Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

รายการสุดท้ายในบัญชีหางว่าวของการเริ่มต้นผิดพลาด? ความริเริ่มมาราปาตานีเพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย (2558-2562)

ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการเสนอข้อคิดเห็นว่า ถึงแม้มีความแตกต่างในบางแง่มุม แต่การเจรจาสันติภาพระหว่างคณะตัวแทนผู้ก่อความไม่สงบกับรัฐไทยระหว่างปี 2558-2562 มีจุดอ่อนข้อผิดพลาดซ้ำรอยเดิมกับความพยายามผลักดันการเจรจาสันติภาพครั้งผ่านๆ มาในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2549-2557)  ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นด้วยว่า ความริเริ่มมาราปาตานีคือครั้งล่าสุดของการเริ่มต้นผิดพลาดซึ่งมีบัญชียาวเหยียดเป็นหางว่าวในการสร้างกระบวนการสันติภาพที่น่าเชื่อถือเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้นับตั้งแต่ความขัดแย้งปะทุขึ้นในปี 2547

การรัฐประหารของกองทัพในปี 2557 คือการเปิดฉากยุคสมัยการปกครองแบบอำนาจนิยมครั้งใหม่สำหรับประเทศไทย 1  ถึงแม้การเลือกตั้งปี 2562 เราจะได้เห็นการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ในการต่อสู้คัดง้างกับอำนาจกองทัพ แต่พรรคก็ถูกยุบไปแล้ว  ภาพโดยรวมนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ดูเหมือนประเทศไทยตกอยู่ในวงโคจรของการค้ำจุนอำนาจทหารไว้หรือกระทั่งเพิ่มบทบาทของกองทัพในการบริหารประเทศ  นับตั้งแต่ปี 2557 ระดับความรุนแรงในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง  จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายและเหตุรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกปีที่ผ่านไป  นักวิเคราะห์หลายคน ทั้งนักวิชาการที่คร่ำหวอดและนักวิชาการรุ่นใหม่ พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่ความรุนแรงลดลง  กระนั้นก็ตาม โดยรวมแล้วยังไม่มีคำอธิบายที่น่าพอใจหรือสมบูรณ์เนื่องจากเหตุผลหลายประการที่จะลำดับให้เห็นในอีกบทความหนึ่ง  ในปี 2556 ความขัดแย้งในภาคใต้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย 574 ราย  ส่วนในปี 2562 มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งนี้เพียง 174 ราย 2

ระหว่างปี 2558-2562  รัฐไทยจัดการประชุมหลายครั้งกับกลุ่มมาราปาตานี (Majlis Syura Patani—MARA) ซึ่งเป็นองค์กรร่มของอดีตผู้ก่อความไม่สงบสูงอายุจากความขัดแย้งครั้งก่อน (2503-2533)  เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ามาราปาตานีไม่มีอำนาจควบคุมผู้ก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่หรือถ้ามีก็น้อยมาก  ผู้ก่อความไม่สงบในปัจจุบันได้รับการชักชวน ปลูกฝังความคิดและฝึกอบรมจากกลุ่มบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional–BRN) (ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นองค์กรแบ่งแยกดินแดนที่มีแนวคิดถึงรากถึงโคนและดำเนินการโดยอาศัยการก่อเหตุรุนแรงโหดร้ายมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2540 3  บีอาร์เอ็นในปัจจุบันเริ่มต้นปฏิบัติการในฐานะองค์กรในย่านตลาดเก่าของจังหวัดยะลาในช่วงปลายทศวรรษ 2530 4

ถึงที่สุดแล้ว มาราปาตานีคือกรณีล่าสุดในบัญชียาวเหยียดของการริเริ่มที่ล้มเหลว  ครั้งแรกสุดคือการเจรจาที่ลังกาวี  ในปลายปี 2548 และต้นปี 2549 มีการตั้งโต๊ะเจรจาหลายครั้งระหว่างข้าราชการไทยกับสมาชิกของกลุ่มก่อความไม่สงบจากความขัดแย้งครั้งก่อนโดยจัดที่เกาะลังกาวีและมีมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่กำลังประสบปัญหารุมเร้า ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง  ถึงแม้ข้อเสนอหลายประการของผู้ก่อความไม่สงบจากความขัดแย้งครั้งก่อนจะมีเหตุผลน่ารับฟัง แต่รัฐบาลทักษิณกลับเพิกเฉย เพราะตอนนั้นรัฐบาลมัวหมกมุ่นกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลตามท้องถนนมากกว่า  สามวันหลังจากการรัฐประหาร 2549 ที่ยึดอำนาจจากทักษิณ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็แสดงการคัดค้านการริเริ่มกระบวนการสันติภาพด้วยการวางระเบิดห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในอำเภอหาดใหญ่ในวันเดียวกับที่มีการวางแผนจะจัดงานรณรงค์สันติภาพขึ้นที่นั่น 5

ในปี 2551 มีการเจรจาลับระหว่างตัวแทนของรัฐบาลสมชายกับตัวแทนของกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มต่างๆ ในเมืองโบโกร์ ประเทศอินโดนีเซีย  กระนั้นก็ตาม การพูดคุยครั้งนั้นต้องยกเลิกไปในไม่ช้าเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนายทหารระดับสูงของกองทัพไทย  ในปี 2553 องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation for Islamic Cooperation–OIC) แนะนำให้ชาวมุสลิมในภาคใต้จัดตั้งขบวนการทางการเมืองของตนเองและเสนอความช่วยเหลือในการจัดการเจรจาระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับรัฐไทย  คำแนะนำนี้ถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์และบอกปัด  กองทัพไทยก็ไม่เห็นชอบด้วย  สถาบันการเมืองและความมั่นคงของไทยมักต่อต้านการพัวพันใดๆ จากภายนอกในเรื่องที่พวกเขามองว่าเป็นกิจการภายในประเทศ 6

ระหว่างปี 2549-2554 มีการเจรจาพูดคุยเป็นระยะๆ ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีองค์กรเอ็นจีโอจากยุโรปเป็นตัวกลาง  การพูดคุยเจรจารอบนี้ที่เรียกกันว่า “กระบวนการเจนีวา” (Geneva Process) ดำเนินต่อมาจนกระทั่งพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในปี 2554  แต่ลงท้ายแล้ว การเจรจารอบนี้ก็ถือว่าล้มเหลว  กัสตูรี มะห์โกตา โฆษกของคณะตัวแทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งอ้างว่ามีอำนาจควบคุมนักรบในพื้นที่มากกว่า 70%  ประกาศว่าจะมีการหยุดยิงในสามอำเภอของจังหวัดนราธิวาสในช่วงฤดูร้อนปี 2553  แต่การโจมตียังดำเนินต่อไปหลังจากการประกาศหยุดยิง  ในไม่ช้าก็เริ่มเป็นที่ชัดเจนว่ากัสตูรีคุยโม้ถึงระดับอิทธิพลของตนเกินความจริงอย่างสิ้นเชิง 7 กองทัพเองก็เคยประกาศ “การหยุดยิง” คล้ายๆ กันนี้ในเดือนกรกฎาคม 2551 8

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีการลงนามใน “ความเห็นพ้องทั่วไปเพื่อร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพ” ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์  ผู้ร่วมลงนามคือนายฮัสซัน ตอยิบ สมาชิกระดับล่างของบีอาร์เอ็น กับพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ตัวแทนกองทัพไทย  ตลอดหกเดือนต่อจากนั้น มีการพบปะพูดคุยหลายครั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ (หรือที่เรียกกันว่าการเจรจาเคแอล)  การพูดคุยชุดนี้ค่อนข้างแตกต่างจากการริเริ่มกระบวนการสันติภาพก่อนหน้านั้น  กล่าวคือเป็นการจัดประชุมโดยสาธารณะรับรู้และได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีไทย  ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ออกแถลงการณ์สาธารณะหลายฉบับผ่านทาง YouTube ตลอดทั้งกระบวนการ 9  สุดท้ายการพูดคุยก็ขาดสะบั้นลงหลังจากความพยายามหยุดยิงระหว่างสองฝ่ายต้องคว้าน้ำเหลวระหว่างช่วงรอมฎอนปี 2556

การริเริ่มกระบวนการสันติภาพทั้งหมดข้างต้นล้มเหลวลงด้วยเหตุผลเดียวกันหรือคล้ายๆ กันดังนี้

ในท้ายที่สุดแล้ว การพูดคุยของมาราปาตานีต้องประสบปัญหาจากความผิดพลาดเหล่านี้ทั้งหมดเช่นกัน

Malay Muslim provinces in Southern Thailand with northern Malaysia.

หลังจากคำสั่งที่รัฐบาลทหารลงนามในเดือนพฤศจิกายน 2557 ยืนยันความสำคัญของการรื้อฟื้นการเจรจาพูดคุยเกี่ยวกับความขัดแย้งชายแดนภาคใต้  มีการประกาศในช่วงต้นปี 2558 ว่า องค์กรร่วมที่มีตัวแทนจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ดำเนินการมายาวนานหกกลุ่มจะเรียกตัวเองว่า Majlis Syura Patani (MARA)  ระหว่างปี 2558-2562 มีการประชุมพบปะระหว่างมาราปาตานีกับคณะตัวแทนของรัฐบาลทหารรวมทั้งหมด 20 ครั้ง  อดีตผู้นำขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล) สองคนได้รับการปล่อยตัวจากคุกและปวารณาตนว่าจะสนับสนุนรัฐบาลไทยในความพยายามที่จะนำสันติภาพมาสู่ภาคใต้  การปล่อยตัวนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มสันติภาพจากฝ่ายรัฐบาลทหาร 11  บีอาร์เอ็นแสดงความไม่เห็นพ้องกับการเจรจาด้วยการลอบวางระเบิดติดต่อกันสามวันในตัวเมืองยะลาในช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนที่จะมีการพบปะพูดคุยครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2558  อิหม่ามคนหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับอาวัง จาบัต ตัวแทนคนหนึ่งของมาราปาตานี ก็ถูกลอบสังหารในช่วงสองสามเดือนก่อนการพบปะพูดคุยครั้งแรกเช่นกัน 12

เช่นเดียวกับกระบวนการเจนีวาและการเจรจาเคแอล  คณะตัวแทนของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบถูกตั้งแง่สงสัยมาตั้งแต่ต้น  การเจรจาเหล่านั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิเคราะห์ที่คร่ำหวอดอย่างดอน ปาทาน  ในเดือนกันยายน 2558 ระฆังมรณะของการเจรจาก็ดังเหง่งหง่างมาในรูปของวิดีโอที่บีอาร์เอ็นเผยแพร่เพื่อแจกแจงชัดเจนว่าพวกเขาต่อต้านการเจรจา  บีอาร์เอ็นตอกย้ำความเป็นปฏิปักษ์ต่อมาราปาตานีในคำให้สัมภาษณ์กับ Anthony Davis ซึ่งเผยแพร่ตามหลังวิดีโอเพียงชั่วไม่นาน

แม้ต้องเผชิญความเป็นปฏิปักษ์จากบีอาร์เอ็น  การพูดคุยกับมาราปาตานีก็ยังดำเนินต่อไปอีกสี่ปี มีทั้งความผิดหวังและความเนิ่นช้าตลอดระยะเวลานั้น  ในปี 2559 พลเอกประยุทธ์เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของกองทัพและรัฐบาลทหารปฏิเสธกรอบแนวทางการประชุมที่หารือกันมาก่อนหน้านั้นอย่างเปิดเผย 13 การหารือเรื่องกรอบแนวทางการประชุมยังดำเนินต่อไปจนกระทั่งเดือนกันยายน 2559 เมื่อมาราปาตานียอมตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลทหารในท้ายที่สุด  การหารือเกี่ยวกับการจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” (คล้ายแผนการของกัสตูรี มะห์โกตาสมัยกระบวนการเจนีวา) ยังดำเนินต่อไปอีกกว่าหนึ่งปี  สุดท้ายแล้ว หลังจากหารือกันมายาวนาน กองทัพก็ปฏิเสธแผนการพื้นที่ปลอดภัยนี้

ในขณะเดียวกัน การพูดคุยเป็นการลับระหว่างตัวแทนอันชอบธรรมของบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลทหารก็เริ่มขึ้นในปี 2559  นี่บ่งชี้ว่าบีอาร์เอ็นอาจเปลี่ยนแปลงจุดยืนครั้งสำคัญในท่าทีที่มีต่อการเจรจาพูดคุย เป็นไปได้ว่าอาจมีแรงผลักมาจากการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ลดลงของกลุ่มกับความแปรผันที่เกิดภายหลังการเสียชีวิตของสมาชิกที่มีอิทธิพลมากที่สุดสองคนของบีอาร์เอ็นในปี 2558 และ 2560  การหยุดยิงชั่วคราวเป็นเวลา 10 วันระหว่างวันที่ 8-18 เมษายน 2560 คือวิธีการของบีอาร์เอ็นที่แสดงให้เห็นอำนาจบังคับบัญชาและควบคุม 14โดยรวมแล้ว การหยุดยิงถือเป็นการก้าวไปข้างหน้าขั้นหนึ่ง  แต่มันไม่เกี่ยวกับมาราปาตานี  ในเดือนธันวาคม 2562 หลังจากเสียเวลานานกว่าสี่ปีกับมาราปาตานีและการเริ่มต้นที่ผิดพลาด  ตอนนี้มีการพูดคุยหารือเกิดขึ้นในส่วนอื่นกระทั่งมีพัฒนาการใหม่ๆ ขึ้นมา  ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางที่ดึงเอาตัวแทนที่ชอบธรรมของผู้ก่อความไม่สงบมานั่งโต๊ะเจรจา  ส่วนมาราปาตานีก็ถูกกันออกไปอยู่นอกวงในที่สุด

ในภาพรวมนั้น กระบวนการมาราปาตานีมีข้อบกพร่องแบบเดียวกับความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพเพื่อภาคใต้ก่อนหน้านี้  กล่าวคือ ความแตกแยกภายใน ความรุนแรงที่เกิดจากผู้ทำลายกระบวนการสันติภาพ  คณะเจรจาไร้ทักษะหรือด้อยประสบการณ์ ผู้นำไทยที่สนใจภาพพจน์ต่อสังคมภายนอกมากกว่าตั้งใจผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง  ตัวแทนผู้ก่อความไม่สงบที่ไม่มีอำนาจควบคุมนักรบในพื้นที่จริงๆ และการขาดผู้ไกล่เกลี่ยฝ่ายที่สามในระดับนานาชาติหรือมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง 15 กล่าวโดยสรุป ความริเริ่มมาราปาตานีได้รับผลสำเร็จเพียงน้อยนิด ยกเว้นแค่เป็นการกระตุ้นให้บีอาร์เอ็นออกมาสื่อสาร  รวมทั้งนำไปสู่การหยุดยิงที่สาธิตให้เห็นระดับการควบคุมบังคับบัญชาที่ชัดเจนของบีอาร์เอ็น

การหยุดยิงในปี 2560 และการพูดคุยในทางลับที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2559-2562 คือเครื่องบ่งชี้ชัดเจนว่าองค์กรบีอาร์เอ็นในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะอยู่ในภาวะตกต่ำจนฟื้นตัวไม่ได้ เริ่มเข้าใจแล้วว่าการต่อสู้ของตนจะไม่ไปจบที่การบรรลุ “เมอร์เดกา” (เอกราช)  องค์กรนี้ไม่เคยมีประวัติยินยอมพูดคุยเจรจากับรัฐไทยมาก่อน  และหากตัดสินจากเอกสารชื่อ Berjihad di Patani และวิดีโอที่กลุ่มนี้เผยแพร่ออกมา ดูเหมือนพวกเขายังไม่มีโครงการเป็นรูปเป็นร่างหรือวิสัยทัศน์ที่น่าสนับสนุนสำหรับอนาคตของภูมิภาคตน  อีกทั้งไม่มีปีกการเมืองที่ช่ำชองหรือได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ  รวมทั้งไม่มีแกนนำเป็นตัวเป็นตนที่มีบารมีเป็นที่ยอมรับด้วย  กลุ่มบีอาร์เอ็นยังเข้าสู่กระบวนการเจรจาในช่วงเวลาที่ตนอ่อนแอที่สุด  ถึงแม้ได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจากนักวิเคราะห์ทั้งหลาย  แต่การตัดสินใจของบีอาร์เอ็นในการร่วมโต๊ะเจรจากับรัฐไทยในเดือนมกราคม 2563 สำหรับเป้าหมายของการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ก็อาจนับได้ว่าเป็นกรณีตัวอย่างของ “น้อยเกินไป สายเกินไป”

โดยรวมแล้ว องค์ประกอบสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการแก้ไขความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยขาดหายไปมาตลอด ตอนนี้ก็มาอยู่ในที่ในทางเรียบร้อยแล้ว  นั่นคือ การมีคณะตัวแทนที่ชอบธรรมของผู้ก่อความไม่สงบมาร่วมโต๊ะเจรจา  แรงกดดันจากรัฐบาลมาเลเซียที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งในฤดูร้อนปี 2561  มรณกรรมของผู้นำอาวุโสบีอาร์เอ็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และปฏิบัติการที่ลดน้อยถอยลงขององค์กรมาตั้งแต่ปี 2557  ทั้งหมดนี้รวมกันส่งผลให้มีความเป็นไปได้และกลายเป็นความจำเป็นที่องค์กรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจากับรัฐไทยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม ในเมื่อตอนนี้ปฏิบัติการก่อความไม่สงบของบีอาร์เอ็นอยู่ในสภาพอ่อนแรงกว่าช่วงเวลาใด จึงมีเหตุผลให้คาดหมายได้ว่าองค์กรย่อมมีพลังต่อรองน้อยลงกว่าเมื่อก่อน  นอกเหนือจากนั้น ถึงแม้ตอนนี้ในประเทศไทยมีความแตกแยกทางการเมืองน้อยลง สืบเนื่องจากลักษณะอำนาจนิยมเผด็จการของระบอบการปกครองและการควบคุมสถาบันของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  แต่เมื่อพิจารณาความเป็นไปในกรุงเทพระยะหลัง อาทิ การยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ก็ดูเหมือนเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะไม่มีข้อเสนอจากฟากฝ่ายไทยมากนักในอนาคตอันใกล้  อย่างไรก็ตาม การคลี่คลายเมื่อเดือนมกราคม 2562 ก็มีข้อดีในแง่อื่นสองประการคือ ประการแรก ตอนนี้น่าจะมีการใช้ความรุนแรงเพื่อทำลายกระบวนการสันติภาพน้อยลง เนื่องจากบีอาร์เอ็นสำแดงให้เห็นอำนาจบังคับบัญชาและควบคุมที่เข้มแข็งของตนมาแล้วในปี 2560  ประการที่สอง ตอนนี้จะมีตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ยฝ่ายที่สามจากบางประเทศในยุโรปเข้ามาช่วยหนุนทั้งสองฝ่ายในการเจรจาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กล่าวโดยสรุป ความริเริ่มมาราปาตานีประสบปัญหาเช่นเดียวกับการเจรจาสันติภาพก่อนหน้านี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะประสบความล้มเหลว  กระนั้นก็ตาม ความคลี่คลายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันช่วยเปิดช่องทางให้สองฝ่ายบรรลุข้อตกลงบางอย่างที่จะแก้ไขความขัดแย้งที่เรื้อรังเกือบ 17 ปีนี้ได้ในที่สุด  เราอาจมองว่าความริเริ่มมาราปาตานีที่ลดความสำคัญลงในภายหลัง ถือเป็นรายการสุดท้ายที่จะปิดฉากบัญชีหางว่าวของการเริ่มต้นผิดพลาดในการวางรากฐานและพัฒนากระบวนการสันติภาพที่ชอบธรรมสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ในภาพรวมนั้น เราควรมองว่าเหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคม 2563 เป็นหมุดหมายเริ่มต้นของจุดหักเลี้ยวในความขัดแย้งนี้

Gerard McDermott
Gerard McDermott นักศึกษาปริญญาเอก Department of Asian and International Studies, City University of Hong Kong.

Notes:

  1. Claudio Sopranzetti, “Thailand’s Relapse: The Implications of the May 2014 Coup”, The Journal of Asian Studies, 2016, pp.1 – 18
  2. Email correspondence with Anthony Davis (Janes Defence), January & April 2020
  3. Marc Askew, “Fighting with Ghosts: Querying Thailand’s “Southern Fire””, Contemporary Southeast Asia, Vol. 32, No. 2 (2010), pp. 117–55
  4. Sascha Helbardt, Deciphering Southern Thailand’s Violence: Organization and Insurgent Practices of BRN-Coordinate (ISEAS – Yusof Ishak Institute, 2015), p.32
  5. Bomb Blast Aftermath,’ Bangkok Post, Sept.18, 2006.
  6. Don Pathan, ‘Negotiating the Future of Patani’, Patani Forum, May. 2014, pp. 102 – p110.
  7. Jason Johnson, ‘Talk is cheap in south Thailand’, Asia Times, May.26, 2011.
  8. Don Pathan, ‘Ceasefire in south is just too good to be true,’ The Nation, Jul. 19, 2008.
  9. Gerard McDermott, ‘The 2013 Kuala Lumpur Talks’, Peace Research:The Canadian Journal of Peace and Conflict Studies, Volume 46, Number 1 (2014), pp. 18-27
  10. Marc Askew, ‘Insurgency redux: Writings on Thailand’s ongoing southern war’, Journal of Southeast Asian Studies, 42(1) (February 2011), p 161–168
  11. Ex-Separatist Leader Pledges to Help Thai Govt. Fight Southern Rebellion’, Khaosod English, Jul.19, 2015
  12. Don Pathan, ‘Deep South peace efforts hit another dead end’, The Nation, May.22, 2015
  13. Razlan Rashid & Pimuk Rakkanam, ‘Thailand ‘Not Ready’ to Accept Reference Terms for Peace: Southern Rebels’, Benar News, Apr.28, 2016
  14. Matt Wheeler, “Thailand’s Southern Insurgency in 2017”, Southeast Asian Affairs, 2018, p380 – 382
  15. Gerard B. McDermott, “Barriers Toward Peace in Southern Thailand”, Peace Review: A Journal of Social Justice, 25:1 (2013), p.120-128
Exit mobile version