ใน พ.ศ. 2554 มีงานวันเด็กจัดที่โรงเรียนลาเม็ง 1 ในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา งานวันเด็กครั้งนี้มีกิจกรรมมากมาย ทั้งการละเล่น การแสดง การจับฉลากของขวัญ การแจกอาหารและขนม รวมทั้งพิธีมอบรางวัล นอกเหนือจาก “ของขวัญเป็นภูเขาเลากา” จากหน่วยงานรัฐหลายแห่งโดยเฉพาะกองทัพแล้ว กิจกรรมพิเศษของงานวันเด็กในปีนี้คือการร้องเพลง “รายอ กีตอ” (หรือ “รายา กีตา” ในภาษามลายูมาตรฐาน ซึ่งแปลว่า “กษัตริย์ของเรา”) เนื้อเพลงพรรณนาว่ากษัตริย์ทรงอุทิศพระองค์ทรงงานหนักอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อราษฎรและราษฎรรักเทิดทูนพระองค์เพียงไร การแสดงขับร้องเพลงนี้ในงานวันเด็กเป็นการสื่อสารว่าเด็กนักเรียนชาวมลายูมุสลิมมีความจงรักภักดีและรักกษัตริย์ไทยเช่นเดียวกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศนี้ ถึงแม้พวกเขาจะมีความแตกต่างด้านชาติพันธุ์และศาสนาก็ตาม
บูซา บิดาของเด็กนักเรียน ป. 5 คนหนึ่ง กล่าวว่า ถึงแม้งานวันเด็กได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่อง แต่งานนี้ก็ถูกรัฐจับตามองอย่างใกล้ชิดเช่นกัน หน่วยทหารมาด้วยรถยานเกราะและรถกระบะไม่ใช่แค่มาแจกของขวัญกับไอศกรีม แต่มาเพื่อตรวจสอบด้วยว่ากิจกรรมต่างๆ สอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงหรือไม่ เด็กนักเรียนต้องร้องเพลง “รายอ กีตอ” เพื่อแสดงความรักและความจงรักภักดีต่อกษัตริย์และประเทศไทยตามคำขอของรัฐ เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่อาจมองการแสดงนี้โดยผิวเผิน เพราะในขณะที่เด็กนักเรียนบางคนมีความเคารพรักกษัตริย์จริงๆ ตามเนื้อเพลง แต่เด็กนักเรียนบางคนอาจไม่ได้สนใจเนื้อร้องพวกเขาเพียงแค่ร้องเพลงตามที่ถูกสั่งมา
ราชามลายู
ชาวบ้านลาเม็งนับถือราชา (หรือรายา) มลายูในฐานะบุคคลที่มีบารมีและพลังอำนาจ เรื่องเล่าในหมู่ชาวบ้านเรื่องหนึ่งคือ ขณะราชาองค์หนึ่งรอนแรมในป่ากับบริวาร ก็บังเอิญปะกับช้างที่พยายามบุกเข้ามาทำร้าย ทว่า ด้วยความที่มีพลังอำนาจก็ทำให้ราชาสามารถเอาชนะช้างด้วยมือเปล่า เรื่องเล่านี้แพร่หลายอย่างกว้างขวางและส่งผลให้ราชาเป็นบุคคลที่น่าเกรงขาม นอกจากนี้ เนื่องจากราชามีความเชื่อมโยงกับพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ พวกเขาจึงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การกินอาหารบางอย่าง เช่น พวกเขาเสวยหน่อไม้และปลาบางชนิดไม่ได้ ไม่แล้ว พลังอำนาจของพวกเขาจะเสื่อม และเนื่องจากราชามีทั้งบารมีและอำนาจ พวกเขาจึงเป็นทั้งที่รักและหวาดกลัวในหมู่ราษฎร
เม็ง ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมมลายู กล่าวว่าชาวบ้านทั้งรักทั้งชังราชา ในด้านหนึ่ง ชาวบ้านมีทัศนคติที่ดีต่อเจ้าเมืองรามัน โดยเฉพาะ โต๊ะนิ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านทำพิธีบูชาบรรพบุรุษและวิญญาณอื่นๆ พวกเขาจะรำลึกถึงโต๊ะนิเสมอ ทว่าขณะเดียวกัน บรรพบุรุษของพวกเขาก็หวาดกลัวเจ้าเมืองรามันบางคนเนื่องจากความโหดร้ายทารุณ เล่ากันว่ารายอ ซือยง ซึ่งหนีมาจากเคดะห์และแต่งงานกับลูกสาวเจ้าเมืองรามัน มักสั่งพ่อครัวให้ทำอาหารที่ปรุงจากเนื้อของราษฎร ขณะที่อีกเรื่องเล่าว่าเจ้าเมืองรามันคนหนึ่งสังเกตเห็นว่าขนุนที่จัดใส่จานมาให้หายไปส่วนหนึ่ง จึงถามเหล่าทหารว่าใครแอบกิน หลังจากสืบรู้ว่าหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งแอบกินเพราะมีอาการแพ้ท้องอยากกินขนุน เขาก็สั่งทหารให้ผ่าท้องเธอเพื่อเอาขนุนคืน นอกจากนี้ เขาสั่งตัดขาสนมคนหนึ่งเมื่อรู้ว่าเธอแอบหนีออกจากวัง
เม็ง กล่าวเพิ่มเติมว่าความกลัวของราษฎรชาวมลายูที่มีต่อเจ้าเมืองมลายูขยายรวมถึงกษัตริย์สยามด้วย เขากล่าวว่า “ราษฎรมลายูเกรงกลัวกษัตริย์สยามเพราะกษัตริย์อยู่ห่างไกลและพวกเขาไม่เคยเห็น ชาวบ้านไม่รู้ว่ากษัตริย์หน้าตาเป็นอย่างไร ยิ่งกว่านั้น กษัตริย์สยามองค์หนึ่งเคยส่งขุนพันธ์มาปราบโจรมลายูแถวนี้ เรื่องนี้ยิ่งทำให้ชาวมลายูกลัวกษัตริย์สยามขึ้นไปอีก” หากคำบอกเล่าของ เม็ง ถูกต้อง ก็มีคำถามตามมาว่าทำไมชาวมลายูในปัจจุบันจึงรักกษัตริย์ไทย โดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
กษัตริย์ไทย 2
ทันทีที่ขีดเส้นพรมแดนประเทศสยาม ชนชั้นนำที่ปกครองประเทศก็มุ่งหน้าหาทางเชื่อมโยงคนต่างชาติพันธุ์และศาสนาภายในราชอาณาจักรเข้าด้วยกัน นโยบายนี้สำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากฝรั่งเศสอาศัยข้ออ้างด้านเชื้อชาติในการขยายอำนาจปกครองเหนือลาวและเขมร โดยอ้างว่าคนสองเชื้อชาตินี้เป็นประชากรของอินโดจีนภายใต้อาณัติฝรั่งเศส เมื่อต้องเผชิญหน้ากับตรรกะเชื้อชาติเช่นนี้ รัชกาลที่ 5 และคณะที่ปรึกษาของพระองค์จึงอ้างบ้างว่าคนทุกเชื้อชาติที่อาศัยภายในสยามย่อมเป็นประชากรของชาติไทยตราบที่พวกเขามีคุณลักษณะตามบรรทัดฐานบางอย่าง—โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ถึงแม้นโยบายสร้างชาติแบบ “ผนวกรวม” ของรัชกาลที่ 5 จะไม่ได้รับการสานต่อในรัชกาลที่ 6 รวมถึงในรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ แต่นโยบายดังกล่าวก็ได้รับการรื้อฟื้นอีกหนในรัชกาลที่ 9 หรือในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้รับการสร้างภาพลักษณ์ว่าทรงอยู่เหนือความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา เพราะถึงแม้เป็นพุทธศาสนิกชน แต่พระองค์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงศาสนาอิสลามด้วย ดังนั้น ถึงแม้ศาสนาอิสลามอาจรู้สึกลำบากกับการปรับตัวให้อยู่ในส่วนของ “ศาสนา” ตามอุดมการณ์รัฐเนื่องจากรัฐไทยเชื่อมโยงกับศาสนาพุทธอย่างแนบแน่น แต่ศาสนาอิสลามก็ได้รับการอุปถัมภ์และคุ้มครองจาก “กษัตริย์” ในทำนองเดียวกัน ถึงแม้กษัตริย์เป็นชาวไทยโดยชาติพันธุ์ แต่ตามรัฐธรรมนูญพระองค์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และในระยะหลังได้รับการขนานนามว่า “พ่อของแผ่นดิน” ซึ่งมีความหมายว่าความเมตตาของพระองค์ปกคลุมพลเมืองทุกคนโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ ถึงแม้กลุ่มชาติพันธุ์มลายูอาจรู้สึกไม่ง่ายที่จะปรับตัวให้อยู่ใน “ชาติ” ตามอุดมการณ์รัฐเนื่องจากรัฐไทยเชื่อมโยงกับชาติพันธุ์ไทยอย่างแนบแน่น แต่ชาวมลายูก็สามารถแสวงหาการสนับสนุนและคุ้มครองจาก “กษัตริย์” ได้เช่นกัน ดังนั้น สถาบันกษัตริย์จึงทำให้ชาวมลายูมุสลิมมีที่ทางภายในอาณาเขตของรัฐไทยพุทธ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์และศาสนา ดังเห็นได้จากกรณีของชาวบ้านลาเม็ง
เม็ง กล่าวว่านอกเหนือจากความคุ้นเคยที่ชาวบ้านมีต่อราชามลายูแล้ว เหตุผลที่ชาวบ้านรู้สึกว่าการเคารพนับถือกษัตริย์ไทยไม่ใช่เรื่องยากก็เพราะทัศนคติที่ชาวบ้านมีต่อรัชกาลที่ 9 กล่าวคือ ถึงแม้ชาวบ้านทั่วไปอาจรู้สึกเฉยๆ ต่อพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล แต่พวกเขาก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกกดขี่ในรัชสมัยของพระองค์ ชาวบ้านอาจไม่ชอบเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แต่พวกเขาก็ไม่ได้เชื่อมโยงเจ้าหน้าที่เหล่านี้หรือรัฐบาลเข้ากับกษัตริย์ ก๊ะดา สมาชิกกลุ่มที่รัฐสนับสนุน กล่าวว่าเธอไม่คิดว่ากษัตริย์ทรงเลือกปฏิบัติในแง่ของชาติพันธุ์และศาสนา ถึงแม้เธอมีประสบการณ์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเป็นเช่นนั้นก็ตาม เธอกล่าวเสริมว่า “ไม่ใช่แค่คนไทยที่รักในหลวง คนมลายูก็รักในหลวงเหมือนกัน” อัสรอ เด็กนักเรียน ป.6 บอกว่าเขาไม่มีคำถามเกี่ยวกับกษัตริย์เพราะ “ในหลวงดีต่อชาวมลายู พระองค์ดีต่ออิสลามด้วย” อย่างไรก็ดี การสร้างภาพลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลในลักษณะคล้ายเทพเจ้าได้สร้างปัญหาทางเทววิทยาและจักรวาลวิทยาที่ชาวบ้านจำเป็นต้องตอบให้ได้เช่นกัน
“เรารักนายหลวง”
วันหนึ่ง ขณะที่เรานั่งคุยกันบนศาลาข้างถนน ผู้เขียนถาม ก๊ะดาว่า เธอหมายความคำว่า “เรา” ในประโยค “เรารักนายหลวง” ที่ประดับบนพานพุ่มว่าอะไร เธอบอกว่าหมายถึง “คนมลายู” ผู้เขียนถามต่อว่าเธอไม่รู้สึกไม่สบายใจหรือที่ใช้ประโยคนั้น ในเมื่อดูเหมือนมันเป็นประโยคสำหรับคนไทย เธอตอบว่า “ไม่เลย คนมลายูก็รักในหลวงได้” ผู้เขียนจึงลองถาม ก๊ะเมาะ ซึ่งช่วยทำพานพุ่มว่าเห็นด้วยกับ ก๊ะดา ไหม เธอตอบว่าเห็นด้วยและเสริมว่า “เราอยู่เมืองไทย เราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน” คนอื่นๆ ที่นั่งในศาลาก็เห็นพ้องกับความเห็นนี้
ในขณะที่ความหมายของคำว่า “เรา” ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ในส่วนของคำว่า “นายหลวง” กลับไม่เป็นเช่นนั้น “นายหลวง” คือการสะกดผิดของคำว่า “ในหลวง” ซึ่งเป็นคำที่คนไทยหมายถึงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล เมื่ออยู่ตามลำพังกับ เม็ง ผู้เขียนถามเขาว่าคำว่า “นายหลวง” มีความหมายว่าอะไร เขาตอบว่าหมายถึง “กษัตริย์” เมื่อผู้เขียนถามต่อว่าทำไมถึงใช้คำว่า “นาย” เขาอธิบายว่าคำคำนี้มีความหมายแตกต่างกันสองอย่าง ขึ้นอยู่กับภาษาที่ใช้ ในภาษาไทย “นาย” มีความหมายเดียวกับ “Mister” ในภาษาอังกฤษ และคำว่า “นายหลวง” จึงหมายถึง “Mister Luang” ซึ่งอาจหมายถึงกษัตริย์หรือไม่ก็ได้ แต่ในภาษามลายู “นาย” เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “โต๊ะนาย” ซึ่งใช้เรียกเจ้าหน้าที่รัฐไทยพุทธ เมื่อผสมคำว่า “นาย” ในภาษามลายูกับคำว่า “หลวง” คำนี้จึงหมายถึงหัวหน้าของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก็คือพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม เม็ง เสริมว่า เนื่องจาก “โต๊ะนาย” เป็นคำเก่าที่คนมลายูรุ่นก่อนใช้ จึงเป็นไปได้มากที่คนรุ่นใหม่ซึ่งทำพานพุ่มใช้คำว่า “นาย” ในความหมายเดียวกับ “Mister” และในเมื่อคำว่า “หลวง” เชื่อมโยงกับกษัตริย์ จึงเป็นไปได้ที่คนทำพานพุ่มส่วนใหญ่เข้าใจคำว่า “นายหลวง” ในความหมายเดียวกับ “Mister King”
ผู้เขียนเก็บคำอธิบายของ เม็ง ไว้ในใจ แล้วลองถามคนทำพานพุ่มคนอื่นๆ ด้วยคำถามเดียวกัน ก็ได้รับคำตอบคล้ายๆ กัน ก๊ะดา บอกว่าสำหรับเธอ คำว่า “นาย” ก็คือ “Mister” เพราะกษัตริย์เป็น “ผู้ชาย” เธอเสริมด้วยว่า ชาวมลายูออกเสียง “โต๊ะนาย” ต่างออกไป ดังนั้น คำว่า “นาย” จึงไม่จำเป็นต้องหมายถึง “โต๊ะนาย” ในทำนองเดียวกัน อัสรอ กล่าวว่า เขาแทบไม่เคยได้ยินคำว่า “โต๊ะนาย” หรือ “โต๊ะแน” ในภาษามลายู สำหรับเขา คำว่า “นาย” คือคำไทยที่มีความหมายเหมือนกับคำว่า “Mister” นอกจากนี้ ทั้ง ก๊ะดา และ อัสรอ เห็นพ้องกันว่า คำว่า “หลวง” อาจหมายถึงกษัตริย์หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ก็ได้ ดังนั้น สำหรับคนทำพานพุ่ม “นายหลวง” เป็นภาษาไทย ซึ่งหากแปลคำต่อคำแล้วหมายถึง “Mister King”
ประเด็นที่คำว่า “นายหลวง” หมายถึงกษัตริย์ แต่หากแปลตามตัวอักษรหมายถึง “Mister King” เป็นเรื่องสำคัญ เพราะตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้กษัตริย์ได้รับการยกย่องเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา แต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้รับการเทิดทูนเสมือนเทพเจ้าด้วยราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูและพราหมณ์ คุณลักษณะเหนือธรรมชาติและเสมือนเทพเจ้านี้เป็นปัญหาสำหรับมุสลิม เพราะมุสลิมไม่สามารถนับถือพระเจ้าอื่นใดได้นอกจากอัลเลาะห์ ประโยค “เรารักนายหลวง” ทำให้มุสลิมสามารถหาที่ทางให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลในจักรวาลวิทยาของพวกเขาได้โดยไม่จำเป็นต้องละเมิดหลักการทางศาสนา เนื่องจาก ประการแรก คำว่า “รัก” หมายถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม ไม่ใช่การเคารพบูชาหรือศรัทธา ประการที่สอง คำว่า “นาย” หมายถึงมนุษย์ ไม่ใช่พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ประโยค “เรารักนายหลวง” จึงเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดฉันมนุษย์ ไม่ใช่การเคารพบูชาองค์อธิปัตย์หรือผู้มีอำนาจสูงสุด การปลดเปลื้องคุณสมบัติเหนือธรรมชาติและเสมือนเทพเจ้าออกจากพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นวิธีการที่ทำให้พระองค์มีที่ทางในจักรวาลของมุสลิม
หลังรัชสมัย
การสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไม่เพียงนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อการเมืองไทย หากแต่ยังส่งผลกระทบต่อลักษณะความผูกพันที่ชาวมลายูมีต่อกษัตริย์ไทยด้วย เพราะถึงแม้กระบวนการสร้างความเป็นเทพเจ้าได้เริ่มต้นขึ้นบ้างแล้วตามราชประเพณี ทว่าการที่พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันจะมีสถานะคล้ายเทพในสายตาของราษฎรรวมถึงชาวมลายูดุจเดียวกับพระบิดาของพระองค์ต้องอาศัยระยะเวลา คำถามที่ชาวมลายูต้องตอบระหว่างนี้จึงอาจไม่ใช่คำถามเชิงจักรวาลวิทยา หากแต่เป็นคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องทางโลกมากกว่า
อนุสรณ์ อุณโณ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์
คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Issue 22, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2017
References
Anusorn Unno
2011 “We Love Mr. King.”: Exceptional Sovereignty, Submissive Subjectivity, and Mediated Agency in Islamic Southern Thailand. A PhD Dissertation, the University of Washington.
2016 “‘Rao Rak Nay Luang’: Crafting Malay Muslims’ Subjectivity through the Sovereign Thai Monarch,” Thammasat Review. Vol.19, No.2 (July – December).