Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

จากความตายถึงการกำเนิด : ชีวประวัติ บริบททางศาสนา และการจดจำทิก กว๋าง ดึ๊กกับการเผาร่างพลีชีพ

วันที่ 11 มิถุนายน 1963 พระภิกษุอาวุโสชาวเวียดนามชื่อ ทิก กว๋าง ดึ๊ก เผาตัวเองจนมรณภาพตรงสี่แยกของถนนอันพลุกพล่านในเมืองไซ่ง่อน  การพลีชีพของพระภิกษุรูปนี้ได้จารึกภาพอันลบเลือนมิได้แก่สงครามเวียดนาม  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากภาพถ่ายอันเป็นที่จดจำของมัลคอล์ม บราวน์ นักข่าวสำนัก Associated Press  ถึงแม้ภาพถ่ายชุดนี้ติดตามความตายอย่างใกล้ชิด แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าบันทึกภาพเปลวไฟที่เผาไหม้ร่างของพระภิกษุในศาสนาพุทธ  กระทั่งผ่านไปหนึ่งวัน เมื่อภาพถ่ายชุดนี้แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับพระภิกษุรูปนี้ก็มีน้อยนิดมาก แทบไม่ต่างจากอ่านรายงานของตำรวจ  เดวิด ฮัลเบอร์สแตมเขียนไว้ในรายงานข่าวว่า  “พระภิกษุในศาสนาพุทธวัย 73 ปีประกอบอัตวินิบาตกรรมเพื่อยกระดับการประท้วงของชาวพุทธต่อนโยบายด้านศาสนาของรัฐบาล” 1

ภาพการเผาตัวเองของทิก กว๋าง ดึ๊ก. This photograph won the 1963 World Press Photo of the Year. Wikipedia Commons
Another photograph of the scene by Browne. Original black and white photo: Wikipedia Commons. Colourised here by Sanna Dullaway

ชีวประวัติ

ไม่นานหลังจากการเผาร่างพลีชีพ องค์กรสหพุทธจักร (Unified Buddhist Church) แห่งเวียดนาม ได้ตีพิมพ์ชีวประวัติของทิก กว๋าง ดึ๊กออกมาเผยแพร่  ข้อมูลในชีวประวัติพรรณนาชีวิตของทิก กว๋าง ดึ๊กในลักษณะที่เป็นชีวิตทั่วไปของพระภิกษุในพุทธศาสนา 2 ทิก กว๋าง ดึ๊กบวชเณรเมื่ออายุ 7 ขวบ พออายุครบยี่สิบ ก็ได้รับการอุปสมบท 3 หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ทิก กว๋าง ดึ๊กก็จาริกไปทั่วเวียดนาม โดยเฉพาะในเวียดนามใต้ เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา  อันที่จริง ชีวประวัติชิ้นนี้เล่าชีวิตของเขาเพียงคร่าวๆ เพื่อไปเน้นความสำคัญที่การมรณภาพและผลกระทบที่ตามมา เนื่องจากการเผาตัวตายของทิก กว๋าง ดึ๊กต่างหากที่ส่งผลสะเทือนต่อโลกและทำให้ชีวิตของเขากลายมาเป็นจุดสนใจ

สิ่งที่ชีวประวัติไม่ได้เอ่ยถึงก็คือ ความตายของทิก กว๋าง ดึ๊กเป็นเหตุการณ์ที่วางแผนไว้  มันมิใช่การพลีชีพที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนดังที่ภาพถ่ายของมัลคอล์ม บราวน์ดูเหมือนจะสื่อสารออกมาแบบนั้น  ในแง่หนึ่ง การตีแผ่มรณภาพของทิก กว๋าง ดึ๊กมิได้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับชีวิตของเขาเลย แต่กลับแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างกลุ่มนักข่าวอเมริกันกับพระสงฆ์เวียดนามในสมัยนั้นมากกว่า  การลดทอนความสัมพันธ์นี้เหลือแค่การใช้ประโยชน์เพียงด้านเดียว ย่อมเท่ากับมองข้ามสภาพการณ์แวดล้อมทั้งหมดที่เป็นฉากหลังอันนำไปสู่การเผาร่างพลีชีพของทิก กว๋าง ดึ๊ก

เป็นเวลาหลายเดือนที่กลุ่มนักข่าวอเมริกัน อาทิ เดวิด ฮัลเบอร์สแตม, นีล ชีแฮน และมัลคอล์ม บราวน์ มักแวะเวียนไปที่วัดสาเหล่ยบ่อยๆ เพราะมีข่าวร่ำลือว่าพระภิกษุสงฆ์ชาวเวียดนามจะคว้านท้องหรือเผาตัวเองในที่สาธารณะเพื่อประท้วงการกดขี่ทางศาสนาของรัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยม  เป้าหมายของนักข่าวอเมริกันก็คือถ่ายภาพเหตุการณ์เหล่านี้ไว้เพราะมันช่วยให้หนังสือพิมพ์ขายได้  ฮัลเบอร์สแตมอธิบายว่า “[มัน] ก็เล่นกันแบบนี้แหละ” 4ด้วยเหตุนั้น เมื่อเรย์ เฮิร์นดอน ซึ่งมาเป็น “ตัวสำรอง” ให้ชีแฮนในเวียดนาม ลืมกล้องถ่ายรูปไว้ที่บ้านเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 1963  เขารู้ทันทีว่าตัวเอง “ชวดรางวัลพูลิตเซอร์” แล้ว 5 และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ  บราวน์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1964 จากภาพถ่ายการเผาตัวเองของทิก กว๋าง ดึ๊ก

พระสงฆ์เวียดนามใช้ความสัมพันธ์นี้เพื่อผลักดันเป้าหมายของตน  พระสงฆ์ในศาสนาพุทธเหล่านี้ใช้นักข่าวอเมริกันล่อตำรวจลับออกไปจากวัดโดยให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่ประท้วงจริง  พระสงฆ์ยังใช้ประโยชน์จากนักข่าวเพื่อเป็นปากเสียงแก่การต่อสู้ของพวกตนด้วย  คืนก่อนการเผาร่างพลีชีพ ทิก ดึ๊ก เหงียบ ซึ่งเป็นโฆษกตัวหลักขององค์กรสหพุทธจักรเชิญมัลคอล์ม บราวน์มาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเผาตัวเองของทิก กว๋าง ดึ๊ก  นอกจากนี้ ทิก ดึ๊ก เหงียบและพระภิกษุอื่นอีกสองสองสามรูปเป็นผู้อำนวยแผนการทั้งหมด  พวกเขาจัดหารถ คนขับ น้ำมันและโซ่มนุษย์ที่จะมาคอยสกัดตำรวจมิให้เข้าไปดับไฟบนร่างของทิก กว๋าง ดึ๊ก

เมื่อมีนักข่าวอเมริกันและพระสงฆ์ชาวเวียดนามคอยจัดฉากให้ ทิก กว๋าง ดึ๊กเล่นบทบาทของตนได้อย่างสมบูรณ์แบบ  กระนั้นกลับไม่มีใครตั้งข้อกังขาว่า “เขาเป็นแค่หมากตัวหนึ่งในเกมนี้หรือเปล่า?  เขาตายเพื่ออะไร?” ในบทกวีชิ้นหนึ่งที่ทิก กว๋าง ดึ๊กทิ้งไว้เป็นมรดกแก่ศิษยานุศิษย์ เขาแสดงความประสงค์ให้การเผาตัวเองเป็นคุณประโยชน์แก่ชาวพุทธในเวียดนาม  เขาบรรยายนิมิตภาพของร่างกายตนเองที่กำลังลุกโพลงว่าเปรียบประดุจ “โคมไฟฉายส่องสว่างในอนธการ” ซึ่งจะช่วยนำพาผู้คนที่หลงทางกลับคืนสู่ฝั่ง 6 ขณะที่ร่างกายของเขาเผาไหม้ ควันจะเปรียบประดุจกลิ่มหอมของธูปที่นำมาซึ่งความสงบและสื่อสารต่อ “อวิชชาชน” ในระบอบโง ดิ่ญ เสี่ยมให้รับรู้ถึงการกดขี่พุทธศาสนา 7 เมื่อสังขารหยุดเผาไหม้แล้ว ทิก กว๋าง ดึ๊กจินตนาการว่า เถ้าอัฐิของร่างจะ “ถมช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ [ทางศาสนา]” ระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์คาทอลิก 8 ทิก กว๋าง ดึ๊กจึงมุ่งหวังว่า วิญญาณของตนจะเกื้อหนุนพุทธศาสนิกชนต่อไปด้วยการปลุกคนอื่นๆ ให้ตื่นขึ้น 9

The car in which Quảng Đức traveled to his self-immolation. Wikipedia Commons

พระสูตรและธรรมบท

สังคมอเมริกันรู้สึกสะเทือนใจกับการเผาร่างพลีชีพของทิก กว๋าง ดึ๊ก  แต่ก็มีบ้างที่ยอมรับการกระทำนี้ไม่ได้  ระหว่างบินจากนิวยอร์กไปสตอกโฮล์ม ผู้หญิงอเมริกันคนหนึ่งบอกติช นัท ฮันห์ (ทิก เญิ้ต หั่ญ) ว่า  การเผาตัวเองของทิก กว๋าง ดึ๊ก “ในสายตาของเธอเป็นการกระทำของคนวิปลาส” 10 กล่าวอีกนัยหนึ่ง เธอ “มองว่าการเผาตัวเองเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน รุนแรงและคลั่งลัทธิ คนที่ทำได้ต้องมีภาวะจิตผิดเพี้ยน” 11 ส่วนติช นัท ฮันห์พยายามอธิบายต่อผู้หญิงคนนั้นว่า ในช่วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตกับทิก กว๋าง ดึ๊กนั้น เขา “เห็นว่าทิก กว๋าง ดึ๊กเป็นคนที่มีเมตตาและมีความคิดแจ่มกระจ่าง  เขามีความสงบมั่นคงและมีสติสัมปชัญญะพร้อมมูลในยามที่เผาตัวเอง” 12ผู้หญิงคนนั้นไม่เชื่อคำพูดของติช นัท ฮันห์

ความจริงแล้ว การเผาตัวเองมีรากเหง้าทางศาสนาในพิธีอุปสมบทที่ปฏิบัติกันในจารีตนิกายมหายาน  ติช นัท ฮันห์อธิบายว่า ในระหว่างพิธีนั้น “ผู้ขอบวชเป็นพระจะต้องเผาจุดเล็กๆ หนึ่งจุดหรือมากกว่านั้นบนร่างกายของตนระหว่างปฏิญาณว่าจะปฏิบัติตามธรรมวินัย 250 สิกขาบทของการเป็น ภิกษุ  กล่าวคือการดำเนินชีวิตในฐานะนักบวช การบรรลุความรู้แจ้งและการอุทิศชีวิตแก่การช่วยให้สรรพสัตว์รอดพ้น” 13ในการท่องคำปฏิญาณต่อหน้าคณะสงฆ์พร้อมกับน้อมรับความเจ็บปวดเช่นนี้ ผู้ขอบวชคนนั้นแสดงให้เห็นถึง “ความจริงจัง” ของ “จิตใจและความคิด” 14

เราสามารถสืบสาวร่องรอยของหลักปฏิบัติในการเผาตัวเองกลับไปได้ถึง สัทธรรมปุณฑรีกสูตร ซึ่งเป็น “หนึ่งในพระสูตรหรือพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญและมีอิทธิพลที่สุดของศาสนาพุทธนิกายมหายาน” 15 ในบท “ปุพพโยคกรรมของพระไภษัชยราชโพธิสัตว์” พระพุทธเจ้าเล่าเรื่องราวของพระสรรวสัตวปริยทรรศน์โพธิสัตว์ได้เผากายตนเองเพื่อบูชาแก่พระตถาคตจันทรสูรยวิมลประภาศรี เพราะพระสรรวสัตวปริยทรรศน์โพธิสัตว์รู้สึกว่าการบูชาด้วยสิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่เคยบูชาไปนั้น “ไม่ประเสริฐเท่ากับการบูชาด้วย….ร่างกาย [ของตนเอง]” 16

สำหรับผู้ปฏิบัติการเผาร่างพลีชีพนั้น สัทธรรมปุณฑรีกสูตร ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเกิดบุญกุศลอันยิ่งใหญ่  ตามเนื้อหาในบท “ปุพพโยคกรรมของพระไภษัชยราชโพธิสัตว์” นั้น สัทธรรมปุณฑรีกสูตร ไม่เพียง “สามารถปกป้องสรรพสัตว์” แต่ยัง “สามารถปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้รอดพ้นจากความทุกขเวทนาทั้งปวง” 17ในคำพรรณนาถึงผลสะเทือนของการเผาร่างตัวเองนี้ พระสูตรอุปมาการปฏิบัตินี้ “เหมือนประทีปสำหรับผู้อยู่ในความมืด เหมือนผู้นำทางพ่อค้าให้ค้นพบเส้นทางในท้องทะเล….[และ] คบไฟขับไล่ความมืดมนอนธการ” 18

ในทำนองเดียวกัน ทิก กว๋าง ดึ๊กมุ่งหวังว่าการเผาตัวเองจะสร้างผลสะเทือนดังเช่นที่พรรณนาไว้ใน สัทธรรมปุณฑรีกสูตร  ยกตัวอย่างเช่น ในบทกวีบทหนึ่งที่เขาฝากผลงานไว้ ทิก กว๋าง ดึ๊กเขียนว่าเขาต้องการใช้ร่างกายเผาไหม้ของตนเป็นดั่ง “โคมไฟฉายส่องสว่างในอนธการ” ซึ่งจะนำผู้หลงทางกลับคืนสู่ฟากฝั่ง 19 และขณะที่สังขารของเขาลุกโพลง ควันที่เกิดขึ้นเปรียบประดุจกลิ่นหอมของธูป อันจะช่วย “ปลุก” ผู้คนที่ตกอยู่ใน “อวิชชา” ให้รับรู้การกดขี่พุทธศาสนาของรัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยม 20 เมื่อร่างกายของเขามอดไหม้เป็นจุณแล้ว ทิก กว๋าง ดึ๊กจินตนาการว่า เถ้าอัฐิจะช่วย “ถมช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ [ทางศาสนา] 21 เมื่อกระบวนการเผาสังขารสิ้นสุดลง ทิก กว๋าง ดึ๊กมุ่งหวังว่า วิญญาณของตนจะช่วยชาวพุทธปลุกผู้อื่นให้ตื่นรู้ต่อไป 22

ทิก กว๋าง ดึ๊กไม่ได้มุ่งหมายให้การเผาตัวเองเป็นปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยม ดังที่ผู้สื่อข่าวอเมริกันหรือผู้นำชาวพุทธประกาศ  แต่เป็นการประกอบพิธีกรรมตาม สัทธรรมปุณฑรีกสูตร เพื่อช่วยพุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามต่างหาก  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทิก กว๋าง ดึ๊กกระทำการบูชา สัทธรรมปุณฑรีกสูตร ด้วยการเผาร่างพลีชีพ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลดเปลื้องพุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามจากความทุกข์ทั้งปวง

การจดจำในภาคผนวก

ในปี 1966 สามปีหลังจากการเผาตัวเองของทิก กว๋าง ดึ๊ก  ร้านหนังสือ Chi Lăng ในไซ่ง่อนตีพิมพ์หนังสือชื่อ Thích Ca Lược S (พุทธประวัติ) ฉบับพิสดาร  แทนที่ปกหนังสือจะใช้ภาพพระพุทธเจ้าเป็นจุดเด่น  หนังสือเล่มนี้กลับใช้ภาพของทิก กว๋าง ดึ๊กนั่งสมาธิอยู่หน้าพระพุทธรูป  จีวรของทิก กว๋าง ดึ๊กเป็นสีขมิ้นสดใสและเป็นสีเดียวกับจีวรของพระพุทธรูป บ่งบอกเป็นนัยถึงความเชื่อมโยงของทั้งสอง  อย่างไรก็ตาม ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ก็คือ มันมีส่วนภาคผนวกว่าด้วยการเผาตัวเองของทิก กว๋าง ดึ๊ก อันมีความหมายว่าการกระทำนี้เป็นส่วนหนึ่งในภาพรวมของประวัติศาสตร์พุทธศาสนา

ภาพปกหนังสือ Thích Ca Lược Sử (รูปถ่ายเป็นของผู้เขียน)

ปี 1966 เป็นจุดผกผันของขบวนการต่อสู้เพื่อพุทธศาสนา (Buddhist Struggle Movement)  ขบวนการมีส่วนร่วมในการโค่นล้มรัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยมในเดือนพฤศจิกายน 1963 และกลายเป็นกลุ่มพลังที่ได้รับการยอมรับ  เมื่อขบวนการต่อสู้เพื่อพุทธศาสนาเติบโตเข้มแข็งมากขึ้น เรื่องเล่าแม่บทเกี่ยวกับเป้าหมายของขบวนการเริ่มเคลื่อนห่างจากบริบททางศาสนามากขึ้นๆ  ในแง่หนึ่ง ศาสนากับการเมืองไม่สามารถดำรงอยู่ร่วมกัน  ถึงที่สุดแล้ว คณะนายพลของสาธารณรัฐเวียดนามก็มองว่าขบวนการนี้เป็นขบวนการทางการเมืองและใช้ความรุนแรงบดขยี้ จนทิก ถี กวางถูกคุมขังในบ้านและติช นัท ฮันห์ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ 23

ในปี 2010 ช้าไปเกือบห้าสิบปี รัฐบาลเวียดนามเพิ่งทำพิธีเปิดอนุสรณ์สถานแด่ทิก กว๋าง ดึ๊กตรงมุมถนนที่เขาเผาตัวเอง  นี่เป็นอีกครั้งที่การเผาตัวเองของทิก กว๋าง ดึ๊กมีบทบาทเป็นภาคผนวกทางประวัติศาสตร์  แต่ครั้งนี้ เป้าหมายคือการผูกโยงขบวนการต่อสู้เพื่อพุทธศาสนาเข้ากับประวัติศาสตร์เวียดนามฉบับชาตินิยมคอมมิวนิสต์

ตรงจุดศูนย์กลางคืออนุสรณ์สถานตั้งรูปหล่อสำริดของทิก กว๋าง ดึ๊กท่ามกลางกองเพลิงท่วมร่าง  ใบหน้าของรูปหล่อสงบนิ่งขณะที่เปลวไฟม้วนวนรอบร่างกาย  ด้านหลังรูปหล่อนี้คือกำแพงยาวพร้อมรูปวาดฝาหนัง ปลายผนังด้านหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวที่ทหารของกองทัพสาธารณรัฐเวียดนามทุบตีพุทธศาสนิกชน ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นภาพหมู่พระสงฆ์ยืนสวดมนต์เป็นกำลังใจให้ทหารของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ (เวียดกง)


Google Maps Street View of commemoration sites

แผ่นป้ายหน้าอนุสรณ์สถานเล่าชีวประวัติของทิก กว๋าง ดึ๊ก  แต่ก็แถลงถ้อยความอย่างชัดเจนว่า เทศบาลเมืองสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและการเสียสละที่ทิก กว๋าง ดึ๊กมีต่อ “ธรรมะ สันติภาพ เอกราชของชาติและการรวมประเทศ”

ทว่าอีกฟากถนนฝั่งตรงข้าม  มีอนุสรณ์สถานรำลึกถึงทิก กว๋าง ดึ๊กขนาดย่อมกว่าตั้งอยู่เกือบเหมือนประชันกัน  อนุสรณ์สถานนี้สร้างขึ้นในปี 1967 โดยองค์กรสหพุทธจักร ไม่มีแผ่นป้ายใหญ่โตบอกเล่าเรื่องราวใดๆ  มีแค่ตัวอักษรบอกหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์สามอย่าง นั่นคือ ปีเกิดของทิก กว๋าง ดึ๊ก  ปีที่เขาอุปสมบท และปีที่เขาเผาตัวเอง  อนุสรณ์สถานแห่งนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า “เพื่อพระพุทธศาสนา ท่านได้เผาตัวเอง”

Hoang Ngo
Workforce Development Council of Seattle – King County

Reference

Dialogue (The Rev) Thich Nhat Hanh, Ho Huu Tuong, Tam Ich,Bui Giang, Pham Cong Thien Addressing to (The Rev) Martin Luther King, Jean Paul Sartre, André Malraux, René Char, Henry Miller. Saigon: La Boi, 1965.

Halberstam, David. “DIEM ASKS PEACE IN RELIGION CRISIS; But Buddhists Still Protest Dispute Seems Worse No Easing in Dispute Demonstration Defies Ban.” New York Times, June 12, 1963.

Lê Mạnh Thát, ed. Bồ Tát Quảng Đức: Ngọn Lửa và Trái Tim. [Ho Chi Minh City]: NXB. Tổng hợp Thành phố Hồ Chí Minh, 2005.

Nhất Hạnh. Vietnam: Lotus in a Sea of Fire. 1st ed. New York: Hill and Wang, 1967.

Prochnau, William W. Once Upon a Distant War. 1st ed. New York, N.Y: Times Books, 1995.

Quốc Tuệ, ed. Công Cuộc Tranh Đấu Của Phật Giáo Việt Nam: Từ Phật Đản Đến Cách Mạng 1963. [Saigon]: the Author, 1964.

Schecter, Jerrold L. The New Face of Buddha; Buddhism and Political Power in Southeast Asia. New York: Coward-McCann, 1967.

Thích Thiện Ngộ. Thích-Ca Lược Sử: Phụ-Thích A-Di-Đà – Tóm Lược Bảy Vị Bồ Tát Phụ-Bản Thích Quảng Đức. Saigon: Quán Sách Chi Lăng, 1966.

Watson, Burton, trans. The Lotus Sutra. Translations from the Asian Classics. New York: Columbia University Press, 1993.

Notes:

  1. David Halberstam, “DIEM ASKS PEACE IN RELIGION CRISIS; But Buddhists Still Protest Dispute Seems Worse No Easing in Dispute Demonstration Defies Ban,” New York Times, June 12, 1963, 3.
  2. ปรดดู Lê Mạnh Thát, ed., Bồ Tát Quảng Đức: Ngọn Lửa và Trái Tim ([Ho Chi Minh City]: NXB. Tổng hợp Thành phố Hồ Chí Minh, 2005).
  3. ปีเกิดของทิก กว๋าง ดึ๊ก ไม่ชัดเจนว่าปีไหน  ในหนังสือบางเล่ม เช่น Thích Thiện Ngộ, Thích-Ca Lược Sử: Phụ-Thích A-Di-Đà – Tóm Lược Bảy Vị Bồ Tát Phụ-Bản Thích Quảng Đức (Saigon: Quán Sách Chi Lăng, 1966), 248., ระบุว่าเขาเกิดในปี 1890  ในงานเขียนอื่นๆ ระบุว่าเขาเกิดปี 1897
  4. William W Prochnau, Once Upon a Distant War, 1st ed (New York, N.Y: Times Books, 1995), 320.
  5. Prochnau, 316
  6. Quốc Tuệ, ed., Công Cuộc Tranh Đấu Của Phật Giáo Việt Nam: Từ Phật Đản Đến Cách Mạng 1963 ([Saigon]: the Author, 1964), 113.
  7. Quốc Tuệ, 113.
  8. Quốc Tuệ, 113.
  9. Quốc Tuệ, 113.
  10. Nhất Hạnh, Vietnam: Lotus in a Sea of Fire, 1st ed. (New York: Hill and Wang, 1967)
  11. Nhất Hạnh, 1.
  12. Nhất Hạnh, 1.
  13. Dialogue (The Rev) Thich Nhat Hanh, Ho Huu Tuong, Tam Ich, Bui Giang, Pham Cong Thien Addressing to (The Rev) Martin Luther King, Jean Paul Sartre, André Malraux, René Char, Henry Miller (Saigon: La Boi, 1965), 14.
  14. Dialogue, 14.
  15. Burton Watson, trans., The Lotus Sutra, Translations from the Asian Classics (New York: Columbia University Press, 1993), ix.
  16. Watson, 286.
  17. Watson, 286.
  18. Watson, 286.
  19. Quốc Tuệ, Công Cuộc Tranh-Đá̂u Của Phật-Giáo Việt-Nam, 113.
  20. Quốc Tuệ, 113.
  21. Quốc Tuệ, 113.
  22. Quốc Tuệ, 113.
  23. โปรดดู Jerrold L Schecter, The New Face of Buddha; Buddhism and Political Power in Southeast Asia (New York: Coward-McCann, 1967).
Exit mobile version