่ฉากหลังฉากหนึ่งของลัทธิคลั่งรูปปั้น ยกตัวอย่างเช่น ในจังหวัดภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ไม่เพียงชี้ให้เห็นชั่วขณะสำคัญในประวัติศาสตร์ของเมืองและของภูมิภาคเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมันสะท้อนให้เห็นความพยายามของรัฐที่จะยัดเยียดแม่บททางประวัติศาสตร์ฉบับราชาชาตินิยมกระแสหลักครอบทับลงบนความทรงจำของท้องถิ่น 3 ในประการสุดท้าย ลัทธิคลั่งรูปปั้นไม่ใช่แค่ความป่วยไข้ของชนชั้นนำในรัฐเดี่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นอาการร่วมที่แพร่ระบาดในกลุ่มคนกับกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลายด้วย เฉกเช่นศิลปินที่แกะสลักปั้นหล่อรูปปั้นมากับมือ ชนชั้นนำระดับชาติและท้องถิ่นก็พยายามปั้นแต่งความทรงจำของมวลชนโดยแสดงออกผ่าน “ความทรงจำที่เคลื่อนย้ายไม่ได้” เช่นกัน 4
ครูบาศรีวิชัย
หนึ่งในอนุสาวรีย์รูปปั้นยุคสมัยใหม่ที่ติดตั้งก่อนใครเพื่อนในเชียงใหม่คือรูปปั้นของครูบาศรีวิชัย (พ.ศ. 2421-2481) พระสงฆ์มากบารมีที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการต่อต้านนโยบายการเกณฑ์ทหารของกรุงเทพฯ โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในล้านนาและการสร้างถนนจากชานเมืองขึ้นสู่วัดดอยสุเทพที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ทั้งหมดนี้ทำให้ครูบาศรีวิชัยเปรียบเสมือนหนามยอกอกของผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ 5
ท้องถิ่นเป็นผู้เริ่มต้นผลักดันการก่อสร้างอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย โดยเฉพาะหลวงศรีประกาศ ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ หอจดหมายเหตุเก็บเอกสารมากมายที่แสดงถึงความกระตือรือร้นของเขาต่อการสร้างอนุสาวรีย์นี้ รวมทั้งความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้ในรัฐบาลและติดตั้งรูปปั้นไว้ตรงตีนดอยสุเทพ 6 หากมองอย่างผาดเผิน อาจดูเหมือนน่าประหลาดใจที่พบว่ารัฐส่วนกลางสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สำหรับบุคคลที่สร้างปัญหามากมายต่อกรุงเทพฯ แต่มันก็มักง่ายเกินไปที่จะด่วนสรุปว่า รูปปั้นนี้คือส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการยอมรับความหลากหลายของต่างจังหวัด 7 แน่นอน อนุสาวรีย์นี้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของ “วาทกรรมที่ตั้งอยู่บนความเป็นท้องถิ่นหรือภูมิภาค”’ 8 กรุงเทพฯ ตอบสนองต่อการริเริ่มในท้องถิ่นด้วยการพยายามสมอ้างเอาคุณูปการของพระสงฆ์ผู้เป็นตัวปัญหาแต่มากบารมีนี้มาเป็นของตนเอง นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกในลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2489 สถาบันกษัตริย์ไทยเป็นผู้อุปถัมภ์งานพระราชทานเพลิงศพของครูบาศรีวิชัย จากนั้นแบ่งอัฐิของครูบาออกเป็นหกส่วนและนำไปเก็บรักษาตามจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนือ 9 ตอนที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพใน พ.ศ. 2481 ครูบายังเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ภาคเหนือ ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นแค่ความแตกต่าง แต่ถ้ามองแง่ร้ายก็คือเป็นปฏิปักษ์ต่ออัตลักษณ์แห่งชาติสยาม/ไทยที่มีกรุงเทพฯ ครอบงำ เมื่ออนุสาวรีย์สร้างเสร็จสิ้นในปี 2499 กล่าวคือเพียง 18 ปีให้หลัง ความทรงจำส่วนบุคคลเกี่ยวกับการสร้างและพิธีเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้ยังคงแจ่มชัด อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยอาจเป็นการพยายาม “กำราบ” ความทรงจำเกี่ยวกับพระสงฆ์ผู้เป็นตัวปัญหาด้วยการถ่ายโอนบารมีของครูบามาไว้ที่รัฐส่วนกลางบ้าง แต่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ก็ยังเปิดกว้างต่อวาทกรรมเกี่ยวกับความทรงจำของท้องถิ่น
รัฐไทยปั้นแต่งความทรงจำนี้ผ่านผลงานของประติมากรศิลป์ พีระศรี 10 ชาวเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลีที่โอนสัญชาติเป็นพลเมืองไทย ในภายหลัง ศิลป์ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งศิลปะไทยสมัยใหม่ รวมทั้งเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อด้วยรูปปั้นมือหนึ่งของนายกรัฐมนตรี ป. พิบูลสงครามด้วย มอริซิโอ เพเลจจี (Maurizio Peleggi) เขียนไว้ว่า ในยุคจอมพล ป. นี้เองที่อนุสาวรีย์รูปปั้น “ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง” 11 ศิลป์ พีระศรีสร้างรูปปั้นเด่นๆ หลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินทรงม้า นอกจากนี้ยังออกแบบอนุสาวรีย์ที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นั่นคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 12 เขาเป็นผู้ฝึกสอนประติมากรคนอื่นๆ ด้วย เช่น เขียน ยิ้มศิริ ซึ่งเป็นผู้ช่วยของศิลป์ในการแกะและหล่อรูปปั้นครูบาศรีวิชัย และไข่มุกด์ ชูโต ผู้สร้างอนุสาวรีย์ที่รู้จักกันดีที่สุดในเชียงใหม่ในอีก 27 ปีต่อมา นั่นคือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์
อนุสาวรีย์สามกษัตริย์
อนุสาวรีย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด—และถูกผลิตซ้ำในหมู่ประชาชนมากที่สุด—ในเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตรงใจกลางเมืองและประกอบด้วยรูปปั้นกษัตริย์สามพระองค์ กล่าวคือ พญามังราย พญางำเมืองและพญาร่วงหรือที่เรียกกันติดปากมากกว่าในชื่อพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุโขทัยในสมัยศตวรรษที่ 13 และเป็นต้นแบบของแนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้มีเมตตาธรรมในประวัติศาสตร์ไทย 13 อนุสาวรีย์แห่งนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1839 เมื่อกษัตริย์ทั้งสามมาพบปะกันเพื่อกำหนดที่ตั้ง ผังเมืองและขนาดของนครแห่งใหม่ของพญามังราย ซึ่งจะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาที่สถาปนาขึ้นมาใหม่
อนุสาวรีย์แห่งนี้มีต้นกำเนิดที่ซับซ้อน แรกเริ่มเดิมทีจริงๆ เป็นความเคลื่อนไหวในท้องถิ่นที่ต้องการก่อตั้งอนุสาวรีย์ให้พญามังรายเพียงผู้เดียว 14 ใน พ.ศ. 2512 คณะกรรมการท้องถิ่นที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานให้พญามังรายติดต่อไปที่กรมศิลปากรเพื่อจัดการเรื่องการออกแบบอนุสาวรีย์ รวมทั้งติดต่อนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เพื่อจัดหาที่ดินและการสนับสนุนจากกรมศิลปากร ในฤดูร้อนของปี 2512 กรมศิลปากรเปลี่ยนแนวคิดของการสร้างอนุสาวรีย์ให้พญามังรายเป็นอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ตามคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะเหตุใด? ตามที่รัฐบาลอธิบายเมื่ออีกหนึ่งปีให้หลัง การขยายตัวของอนุสาวรีย์รูปปั้นอาจก่อให้เกิด “ความสับสน” หมายถึงสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์แบบที่กรุงเทพฯ ไม่เห็นชอบ ในเดือนมีนาคม 2513 รัฐบาลประกาศนโยบายใหม่ นั่นคือ การสร้างอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์สถานแก่บุคคลสำคัญใดๆ ต้องส่งเรื่องมาให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติก่อน 15 ปัญหาของลัทธิคลั่งรูปปั้นในต่างจังหวัดกลายเป็นความวิตกระดับสูงสุดของรัฐบาล กระนั้นก็ตาม คำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนจากหนึ่งกษัตริย์เป็นสามกษัตริย์ยังคงได้รับความสนใจ ในวันที่ 5 มิถุนายน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตั้งคำถามว่า “อนุสาวรีย์แด่พญามังราย: หนึ่งกษัตริย์หรือสามกษัตริย์ดีกว่ากัน?” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่บ่นว่า การเพิ่มกษัตริย์องค์อื่นเข้ามาจะลดความสำคัญของพญามังรายลง แถมต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมโดยเฉพาะต่อเยาวชนรุ่นหลัง 16 ทายาทของเจ้านครเชียงใหม่โบราณเองก็อยากได้อนุสาวรีย์ที่อุทิศให้พญามังรายองค์เดียวมากกว่า 17”
เมื่อเพิ่มพญางำเมืองกับพ่อขุนรามคำแหงเข้ามา คำถามเกี่ยวกับองค์ประกอบของอนุสาวรีย์ยิ่งสร้างข้อถกเถียงมากกว่าเดิม พญามังรายยืนตรงกลางก็จริง แต่พ่อขุนรามคำแหงต่างหากเป็นศูนย์กลางของอำนาจในฐานะบุคคลที่อีกสองคนต้องรับฟัง 18 ในขณะที่คนท้องถิ่นบางส่วนแสดงความไม่พอใจกับเรื่องเล่าที่ลดความเป็นศูนย์กลางของพญามังราย ก็มีคนอื่นๆ ตั้งคำถามว่าทำไมพ่อขุนรามคำแหงจึงไม่อยู่ตรงกลางมากกว่านี้ เพราะจากมุมมองระดับชาติแล้ว พ่อขุนรามคำแหงย่อมมีความสำคัญมากกว่า 19 พ่อขุนรามคำแหงกับพญามังรายต้องชิงความเด่นกันในอีกหลายรูปแบบ เช่น เมื่อมีการทำเครื่องรางที่ระลึกในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ชื่อของพ่อขุนรามคำแหงอยู่ในรายการเป็นชื่อแรกก่อนพญามังราย 20 เป็นต้น การออกแบบรูปปั้นก็บ่งบอกหลายอย่าง ประติมากรไข่มุกด์ ชูโต ซึ่งเป็นญาติของพระราชินีไทย ออกแบบลักษณะใบหน้าของกษัตริย์ทั้งสามให้สะท้อนบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน พญามังรายมีความงดงาม พ่อขุนรามคำแหงคือนักปกครอง ส่วนพญางำเมืองนั้น “หล่อเหลาและกรุ้มกริ่ม” 21
จากมุมมองของกรุงเทพฯ การยอมให้พญามังรายกับพ่อขุนรามคำแหงเป็นศูนย์กลางทั้งคู่อาจถือเป็นการประนีประนอม แต่จากมุมมองของเชียงใหม่ นี่คือการยัดเยียดประวัติศาสตร์แห่งชาติกดทับความทรงจำท้องถิ่น ด้วยการขยายรูปจำลองจากหนึ่งกษัตริย์เป็นสามกษัตริย์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้จัดวางศูนย์กลางของวาทกรรมทางประวัติศาสตร์เสียใหม่ตามคำสั่งของรัฐกรุงเทพฯ ด้วยการผูกโยงประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ไว้กับกรุงเทพฯ
ความเป็นตัวตนของรูปปั้น
รูปปั้นมิได้ดำรงอยู่ในฐานะอนุสาวรีย์ของโลกฆราวาสเท่านั้น แต่ยังเป็นวัตถุแห่งศรัทธาทางศาสนาและพิธีกรรมด้วย อันที่จริง เส้นแบ่งระหว่างรูปปั้นในโลกฆราวาสกับโลกศาสนาค่อนข้างพร่าเลือนในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุสาวรีย์รูปปั้นที่สร้างให้กษัตริย์กรุงเทพฯ หรือบุคคลอื่นๆ มักกลายเป็นจุดศูนย์รวมของการสักการบูชาและการทำพิธีกรรม อีกทั้งยังมีรูปถ่ายของพระสงฆ์หลายรูปติดตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและวัดต่างๆ 22 หลังจากหล่อรูปปั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว รูปปั้นของสามกษัตริย์เสด็จเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ด้วยขบวนแห่แบบเดียวกับกษัตริย์โบราณ เคลื่อนผ่านประตูช้างเผือกทางทิศเหนือของเมือง ก่อนจะแห่แหนเข้าสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ใจกลางเมือง รูปปั้นทั้งสามถูกเคลื่อนย้ายราวกับเป็นกษัตริย์จริงๆ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังได้รับการสักการบูชาในฐานะตัวตนของอำนาจกษัตริย์โบราณ กลุ่มคนต่างๆ ยังแข่งกันเสนอการตีความใหม่ให้อนุสาวรีย์แห่งนี้เพื่ออ้างอำนาจด้านอิทธิฤทธิ์อภินิหารและศาสนาของศูนย์กลางเมือง ถึงแม้ต้องเผชิญกับอำนาจครอบงำจากกรุงเทพฯ ก็ตาม 23
ในทำนองเดียวกัน อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยคือตัวตนของความทรงจำทั้งในด้านศาสนาและฆราวาส ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2515 วัดศรีโสดาซึ่งตั้งอยู่ใกล้ตีนถนนที่ครูบากับลูกศิษย์ช่วยกันสร้างขึ้นภูเขา ทางวัดเรียกร้องให้ย้ายรูปปั้นครูบาศรีวิชัยมาตั้งในบริเวณวัดแทน ทั้งนี้วัดอ้างเหตุผลว่าเพราะรูปปั้นเป็นรูปเคารพทางศาสนา ดังนั้น วัดน่าจะดูแลรักษารูปปั้นได้ดีกว่าและการทำบุญตักบาตรก็จะสะดวกกว่าด้วย บทบรรณาธิการที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น คนเมือง คัดค้านแผนการนี้เสียงแข็ง โดยแย้งว่านี่เป็นแค่การแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน และยืนยันว่าที่ตั้งเดิมนั้นเลือกมาเพื่อให้คนทั่วไปเห็นรูปปั้นง่ายๆ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนจดจำ (รำลึกถึง) คุณความดีของพระสงฆ์ผู้น่าเคารพรูปนี้ 24 ทุกวันนี้ อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็ยังตั้งอยู่ที่เดิมโดยเป็นจุดศูนย์รวมทั้งความทรงจำและการสักการบูชา
บทสรุป
อนุสาวรีย์ทุกแห่งบิดเบือนความทรงจำส่วนรวมไม่มากก็น้อย อนุสาวรีย์ที่นำมาเป็นกรณีศึกษาข้างต้นเป็นแค่สองแห่งจากอีกหลายแห่งที่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ถูกปั้นแต่งและก่อรูปขึ้นในเชียงใหม่ยุคปัจจุบัน ข้อถกเถียงเกี่ยวกับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือแผนการที่เคยคิดจะย้ายที่ตั้งอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไม่ควรเป็นเหตุการณ์ที่ถูกลืมเลือน นอกจากนี้ ภาพพจน์ที่เคยเป็นที่ถกเถียงสามารถถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้ รูปปั้นสามกษัตริย์สามารถใช้เป็นเครื่องหมายของอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะหมายถึงภาคเหนือ ล้านนาหรือเชียงใหม่ หากนิวยอร์กมีเทพีเสรีภาพ เชียงใหม่ก็มีสามกษัตริย์ พลังทางสังคมและการเมืองปรับแต่งภูมิทัศน์ของความทรงจำเฉกเช่นศิลปินแกะสลักปั้นหล่อรูปปั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา “ลัทธิคลั่งรูปปั้น” จากมุมมองของภูมิภาค มันเผยให้เห็นว่าขีดจำกัดทางการเมืองบางประการที่กดทับการสร้างตัวตนของความทรงจำท้องถิ่นสามารถก่อให้เกิดรูปปั้นดังเช่นที่อุทยานราชภักดิ์ได้ เพราะมันเป็นเครื่องมือทื่อๆ ของอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ไทยฉบับกษัตริย์นิยมล้นเกินและชาตินิยมล้นเกินที่กองทัพประทับตรารับรอง
Taylor M. Easum
(Assistant Professor of History, University of Wisconsin, Stevens Point)
Issue 20, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2016
บรรณานุกรม
Published Materials:
Agulhon, Maurice. “La « Statuomanie » et L’histoire.” Ethnologie Française 8, no. 2/3 (1978): 145–72.
Bowie, Katherine A. “Of Buddhism and Militarism in Northern Thailand: Solving the Puzzle of the Saint Khruubaa Srivichai.” The Journal of Asian Studies 73, no. 3 (August 2014): 711–732.
Doss, Erika. Memorial Mania: Public Feeling in America. University of Chicago Press, 2012.
Easum, Taylor M. “A Thorn in Bangkok’s Side Khruba Sriwichai, Sacred Space and the Last Stand of the Pre-Modern Chiang Mai State.” South East Asia Research 21, no. 2 (June 1, 2013): 211–36.
Evans, Grant. “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos.” In Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos, edited by Shigeharu Tanabe and Charles F Keyes, 154–82. Honolulu: University of Hawaiʻi Press, 2002.
Johnson, Andrew. “Re-Centreing the City: Spirits, Local Wisdom, and Urban Design at the Three Kings Monument of Chiang Mai.” Journal of Southeast Asian Studies 42, no. 3 (2011): 511–31.
Khaimuk Chuto. Chiwit lae ngan khong Khaimuk Chūtō [The Life and Work of Khaimuk Chuto]. Bangkok: Kō̜ng Sinlapāchīp, Samnak Rātchalēkhāthikān, 1997.
Kongpob Areerat. “Thai Junta Coins New History Book to Legitimise Its Rule.” Prachatai English. Accessed October 31, 2015. http://www.prachatai.com/english/node/5576.
Kwok Kian-Woon, and Roxana Waterson. “The Work of Memory and the Unfinished Past: Deepening and Widening the Study of Memory in Southeast Asia.” In Contestations of Memory in Southeast Asia. Singapore: NUS Press Pte Ltd., 2012.
Lanna Thai: Anuson Phraratchaphithipoet Phraborommarachanusaowari Sam Kasat (Chiangmai 2526-27) [Lanna Thai: Memorial for the Opening of the Three Kings Monument (Chiang Mai, 1983-84)]. Chiang Mai: Khanakammakan chat tham nangsu, 1984.
Malinee Khumsupa. Anusawari Prachathippatai kap khwammai thi mong mai hen [The Democracy Monument and Its Hidden Meanings]. Krung Thēp: Wiphāsā, 2005.
Mukhom Wongthes. Intellectual Might and National Myth: A Forensic Investigation of the Ram Khamhaeng Controversy in Thai Society. Bangkok, Thailand: Matichon Public Co., 2003.
Peleggi, Maurizio. Lords of Things: The Fashioning of the Siamese Monarchy’s Modern Image. Honolulu: University of Hawaiʻi Press, 2002.
Rhum, Michael R. “The Future of the Past in Northern Thailand.” In Southeast Asian Tribal Groups and Ethnic Minorities: Prospects for the Eighties and Beyond, 117–24. Cambridge: Cultural Survival, Inc., 1987.
Stengs, Irene. Worshipping the Great Moderniser: King Chulalongkorn, Patron Saint of the Thai Middle Class. Seattle: University of Washington Press, 2009.
Tannenbaum, Nicola. “Monuments and Memory: Phaya Sihanatraja and the Founding of Maehongson.” In Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos, edited by Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes, 154–82. Honolulu: University of Hawaiʻi Press, 2002.
Terwiel, B. J. The Ram Khamhaeng inscription: the fake that did not come true. Gossenberg: Ostasien Verlag, 2010.
Thongchai Winichakul. “The Changing Landscape of the Past: New Histories in Thailand since 1973.” Journal of Southeast Asian Studies 26, no. 1 (March 1995).
Viboon Leesuwan. Chiwit ae Ngan Khong Achan Sin Phirasi [The life and works of Silpa Bhirasri]. Bangkok: SITCA Investment & Securities Public Co., 1996.
Wong, Ka F. Visions of a Nation: Public Monuments in Twentieth-Century Thailand. Studies in Contemporary Thailand 15. Bangkok: White Lotus, 2006.
Newspapers:
Khon Muang Newspaper, (1969-1972).
Notes:
- Evans, “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos”; Tannenbaum, “Monuments and Memory: Phaya Sihanatraja and the Founding of Maehongson”; Agulhon, “La « Statuomanie » et L’histoire.” ↩
- Kongpob Areerat, “Thai Junta Coins New History Book to Legitimise Its Rule.” ↩
- Thongchai Winichakul, “The Changing Landscape of the Past.” ↩
- Evans, “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos.” ↩
- Bowie, “Of Buddhism and Militarism in Northern Thailand”; Easum, “A Thorn in Bangkok’s Side Khruba Sriwichai, Sacred Space and the Last Stand of the Pre-Modern Chiang Mai State.” ↩
- (4) ศธ 2.2.3.1/11, Kansāng ‘anusāwarī Phra Sīwichai phua nampai praditsathān na boriwēn senthāng khun sū Doi Suthēp čhangwat Chīang Mai (1956-63), National Archives of Thailand, Bangkok, Records of the Ministry of Education, 1962. ↩
- Wong, Visions of a Nation. ↩
- Evans, “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos,” 177. ↩
- Easum, “A Thorn in Bangkok’s Side Khruba Sriwichai, Sacred Space and the Last Stand of the Pre-Modern Chiang Mai State,” 234. ↩
- Viboon Leesuwan, Chīwit Læ Ngān Khō̜ng Āčhān Sin Phīrasī. ↩
- Peleggi, Lords of Things, 102, 194. ↩
- Malinee Khumsupa, Anusāwarī Prachāthippatai kap khwāmmāi thī mō̜ng mai hēn [The Democracy Monument and Its Hidden Meanings]. ↩
- Mukhom Wongthes, Intellectual Might and National Myth; Terwiel, The Ram Khamhaeng inscription. ↩
- Khon Muang, 10 June 1969. ↩
- Khon Muang, 25 March 1970. ↩
- Khon Muang, 5 June 1970. ↩
- Rhum, “The Future of the Past in Northern Thailand.” ↩
- Johnson, “Re-Centreing the City.” ↩
- Lanna Thai. ↩
- Rhum, “The Future of the Past in Northern Thailand.” ↩
- Lanna Thai, 60. ↩
- Evans, “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos,” 168–70; Johnson, “Re-Centreing the City”; Stengs, Worshipping the Great Moderniser. ↩
- Johnson, “Re-Centreing the City.” ↩
- “Where should the Khruba Sriwichai monument be placed?” Khon Muang, 20 June 1972. ↩