Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

อัตลักษณ์ท้องถิ่น การเมืองระดับชาติและมรดกโลกในภาคเหนือของประเทศไทย

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกแห่งประเทศไทยได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเมืองเชียงใหม่ให้อยู่ในรายชื่อมรดกโลกขององค์การยูเนสโก 1 ระหว่างที่ยังอยู่ในบัญชีเบื้องต้นของกระบวนการพิจารณามรดกโลก กลุ่มขับเคลื่อนประเด็นนี้วางแผนที่จะยื่นเอกสารการขอพิจารณามรดกโลกรอบสุดท้ายในเร็ววัน เป็นไปได้ว่าน่าจะภายในปลายปี 2562  สำหรับทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีแรงเย้ายวนใจหลายประการ เพราะมันให้คำมั่นสัญญาถึง “เกียรติภูมิทั้งระดับชาติและระหว่างประเทศ […] ความช่วยเหลือทางการเงินและ […] ผลดีในการยกระดับความตระหนักรู้ของสาธารณชน การท่องเที่ยวและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” 2  ในขณะที่แหล่งมรดกโลกของไทยแหล่งอื่นๆ เช่น สุโขทัยและอยุธยา ส่วนใหญ่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์แห่งชาติ 3 การยื่นขอขึ้นทะเบียนเมืองใหญ่ในภาคเหนือครั้งล่าสุดนี้ รวมทั้งความพยายามอื่นๆ ก่อนหน้านั้น สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นและอัตลักษณ์ภูมิภาคเท่าๆ กับอัตลักษณ์แห่งชาติ

สิ่งที่เป็นเดิมพันอยู่ตรงที่ชาวเมืองเหนือจะมีปฏิกิริยาอย่างไรในการหาทางคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างความเป็นมรดกกับความเป็นย่าน (ชุมชน/ละแวกบ้าน) ดังที่ Mark Askew เคยชี้ให้เห็นว่าเกิดขึ้นในกรุงเทพเมื่อยุคทศวรรษ 1990 4  การยกย่องซากปรักหักพังที่ถูกทิ้งร้างให้มีสถานะระดับชาติและระดับโลกไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในกรณีของเชียงใหม่ การขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกมีการผสมผสานทั้งซากปรักหักพังทางกายภาพของอาณาจักรทางการเมืองในอดีตกับชุมชนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน  โครงการนี้มีความหมายเช่นไรต่ออัตลักษณ์ของชาวเหนือ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างภาคเหนือกับกรุงเทพ?  การผลักดันการอนุรักษ์มรดกของเมืองที่ดำเนินมาต่อเนื่องจะมีที่ทางอย่างไรในประวัติศาสตร์อัตลักษณ์แห่งภูมิภาค ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่กว่าในประเทศไทยยุคสมัยใหม่?

ล้านนานิยม

การขอขึ้นทะเบียนเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกอาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อกลุ่มคนต่างๆ โดยมีอนาคตของเมืองนี้เป็นเดิมพัน  กลุ่มขับเคลื่อนเบื้องหลังการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกประกอบด้วยกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ นักวางผังเมืองและนักวิชาการ หากกล่าวกว้างๆ แล้ว เราพอจะนิยามคนหลากหลายกลุ่มเหล่านี้ว่ามีลักษณะอย่างหนึ่งร่วมกัน นั่นคือ ความเป็น “ท้องถิ่นนิยม”  ในกรณีของเชียงใหม่ บางครั้งก็เรียกลักษณะนี้ว่า “ล้านนานิยม” ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติใหม่ หมายถึงราชอาณาจักรล้านนาโบราณที่มีอิทธิพลอำนาจเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 และถือเป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์แก่อัตลักษณ์ท้องถิ่นที่แตกต่างจาก “มาตรฐาน” แบบกรุงเทพหรืออัตลักษณ์ความเป็นคนไทยภาคกลาง 5

ล้านนานิยมไม่ได้เกิดจากความเชื่อมโยงโดยตรงกับอาณาจักรล้านนาในประวัติศาสตร์ แต่เกิดจากความพยายามหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่จะสร้างพื้นที่ให้อัตลักษณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมท้องถิ่นในเมืองต่างๆ เช่น เชียงใหม่และเชียงราย มากกว่า  การเคลื่อนไหวรณรงค์ของชาวท้องถิ่นเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ การเรียกร้องให้สร้างอนุสาวรีย์กษัตริย์ล้านนา และการที่ตัวอักขระล้านนากลับมาปรากฏให้เห็นทั่วไปในเมืองเชียงใหม่  ทั้งหมดข้างต้นคือหมุดหมายบ่งบอกถึงกระบวนการนี้  มรดกของเมืองเชียงใหม่ได้รับการเชิดชูให้โดดเด่นเสมอในการก่อรูปและการแสดงออกของล้านนานิยม  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองถูกปรับแต่งรูปโฉมและตกเป็นเมืองขึ้นของรัฐกรุงเทพอย่างสิ้นเชิง กับอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะประวัติศาสตร์ยาวนานของวัดและวังหรือที่เรียกว่าคุ้ม ซึ่งเชื่อมโยงกับราชวงศ์กษัตริย์ล้านนา  หากเมืองเชียงใหม่สามารถขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก ย่อมช่วยยกระดับอัตลักษณ์ล้านนาและความเป็นล้านนาทั้งในระดับชาติและระดับโลก

การส่งเสริมล้านนานิยมปรากฏออกมาในรูปแบบที่คาดไม่ถึง  กลุ่มขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่มรดกโลกจัดประกวดการออกแบบมาสคอตเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานรณรงค์  มาสคอตที่ชนะการประกวดคือตัวการ์ตูนสัญลักษณ์ฟานเผือกที่น่ารักจุ๋มจิ๋มอย่างไม่น่าเชื่อ  ฟานเผือกเป็นสัตว์มงคลที่ปรากฏอยู่ในตำนานการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่  ตัวมาสคอตนี้มีชื่อเรียกว่า น้องฟาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนของเมืองเชียงใหม่และโครงการมรดกโลก อีกทั้งอาจรวมถึงเป็นตัวแทนของล้านนานิยมเลยทีเดียว

ป 1: น้องฟาน – โฉมหน้าใหม่ของล้านนานิยม? (ที่มา: www.facebook.com/Chiang-Mai-Historic-City-World-Heritage-Project/)

การยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกประกอบด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จำนวนมากทั้งภายในและรอบเมืองเชียงใหม่ โดยมีจุดเน้นอยู่ที่ประวัติศาสตร์ยุคโบราณในสมัยราชวงศ์มังรายและความสัมพันธ์ของเชียงใหม่กับสยามในส่วนที่ “ยอมรับได้” โดยเฉพาะวัดต่างๆ 6  กระนั้นก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถานที่บางส่วนใจกลางเมืองที่ตั้งอยู่ภายในขอบเขตโครงการ แต่ไม่ได้นำเสนอชื่อในการขอขึ้นทะเบียนรอบแรก  พิพิธภัณฑ์สำคัญสองแห่งที่จัดแสดงอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของมรดกล้านนาตั้งอยู่ในอาคารประวัติศาสตร์กลางเวียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่สะท้อนถึงระบอบอาณานิคมภายในประเทศของรัฐกรุงเทพ กล่าวคืออาคารศาลารัฐบาล (ศาลากลางหลังเก่า) และอาคารศาลแขวงเดิม  กล่าวโดยสรุปคือ การเสนอชื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใหญ่กว่าที่มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของศูนย์กลางอาณานิคมเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นเครื่องแสดงถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยที่ทั้งหมดนี้อยู่ภายในกรอบของประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบชาตินิยมที่รัฐไทยยอมรับ

รูป 2: “แหล่งมรดกเชียงใหม่ยื่นเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก” (ที่มา Facebook

กรุงเทพกับเส้นขีดจำกัดของประวัติศาสตร์และมรดก

สถานะมรดกโลกคือช่องทางที่เอื้อต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  ทว่าในบริบทของประเทศไทย นั่นหมายถึงการดำเนินการภายในกรอบที่รัฐไทยซึ่งมีกรุงเทพเป็นศูนย์กลางขีดเส้นจำกัดไว้ให้  ความพยายามครั้งก่อนๆ ที่จะจดจำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่เมืองก็ถูกกรุงเทพชี้นำเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น อนุสาวรีย์ “สามกษัตริย์” อันโด่งดัง  ในตอนเริ่มต้นโครงการนั้น อนุสาวรีย์นี้มีแค่รูปปั้นเดี่ยวของพญามังราย ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของเชียงใหม่และล้านนา  แต่เมื่อรัฐบาลกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐบาลสั่งเปลี่ยนอนุสาวรีย์แห่งนี้ให้เชื่อมโยงปฐมกษัตริย์ของเชียงใหม่กับสุโขทัยเข้าด้วยกัน เท่ากับเป็นการกดปรามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ฝังอยู่ในเส้นขีดจำกัดของความเป็นชาติ 7

ในทำนองเดียวกัน เส้นทางสู่ความเป็นมรดกโลกครั้งล่าสุดก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของการเล่นเอาเถิดเจ้าล่อระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบ  เรื่องราวเริ่มต้นในปี 2545 ด้วยการริเริ่มของเชียงแสน เวียงกุมกามและลำพูน กลุ่มโบราณสถานขนาดเล็กที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ล้านนา ซึ่งล้วนแล้วต้องการการอนุรักษ์ทะนุบำรุง อีกทั้งทุกแห่งมีศักยภาพสูงในการกระตุ้นการท่องเที่ยว 8  ในปี 2551 ลำพูนเริ่มผลักดันการขอขึ้นทะเบียนบัญชีมรดกโลก 9  ในปี 2553 นักวิชาการหลายคนเริ่มเตรียมการเพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้แก่เมืองเชียงใหม่ 10

The Three Kings Monument, Chiang Mai (Photo by Taylor Easum 2009)

พอถึงจุดนี้ การเมืองระดับชาติก็เข้ามาแทรกแซง  กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์การยูเนสโกหยุดชะงักลงในปลายปีนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งประทุขึ้นมาจากกรณีสถานะของเขาพระวิหาร วัดเขมรสมัยศตวรรษที่ 11 ซึ่งตั้งอยู่ตรงชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2551  หลังจากมีข้อพิพาทยืดเยื้อว่าด้วยการอ้างสิทธิ์เหนือตัวพระวิหารกับบริเวณโดยรอบ การประท้วงของกลุ่มชาตินิยมล้นเกินก็ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาจริงๆ ในปี 2554  และในเดือนมิถุนายน คณะผู้แทนไทยก็ประท้วงด้วยการถอนตัวจากองค์การยูเนสโก 11 การขับเคลื่อนเพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในภาคเหนือพลอยหยุดชะงักไปด้วย  กระทั่งเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีนั้นและยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เป็นนายกรัฐมนตรี  ความที่ยิ่งลักษณ์เองก็เป็นคนเมืองจากเชียงใหม่  โครงการต่างๆ จึงกลับมาเดินหน้าอย่างรวดเร็วอีกครั้ง 12

เนื่องจากการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเสียก่อน 13  โครงร่างของมรดกโลกในภาคเหนือจึงถูกรัฐส่วนกลางปั้นแต่งชี้นำอีกครั้งหนึ่ง  ในปี 2556 ข้าราชการบางคนเสนอให้ขอขึ้นทะเบียนเป็น “เมืองแฝด” โดยรวมเชียงใหม่เข้าไปอยู่ในโครงการของลำพูน  ตามความเห็นของนักวิชาการคนหนึ่ง การยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นชุดโดยรวมเชียงใหม่ เวียงกุมกาม ลำพูน ลำปางและเชียงแสน “จะเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมล้านนา รวมทั้งแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่แล้วและที่จะมีขึ้นในอนาคต  อีกทั้งโอกาสที่จะได้ขึ้นทะเบียนย่อมง่ายกว่าการเสนอชื่อเมืองเมืองเดียวเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม” 14  อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านความเห็นชอบระดับชาติได้ในที่สุด ก็มีการเสนอชื่อเมืองเชียงใหม่เพียงเมืองเดียวต่อองค์การยูเนสโก และ “อนุสาวรีย์ โบราณสถานและภูมิทัศน์เชิงวัฒนธรรมของเชียงใหม่ เมืองหลวงแห่งล้านนา” ก็ได้เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นของกระบวนการพิจารณามรดกโลกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558

เกิดอะไรขึ้น?  ถึงแม้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เชียงใหม่สามารถอาศัยการคุ้มครองและการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจากการเป็นเมืองมรดกโลก แต่สถานะแหล่งมรดกโลกก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับความสนใจและการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น  อันที่จริง เมืองเล็กกว่าอย่างลำพูนและเชียงแสนก็สามารถได้ประโยชน์จากทั้งการคุ้มครองและเงินตราต่างชาติจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน  แต่เห็นได้ชัดว่ามีข้อกังวลทางเศรษฐกิจอื่นๆ แทรกเข้ามามีบทบาท อาทิ ในหลายๆ ด้าน ลำพูนมีความสำคัญต่อรัฐในฐานะศูนย์กลางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมมากกว่า  โดยมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สองแห่งสร้างอยู่ใกล้กับเขตมรดกที่จะได้รับความคุ้มครองมาก รวมทั้งมีความพยายามจะขยายนิคมอุตสาหกรรมด้วย 15  อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลทางประวัติศาสตร์อื่นๆ อีกที่ทำให้เชียงใหม่มีบทบาทหลักในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ล้านนา

เมืองที่พัฒนาล้นเกินภายใต้ระบอบประชาธิปไตยด้อยพัฒนา

ปัญหาที่เมืองเชียงใหม่กำลังเผชิญเกิดมาจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาลและนโยบายผังเมืองที่อ่อนด้อยอย่างมาก  เชียงใหม่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ในภาคเหนือตรงที่รักษาความสัมพันธ์กับกรุงเทพอย่างแนบแน่นและบางครั้งก็มีปัญหา  หลังจากปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เมื่อกรุงเทพมองว่าเชียงใหม่เป็นชายแดนห่างไกลและกระทั่งอันตราย เมืองเชียงใหม่จึงถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นหัวเมืองหน้าด่านของรัฐสยามสมัยใหม่ โดยเอาต้นแบบส่วนหนึ่งมาจากอาณานิคมเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 16  ระบอบกษัตริย์ท้องถิ่นถูกลดบทบาทลงพร้อมกับกีดกันกดปรามอัตลักษณ์แบบลาวในภูมิภาคนี้  เชียงใหม่จึงกลายเป็นศูนย์กลางของทั้งอัตลักษณ์ “ไทยเหนือ” ยุคใหม่และการบริหารราชการของสยาม 17 ในบางแง่มุม ความสัมพันธ์นี้ยิ่งหยั่งรากลึกในยุคทักษิณและหลังจากนั้น  ทั้งเงินตราและผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่เมืองเชียงใหม่จากกรุงเทพและต่างชาติ  ท่ามกลางแรงกดดันเหล่านี้  ผู้เขียนขอเสนอว่า เราอาจมองการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นความพยายามหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาของการเป็นเมืองที่พัฒนาล้นเกินภายในบริบทของระบอบประชาธิปไตยด้อยพัฒนา

ลองพิจารณาคำตอบต่อไปนี้จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (หนึ่งในสองพิพิธภัณฑ์ที่กล่าวถึงข้างต้น)  เมื่อถูกตั้งคำถามว่าทำไมเชียงใหม่จึงยื่นขอสถานะแหล่งมรดกโลกในตอนนี้:

ก: ดิฉันคิดว่าเรื่องหนึ่งที่ชาวเชียงใหม่และกลุ่มขับเคลื่อนมองเห็นร่วมกันก็คือ เมืองของเรากำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในเชิงกายภาพ สังคมและเศรษฐกิจ  ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีทั้งที่เป็นข้อดีและก็มีหลายอย่างที่ไม่เหมาะสม  โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันเชื่อว่านี่คือเวลาที่ถูกต้องที่จะดำเนินการขอขึ้นทะเบียนด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน

ประการแรก ประชาชนชาวเชียงใหม่จะมีโอกาสถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ในการอนุรักษ์เมืองของเรา ประการที่สอง มันจะช่วยทำให้มุมมองของสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง  เกิดความรู้สึกว่าเราสามารถมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันคิดว่าสำคัญมาก  ในอดีตที่ผ่านมา เวลามีปัญหาอะไร ชาวบ้านชอบเรียกร้องให้หน่วยงานหรือองค์กรรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหานั้น  ตอนนี้เราได้เห็นผู้คนจำนวนมากและเครือข่ายต่างๆ ตั้งใจและเต็มใจหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง  พวกเขายอมสละเวลา เสนอความคิดเห็น ช่วยกันสนับสนุนในด้านต่างๆ และเรียกร้องความร่วมมือกับกลุ่มอื่นๆ  นั่นคือเหตุผลที่คิดว่านี่คือโอกาสเหมาะที่เราจะขับเคลื่อนโครงการนี้ 18 การไม่มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อปัญหา ทำให้ชุมชนต้องดำเนินการด้วยตนเอง  สำหรับเชียงใหม่ สถานะการเป็นแหล่งมรดกโลกนับเป็นหนทางที่เป็นไปได้หนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง

บทสรุป

ประวัติศาสตร์การขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในภาคเหนือสะท้อนให้เห็นคำถามสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อโฉมหน้าของอัตลักษณ์เชิงภูมิภาคในประเทศไทยยุคปี 2562  ประการแรก ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบมีลักษณะอย่างไรในปัจจุบัน?  การเห็นพ้องยอมรับจากกรุงเทพยังจำเป็นและมีอิทธิพลต่อการแสดงออกในด้านประวัติศาสตร์ของความเป็นภาคเหนือหรือล้านนานิยมต่อไป  การได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกอาจช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายในระดับท้องถิ่น  อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ข้าราชการอาจไม่แยแสการทำงานหนักของชุมชนท้องถิ่นและไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายในเชิงรูปธรรมที่จะเป็นผลตามมา แล้วเลือกที่จะมองการเป็นแหล่งมรดกโลกแค่หมุดหมายหนึ่งของการได้ “สถานะระดับโลก” เท่านั้น 19  ประการที่สอง “ภาคเหนือ” ครอบคลุมใครหรืออะไรบ้าง กล่าวสั้นๆ คือ ทำไมจึงเป็นเชียงใหม่ แต่ไม่ใช่เชียงแสนหรือลำพูน?  ในขณะที่รัฐไทยอนุมัติให้เชียงใหม่ได้รับการยกสถานะสู่เวทีโลกผ่านองค์การยูเนสโก  แหล่งโบราณสถานอื่นๆ ของล้านนาซึ่งควรได้รับความสนใจและอนุรักษ์ไว้กลับไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควรหรือกระทั่งเพิกเฉยละเลย

แน่นอน การขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกของจังหวัดเชียงใหม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นเสรีนิยม พร้อมกับมีแรงกดดันต่อชาวภาคเหนือให้แสดงความจงรักภักดีต่อรัฐและพระมหากษัตริย์รัชกาลใหม่  แม้ว่าประเทศไทยกลับมามีการเลือกตั้งที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นักในเดือนพฤษภาคม 2562  แต่การไม่มีตัวแทนของท้องถิ่นที่แท้จริง เช่น ผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง 20 การที่ท้องถิ่นจะได้ควบคุมอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยตัวเองจึงดูเป็นความหวังเลื่อนลอย  อย่างไรก็ตาม การอาศัยสถานะระดับสากลของการเป็นแหล่งมรดกโลกอาจเป็นโอกาสหนึ่งให้คนบางกลุ่มได้ท้าทายอดีตและปัจจุบันของรัฐไทยที่มีการรวมศูนย์ล้นเกิน ไม่ว่าการท้าทายนั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม

Talor Easum
Indiana State University

Read “แกะสลักปั้นหล่อความทรงจำและประวัติศาสตร์ในเมืองเหนือของประเทศไทย” in Kyoto Review of Southeast Asia, Issue 20, September 2016

Banner Image: Aerial view of sunset landscape ring road and traffic, Chiang Mai City,

Notes:

  1. “Monuments, Sites and Cultural Landscape of Chiang Mai, Capital of Lanna,” UNESCO World Heritage Centre, https://whc.unesco.org/en/tentativelists/6003/; Tus Werayutwattana, “Our Journey to Becoming a UNESCO World Heritage City,” Chiang Mai Citylife, March 1, 2019, https://www.chiangmaicitylife.com/citylife-articles/journey-becoming-unesco-world-heritage-city/.
  2. Lynn Meskell, “UNESCO’s World Heritage Convention at 40: Challenging the Economic and Political Order of International Heritage Conservation,” Current Anthropology 54, no. 4 (August 1, 2013): 483, https://doi.org/10.1086/671136.
  3. Victor T. King and Michael J.G. Parnwell, “World Heritage Sites and Domestic Tourism in Thailand: Social Change and Management Implications,” South East Asia Research 19, no. 3 (September 1, 2011): 381–420, https://doi.org/10.5367/sear.2011.0055; Maurizio Peleggi, The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia (Chiang Mai, Thailand: White Lotus Press, 2002).
  4. Marc Askew, “The Rise of ‘Moradok’ and the Decline of the ‘Yarn’: Heritage and Cultural Construction in Urban Thailand,” Sojourn: Journal of Social Issues in Southeast Asia 11, no. 2 (1996): 183–210.
  5. โปรดดูตัวอย่างเช่น อเนก เหล่าธรรมทัศน์และอัครเดช สุภัคกุล, ล้านนานิยม: เค้าโครงประวัติศาสตร์เพื่อความรักและภูมิใจในท้องถิ่น (สภาบันคลังปัญญาค้นหายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตไทย มหาวิทยาลัยรังสิต, 2014); สุนทร คำยอดและสมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์, “‘อุดมการณ์ล้านนานิยม’ ในวรรณกรรมของนักเขียนภาคเหนือ (Lannaism Ideology in Literature of Northern Thai Writers),” Journal of Liberal Arts, Maejo University 4, no. 2 (2016): 52–61.
  6. “Monuments, Sites and Cultural Landscape of Chiang Mai, Capital of Lanna,” UNESCO World Heritage Centre, https://whc.unesco.org/en/tentativelists/6003/.
  7. ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของรูปปั้นอนุสาวรีย์ในประวัติศาสตร์ โปรดอ่านบทความของผู้เขียน “Sculpting and Casting Memory and History in a Northern Thai City,” Kyoto Review of Southeast Asia, no. 20 (September 2016), https://kyotoreview.org/issue-20/casting-memory-northern-thai-city/.
  8. ยกตัวอย่างเช่น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารในจังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถเข้าไปอยู่ในบัญชีเบื้องต้นของมรดกโลกได้ในเวลาแค่ปีเดียวหลังจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี “Wat Phra Mahathat Woramahawihan, Nakhon Si Thammarat,” UNESCO World Heritage Centre, accessed November 15, 2019, https://whc.unesco.org/en/tentativelists/5752/.“Monuments, Sites and Cultural Landscape of Chiang Mai, Capital of Lanna,” UNESCO World Heritage Centre, https://whc.unesco.org/en/tentativelists/6003/.
  9. สัมภาษณ์ เพ็ญสุภา ภัคตะ, 12 กรกฎาคม 2562.
  10. สมโชติ อ๋องสกุล และ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน), เชียงใหม่ 60 รอบนักษัตร: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (Chiang Mai at the 60th anniversary of the zodiac cycle: its past, present and future), (เชียงใหม่, สำนักงานพัฒนาพิงคนคร, 2016, 333–41.
  11. “Thailand Withdraws From World Heritage Convention Over Temple Dispute,” VOA, https://www.voacambodia.com/a/thailand-withdraws-from-world-heritage-convention-in-temple-dispute-with-cambodia-124589479/1358343.html.
  12. ยกตัวอย่างเช่น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารในจังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถเข้าไปอยู่ในบัญชีเบื้องต้นของมรดกโลกได้ในเวลาแค่ปีเดียวหลังจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี “Wat Phra Mahathat Woramahawihan, Nakhon Si Thammarat.” UNESCO World Heritage Centre. https://whc.unesco.org/en/tentativelists/5752/.
  13. “Bureau of International Cooperation, Ministry of Education, Thailand,” สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, https://www.bic.moe.go.th/index.php.
  14. คำให้สัมภาษณ์ของเกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อ้างใน Jintana Panyaarvudh, “Chiang Mai Will Get Unesco World Heritage Listing ‘Only If Thailand Pushes for It,’” The Nation Thailand, March 1, 2015, https://www.nationthailand.com/national/30255138.
  15. Chatrudee Theparat, “Lamphun Asks Ministry for More Land to Expand Industrial Zone,” Bangkok Post, https://www.bangkokpost.com/business/1567622/lamphun-asks-ministry-for-more-land-to-expand-industrial-zone.
  16. Ronald Renard, “The Image of Chiang Mai: The Making of a Beautiful City,” Journal of the Siam Society 87, no. 1 (1999): 87–98.
  17. Taylor M. Easum, “Imagining the ‘Laos Mission’: On the Usage of ‘Lao’ in Northern Siam and Beyond,” The Journal of Lao Studies, Special Issue (2015): 6–23.
  18. ตัวเน้นเป็นของผู้เขียน บทสัมภาษณ์นางสุวารี วงศ์กองแก้ว ใน “Chiang Mai’s Best Opportunity to Become a World Heritage City,” Chiang Mai World Heritage Initiative Project, http://www.chiangmaiworldheritage.net/detail_show.php?id=69&lang=en.
  19. Marc Askew, “The Magic List of Global Status: UNESCO, World Heritage and the Agendas of States,” in Heritage and Globalisation, by Sophia Labadi and Colin Long (New York, NY: Routledge, 2010).
  20. “Why Can’t Thailand’s Provinces Elect Their Own Governors?,” The Isaan Record, May 1, 2018, https://isaanrecord.com/2018/05/01/why-cant-thailands-provinces-elect-their-own-governors/.
Exit mobile version