Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

ปันตายง ปานานอว์ : การอธิบาย การวิพากษ์และทิศทางใหม่

        

บทความเรื่องปันตายง ปานานอว์นี้ (ปันตายง ปานานอว์ หมายถึง “จากพวกเราเพื่อพวกเรา” และเรียกโดยย่อว่า พีพี”) มุ่งเสนอภาพรวมเบื้องต้นของแนวการศึกษา ที่อาจเป็นแนวโน้มที่มีอิทธิพลและก่อให้เกิดการถกเถียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสังคมศาสตร์ในฟิลิปปินส์ พีพีเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 จากความเคลื่อนไหวในกลุ่มนักประวัติศาสตร์ชาว

ฟิลิปปินส์ นำโดย ซุส เอ ซาลาซาร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ ที่พยายามสร้าง “ความเป็นพื้นเมือง” ขึ้นในการเข้าใจสังคมฟิลิปปินส์ ในระยะแรก พีพี เป็นความพยายามที่ต้องการฉีกตัวออกจากขนบการเขียนประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น 2 แนว คือ แนวนิยมอเมริกา และแนวชาตินิยมที่ต่อต้านแนวทางแรก ขนบทั้งสองนี้เป็นกระบวนทัศน์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1950 ถึงทศวรรษ 1970 หลังจากนั้น พีพีได้ส่งผลอิทธิพลอย่างช้าๆ ทั้งในเชิงปรัชญาและระเบียบวิธีการของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สาขาอื่นๆ กลุ่มพีพีใช้ภาษาฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ เป็นภาษาหลักในงานเขียน ทั้งนี้การใช้ภาษาฟิลิปปินส์ถือเป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกไม่ได้จากขบวนการสร้าง “ความเป็นพื้นเมือง” บนฐาน ของวัฒนธรรม

บทความนี้ไม่ได้มุ่งให้อรรถาธิบายแนวคิดพีพีโดยตรง หากแต่พยายามแสดงเค้าโครงของประเด็นข้อถกเถียงที่สำคัญทางระเบียบวิธีการที่เกี่ยวข้องกับพีพี ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการแสดงให้เห็นความเหนือกว่าในทางทฤษฎีและปฏิบัติของพีพี เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวโน้มความเคลื่อนไหวในการสร้าง “ความเป็นพื้นเมือง” อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในวงการสังคมศาสตร์ของฟิลิปปินส์ ประเด็นหลักในบทความนี้ คือ การเปรียบเทียบสถานะของระเบียบวิธีการทางสังคมศาสตร์อื่น กับระเบียบวิธีที่ใช้ในงานที่มีฐานแนวคิดแบบพีพี ซึ่งเน้นทั้ง ทัศนะของผู้ถูกศึกษาหรือทัศนะของ “คนใน” และเฮอร์เมนิวติกส์ นอกจากนั้น บทความนี้จะพิจารณาโดยย่อถึงข้อวิจารณ์ที่ว่า พีพี “นิยมความเป็นพื้นเมืองอย่างสุดโต่ง (nativist)” และ “มุ่งแต่จะกำหนดคำจำกัดความและคำอธิบายที่แน่นอนตายตัวให้กับปรากฏการณ์ต่างๆ (essentialist)” จุดประสงค์หลักประการหนึ่งของบทความนี้ คือ การให้ผู้อ่านเข้าใจในระดับหนึ่งถึงระดับและความซับซ้อนของข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกี่ยวกับพีพี ซึ่งถือเป็นแนวโน้มในการสร้าง “ความเป็นพื้นเมือง” ที่สำคัญที่สุดแนวหนึ่งในวงการสังคมศาสตร์ของฟิลิปปินส์ บทความนี้ยังเน้นให้เห็นถึงความพยายามของพีพีที่จะขจัดไม่ให้วงวิชาการสังคมศาสตร์ในฟิลิปปินส์ แปลกแยกจาก “ผู้คนระดับชาวบ้าน” ของฟิลิปปินส์มากจนเกินไป ด้วยการใช้ภาษาประจำชาติและด้วยการสร้างทางเลือกใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายสื่อสารแบบปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้ ท้ายสุด บทความนี้ยังให้ข้อเสนอแนะบางประการต่อการกำหนดความหมายของพีพีที่กว้างขวางครอบคลุม และเป็นไปได้มากขึ้น ในฐานะที่พีพีเป็นปฏิบัติการทางสังคมศาสตร์ในบริบทของฟิลิปปินส์

รามอน กีลเยอร์โม
(Translated by Darin Pradittatsanee, with assistance from Somporn Puttapithakporn and Chalong Soontravanich.)

Ramon Guillermo is assistant professor in the Department of Filipino and Philippine Literature, University of the Philippines, Diliman.

Read the full unabridged article in English HERE

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 3: Nations and Other Stories. March 2003

Exit mobile version