การตรวจสอบสถานะของอินโดนีเซียบนเวทีระหว่างประเทศควรพิจารณาจากการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศที่เป็นรูปธรรม ในบรรดาองค์ประกอบหลายประการของนโยบายต่างประเทศนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจัดเป็นจุดศูนย์ถ่วงที่สำคัญ การที่ประธานาธิบดีโจโกวีให้ความสำคัญอันดับต้นแก่การตอบสนองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสะท้อนออกมาให้เห็นในลำดับความสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซีย นั่นคือ การส่งเสริม “การทูตด้านเศรษฐกิจ” ให้อยู่แถวหน้าสุดในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน วาระการทูตด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียสอดคล้องต้องตรงกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ภายในประเทศ ซึ่งหลักใหญ่ใจความคือการมุ่งสู่เป้าหมายระดับชาติที่จะยกระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การตัดสินใจทางการทูตด้านเศรษฐกิจที่โดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของโจโกวีคือ ความร่วมมือ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้น” ระหว่างอินโดนีเซีย-จีน (Indonesia-China Belt and Road Initiative ต่อไปจะเรียกว่า BRI) บทความนี้จะวิเคราะห์ความร่วมมือ BRI ของอินโดนีเซียและพลวัตทางการเมือง-เศรษฐกิจบางประการที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้
จุดยืนและมุมมองของอินโดนีเซียต่อ BRI
ระหว่างที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาเยือนอินโดนีเซียในปี 2013 เขาประกาศว่ารัฐบาลจีนมีความสนใจที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางทะเลผ่านกลไก “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Maritime Silk Road–MSR) 1 ในตอนนั้น อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาทางทะเลจึงได้รับความสนใจน้อยมากในลำดับความสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของเขา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทั้งสองประเทศต่างก็ถือเป็นพันธกิจที่จะยกระดับความร่วมมือนี้ให้ถึงขั้น “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership)
เมื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2014 ทำให้ประธานาธิบดีโจโกวีก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนต่อมา ลำดับความสำคัญในนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซียก็เปลี่ยนแปลงตามวิสัยทัศน์ของผู้มาแทนตำแหน่ง นโยบายต่างประเทศในสมัยแรกของโจโกวีให้น้ำหนักส่วนใหญ่ไปที่วิสัยทัศน์ในการขยายอิทธิพลและอำนาจทางทะเล ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญในการหาเสียงเลือกตั้งของเขา กล่าวคือ โจโกวีนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “แกนกลางทางทะเลของโลก” หรือ “poros maritim dunia” เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าให้อินโดนีเซียกลายเป็นชาติทางทะเล จีนตอบรับวิสัยทัศน์ของโจโกวีทันที โดยถือเป็นประตูที่จะเปิดสู่การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทวิภาคีที่แนบแน่นยิ่งขึ้น
จีนถือเป็นประเทศแรกที่โจโกวีไปเยือนหลังจากทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ครั้งนั้นคือการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) และพบปะกับผู้นำประเทศอื่น นอกเหนือจากแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแกนกลางทางทะเลให้โลกเห็นแล้ว โจโกวียังประกาศคำมั่นที่จะเข้าร่วมธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank–AIIB) ที่มีจีนเป็นผู้นำ และผนวกรวมวิสัยทัศน์ทางทะเลโลกของอินโดนีเซียเข้ากับเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน 2 การเยือนครั้งนี้เปิดประตูให้แก่ความร่วมมืออินโดนีเซีย-จีนภายใต้กรอบของ BRI การพบปะครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2015 ที่งานประชุมเอเชียโป๋อ่าว (Boao Forum for Asia) ในครั้งนี้ โจโกวีกับสีจิ้นผิงได้แถลงการณ์ร่วมกันและเน้นย้ำคำมั่นสัญญาว่าจะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางทะเลให้เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม
ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit–EAS) ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา ประธานาธิบดีโจโกวีเน้นย้ำอีกครั้งถึงวิสัยทัศน์ “ศูนย์เชื่อมโยงทะเลโลก” (global maritime nexus) ซึ่งเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนย่อมช่วยส่งเสริมวาระทางทะเลอันเป็นความใฝ่ฝันของโจโกวี ดังที่ยูซุฟ วานันดีวิเคราะห์ไว้ 3 ข้อริเริ่ม BRI มีผลดีต่ออินโดนีเซียอย่างชัดเจน แต่จะมีผลดีขนาดไหนย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของโจโกวีในการพัฒนาให้วาระแผนการภายในประเทศมีการประสานกำลังเชื่อมโยงกับ BRI ความร่วมมือที่มีศักยภาพมากที่สุดต้องอาศัย “แผนปฏิบัติงานนโยบายมหาสมุทรของอินโดนีเซีย 2016-2019” (Action Plan of Indonesia Ocean Policy 2016-2019) ซึ่งสอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการร่วมมือกับ BRI ของจีน
วิธีการที่ช่วยให้เข้าใจจุดยืนของอินโดนีเซียต่อ BRI ได้ดีขึ้น ก็คือลองทบทวนสิ่งที่โจโกวีและรัฐบาลของเขาแถลงการณ์ต่อสาธารณะ ในการประชุม BRI Forum ครั้งที่ 1 ในปี 2017 โจโกวีแสดงออกถึงการมองอนาคตสดใสและสนับสนุนว่า BRI จะส่งผลลัพธ์ให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในภูมิภาคนี้ อีกทั้งชื่นชมข้อริเริ่มนี้ว่าอยู่กับความเป็นจริงและมีความเป็นรูปธรรม 4 ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว South China Morning Post (SCMP) โจโกวีกล่าวย้ำอีกครั้งว่าความสัมพันธ์ของอินโดนีเซียกับจีนจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคการผลิตดังที่เป็นจุดเด่นของ BRI 5
นับแต่นั้นเป็นต้นมา อินโดนีเซียมีความคงเส้นคงวาในการยกระดับความร่วมมือภายใต้กรอบ BRI อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยจนกระทั่งปี 2018 อินโดนีเซียกับจีนก็ยังไม่มีข้อตกลงในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมใดๆ เกิดขึ้น สืบเนื่องจากมุมมองที่แตกต่างกันว่าโครงการ BRI คืออะไร จีนมองว่าโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดคือความร่วมมือ BRI ในขณะที่อินโดนีเซียนับเฉพาะโครงการที่ให้คำมั่นสัญญากันในสมัยของสีจิ้นผิงกับโจโกวี 6 ตั้งแต่จุดนี้ต่างหากที่ข้อผูกมัดทางการเมืองระหว่างสองประเทศในด้านความร่วมมือ BRI จึงมีความคืบหน้า
ในปี 2018 ลูฮูต ปันด์จัยตัน ทูตพิเศษประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลอินโดนีเซีย เดินทางมาเยือนประเทศจีน และแสดงความคิดเห็นว่าทั้งสองประเทศต่างเป็นหุ้นส่วนกันอย่างแท้จริงในความร่วมมือ BRI ปันด์จัยตันร่วมกับหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ให้คำมั่นว่าทั้งสองประเทศจะปฏิบัติตามฉันทามติความร่วมมือ BRI อย่างเต็มที่และผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Corridors) ของอินโดนีเซีย ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากข้อริเริ่ม BRI ด้วย ลูฮูตถึงกับกล่าวว่า ความสัมพันธ์กับจีนเป็นทิศทางที่พิเศษอย่างยิ่งในความสัมพันธ์กับต่างประเทศของจาการ์ตาเสมอมา 7 บ่งบอกเป็นนัยๆ ว่าโจโกวีมีความยินดีกับปักกิ่งเป็นอย่างยิ่ง
หนึ่งปีต่อมา อินโดนีเซียเสนอ 28 โครงการ มูลค่า 91.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้นักลงทุนจีนพิจารณาโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ BRI 8 ในการประชุมคู่ขนานระหว่างอินโดนีเซีย-จีนระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ที่ญี่ปุ่นในปี 2019 ประธานาธิบดีโจโกวีได้ร้องขอการสนับสนุนทางการเงินเป็นพิเศษจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เมื่อเห็นว่าอินโดนีเซียไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจาก BRI รัฐมนตรีต่างประเทศมาร์ซูดีแถลงในปี 2019 ว่า อินโดนีเซียให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อข้อริเริ่ม BRI และคาดหวังว่าจะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านโครงการนี้ 9 การได้เห็นแถลงการณ์เช่นนี้จากเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของอินโดนีเซีย นั่นหมายความว่าอินโดนีเซียให้คุณค่าอย่างยิ่งต่อความเป็นหุ้นส่วน BRI และไม่มีความคลุมเครือใดๆ ในจุดยืนของจาการ์ตาเกี่ยวกับเรื่องนี้
เสียงวิพากษ์วิจารณ์และเสียงคัดค้านภายในประเทศต่อข้อริเริ่ม BRI ของจีน
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นและความคิดเห็นด้านลบหลายประการกำลังท้าทายจุดยืนและมุมมองของอินโดนีเซียที่มีต่อ BRI ข้อริเริ่มนี้กำลังเผชิญกับความคิดเห็นด้านลบมากมายภายในประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นของกับดักหนี้สิน การสูญเสียอำนาจอธิปไตย และการอนุญาตให้แรงงานจีนเข้ามาทำงานในอินโดนีเซีย 10 การศึกษา CSIS ชี้ให้เห็นว่า การขาดความตระหนักรู้และข้อมูลเกี่ยวกับ BRI ส่งผลให้เกิดความวิตกบานปลายว่าอินโดนีเซียจะพึ่งพิงจีนมากเกินไป 11
อินโดนีเซียเริ่มระมัดระวังมากขึ้นในการเข้าหาข้อริเริ่มนี้ ทั้งนี้เพราะอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการพัฒนาตามโครงการ BRI ก็คือความคิดเห็นของสาธารณชน เนื่องจากสาธารณชนสามารถประเมินการพัวพันกับต่างประเทศของอินโดนีเซียได้ตามระบอบประชาธิปไตย ความวิตกของชาวอินโดนีเซียโดยรวมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง อันที่จริง ปัญหาเกี่ยวกับ BRI ที่โจโกวีต้องเผชิญมาจากฐานเสียงในประเทศโดยตรง ในช่วงสามปีติดต่อกัน โจโกวีพบเจอกับการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ปิดประตูไม่ต้อนรับแรงงานชาวจีนในโครงการของ BRI นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอินโดนีเซียอย่างไฟซาล บาสรีและเอมิล ซาลิมก็วิพากษ์วิจารณ์บางแง่มุมของ BRI หลายครั้งหลายหน เช่น เรื่องคุณภาพการลงทุนและการนำแรงงานชาวจีนเข้ามาในประเทศ
รองประธานสภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซีย ฟัดลี ซอน ถึงกับเตือนโจโกวีว่า BRI เป็นภัยคุกคามต่อการเมืองแห่งชาติและอธิปไตยทางเศรษฐกิจ ริซาล รามลี อดีตรัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลของโจโกวีเอง ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้ก่อนหน้าลูฮูต เขียนเตือนว่า BRI เป็นดาบสองคม เพราะแบบแผนของการ “ให้กู้เพื่อครอบครอง” จะเปิดโอกาสให้ปักกิ่งช่วงชิงการควบคุมสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซีย 12
นอกเหนือจากความเสี่ยงของกับดักหนี้สินแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบที่โครงการ BRI จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2019 องค์กรภาคประชาสังคม 240 องค์กรคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนพลังน้ำของ BRI บนเกาะสุมาตราเหนือ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อลิงอุรังอุตังที่เป็นสัตว์ป่าประจำถิ่นในพื้นที่นั้น 13 โครงการ BRI อีกโครงการหนึ่ง กล่าวคือ รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าขาดการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม สถาบัน Indonesian Forum for Environment หรือ WALHI ซึ่งเป็นสถาบันด้านสิ่งแวดล้อมแถวหน้าของอินโดนีเซีย ก็แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลงทุนของ BRI ในโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสกปรกและการอุดหนุนเงินทุนแก่การทำเหมืองถ่านหิน 14 เมื่อต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นชุดอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ โครงการ BRI ภายในประเทศอินโดนีเซียจึงตกอยู่ท่ามกลางความท้าทายอย่างยิ่งยวด
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนรับรู้ถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ BRI และตอบสนองด้วยการเสนอหนทางแก้ไข ในการประชุม BRI Forum ครั้งที่ 1 สีจิ้นผิงเสนอให้ก่อตั้ง International Coalition for Green Development 15 เพื่อบูรณาการวาระการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเข้ากับโครงการของ BRI ทั่วโลกเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติกับกระทรวงนิเวศวิทยาของจีน นอกจากนี้ สีจิ้นผิงยังเรียกร้องให้ข้อริเริ่ม BRI มีความ “เปิดกว้าง สีเขียวและสะอาด” ในสุนทรพจน์ที่เขาปราศรัย ณ การประชุม Belt and Road Forum ครั้งที่ 2 ในปี 2019 16
รัฐบาลปักกิ่งมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมวาทกรรมความเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยแนวทางการส่งเสริมข้อริเริ่ม Green Belt and Road Initiative และแผนการ Belt and Road Ecological and Environmental Cooperation Plan 17 ในการประชุมประจำปีเอเชียโป๋อ่าว (Boao Forum for Asia (BFA) 2021 ครั้งล่าสุด สีจิ้นผิงเน้นย้ำอีกครั้งถึงพันธกิจของจีนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานและการเงินภายใต้ร่มของ BRI 18
อินโดนีเซียเองก็พยายามดักทางข้อวิจารณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไว้แล้วล่วงหน้าด้วยการให้คำมั่นหลายประการด้วยกัน รัฐมนตรีลูฮูตอ้างว่า อินโดนีเซียกำลังเรียกร้องให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและจะไม่ยอมให้ใช้เทคโนโลยีด้อยคุณภาพที่สร้างผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศในโครงการ BRI ริดวัน จามาลูดดิน รัฐมนตรีช่วยของลูฮูต ก็แถลงเช่นกันว่า ถึงแม้รัฐบาลเสนอการลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าให้จีน แต่อินโดนีเซียจะรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในข้อตกลงกับปักกิ่ง พร้อมกับกล่าวว่าจาการ์ตามาถูกทางแล้ว ในส่วนประเด็นกับดักหนี้สินของ BRI นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ อาร์มานาธา นาซีร์ โต้แย้งโดยกล่าวว่า โจโกวีให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นเจ้าของและแนวทางที่ชาติเป็นผู้กำกับควบคุมในข้อตกลงกับจีน 19 กล่าวคือ BRI จะปฏิบัติตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติ ไม่ใช่เดินตามการกำกับของโลกหรือผู้ให้กู้ระยะยาว
ดังนั้น ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความร่วมมือ BRI จึงมีอิทธิพลต่อมุมมองที่ชาวอินโดนีเซียมีต่อจีน จากการสำรวจความคิดเห็นของ Pew Research Center ชาวอินโดนีเซียซึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อจีนมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นว่าจาการ์ตาพึ่งพิงปักกิ่งมากเกินไป จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามในปี 2018 มีความเชื่อมั่นในความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งขึ้นระหว่างจีนกับอินโดนีเซีย ลดลงจาก 66% ในปี 2014 20 การสำรวจอีกชุดหนึ่งจากสถาบัน Lingkaran Survei Indonesia (LSI) พบว่า 36% ของชาวอินโดนีเซียมองว่าจีนมีอิทธิพลในทางที่ไม่ดีต่ออินโดนีเซีย 21 ข้อเท็จจริงเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ปักกิ่ง-จาการ์ตากำลังเผชิญความท้าทายภายในประเทศและอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความร่วมมือ BRI ที่แนบแน่นยิ่งขึ้น
เนื่องจากมีเนื้อหาและความเสี่ยงทางการเมืองสูง การทูตด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจึงปล่อยให้กระทรวงการต่างประเทศบริหารจัดการเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ BRI นั้น อินโดนีเซียเองก็พยายามระวังความเสี่ยงเกี่ยวกับกับดักหนี้สินด้วยการเน้นย้ำกลไกแบบภาคธุรกิจต่อภาคธุรกิจ (business-to-business หรือ B2B) มากกว่าความเป็นหุ้นส่วน BRI รัฐมนตรีลูฮูต ในฐานะกระบอกเสียงของความสัมพันธ์อินโดนีเซีย-จีน ได้กล่าวไว้หลายครั้งว่า ด้วยการบริหารจัดการแบบ B2B เช่นนี้ อินโดนีเซียจะไม่ติดกับดักที่เป็นผลพวงด้านลบของ BRI อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงว่า BRI ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของรัฐบาลจีน จึงยากที่จะแยกมันออกจากแรงจูงใจทางการเมืองเบื้องหลัง หรือสิ่งที่ Stromseth เรียกว่า “การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการต่อรองระหว่างประเทศ” (economic statecraft) ของปักกิ่ง 22 และ Dunst ก็ชี้ให้เห็นว่า นี่คือประตูในการขยายอิทธิพลของจีนในโลกและเป็นช่องทางเข้าออกสำหรับหน่วยงานทางการเมืองเพื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกา 23
เมื่อพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องของภาคธุรกิจหรือรัฐวิสาหกิจภายในความเป็นหุ้นส่วน BRI แล้ว การทูตด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับ BRI ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับจัดการของกระทรวงการต่างประเทศอย่างเต็มที่ แต่มีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพัวพันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ลูฮูต ปันด์จัยตันเป็นรัฐมนตรีที่มีบทบาทมากที่สุดในการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วน BRI โดยเขามีตำแหน่งอื่นหนุนหลังอีกทีในฐานะผู้ประสานงานความร่วมมือกับจีนและรัฐมนตรีประสานงานกิจการทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากตระหนักดีว่าประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองได้ง่าย รัฐบาลของโจโกวีจึงแก้ต่างว่า BRI ผ่านการปรับเปลี่ยนให้เป็นข้อตกลงที่สมประโยชน์ทุกฝ่าย รัฐบาลพยายามดึงให้ BRI เป็นเรื่องของการค้า ไม่ใช่เรื่องการเมือง การผลักดันโครงการ BRI ด้วยวิธีบริหารจัดการแบบ B2B คือวิธีการหนึ่งที่สนับสนุนวาทกรรมนี้ โจโกวีเน้นย้ำแบบแผนการหาเงินทุนสนับสนุนที่ไม่ใช่ของรัฐบาล โรซาน รูสลานี ประธานหอการค้าอินโดนีเซียหรือ KADIN สนับสนุนจุดยืนของรัฐบาลเกี่ยวกับ BRI โดยเสนอแนะว่า อินโดนีเซียจะได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนผลประโยชน์ด้านการพาณิชย์อื่นๆ 24 การที่โจโกวีเลือกใช้แนวทางที่แยกห่าง BRI ออกจากเรื่องการเมือง ทำให้ความไม่พอใจภายในประเทศยังควบคุมไว้ได้ แม้กระทั่งในช่วงโรคระบาด โจโกวีและสีจิ้นผิงก็ยังสานต่อความเป็นหุ้นส่วน BRI ในภาพรวมต่อไป
ความร่วมมือ BRI ของอินโดนีเซียกับจีนต้องเผชิญพลวัตทางการเมืองหลากหลายประการภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของโจโกวีก็พยายามบริหารจัดการโครงการนี้ภายใต้ความร่วมมือแบบสมประโยชน์ทุกฝ่าย โดยมีภาคธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามแยกมิติทางการเมืองออกห่างจากความเป็นหุ้นส่วน BRI ของจีน มิฉะนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาปั่นป่วนมากมาย BRI ในอินโดนีเซียไม่มีทางปลอดพ้นจากคำวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ ตราบใดที่ทั้งสองรัฐบาลไม่ดำเนินการความร่วมมือนี้ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการต่อรองระหว่างประเทศ” ถ้าเช่นนั้น BRI ก็น่าจะอยู่รอดยั่งยืนต่อไป
Noto Suoneto
Noto Suoneto is a foreign policy analyst and host of Foreign Policy Talks Podcast. He is also part of Y20 (G20 Engagement Group) Indonesian Presidency 2022.
Notes:
- http://www.asean-china-center.org/english/2013-10/03/c_133062675.htm. ↩
- https://www.thejakartapost.com/news/2014/11/09/jokowi-world-stage-first-stop-beijing.html ↩
- https://www.thejakartapost.com/news/2017/05/13/insight-belt-and-road-initiative-seizing-new-opportunities.html. ↩
- https://jakartaglobe.id/news/jokowi-optimistic-about-chinas-belt-and-road-initiative/ ↩
- https://www.scmp.com/news/asia/article/1746628/widodo-aims-use-china-visit-boost-ties-and-seek-details-maritime-silk-road ↩
- Negara, Siwage Dharma, and Suryadinata. 2018. Indonesia and China’s Belt and Road Initiatives : Perspectives, Issues and Prospects. Singapore: ISEAS Yusof Ishak Institute. ↩
- https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjb_663304/zzjg_663340/yzs_663350/gjlb_663354/2716_663436/2718_663440/t1607266.shtml ↩
- https://www.thejakartapost.com/news/2019/03/20/billions-offer-belt-and-road.html#google_vignette ↩
- https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1658181.shtml ↩
- Yuliantoro, Nur Rachmat. 2019. “The Belt and Road Initiative and ASEAN-China Relations: An Indonesian Perspective.” In The Belt and Road Initiative: ASEAN Countries’ Perspectives, by Yang Yue: Li Fuijian, pp. 81-102. Beijing: Institute of Asian Studies and World Scientific Publishing Ltd. ↩
- Damuri, Yose Rizal, Vidhyandika Perkasa, Raymond Atje, and Fajar Himawan. 2019. Perceptions and Readiness of Indonesia Towards the Belt and Road Initiative. Jakarta: Center for Strategic and International Studies (CSIS) Indonesia. ↩
- https://thediplomat.com/2021/07/the-risks-of-favoring-china/ ↩
- https://www.ft.com/content/dddcf70c-fbcd-11e9-98fd-4d6c20050229 ↩
- https://www.walhi.or.id/belt-and-road-initiative-bri-will-impose-more-burdens-to-the-indonesian-people ↩
- http://2017.beltandroadforum.org/english/n100/2018/0306/c25-1038.html ↩
- https://www.dw.com/en/chinas-belt-and-road-is-green-and-clean-says-xi/a-48495226 ↩
- Coenen, Johanna, Simon Bager, Patrick Meyfroidt, Jens Newig, and Edward Challies. 2021. “Environmental Governance of China’s Belt and Road Initiative.” Environmental Policy and Governance Volume 31 Issue 1 pp. 3 -17. ↩
- http:\www.xinhuanet.com\english\2021-04\20\c_139892721.htm ↩
- https://www.medcom.id/internasional/asia/3NOB86mK-indonesia-bawa-isu-sawit-di-belt-and-road-initiative-forum ↩
- https://www.pewresearch.org/fact-tank/2019/04/04/indonesians-optimistic-about-their-countrys-democracy-and-economy-as-elections-near/ ↩
- http://www.lsi.or.id/riset/448/rilis-survei-lsi-12-januari-2020 ↩
- Stromseth, Jonathan R. 2021. “Navigating Great Power Competition in Southeast Asia.” In Rivalry and Response- Assessing Great Power Dynamics in Southeast Asia, by Jonathan R. Stromseth, pp. 1-31. New York: Brookings Institution Press. ↩
- Dunst, Charles. 2020. Battleground Southeast Asia: China’s Rise and America’s Options. London: London School of Economics and Political Science (LSE) Ideas. ↩
- https://www.antaranews.com/berita/2116222/kadin-sebut-indonesia-diuntungkan-dari-belt-and-road-initiative ↩