ในช่วงหลายปีก่อนที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตจะสิ้นอำนาจเมื่อ ค.ศ. 1998 ในสื่อของอินโดนีเซียมีการถกเถียงวิวาทะสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า kesenjangansosial –หรือช่องว่างทางสังคม—ที่เพิ่มมากขึ้น มาตรการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1980 ส่งผลให้เกิดความเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคการผลิตและภาคบริการการเงิน รวมทั้งสัญญาณบ่งบอกความมั่งคั่งของชนชั้นกลางเริ่มเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเมืองต่างๆในอินโดนีเซีย ประชาชนเริ่มตระหนักรับรู้ถึงความเติบโตของชนชั้นนักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีมากขึ้นด้วย คนเหล่านี้มักเป็นลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง เสียงเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมช่วยเติมเชื้อไฟความไม่พอใจที่มีต่อระบอบซูฮาร์โต กระทั่งปะทุอย่างกราดเกรี้ยวเป็นการประท้วงและจลาจลบนท้องถนนของกรุงจาการ์ตาและเมืองใหญ่ๆที่เกิดขึ้นทั้งก่อนหน้าและพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใน ค.ศ. 1998 ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากหวังว่ายุค reformasi 1 จะไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยและเปิดกว้างมากขึ้นเท่านั้น แต่รวมถึงความเท่าเทียมทางสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
ทว่าความหวังนั้นไม่กลายเป็นความจริง นับตั้งแต่อินโดนีเซียเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 1998 ความไม่เท่าเทียมด้านความมั่งคั่งกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ยิ่งกว่านั้น ช่องว่างทางสังคมที่หยั่งรากลึกลงมีความเชื่อมโยงกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตระหนกของกลุ่มอภิมหาเศรษฐี ตลอดจนความเติบโตของรายได้ในหมู่พลเมืองยากจนก็อยู่ในภาวะชะงักงัน อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะต่อสู้กับปัญหาความไม่เท่าเทียมในชีวิตทางการเมืองของอินโดนีเซียก็ค่อนข้างสะเปะสะปะไร้ทิศทาง ถึงแม้มีการสืบทอดหลักการความเสมอภาคถ้วนหน้าฝังลึกในวัฒนธรรมการเมืองของอินโดนีเซีย อีกทั้งยังมีขบวนการสังคมนับไม่ถ้วนที่มีฐานมวลชนอยู่ในหมู่ประชากรยากจน แต่ระบบพรรคการเมืองก็ไม่ได้มีการจัดโครงสร้างที่แบ่งแยกตามชนชั้นและไม่เคยมีการเสนอโครงการปรับการกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นระบบ ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงการริเริ่มจากฝ่ายรัฐบาล ในทางกลับกัน กลุ่มคนร่ำรวยกลับมีบทบาทครอบงำการเมืองในระบบ ส่วนประชาชนที่ด้อยโอกาสจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ก็ต้องอาศัยเส้นสายในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งนักการเมืองเสนอสิทธิประโยชน์แก่ฐานเสียงบางกลุ่ม แต่ไม่สนใจการปรับการกระจายความมั่งคั่งให้กว้างขวางครอบคลุมทั้งสังคม อย่างไรก็ตาม การเมืองที่เกี่ยวข้องกับการปรับการกระจายความมั่งคั่งเริ่มมีความสำคัญโดดเด่นทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ดังเห็นได้จากคะแนนเสียงที่เพิ่มมากขึ้นของนักการเมืองที่เสนอนโยบายขยายการให้บริการด้านสาธารณสุข การศึกษาและนโยบายสวัสดิการสังคมอื่นๆ
ความไม่เท่าเทียมในอินโดนีเซีย
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความไม่เท่าเทียมในอินโดนีเซียค่อนข้างต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการชี้ว่าความไม่เท่าเทียมเริ่มเลวร้ายลงในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมาและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าสัมประสิทธิ์จีนีซึ่งเป็นมาตรวัดความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ เพิ่มสูงขึ้นจาก 0.32 ใน ค.ศ. 2002 เป็น 0.41 ใน ค.ศ. 2013 ถึงแม้ผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่เชื่อว่าดัชนีนี้ยังสะท้อนระดับความไม่เท่าเทียมที่แท้จริงในอินโดนีเซียออกมาต่ำเกินไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันไม่สะท้อนให้เห็นการกระจุกตัวของความมั่งคั่งอย่างล้นเหลือในกลุ่มคนรวยที่สุด
นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์อื่นๆ ต่างก็ถกเถียงอภิปรายถึงสาเหตุต่างๆ ของความไม่เท่าเทียมที่หยั่งรากลึกนี้ ปัจจัยประการหนึ่งคือภาวะชะงักงันของรายได้ของกลุ่มคนจนในอินโดนีเซีย หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีความเติบโตของรายได้ที่ค่อนข้างเชื่องช้า ด้วยเหตุนี้ งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่า คนจนและเกือบจนได้รับประโยชน์จากความเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะหลังน้อยกว่าพลเมืองโดยเฉลี่ยมาก 2 ในขณะที่กลุ่มประชากรที่ถูกจัดประเภทอย่างเป็นทางการว่าเป็นคนยากจนมีจำนวนลดลงจากร้อยละ 18.4 ของประชากรทั้งหมดใน ค.ศ. 2002 เหลือร้อยละ 11.2 ใน ค.ศ. 2013 แต่เมื่อรวมกับประชาชนจำนวนมหาศาลที่เรียกกันว่ากลุ่ม “เกือบจน” แล้ว ก็ยังคิดเป็นจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ตามข้อมูลของธนาคารโลก ร้อยละ 43 ของประชากรทั้งหมดยังดำรงชีพด้วยรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวันใน ค.ศ. 2011
ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ชนชั้นกลางของอินโดนีเซียจะขยายตัวมากก็จริง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดเกิดขึ้นในกลุ่มชนชั้นรวยสุด ในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา มีการดึงดูดความมั่งคั่งอย่างมหาศาลมากระจุกตัวอยู่ในหมู่อภิมหาเศรษฐีของอินโดนีเซีย เจฟฟรีย์ วินเทอร์ส์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน คำนวณไว้ใน ค.ศ. 2011 ว่า ประชากรที่รวยที่สุด 43,000 คนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าหนึ่งส่วนร้อยของร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด แต่ครอบครองความมั่งคั่งรวมกันเท่ากับร้อยละ 25 ของจีดีพีประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่บุคคลเพียงแค่สี่สิบคนเป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าร้อยละ 10 เศษๆ ของจีดีพีอินโดนีเซีย 3 ใน ค.ศ. 2012 จำนวนผู้มีสินทรัพย์เกินพันล้านในอินโดนีเซียมีมากกว่าในญี่ปุ่น อีกทั้งอินโดนีเซียยังมีผู้มีสินทรัพย์เกินพันล้านต่อหัวประชากรสูงกว่าจีนและอินเดียด้วย 4 ในช่วงต้นปี 2014 สถาบัน Wealthinsight ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “บุคคลผู้มีสินทรัพย์สูงและสินทรัพย์สูงมากในระดับโลก” เปิดเผยว่าอินโดนีเซียมีอัตราการเติบโตของมหาเศรษฐีเร็วที่สุดในโลก โดยทำนายว่าจะมีจำนวนมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นจาก 37,000 คนในปี 2013 เป็นกว่า 45,000 คนในปี 2014 หรือเท่ากับอัตราเพิ่มร้อยละ 22.6 5 หนึ่งปีก่อนหน้านั้น Wealth-X ซึ่งเป็นสถาบันลักษณะเดียวกัน คำนวณว่ามีบุคคล “สินทรัพย์สูงมาก” (กล่าวคือบุคคลที่ครอบครองสินทรัพย์อย่างน้อย 30 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป) ถึง 785 คนในอินโดนีเซีย โดยมีสินทรัพย์รวมกันถึง 130 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 17 จากปีก่อน สถาบัน Credit Suisse ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ทำนายว่ามหาเศรษฐีอินโดนีเซียจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 98,000 คนในปี 2014 เป็น 161,000 คนในปี 2019 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 64 6 อีกทั้งเป็นไปได้มากว่าการประเมินข้างต้นไม่ได้นับรวมคนรวยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ดังที่นิตยสาร Tempo รายงานไว้ในปี 2006 ว่า หนึ่งในสามของมหาเศรษฐีที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์เป็นชาวอินโดนีเซีย หลายคนย้ายมาพำนักในสิงคโปร์หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 1997-1998 7
ความมั่งคั่งที่มีการกระจุกตัวมากขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มในระดับโลกก็จริง แต่ปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้มันขยายตัวในอินโดนีเซียมาจากความเฟื่องฟูของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2000 เมื่อราคาและผลผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หลัก เช่น ถ่านหินและน้ำมันปาล์ม พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อเท็จจริงที่ผลประโยชน์ของความเฟื่องฟูครั้งนี้ตกอยู่กับชนชั้นบนของสังคมอินโดนีเซียเป็นส่วนใหญ่แทนที่จะตกอยู่กับคนจน ชี้ให้เห็นปัจจัยทางการเมืองในโครงสร้างและการค้ำจุนความไม่เท่าเทียมในอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากความเฟื่องฟูของสินค้าโภคภัณฑ์คือผู้ประกอบการที่มีเส้นสายทางการเมืองที่เอื้อให้พวกเขาเข้าถึงใบอนุญาตและสัมปทานที่จำเป็นต้องใช้ในการเปิดและดำเนินกิจการเหมืองและธุรกิจเกษตร กลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วยนักธุรกิจรายใหญ่ในจาการ์ตา รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจหน้าใหม่ที่รวยขึ้นมาอย่างน่ากังขา ข้าราชการและนักการเมืองในท้องถิ่นที่สามารถฉวยโอกาสใช้ช่องทางที่เปิดกว้างมากขึ้นในการปกครองท้องถิ่นภายใต้การกระจายอำนาจมาสนองผลประโยชน์ส่วนตน ถึงแม้อภิมหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซียยังคงกระจุกอยู่ในจาการ์ตากับสิงคโปร์ แต่ก็มีความมั่งคั่งที่เฟื่องฟูขึ้นในภูมิภาคต่างๆ เช่นกัน และเราสามารถมองเห็นหลักฐานของความร่ำรวยนี้ เช่น คฤหาสน์ใหญ่โตและเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว เมื่อเดินทางเข้าไปแม้แต่ในสถานที่ที่ค่อนข้างห่างไกล
อันที่จริง ความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นระหว่างความมั่งคั่งส่วนบุคคลกับอำนาจทางการเมือง ซึ่งเห็นตัวอย่างได้จากความเฟื่องฟูของสินค้าโภคภัณฑ์ข้างต้น เป็นลักษณะเด่นของระบบเศรษฐกิจการเมืองอินโดนีเซียมานานแล้ว คนรวยในอินโดนีเซียส่วนใหญ่ถ้าไม่มาจากตระกูลนักการเมืองก็มาจากตระกูลที่สามารถต่อสายกับผู้อุปถัมภ์ทางการเมืองและพันธมิตรในรัฐบาลยุคซูฮาร์โตและหลังจากนั้น ด้วยเหตุนี้เอง การเมืองของ “คณาธิปไตย” ในอินโดนีเซียจึงเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักของงานวิเคราะห์การเมืองอินโดนีเซียที่สำคัญหลายชิ้นในยุคหลังซูฮาร์โต 8 ข้อเสนอพื้นฐานของทฤษฎีคณาธิปไตยก็คือ หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 1990 กลุ่มคณาธิปไตย “ยึด” สถาบันหลักของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย เช่น พรรคการเมืองและรัฐสภา รวมทั้งครอบงำภาคประชาสังคมผ่านการควบคุมสถาบันต่างๆ เช่น สื่อมวลชน เป็นต้น ในทัศนะนี้ การแข่งขันเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองกลายเป็นแค่การแข่งขันระหว่างกลุ่มคณาธิปไตยกลุ่มต่างๆ ที่มุ่งหวังช่องทางเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่อำนาจรัฐสามารถจัดสรรให้ การแข่งขันกันนี้อาจดุเดือดรุนแรงได้เช่นกัน ดังวลีอันโด่งดังของเจฟฟรีย์ วินเทอร์ส์ที่กล่าวว่า อินโดนีเซียคือ “คณาธิปไตยที่ไม่เชื่อง”
ความไม่เท่าเทียม การเมืองและมโนคติ
แน่นอน ความไม่เท่าเทียมทางสังคมอย่างรุนแรงไม่ใช่ลักษณะเฉพาะที่มีแต่ในอินโดนีเซียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันที่จริง ดังที่ผลงานล่าสุดอันโด่งดังของโทมัส พีเก็ตตี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มันเป็นลักษณะที่มีมาตลอดในกลุ่มประเทศทุนนิยมพัฒนาแล้วและเป็นลักษณะที่เด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษหลังๆ การที่ความไม่เท่าเทียมดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยบริบทเชิงมโนคติคอยสนับสนุน ในสังคมส่วนใหญ่ การสนับสนุนนี้สำเร็จได้ด้วยองค์ประกอบสองประการที่ปรากฏในรูปแบบและการผสมผสานที่แตกต่างกันไป องค์ประกอบแรกคืออุดมการณ์ที่ให้ความชอบธรรมแก่ความไม่เท่าเทียม ยกตัวอย่างเช่น การอ้างว่าการมีลำดับชั้นในสังคมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากพระเจ้าหรือพลังเหนือธรรมชาติอื่นๆ หรือการอ้างว่าคนจนต้องรับผิดชอบโดยส่วนตัวหรือโดยหมู่คณะต่อสภาพความยากจนของตัวเอง อีกทั้งคนรวยสมควรได้รับความร่ำรวยเนื่องจากความสามารถ การทำงานหนัก หลักการสืบมรดก จารีตประเพณี หรือปัจจัยอื่นๆ มโนคติชุดที่สองพยายามใช้วิธีปราบพยศกับความไม่เท่าเทียม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้รัฐเข้าไปแทรกแซงระบบเศรษฐกิจและชีวิตสังคมเพื่อปรับปรุงการกระจายความมั่งคั่ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็บรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของความไม่เท่าเทียมลงบ้าง มโนคติทั้งสองประการข้างต้นมีปรากฏในทุกสังคม ถึงแม้จะมีส่วนเชื่อมโยงเป็นพิเศษกับความพยายามที่จะสร้างรัฐสวัสดิการตลอดศตวรรษที่ผ่านมาก็ตาม แม้ว่ามีหลายครั้งที่การแทรกแซงของรัฐสวัสดิการในบางประเทศช่วยลดความไม่เท่าเทียมลงได้อย่างมาก ทว่าประเทศเหล่านี้ไม่เคยมีเป้าหมายที่จะขจัดความไม่เท่าเทียมให้หมดสิ้นอย่างเด็ดขาด
ในอินโดนีเซีย มโนคติที่เอื้อต่อความไม่เท่าเทียมมีโครงสร้างเป็นเช่นไร? จุดเริ่มต้นประการหนึ่งสำหรับข้อสังเกตของเราในบทความนี้ก็คือการสำรวจความคิดเห็นระดับชาติที่ดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2014 โดยองค์กรสำรวจความคิดเห็นสองแห่ง กล่าวคือ Lembaga Survei Indonesia และ Indikator Politik Indonesia 9 การสำรวจความคิดเห็นนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีความวิตกอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียม ถึงแม้ผู้ตอบแบบสอบถาม (เช่นเดียวกับพลเมืองในประเทศอื่นๆ) ประเมินระดับความไม่เท่าเทียมที่แท้จริงในประเทศต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมากก็ตาม ร้อยละ 51.6 มองว่าอินโดนีเซียในปัจจุบันมีความไม่เท่าเทียมอยู่บ้าง ในขณะที่ร้อยละ 40.1 เห็นว่าไม่เท่าเทียมอย่างมาก (มีเพียงร้อยละ 6.6 ที่ตอบว่าอินโดนีเซียมีความเท่าเทียมอยู่บ้าง และร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ตอบว่าเท่าเทียมมาก) เกือบหนึ่งในสี่ กล่าวคือร้อยละ 23.3 กล่าวว่าความแตกต่างของรายได้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทุกเงื่อนไข คนส่วนใหญ่ กล่าวคือร้อยละ 66.3 ตอบว่าความแตกต่างของรายได้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้อย่างมีเงื่อนไข แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดนั้น มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่เลือกคำอธิบายแบบชี้นำไปในเชิงให้ความชอบธรรมทางสังคม กล่าวคือ “คนรวยรวยเพราะทำงานหนัก ส่วนคนจนจนเพราะขี้เกียจ” คนส่วนใหญ่ที่ตอบว่าความไม่เท่าเทียมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้อย่างมีเงื่อนไขคือกลุ่มที่มีมโนคติแบบปราบพยศ การเลือกเงื่อนไขหมายถึงรัฐพึงต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อปรับปรุงสภาพของคนจนและทำให้ความไม่เท่าเทียมอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ กล่าวคือ ถ้าทุกคนสามารถได้มาซึ่งปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ (ร้อยละ 23.6) ถ้าความยากจนลดลงเรื่อยๆ (ร้อยละ 17.5) ถ้าทั้งประเทศโดยรวมมีความก้าวหน้า (ร้อยละ 17.5) และถ้าการแข่งขันเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มีความยุติธรรม (ร้อยละ 16.3)
ผลลัพธ์ของแบบสำรวจความคิดเห็นนี้ชี้ให้เห็นจิตวิญญาณที่เข้มแข็งของหลักการความเสมอภาคถ้วนหน้าในสังคมอินโดนีเซียและความเป็นปฏิปักษ์ต่อความไม่เท่าเทียมทางสังคม เนื่องจากชาวอินโดนีเซียมีรากฐานความคิดในลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจและแนวคิดแบบสังคมนิยมในระหว่างต่อสู้กับลัทธิอาณานิคม วาทกรรมทางการเมืองของสาธารณชนจึงมีแนวโน้มที่เน้นบทบาทของภาครัฐและสวัสดิการสังคมอย่างมาก คำศัพท์อย่างเช่น “เสรีนิยม” และแม้กระทั่ง “ทุนนิยม” ยังเป็นคำต้องห้ามอยู่พอสมควร แม้แต่ในหมู่ชนชั้นนักการเมืองที่มีฐานอำนาจ อีกทั้งพรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั้งหมดก็ยังสนับสนุนแนวคิดว่ารัฐควรแทรกแซงระบบเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือคนยากคนจน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ยังแพร่หลาย แต่มันสะเปะสะปะไร้ทิศทาง ยกตัวอย่างเช่น โวหารที่ปวารณาตนสนับสนุนแนวคิด kesejahteraan (สวัสดิการ) และ pemerataan (ความเท่าเทียม) มักใช้กันจนติดปาก แต่แทบไม่เคยใช้ควบคู่กับการพูดถึงการเพิ่มภาระภาษีให้ชาวอินโดนีเซียร่ำรวยเพื่อทำให้เกิดการปรับการกระจายความมั่งคั่งอย่างจริงจัง
อุปสรรคและโอกาส
คำถามว่าในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ก็สนับสนุนความเท่าเทียม แต่ทำไมกลับไม่สามารถแปรแรงสนับสนุนให้เป็นความพยายามที่เข้มแข็งกว่านี้ในการยับยั้งความไม่เท่าเทียม คำอธิบายส่วนใหญ่หาได้จากลักษณะของการเมืองในระบบ ปัจจัยประการหนึ่งคือการไม่มีพรรคการเมืองที่มีโครงสร้างเป็นตัวแทนของคนจนอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น การไม่มีพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เชื่อมโยงกับสหภาพแรงงาน ทั้งนี้มิได้หมายความว่าไม่มีขบวนการสังคมหรือการระดมมวลชนในหมู่ประชาชนยากจน ตรงกันข้าม ขบวนการดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปและในบางภาคส่วน (เช่น แรงงานที่มีการจัดตั้ง) ก็มีบทบาทชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ขบวนการสังคมเหล่านี้กระจัดกระจายเป็นส่วนเสี้ยว ต่างคนต่างเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายประเด็นเดี่ยวที่ตนสนใจและอย่างมากก็สร้างข้อตกลงเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งเป็นครั้งๆไป ข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกันอีกประการก็คือสายสัมพันธ์ของพลเมืองกับตัวแทนทางการเมืองถูกครอบงำด้วยสายสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์อยู่ก่อนแล้ว ถึงแม้นักการเมืองจะหาเสียงจากประชาชนด้วยการใช้ภาษาสากลว่าด้วยสวัสดิการสังคมและความเท่าเทียม แต่สิ่งที่พวกเขาเสนอก็มักให้ผลประโยชน์จำกัดอยู่แค่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นฐานเสียง เช่น โครงการพัฒนาในบางหมู่บ้าน โครงการความช่วยเหลือทางสังคมที่ผ่องถ่ายผ่านองค์กรศาสนาที่ให้การสนับสนุน การให้ของกำนัลแก่ตัวบุคคลหรือจ่ายเงินในช่วงเวลาเลือกตั้ง ฯลฯ ระบบอุปถัมภ์ในลักษณะนี้จัดเป็นวิธีการปรับการกระจายความมั่งคั่งแบบสำเร็จรูปอย่างหนึ่งก็จริง แต่ก็ทำได้ในระดับต่ำและเฉพาะกรณีเท่านั้น นอกจากนี้ มันยังเป็นวิถีปฏิบัติทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายคนรวย และในระยะยาวแล้วจึงยิ่งตอกย้ำความไม่เท่าเทียมมากกว่าลดความไม่เท่าเทียมลง
กระนั้นก็ตาม ถึงแม้มีอุปสรรคทั้งหมดข้างต้น แต่แสงสว่างจุดแรกของกรอบกระบวนทัศน์ใหม่ในด้านสวัสดิการสังคมและอาจรวมถึงวิธีการปรับการกระจายความมั่งคั่งในการเมืองอินโดนีเซียก็กำลังเป็นรูปเป็นร่างให้แลเห็น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะแรงบันดาลใจที่ได้จากการนำเอาระบบเลือกตั้งผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นโดยตรงมาใช้ ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวนมากเริ่มนำนโยบายสวัสดิการสังคมใหม่ๆ มาปฏิบัติ โดยเฉพาะในด้านการดูแลสุขภาพ รวมทั้งมีการริเริ่มนำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ในระดับชาติด้วย 10 นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีคนใหม่ ชนะการเลือกตั้งในปี 2014 ด้วยการระดมแรงสนับสนุนจากฐานเสียงในหมู่คนยากจน โดยนำเสนอตัวเองว่าเป็นคนที่สามารถเข้าใจความต้องการของคนจนได้อย่างถ่องแท้ รวมทั้งเสนอการขยายระบบดูแลสุขภาพ การศึกษาและบริการทางสังคมอื่นๆ หนึ่งในนโยบายชุดแรกสุดของเขาคือโครงการจ่ายเงินสดชดเชยให้แก่ครอบครัวยากจน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะเข้าถึงประชากรถึงหนึ่งในสาม นิตยสาร The Economist กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “โครงการในลักษณะแบบนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” 11กล่าวโดยสังเขปแล้ว สัญชาตญาณที่โหยหาความเสมอภาคถ้วนหน้าของประชาชนชาวอินโดนีเซียค่อยๆ จับคู่กับนโยบายรูปธรรมได้ทีละเล็กละน้อย ถึงแม้การท้าทายความไม่เท่าเทียมโดยตรงและถึงรากถึงโคนยังไม่ปรากฏให้เห็น แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นก้าวแรกที่ล้มลุกคลุกคลานที่มุ่งหน้าไปสู่การปราบพยศความไม่เท่าเทียม
Edward Aspinall
ศาสตราจารย์ ภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม สำนักคอรัลเบลล์แห่งกิจการเอเชียแปซิฟิก วิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
Issue 17, Kyoto Review of Southeast Asia, March 2015
Notes:
- Reformasi แปลว่า ปฏิรูป เป็นคำเรียกช่วงเวลานับตั้งแต่ซูฮาร์โตถูกโค่นลงจากอำนาจ ↩
- Arief Anshory Yusuf, Andy Sumner &Irlan Adiyatma Rum (2014) Twenty Years of Expenditure Inequality in Indonesia, 1993–2013, Bulletin of Indonesian Economic Studies, 50:2, 243-254, p. 250 ↩
- Jeffrey Winters, ‘Who will tame the oligarchs?”, Inside Indonesia No. 104, 2011. At http://www.insideindonesia.org/feature-editions/who-will-tame-the-oligarchs. Accessed 13 January 2015. ↩
- Eric Bellman, “Indonesia Home to More Billionaires Than Japan”, Wall Street Journal Blog, http://blogs.wsj.com/searealtime/2012/11/30/indonesia-home-to-more-billionaires-than-japan/ Accessed 30 November 2012. ↩
- Eric Bellman, “Indonesia Home to More Billionaires Than Japan”, Wall Street Journal Blog, http://blogs.wsj.com/searealtime/2012/11/30/indonesia-home-to-more-billionaires-than-japan/ Accessed 30 November 2012. ↩
- Credit Suisse media release, October 14, 2014, page. 6. At https://www.credit-suisse.com/upload/news-live/000000022801.pdf Accessed 13 January 2015. ↩
- Heri Susanto, “New Heaven for Indonesian Millionaires”, Tempo Magazine, No. 08/VII/Oct 24 – 30, 2006. ↩
- หนังสือที่รวบรวมผลงานแนวนี้เล่มล่าสุด โปรดดู Ford, M., Pepinsky, T. (2014). Beyond Oligarchy: Wealth, Power, and Contemporary Indonesian Politics. Ithaca, New York: Cornell Southeast Asia Program. ↩
- KesenjanganPendapatan: HarapanPublikTerhadapPemerintahanJokowi-JkSurveiNasional. Jakarta: LembagaSurvei Indonesia and IndikatorPolitik Indonesia, 2014. ↩
- โปรดดู Edward Aspinall, 2013. ‘Popular Agency and Interests in Indonesia’s Democratic Transition and Consolidation’, Indonesia, No. 96 (October), pp. 101-121. ↩
- “Indonesia’s anti-poverty plans: Full of promise”, The Economist, 10 January 2015. At: http://www.economist.com/news/international/21638129-cutting-fuel-subsidies-makes-space-ambitious-income-top-up-scheme-full-promise Accessed 15 January 2015. ↩