นับแต่เปลี่ยนสหัสวรรษใหม่ การ์ตูนช่องได้รับความสนใจในเชิงวิพากษ์และวิชาการเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง เห็นได้ชัดว่าปรากฏการณ์นี้มีภูมิหลังจากกระแสที่ใหญ่กว่าสามประการคือ ประการแรก การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจตลาดอย่างแทบไร้การควบคุม รวมทั้งลัทธิบริโภคนิยมและ “วัฒนธรรมป๊อบ” ที่เกี่ยวเนื่องกัน ประการที่สอง กระบวนการโลกาภิวัตน์ทำให้ผลงานบางอย่าง อาทิเช่น มังงะและอนิเมะของญี่ปุ่นที่แพร่หลายไปทั่วโลกมีลักษณะเป็นผลงานเฉพาะกลุ่มน้อยลง แต่กลายเป็นแบบจำลองของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่สังคมอื่นรับมาเป็นของตัวเองได้ ดังที่มีอธิบายไว้ในงานเขียนของ Shiraishi Saya (2013: 236-237) และประการที่สาม ความเฟื่องฟูของสังคมสารสนเทศ ซึ่งทำให้รูปแบบวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมและปรับเปลี่ยนได้ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าสุด ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น แฟนอาร์ต คอสเพลย์ และบริการเครือข่ายสังคมเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น เรื่องที่น่าสังเกตอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ การ์ตูนช่องได้รับการยอมรับจากสาธารณชนในช่วงเวลาเดียวกับที่อัตลักษณ์ของการ์ตูนช่องที่เคยถูกกำหนดรูปลักษณ์พื้นฐานจากความเป็นสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะสิ้นสุดลงพอดี
กระแสทั้งสามข้างต้นช่วยเอื้ออำนวยให้เกิดงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนช่องในภาควิชานิเทศศาสตร์ มานุษยวิทยาวัฒนธรรม สังคมวิทยา รวมถึงภาควิชาอื่นๆนอกเหนือจากนี้ คำนำของหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อบในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งข้อสังเกตอย่างภาคภูมิใจในประเด็นนี้ว่า “บรรทัดฐานหนึ่งที่บ่งบอกความชอบธรรมของหัวข้อศึกษาในโลกวิชาการก็คือเมื่อนักเศรษฐศาสตร์กับนักรัฐศาสตร์เริ่มสนใจหัวข้อนั้นอย่างจริงจัง” (Otmazgin & Ben-Ari 2013: 3) อภิสิทธิ์เช่นนี้มักหมายถึงความนิยมที่จะวิเคราะห์เชิงมหภาคมากกว่ามุ่งเน้นไปที่กรณีของปัจเจกบุคคล ส่วนใหญ่แล้ว การ์ตูนช่องถูกใช้เป็นแค่วัตถุดิบในการศึกษาโดยมิได้คำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะของสื่อ 1 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวดูเหมือนสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของความรู้ทางวิชาการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามากกว่าเกิดจากระบบระเบียบวิธีในสาขารัฐศาสตร์เอง สี่สิบปีก่อนหน้าหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น เบเนดิคท์ แอนเดอร์สันใช้การ์ตูนกับการ์ตูนช่องในอินโดนีเซียเพื่อศึกษาการสื่อสารทางการเมืองในอินโดนีเซียด้วยวิธีการที่ซับซ้อนละเอียดอ่อนอย่างน่าอัศจรรย์ใจจนถึงทุกวันนี้ สมมติฐานพื้นฐานเช่น “รูปแบบบอกอะไรได้มากเท่าๆกับเนื้อหา” (1990: 156) หรือข้อสังเกตว่าการ์ตูนช่องเพื่อความบันเทิงซึ่งแตกต่างจากการ์ตูนการเมืองภาพเดี่ยวทำให้ผู้วิจัยจำเป็นต้อง “หันมาพิเคราะห์ลีลาไปจนถึงบริบท” (ibid: 167) ยังไม่ใช่แนวคิดที่ล้าสมัย อันที่จริง มันเป็นการแนะนำให้นำการ์ตูนช่องมาใช้โดยเฉพาะในสาขาอาณาบริเวณศึกษา โดยมีญี่ปุ่นศึกษานำหน้ามาเพราะความมีศักยภาพของมังงะและสื่อกลุ่มเดียวกันในระยะหลัง สิ่งที่โดดเด่นในที่นี้ก็คือแนวโน้มที่จะนำการวิจัยเกี่ยวกับมังงะเข้าสู่สาขาวัฒนธรรมป๊อบและสังคมศาสตร์ ในขณะที่การวิเคราะห์ด้านตัวบท การพิเคราะห์ทัศนศิลป์และการพิจารณ์ด้านสุนทรียศาสตร์อื่นๆ มักไม่ได้รับความสนใจ ราวกับการ์ตูนช่องจากญี่ปุ่นและเอเชียไม่มีคุณค่าคู่ควรกับการวิเคราะห์วิจัยทางวิชาการ ทั้งๆที่การ์ตูนช่องตระกูลเดียวกันของอเมริกันและยุโรปได้รับความสนใจภายใต้ชื่อเรียกขานว่า “นวนิยายภาพ” (graphic novels) ในสาขาวรรณคดีศึกษาในประเทศเหล่านั้น
ทว่า บทความต่างๆในฉบับพิเศษนี้ไม่จำเป็นต้องมีมุมมองในกรอบของอาณาบริเวณศึกษา แทนที่จะให้ความสำคัญกับการศึกษาอาณาบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทความเหล่านี้กลับสนใจการ์ตูนช่องกับการค้นคว้าวิจัยการ์ตูนช่องโดยตรงมากกว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าบทความเหล่านี้ไม่มีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพียงแต่คุณประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นผ่านทางการ์ตูนช่องศึกษา ซึ่งควรกล่าวถึงสั้นๆในที่นี้
ในระดับโลก การ์ตูนช่องศึกษาแผ่ขยายสาขาออกไปตามกลุ่มวัฒนธรรมเชิงภูมิศาสตร์การเมืองและภาษาศาสตร์ โดยการ์ตูนช่องภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น หรือการ์ตูนช่องอเมริกัน การ์ตูนช่องฝรั่งเศส-เบลเยียม (bande dessinée) และมังงะ ครอบครองสัดส่วนความสนใจมากที่สุด การมุ่งเน้นศึกษาการ์ตูนช่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังที่ปรากฏในบทความชุดนี้ถือเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก ตามปกติแล้ว งานวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมการ์ตูนช่องส่วนใหญ่เป็นการเปรียบเทียบระหว่างอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตกกับญี่ปุ่น นานๆครั้งจึงจะครอบคลุมถึงเกาหลีและตลาดภาษาจีน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมังงะ 2 อาการที่บ่งบอกถึงความไม่สมดุลนี้ปรากฏให้เห็นในโครงการการ์ตูนช่องอินโดนีเซีย-ญี่ปุ่น ซึ่งได้รับเงินทุนและการสนับสนุนจากมูลนิธิ Japan Foundation ใน ค.ศ. 2008 ในวาระครบรอบปีที่ 50 ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ 3 บทสรุปของโครงการที่เป็นผลงานรวบรวมเรื่องสั้นภายใต้การบรรณาธิการของ Darmawan& Takahashi ซึ่งตอนแรกวางแผนว่าจะตีพิมพ์ทั้งสองภาษา ทว่าฉบับภาษาญี่ปุ่นไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ออกมา ทำให้นักวิจารณ์และผู้อ่านมังงะชาวญี่ปุ่นไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการ์ตูนช่องที่ไม่ได้ใช้ลีลาแบบมังงะทั้งที่เป็นภาษาอินโดนีเซียและภาษาญี่ปุ่น
ในบทความชุดนี้ บทบาทของ “มังงะแท้” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มิใช่ศูนย์กลางของความสนใจเช่นกัน จุดสนใจกลับอยู่ที่ความหลากหลายของการ์ตูนช่องมากกว่า ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องเล่าแม่บทในเชิงอัตชีวประวัติ ไดอารี่ภาพและการเขียนบล็อกภาพเชิงความเรียงเพื่อผลิตสื่อด้านการศึกษา (ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ไปจนถึงเพศศึกษา) ตลอดจนงานประพันธ์เพื่อความบันเทิง ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมานั้นมิได้จัดเป็นประเภทที่จัดกลุ่มตามวัฒนธรรม เช่น “ญี่ปุ่น” “อินโดนีเซีย” หรือ “เวียดนาม” อีกต่อไป แต่มีลักษณะเด่นที่ความริเริ่มอันหลากหลายที่อาจเรียกว่า ลีลาแบบฟิวชั่น นอกจากนี้ มันยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการแบ่งระหว่าง “มังงะ” ที่เป็นผลงานเชิงพาณิชย์ มีสูตรสำเร็จและเชื่อมโยงกับแฟนคลับ กับ “การ์ตูนช่องกระแสรอง” ที่เป็นเรื่องเล่าส่วนบุคคลและแนวทดลองนั้น การแบ่งเช่นนี้อาจใช้ไม่ได้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การ์ตูนช่องสองประเภทนี้มักแยกขาดจากกันในมุมมองของตะวันตกและญี่ปุ่น แต่กลับดูเหมือนเหลื่อมซ้อนกันอยู่มากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อคำนึงถึงสถานะทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เนื่องจากการ์ตูนช่องทั้งสองประเภทไม่เอื้อให้ศิลปินเลี้ยงชีพได้ อย่างน้อยก็ทำไม่ได้หากวาดการ์ตูนช่องเพียงอย่างเดียว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในญี่ปุ่นและอยู่ในแวดวงมังงะศึกษา หันกลับมาสนใจการ์ตูนช่องในภูมิภาคที่ตนเชี่ยวชาญและพยายามแนะนำผลงานเหล่านี้เข้าสู่ภาษาญี่ปุ่นในลักษณะเชิงวิพากษ์วิจารณ์ 4 ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 Shiraishi Saya นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมสำนักอเมริกันและผู้เชี่ยวชาญอินโดนีเซียศึกษา เริ่มหันมาสนใจศึกษาในสาขานี้ ตอนแรกก็สืบเนื่องมาจากการแพร่ขยายของมังงะญี่ปุ่น แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็หันมาสนใจวัฒนธรรมการ์ตูนช่องท้องถิ่นด้วย หนังสือรวมบทความของเธอในภาษาญี่ปุ่นและตีพิมพ์ออกมาเมื่อค.ศ. 2003 อาจช่วยรื้อฟื้นผลงานในยุคต้นและนำมันกลับมาอ่านใหม่โดยเชื่อมโยงกับความท้าทายในเชิงวิธีวิทยาในปัจจุบัน อีกบุคคลหนึ่งที่สร้างคุณูปการเฉกเช่นกันคือ John Lent นักประวัติศาสตร์การ์ตูนช่องอาวุโส ผู้ให้พื้นที่แก่บทความเกี่ยวกับการ์ตูนและเรื่องเล่าด้วยภาพจากทั่วทุกมุมโลกในวารสาร The International Journal of Comic Art (IJOCA) มาตั้งแต่ปี 1999 นักวิชาการบางคนที่เขียนบทความชุดพิเศษนี้มีผลงานลงในวารสาร Southeast Asian Cartoon Art (2014) เล่มล่าสุดของเขาด้วย นอกเหนือจากงานวิจารณ์และงานวิชาการเหล่านี้แล้ว หนังสือประชุมผลงานการ์ตูนช่องเล่มสำคัญก็ควรได้รับการเอ่ยถึง นั่นคือหนังสือชุด Liquid City ซึ่งออกมาถึงเล่มที่สามแล้ว (Liew 2008, Liew & Lim 2010, Liew & Sim 2014) ในแต่ละเล่มประกอบด้วยเรื่องสั้นกว่าสิบเรื่องของศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ และต่อให้ไม่มีรางวัล Eisner Award (ซึ่งมอบให้แก่เล่มที่สอง) เป็นประกัน ประชุมนิพนธ์ชุดนี้ก็เตือนใจให้เราระลึกว่า งานศึกษาการ์ตูนช่องเรื่องใดๆก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากความสนใจในด้านรัฐศาสตร์ สังคมวิทยาหรือสุนทรียศาสตร์ แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่การอยู่ในสภาพพร้อมอ่านและเข้าถึงได้ของผลงานนั้นๆ
โดย Jaqueline Berndt
ศาสตรจารย์สาขาทฤษฏีการศึกษาการ์ตูน มหาวิทยาลัย Kyoto Seika ประเทศญี่ปุ่น
Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 16 (September 2014) Comics in Southeast Asia: Social and Political Interpretations
Selected Publications
Anderson, Benedict R. O’G, 1973, “Cartoons and Monuments: The Evolution of Political Communication under the New Order”, id., Language and Power: Exploring Political Cultures in Indonesia, Ithaca, (New York: Cornell University Press, 1990), pp. 152-193.
Berndt, Jaqueline. 2010, ed. Sekai no komikkusu to komikkusu no sekai [Comics Worlds and the World of Comics] (Global Manga Studies, vol. 1), Kyoto: International Manga Research Center, ed., pp. 5-15; [bilingual edition, 2 vols, English and Japanese <http://imrc.jp/lecture/2009/12/comics-in-the-world.html]>
_____2014. “Manga Studies #1: Introduction,” Comics Forum (academic website for Comics Studies, Leeds University), 11 May 2014 [3000 words] <http://comicsforum.org/2014/05/11/manga-studies-1-introduction-by-jaqueline-berndt/>
_____2014, ed. Nihon manga to “Nihon”: Kaigai no sho komikkusu bunka o shitajiki ni (Kokusai manga kenkyū 4) [Japanese manga and “Japan,” seen from the perspective of the respective comics cultures abroad], Kyoto: International Manga Research Center.
Cheng Chua, Karl Ian Uy, and Kristine Michelle Santos, “Firipin komikkusu no ‘shi’ nitsuite” [The “Death” of Philippine Komiks], in J. Berndt, 2014, pp. 159-180.
Darmawan, Ade and Takahashi Mizuki, eds, Kaldu Ikan: komik Indonesia + Jepang (comics anthology, in Indonesian), (The Japan Foundation, 2008).
Gan, Sheuo Hui, “Manga in Malaysia: An Approach to Its Current Hybridity through the Career of the Shojo Mangaka Kaoru,” in Ōgi, Fusami, J. Berndt & Cheng Tju Lim, “Women’s Manga beyond Japan: Contemporary Comics as Cultural Crossroads in Asia,” IJOCA, vol. 13, no. 2 (Fall 2011), pp. 164–78.
Goethe Institut Jakarta, 2012-2013. City Tales (Comics Blog) <http://blog.goethe.de/CityTales/pages/about_E.html>.
_____2014. City Tales (book edition, only available via Goethe Institut).
Kusno, Abidin, “Master Q, Kung Fu Heroes and the Peranakan Chinese: Asian Pop Cultures in New Order Indonesia,” in Otmazgin & Ben-Ari, eds, 2013, pp. 185-206.
Lent, John, ed., 1999, Themes and Issues in Asian Cartooning: Cute, Cheap Mad, and Sexy, Bowling Green: Bowling Green State U Popular P.
_____2001, Illustrating Asia: comics, humor magazines, and picture books, (Honolulu: University of Hawaii).
_____2004. Comic art in Africa, Asia, Australia, and Latin America through 2000: an international bibliography, (Westport CT: Praeger).
_____2011. “Cambodian, Vietnamese Comic Art: A Symposium,” IJOCA, vol. 13, no. 1 (spring), pp. 3-108.
_____2014, ed. Southeast Asian Cartoon Art: History, Trends and Problems, (Jefferson, NC: McFarland).
Liew, Sonny, Liquid City Volume 1, (Berkeley: Image Comics, 2008).
Liew, Sonny, and Lim, Cheng Tju, eds, Liquid City Volume 2, (Berkeley: Image Comics, 2010).
Liew, Sonny, and Joyce Sim, Liquid City Volume 3, (Berkeley: Image Comics, 2014).
Lim, Cheng Tju, 2010. “Lest We Forget: The Importance of History in Singapore and Malaysia Comics Studies,” in J. Berndt 2010, pp. 187-200.
_____2013. “Singapore Comics,” IJOCA, vol. 15, no. 1 (spring), pp. 723-733.
Otmazgin, Nissim, “Popular Culture and Regionalization in East and Southeast Asia,” in Otmazgin and Ben-Ari, eds, 2013, pp. 29-51.
Otmazgin, Nissim, and Eyla Ben-Ari, eds, Popular Culture Co-productions and Collaborations in East and Southeast Asia, Kyoto CSEA Series in Asian Studies 7 (Singapore: NUS Press, in association with Kyoto University Press, 2013).
Otmazgin, Nissim, and Eyla Ben-Ari, “Introduction: History and Theory in the Study of Cultural Collaboration,” in Otmazgin and Ben-Ari, eds, 2013, pp. 1-25.
Shiraishi, Saya. 1997. “Japan’s Soft Power: Doraemon Goes Overseas,” Peter Katzenstein & Takashi Shiraishi, eds, Network Power: Japan and Asia, (Cornell University Press), pp. 236-249.
_____2013. “Umi o koeta Doraemon, id. Gurōbaruka shita nippon no manga to anime, Tokyo: Gakujutsu shuppan, pp. 19-27.
_____2013. Gurōbaruka shita nippon no manga to anime, (Tokyo: Gakujutsu shuppan).
Sihombing, Febriani, “Komikku o ‘seijika’ suru ‘eikyō’ron to ‘yōshiki’ron—Indoneshia no komikku gensetsu nitsuite” [The ‘Politicization’ of Comics by ‘Influence’ and ‘Style’: On Comics Discourse in Indonesia], in J. Berndt, ed., 2014, pp. 59-84.
ojirakarn, Mashima. 2014. “Tai komikkusu no rekishi: Tayō na manga bunka no aida de keisei sareta hyōgen” [A History of Thai Comics: Formation of Style in-between a Comics Cultures], in J. Berndt, ed., 2014, pp. 85-118.
_____2011 “Why Thai Girls’ Manga Are Not ‘Shōjo Manga’: Japanese Discourse and the Reality of Globalization”, in Ōgi, Fusami, J. Berndt & Cheng Tju Lim, “Women’s Manga beyond Japan: Contemporary Comics as Cultural Crossroads in Asia,” IJOCA, vol. 13, no. 2 (fall 2011), pp. 143–63.
Notes:
- ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นเรื่องหยุมหยิมเกี่ยวกับการ์ตูนช่องประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ กล่าวคือ มังงะ ก็ดังเช่นตัวอย่างของการไม่รู้ว่ามังงะที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปเรื่องหนึ่ง นั่นคือ Hana yori dango ทั่วโลกไม่ได้รู้จักมังงะเรื่องนี้ในชื่อ “Men are better than flowers” (Otmazgin 2013: 39) แต่รู้จักในชื่อ “Boys over flowers” ในทำนองเดียวกัน การสะกดชื่อผิดเช่น “Crayon Sinchan” [ตัวสะกดที่ถูกต้องคือ Shinchan] (Kusno 2013, passim) ก็เป็นอาการบ่งบอกอย่างหนึ่ง ↩
- บทบาทที่ถูกมองข้ามมานานของผลผลิตสื่อในภาษาจีนที่มีต่อการแพร่หลายของวัฒนธรรมมังงะญี่ปุ่นในระยะหลังเป็นประเด็นที่ Kusno (2013) ชี้ให้เห็น รวมทั้ง Shiraishi (2013: 82-83) ด้วย ↩
- ภายใต้ชื่อหัวข้องานว่าKita! Japanese Artists Meet Indonesiaศิลปินการ์ตูนช่องที่มาร่วมงานประกอบด้วย Agung Kurniawan, Beng Rahadian, Dwinita Larasati, Eko Nugroho, Kondoh Akino, Nishijima Daisuke, Oishi Akinori, Shiriagari Kotobuki. ↩
- โปรดดูCheng Chua & Santos (2014), Gan (2011) และที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Febriani Shihombing (2014) และ Mashima Tojirakarn (2011, 2014). ↩