Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

จุดจบของธุรกิจเสรี? การควบคุมเศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราวในสิงคโปร์และประเทศไทยยุคหลังโควิด-19

เศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราว (Gig Economy) เฟื่องฟูไปทั่วโลกนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  การที่ผู้บริโภคต้องพึ่งพาอาศัยบริการส่งตามสั่ง (on-demand delivery) เพิ่มมากขึ้น และการที่ประชาชนหลายล้านคนหันเหมาทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานกับธุรกิจแพลตฟอร์มหลังจากมีมาตรการปิดพื้นที่ (ล็อคดาวน์) และสั่งหยุดการทำงานของภาคธุรกิจ ทำให้การทำงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราวกลายเป็นหัวใจสำคัญของครัวเรือนและระบบเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคนี้ยิ่งกว่าเดิม

จากการที่กลุ่มเทคโนแครตและกลุ่มการเมืองมีความกังวลมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มแรงงานก็เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงานมากขึ้น นักวางนโยบายทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ต่างก็ถูกบีบให้ปรับแก้แนววิธีปฏิบัติเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินตามแนวทาง “ไม่แทรกแซง” หรือธุรกิจเสรี (laissez-faire) อันเป็นแนวทางที่พวกเขาใช้จัดการต่อภาคส่วนเศรษฐกิจนี้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา   ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ดำเนินตามแนวทางนี้เช่นกัน  พร้อมกันนั้นรัฐบาลในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบอบเผด็จการและระบอบกึ่งทหาร ต่างก็พยายามหาวิธีที่จะรับมือกับสภาวะไม่มั่นคงของไรเดอร์และไดรเวอร์ในเศรษฐกิจภาคส่วนนี้  การพิจารณาเส้นทางและทางเลือกต่างๆ ของแนววิธีปฏิรูปในประเทศไทยและสิงคโปร์ จะช่วยเผยให้เห็นกลไก ขีดจำกัด และความเสี่ยงของนโยบาย  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กำกับดูแลต่างๆ ในระบอบที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและระบอบกึ่งเผด็จการทหาร 1

แรงงานที่ถูกกีดกันและขาดไร้การกำกับดูแล

ท่าทีของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อความตึงเครียดในเศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราวถูกกำหนดจากความสามารถที่มีจำกัดของแรงงานในการรวมตัวจัดตั้งและกดดันผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองและนโยบาย  ทั้งในประเทศไทยและสิงคโปร์ เช่นเดียวกับในบริบทอื่นๆ ทั่วโลก ไรเดอร์และไดรเวอร์ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้แรงงานที่ก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ต้องเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายเท่านั้น  เนื่องจากกฎหมายแรงงานในบริบทของทั้งสองประเทศนี้ยังคงนิยามงานสัญญาจ้างชั่วคราวว่าอยู่นอกเหนือจากความสัมพันธ์ของการจ้างงานแบบดั้งเดิม  ไรเดอร์และไดรเวอร์จึงหันไปหาการก่อตั้งองค์กรและเครือข่ายแบบแรงงานนอกระบบเพื่อจัดตั้งรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน  การขาดไร้โครงสร้างกฎหมายในระบบที่แย่อยู่แล้ว ยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยบริบทของระบอบการปกครองที่มีลักษณะกึ่งเผด็จการในทั้งสองประเทศ ทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองที่จะเป็นปากเสียงแก่แรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวถูกกีดกันออกจากรัฐบาลผสมตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ในขณะที่แรงงานอ่อนแอจนแทบไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อผู้มีอำนาจในการวางนโยบาย  บริษัทแพลตฟอร์มกลับมีอิทธิพลเหนือการกำกับดูแลภาคส่วนนี้อย่างไม่ได้สัดส่วนกันในบริบทของทั้งสองประเทศ  ด้วยความคับข้องใจต่อการถูกกีดกันละเลย แรงงานจึงเริ่มระดมมวลชนเพื่อกดดันชนชั้นปกครอง เรียกร้องให้มีการปฏิรูปและแทรกแซงเศรษฐกิจภาคส่วนดังกล่าว  แรงงานมักประสานกันผ่านกลุ่มทางออนไลน์  ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขบวนการเหล่านี้ค่อยๆ วิวัฒนาการจากกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลกันกลายเป็นปฏิบัติการเชิงหมู่คณะที่มีเป้าหมายเพื่อบีบให้บริษัทยอมตามข้อเรียกร้อง และเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงก็ดังขึ้นเรื่อยๆ  ในทั้งสองประเทศ ความกดดันเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าด้านนโยบายอยู่บ้าง  กระนั้นก็ตาม การแทรกแซงก็สะท้อนให้เห็นอำนาจครอบงำทางการเมืองของชนชั้นนำด้านธุรกิจและบริษัทต่างๆ  เน้นให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นถึงขีดจำกัดของการปฏิรูปในระบอบกึ่งเผด็จการ ซึ่งความสัมพันธ์ที่รัฐกับภาคธุรกิจสมคบคิดกันมีพลวัตฝังลึก

แนวทางส่งเสริมการแข่งขันของประเทศไทยยิ่งกระตุ้นการระดมมวลชนแรงงาน

ระบอบกึ่งทหารที่ปกครองประเทศไทยเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 มีแนวทางหลักในการปฏิบัติต่อระบบทุนนิยมแพลตฟอร์มในเชิงส่งเสริมการแข่งขันและเน้นนวัตกรรม  ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเห็นการขยายตัวเฟื่องฟูในภาคธุรกิจแพลตฟอร์มทั้งระดับภูมิภาคและท้องถิ่น  โดยเฉพาะธุรกิจแอพพลิเคชั่นส่งอาหารมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว  ภาคส่วนนี้มีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2564  สะท้อนถึงการที่ผู้บริโภคพึ่งพาอาศัยการส่งอาหารเพิ่มมากขึ้นทั้งระหว่างและนับแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 2  เมื่อยักษ์ใหญ่ประจำภูมิภาคอย่าง Grab และ GoJek พยายามขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยได้รับการหนุนหลังจากทุนเก็งกำไรระดับโลก  บริษัทแพลตฟอร์มของท้องถิ่นก็เกิดขึ้นเช่นกัน อาทิ RobinHood ซึ่งได้รับการอุดหนุนด้านการเงินส่วนหนึ่งจากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์

The launch of GOJEK in Thailand, presided over by ndonesian Minister of Communication and Informatics, Mr. Rudiantara, and the Indonesian Ambassador. Photo credit: Indonesian Embassy in Bangkok.

การแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นในเศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราวของไทย โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา ยิ่งทำให้โครงข่ายรองรับทางสังคมของแรงงานในภาคส่วนนี้มีความมั่นคงน้อยลงไปกว่าเดิมทั้งที่น้อยอยู่แล้ว 3  ก่อนปี 2563 ตลาดภาคส่วนนี้มี Grab เป็นเจ้าตลาดรายใหญ่  Grab เสนอความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ อาทิ  ประกันภัยอุบัติเหตุ ให้แก่แรงงานภายในประเทศไทยดังเช่นที่ปฏิบัติในตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคนี้  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขาดไร้การกำกับดูแลตามกฎหมายที่จะบังคับให้บริษัทแพลตฟอร์มจัดหาโครงข่ายรองรับทางสังคมแบบนี้แก่แรงงาน เมื่อบริษัทแพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาในตลาดช่วงไม่กี่ปีหลัง จึงส่งผลให้บริษัทหน้าใหม่เริ่มใช้การคุ้มครองอุบัติเหตุขั้นพื้นฐานมาจูงใจให้ไรเดอร์และไดรเวอร์ทำงานให้กับแพลตฟอร์มของตนเพียงเจ้าเดียว  ไรเดอร์คนหนึ่งที่กลายเป็นนักเคลื่อนไหว ซึ่งผู้เขียนได้สัมภาษณ์ในเดือนมิถุนายน 2565 เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ตั้งแต่ปี 2562 โดยบรรยายคร่าวๆ ให้เห็นว่า เขาเคยจำเป็นต้องส่งสินค้าให้ครบ 300 ครั้ง นั่นคือ ประมาณ 10 งานหรือต้องทำงานประมาณ 5 ชั่วโมงทุกวันในแต่ละเดือน ให้แก่แอพเพียงแอพเดียวเพื่อให้ได้ความคุ้มครองอุบัติเหตุจากแพลตฟอร์มดังกล่าว

“เราต้องคอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามเงินจูงใจของแอพต่างๆ พร้อมกันนั้นก็ต้องจัดสรรให้แน่ใจว่า เรารับงานกับแอพหนึ่งมากเพียงพอที่จะได้ประกันคุ้มครองอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปถ้าไม่สามารถทำงานเพราะบาดเจ็บ  โดยพื้นฐานแล้วมันคือเกมแบบหนังมิชชั่นอิมพอสสิเบิ้ล  แต่นี่มันไม่ใช่เกม – มันคือชีวิตของเรา!”

ในสภาพแวดล้อมที่การก่อตั้งสหภาพแรงงานในระบบยังมีข้อจำกัดทางกฎหมาย  อีกทั้งชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมและสถาบันกษัตริย์ลงทุนโดยตรงในเศรษฐกิจภาคส่วนนี้  แรงงานต้องหาทางดิ้นรนเพื่อส่งเสียงไปถึงหูของผู้มีอำนาจวางนโยบาย  ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ได้รับแต่งตั้งจากกองทัพเรียกประชุมบริษัทแพลตฟอร์มใหญ่ทั้งหมด เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์สำหรับภาคส่วนนี้ในช่วงโรคระบาด  แต่ตามคำให้สัมภาษณ์ของแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวในเดือนกรกฎาคม 2565 สมาคมไรเดอร์และผู้ขับรถรับจ้างแพลตฟอร์มถูกกีดกันจากการประชุมดังกล่าว  รัฐมนตรีแรงงานกลับโยนประเด็นความพยายามที่จะรวมตัวเรียกร้องด้านนโยบายของแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวไปที่แผนกของกระทรวงที่ดูแลภาคส่วนเศรษฐกิจนอกระบบแทน

เมื่อไม่มีการปรึกษาหารือกับองค์กรแรงงาน ก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้มีอำนาจวางนโยบายของไทยจะใช้แนววิธีไม่แทรกแซงทั้งต่อระบบอัลกอริทึมที่ขูดรีดและสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง  มิหนำซ้ำ ผู้มีอำนาจวางนโยบายมักมีแนวโน้มที่จะมองว่า งานสัญญาจ้างชั่วคราวเป็นทางเลือกที่เป็นนวัตกรรมใหม่ทางการตลาด สำหรับทดแทนให้แรงงานที่ถูกลอยแพในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และระบบทุนนิยมแพลตฟอร์มถือเป็นการสร้างความทันสมัยโดยรวมแก่ภาคส่วนเศรษฐกิจร้านอาหาร ที่พักและบริการขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ  แทนที่จะเข้าไปมีบทบาทกำกับการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดนี้ ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา กระทรวงต่างๆ ของไทยกลับตอบสนองต่อคำร้องทุกข์ของแรงงานโดยส่งเสริมการแข่งขันในภาคส่วนนี้ และกระตุ้นให้บริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ (สมัครใจ) จัดสรรโครงข่ายรองรับทางสังคมแก่แรงงานกันเอง เช่น ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น 4

ด้วยความคับข้องใจที่รัฐบาลไม่เต็มใจรับฟังหรือปฏิบัติตามข้อเรียกร้องให้มีการกำกับดูแล องค์กรของแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวจึงเริ่มก่อตั้งขึ้นทั้งในโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์  มีบางองค์กรสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยที่เคลื่อนไหวในวงกว้างด้วย 5  นโยบายที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า ในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 สะท้อนให้เห็นบทบาทที่มีมากเป็นพิเศษของแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวในฐานเสียงของพรรค  พรรคก้าวไกลได้จำนวนที่นั่งในรัฐสภามากที่สุด  แต่อย่างน้อยในตอนนี้กลับถูกบีบให้เป็นฝ่ายค้านด้วยฝีมือของรัฐบาล “ผีดิบ” ที่เป็นการผนึกกำลังกันของฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันประกอบด้วยกองทัพและชนชั้นนำภาคธุรกิจ โดยร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยที่ออกตัวว่าเป็นสายปฏิรูป 6  เราต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลใหม่ของประเทศไทยจะตอบรับหรือนำนโยบายเกี่ยวกับงานสัญญาจ้างชั่วคราวของพรรคก้าวไกลมาผลักดันในแบบของตนหรือไม่  ถ้าการถูกสกัดทางการเมืองของพรรคก้าวไกลส่งผลให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงน้อยเกินไปในภาคแรงงานนอกระบบและแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราว  ก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เสียงเรียกร้องให้รื้อทำลายระบอบกึ่งเผด็จการของประเทศไทยจะยิ่งเข้มข้นขึ้นในอนาคตที่จะมาถึง 7

สิงคโปร์กับการตอบสนองแบบเทคโนแครตต่อผลการเลือกตั้งอันน่าตระหนก

เช่นเดียวกัน รัฐบาลพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party–PAP) ของสิงคโปร์ใช้แนวปฏิบัติแบบธุรกิจเสรีต่อระบบทุนนิยมแพลตฟอร์มมาตลอดทศวรรษแรกนับแต่ระบบนี้เกิดขึ้น  นอกเหนือจากกำหนดให้แอพของแพลตฟอร์มต้องไม่กีดกันรถแท็กซี่ดั้งเดิมจากตัวเลือกในการจองแล้ว (ซึ่งเท่ากับส่งเสริมให้ภาคส่วนการจ้างรถเอกชนทั้งหมดตกอยู่ภายใต้แพลตฟอร์ม) ผู้มีอำนาจวางนโยบายก็อิดเอื้อนที่จะเข้าแทรกแซงเมื่อมีข้อพิพาทระหว่างแรงงานกับบริษัท  ในขณะเดียวกัน บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของก็ให้การสนับสนุนโดยตรงต่อการขยายตัวของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Grab ไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเงินลงทุนก่อตั้งในปี 2014 8  บริบทด้านการปกครองและการลงทุนที่เอื้ออำนวยเช่นนี้ช่วยให้แอพต่างๆ ของบริษัทแพลตฟอร์มขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะ Grab และต่อมาก็คือ GoJek ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของอินโดนีเซีย

Grab Holdings Inc. is a Singapore-based Malaysian multinational technology company. Developer of a super-app for ride-hailing, food delivery and digital payments services on mobile devices that operates in Singapore, Malaysia, Cambodia, Indonesia, Myanmar, the Philippines, Thailand and Vietnam.

อย่างไรก็ตาม เมื่อโรคระบาดเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2020  เห็นได้ชัดว่าสถานะการจ้างงานที่คลุมเครือของแรงงาน “ส่งตามสั่ง” และโครงข่ายรองรับทางสังคมที่บริษัทจัดสรรให้อย่างไม่เพียงพอนั้น กระตุ้นให้เกิดการระดมมวลชนขึ้นมาในหมู่แรงงานชาวสิงคโปร์ที่รู้สึกคับข้องใจ  ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างเกิดโรคระบาดโควิด-19 ช่วงต้นปี 2020 สิงคโปร์ใช้มาตรการที่เรียกว่า “การตัดวงจร” (Circuit Breaker) มีการประกาศแพ็คเกจความช่วยเหลือจากรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมมูลค่า 77 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อกระจายให้แก่แรงงานที่มีรายได้ผ่านแอพของแพลตฟอร์ม เช่น Grab, GoJek และ FoodPanda  มาตรการนี้สะท้อนให้เห็นแนวปฏิบัติของการไม่แทรกแซงที่รัฐบาลและแผนการนี้ยึดมั่น  เงินกองทุนนี้จึงแจกจ่ายผ่านบริษัทแพลตฟอร์มเองแทนที่จะผ่านสถาบันของรัฐ  แต่มีเสียงโวยวายตามมา เมื่อฝ่ายบริหารของ Grab พยายามใช้การแจกจ่ายเงินกองทุนนี้เพื่อให้รางวัลเฉพาะไดรเวอร์ที่ภักดีต่อบริษัทที่สุดเท่านั้น พร้อมกันนั้นก็ค่อยๆ ทยอยเลิกโครงการเงินรางวัลจูงใจที่มีอยู่เดิม  กลุ่มไดรเวอร์ที่โกรธเกรี้ยวตอบโต้ด้วยการระดมมวลชนชนิดที่น้อยครั้งจะพบเจอในสิงคโปร์  พวกเขากล่าวหาว่า Grab จัดการกองทุนบรรเทาทุกข์ในช่วงโรคระบาดโดยกีดกันแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวบางส่วนออกไปเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท 9  ลงท้ายบริษัทต้องยกเลิกแนวปฏิบัติในการกระจายกองทุนที่คิดไว้ตอนแรก  ไม่กี่เดือนต่อมา ในเดือนกรกฎาคม 2020 พรรคกิจประชาชนก็สูญเสียที่นั่งในรัฐสภาจำนวนไม่น้อยในการเลือกตั้งระดับชาติให้แก่พรรคแรงงาน (Workers Party) ซึ่งหาเสียงด้วยนโยบายสนับสนุนให้นำมาตรการค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้ในระดับชาติ และจะครอบคลุมถึงแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวด้วย

พรรคกิจประชาชน ซึ่งมีแนวทางสนับสนุนตลาดเสรี ปกครองประเทศนี้มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากมาเลเซียในปี 1965 โดยได้ฐานเสียงมาจากนโยบายที่รัฐเข้าแทรกแซงการจัดสรรด้านเคหะแก่ผู้ลงคะแนนเสียงเกือบทั้งหมด รวมทั้งการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่เอียงข้างรัฐบาลอย่างมาก 10  กระนั้นก็ตาม เพื่อตอบสนองต่อความไม่พอใจของแรงงานและการที่พรรคแรงงานได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งปี 2020 มากเกินคาด  หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลสิงคโปร์เริ่มวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลภาคส่วนเศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราว  ในเดือนสิงหาคม 2021 ในพิธีกล่าวสุนทรพจน์วันชาติของนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อเสนอที่จะปรับสภาพการทำงานของแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวให้ “เหมือนลูกจ้าง”  และมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาขึ้นมาชุดหนึ่งเมื่อกลางปี 2022 พร้อมกับข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปหลายประการ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ตอบรับในเชิงหลักการทั้งหมด

แทนที่จะตอบสนองโดยตรงต่อข้อเรียกร้องของแรงงาน ข้อเสนอการปฏิรูปจากรัฐบาลกลับสะท้อนถึงความกังวลแบบเทคโนแครตมากกว่า นั่นคือความวิตกว่า แรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวอาจตกหล่มในรอยปริแยกของสังคมต้นแบบของสิงคโปร์ และกลายเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นในอนาคตสำหรับรัฐบาล  ข้อเสนอการปฏิรูปจึงตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว นั่นคือ แรงงานต้องสมทบเงินแก่กองทุนเงินออมด้านการรักษาพยาบาลส่วนบุคคล  นับแต่เกิดโรคระบาด การแทรกแซงที่เป็นธงหลักของรัฐบาลต่อภาคส่วนนี้จึงเน้นไปที่สองประเด็นเป็นหลัก นั่นคือ ประกันอุบัติเหตุ และเงินออมเพื่อวัยเกษียณ

Singapore food panda delivery rider checking his watch. Singaporestockphoto, Unsplash

ในปี 2023 บริษัทแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ได้รับคำสั่งให้จัดสรรประกันอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยชดเชยรายได้แก่แรงงานในกรณีที่พวกเขาได้รับอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงาน  ประเด็นสำคัญคือ เงินชดเชยที่จ่ายให้ในกรณีอุบัติเหตุจะต้องเท่ากับรายได้ที่แรงงานได้รับก่อนหน้านี้จากทุกแอพแพลตฟอร์มรวมกัน (ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มที่พวกเขากำลังทำงานให้ขณะเกิดอุบัติเหตุ)  เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่มักรับงานจากแพลตฟอร์มสองสามแห่ง ขึ้นอยู่กับค่าธรรมพิเศษและเงินจูงใจอื่นๆ  การปฏิรูปเช่นนี้จึงส่งเสริมตลาดพร้อมกับแก้ไขข้อบกพร่องที่แพลตฟอร์มไม่ร่วมมือกันและไม่จัดสรรโครงข่ายรองรับทางสังคมขั้นพื้นฐานเพื่อเกื้อกูลกำลังแรงงานในภาคส่วนนี้

มีการผลักดันนโยบายปฏิรูปกองทุนวัยเกษียณด้วยเช่นกัน ซึ่งมีเงื่อนไขให้บริษัทแพลตฟอร์มและแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวอายุต่ำกว่า 30 ปี ต้องสมทบเงินให้บัญชีออมทรัพย์ที่รัฐบาลกำกับดูแล นั่นคือ กองทุน Central Provident Fund (CPF) ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป  กองทุน CPF คือกองทุนที่แรงงานสามารถนำมาใช้เพื่อซื้ออพาร์ตเมนต์ ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากองค์กร Housing & Development Board (HDB) ที่รัฐเป็นผู้บริหาร  การซื้อที่อยู่อาศัยผ่าน HDB คือหัวใจสำคัญของสัญญาประชาคม “การพึ่งพาตัวเอง” ในสิงคโปร์ กล่าวคือ การส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลซื้อที่อยู่อาศัยเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แล้วขายอสังหาริมทรัพย์นั้นในอีกหลายสิบปีให้หลัง (โดยหวังว่าจะมีกำไร) เพื่อใช้เงินส่วนตัวนั้นหลังเกษียณและดูแลตัวเองในวัยชรา 11

การตั้งเงื่อนไขให้แรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวและบริษัทแพลตฟอร์มต้องจ่ายเงินสมทบแก่ CPF ตามรายได้ที่ได้รับจากระบบเศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราว จึงเป็นการแทรกแซงเพื่อให้รัฐได้ประหยัดต้นทุนในระยะยาว เพราะมันจะช่วยลดแรงเสียดทานที่แรงงานรายได้ต่ำจะเรียกร้องให้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลพวกเขายามสูงวัยในอนาคตข้างหน้า  กระนั้นก็ตาม ดังที่กลุ่มไรเดอร์-นักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งชี้ให้เห็นในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ระเบียบข้อบังคับชุดใหม่นี้ไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะหยุดยั้งมิให้บริษัทแพลตฟอร์มลดหรือเลิกค่าตอบแทนเพื่อเอาคืนต้นทุนที่เสียไปกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขชุดใหม่ 12  ผลลัพธ์ก็คือ แรงงานในภาคส่วนนี้อาจลงเอยที่ต้องแบกรับภาระทั้งเงินสมทบของตัวเองและของนายจ้างด้วย  ช่วงปลายปี 2022 รัฐมนตรีที่รับผิดชอบการปฏิรูปยอมรับว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้ แต่ก็ยังให้เหตุผลปกป้องแนววิธีปฏิบัติดังกล่าว  โดยอ้างว่าแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวสามารถหารายได้ “สูงกว่าค่าเฉลี่ย”  ดังนั้น การออกข้อบังคับสั่งห้ามบริษัทไม่ให้ผลักภาระต้นทุนเงินสมทบไปไว้ที่ไรเดอร์และไดรเวอร์จึงไม่จำเป็น  การปฏิรูปกฎเกณฑ์กำกับดูแลระบบเศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราวหลังโควิดของสิงคโปร์จึงสะท้อนให้เห็นแนวทางปฏิบัติแบบเทคโนแครตที่เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเข้าข้างบริษัทธุรกิจ ทั้งๆ ที่มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภาคส่วนเศรษฐกิจนี้ โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดเป็นต้นมา

การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรมโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนใดๆ?

ภายหลังยุคโควิด ท่าทีของรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อความเหลื่อมล้ำและความตึงเครียดในระบบเศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราวเน้นให้เห็นชัดเจนว่า การผูกพันธมิตรระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจกำหนดมุมมองแบบไหนต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นในหมู่แรงงาน  จะมีข้อตกลงใหม่สำหรับแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวและเศรษฐกิจนอกระบบที่ผุดขึ้นมาเป็นวงกว้างมากกว่าเดิมท่ามกลางภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองของประเทศไทยบ้างหรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป โดยเฉพาะเมื่อพรรคก้าวไกลพบว่าพรรคของตนถูกสกัดจากการเป็นรัฐบาล  เรื่องที่ชัดเจนก็คือ เสียงเรียกร้องจากแรงงานให้มีการปฏิรูปกำลังปะทะกับความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจ  เมื่อแรงงานรวมตัวกันก่อตั้งเครือข่ายใหม่ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคเพื่อกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง  การนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลยอาจกระตุ้นให้เกิดผลสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ไม่เพียงแค่ต่อพรรครัฐบาลเท่านั้น แต่อาจรวมถึงความสัมพันธ์อันชื่นมื่นระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นฐานรากของระบอบกึ่งเผด็จการในภูมิภาคนี้มาหลายทศวรรษ

Gerard McCarthy
International Institute of Social Studies, The Hague

Banner: Food Pander worker in Singapore carrying two thermal bags to earn more per trip. Photo: David Sing, Shutterstock

Notes:

  1. จัดได้ว่า 7 ใน 10 ของรัฐสมาชิกอาเซียนอยู่ในประเภทรัฐอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง (กัมพูชาและสิงคโปร์) หรือประเภทรัฐเผด็จการที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน (บรูไน ลาว เวียดนาม เมียนมา และประเทศไทย)  สำหรับการอภิปรายในประเด็นนี้ โปรดดู Croissant, A. 2022. https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-3-031-05114-2_1
  2. หากต้องการทบทวนปรากฏการณ์นี้ โปรดดู https://thelowdown.momentum.asia/country_sector/food-delivery-platforms-in-southeast-asia-2022/?option=2021-southeast-asia&code=14379
  3. สำหรับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ช่วยให้เห็นภาพรวมของสภาพการจ้างงานในเศรษฐกิจสัญญาจ้างชั่วคราวของไทย รวมทั้งส่วนย่อยอื่นๆ ในภาคส่วนนี้ เช่น แรงงานทำงานบ้าน และความเติบโตของภาคส่วนเศรษฐกิจสมานฉันท์ (solidarity economy) โปรดดู https://justeconomylabor.org/jeli-pushing-forward-the-national-task-force-on-gig-workers/ [accessed 10-09-2023]  และ https://www.ilo.org/global/topics/cooperatives/news/WCMS_869002/lang–en/index.htm [accessed 10-09-2023]
  4. ยกตัวอย่างเช่น  กระทรวงพาณิชย์ของไทยจัดสรรเงินทุนก้อนเล็กๆ แก่โครงการพัฒนาแอพแนวสหกรณ์ของแรงงาน ซึ่งเสนอสภาพการทำงานที่มีความเป็นธรรมมากกว่าแก่ไรเดอร์ เช่น ค่าธรรมเนียมการส่งสินค้าขั้นต่ำ เป็นต้น  แอพประเภทนี้เสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัททุนสูง  กระนั้นก็ยังสามารถดึงดูดส่วนแบ่งทางการเตลาดได้พอสมควรในบางย่านของกรุงเทพ และมีแผนการที่จะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในประเทศ  หน่วยงานอื่น อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ ได้สร้างความเป็นหุ้นส่วนของแพลตฟอร์มพวกนี้เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ขาดแคลนหันไปทำงานสัญญาจ้างชั่วคราว
  5. ในประเด็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวระดมมวลชนของแรงงานและข้ออภิปรายต่างๆ เกี่ยวกับนวัตกรรมในประเทศไทย โปรดดู Mieruch, Y. and McFarlane, D.  2022. Gig Economy Riders on Social Media in Thailand: Contested Identities and Emergent Civil Society Organisations. Voluntas. ส่วนประเด็นบทบาทของแรงงานสัญญาจ้างชั่วคราวในขบวนการประชาธิปไตย โปรดดู https://novaramedia.com/2021/10/11/students-and-gig-economy-workers-are-uniting-to-fight-capitalism-in-thailand/ [accessed 4/09/23]
  6. สำหรับการอภิปรายเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งของประเทศไทย โปรดดุ https://kyotoreview.org/issue-36/the-absence-of-any-move-forward-in-thailand/
  7. บทวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญที่มีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้าในประเทศไทย โปรดดู https://www.eastasiaforum.org/2023/08/05/thailands-constitution-works-as-intended-to-frustrate-democratic-outcomes/ [accessed 08/10/23]
  8. โปรดดู https://www.financeasia.com/article/how-vertex-lured-grab-to-singapore/436929 [accessed 8/10/23]
  9. ดูรายละเอียดได้ที่: https://www.straitstimes.com/singapore/transport/grab-u-turns-on-move-to-drop-driver-incentives-when-virus-aid-package-kicks-in [accessed 5/10/23]. สำหรับการอภิปรายเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากแผนการนี้และการระดมมวลชนของแรงงาน โปรดดู Anant, R. 2020. ‘The Discursive Politics of Labour Regimes: The Contested Emergence of On-Demand Digital Platform Labour in Singapore’. Masters Dissertation. Department of Geography, National University of Singapore, pg. 105.
  10. ปรดดู Weiss, M. 2020. The Roots of Resilience: Party Machines and Grassroots Politics in Singapore and Malaysia. Singapore: National University of Singapore Press และ Ong, E. 20222. Opposing Power: Building Opposition Alliances in Electoral Autocracies. Ann Arbor: University of Michigan Press.
  11. ปรดดู Beng-Huat, C. 1997. Political Legitimacy and Housing: Singapore’s Stakeholder Society. London: Routledge และ Beng-Huat, C. 2017. Liberalism Disavowed: Communitarianism and State Capitalism in Singapore. Singapore: National University of Singapore.
  12. Author screengrab of public post, January 2023.
Exit mobile version