Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

การศึกษาศาสนาพุทธในเวียดนาม: ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับแนวโน้มในปัจจุบันและอนาคต

ภายในสาขาการศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น ศาสนาพุทธในเวียดนามได้รับความสนใจน้อยเกินไปจากแวดวงนักวิชาการยุโรป-อเมริกัน ส่วนหนึ่งเกิดมาจากอคติทางวิชาการที่นิยมศึกษาศาสนาพุทธโดยรวมศูนย์อยู่ที่ตัวบทพระคัมภีร์มากกว่าการแสดงออกด้านวัตรปฏิบัติของพุทธศาสนาในชีวิตประจำวันจริงๆ อคติดังกล่าวนี้มีพื้นฐานมาจากวิธีการศึกษาทางวิชาการแบบเก่าที่ให้ความสำคัญแก่ตัวบทบางอย่างมากกว่า แล้วสร้างภาพของศาสนาขึ้นมาจากทัศนะดังกล่าว โดยมักละเลยการตีความและการแสดงออกของปัจเจกบุคคลและวัฒนธรรมของศาสนิกชน วัฒนธรรมเชิงตัวบทของศาสนาพุทธในเวียดนามมิได้พัฒนาไปถึงระดับเดียวกับประเทศพุทธศาสนาอื่นๆ และได้รับความสนใจจากวงวิชาการค่อนข้างน้อย นอกเหนือจากนี้ ยังมีอุปสรรคหลายประการสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาวิจัยศาสนาในเวียดนาม ซึ่งยังถือเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวภายใต้ระบอบการปกครองในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดสถานที่และการเข้าถึงบุคคลที่ต้องการสัมภาษณ์ การติดต่อกับระบบราชการที่ล่าช้าจุกจิกมากเพื่อเข้าถึงแหล่งเก็บเอกสารสำคัญ ปัญหาเหล่านี้อาจมีความยากลำบากมากกว่าในประเทศอื่นที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ถึงแม้มีข้อจำกัดดังกล่าว แต่ก็มีผลงานชั้นเยี่ยมที่ศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามและสร้างความกระจ่างแก่ประเด็นหลายอย่างในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและการปฏิบัติในปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม ถึงแม้มีงานวิจัยที่โดดเด่นอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีช่องว่างไม่น้อยในประเด็นสำคัญๆ หลายประการภายในงานวิชาการที่ศึกษาศาสนาพุทธในเวียดนาม ประเด็นหนึ่งคือการเปรียบเทียบกับศาสนาพุทธในที่อื่นๆ การวิจัยหัวข้อหนึ่งในหลายหัวข้อที่น่าศึกษาเกี่ยวกับศาสนาพุทธในเวียดนามก็คือการสำรวจตรวจสอบ “ความเป็นมหายาน” ของศาสนาพุทธในเวียดนามโดยเปรียบเทียบกับศาสนาพุทธนิกาย “มหายาน” ในประเทศอื่นๆ รวมถึงเปรียบเทียบกับรูปแบบของพุทธศาสนาที่เรียกกันทั่วไปว่า “เถรวาท” ด้วย แนวคิดที่มีมายาวนานเกี่ยวกับคุณลักษณะที่ใช้ในการจัดแบ่งนิยามนิกายและใช้กันซ้ำๆ ในพุทธศาสนานี้ยังคงใช้ได้หรือไม่? การนิยามศาสนาพุทธในเวียดนามว่าเป็นนิกาย “มหายาน” มีความเหมาะสมหรือเปล่า?

งานศึกษาที่ตั้งคำถามและท้าทายการแบ่งขั้วระหว่าง “เถรวาท” กับ “มหายาน” ซึ่งเคยเป็นตราประทับการแบ่งนิกายในศาสนาพุทธมายาวนานเริ่มมีมากขึ้นในระยะหลัง ในบรรดางานศึกษาอันมีคุณูปการหลายชิ้น ประชุมบทนิพนธ์เล่มสำคัญชื่อ How Theravāda is Theravāda? Exploring Buddhist Identities ได้สำรวจและสาธยายให้เห็นปัญหาบางประการที่มีต่อการใช้กรอบแนวคิดเดิมๆ ในปัจจุบัน หากมีประชุมบทนิพนธ์อีกสักเล่มออกมาคู่กันโดยเน้นงานศึกษาเชิงเปรียบเทียบภายใต้ชื่อเรื่องทำนองว่า How Mahāyāna is Mahāyāna? ก็น่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเพิ่มเติมความเข้าใจและการประมวลแนวคิดที่ก้าวพ้นกรอบทวินิยมที่หยาบง่ายเกินไปในพื้นที่อื่นๆ ของโลกพุทธศาสนา รวมทั้งช่วยสร้างความกระจ่างแก่ความเข้าใจของเราที่มีต่อลักษณะของศาสนาพุทธในเวียดนามยุคปัจจุบันด้วย

The important anthology, How Theravāda is Theravāda? Exploring Buddhist Identities

นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ แล้ว ความรู้และความเข้าใจของโลกภาษาอังกฤษที่มีต่อศาสนาพุทธนั้น ส่วนใหญ่ยังคงใช้การแบ่งนิกายตามแนวคิดเกี่ยวกับ “ยาน” ในการบรรยายถึงศาสนาพุทธในภูมิภาคนี้ หากสามารถมองพ้นการจัดแบ่งนิกายแบบนี้เมื่อพรรณนาถึงลักษณะเฉพาะตัวของศาสนาพุทธในท้องถิ่นต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ใช้กรอบการบรรยายและวิเคราะห์ที่มีรายละเอียดมากขึ้น น่าจะเป็นทิศทางที่มีคุณประโยชน์หากนักวิชาการนำไปใช้ แนวทางการศึกษาเช่นนี้สามารถช่วยให้นักวิชาการก้าวพ้นจากแนวคิดนามธรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งวาดภาพศาสนาพุทธเป็นศาสนาของนักบวชชนชั้นสูงที่มุ่งเน้นตัวบทพระคัมภีร์โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การบรรลุพระนิพพาน

ผลงานศึกษาอันน่าชื่นชมที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว เช่น Swearer (1995), McDaniel (2011), Kitiarsa (2012) และ Soucy (2012) ช่วยผลักดันการศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาให้ก้าวพ้นจากพุทธศาสนาฉบับเก่าแก่ อุดมคติและมุ่งเน้นตัวบท ออกไปสู่ปริมณฑลของรูปแบบการแสดงออกทางศาสนาในชีวิตจริงของประชาชน หากมีการศึกษาในทิศทางนี้มากขึ้น พร้อมกับเน้นย้ำเป็นพิเศษถึงบทบาทของศาสนาพุทธในการเมืองและการเมืองของพุทธศาสนาในเวียดนาม ก็จะช่วยให้เราเข้าใจเวียดนามกับศาสนาที่ปฏิบัติจริงในประเทศนี้อย่างลึกซึ้งกว่าเดิม

ในส่วนของหัวข้อย่อยหัวข้อหนึ่งในศาสนาพุทธและบทบาทในประวัติศาสตร์เวียดนาม Woodside (1976), McHale (2004) และ DeVido (2007, 2009) คือผลงานอันทรงคุณค่าที่ช่วยอธิบายการฟื้นฟูศาสนาพุทธในเวียดนามช่วงศตวรรษที่ 20 กระนั้นก็ตาม ยังมีแง่มุมอีกมากมายให้เราศึกษาถึงมรดกของขบวนการนี้ กล่าวโดยสังเขปคือ ขบวนการฟื้นฟูพยายามสร้างความเข้มแข็งและเปลี่ยนโฉมหน้าของพุทธศาสนาในเวียดนาม พร้อมทั้งผลักดันให้พลิกฟื้นสู่ยุคทองที่มีจินตภาพว่าพุทธศาสนารุ่งเรืองถึงขีดสุด เช่นเดียวกับขบวนการฟื้นฟูอื่นๆ ในเอเชีย ขบวนการในเวียดนามพยายามสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติที่เข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งรวมถึงศาสนาพุทธที่ปฏิรูปให้มีชีวิตชีวาทันสมัย เช่นเดียวกับการนำเสนอศาสนาพุทธที่ทันสมัยในประเทศอื่นๆ ขบวนการฟื้นฟูพยายามทำให้ศาสนาพุทธมีเหตุมีผลและขจัดวัตรปฏิบัติที่มีองค์ประกอบขัดกับบทบัญญัติดั้งเดิม เช่น ลัทธิความเชื่อ การเผากระดาษเงินกระดาษทอง และการทรงเจ้าเข้าผี เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ตัวบทพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนาทั้งเก่าและใหม่ถูกนำมาแปลและยกสถานะสำคัญขึ้นเป็นมรรคสู่นิพพาน ซึ่งผู้ปฏิบัติได้รับคำแนะนำให้อ่าน ศึกษาและทำความเข้าใจมากกว่าท่องบ่นเฉยๆ โดยไม่รู้เนื้อหา กลุ่มฟื้นฟูพุทธศาสนาเวียดนามเน้นการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม การก่อตั้งโรงเรียน คลินิก องค์กรและการช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีการอื่นๆ องค์กรการกุศลเหล่านี้จำนวนไม่น้อยก็ยังดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ 1 ศาสนาพุทธที่มีรูปแบบทันสมัยและมีบทบาททางการเมืองอันเป็นผลมาจากขบวนการฟื้นฟูคือสิ่งที่ต่อมาติช นัท ฮันห์เรียกว่า “พุทธศาสนาเพื่อสังคม” (Engaged Buddhism) ติช นัท ฮันห์ตั้งข้อสังเกตว่า “ในทศวรรษ 1930 นักปราชญ์ในพุทธศาสนาเคยอภิปรายถึงบทบาทของพุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่มาแล้ว” 2 รูปแบบของพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่ติช นัท ฮันห์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ไม่ใช่ปรากฏการณ์แปลกใหม่ แต่เป็นวิธีการปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่มีมายาวนานซึ่งมีรากเหง้าทางภูมิปัญญาอยู่ในประเทศจีน ในแนวประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจว่า พุทธศาสนาเพื่อสังคมของเวียดนามมีอิทธิพลและชี้นำวาทกรรมเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมและการปฏิบัติของศาสนิกชนชาวพุทธในโลกพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน ยิ่งกว่านั้น เรายังมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับบทบาทของศาสนาพุทธจากภูมิภาคอื่นๆ (นอกเหนือจากจีน) ในด้านการชี้นำที่มีต่ออุดมคติ การปฏิบัติและการตั้งกลุ่มต่างๆ ในเวียดนาม ในกรณีใดก็ตาม การศึกษาศาสนาพุทธข้ามภูมิภาคและข้ามชาติจะช่วยให้ศาสนาพุทธหลุดออกจากพรมแดนของประเทศและทำให้เกิดทัศนะที่ชัดเจนขึ้นและกว้างมากขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการและความเติบโตของขบวนการพุทธศาสนา

The Revival Movement in Vietnam attempted to rationalize and rid Buddhist practice of non-canonical elements such as the burning of money.

ขบวนการชาวพุทธเพื่อสันติภาพในเวียดนามใต้เป็นประวัติศาสตร์สำคัญช่วงตอนหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับขบวนการฟื้นฟู ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมความสนใจของแวดวงวิชาการในระยะหลัง Topmiller (2002), Moyar (2004), McCallister (2008), Taylor (2013) และ Miller (2013, 2015) ต่างเคยเขียนตีความ (ส่วนใหญ่ขัดแย้งกัน) เกี่ยวกับขบวนการนี้และบุคคลสำคัญของขบวนการ เช่น พระ Thích Trí Quang ซึ่งมีบทบาทที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ส่วนที่ขาดหายไปอย่างมากในงานศึกษาด้านประวัติศาสตร์ก็คือช่วงเวลาในเวียดนามใต้ระหว่าง ค.ศ. 1970-1975 และหลังจากนั้น รวมทั้งบทบาทของขบวนการชาวพุทธในการเมืองและรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น ในผลงานชิ้นมหึมาชื่อ A History of the Vietnamese Taylor เอ่ยเพียงสั้นๆ ว่าในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของสาธารณรัฐเวียดนามที่สองในปี 1967 ชาวพุทธจำนวนมากรวมทั้งสานุศิษย์ของ Thích Trí Quang ได้รับเลือกตั้งถึงหนึ่งในสาม อีกครั้งในปี 1971 สานุศิษย์ของ Thích Trí Quang ก็ชนะการเลือกตั้งได้กลุ่มที่นั่งใหญ่ที่สุดในสภา 3 เกร็ดทางประวัติศาสตร์เหล่านี้สามารถเป็นพื้นฐานให้แก่การค้นคว้าในภาพกว้างขึ้นและลงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับการเมืองของพุทธศาสนาในเวียดนามและบทบาทของชาวพุทธในสงครามเวียดนาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธที่เข้าไปพัวพันในวงการการเมืองระหว่างช่วงสองสามปีถัดมาจนกระทั่งเวียดนามใต้แตกและหลังจากนั้น ยังเป็นประเด็นที่นักวิชาการน่าจะศึกษาค้นคว้า โครงการที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกโครงการหนึ่งคือการสำรวจดูว่าชาวพุทธที่ได้รับการเลือกตั้งยังคงทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเดิมที่เคยตั้งไว้ในสมัยขบวนการฟื้นฟูมากน้อยแค่ไหน พร้อมๆ กับการศึกษาผลกระทบและความสำเร็จทางการเมืองโดยรวมของชาวพุทธในเวียดนามใต้

The TIME magazine cover featuring the ‘controversial’ Thich Tri Quang | Apr. 22, 1966.

ในผลงานของผู้เขียนเอง ผู้เขียนสืบค้นประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาเพื่อสังคมในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนาในเวียดนาม พุทธศาสนาในประเทศไทยและขบวนการพุทธศาสนาเพื่อสังคมในระดับโลก นอกจากนี้ ผู้เขียนยังติดตามความสัมพันธ์และเครือข่ายของพุทธศาสนาเพื่อสังคมระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม ช่วงกลางทศวรรษ 1970 เป็นช่วงเวลาที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้นำพุทธศาสนาเพื่อสังคมชาวไทย เริ่มรู้จักติช นัท ฮันห์และกิจกรรมพุทธศาสนาเพื่อสังคมของกลุ่มพระสายติช นัท ฮันห์ในเวียดนาม ประมาณ ค.ศ. 1975 สุลักษณ์ขอให้ลูกศิษย์ของเขาคนหนึ่งแปลหนังสือของติช นัท ฮันห์ เรื่อง The Miracle of Mindfulness (ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ) หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมในหมู่คนบางกลุ่มในประเทศไทย สุลักษณ์ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีกับติช นัท ฮันห์ และร่วมมือกับชาวพุทธคนอื่นๆ ก่อตั้ง เครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (International Network of Engaged Buddhists–EB) โดยมีทะไลลามะ ติช นัท ฮันห์ และพระมหาโฆษนันทะเป็นองค์อุปถัมภ์

พัฒนาการในปัจจุบันที่น่าสนใจประการหนึ่งในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของชาวพุทธไทยกับเวียดนามก็คือ การก่อตั้งและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของหมู่บ้านพลัมในจังหวัดนครราชสีมา มีการเขียนถึงประวัติศาสตร์ของสำนักสงฆ์แห่งนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่สถานที่นี้เป็นแหล่งพำนักของพระและชีสองสามร้อยรูปซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามและปฏิบัติศาสนกิจตามแนวทางของติช นัท ฮันห์ ช่องทางหนึ่งในการค้นคว้าวิจัยที่อาจสร้างความกระจ่างต่อความสัมพันธ์ของพุทธศาสนิกทั่วโลกและข้ามภูมิภาคในปัจจุบันน่าจะเป็นการสำรวจตรวจสอบถึงผลกระทบที่หมู่บ้านพลัมในไทยมีต่อศาสนาพุทธของไทยและในทางกลับกัน ถึงแม้บทความนี้เอ่ยถึงทิศทางที่เป็นไปได้สำหรับการค้นคว้าวิจัยในอนาคตเพียงไม่กี่ประการจากที่มีอยู่มากมาย แต่เวียดนามเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่ดีต่อการค้นคว้าวิจัยสำหรับนักวิชาการด้านพุทธศาสนา หากการเข้าถึงเอกสารสำคัญและตัวบุคคลทำได้ง่ายขึ้น ก็หวังว่าจะมีผลงานอีกหลายๆ ชิ้นผลิตออกมาจากเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะช่วยถมช่องว่างกว้างใหญ่ในสาขานี้ได้บ้าง

Jordan Baskerville
(PhD Candidate, University of Wisconsin at Madison)

 Issue 19, Kyoto Review of Southeast Asia, March 2016

 

The Thai Plum Village, Nakhon Ratchasima, Thailand. Image: Facebook

 

References

DeVido, Elise. “‘Buddhism for This World’: The Buddhist Revival in Vietnam, 1920 to 1951, and Its Legacy.” Modernity and Re-Enchantment: Religion in Post-Revolutionary Vietnam (2007): 250–96.
———. “The Influence of Chinese Master Taixu on Buddhism in Vietnam.” Journal of Global Buddhism 10 (2009): 413–458
McCallister, James. “’Only Religions Count in Vietnam’: Thich Tri Quang and the Vietnam War.” Modern Asian Studies, 42:4 (2008): 751-782.
McDaniel, Justin. The Lovelorn Ghost and the Magical Monk: Practicing Buddhism in Modern Thailand. Columbia University Press, 2011.
McHale, Shawn Frederick. Print and Power: Confucianism, Communism, and Buddhism in the Making of Modern Vietnam. University of Hawaii Press, 2004.
Miller, Edward. Misalliance: Ngo Dinh Diem, the United States, and the Fate of South Vietnam. Cambridge: Harvard University Press, 2013.
———.”Religious Revival and the Politics of Nation Building: Reinterpreting the 1963 ‘Buddhist Crisis’ in South Vietnam. Modern Asian Studies, June 2015. Pp 1-60.
Moyar, Mark. “Political Monks: The Militant Buddhist Movement during the Vietnam War.” Modern Asian Studies, 38:4 (2004): 749-784.
Pattana Kitiarsa. Monks, Mediums, and Amulets: Thai Popular Buddhism Today. University of Washington Press, 2012.
Skilling, Peter, Carbine, A. Jason, Cicuzza, Claudio, Santi Pakdeekham eds. How Theravāda is Theravāda? Exploring Buddhist Identities. Silkworm, 2012.
Soucy, Alexander. The Buddha Side: Gender, Power, and Buddhist Practice in Vietnam. Uiversity of Hawai’I Press, 2012.
Swearer, Donald K., The Buddhist World of Southeast Asia (second edition), SUNY Press, 2010.
Taylor, K. W. A History of the Vietnamese. Cambridge University Press, 2013.
Thích Nhất Hạnh. Vietnam: Lotus in a Sea of Fire. Hill and Wang, 1967.
Topmiller, Robert. The Lotus Unleashed: The Buddhist Peace Movement in South Vietnam. University of Kentucky Press, 2002.
Woodside, Alexander. Community and Revolution in Modern Vietnam. Houghton Mifflin, 1976.

Notes:

  1. Elise DeVido. “‘Buddhism for This World’: The Buddhist Revival in Vietnam, 1920 to 1951, and Its Legacy.” Modernity and Re-Enchantment: Religion in Post-Revolutionary Vietnam (2007), 284.
  2. Thích Nhất Hạnh. Vietnam: Lotus in a Sea of Fire. (Hill and Wang, 1967), 42.
  3. Taylor, K. W. A History of the Vietnamese. (Cambridge University Press, 2013), 608-9.
Exit mobile version