สถาบันพระมหากษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Pavin Chachavalpongpun

สถาบันพระมหากษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศาสตราจารย์ ไมเคิล ไลเฟอร์ นักวิชาการที่ได้รับความความเคารพนับถือ ในด้านการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้เขียนคำนำในหนังสือที่ได้รับรางวัลซึ่งเป็นผลงานเขียนของ โรเจอร์ เคอร์ชอว์ ในหัวข้อเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”  ศ.ไลเฟอร์ กล่าวเอาไว้ว่า “การมองแบบดั้งเดิมที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ “ผิดปกติ” ในสังคมนั้น ในกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การมองเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแค่บางส่วน” ถึงแม้ว่าสถาบันกษัตริย์จะต้องประสบกับปัญหาต่างๆ นาๆ ที่มีสาเหตุอันเนื่องมาจากการล่าอาณานิคมและการยุติของระบบอาณานิคม แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันกษัตริย์ยังอยู่รอด ประเทศบรูไนยังเป็นประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงสถาบันเดียวที่ปกครอง  ส่วนอีกสามประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา มาเลเซีย และไทย ต่างยังมีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีระดับของความเข้มข้นต่างกัน  เคอร์ชอว์ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจต่อคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ไมเคิล ไลเฟอร์  ว่า ไม่ว่าจะเป็นเพราะลักษณะเฉพาะตัวของระบบกษัตริย์ที่ทำให้รอดได้บนพื้นฐานของระบบค่าบนิยมทางการเมืองแบบดั้งเดิม หรือที่คงอยู่ได้เพียงเพราะความโชคดีนั้น ล้วนแต่ได้รับการชักใยจากกลุ่มการเมืองในชนชั้นปกครอง หรือแม้แต่โดยกษัตริย์เองก็ตาม โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะต่อสู้และทำลายล้างความทันสมัยและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

บทความสั้นฉบับนี้มีเนื้อหาและที่มาจากบริบทดังกล่าวข้างต้น แต่แทนที่จะวิเคราะห์ถึงสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติดังเช่นที่ปรากฏในงานเขียนก่อนหน้านี้ บทความนี้จะให้แง่คิดและมุมมองเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้สภาวะการเมืองในรูปแบบใหม่

สิ่งที่เคอร์ชอว์ได้อธิบายไว้ว่า ความทันสมัยนับว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์นั้น ถือว่าเป็นความจริงอยู่มาก ในความเป็นจริง ไม่เพียงแต่ความทันสมัยนิยมเท่านั้นที่ต่อสู้อย่างเข้มข้นต่อความคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์  กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยก็กลายมาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน    ในทศวรรษที่ผ่านมา คลื่นกระแสของการพัฒนาประชาธิปไตยได้พัดผ่านเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  การปกครองแบบอำนาจนิยมมาอย่างยาวนานในประเทศอินโดนีเซียได้สิ้นสุดลงเมื่อประเทศเดินเข้าสู่ยุคใหม่ของความเป็นประชาธิปไตย  เช่นเดียวกันในประเทศพม่า (Burma หรือที่มีชื่อเดิมว่า Myanmar) หลังจากที่ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 ก็เริ่มมีการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ในส่วนของภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่น ตะวันออกกลาง ประชาธิปไตยได้กลายมาเป็นค่านิยมที่ประชาชนต่างปรารถนาเช่นกัน ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงถูกเฝ้าจับตามองมากขึ้น ประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในประเทศที่ยังมีพระมหากษัตริย์นั้น ได้เริ่มตั้งประเด็นถามว่า: สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยหรือไม่?

Monarchy in South East Asia
Kershaw’s book relates the political history of the South East Asian Monarchy to the politics of the region today.

ในปี 2008 ประเทศเนปาลได้ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสิ้นเชิง และได้ประกาศการก่อตั้ง สาธารณรัฐเนปาลขึ้น    การสิ้นสุดของราชวงศ์ชาห์แห่งเนปาลทีมีอายุมากว่า 239 ปีแสดงให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความเปราะบางสูง เพราะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย มีความแตกต่างทางด้านความคิดในกลุ่มตัวแสดงทางการเมืองในเนปาล ซึ่งรวมไปถึงสมาชิกของราชวงศ์ด้วย เกี่ยวกับบทบาทที่เหมาะสมของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคร่วมสมัยของเนปาล ในขณะที่กษัตริย์เนปาลยืนกรานที่จะคงบทบาททางการเมืองไว้ รวมถึงการสถาปนาตัวเองในตำแหน่งศูนย์รวมของชาติ นักการเมืองกลับมองว่า บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ควรถูกจำกัดไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า กษัตริย์ควรจะ “อยู่บนบัลลังค์” ไม่ใช่ “ลงมาปกครอง” การเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของราชวงศ์ส่วนหนึ่งก็นำไปสู่การล่มสลายอย่างสิ้นเชิงการราชวงศ์ชาห์

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  บางราชวงศ์ก็ประสบความสำเร็จในการปกป้องระบอบกษัตริย์ที่สวนกระแสของประชาธิปไตย  บางส่วนก็กลายมาเป็นเป้าหมายของการทำลายล้างให้สิ้นซาก  ในปัจจุบัน สี่ในสิบของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในหลายๆรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมถึงระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทตามพระราชพิธี  ในบทความนี้ จะกล่าวถึง อนาคตของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย กัมพูชา มาเลเซีย และบรูไน

กษัตริย์ภูมิพลยังคงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของโลก และเป็นศูนย์กลางของโครงสร้างทางการเมืองไทย ทรงขึ้นครองราชย์ในปี 1946 หลังจากที่พระเชษฐา หรือ กษัตริย์อานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันเนื่องจากถูกจากถูกลอบปลงพระชนม์อย่างลึกลับ องค์สุลต่านฮัสซานัล โบเกียห์ ของบรูไนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยืนยงของพระองค์ในขณะที่สร้างความชอบธรรมในเกิดกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในยุคที่หลายๆประเทศกำลังเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย กษัตริย์สีหมุนีของกัมพูชา ซึ่งบทบาทของพระองค์ส่วนใหญ่จำกัดเพียงแค่งานราชพิธี แต่ก็ยังคงความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างชาติและอัตลักษณ์ของเขมร อย่างไรก็ตาม สถานะของกษัตริย์สีหมุนีกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ภายหลังจากที่ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา เสด็จสวรรคตในเดือนตุลาคม 2012 ส่วนในประเทศมาเลเซียมีระบบราชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ยังดี เปอร์ตวน อากง ซึ่งหมายถึง ผู้ปกครองสูงสุด เป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการของประมุขแห่งสหพันธรัฐมาเลเซียภายใต้รัฐธรรมนูญ สมเด็จพระราชาธิบดี หรือ “ยัง ดี-เปอร์ตวน อากง”ลำดับที่ 14 องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดี ตวนกู อับดุล ฮาลิม จากรัฐเกดะห์ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม 2011 หลังจากที่พระองค์ได้รับการเลือกตั้งจากการประชุมของคณะเจ้าผู้ครองนคร

ในส่วนของโลกตะวันตก สถาบันกษัตริย์ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัยที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับสถาบันประชาธิปไตย ราชวงศ์อังกฤษยังคงดำรงอยู่ได้ก็เพราะต้องปรับตัวให้ทันสมัยอยู่ตอลดเวลาเพื่อให้ทันต่อพัฒนาทางการเมือง  เดนนิส คาวานาห์ กล่าวไว้ว่า หัวใจสำคัญที่ราชวงศ์อังกฤษยังอยู่รอดได้ในสหราชอาณาจักรเป็นเพราะความยินยอมในลดอำนาจทางการเมืองของตัวเองในเวลาที่เหมาะสมในช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมา เพื่อที่จะดักหน้าความต้องการในการล้มล้างสถาบันของราชวงศ์อังกฤษของสังคม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปกครองโดยกษัตริย์และสุลต่านแบบโบราณยังคงสามารถอยู่รอดได้ในยุคประชาธิปไตย…แต่จะยังคงดำรงอยู่ได้นานเท่าไหร่?

วิกฤตทางการเมืองที่ยืดเยื้อของประเทศไทยที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยแต่ละฝ่ายต้องการคงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองนั้น ได้มีส่วนในการดึงเอาสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่หากจะวิเคราะห์อย่างเป็นธรรม กษัตริย์ของไทยเองก็เป็นกษัตริย์ที่ “แอ็คทีฟ” ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อมี 2006 สมาชิกของราชวงศ์ไทยบางพระองค์ตัดสินใจที่จะไม่เล่นการเมืองหลังฉากอีกต่อไป แต่เริ่มออกมาเล่นหน้าฉากอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ราชินีสิริกิติ์ เสด็จไปงานพระราชทานเพลิงศพสมาชิกของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยเสื้อเหลือง ถูกมองว่าเป็นการเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงขุ่นเคืองใจ

สุลต่านของบรูไนได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับระบบการเมืองภายในประเทศในการเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายใหม่ๆ โดยได้สร้างความเข้มแข็งให้กับความชอบธรรมของระบบกษัตริย์ โดยใช้อุดมกาษณ์ราชาธิปไตยอิสลามมลายู  (Melayu Islam Beraja (MIB) ) ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการนำเอาศาสนาอิสลามมามีบทบาทในระดับชาติ แต่กระบวนการนี้ให้ประโยชน์แก่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และมีความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธโดยประชากรที่ไม่ใช่มุสลิม

ในขณะเดียวกัน สมาชิกราชวงศ์อื่นๆ ต้องประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์ที่ด่างพร้อย ด้วยเรื่องอื้อฉาวและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม  ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และเป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของราชวงศ์ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าชายรัฐกลันตันของมาเลเซีย เต็งกู เตเมงกง มูฮัมหมัด ฟากฮรี ถูกกล่าวหาว่าทำทารุณกรรมทางเพศกับอดีตภรรยาวัย  17  ปี  นี่ไม่ใช่เรื่องอื้อฉาวเรื่องแรกที่เกิดขึ้นกับสมาชิกราชวงศ์ของมาเลเซีย ในอีกกรณีหนึ่ง ศพของฮาซลิซ่า อิซัก อดีตนางแบบวัย 26  ปี ภรรยาคนที่สองของ ราชา จาฟาร์ ราชา มูดา มูซ่า รัชทาญาติลำดับที่สองของราชวงศ์ในรัฐเปรัค ถูกพบใกล้กับเมืองอิโปห์ การเสียชีวิตของเธอจุดประกายเรื่องราวความอื้อฉาวของราชวงศ์และได้รับความสนใจจากชาวมาเลเซียเป็นระยะเวลาหลายเดือน

ซรีรัม เชาเลีย นักวิชาการชาวอินเดีย อธิบายว่า อนาคตของสถาบันพระมหากษัตริย์ในเอเชียขึ้นอยู่กับการผสมผสานระหว่างสมรรถภาพของราชวงศ์เองกับและสมรรถภาพทางการเมือง และวิธีที่จะปรับภาพลักษณ์ของตัวเองในรูปที่จะไม่เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกัน ในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การคงอยู่ของราชวงศ์ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวใน 3 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับส่วนบุคคล 2. ระดับประเทศ และ 3. ระดับนานาชาติ

ในระดับส่วนบุคคล กษัตริย์จำเป็นต้องแสดงออกให้เห็นถึงความรับผิดชอบและความโปร่งใสที่มากขึ้น หากต้องการที่จะอยู่เคียงคู่กับระบอบการปกครองประชาธิปไตย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ แนวคิดที่ว่า กษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพยังได้รับความเคารพอย่างสูง กษัตริย์ไทยและกัมพูชาควรจะแสดงให้เห็นว่าตนเป็นธรรมราชา เพื่อที่จะเป็นการเสริมสร้างบารมี และผลที่ตามมาก็คือการได้รับความเคารพนับถือจากพสกนิกรมากขึ้น เช่นเดียวกัน สุลต่านต้องแสดงให้เห็นว่า ตนได้ใช้อำนาจที่ตั้งบนหลักศาสนาอิสลาม ความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาของราชบัลลังก์เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของกษัตริย์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นกษัตริย์และศาสนา การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศเนปาล ภายใต้การปกครองของกษัตริย์กาเนนดร้า ส่วนหนึ่งก็มาจากการขาดบารมีทางศาสนา เชาเลีย ได้กล่าวไว้ว่า  ตำนานที่มาของความศักดิ์สิทธิ์เป็นรากฐานทีสำคัญสำหรับอำนาจของกษัตริย์ ในขณะเดียวกันก็บ่งบอกให้เห็นถึงความคาดหวังของประชาชนว่า กษัตริย์ผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ควรปกครองด้วยความถูกต้องและโปร่งใส ความสามารถหรือพรสวรรค์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเอง แม้ว่าจะเป็นการสืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษก็ตาม แต่ก็ควรจะมาจากการกระทำที่ทำให้ผู้คนรับรู้ และเห็นถึงความศักดิ์ของราชบัลลังก์ ซึ่งกษัตริย์กาเนนดร้าหลงลืมที่จะให้ความสำคัญในจุดนี้ และทำให้ความเคารพนับถือที่บรรพบุรุษได้สร้างมาเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดศีลธรรม อาชญากรรม เรื่องอื้อฉาวและข่าวในทางลบเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ซึ่งกาเนนดร้าไม่สามารถควบคุมได้ นำไปสู่การล่มสลายของกษัตริย์เนปาล

ในระดับประเทศนั้น อำนาจที่มีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับฝ่ายทหาร ดังที่เห็นในประวัติศาสตร์ ทหารได้ประกาศตัวเองเป็นผู้พิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ กษัตริย์ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ได้มีความพยายามที่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกองทัพ ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากคำนำหน้า “Royal” สำหรับกองทัพแห่งชาติในบางประเทศ กองทัพไทยกลายเป็นกองกำลังรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ว่า กษัตริย์เป็นผู้บัญชาการสูงสุด สำหรับกรณีของไทย เป็นที่ชัดเจนว่า กษัตริย์ภูมิพลได้รับการพิทักษ์และสนับสนุนจากเหล่าทหารอย่างท่วมท้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง (1980-88) กล่าวไว้ว่า  “เหล่าทหารเปรียบเสมือนม้าที่รับใช้กษัตริย์ ไม่ใช่นักการเมือง” กองทัพมีพลังและอิทธิพลในการกำหนดชีวิตของรัฐบาลชุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในระบอบราชาธิปไตย ระบอบเผด็จการ หรือแม้แต่ระบอบประชิปไตย ความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์นั้นขึ้นอยู่กับความจงรักภักดีของกองทัพ อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพนั้น ไม่สามารถที่จะให้หลักประกันต่อเสถียรภาพของราชบัลลังก์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากความสัมพันธ์นั้นส่งผลกระทบหรือเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย สภาวะวิกฤตของประเทศไทยในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นว่า พันธมิตรระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพค่อยๆสูญเสียการยึดครองอำนาจ การออกมาประท้วงของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ก็เพื่อที่จะต่อต้านการครอบงำทางการเมืองของกองทัพ และการที่สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ก็นำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย

และสุดท้าย ในระดับนานาชาติ สถาบันกษัตริย์จะต้องมั่นใจว่าการดำรงของตัวเองอยู่นั้นจะต้องอยู่ในความสนใจของประเทศมหาอำนาจที่เป็นพันธมิตร จึงต้องแสดงให้เห็นว่า สถาบันยังคงเป็นเสาหลักทางการเมือง การได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจต่างประเทศ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในการช่วยกำจัดศัตรูของสถาบัน สหรัฐอเมริกาได้เคยช่วยสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงให้กับราชวงศ์ไทยในช่วงที่ภัยจากคอมมิวนิสต์แพร่ขยายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แนวทางเหล่านี้ที่อาจนำไปสู่ความจีรังยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ก็มิอาจสร้างภาพที่สวยหรูของสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคตแต่อย่างใดได้ มีปัจจัยใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาที่เป็นความท้าทายสำหรับความมั่นคงและความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ การใช้อาวุธอันไม่ชอบธรรมเพื่อต่อสู้กับความท้าทายเหล่านี้จะส่งผลร้ายต่อสถาบันเอง เช่น ในประเทศไทย การใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อจัดการต่อกลุ่มต่อต้าน นำไปสู่ความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน  ดังนั้น มาตรการที่รุนแรงขึ้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับแสดงให้เห็นถึงความทุรนทุรายที่จะยึดเกาะกับอำนาจไว้

แม้ว่าระบบสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีมากว่าเป็นพันๆปี แต่พลังอำนาจก็กลับลดลง ซึ่งในบางกรณี กลับต้องล่มสลายลงด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อประเทศต่างๆ หันมารับรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อาจจะมีระดับและความแตกต่างกันไปก็ตาม กุญแจสำคัญของการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นขึ้นอยู่กับวิธีการหรือแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในลักษณะที่เกื้อกูลกับความปรารถนาในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนเท่านั้น

Pavin Chachavalpongpun
Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University

แปลจากภาษาอังกฤษเป็ นภาษาไทยโดย ณัฐฐิญา รัตนบัณฑิตย์

Reference

Chaulia, Sreeram. 2008. “Monarchies in Asia: Crowns Die Hard”, Opinion Asia, 11 June <sreeramchaulia.net/publications/Monarchies%20in%20Asia.doc> (accessed 27 December 2012).
Joshi, Bhuwan L. and Rose, Leo E. 1966. Democratic Innovations in Nepal: A Case Study of Political Acculturation, Berkeley and Los Angeles: University of California Press.
Kershaw, Roger. 2001. Monarchy in Southeast Asia: The Faces of Tradition in Transition, London: Routledge.
Magone, José M. 2011. Contemporary European Politics: A Comparative Introduction, Oxon: Routledge, 2011.
Thongchai, Winichakul. 2013 (forthcoming). “The Monarchy and Anti-Monarchy: Two Elephants in the Room of Thai Politics and the State of Denial”, in ‘Good Coup’ Gone Bad: Thailand’s Political Developments since Thaksin’s Downfall, edited by Pavin Chachavalpongpun, Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.