บรรยากาศที่ปลอดจากการควบคุมและแทรกแซงทางการเมือง ดูจะจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของงานวิชาการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะงานทางประวัติศาสตร์ที่ง่ายต่อการถูกควบคุมและแทรกแซงทางการเมืองอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า การปกครองยุคซูฮาร์โต และการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองในยุคนั้นได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องตั้งคำถามกันว่า การล่มสลายของการปกครองยุคซูฮาร์โตก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ต่อพัฒนาการของงานขียนประวัติศาสตร์อินโดนีเซียในประเทศอินโดนีเซียเอง
เช่นเดียวกับงานเขียนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ในยุคหลังอาณานิคม ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียมีลักษณะชาตินิยมอย่างเข้มข้นและโจ่งแจ้ง งานเขียนประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมที่รู้จักกันในชื่อว่า อินโดนีเซียเซ็นทรีส หมายถึง งานเขียนประวัติศาสตร์ที่ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มีเป้าหมายหลักและ/หรือผลลัพธ์สุดท้าย ที่เป็นการประจักษ์ถึงและให้เหตุผลสนับสนุนว่า อินโดนีเซียเป็นรัฐชาติที่มีสถานภาพอันชอบธรรม ทั้งนี้งานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มีพื้นฐานแนวคิดที่สำคัญ คือ ความพยายามที่จะสร้าง ธำรงรักษาไว้ และส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาติ ที่เชื่อว่าเหมาะสมกับความเป็นรัฐชาติแห่งอินโดนีเซีย
บทความนี้พยายามระบุและชี้ให้เห็นร่องรอยการปฏิรูปการเขียนประวัติศาสตร์อินโดนีเซียแนวชาตินิยม บรรยากาศที่มีเสรีภาพมากขึ้นในยุคหลังซูฮาร์โตไม่เพียงเอื้อให้เกิดการท้าทายงานเขียนประวัติศาสตร์อินโดนีเซียรุ่นเก่าเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การทบทวนกรอบความคิดที่มีมานาน ซึ่งยังอาจดำรงอิทธิพลต่อการเขียนประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ต่อไป ข้าพเจ้าเห็นว่า การปฏิรูปกำลังก่อตัวขึ้น โดยถูกกระตุ้นจากความจำเป็นที่จะต้องกำจัดชำระล้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่เคยมีอยู่ระหว่าง “วงการศึกษาประวัติศาสตร์” กับ “ระเบียบใหม่” กลุ่มนักปฏิรูปปฏิเสธประวัติศาสตร์แบบแผนแนวพรรณนาความที่มุ่งเน้นกิจกรรมทางการเมืองเป็นหลัก แต่เชิดชูสนับสนุนงานเขียนประวัติศาสตร์ในแนวสังคมศาสตร์ที่ซาร์โตโนเป็นผู้บุกเบิกขึ้น อีกทั้งยังตั้งคำถามเชิงท้าทาย (ที่แม้ว่าจะยังไม่หนักแน่นจริงจังเท่าไรนัก) ต่อความจำเป็นที่ต้องยืนยันในหลักคิด อินโดนีเซียเซ็นทรีส ในการเขียนประวัติศาสตร์ แต่อย่างน้อยที่สุด กลุ่มปฏิรูปต้องการแสวงหาทางปลดปล่อยอินโดนีเซียเซ็นทรีส ออกจากบทบาทเดิมที่ส่งเสริมและกำหนดความหมายของสิ่งที่เรียกได้ว่า “แห่งชาติ” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือความต้องการแยกการเขียนประวัติศาสตร์ออกจากความผูกพันที่เคยมีอยู่กับนโยบายชาตินิยมโดยรัฐ โดยที่การปฏิรูปที่กล่าวมานี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ข้าพเจ้าจึงได้แต่เพียงทำความเข้าใจกับลักษณะของการปฏิรูปที่ก่อตัวขึ้น และคาดการณ์ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยการศึกษาบทความ ทั้งที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว และยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ ตลอดจนจากการประชุมที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา (ยูจีเอ็ม) และบทสัมภาษณ์นักประวัติศาสตร์อินโดนีเซียกลุ่มปฏิรูปบางคน
รอมเมล คูรามิง
(Translated by Darin Pradittatsanee, with assistance from Somporn Puttapithakporn and Chalong Soontravanich.)
Read the full unabridged article HERE
Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 3: Nations and Other Stories. March 2003