Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

จุดแข็งของสายสัมพันธ์แบบอ่อน: เยาวชนกับการเมืองดิจิทัลในอินโดนีเซีย

ห้องเสียงสะท้อน: ปรากฏการณ์ “LOE LAGI LOE LAGI (4L)”

ภูมิทัศน์ทางการเมืองของอินโดนีเซียมีความซับซ้อนและแปรเปลี่ยนตลอดเวลา เนื่องจากมีกลุ่มการเมืองและกลุ่มกดดันมากมายมหาศาล ซึ่งเคลื่อนไหวพัวพันในประเด็นปัญหาหลากหลายอย่างยิ่ง  เพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อพลวัตทางการเมืองในประเทศนี้ โดยเฉพาะบทบาทของเยาวชนในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หัวใจสำคัญคือต้องเข้าใจปฏิสัมพันธ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ระหว่างกลุ่มการเมืองและกลุ่มกดดันต่างๆ  ในบทความนี้ นิยามของกลุ่มการเมืองและกลุ่มกดดันคือองค์กรต่างๆ ที่มุ่งแก้ไขประเด็นปัญหาทางสังคม-สิ่งแวดล้อม-การเมืองที่มีมากมายผ่านช่องทางเชิงสถาบันในหลายลักษณะ อาทิ พรรคการเมือง องค์กรเอกชน องค์กรเยาวชน และองค์กรภาคประชาสังคม

สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประโยชน์สำหรับคนบางกลุ่มในสังเวียนการเมือง  Hillary Brigitta Lasut ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอายุน้อยที่สุดจากจังหวัดซูลาเวซีเหนือ กล่าวไว้ว่า “สื่อสังคมออนไลน์ช่วยให้การเข้าถึงผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงวัยหนุ่มสาวทำได้ในขอบเขตที่กว้างขึ้นและลดต้นทุนได้มากในระหว่างการหาเสียงของฉัน”  Lasut ใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์หลากหลายรูปแบบในการมีปฏิสัมพันธ์กับฐานเสียงอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม  นอกจากนี้ พรรคการเมืองที่เธอสังกัดยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาจัดการและสนับสนุนการดำเนินงานทั่วทั้งอินโดนีเซีย (Kemenkominfo, 2021)  การที่คนหนุ่มสาวชาวอินโดนีเซียมีส่วนร่วมผลักดันในกิจกรรมหลากหลายประเภทที่สนับสนุนประชาธิปไตยและสร้างคุณูปการต่อโครงสร้างทางการเมืองของอินโดนีเซีย ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นบทบาทสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์ (Saud & Margono, 2021)

Hillary Brigitta Lasut, People’s Representative Council. Lasut utilises online social media platforms with her constituents.

กระแสการเคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นนำมาทั้งโอกาสและอุปสรรคสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง  ในด้านหนึ่ง สื่อสังคมออนไลน์เป็นเวทีสำหรับประชาชนในการส่งเสียงเสนอความคิดเห็นและระดมการสนับสนุนจากมวลชนด้วยเรื่องเล่าง่ายๆ และเข้าใจง่าย  ลักษณะเช่นนี้มีความเป็นไปได้ที่จะแปรไปเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบประชานิยม โดยเฉพาะถ้ามันสอดรับกับค่านิยมของวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น ชาตินิยมและศาสนา (Lim, 2013)  อย่างไรก็ตาม สื่อสังคมออนไลน์ก็เต็มไปด้วยอุปสรรคที่เกิดจากเสรีภาพที่จะเกลียดชัง อันหมายถึงการที่ปัจเจกบุคคลสามารถใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเปิดเผย แต่ในขณะเดียวกันก็ปิดปากผู้อื่นไปด้วย (Lim, 2017)

ยิ่งกว่านั้น ผลกระทบซึ่งกันและกันระหว่างผู้ใช้กับอัลกอริธึมนำไปสู่การเกิด “ชุมชนเฉพาะเชิงอัลกอริธึม” (algorithmic enclaves) ขึ้นมา ซึ่งเอื้อต่อการบ่มเพาะให้เกิดลัทธิชาตินิยมแบบชนเผ่า (tribal nationalism)  ภายในชุมชนออนไลน์แบบนี้  ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างความชอบธรรมให้แก่ลัทธิชาตินิยมตามแนวคิดของตนเอง ซึ่งอาจหมายถึงการกีดกันความเสมอภาคและความยุติธรรมสำหรับคนอื่น (Lim, 2017)  เรื่องนี้เน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นที่ต้องวิพากษ์บทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ในแง่ของการกำหนดทิศทางกิจกรรมทางการเมืองและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคม

“Wah. 4L nih!” เป็นคำอุทานที่ได้ยินบ่อยๆ ในหมู่นักกิจกรรมทางการเมืองและนักกิจกรรมภาคประชาสังคมระหว่างการประชุมและการประสานงาน  ความหมายของวลีนี้คือความรู้สึกของการพบเจอบุคคล กลุ่มและสมาชิกของเครือข่ายหน้าเดิมๆ ซ้ำๆ  “4L” หมายถึง “loe lagi, loe lagi” แปลว่า “คุณอีกแล้ว คุณอีกแล้ว” ในภาษาอังกฤษ และเป็นวลีเสียดสีที่ใช้กันแพร่หลายในอินโดนีเซียเพื่อแสดงความรู้สึกอัดอั้นตันใจกับสถานการณ์ซ้ำซาก  นักกิจกรรมหลายคน รวมทั้งคนทำงานด้านสังคมและชุมชน มักรู้สึกว่าตนเองติดกับอยู่ในหมู่พวกเดียวกันเอง ได้แต่พูดคุยหารือประเด็นเดิมๆ กับคนหน้าเดิมอยู่ร่ำไป  ความซ้ำซากจำเจนี้ทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่ายและท้อแท้กับสถานการณ์รอบตัว  บทความนี้มีเป้าหมายที่จะสำรวจตรวจสอบปรากฏการณ์ของ “การเมืองกะลา” (bubble politics) ในอินโดนีเซีย อันเป็นเรื่องที่นักกิจกรรมทางการเมือง คนทำงานด้านสังคมและชุมชนจำนวนมากตระหนักรู้เป็นอย่างดี

นักกิจกรรมทางการเมืองและประชาสังคมอาจตระหนักหรือไม่ก็ตามว่า พวกเขาถูกจำกัดเขตอยู่ใน “กะลา” หรือในห้องเสียงสะท้อน (echo chamber) ซึ่งพวกเขาจะได้รับแต่ข้อมูลและทัศนะที่สอดคล้องกับความเชื่อและอุดมการณ์ของตนเป็นหลัก  เรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์  แต่มักเกิดขึ้นในโลกออนไลน์มากกว่า สืบเนื่องจากการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากเกินไป เช่น สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งปัจเจกบุคคลแต่ละคนเลือกพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกรุ๊ปที่ตอกย้ำทัศนคติของตนเอง  ในบริบทของการเมือง ห้องเสียงสะท้อนอาจมีอิทธิพลอย่างมากต่อมุมมองที่แต่ละคนมีต่อประเด็นปัญหาทางการเมืองและการก่อรูปความคิดเห็นขึ้นมา  ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่ได้รับแต่ข้อมูลข่าวสารที่ยืนยันความเชื่อของตนอาจไม่แยแสทัศนะตรงกันข้ามหรือมุมมองแบบอื่น  นี่สามารถทำให้เกิดการตอกย้ำอคติและการขาดการรับรู้ต่อมุมมองที่หลากหลาย อันเป็นเหตุให้มีการแบ่งขั้วและสุดโต่งทางการเมืองมากขึ้น รวมทั้งล้มเหลวที่จะมองเห็นภาพกว้างและไม่สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มคนและประเด็นอื่นๆ

เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถส่งเสริมหรือขัดขวางพลวัตทางการเมืองในหมู่เยาวชนจากกลุ่มการเมืองและกลุ่มกดดันที่มีมากมายในอินโดนีเซียได้ในระดับไหน?

จุดประสงค์ของบทความนี้คือพิจารณาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงองค์กรทางการเมืองและกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาทางการเมืองที่มีพลวัตและสร้างสรรค์ในหมู่คนเหล่านี้ทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์  จุดสนใจเน้นที่คนรุ่นใหม่ในกลุ่มเหล่านี้ เพราะพวกเขามักมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารและกำหนดทิศทางในแวดวงการเมือง  ยิ่งกว่านั้น การที่พวกเขามีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลในระดับสูงยิ่งทำให้พวกเขามีความสำคัญต่อการชี้นำในด้านนี้  หากเราสามารถบ่งชี้วิธีการที่จะเชื่อมโยงกลุ่มเหล่านี้เข้าด้วยกันได้ ก็จะส่งเสริมเป้าหมายที่มุ่งหวังวางรากฐานให้เกิดพื้นที่เพื่อการสานเสวนาและแลกเปลี่ยนแนวคิดที่มีคุณค่าและก้าวหน้า ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อสังคมและการเมืองต่อไป

Kolaka, Indonesia – July 2, 2020: Burning of used tires by protesters in front of the Kolaka DPRD office.

จุดแข็งของสายสัมพันธ์แบบอ่อน

จุดแข็งของสายสัมพันธ์แบบอ่อนคือแนวคิดหนึ่งในทฤษฎีเครือข่ายสังคม ซึ่งได้รับการนำเสนอครั้งแรกจากนักสังคมวิทยา Mark Granovetter ในบทความปี 1973 ชื่อ “The Strength of Weak Ties” แนวคิดนี้มองว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบหลวมๆ ของเรา หรือ “สายสัมพันธ์แบบอ่อน” มักมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรายิ่งกว่าสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น

ทฤษฎีของ Granovetter วางพื้นฐานบนความคิดว่า สายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในชีวิตคนเรา เช่น เพื่อนสนิท สมาชิกในครอบครัว หรือสมาชิกในกลุ่มเดียวกัน มักเป็นผู้คนที่มีภูมิหลัง ความสนใจ และเครือข่ายทางสังคมคล้ายคลึงกับเราอยู่แล้ว  ผลลัพธ์ก็คือ พวกเขามักให้ข้อมูลและทรัพยากรความรู้ต่างๆ ที่คล้ายคลึงกับที่เรารู้อยู่แล้วและมีช่องทางเข้าถึงอยู่แล้ว  ในทางตรงกันข้าม สายสัมพันธ์แบบอ่อนของเรา เช่น คนรู้จักและเพื่อนร่วมงาน มักเป็นผู้คนที่มาจากภูมิหลังแตกต่างออกไปและมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรความรู้ที่แตกต่างจากเรา  Granovetter ให้เหตุผลว่า สายสัมพันธ์แบบอ่อนเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นสะพานเชื่อมเครือข่ายสังคมที่แตกต่างกัน รวมทั้งให้ช่องทางเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรความรู้ใหม่ๆ

แนวคิดเกี่ยวกับจุดแข็งของสายสัมพันธ์แบบอ่อนสามารถเอามาปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้เช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น สายสัมพันธ์แบบอ่อนมีความสำคัญเป็นพิเศษในการให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือระหว่างช่วงเวลาที่ยากลำบาก อาทิ เมื่อต้องจัดการกับวิกฤตการณ์ส่วนตัวหรือระหว่างเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ในสถานการณ์แบบนี้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นสายสัมพันธ์แบบอ่อนของเราที่สามารถให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนได้มากที่สุด เนื่องจากพวกเขามักจะมีความเชื่อมโยงกับทรัพยากรและเครือข่ายที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้

ยิ่งกว่านั้น สายสัมพันธ์แบบอ่อนมีความสำคัญอีกประการในด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิด  ทฤษฎีจุดแข็งของสายสัมพันธ์แบบอ่อนชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารและความคิดมักแพร่กระจายผ่านเครือข่ายได้ดีกว่าถ้าส่งต่อทางสายสัมพันธ์แบบอ่อนมากกว่าผ่านทางสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น  ทั้งนี้เพราะสายสัมพันธ์แบบอ่อนมักเป็นการเชื่อมโยงกับผู้คนที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและความคิดนั้นมาก่อน  ดังนั้นจึงมีโอกาสมากกว่าที่จะแพร่กระจายไปสู่ผู้คนและเครือข่ายใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า จุดแข็งของสายสัมพันธ์แบบอ่อนเป็นทฤษฎีที่ได้รับการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่นักสังคมวิทยาและนักสังคมศาสตร์  ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ให้เหตุผลว่า ทฤษฎีนี้อธิบายบทบาทของสายสัมพันธ์แบบอ่อนจนหยาบง่ายเกินไป และไม่จำเป็นเสมอไปว่ามันจะมีบทบาทสำคัญมากกว่าสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น (Krämer et.al., 2021)  อนึ่ง ทฤษฎีนี้ไม่ได้พิจารณาถึงบริบทของเครือข่ายและพลวัตของความสัมพันธ์ต่างๆ  ด้วยเหตุนี้ จึงควรพิจารณาว่าทฤษฎีนี้เป็นแค่จุดตั้งต้นในการทำความเข้าใจบทบาทของสายสัมพันธ์แบบอ่อน มากกว่าจะถือเป็นคำอธิบายในขั้นสุดท้าย

Embed from Getty Images
An Indonesian youth, his face covered with toothpaste to counter the effects of teargas speaks on his phone during a clash with police on September 25, 2019 in Jakarta, Indonesia. (Photo by Ed Wray/Getty Images)

ออนไลน์กับออฟไลน์

บทความนี้พยายามพิเคราะห์ดูบทบาทของเยาวชนในโลกการเมืองของอินโดนีเซียในภูมิทัศน์ทางการเมืองต่างๆ  มีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกรายบุคคลกับนักกิจกรรมเยาวชนจากสองกลุ่มที่มีวัย สถานะและความสนใจใกล้เคียงกัน  กล่าวคือ นักกิจกรรมเยาวชนของพรรคการเมือง กับนักกิจกรรมเยาวชนของเอ็นจีโอและนักกิจกรรมเยาวชนขององค์กรเยาวชน “อิสระ”

“ฉันเข้าไปพัวพันอย่างมากในขบวนการ #ReformasiDikorupsi ในอินโดนีเซียระหว่างปี 2019  มันเป็นขบวนการมวลชนที่มีฐานเสียงมากเป็นพิเศษในหมู่เยาวชน  เราต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างถึงรากถึงโคนในอินโดนีเซีย  เราไม่ต้องการให้การปฏิรูปปี 1998 ถูกกลุ่มคณาธิปไตยบิดเบือนจนแปดเปื้อน หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขกฎหมายคอร์รัปชั่นจนย่อหย่อน  อย่างไรก็ตาม ตัวฉันเองรู้สึกว่า ขบวนการมีความเข้มแข็งขึ้นในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ไม่มีรากฐานที่แข็งแกร่งในโลกออฟไลน์  ใช่ เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้เรามีช่องทางในการเผยแพร่การรณรงค์อย่างรวดเร็วและเข้าถึงคนจำนวนมาก แต่มันแค่ช่วยให้เรามี “ผู้เข้าร่วม” การประท้วงบนท้องถนนมากขึ้นโดยปราศจากความเข้าใจถ่องแท้ต่อข้อเรียกร้องที่แท้จริงและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างถึงรากถึงโคน”  (ผู้ให้สัมภาษณ์ 1, สมาชิกเยาวชนของพรรคการเมือง)

เมื่อถูกถามถึงบทบาทของเธอในการเมืองระดับรากหญ้าของอินโดนีเซีย ผู้ให้สัมภาษณ์ให้มุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับพลวัตของขบวนการเยาวชนที่ตอบโต้ต่อการแก้ไขกฎหมายคอร์รัปชั่นในอินโดนีเซียเมื่อปี 2019  เธอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกันค่อนข้างจำกัดพอสมควรระหว่างการรณรงค์ออนไลน์กับขบวนการออฟไลน์ และบรรยายถึงขบวนการออฟไลน์ว่า “ฉาบฉวย”  เธอเน้นย้ำด้วยว่า หนึ่งในองค์กรที่เคยเคลื่อนไหวอย่างมากในการรณรงค์ออนไลน์สมัยนั้น ตอนนี้หันมาสนับสนุนการรณรงค์ “งดออกเสียง” ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 ซึ่งเธอมองว่าเป็นการถอยหลังอย่างมาก  การขาดการอภิปรายถกเถียงกันอย่างรอบด้านและลึกซึ้งทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้เห็นชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวในโลกดิจิทัลสามารถดึงดูดประชาชนได้เป็นจำนวนมาก แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็ยังฉาบฉวย  เธออธิบายว่า ความเข้าใจและการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการผลักดันขบวนการทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ

ระหว่างการพูดคุยถกเถียงครั้งหนึ่งในบริบทที่แตกต่างออกไป สมาชิกบางคนขององค์กรเยาวชนอิสระพูดถึงอุปสรรคของตนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งรวมถึงความเป็นปฏิปักษ์จากกลุ่มการเมืองและกลุ่มกดดันอื่นๆ สืบเนื่องจากพวกเขาถูกมองว่ามีจุดยืนทางการเมืองแบบ “ฝ่ายซ้าย”  องค์กรนี้ทำงานมาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมในกิจกรรมต่างๆ ที่ทำมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ และกำลังเคลื่อนไหวเพื่อริเริ่มการอภิปรายถกเถียงที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับหัวข้อนี้ทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์  แม้จะทุ่มเทความพยายามอย่างหนัก แต่พวกเขาก็ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในการสร้างขบวนการที่มีเนื้อหาและก้าวหน้ากว่านี้  ถึงแม้พวกเขาพยายามสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองและกลุ่มสนับสนุนนโยบายเฉพาะอื่นๆ พวกเขาก็ยังประสบปัญหาในการผลักดันให้กิจกรรมยกระดับขึ้นไป

สมาชิกของกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมรู้สึกท้อถอย เพราะพวกเขารู้สึกว่าความพยายามของตนที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องป่าไม้ ซึ่งพวกเขาพยายามเผยแพร่มาหลายปี ไม่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนนอกเหนือจากเครือข่ายของตนได้เลย  ทั้งๆ ที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองและกลุ่มอุดมการณ์อื่น แต่ความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่ได้นำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างมีความหมายในการทำกิจกรรมของตน  เยาวชนเหล่านี้รู้สึกว่า การอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีเนื้อหาสาระของตนไม่ได้รับเสียงสะท้อนจากกลุ่มอื่นๆ ที่มีเป้าหมายอย่างอื่นที่ไม่ใช่สิ่งแวดล้อม  เรื่องนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงอุปสรรคที่นักกิจกรรมต้องเผชิญในการทะลวงออกจากห้องเสียงสะท้อนของตนและส่งสาส์นออกไปให้ถึงผู้ฟังในวงกว้างมากขึ้น

Embed from Getty Images
Young protesters are seen holding a climate emergency banner and placards during a ‘Fridays for Future’ demonstration in Jakarta, Indonesia, on September 20, 2019. (Photo by Afriadi Hikmal/NurPhoto via Getty Images)

การใช้ประโยชน์จากสายสัมพันธ์แบบอ่อนกับการเมืองของเยาวชนในอินโดนีเซีย

เนื่องจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียแตะระดับ 74% (ประชากร 202.6 ล้านคน) โดยที่ 195.3 ล้านคนใช้อินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือ  อินโดนีเซียจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเชื่อมต่อกันเติบโตมากที่สุดประเทศหนึ่ง (IDN Media, 2022)  พร้อมกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในการทำกิจกรรมทางการเมืองและการระดมมวลชนในอินโดนีเซีย  ขณะที่การเลือกตั้งปี 2024 กำลังใกล้เข้ามา กลุ่มการเมืองและกลุ่มสนับสนุนนโยบายเฉพาะต่างก็ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเชื่อมต่ออีกครั้งและมุ่งยกระดับความรับรู้ของคนทั่วไปที่มีต่อเป้าหมายของตน  อย่างไรก็ตาม ลักษณะเช่นนี้อาจก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ทำให้ปัจเจกบุคคลตกอยู่ในห้องเสียงสะท้อนง่ายกว่าเดิมเช่นกัน อันจะทำให้เขาได้รับแต่ข้อมูลข่าวสารและความคิดที่สอดคล้องกับความเชื่อที่มีอยู่แล้ว  การลองสำรวจหาศักยภาพของสายสัมพันธ์แบบอ่อนในกิจกรรมทางการเมือง อาจช่วยให้เอาชนะอุปสรรคของห้องเสียงสะท้อนและส่งเสริมให้เกิดวาทกรรมทางการเมืองที่เปิดกว้างและหลากหลายมากขึ้นในหมู่เยาวชนชาวอินโดนีเซีย

บทความนี้เสนอว่า การกลับมาพิจารณาแนวคิดว่าด้วย “สายสัมพันธ์แบบอ่อน” ในกิจกรรมทางการเมือง อาจช่วยให้เราทำความเข้าใจปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อนหรือ “การเมืองในกะลา” ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นดาษดื่นในภูมิทัศน์ทางการเมือง โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวชาวอินโดนีเซีย  การสำรวจดูศักยภาพของการใช้สายสัมพันธ์แบบอ่อนระหว่างองค์กรทางการเมืองกับกลุ่มสนับสนุนนโยบายเฉพาะต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาห้องเสียงสะท้อนในเวทีการเมือง อาจช่วยให้เกิดทัศนะใหม่ๆ ที่น่าสนใจ  เชื่อกันว่าในขณะที่สายสัมพันธ์แน่นแฟ้นเอื้อให้เกิดแรงสนับสนุนและสำนึกถึงความเป็นชุมชนอันจำเป็นอย่างยิ่ง  ส่วนสายสัมพันธ์แบบอ่อนจะช่วยให้เราได้เปิดกว้างรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากรและโอกาสใหม่ๆ   ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ big data ทำให้ตอนนี้เรามีโอกาสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในการวิเคราะห์จุดแข็งของสายสัมพันธ์แบบอ่อนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์  การประสานสังคมศาสตร์เชิงประมวลผล (computational social science)  วิทยาศาสตร์เครือข่าย (network science) และการวิเคราะห์ big data จะช่วยให้เกิดมุมมองที่มีค่าในการทำความเข้าใจพลวัตทางการเมืองที่ลึกซึ้งกว่าเดิม โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนชาวอินโดนีเซียและในขอบเขตอื่นที่กว้างกว่านั้นด้วย

Irendra Radjawali
KEMITRAAN—Partnership for Government Reform

Banner image: CTC Senen, Jakarta, Indonesia. Yoab Anderson, Unsplash

References

Kemenkominfo – Indonesian Ministry of Communication and Information (2021). https://www.kominfo.go.id/content/detail/34036/politik-digital-anak-muda/0/artikel

Saud, M. & Margono, H. (2021). Indonesia’s rise in digital democracy and youth’s political participation. Journal of Information Technology & Politics. Vol. 18, Issue 4.

Granovetter, M. S. (1973). The Strength of Weak Ties. American Journal of Sociology. Vol. 78, Issue 6. Pp. 1360-1380.

Lim, M. (2013). Many clicks but little sticks: Social media activism in Indonesia. Journal of Contemporary Asia.

M. (2017). Freedom to hate: social media, algorithmic enclaves, and the rise of tribal nationalism in Indonesia. Critical Asian Studies.

Krämer, N.C., Sauer, V. and Ellison, N. (2021). The strength of weak ties revisited: Further evidence of the role of strong ties in the provision of online social support. Social Media + Society. Volume 7, Issue 2.

IDN Media (2022). Indonesia Gen Z Report 2022.

Exit mobile version