Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

ทำไมอินโดนีเซียถึงฆ่าเรา? การลอบสังหารนักกิจกรรม KNPB ในปาปัว

ในทัศนะของผู้สังเกตการณ์นานาชาติ หลังจากยุค reformasi (หรือยุคปฏิรูปภายหลังการโค่นล้มซูฮาร์โต) ของอินโดนีเซีย โลกมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าอินโดนีเซียเกิดใหม่กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก การแปะป้ายแบบเหมารวมเช่นนี้เท่ากับปัดกวาดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงไปซุกไว้ใต้พรม ในเดือนพฤศจิกายน 2001 เทอิส ฮิโย เอลวย (Theys Hiyo Eluay) ผู้นำชาวปาปัวถูกลักพาตัวหลังจากร่วมรับประทานอาหารเย็นอย่างเป็นทางการกับผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษของกองทัพอินโดนีเซียในเมืองจายาปุระ สองสามวันต่อมา มีผู้พบร่างของเขาในบริเวณใกล้เมืองจายาปุระ คณะสืบสวนที่ประธานาธิบดีเมกาวาตีตั้งขึ้นค้นพบหลักฐานว่ากองกำลังพิเศษ Kopassus ของฐานทัพอินโดนีเซียในเมืองจายาปุระเป็นผู้ลงมือในการฆาตกรรมครั้งนี้ ทหารสี่นายถูกตัดสินลงโทษจำคุกสามปีและสามปีครึ่ง ส่วนอาริสโตเตเลส มาโซกา (Aristoteles Masoka) คนขับรถของเอลวย ยังคงหายสาบสูญ ในขณะที่ผู้บัญชาการฮาร์โตโม (Hartomo) กลับได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้ไปคุมสำนักข่าวกรองยุทธศาสตร์ของกองทัพ (Strategic Intelligence Agency (BAIS) 1

ภูมิหลัง

ในเดือนมิถุนายน 2012 มูซา มาโก ตาบูนี (Musa Mako Tabuni) นักกิจกรรมหนุ่มชาวปาปัวถูกกลุ่มตำรวจนอกเครื่องแบบของเมืองจายาปุระยิงในบริเวณใกล้เมือง เขายังมีชีวิตอยู่ขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจเมืองจายาปุระ แต่พยานผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายยืนยันว่าเขาถูกทิ้งให้นอนอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งเสียชีวิต เนื่องจากตำรวจกีดกันไม่ให้แพทย์เข้ามาให้การรักษาอย่างเหมาะสม (International Crisis Group 2010: 7; Koalisi Masyarakat Sipil untuk Penegakan Hukum dan HAM 2012) กระนั้นก็ตาม ไม่มีการเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนทั้งสิ้น ตำรวจเชื่อว่าตาบูนีอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ยิงกันในเมืองจายาปุระที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันคนหนึ่งบาดเจ็บ

ไม่นานหลังจากนั้น ก่อนหน้าการเยือนปาปัวของประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโนในปี 2014 ร่างของมาร์ตินุส โยฮาเม (Martinus Yohame) ผู้นำหนุ่มชาวปาปัวของขบวนการ Komite Nasional Papua Barat (KNPB/ the National Committee of West Papua) ถูกพบลอยอยู่นอกฝั่งเมืองซอรอง (Sorong) ร่างของเขาถูกมัดแขนมัดขายัดลงกระสอบข้าวพลาสติกและถ่วงหินก้อนใหญ่เพื่อให้จมน้ำ ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งจัดแถลงข่าวแสดงความคิดเห็นคัดค้านการมาเยือนของประธานาธิบดี ขบวนการ KNBP เชื่อว่าหน่วยงานความมั่นคงของรัฐคือตัวการของเหตุฆาตกรรมครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอินโดนีเซีย (Komnas HAM) จึงยืนกรานว่าตำรวจต้องสอบสวนคดีนี้ กระนั้นก็ตาม การสอบสวนไปไม่ถึงไหน เนื่องจากครอบครัวของเหยื่อไม่ยอมให้มีการผ่าชันสูตรศพ 2 Komnas HAM จึงไม่สามารถรวบรวมหลักฐานได้

The funeral of Musa Mako Tabuni in June 16, 2012 in Wamena, West Papua. Photo: Watikamvoice

เราควรตั้งข้อสังเกตว่า คดีเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยระบอบอำนาจนิยมของซูฮาร์โต (1967-1998) แต่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย การสังหารคือตัวอย่างที่ชี้ชัดถึงวิธีการที่กลไกรัฐอินโดนีเซียควบคุมชีวิตและความตายของพลเมืองที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปัตย์ เหยื่อถูกติดป้ายฉลากว่าเป็นศัตรูของรัฐอินโดนีเซีย พวกเขาจึงสมควรถูกกำจัดด้วยวิธีการโหดเหี้ยม เอลวย ตาบูนีและโยฮาเมมีอุดมการณ์อย่างหนึ่งร่วมกัน นั่นคือ ความยุติธรรมและเสรีภาพ ในระบอบประชาธิปไตยที่ควรยึดมั่นในหลักนิติรัฐ สิ่งที่นักกิจกรรมเหล่านี้ต้องเผชิญกลับเป็นสิ่งที่ Achille Mbembe (2003) เรียกว่า “การเมืองของความตาย” (necropolitics) กล่าวคือ การเมืองที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐสมอ้างว่าตนมีอำนาจควบคุมและมีสิทธิสูงสุดในการกำหนดความตายและชีวิตของพลเมืองใต้อาณัติ

ถึงแม้ประวัติศาสตร์นิพนธ์อินโดนีเซียมีเรื่องราวของการสังหารทางการเมืองมายาวนาน เช่น การสังหารหมู่ปี 1965 (Cribb 2001; Gerlach 2010; Roosa 2006) แต่ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะเน้นเฉพาะการฆ่าผู้นำบางคนของ KNBP เท่านั้น การเลือกเฉพาะบางรายเช่นนี้ไม่ได้มุ่งหมายที่จะลดทอนคุณค่าของนักกิจกรรม KNBP คนอื่นอีกประมาณ 40 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐอินโดนีเซียสังหารในช่วงแปดปีที่ผ่านมา 3 ตรงกันข้าม ผู้เขียนต้องการทบทวนปฏิบัติการเป้าสังหารที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐอินโดนีเซียนำมาใช้กับผู้นำหนุ่มสาวชาวปาปัวบางคนเพื่อไขปัญหาที่คนหนุ่มสาวชาวปาปัวตั้งคำถามว่า “Mengapa Indonesia bunuh kami terus?” (ทำไมอินโดนีเซียถึงยังฆ่าเรา?)

Komite Nasional Papua Barat คืออะไร?

KNPB ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2008 ในเขตเซนตานี เมืองจายาปุระ ผู้ร่วมก่อตั้งประกอบด้วยองค์กรและนักกิจกรรมชาวปาปัวหลากหลายสาขา 4 KNPB เติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะองค์กรจัดตั้งของคนหนุ่มสาวชาวปาปัวและรณรงค์อย่างเปิดเผยเพื่อให้มีการลงประชามติ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการลงประชามติครั้งแรกหรือที่เรียกกันว่า ‘Act of Free Choice’ ในปี 1969 เป็นประชามติที่มีข้อบกพร่อง ทัศนะของพวกเขาก็เช่นเดียวกับความเห็นอิสระของนักประวัติศาสตร์อีกหลายคน (โปรดดู Drooglever 2009; Saltford 2003) ที่มองว่า การลงประชามติ ‘Act of Free Choice’ คือการกรุยทางให้รัฐอินโดนีเซียเข้ามายึดครองและกดขี่ชาวปาปัว จากจุดยืนเช่นนี้ KNPB จึงไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า แนวคิดของการสานเสวนากับจาการ์ตาตามที่ Indonesian Institute of Sciences (LIPI) และ Papua Peace Network สนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2009 จะเป็นสื่อกลางที่มีประสิทธิภาพในการจัดการแก้ไขความยุติธรรมทางประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมามีบางครั้งที่ KNPB พยายามขัดขวางการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ Papua Peace Network จัดขึ้น 5

ในการรณรงค์ช่วงแรกๆ ของ KNPB ในปี 2012 นักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางคน รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ชั้นนำชาวปาปัว ต่างก็ถูก KNPB ข่มขู่ 6 ผู้ประสานงานของ Alliance of Journalists (AJI) ของปาปัวเองก็แสดงความรู้สึกผิดหวังที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

Photos of the KNPB rally in Jayapura, May 2, 2016. Images courtesy of KNPB

เนื่องจากมีภูมิหลังเช่นนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่คนจำนวนมากรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สังเกตการณ์นานาชาติ เช่น International Crisis Group มองว่า KNPB มีลักษณะ “ก้าวร้าวใช้กำลัง” (2010: 1) ยิ่งกว่านั้น กลุ่มมันสมองในบรัสเซลส์ยังชี้นำด้วยว่า “กลุ่มนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความวุ่นวายบางเหตุการณ์ทั้งในและรอบๆ เมืองจายาปุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัด รวมทั้งเหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งปี 2009” (2010: 1) แต่รายงานนี้ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ สนับสนุนคำกล่าวหาแบบตีขลุม ในคำตอบโต้ที่ผู้เขียนมีต่อรายงาน ICG ผู้เขียนอธิบายว่าคำบรรยายเช่นนั้นชวนให้เข้าใจผิดและไม่มีหลักฐานเพียงพอ (Hernawan 2010) “พวกเขาไม่เคยมาพบเราเลย” ประธาน KNPB ยืนยัน 7

ระหว่างการเลือกตั้งระดับชาติของอินโดนีเซียในปี 2014 กลุ่ม KNPB จัดการรณรงค์ครั้งใหญ่ตามเมืองใหญ่ๆ ในปาปัวเพื่อเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้ง 8 ถึงแม้การเรียกร้องไม่ได้ผลเพราะชาวปาปัวส่วนใหญ่เข้าคูหาและลงคะแนนเสียงให้โจโก วิโดโดเป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย แต่การเรียกร้องเช่นนี้ท้าทายต่อการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งถือเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยอินโดนีเซีย มันยังเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า KNPB ไม่ยอมเข้าร่วมในระบบการเมืองของอินโดนีเซียด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา KNPB แปรโฉมตัวเองใหม่ มันไม่ได้นำเสนอตัวเองในฐานะกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวปาปัวที่ชอบเอะอะโวยวายบนท้องถนน แต่กลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรการเมืองที่สำคัญที่สุดในปาปัวยุคปัจจุบัน นั่นคือ ขบวนการ United Liberation Movement for West Papua (ULMWP) ภายใต้คำประกาศเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชที่เรียกว่า Saralana Declaration 9 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2014 (Hernawan 2016) องค์กรนี้ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในกลุ่ม Melanesian Spearhead Group ซึ่งเป็นที่ประชุมกึ่งการทูตในทะเลแปซิฟิกใต้ระหว่างการประชุมสุดยอดเมื่อปี 2015 ในเมืองโฮนีอารา หมู่เกาะโซโลมอน (Hernawan 2015)

A gallery image from the UMLWP website: https://www.ulmwp.org/ 

ทำไมอินโดนีเซียถึงฆ่าเรา?

ถึงแม้ KNPB ไม่ใช่กลุ่มติดอาวุธหรือใช้วิธีการรุนแรง แต่ปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐเกินกว่าเหตุมาก เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังที่กล่าวถึงข้างต้น เราควรตั้งคำถามว่าผู้นำเหล่านี้สมควรแก่การตายอย่างโหดเหี้ยมทารุณขนาดนั้นหรือเปล่า? หรือกฎหมายถูกระงับใช้ชั่วคราวเมื่อเป็นคดีของคนที่ถูกจัดว่าเป็นศัตรูของรัฐ?

การฆ่ามาโก ตาบูนีแตกต่างจากการฆ่ามาร์ตินุส โยฮาเม ซึ่งเป็นประธาน KNPB สาขาซอรอง ตาบูนีถูกยิงในที่สาธารณะ ส่วนโยฮาเมถูกฆ่าในที่ลับ มีผู้พบร่างเขายัดกระสอบลอยกลางทะเล ในขณะที่คนแรกถูกตำรวจอินโดนีเซียสังหารอย่างเปิดเผย ผู้ลงมือฆ่ารายหลังยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ในขณะที่การฆ่าตาบูนีสะท้อนถึงความโหดเหี้ยมของรัฐอย่างโจ่งแจ้งครึกโครม ร่างของโยฮาเมถูกถ่วงทิ้งให้หายสาบสูญ

อย่างไรก็ตาม ในทั้งสองกรณี เราสังเกตเห็นว่ากฎหมายหยุดทำงาน กฎหมายไร้พลังอำนาจที่จะทะลวงผ่านอำนาจของ “การเมืองของความตาย” ที่แผ่ความตายออกไป ถ้าเราเปรียบเทียบกรณีของตาบูนีและโยฮาเมกับกรณีของมูนีร์และเอลวย เราจะค้นพบคุณสมบัติร่วมกัน ซากร่างที่ยับเยินของพวกเขาคือสื่อเพื่อส่งสารของอำนาจอธิปัตย์แก่ผู้ชมในวงกว้าง ดังนั้น การฆ่าจึงไม่ใช่จุดมุ่งหมายในตัวมันเอง ตรงกันข้าม มันถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบเพื่อแพร่สารแห่งความกลัวแก่ชุมชนที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งก็คือชาวปาปัวนั่นเอง

เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ตรงกันข้ามกับการคาดทำนายของ Mbembe กลุ่ม KNPB และองค์กรของชาวปาปัวกลับไม่ยอมจำนนต่ออำนาจกดขี่ของรัฐอินโดนีเซีย พวกเขาแปรเปลี่ยนร่างที่ยับเยินของตนให้กลายเป็นสื่อเพื่อส่งสารแห่งการต่อต้านดังที่ปรากฏในคำไว้อาลัยของ KNPB ที่มีต่อโยฮาเมว่า

“สวัสดีเจ้าอาณานิคมอินโดนีเซีย
ท่านสามารถสังหารร่างกายของข้า แต่ดวงวิญญาณและจิตใจของข้าดำรงอยู่ในนิรันดร์กาล
มันจักจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวปาปัวตลอดไป” 10

Budi Hernawan
(Lecturer at Paramadina Graduate School of Diplomacy; Research Fellow at Abdurrahman Wahid Centre for Interfaith Dialogue and Peace, University of Indonesia)

REFERENCES

Cribb, R. 2001, ‘Genocide in Indonesia, 1965–1966’, Journal of Genocide Research, vol. 3, no. 2, pp. 219-39.
Drooglever, P. 2009, An Act of Free Choice, Decolonization and the Right to Self-Determination in West Papua, One Word, Oxford.
Gerlach, C. 2010, Extreme Violent Societies: Mass Violence in the Twentieth-Century World, Cambridge University Press, Cambridge.
Hernawan, B. 2010, ‘Portraying a Threat to a Reluctant Government’, Australia Policy Online, <http://www.apo.org.au/commentary/portraying-threat-reluctant-government>.
—— 2015, ‘Contesting Melanesia: The summit and dialogue’, The Jakarta Post, <http://www.thejakartapost.com/news/2015/07/08/contesting-melanesia-the-summit-and-dialogue.html>.
—— 2016, ‘ULMWP and the insurgent Papua’, Live Encounter, 1 November 2016.
International Crisis Group 2010, Radicalisation and Dialogue in Papua, International Crisis Group, Brussels.
Koalisi Masyarakat Sipil untuk Penegakan Hukum dan HAM 2012, Laporan Investigasi: Pembunuhan Kilat Musa Mako Tabuni Tanggal 14 Juni 2012 di Waena, Jayapura, Papua, Koalisi Masyarakat Sipil untuk Penegakan Hukum dan HAM, Jayapura.
Mbembe, A. 2003, ‘Necropolitics’, Public Culture, vol. 15, no. 1, pp. 11-40.
Roosa, J. 2006, Pretext for Mass Murder: The September 30th Movement and Suharto’s Coup d’État in Indonesia, The University of Wisconsin Press, Wisconsin.
Saltford, J. 2003, The United Nations and the Indonesian Takeover of West Papua, 1962-1969, The Anatomy of Betrayal, First edn, RoutledgeCurzon, London & New York.

Notes:

  1. http://www.thejakartapost.com/news/2016/09/24/activists-question-hartomo-s-promotion.html (accessed on 13 December 2016).
  2. http://www.cenderawasihpos.com/index.php?mib=berita.detail&id=7181 (accessed on 13 December 2016)
  3. สัมภาษณ์ประธาน KNPB ในจาการ์ตาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2016
  4. โปรดดู “KNPB Dari Mana Sedang ke Mana” in KNPB News, Vol. 3. (II), Edition of June-August 2016, p. 34.
  5. สัมภาษณ์นักวิเคราะห์ชาวปาปัวในเมืองจายาปุระเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2012
  6. http://sp.beritasatu.com/home/jurnalis-papua-kecewa-dengan-intimidasi-knpb/18380 (accessed on 13 December 2016)
  7. สัมภาษณ์ประธาน KNPB ในจาการ์ตาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2016
  8. http://tabloidjubi.com/16/2014/03/21/knpb-serukan-boikot-pemilu-2014/ (accessed on 13 December 2016)
  9. โปรดดู https://www.ulmwp.org/wp-content/uploads/2014/08/Saralana-Declaration_with-Witnesses.pdf (accessed on 13 December 2016).
  10. http://suarakolaitaga.blogspot.co.id/2014/08/ketua-knpb-sorong-martinus-yohame-di.html (accessed on 13 December 2016).
Exit mobile version