Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

ภูมิศาสตร์ของความมั่นคง: การบีบบังคับ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและงานบริหารประชากรในประเทศลาวยุคปัจจุบัน

KRSEA-Dwyer-Laos-lands

ในช่วงต้นปี 1988 สภารัฐมนตรีของลาวออกคำสั่งแก่กระทรวง คณะกรรมการรัฐ องค์กรมวลชน แขวงและเทศบาลทั่วประเทศ  คำสั่งนั้นมีชื่อว่า “การยกระดับงานบริหารประชากร” ในเอกสารกล่าวถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาคชนบทของลาว เน้นความเชื่อมโยงแนบแน่นระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับความมั่นคงแห่งชาติ  เอกสารนี้อธิบายว่า งานบริหารประชากรกอปรด้วย “การรวบรวมสถิติประชากร บันทึกสถิติการเกิดและการตาย ออกบัตรประชาชน จัดการการย้ายถิ่นฐานของประชากร จัดทำแบบแผนภูมิลำเนา รวมทั้งค้นหาและสร้างนิคมใหม่ๆ ให้แก่พลเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ที่ยังไร้ที่ดินเพื่อจะได้ทำกินเลี้ยงชีพ”  นอกจากนี้ เอกสารคำสั่งยังเอ่ยถึง “หลักการพื้นฐาน” ว่า “การเอื้อให้พลเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ของลาวได้รับสิทธิเท่าเทียมตามกฎหมายในทุกแง่มุมของชีวิต ตลอดจนส่งเสริมสิทธิของพลเมืองในการมีอำนาจปกครองเป็นหมู่คณะและความคิดสร้างสรรค์เพื่อบรรลุภารกิจเชิงยุทธศาสตร์สองประการ กล่าวคือ การป้องกันประเทศและการสร้างสังคมนิยม” 1

ในคำบรรยายว่าด้วยศิลปะของการปกครองสมัยใหม่ อรรถาธิบายของฟูโกต์มีหน้าตาคล้ายคลึงกับเทคนิคการบริหารประชากรที่แจกแจงไว้ข้างต้นอย่างน้อยก็ในบางข้อ รวมทั้งตรรกะใหญ่ของการปกครองก็มีความพ้องพานกันด้วย  ทั้งแนวคิดของรัฐบาลลาวและของฟูโกต์ต่างพยายามรู้จักประชากรผ่านสถิติเชิงประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์และการดำรงชีพ ซึ่งจะนำไปแปรเป็นสมรรถภาพในการบริหารและการปกครองด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ-การเมือง  สำหรับทั้งสองแนวคิด คำว่า “ประชากร” ไม่ได้หมายถึงแค่กลุ่มประชาชน แต่หมายรวมถึงหมู่คณะที่จะกระทำการสอดคล้องกับเจตจำนงของหมู่คณะที่ใหญ่กว่า ดังคำพูดของเจเรมี เบนแธมที่กล่าวว่า ประชาชนคือผู้ที่ “ทำสิ่งที่ควรทำ” 2  ฟูโกต์ให้เหตุผลว่า เราจะเข้าใจคำว่า “ประชากร” ได้ดีที่สุดด้วยการเปรียบเทียบกับคู่ตรงข้าม นั่นคือ มวลชนที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม  “ประชาชน” ที่เรียกร้องให้สิทธิและผลประโยชน์ของตนได้รับการตอบสนอง ถึงแม้ว่าการเรียกร้องเช่นนั้นจะทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมขึ้นมา ประชาชนพวกนี้คือกลุ่มคนที่ปฏิเสธการเป็นสมาชิกของประชากร และดังนั้นจึงเท่ากับพวกเขา “ขัดขวางระบบ” ส่วนรวม  การเป็นสมาชิกของประชากรอาจมีผลประโยชน์ส่วนตนได้ในระดับหนึ่ง แต่มีขีดจำกัดเข้มงวด เพราะการเสียสละเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อผลประโยชน์ของชาติ 3

ผ่านมาสองทศวรรษ คำเทศนาของสภารัฐมนตรีเกี่ยวกับงานบริหารประชากรกลับไม่ใช่แนวคิดตกยุคทางประวัติศาสตร์อย่างที่มองเผินๆ  ปลายทศวรรษ 1980 เป็นช่วงเปลี่ยนโฉมหน้าในประวัติศาสตร์ของ สปป.ลาว ในด้านหนึ่ง ช่วงเวลานั้นอยู่ตรงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคหลังสงครามเย็น อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงภายใต้หัวขบวนของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ (หรือที่เรียกกันว่า กลไกเศรษฐกิจใหม่) และในอีกด้านหนึ่งก็คือยุคหลังสงครามอินโดจีนที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าสิบปี แม้ว่าสงครามเวียดนามจะยุติไปแล้วก็ตาม  ในปลายปี 1988 เมื่อนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเรียกร้องให้สร้างความร่วมมือทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” 4 แกนนำพรรคของลาวก็ยิ่งเน้นย้ำความจำเป็นของ “การเพิ่มความระมัดระวัง….ในสนามรบใหม่ที่ไม่มีเสียงปืน” รวมทั้งเตือนสมาชิกพรรคให้ระวัง “[ความพยายามทั้งในอดีตและปัจจุบัน] ของศัตรู…ที่จะสร้างความระแวง ความเป็นปฏิปักษ์และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกระดับสูงและระดับล่าง ก่อกวนปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งภายในเพื่อสร้างความวุ่นวายและการจลาจลลุกฮือดังที่ทำมาแล้วในประเทศอื่นๆ” 5  คำสั่งเกี่ยวกับงานบริหารประชากรซึ่งเพิ่งถ่ายทอดออกไปแค่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น มีการหยิบยกถึงการแทรกแซงแบบใต้ดินของต่างชาติอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน  ในเอกสารนั้นกล่าวว่างานบริหารประชากรเป็น “ภารกิจใหญ่หลวงและครอบคลุมทุกด้าน” ซึ่งจำเป็นต้องมี “ทัศนคติที่ถูกต้อง สำนึกรับผิดชอบอย่างสูง ความสามารถเพียงพอในการดำเนินงานทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ การป้องกันประเทศและความมั่นคงส่วนรวม เคารพสิทธิประชาธิปไตยของประชากร รวมทั้งมีวิธีการที่มีชั้นเชิง แนบเนียนและระมัดระวังในการหลีกเลี่ยงเล่ห์เหลี่ยมของศัตรู”

แม้ว่าการเทศนาเรื่องความมั่นคงแบบนี้อาจฟังดูพ้นสมัย แต่ตรรกะที่เป็นแก่นกลางยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน  ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีจากยุคก่อนที่เชื่อมโยงประเด็นการพัฒนากับความมั่นคงอย่างชัดเจน อาจช่วยให้เราวิเคราะห์วิพากษ์การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรในประเทศลาวยุคปัจจุบันได้ในสองลักษณะด้วยกัน  ทั้งสองลักษณะนี้ยึดถือวาทกรรมเรื่องความมั่นคงอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ในขณะเดียวกันก็รักษาระยะห่างจากแนวทางที่วาทกรรมความมั่นคงพยายามหันเหการวิพากษ์วิจารณ์ (จากภายนอก) และห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ (จากภายใน) โดยยังคำนึงถึงยุคสมัยก่อนๆ ที่การแทรกแซงจากต่างชาติสร้างความทุกข์ยากแก่ประเทศนี้  ประการแรก ผู้เขียนคิดว่าเราควรทำความเข้าใจงานบริหารประชากรยุคปัจจุบันที่ดำเนินการในพื้นที่ภูเขาของลาวว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของสิ่งที่ Aihwa Ong เรียกว่าอธิปไตยต่างระดับ (graduated sovereignty) กล่าวคือ งานการเมืองซึ่งรัฐที่ไม่มีอำนาจมากนักใช้เพื่อปรับเปลี่ยนอาณาเขตและประชากรให้สอดรับกับเงื่อนไขบังคับและโอกาสในระบบเศรษฐกิจโลก 6  ในกรณีของลาว การบีบบังคับถือเป็นเครื่องมือเฉพาะหน้าชั่วคราวไว้ปราบปรามปฏิกิริยาความไม่พอใจ เป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการความตึงเครียดระหว่างชุมชนชนบทกับตัวกระทำหลากหลายที่พยายามเกณฑ์ทั้งผู้คนและที่ดินเข้าสู่แบบแผนการพัฒนาและอนุรักษ์  ประการที่สอง ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ยุทธวิธีบีบบังคับในฐานะอำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งที่พึงวิพากษ์วิจารณ์เชิงจริยธรรมอย่างแน่นอน                  แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยกำหนดเชิงประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราต้องไม่มองแค่รัฐลาว แต่ต้องพิจารณาถึงตัวกระทำต่างชาติ ทั้งรัฐบาลและตัวกระทำที่เป็นพหุภาคี  การตัดสินใจของตัวกระทำเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในการกำหนดขอบเขตที่ลาวจะขยับจัดการอะไรได้ภายในระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้  ถึงแม้ผู้เขียนเชื่อว่าการวิเคราะห์นี้นำไปใช้ได้ในประเด็นของการจัดการที่ดินและป่าในหลายภาคส่วน  แต่เพื่อความกระชับ ผู้เขียนจึงขอจำกัดการอภิปรายในบทความนี้ไว้แค่กรณีตัวอย่างเดียว น

การล้อมเขตที่ดินแบบจัดการและการสูญเสียพลังอำนาจทางการเมืองในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของลาว

ความรุนแรงของสงครามและการควบคุมวิธีการใช้กำลังบังคับเป็นสิ่งที่กดทับการจัดระบบสังคมหลังยุคอาณานิคมเป็นอย่างยิ่ง  ที่ใดก็ตามที่เกิดสงคราม สงครามจะก่อกวนให้มีการปรับเปลี่ยนวิถีการบริหารอาณาเขตและประชาชนเสียใหม่ [และ….สามารถ] ทำให้ประชากรทั้งหมดในพื้นที่นั้นๆ เกิดอาการสูญเสียพลังอำนาจทางการเมืองได้

– Achille Mbembe, On the Postcolony 7

 

ในช่วงปลายทศวรรษ 2000 ลาวก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในด้านความเฟื่องฟูของการทำธุรกิจที่ดินข้ามชาติอย่างรวดเร็ว  เมื่อมองย้อนกลับไป ความเฟื่องฟูครั้งนั้นมักนิยมเรียกกันว่า กระแสตื่นที่ดินระดับโลก 8  ทั้งงานเขียนทางวิชาการและงานเขียนเชิงสื่อมวลชนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ความสนใจทั่วโลกพุ่งสูงสุดในปลายปี 2008 และ 2009 แต่การล้อมเขตที่ดินแบบต่างๆ เพื่อสนองธุรกิจเกษตรข้ามชาติเกิดขึ้นตลอดทศวรรษ 2000 โดยมีการผสมผสานทั้งสินเชื่อราคาถูก อุปสงค์เชิงเก็งกำไรและการรุกลงทุนในต่างประเทศของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ผนวกกับกลุ่มประเทศ “รวยที่ดิน” เริ่มอึดอัดมากขึ้นกับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากตะวันตก 9  กรณีที่จีนเข้ามาลงทุนทำสวนยางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของลาวเข้ามาเติมช่องว่างนี้พอดี  แม้ส่วนใหญ่เป็นทุนเอกชน แต่ก็เดินทางเข้ามาภายใต้ร่มธงของความร่วมมือด้านการพัฒนาแบบทวิภาคี อีกทั้งได้รับการส่งเสริมจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่สร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนนอกประเทศ ตลอดจนการให้เงินทุนอุดหนุนเต็มที่แก่ธุรกิจเกษตรภายในกรอบโวหารของการปลูกพืชผลที่สร้างรายได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น ยางพารา เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น 10

ในระดับ “กลาง” นั้น การลงทุนบุกเบิกสวนยางรอบใหม่เกิดขึ้นหลังจากการขยายตัวในด้านการเข้าถึงและความเชื่อมต่อระหว่างภาคใต้ของมณฑลยูนนานกับภาคตะวันตกเฉียงเหนือของลาว  บริษัทจีนประสบความสำเร็จพอสมควรในพื้นที่ชายแดนของเมืองสิงห์และหลวงน้ำทาซึ่งเป็นเมืองหลวงของแขวงหลวงน้ำทา แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกษตรกรจำนวนมากในพื้นที่นี้มีสายสัมพันธ์กับจีนอยู่แล้ว 11  ช่องทางใหม่ในการเข้าถึงที่ดินส่วนใหญ่ รวมทั้งการเข้าถึงชาวบ้านลาว ไม่ว่าในรูปแบบของเกษตรกรพันธะสัญญาหรือแรงงาน มาจากพื้นที่ด้านในที่เพิ่งมีการเปิดตัวรอบๆ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ” กล่าวคือการขยายถนนเชื่อมต่อภาคเหนือของประเทศไทยไปถึงมณฑลยูนนานผ่านด้านตะวันตกของแขวงหลวงน้ำทาและแขวงบ่อแก้ว  การตัดถนนเส้นนี้ดำเนินการในช่วงปี 2003-2007  ในขณะที่การลงทุนสอดรับกับเป้าหมายในระดับภูมิภาคและระดับชาติที่จะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ “อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” และสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “สี่เหลี่ยมทองคำ” อันประกอบด้วยภาคใต้ของมณฑลยูนนาน ภาคเหนือของลาว ภาคเหนือของไทยและภาคตะวันออกของรัฐฉานของเมียนมาร์  การลงทุนที่ขยายตัวครั้งนี้สร้างความตึงเครียดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐลาวกับบริษัทจีน  ฝ่ายแรกชอบการลงทุนในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญามากกว่า ในขณะที่ฝ่ายหลังต้องการควบคุมสวนยางปลูกใหม่โดยตรงมากกว่า 12  ประเด็นของเกษตรพันธะสัญญากับธุรกิจรูปแบบสัมปทานทำให้ความร่วมมือด้านยางพาราของจีน-ลาวหยุดชะงักไปในช่วงต้นทศวรรษ 2000

กล่าวกันว่า “ทางออก” จากจุดอับตันนี้มาในรูปของการประนีประนอม  เพื่อให้การลงทุนเดินหน้าได้ เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นจึงล้อมเขตที่ดินจำนวนมากให้แก่บริษัทยางพาราของจีน พร้อมกับรักษาฉากหน้าว่าเกษตรพันธะสัญญายังเป็นรูปแบบโดยปริยายของความร่วมมือทวิภาคีด้านยางพารา  ในกรณีนี้ ตรรกะภูมิศาสตร์ระดับจุลภาคมีอำนาจเหนือกว่า  ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่ทำให้นึกถึงคำบรรยายเกี่ยวกับ “งานบริหารประชากร” ข้างต้น  เจ้าหน้าที่รัฐในระดับเมืองจึงขีดเส้นเอาที่ดินตรงรอยต่อระหว่างเกษตรกรมีที่ดินกับไร้ที่ดิน  หน่วยงานรัฐของลาวมักสร้างกรอบคำอธิบายว่ายางพาราเป็นพืชทดแทนการปลูกฝิ่น เพราะพืชทั้งสองชนิดต้องอาศัยทักษะสูงในการกรีดน้ำยาง  แต่อันที่จริง ยางพาราเป็นพืชผลที่เกษตรกรยากจนเอื้อมถึงได้ยาก เพราะมันเป็นไม้ยืนต้นที่ต้องใช้เวลาเกือบสิบปีระหว่างการปลูกกับการกรีดเปิดหน้ายางครั้งแรก  ดังนั้น ยางพาราจึงเป็นที่สนใจของเกษตรกรที่มีลักษณะผู้ประกอบการมากกว่า กล่าวคือกลุ่มที่มีเงินทุนสำรองและแรงงานอยู่บ้าง ซึ่งสามารถรอคอยระยะเวลาระหว่างการปลูกกับการกรีดยาง รวมทั้งรับมือกับราคายางพาราในตลาดโลกที่ขึ้นๆ ลงๆ ได้  ที่ดินของชาวบ้านที่ยากจนกว่าจึงเป็นที่ต้องการของการทำสวนยางพาราแบบสัมปทาน  ในเชิงเทคนิคนั้น ที่ดินยังเป็นของหมู่บ้าน แต่ได้รับการจัดสรรให้บริษัทจีนนำไปพัฒนาเป็นสวนยางของบริษัทโดยใช้แรงงานลาวในท้องถิ่น (รูป 1)

รูป 1. สวนยางพาราของทุนจีนบนที่ดินของหมู่บ้าน เมืองเวียงภูคา (ภาพถ่ายของผู้เขียน 2018)

ในเมืองเวียงภูคาที่ผู้เขียนเก็บข้อมูล กโลบายแบบนี้ต้องอาศัยการสูญเสียพลังอำนาจทางการเมืองในแบบที่คล้ายกับ Achille Mbembe บรรยายไว้ในข้อความคัดอ้างในหัวเรื่องข้างต้น  ชาวบ้านไม่เพียงยากจน แต่ถูกบังคับย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่ที่เคยเชื่อมโยงกับการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในสมัยทศวรรษ 1960, 70, 80 และแม้กระทั่งทศวรรษ 1990 กล่าวคือบริเวณชายขอบด้านตะวันตกของเมืองในพื้นที่ที่เคยตั้งฐานลับของอเมริกาในปี 1962   หลังจากถูกโยกย้ายถิ่นฐาน กลุ่มหมู่บ้านเกิดใหม่ตกเป็นเป้าหมายของแผนการพัฒนาหลายแผนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งโครงการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากภาครัฐและการกว้านซื้อที่ดินให้ชนชั้นนำในท้องถิ่นอย่างไม่เป็นทางการ  อันที่จริง กล่าวกันว่าเจ้าเมืองพยายามต่อต้านการค่อยๆ สูญเสียฐานที่ดินของหมู่บ้านด้วยการชักนำบริษัทจีนที่แขวงมอบหมายให้เมืองดูแลเข้ามาในหมู่บ้านเหล่านี้เพื่อพัฒนาไร่เกษตรกรรม  โครงการนี้คือ “ความร่วมมือ” ในการพัฒนารอบล่าสุด ซึ่งไม่ได้ตรงตามชื่อที่เรียก  แต่แท้ที่จริงเป็นการยัดเยียดฝ่ายเดียวให้แก่กลุ่มประชากรที่ถูกปฏิบัติเหมือนเด็กกำพร้า  ผลลัพธ์สำคัญของกระบวนการนี้คือการสร้างที่ดิน “พร้อมใช้” ที่สามารถเข้าถึงได้ในพื้นที่ด้านในของระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ 13

บทสรุป

ถึงแม้มีการสร้างที่ดินพร้อมใช้ขึ้นมา แต่มิติด้านการสร้างการดำรงชีพในแผนการล้อมเขตที่ดินแบบจัดการกลับล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่  ในปัจจุบัน ชาวบ้านในหมู่บ้านที่มีการล้อมเขตที่ดินแบบจัดการมีงานทำกับบริษัทเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ว่าในฐานะเกษตรกรพันธะสัญญาหรือคนกรีดยางในสวนยางของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ติดกับไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน (ดูพื้นหลังของรูป 1.)  อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ชัดเจนก็คือสภาพเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของกระบวนการการเมืองและเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ซึ่งจัดตำแหน่งประเทศลาวไว้ภายในวงจรของความร่วมมือด้านการลงทุน การค้าและการพัฒนาข้ามชาติ ส่งผลให้แนวทางบีบบังคับเพื่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินท้องถิ่นกลายเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ทำได้หรือกระทั่งมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งด้วย  การบีบบังคับเช่นนี้ยิ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของแนวคิดเกี่ยวกับอธิปไตยต่างระดับของ Aihwa Ong ทั้งในแง่ของการจัดการกับอาณาเขตและประชากร  ในเมื่อลาวต้องการเข้าร่วมกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพาราในชุมชนโลก นี่ย่อมนำมาซึ่งปัญหาเท่าๆ กับโอกาส  มีแนวโน้มอย่างยิ่งที่การบีบบังคับให้เกิดที่ดินพร้อมใช้ มิใช่การมีที่ดินอยู่แล้ว จะกลายเป็นความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบประการสำคัญในสายตาของผู้ตัดสินใจด้านนโยบายของประเทศ  ผลลงเอยของสภาพการณ์นี้จะเป็นเช่นไร เป็นเรื่องที่เราต้องจับตาดูต่อไปข้างหน้า

[i] “Instruction on stepping up population management work, issued by the Lao PDR’s Council of Ministers and signed by Nouhak Phoumsavan, vice chairman of the council,” 1 Feb. 1988; translated by the United States’ Foreign Broadcast Information Service (FBIS). Texas Tech University Vietnam Center and Archives, Vietnam Veterans Association Project – Laos; box 30, folder 4; accessed 11 Mar. 2009.

[ii] Foucault, M. (2009). Security, Territory, and Population. lectures at the Collège de France, 1977-1978. Picador USA; Bentham (“do as they ought”), quoted pp. 202-203 in Scott, D. (1995). Colonial Governmentality. Social Text, (43), 191–220.

[iii] Foucault (op. cit.), pp. 43-44.

[iv] Innes-Brown, M., & Valencia, M. J. (1993). Thailand’s resource diplomacy in Indochina and Myanmar. Contemporary Southeast Asia, 14, 332–351; Hirsch, P. (2001). Globalisation, regionalization and local voices: The Asian Development Bank and re-scaled politics of environment in the Mekong Region. Singapore Journal of Tropical Geography 22: 237-251.

[v] Lao radio, 7 Sept. 1988, “Heighten vigilance against enemies’ new schemes”; translation by FBIS. Texas Tech University Vietnam Center and Archives, Vietnam Veterans Association Project – Laos; box 30, folder 4; accessed 11 Mar. 2009.

[vi] Ong, A. (2000). Graduated Sovereignty in South-East Asia. Theory, Culture & Society, 17(4), 55–75.

[vii] Mbembe, A. (2001). On the postcolony. Berkeley: University of California Press, p. 88

[viii] โปรดดู  Borras, S. M., Franco, J. C., Gomez, S., Kay, C., & Spoor, M. (2012). Land grabbing in Latin America and the Caribbean. Journal of Peasant Studies, 39(3–4), 845–872; Li, T. M. (2011). Centering labor in the land grab debate. The Journal of Peasant Studies, 38(2), 281–298; White, B., Jr., S. M. B., Hall, R., Scoones, I., & Wolford, W. (2012). The new enclosures: critical perspectives on corporate land deals. The Journal of Peasant Studies, 39(3–4), 619–647; and Wolford, W., Borras, S. M., Hall, R., Scoones, I., & White, B. (2013). Governing Global Land Deals: The Role of the State in the Rush for Land. Development and Change, 44(2), 189–210. นอกจากนี้ยังมีงานเขียนอื่นอีกจำนวนมาก

[ix] โปรดดู Baird, I. G. (2014). The Global Land Grab Meta-Narrative, Asian Money Laundering and Elite Capture: Reconsidering the Cambodian Context. Geopolitics, 19(2), 431–453; Dwyer, M. B. (2013). Building the Politics Machine: Tools for “Resolving” the Global Land Grab. Development and Change, 44(2), 309–333; Kenney-Lazar, M. (2012). Plantation rubber, land grabbing and social-property transformation in southern Laos. The Journal of Peasant Studies, 39(3–4), 1017–1037; McCartan, B. (2007). China rubber demand stretches Laos. Asia Times Online. 19 December; Symon, A. (2007). Regional race for Laos’s riches. Asia Times Online. 30 August. นอกจากนี้ยังมีงานเขียนอื่นอีกจำนวนมาก

[x] Shi, W. (2008). Rubber boom in Luang Namtha: A transnational perspective. Vientiane: German Technical Cooperation (GTZ); Dwyer, M. B. (2014). Micro-Geopolitics: Capitalising Security in Laos’s Golden Quadrangle. Geopolitics, 19(2), 377–405; Kramer, Tom, & Woods, Kevin. (2012). Financing Dispossession – China’s Opium Substitution Programme in Northern Burma (Drugs & Democracy Program). Amsterdam: Transnational Institute; Lu, J. N. (2017). Tapping into rubber: China’s opium replacement program and rubber production in Laos. The Journal of Peasant Studies, 0(0), 1–22.

[xi] Shi (op. cit.); Diana, A. (2009). Roses and Rifles: Experiments of governing on the China-Laos frontier. The Australian National University; Sturgeon, J. C., Menzies, N. K., Fujita Lagerqvist, Y., Thomas, D., Ekasingh, B., Lebel, L., … Thongmanivong, S. (2013). Enclosing Ethnic Minorities and Forests in the Golden Economic Quadrangle. Development and Change, 44(1), 53–79.

[xii] Alton, C., Blum, D., & Sannanikone, S. (2005). Para rubber in northern Laos: The case of Luangnamtha. Vientiane: German Technical Cooperation (GTZ); Shi (op. cit.); Dwyer, M., & Vongvisouk, T. (2017). The long land grab: market-assisted enclosure on the China-Lao rubber frontier. Territory, Politics, Governance, 0(0), 1–19.

[xiii] โปรดดูรายละเอียดอื่นๆ ใน Dwyer (2013 op. cit. and 2014 op. cit.)

Michael Dwyer
Michael Dwyer is Instructor, Department of Geography, at the University of Colorado, Boulder

REFERENCES

Alton, C., Blum, D., & Sannanikone, S. (2005). Para rubber in northern Laos: The case of Luangnamtha. Vientiane: German Technical Cooperation (GTZ).
Baird, I. G. (2014). The Global Land Grab Meta-Narrative, Asian Money Laundering and Elite Capture: Reconsidering the Cambodian Context. Geopolitics, 19(2), 431–453.
Borras, S. M., Franco, J. C., Gomez, S., Kay, C., & Spoor, M. (2012). Land grabbing in Latin America and the Caribbean. Journal of Peasant Studies, 39(3–4), 845–872.
Diana, A. (2009). Roses and Rifles: Experiments of governing on the China-Laos frontier. The Australian National University.
Dwyer, M. B. (2013). Building the Politics Machine: Tools for “Resolving” the Global Land Grab. Development and Change, 44(2), 309–333.
Dwyer, M. B. (2014). Micro-Geopolitics: Capitalising Security in Laos’s Golden Quadrangle. Geopolitics, 19(2), 377–405.
Dwyer, M., & Vongvisouk, T. (2017). The long land grab: market-assisted enclosure on the China-Lao rubber frontier. Territory, Politics, Governance, 0(0), 1–19.
Foucault, M. (2009). Security, Territory, and Population. lectures at the Collège de France, 1977-1978. Picador USA.
Hirsch, P. (2001). Globalisation, regionalization and local voices: The Asian Development Bank and re-scaled politics of environment in the Mekong Region. Singapore Journal of Tropical Geography 22: 237-251.
Innes-Brown, M., & Valencia, M. J. (1993). Thailand’s resource diplomacy in Indochina and Myanmar. Contemporary Southeast Asia, 14, 332–351.
Kenney-Lazar, M. (2012). Plantation rubber, land grabbing and social-property transformation in southern Laos. The Journal of Peasant Studies, 39(3–4), 1017–1037.
Kramer, Tom, & Woods, Kevin. (2012). Financing Dispossession – China’s Opium Substitution Programme in Northern Burma (Drugs & Democracy Program). Amsterdam: Transnational Institute.
Li, T. M. (2011). Centering labor in the land grab debate. The Journal of Peasant Studies, 38(2), 281–298.
Lu, J. N. (2017). Tapping into rubber: China’s opium replacement program and rubber production in Laos. The Journal of Peasant Studies, 0(0), 1–22.
Mbembe, A. (2001). On the postcolony. Berkeley: University of California Press.
McCartan, B. (2007). China rubber demand stretches Laos. Asia Times Online. 19 December.
Ong, A. (2000). Graduated Sovereignty in South-East Asia. Theory, Culture & Society, 17(4), 55–75.
Scott, D. (1995). Colonial Governmentality. Social Text, (43), 191–220.
Shi, W. (2008). Rubber boom in Luang Namtha: A transnational perspective. Vientiane: German Technical Cooperation (GTZ).
Sturgeon, J. C., Menzies, N. K., Fujita Lagerqvist, Y., Thomas, D., Ekasingh, B., Lebel, L., … Thongmanivong, S. (2013). Enclosing Ethnic Minorities and Forests in the Golden Economic Quadrangle. Development and Change, 44(1), 53–79.
Symon, A. (2007). Regional race for Laos’s riches. Asia Times Online. 30 August.
White, B., Jr., S. M. B., Hall, R., Scoones, I., & Wolford, W. (2012). The new enclosures: critical perspectives on corporate land deals. The Journal of Peasant Studies, 39(3–4), 619–647.
Wolford, W., Borras, S. M., Hall, R., Scoones, I., & White, B. (2013). Governing Global Land Deals: The Role of the State in the Rush for Land. Development and Change, 44(2), 189–210.

Notes:

  1. “Instruction on stepping up population management work, issued by the Lao PDR’s Council of Ministers and signed by Nouhak Phoumsavan, vice chairman of the council,” 1 Feb. 1988; translated by the United States’ Foreign Broadcast Information Service (FBIS). Texas Tech University Vietnam Center and Archives, Vietnam Veterans Association Project – Laos; box 30, folder 4; accessed 11 Mar. 2009.
  2. Foucault, M. (2009). Security, Territory, and Population. lectures at the Collège de France, 1977-1978. Picador USA; Bentham (“do as they ought”), quoted pp. 202-203 in Scott, D. (1995). Colonial Governmentality. Social Text, (43), 191–220.
  3. Foucault (op. cit.), pp. 43-44.
  4. Innes-Brown, M., & Valencia, M. J. (1993). Thailand’s resource diplomacy in Indochina and Myanmar. Contemporary Southeast Asia14, 332–351; Hirsch, P. (2001). Globalisation, regionalization and local voices: The Asian Development Bank and re-scaled politics of environment in the Mekong Region. Singapore Journal of Tropical Geography 22: 237-251.
  5. Lao radio, 7 Sept. 1988, “Heighten vigilance against enemies’ new schemes”; translation by FBIS. Texas Tech University Vietnam Center and Archives, Vietnam Veterans Association Project – Laos; box 30, folder 4; accessed 11 Mar. 2009.
  6. Ong, A. (2000). Graduated Sovereignty in South-East Asia. Theory, Culture & Society17(4), 55–75.
  7. Mbembe, A. (2001). On the postcolony. Berkeley: University of California Press, p. 88
  8. Mbembe, A. (2001). On the postcolony. Berkeley: University of California Press, p. 88
  9. โปรดดู Baird, I. G. (2014). The Global Land Grab Meta-Narrative, Asian Money Laundering and Elite Capture: Reconsidering the Cambodian Context. Geopolitics19(2), 431–453; Dwyer, M. B. (2013). Building the Politics Machine: Tools for “Resolving” the Global Land Grab. Development and Change44(2), 309–333; Kenney-Lazar, M. (2012). Plantation rubber, land grabbing and social-property transformation in southern Laos. The Journal of Peasant Studies39(3–4), 1017–1037; McCartan, B. (2007). China rubber demand stretches Laos. Asia Times Online. 19 December; Symon, A. (2007). Regional race for Laos’s riches. Asia Times Online. 30 August. นอกจากนี้ยังมีงานเขียนอื่นอีกจำนวนมาก
  10. Shi, W. (2008). Rubber boom in Luang Namtha: A transnational perspective. Vientiane: German Technical Cooperation (GTZ); Dwyer, M. B. (2014). Micro-Geopolitics: Capitalising Security in Laos’s Golden Quadrangle. Geopolitics19(2), 377–405; Kramer, Tom, & Woods, Kevin. (2012). Financing Dispossession – China’s Opium Substitution Programme in Northern Burma (Drugs & Democracy Program). Amsterdam: Transnational Institute; Lu, J. N. (2017). Tapping into rubber: China’s opium replacement program and rubber production in Laos. The Journal of Peasant Studies0(0), 1–22.
  11. Shi (op. cit.); Diana, A. (2009). Roses and Rifles: Experiments of governing on the China-Laos frontier. The Australian National University; Sturgeon, J. C., Menzies, N. K., Fujita Lagerqvist, Y., Thomas, D., Ekasingh, B., Lebel, L., … Thongmanivong, S. (2013). Enclosing Ethnic Minorities and Forests in the Golden Economic Quadrangle. Development and Change44(1), 53–79.
  12. Alton, C., Blum, D., & Sannanikone, S. (2005). Para rubber in northern Laos: The case of Luangnamtha. Vientiane: German Technical Cooperation (GTZ); Shi (op. cit.); Dwyer, M., & Vongvisouk, T. (2017). The long land grab: market-assisted enclosure on the China-Lao rubber frontier. Territory, Politics, Governance0(0), 1–19.
  13. ปรดดูรายละเอียดอื่นๆ ใน Dwyer (2013 op. cit. and 2014 op. cit.)
Exit mobile version