Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

การเมืองปาตานี: หลายโฉมหน้าในการเลือกตั้ง 2562

Patani-Politics- Faces-of the-2019-Election Campaign DuncanMcCargo-KRSEA

เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  นั่นคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นชาวมลายูมุสลิมทั้งหมด 1  พื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยตกอยู่ในเงาทะมื่นของการก่อความไม่สงบที่สูญเสียกว่า 7000 ชีวิตตลอด 16 ปีที่ผ่านมา  นี่เป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศทางการเมืองเฉพาะถิ่นในแบบของตัวเอง 2 ในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ ภูมิภาคอันมีชาวมุสลิมเป็นประชากรหลักกลับมีผู้แทนในรัฐสภาส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยที่เป็นคนมลายูมุสลิมมักประสบอุปสรรคยากลำบาก  รัฐมักมีทัศนะไม่ไว้วางใจพวกเขา หรือถึงขั้นระแวงแคลงใจว่าพวกเขามีส่วนพัวพันกับความรุนแรง  แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถูกมองว่าเป็นคนทรยศต่อความเป็นมลายูในสายตาของสมาชิกชุมชนมลายูมุสลิมบางส่วนด้วย

ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างมีลักษณะแตกต่างจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในภาคใต้ตอนบน  ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ครองใจภาคใต้ตอนบนมายาวนาน ส่วนคะแนนเสียงของภาคใต้ตอนล่างนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้  จากที่นั่งในรัฐสภา 11 ที่นั่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ชนะ 9 คนมาจากพรรคที่เพิ่งตั้งใหม่หมาดในการเลือกตั้ง 2562  และมีแค่สามที่นั่งที่เป็นอดีต ส.ส. จากรัฐบาลชุดที่แล้ว 3

Human rights lawyer and Palang Pracharat MP Adilan Ali-is-hoh in his Yala office. Photo: Duncan McCargo

ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ชนะคะแนนเสียงถึง 10 จาก 11 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ในปี 2562 ประชาธิปัตย์ชนะเพียงเขตเดียว คือ เขต 1 จังหวัดปัตตานี  พรรคที่ครองที่นั่งมากที่สุดในภูมิภาคนี้คือพรรคประชาชาติที่เป็นพรรคใหม่ นำโดยอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (หรือมักเรียกกันว่า วันนอร์)  พรรคประชาชาติได้ 6 ที่นั่งจาก 3 จังหวัด จังหวัดละ 2 ที่นั่ง  ส่วนอีกสามที่นั่งตกเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่เช่นกันและมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐบาลทหารที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557  เก้าอี้เดียวในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดปัตตานีตกเป็นของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคของนักเลือกตั้งขนานแท้  พรรคภูมิใจไทยเคยชนะการเลือกตั้งที่นั่งเดียวในจังหวัดปัตตานีมาก่อนเมื่อปี 2554  นอกเหนือจากเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก 11 เขตเลือกตั้ง มีนักการเมืองมลายูมุสลิมอีก 3 คนที่ได้เก้าอี้จากระบบบัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย วันนอร์ หัวหน้าพรรคประชาชาติ เพชรดาว โต๊ะมีนาจากพรรคภูมิใจไทย และนิรามาน สุไลมานจากพรรคอนาคตใหม่  นี่เกิดอะไรขึ้น?

******

วันนอร์นับว่าเป็นบุคคลปริศนาคนหนึ่ง  กล่าวได้ว่าเขาเป็นนักการเมืองจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด  เขาเคยดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติระดับชาติมากมายหลายตำแหน่ง  เป็นคนพูดจานุ่มนวล สงวนท่าทีและรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง  วันนอร์ครองตัวเป็นโสด พำนักอยู่ตามลำพังในคฤหาสน์ที่จังหวัดยะลา น้อยครั้งจะยอมให้สัมภาษณ์และไม่เคยยอมให้ผู้เขียนสัมภาษณ์เลย  ในปี 2529  วันนอร์จับมือกับเด่น โต๊ะมีนาและนักการเมืองคนอื่นๆ ก่อตั้งกลุ่มการเมือง “วาดะห์” (เอกภาพ)  นั่นเป็นความพยายามที่จะผนึกกำลังกันเพื่อเป็นปากเสียงของชาวมลายูมุสลิมในรัฐสภา  กลุ่มวาดะห์ย้ายสังกัดพรรคหลายครั้งแล้วแต่โอกาสและความได้เปรียบ  พวกเขาเติบโตพอสมควรภายใต้การอุปถัมภ์ของชวลิต ยงใจยุทธแห่งพรรคความหวังใหม่ แล้วต่อมาก็คือทักษิณ ชินวัตรแห่งพรรคไทยรักไทย  การได้เข้าร่วมรัฐบาลหลายชุดอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2538-2548 ทำให้วันนอร์เป็นบุคคลแถวหน้าคนสำคัญของภูมิภาคนี้ในสายตาของกรุงเทพและได้รับตำแหน่งมากมายตอบแทนการทำงานให้รัฐบาล

ความตกต่ำของวันนอร์เกิดขึ้นในค่ำคืนสุดหฤโหดของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เมื่อผู้ชุมนุมประท้วงปราศจากอาวุธกว่าหนึ่งพันคนถูกล้อมจับที่อำเภอตากใบและถูกขนย้ายไปยังค่ายทหารในปัตตานีด้วยรถบรรทุกของกองทัพ  ชาย 78 คนขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง  แม้ว่าในตอนนั้นวันนอร์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่เขาไร้น้ำยาในการปกป้องการสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้น  ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งลงโทษเขาเพื่อตอบโต้นโยบายความมั่นคงที่หนักมือเกินไปของรัฐบาลทักษิณ ส.ส. กลุ่มวาดะห์ทุกเขตเลือกตั้งสอบตกหมดในการเลือกตั้งปี 2548  พรรคประชาชาติคือความพยายามครั้งล่าสุดของกลุ่มวาดะห์ที่จะกลับมาอีกครั้งหลังจากต้องใช้เวลา 14 ปีทนอยู่กับความนิยมทางการเมืองที่ตกต่ำอย่างสาหัสสากรรจ์

อย่างไรก็ตาม ความพิกลก็คือพรรคประชาชาติไม่ใช่ผลงานจากแนวคิดของวันนอร์ แต่มาจากความคิดของทวี สอดส่องต่างหาก  ทวีคืออดีตพันตำรวจเอกชาวพุทธที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และเขาถือเป็นภารกิจส่วนตัวที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาในภูมิภาคนี้  แรกเริ่มนั้นวันนอร์ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค  อีกทั้งระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเขาก็มักหายหน้าหายตาไปด้วย  ตอนที่ผมพบเขาในการปราศรัยครั้งใหญ่ของพรรคประชาชาติในจังหวัดปัตตานี เขามีท่าทางเหมือนจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวชอบกล

Tawee Sodsong and Wan Muhamad Noor Matha at a Prachachat Party campaign rally, 19 March 2019. Photo: Duncan McCargo

พรรคประชาชาติทำได้ดีในการชนะคะแนนเสียง 6 เขต แต่พรรคของวันนอร์ก็ได้อานิสงส์จากคู่แข่งดั้งเดิมในพื้นที่ด้วย  อดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์บางคนทิ้งพรรคไปอยู่กับสุเทพ เทือกสุบรรณที่แตกออกไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย  ส่วนบางคนก็ย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐที่อยู่ฝ่ายเดียวกับกองทัพ  พรรคประชาชาติเองก็ไม่ได้รับเลือกตั้งในพื้นที่อื่นของประเทศ  พรรคไม่สามารถขยายความนิยมออกสู่เขตเลือกตั้งระดับชาติที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมมากกว่าอัตลักษณ์ความเป็นมลายู  ในวัย 75 ปี วันนอร์พบว่าตัวเองได้กลับเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งเมื่อก่อนเขาเคยนั่งเป็นประธาน แต่ครั้งนี้กลายเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเล็กๆ ที่คงหนีไม่พ้นการอยู่ชายขอบการเมืองตลอดสมัย  เขาดูเหมือนคนที่หมดจิตใจจะต่อสู้แล้ว

Suthep Thaugsuban, de facto leader of the Alliance Coalition for Thailand, talking to reporters in Pattani during the election campaign. Photo: Duncan McCargo

เมื่อผู้เขียนถามทวีระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่า พรรคประชาชาติปวารณาตนจะคัดค้านกองทัพในรัฐสภาชุดใหม่หรือไม่ ทวีตอบคำถามแบบหลบเลี่ยงเล็กน้อย  มีเสียงเล่าลืออย่างมากว่าวันนอร์อยากเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา  ถึงที่สุดแล้ว เส้นทางนักการเมืองของเขามีพื้นฐานมาจากการเล็งผลสัมฤทธิ์และการประนีประนอมมาตลอด  ในท้ายที่สุด พรรคประชาชาติไม่ได้ทรยศต่อหลักการ แต่ชาวมลายูมุสลิมที่มีหน้ามีตาบางคนกลับเลือกเส้นทางแตกต่างออกไปในปี 2562

 ******

ในที่สุด เพชรดาว โต๊ะมีนาก็ได้นั่งเก้าอี้ในรัฐสภาเสียทีกับการเลือกตั้งปี 2562 หลังจากพยายามมาหลายปี  ทำไมเธอต้องใช้เวลาเนิ่นนานขนาดนั้น?  เพชรดาวเป็นชาวปัตตานีโดยกำเนิด เรียนจบแพทย์จากมาเลเซีย เป็นหลานสาวของหะยีสุหลงผู้โด่งดังเป็นตำนาน  หะยีสุหลงเป็นโต๊ะอิหม่ามและนักชาตินิยมปาตานี  เขาถูกสังหารทิ้งในช่วงทศวรรษ 1950  บิดาของเพชรดาวคือเด่น โต๊ะมีนา นักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาครั้งแรกในปี 2519 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวาดะห์ในอีกหนึ่งทศวรรษให้หลัง  เด่นได้รับเลือกตั้งตลอดยี่สิบปีถัดมา เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นระยะเวลาสั้นๆ สองครั้ง และต่อมาภายหลังเคยได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกของจังหวัดปัตตานี พร้อมกับดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย  ผู้เขียนเคยติดตามการหาเสียงเลือกตั้งตำแหน่งวุฒิสมาชิกของเพชรดาวเมื่อเดือนเมษายน 2549  ถึงแม้เธอมีทุนวัฒนธรรมอันไร้ที่ติ แต่ก็ยังพ่ายแพ้หวุดหวิดแก่นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล มหาเศรษฐีชาวพุทธซึ่งทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และโรงแรม ทั้งๆ ที่จังหวัดปัตตานีมีประชากร 80% เป็นชาวมุสลิม  ความพ่ายแพ้ของเพชรดาวในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกปี 2549 คือจุดเริ่มต้นของการห่างหายจากการเลือกตั้งไปถึง 13 ปีสำหรับตระกูลที่เคยมีอิทธิพลต่อการเมืองปัตตานีมาถึงสี่ทศวรรษ

Bhumjai Thai Party list MP Dr Petdau Tohmeena with her father Den Tohmeena on Haji Sulong Day, 13 August 2019. Photo: Duncan McCargo

บทบาทของตระกูลโต๊ะมีนาก่อให้เกิดความรู้สึกผสมปนเปหลายสิ่งหลายอย่าง  ในขณะที่หะยีสุหลงได้รับความเคารพนับถือ  เด่นกลับเป็นคนที่มักสร้างความเป็นปฏิปักษ์  เขามีข้อขัดแย้งกับเพื่อนเก่าแก่ร่วมกลุ่มวาดะห์มานานแล้ว  คณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาชาติจึงหลีกเลี่ยงเด่นในตอนแรก  กว่าจะเชิญเขามาเป็นที่ปรึกษาอาวุโสก็หลังจากตั้งพรรคเสร็จเรียบร้อยแล้วในปี 2561  แต่วันนอร์กับทวีอุตส่าห์ไปถึงประตูบ้านเด่นเสียเที่ยวเปล่าๆ  เพราะเด่นตกลงเรียบร้อยแล้วกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคของนักเลือกตั้งอย่างแท้จริง  ราคาของการได้ฐานเสียงสนับสนุนจากเด่นคืออะไร?  ก็คือการมอบตำแหน่งอันดับที่ 11 ในผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทยให้แก่เพชรดาว ลูกสาวของเขา  ในการจัดงานรำลึกวันหะยีสุหลงเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ที่บ้านของเด่น เครือญาติของตระกูลมีความสุขชื่นมื่นกันอย่างยิ่งที่คนนามสกุลโต๊ะมีนาได้กลับเข้าสู่รัฐสภาอันทรงเกียรติอีกครั้ง

พรรคภูมิใจไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2551  ผู้ก่อตั้งคือเนวิน ชิดชอบ นักการเมืองที่เป็นนักชักใยและเป็นกุญแจสำคัญในการดันคนอื่นขึ้นสู่อำนาจ  เขามาจากจังหวัดบุรีรัมย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พรรคภูมิใจไทยวางตำแหน่งตัวเองเงียบๆ ให้เข้าร่วมได้ทุกรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง 2562  พรรคนี้ไม่มีความคิดริเริ่มเชิงนโยบายเป็นชิ้นเป็นอันต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  คนท้องถิ่นเองก็อึดอัดกระอักกระอ่วนเมื่ออนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ปราศรัยเปิดการหาเสียงเลือกตั้งในจังหวัดนราธิวาสด้วยการเรียกร้องให้กัญชาถูกกฎหมาย  นโยบายนี้ไม่น่าจะชนะใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมอนุรักษ์นิยมเลย  นโยบายเจ้าปัญหานี้คือหนึ่งในเหตุผลหลายประการที่ทำให้อดีต ส.ส. พรรคภูมิใจไทยในจังหวัดปัตตานี นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ถอนตัวและย้ายไปอยู่พรรคประชาชาติในปี 2562  นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดปัตตานีอีกคนหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย บอกผู้เขียนว่า พวกเขาไม่เคยหยิบยกประเด็นเรื่องกัญชาถูกกฎหมายมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง  เพชรดาวยอมรับต่อผู้เขียนว่า เธอถูกด่าว่าอย่างหนักในสื่อสังคมออนไลน์จากการทำตามหน้าที่ ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยและลงคะแนนเสียงเลือกพลเอกประยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรี  เป็นไปได้อย่างไรที่ตระกูลซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็นตัวแทนอัตลักษณ์มลายูแต่กลับเลือกนายกรัฐมนตรีจากกองทัพ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ไม่ไว้วางใจกองทัพเลย?  ความใฝ่ฝันยาวนานของเพชรดาวในการก้าวเข้าสู่รัฐสภากลายเป็นจริงได้เพียงเพราะสัญญาขายวิญญาณ  ซึ่งตามสัญญานี้ต้องแลกกับการสนับสนุนให้ระบอบทหารดำรงอยู่ต่อไปโดยพฤตินัย

******

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จังหวัดยะลา สังกัดพรรคพลังประชารัฐที่ใกล้ชิดแนบแน่นกับกองทัพ นับว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคนอื่น  อาดิลันเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่นและเป็นบุคคลแถวหน้าของศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องสงสัยในคดีก่อความไม่สงบ  ทำไมบุคคลที่ดูเหมือนมีความคิดก้าวหน้าเช่นนี้กลับสมัครรับเลือกตั้งโดยสังกัดพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพียงเพื่อเป็นหลักประกันว่าประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง?  เรื่องที่สับสนงุนงงกว่านั้นก็คือ เพื่อนทนายในศูนย์ทนายความมุสลิมของอาดิลันลงสมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคแตกต่างกันในการเลือกตั้งครั้งเดียวกันนี้  กล่าวคือ อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะลงสมัครเขต 3 จังหวัดปัตตานีสังกัดพรรคภูมิใจไทย  ส่วนนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะได้รับเลือกตั้งที่เขต 4 จังหวัดนราธิวาสในนามพรรคประชาชาติ  เมื่อผู้เขียนไปเยือนสำนักงานของเขาภายหลังการเลือกตั้ง คำอธิบายของอาดิลันค่อนข้างเข้าใจยาก  เขาอ้างว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคต่างกันเป็นความตั้งใจใช้ยุทธศาสตร์การกระจายความเสี่ยงทางการเมืองเพื่อสร้างหลักประกันว่าชาวมลายูมุสลิมจะมีปากเสียงเป็นผู้แทนในรัฐบาลชุดต่อไป  ปรัชญาการเมืองของอาดิลันสรุปได้ง่ายๆ ก็คือ “ถ้าเอาชนะอีกฝ่ายไม่ได้ ก็จงย้ายข้างเสียเลย”  แต่เขาก็ยอมรับว่าอดีตเพื่อนร่วมงานหลายคนจากวงการด้านสิทธิมนุษยชนตัดขาดความสัมพันธ์กับเขาหลังจากเขาเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ

อาดิลันยอมรับว่าได้รับการทาบทามจากเจ้าหน้าที่ทหารให้มาร่วมพรรค  แต่ยืนยันว่าเขาไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐแต่อย่างใด รวมทั้งไม่เคยประชุมพบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนใดระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง  พรรคพลังประชารัฐไม่ได้จัดเวทีหาเสียงในยะลาและเขาไม่ได้ขึ้นเวทีหาเสียงของพรรคในจังหวัดใกล้เคียง เพราะไม่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์พรรคหรือผู้สมัครคนอื่น  ส่วนฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์อาดิลันให้เหตุผลว่า การกระทำของเขาเป็นการฉวยโอกาสมากกว่าเป็นยุทธศาสตร์  กล่าวคืออาศัยชื่อเสียงในฐานะนักกิจกรรมด้านกฎหมายรากหญ้าเป็นช่องทางขายบริการให้แก่กองทัพ  กระนั้นก็ตาม อาดิลันเป็นคนมีเสน่ห์และโน้มน้าวใจเก่งมาก  ระหว่างที่เขาพูดคุยกับผู้เขียน  ผู้เขียนรู้สึกอดคล้อยตามไม่ได้  แต่พอคล้อยหลังจากสำนักงานของเขา ผู้เขียนกลับต้องพยายามคิดหาความหมายที่มีเหตุผลจากเรื่องราวทั้งหมดที่เขาเล่าให้ฟัง

Democrat parliamentary candidate Anwar Salae campaigning in Pattani with former prime minister Chuan Leekpai. Photo: Duncan McCargo

******

ผู้เขียนตามมาทันการเดินทางหาเสียงของอันวาร์ สาและ ส.ส.หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม  ในโถงรับรองแขกโรงแรมซี.เอส.ปัตตานีของอนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัยก็พักอยู่ที่นี้ด้วย  มีเจ้าหน้าที่หนุ่มรักษาความปลอดภัยจำนวนครึ่งโหลตัดผมเกรียนแบบทหาร ใส่เครื่องแบบสีดำและติดหูฟังวิทยุแบบไฮเทค  แต่เครื่องแบบของพวกเขาไม่มีตราและไม่ยอมบอกผู้เขียนว่าทำงานให้ใคร  อันวาร์นั่งรอที่โถงรับรองแขกกับผู้เขียนและกลุ่ม รปภ.รับจ้างชุดดำนี้  ดูเหมือนเขาไม่ได้รับเชิญให้ขึ้นไปร่วมรับประทานอาหารเช้ากับกลุ่มวงในในห้องพักสวีทของชวนกระมัง?  ถึงแม้เขาเป็นคนที่มีความหวังที่สุดที่จะได้รับการเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่นี้ แต่เขายังคงเป็นเสมือนคนนอกสำหรับพรรคที่นักการเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธจาก “อีกภาคใต้หนึ่ง” นั่นคือเหนือเส้นแบ่งเขตจังหวัดสงขลาขึ้นไป  ผู้เขียนเคยพบอันวาร์ก่อนหน้านี้สองสามครั้ง  แต่วันนั้นเขามีท่าทีไม่สบายใจอย่างเห็นได้ชัดและไม่อยากพูดคุยมากนัก

ชวนยังได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหมู่ชาวพุทธผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในจังหวัดปัตตานี  ฐานเสียงเหล่านี้ออกมาต้อนรับชวนชราร่างเล็กวัย 80 ปีระหว่างที่รถบรรทุกหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์กับขบวนรถติดตามอีกแปดคันค่อยๆ แล่นวนเวียนไปตามท้องถนนแออัดในย่านใจกลางเมือง  ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ชวนไม่ได้ทำตามแผนหาเสียงที่จะเดินผ่านตลาด  ในจุดสุดท้ายของการจอดรถหาเสียง เขาปราศรัยสั้นๆ ความว่า กองทัพยึดอำนาจเพราะการเมืองทุกระดับตกอยู่ใต้อำนาจของคนชั่ว หมายถึงทักษิณ ยิ่งลักษณ์และคนอื่นๆ  ทางออกคือการเลือกคนดีอย่างอันวาร์ในการเลือกตั้งครั้งนี้  ผู้เขียนไม่ได้ยินอดีตฝ่ายซ้ายผู้ปกป้องประชาธิปไตยคนนี้กล่าววิจารณ์รัฐบาลทหารที่กำลังครองอำนาจแม้แต่คำเดียว

ในท้ายที่สุด ทั้งอันวาร์และชวนต่างทำได้ดี  อันวาร์เอาชนะคู่แข่งจากพรรคประชาชาติอย่างขาดลอย  ส่วนชวนก็ลงเอยที่ตำแหน่งประธานรัฐสภา อันเป็นตำแหน่งเก่าของวันนอร์  แต่นอกเหนือจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีผลการเลือกตั้งค่อนข้างย่ำแย่  พ่ายแพ้ยับเยินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง

******

นี่คือช่วงเวลาแปลกประหลาดสำหรับผู้ลงคะแนนเสียงชาวมลายูมุสลิม  ใครคือคนที่พวกเขาควรมอบความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนของตน?  จะดีกว่าไหมถ้ายอมทำงานร่วมกับกองทัพและสถาบันอนุรักษ์นิยม หรือควรลงคะแนนเลือกนักการเมืองที่มีแนวโน้มมากที่สุดว่าจะต่อต้านขัดขืนการครอบงำจากกรุงเทพ?  ในอดีต ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แกว่งไปมาระหว่างการลงคะแนนให้ทักษิณกับลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์  แต่ทั้งความรุนแรงจากผู้ก่อความไม่สงบและการกดขี่จากภาครัฐก็ยังไม่หายไปไหน  ความเป็นคนชายขอบภายในรัฐไทยยังเป็นอยู่ต่อไป  การเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ไม่มีคำตอบชัดเจนให้แก่ปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อเรื้อรังของภูมิภาคนี้  วันนอร์ดีกว่าเพชรดาวหรืออาดิลันดีกว่าอันวาร์หรือเปล่า?  หลังจากผ่านความตื่นเต้นตึงเครียดระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งไปแล้ว  นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการจัดงานสาธารณะขนาดใหญ่ในช่วงค่ำคืนในจังหวัดปัตตานี  แต่ความคาดหวังก็ริบหรี่เช่นเคย

Duncan McCargo
Duncan McCargo is Director of the Nordic Institute of Asian Studies and Professor of Political Science at the University of Copenhagen.
E-mail duncan@nias.ku.dk

บทความนี้เขียนขึ้นจากการสังเกตการณ์ภาคสนามและการสัมภาษณ์ในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสช่วงเดือนมีนาคมและสิงหาคม 2562  ผู้เขียนขอขอบคุณการสนับสนุนด้านการเงินจาก The United States Institute of Peace, Grant SG-477-15.

Notes:

  1. สำหรับภาพรวมของการเลือกตั้ง 2562 โปรดดู Duncan McCargo, ‘Democratic Demolition in Thailand’, Journal of Democracy, 30, 4, 2019: 119–133.
  2. ประเด็นการเมืองและการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โปรดดู Duncan McCargo, Tearing Apart the Land: Islam and Legitimacy in Southern Thailand, Ithaca NY and London: Cornell University Press, 2008, especially pp. 63–80. 
Exit mobile version