“ทฤษฎีการเมืองแนวพุทธ” เป็นหัวข้อใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจในหมู่นักวิชาการด้านทฤษฎีการเมืองที่ใช้ภาษาอังกฤษตามมหาวิทยาลัยในทวีปอเมริกาเหนือ บทความนี้ต้องการอธิบายให้เห็นว่า ทฤษฎีการเมืองแนวพุทธสามารถช่วยให้ชาวตะวันตกสะสางความสับสนเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองของทิก ถี กวาง (1923-2019) พระภิกษุชาวเวียดนามผู้มีบทบาทจนได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักอเมริกันในช่วง “สงครามเวียดนาม”
การค้นชื่อของทิก ถี กวางในคลังเอกสารดิจิทัลของ New York Times จะได้บทความอย่างน้อยสามร้อยชิ้นที่เขียนมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 ในปี 1966 ทิก ถี กวางได้ขึ้นปกนิตยสาร Time พร้อมกับบทความเด่นเกี่ยวกับตัวเขา ผู้อ่านถูกโน้มน้าวให้มองว่าเขาเป็น “มันสมองเบื้องหลังขบวนการประท้วงของชาวพุทธ” 1 “พระภิกษุในพุทธศาสนาผู้มากบารมี ซึ่งช่วยโค่นล้มรัฐบาลในเวียดนามใต้ที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลังในช่วงที่ประเทศนี้ถูกทำลายด้วยสงครามในสมัยทศวรรษ 1960 และผลักดันให้ประเทศมีประชาธิปไตยพร้อมกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา” 2 และคงอยากรู้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับบุคคลทรงอิทธิพลที่สามารถสกัดขวางความพยายามของรัฐบาลอเมริกันในเวียดนามใต้
ความสนใจที่มีต่อทิก ถี กวางอีกส่วนหนึ่งเกิดจากข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางการเมืองของเขา เขาดูเหมือนเป็นนักคิดทางการเมืองที่เข้าใจยาก สร้างปริศนา และไม่คงเส้นคงวา ผู้สันทัดกรณีชาวเวียดนามและชาวอเมริกันในสมัยนั้น รวมทั้งนักวิชาการในตะวันตกสมัยต่อมาพยายามจะกำหนดนิยามการเมืองของเขา ทำให้เขาถูกแปะป้ายฉลากที่ย้อนแย้งกันเอง อาทิ คอมมิวนิสต์ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ รักสันติ กระหายสงคราม 3 นิตยสาร Time ลงความเห็นว่าทิก ถี กวางเป็นคนที่ “หิวหาอำนาจอย่างแรงกล้า” และขนานฉายาเขาว่า มาเคียเวลลีชาวเวียดนาม 4 James McAllister แย้งว่า ทิก ถี กวางไม่ใช่ “ผู้นำศาสนารักสันติที่อุทิศตัวเพื่อประชาธิปไตยและการยุติสงครามอย่างรวดเร็ว” ดังที่ฝ่ายซ้ายนำเสนอ และไม่ใช่ “สายลับฝ่ายคอมมิวนิสต์” ดังที่ฝ่ายขวากล่าวหา 5 McAllister ลงความเห็นว่า อันที่จริงนั้น ทิก ถี กวางเป็นฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์และเห็นชอบต่อการใช้อำนาจกองทัพอเมริกันต่อสู้กับเวียดนามเหนือ New York Times ตีตราทิก ถี กวางเป็น “คนหลงตัวเอง” 6 และ “น่าประทับใจ แต่ไม่น่าวางใจ” 7 กระนั้นก็ตาม เราก็ยังหาความชัดเจนไม่ได้อยู่ดีว่าแรงจูงใจทางการเมืองของทิก ถี กวางคืออะไร
ขณะที่สื่อตะวันตกพยายามจำแนกแจงแจงแนวคิดทางการเมืองของทิก ถี กวาง แต่ดูเหมือนสื่อเหล่านั้นกลับมองข้ามเรื่องที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับตัวทิก ถี กวางไป นั่นคือ เขาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา และความเชื่อทางพุทธศาสนาย่อมมีอิทธิพลหรืออธิบายความคิดทางการเมืองของเขาได้ การตีความทิก ถี กวางในสายตาของตะวันตกพลาดตรงที่ไม่ได้พิจารณาวิธีคิดทางการเมือง แนวพุทธ ที่แตกต่างออกไป เราอาจชี้ชัดถึงรูปแบบอุดมการณ์แนวพุทธที่มีอิทธิพลต่อตัวเขาอย่างเฉพาะเจาะจงได้ยากก็จริง อย่างไรก็ตาม เราสามารถพิจารณาว่าทิก ถี กวางเป็น “ชาวพุทธ” ในความหมายกว้างที่สุด ทั้งยังเป็นคนที่ไม่ต้องการเน้นย้ำความแตกต่างระหว่างอุดมการณ์แนวพุทธสำนักต่างๆ ด้วย ทั้งนี้เพราะเขาเป็นผู้นำคนสำคัญของ Viện Hóa Đạo (สภาบริหารกลาง) ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองขององค์การสหพุทธจักร (Unified Buddhist Church) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพุทธศาสนานิกายต่างๆ ในเวียดนาม
การวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองของทิก ถี กวางจากมุมมองของทฤษฎีการเมืองแนวพุทธจะช่วยอธิบายความคลาดเคลื่อนขัดแย้งในการตีความข้างต้นได้ การเมืองของเขามีแนวทางสอดคล้องกับทฤษฎีการเมืองแนวพุทธและแสดงออกอย่างชัดเจน เมื่อเราเข้าใจหลักการสำคัญของทฤษฎีการเมืองแนวพุทธแล้ว กล่าวคือ หากต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ควรยุ่งเกี่ยวอย่างมียุทธศาสตร์และมุ่งสัมฤทธิ์ผลในฐานะวิธีการอันนำไปสู่เป้าหมายคือความรู้แจ้งของคนทั้งปวง เราก็จะเข้าใจความคิดทางการเมืองของทิก ถี กวางได้ดีขึ้น
ทฤษฎีการเมืองแนวพุทธ
นักวิชาการ “ทฤษฎีการเมืองเปรียบเทียบ” ซึ่งเป็นสาขาย่อยเกิดใหม่ของสาขาวิชาการด้านทฤษฎีการเมือง เพิ่งสำรวจทัศนะท่าทีต่อการเมือง “แนวพุทธ” 8 ถึงแม้ “พุทธศาสนา” เป็นจารีตที่กว้างใหญ่และหลากหลาย แต่ก็พอสรุปรวมแนวคิดกว้างๆ ถึงทัศนะท่าทีที่มีต่อการเมือง เช่นเดียวกับที่เราพอกล่าวได้ว่า “ศาสนาคริสต์” ให้กำเนิดจารีตการเมืองแบบเสรีนิยม จากข้อสรุปของนักทฤษฎีการเมือง Matthew Moore พุทธศาสนามีลักษณะต่อต้านการเมืองอย่างเปิดเผยโดยไม่ได้มีแนวคิดแบบอนาธิปไตยเลย 9 เขาแจกแจงให้เห็นว่า ชาวพุทธมักมองการเมืองเป็นกิเลสที่เปิดช่องให้อัตตาขยายใหญ่จนควบคุมยาก เป็นสิ่งที่ทำให้เสียเวลาและเสียแรง และถึงที่สุดแล้วไม่มีความสำคัญอะไรเลย สำหรับพุทธศาสนิกชน การข้องแวะพัวพันกับการเมืองเป็นอุปสรรคต่อมรรคาสู่ความรู้แจ้ง (ตรงกันข้ามกับจารีตปรัชญาตะวันตก ซึ่งมักมีทัศนะว่าการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี) กาว ฮุย ถ่วน ศิษย์คนหนึ่งของทิก ถี กวาง สรุปรวบยอดไว้ว่า “วัดไม่ยุ่งการเมือง: ทัศนะแบบพุทธข้อนี้หนักแน่นแน่นอนดุจดังตะปูที่ตอกติดกำแพง…..การเมืองเป็นอาณาเขตของ “มือสกปรก” ที่เรา [ชาวพุทธ] รังเกียจ” 10
อย่างไรก็ตาม Moore ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ชาวพุทธดูแคลนความสำคัญที่การเมืองมีต่อชีวิตที่ดี แต่ชาวพุทธก็เข้าใจดีว่าการเมืองเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้และบางครั้งก็มีความจำเป็นในชีวิตทางสังคมเช่นกัน ทฤษฎีการเมืองแนวพุทธยืนยันว่า เราควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองต่อเมื่อการทำเช่นนั้นจะช่วยสร้างเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองที่เอื้อให้ปัจเจกบุคคลได้บ่มเพาะจิตวิญญาณและเข้าถึงการรู้แจ้งได้ดียิ่งขึ้น ชาวพุทธมองว่า “รัฐบาลบางรูปแบบช่วยอำนวยให้ความขัดแย้งทางสังคมลดระดับลงและป้องกันความเสื่อมถอยทางจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคลได้มากกว่ารัฐบาลรูปแบบอื่น” 11 สิ่งที่แตกต่างจากจารีตเสรีนิยมของตะวันตกก็คือ ความชอบธรรมทางการเมืองสำหรับชาวพุทธนั้น “ไม่เกี่ยวกับการให้ความเคารพตามสมควรต่อความมีอิสระของตัวตนที่มีเหตุผล แต่เกี่ยวกับการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้มนุษย์ได้เจริญจิตวิญญาณต่างหาก” 12 กล่าวโดยสรุปก็คือ สำหรับทฤษฎีการเมืองแนวพุทธนั้น การเมืองควรเป็น วิธีการเพื่อไปสู่เป้าหมายอันเป็นความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณของคนทั้งปวง การเน้นย้ำที่ความเท่าเทียมของโอกาสสำหรับชีวิตทางจิตวิญญาณสะท้อนหลักสมภาคนิยมของพระพุทธเจ้าและการที่ศาสนาพุทธท้าทายต่อระบบวรรณะของฮินดู เมื่อตระหนักในข้อนี้แล้ว คราวนี้เราสามารถเข้าใจแนวทางต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของทิก ถี กวาง เขาต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เพราะเขาคิดว่าปัจเจกบุคคลจะถูกกีดกันจากการบ่มเพาะชีวิตทางจิตวิญญาณเมื่ออยู่ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทิก ถี กวางกล่าวไว้ในปี 1963 ว่า “เช่นเดียวกับชาวพุทธผู้มีการศึกษาทุกคน ข้าพเจ้าไม่ชอบลัทธิคอมมิวนิสต์เพราะมันไม่มีศาสนา” 13
ลักษณะแบบมาเคียเวลลีของทฤษฎีการเมืองแนวพุทธ
คราวนี้เราสามารถทำเข้าใจลักษณะแบบมาเคียเวลลีของทิก ถี กวางในการพูดเกี่ยวกับการเมืองได้มากขึ้น รวมไปถึงเหตุผลที่นิตยสาร Time ขนานฉายาเขาว่ามาเคียเวลลีชาวเวียดนาม มาเคียเวลลีมีชื่อเสียงในด้านแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองที่เน้นผลสัมฤทธิ์ในภาคปฏิบัติ ไม่มีหลักการ และใช้ “เป้าหมายตัดสินวิธีการ” นี่ทำให้มาเคียเวลลีไปกันได้กับทฤษฎีการเมืองแนวพุทธ สำหรับมาเคียเวลลี การเมืองคือวิธีการไปสู่เป้าหมายของการมีความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง สำหรับทิก ถี กวาง การเมืองคือวิธีการไปสู่เป้าหมายของการมีรัฐบาลที่เอื้ออำนวยต่อความเจริญทางจิตวิญญาณสำหรับคนทั้งปวง ทิก ถี กวางไม่ใช่คนที่ “หิวหาอำนาจอย่างแรงกล้า” ดังที่นิตยสาร Time แปะป้าย แต่เขาเข้าใจว่าบางครั้งการต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งอำนาจก็จำเป็นถ้ามันจะช่วยสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อชีวิตทางจิตวิญญาณ
มาเคียเวลลีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในแง่ของแนวคิดที่ยืนยันว่า ควรใช้ความรุนแรงและความโหดร้าย อย่างรวดเร็ว และเพื่อความมั่นคงทางการเมืองเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน ทิก ถี กวางก็อ้างเหตุผลว่า การทิ้งระเบิดใส่เวียดนามเหนือควร “กระทำในระยะเวลาสั้นๆ และเพิ่มความเข้มข้นอย่างรวดเร็ว เพื่อบีบให้เวียดนามเหนือแสดงปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาโดยเร็วที่สุด และป้องกันมิให้พวกคอมมิวนิสต์มีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมตัวทั้งในด้านจิตวิทยาและการทหาร” 14 ทิก ถี กวางยอมรับว่า สำหรับผู้นำชาวพุทธนั้น การสนับสนุนความรุนแรงออกจะเป็นเรื่องผิดเพี้ยน กระนั้นก็ตาม เขาเข้าข้างการใช้ “มาตรการทางทหารที่แข็งกร้าว” เพราะเขารู้สึกว่า “ถ้าสงครามยืดเยื้อต่อไปในระดับที่เป็นอยู่ จะมีการสูญเสียชีวิตมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นในการโจมตีที่อำมหิตกว่า แต่รวดเร็วและใช้ระยะเวลาสั้นกว่า” 15 ด้วยเหตุนี้ ทิก ถี กวางจึงไม่ใช่เหยี่ยวกระหายสงคราม เขาแค่แสดงออกตามทฤษฎีการเมืองแนวพุทธที่เน้นวิธีการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมาย เขาคิดว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ถ้าจำเป็น “เมื่อข้าพเจ้าติดต่อกับผู้นำในศาสนาอื่น ข้าพเจ้ายืนยันว่า ถ้าจำเป็น การต่อสู้ในสงครามศาสนาพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วไม่มีความขัดกันของผลประโยชน์เลย” 16
สำหรับมาเคียเวลลี ความรู้ทางการเมืองควรได้มาด้วยวิธีการอุปนัย เราควรดูตัวอย่างจากในโลกความเป็นจริง แล้วจากนั้นจึงสรุปเป็นกฎทั่วไปว่าการเมืองดำเนินไปอย่างไร (ตรงกันข้ามกับวิธีการนิรนัย เช่น เพลโต ซึ่งตั้งสมมติฐานทั่วไปเกี่ยวกับธรรมชาติของจักรวาลและธรรมชาติมนุษย์มาจัดระเบียบข้อเท็จจริงและมีข้อสรุปไว้แล้วล่วงหน้า) การแสดงความคิดเห็นของทิก ถี กวางเกี่ยวกับการเมืองมักแสดงให้เห็นแนววิธีแบบอุปนัยและการอาศัยพื้นฐานจากประสบการณ์อันนำไปสู่ความรู้ทางการเมือง เมื่อมีผู้ถามเขาว่า ผู้บริหารประเทศสูงสุดควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงหรือไม่ ทิก ถี กวางตอบว่า เขาเห็นว่าผู้นำควรมาจากรัฐสภามากกว่าเพราะ “ประสบการณ์แสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งจากสิทธิการลงคะแนนเสียงถ้วนหน้ากลับมิได้เป็นตัวแทนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” 17
ด้วยแนวคิดสัมฤทธิ์ผลนิยมเชิงปฏิบัติของทฤษฎีการเมืองแนวพุทธ ทิก ถี กวางจึงไม่มีข้อคัดค้านเชิงหลักการต่อสหรัฐอเมริกา เขาวิพากษ์วิจารณ์ชาวอเมริกันที่ไม่สามารถแยกแยะ “ระหว่างลัทธิต่อต้านชาวอเมริกันกับการคัดค้านต่อชาวอเมริกัน” 18 อย่างแรกเป็นเรื่องหลักการ ซึ่งเขาเห็นว่าไร้สาระ ส่วนอย่างหลังเป็นเรื่องของภาคปฏิบัติ ซึ่งเขาเห็นว่ามันจำเป็น “ลัทธิต่อต้านชาวอเมริกันคือความเกลียดชังชาวอเมริกันอย่างฝังใจ ไม่ว่าชาวอเมริกันจะดีสักแค่ไหน…. ส่วนการคัดค้านต่อชาวอเมริกันคือท่าทีของการประท้วงอย่างสร้างสรรค์ สมมติมีคนสองคนนั่งมาด้วยกันในรถยนต์ ถ้าคนหนึ่งเห็นว่าอีกคนขับรถไม่ปลอดภัย คนนั้นก็ควรยึดพวงมาลัยมาขับแทนเพื่อป้องกันไม่ให้รถตกคู…. การคัดค้านต่อชาวอเมริกันที่มาขัดขวางการเลือกตั้งรัฐสภาแห่งชาติ การคัดค้านต่อชาวอเมริกันที่มาสนับสนุนรัฐบาลฉ้อฉลขี้ข้า การคัดค้านต่อชาวอเมริกันที่มาช่วยกดขี่ปราบปรามในดานัง”
ทิก ถี กวางยืนยันว่า การมีรัฐสภาแห่งชาติ (Quốc Hội) เป็นสิ่งที่จำเป็นในเวียดนามใต้ ประเด็นนี้สะท้อนทัศนะตามทฤษฎีการเมืองแนวพุทธว่า รัฐบาลที่ดีคือรัฐบาลที่เอื้อต่อความเจริญทางจิตวิญญาณสำหรับคนทั้งปวง ชาวเวียดนามจำเป็นต้องมี “รัฐบาลจากการเลือกตั้งเพื่อสร้างหน้าตาให้ชาติที่สะท้อนความเป็นชาติอย่างแท้จริง” 19 สำหรับทิก ถี กวาง การมีตัวแทนของคนทุกฝ่ายจะช่วยปกป้องชีวิตทางจิตวิญญาณสำหรับคนทั้งปวงได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะสังกัดศาสนาไหน ด้วยเหตุนี้เขาจึงต่อต้านรัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยม เพราะเขามองว่ารัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยมเข้าข้างชาวคาทอลิกและกดขี่ชาวพุทธ
บทสรุป
หากปราศจากความเข้าใจในทฤษฎีการเมืองแนวพุทธ กล่าวคือ ทัศนะว่าการเมืองเป็นเรื่องไม่สำคัญแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และบางครั้งก็จำเป็นต่อการสร้างเงื่อนไขเพื่อความเจริญทางจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล เราก็จะสับสนงงงวยต่อความคิดทางการเมืองของทิก ถี กวางยิ่งกว่าเดิม เมื่อปราศจากการอ่านผ่านเลนส์ของทฤษฎีการเมืองแนวพุทธ ข้อเขียนเกี่ยวกับทิก ถี กวางในภาษาอังกฤษก่อนหน้านี้จึงเห็นแต่ภาพของบุคคลทางการเมืองที่เปลี่ยนสีแปลงร่าง เอาแน่เอานอนไม่ได้ กระหายอำนาจ ขัดแย้งในตัวเอง อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการเมืองแนวพุทธไม่เน้นหลักการ แต่เน้นความสัมฤทธิ์ผลเชิงปฏิบัติ จึงย่อมหมายความว่าแนวคิดนี้เต็มใจที่จะมีจุดยืนแตกต่างหลากหลายที่ดูเหมือนขัดแย้งกันเองในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่กว่าเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง ดังที่กาว ฮุย ถ่วนสรุปไว้อย่างชัดเจนอีกครั้งว่า
“อาจารย์ของผมพูดหลายภาษา บ้างกล่าวหาว่าท่านสนับสนุนคอมมิวนิสต์ บ้างกล่าวหาว่าท่านสนับสนุนอเมริกา มีครั้งหนึ่งที่ท่านสวมหมวกทั้งสองใบพร้อมกัน ท่านเคยกล่าวต่อเหล่าศิษย์ผู้จงรักเมื่ออยู่ตามลำพังว่า ‘ยิ่งเราสวมหมวกหลายใบ ก็ยิ่งเหมือนเราไม่ได้สวมหมวกเลย ในทางกลับกัน ยิ่งมีหมวกหลายใบก็ยิ่งดี มันจะช่วยยกย่องและเน้นให้เห็นสถานะพิเศษของพุทธศาสนา ดังนั้น พุทธศาสนาจึงไม่ควรหลีกหนี แต่ควรโอบรับจุดยืนที่ขัดแย้งกันเองแบบนี้’”
ทิก ถี กวางยังกระตุ้นให้เราคิดด้วยว่า มันมีความหมายเช่นไรในการยึดทางสายกลางท่ามกลางความขัดแย้งโดยไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ทิก ถี กวางแสดงให้เราเห็นว่า ทฤษฎีการเมืองแนวพุทธมีความเหมาะสมต่อจุดยืนนี้ ทั้งนี้เพราะเป้าหมายสุดท้ายที่เหนือกว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็คือการกระทำที่เอื้อต่อความเจริญทางจิตวิญญาณมนุษย์สำหรับคนทั้งปวง เขาเข้าใจความจำเป็นที่เวียดนามใต้ต้องมีอัตลักษณ์แห่งชาติ เชิงบวก ไม่ใช่แค่ ต่อต้านคอมมิวนิสต์เฉยๆ เราควรไตร่ตรองให้มากขึ้นถึงความหมายของการยึด “ทางสายกลาง” ในทุกวันนี้ด้วย ทฤษฎีการเมืองแนวพุทธของทิก ถี กวางเตือนใจให้เราระลึกว่า เราไม่ควรมองการเมืองเป็นเสมือนการแข่งกีฬาที่แต่ละคนต้องเลือกทีมใดทีมหนึ่ง แต่บางครั้งควรมองว่าการเมืองเป็นวิธีการที่จำเป็นแต่ไม่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่เป็นความเจริญทางจิตใจของมนุษย์
Notes:
- “Determined Buddhist Tri Quang,” New York Times, September 4, 1963. ↩
- Richard Paddock, “Thich Tri Quang, 95, Galvanizing Monk in South Vietnam, Dies,” New York Times, November 20, 2019. ↩
- For a review, see James McAllister, “‘Only Religions Count in Vietnam’: Thich Tri Quang and the Vietnam War,” Modern Asian Studies 42, 4 (2008) pp. 751–782. ↩
- “Vietnam’s Political Buddhism and the War,” Time, April 22, 1966. ↩
- McAllister, “Only Religions Count,” 751. ↩
- “Saigon Buddhism: Complex Mixture,” New York Times, April 15, 1966. ↩
- “Powerful Buddhist Tri Quang,” New York Times, April 20, 1966. ↩
- Matthew J. Moore, Buddhism and Political theory (New York: Oxford University Press, 2016) ↩
- Ibid., 2. ↩
- Cao Huy Thuần, “Đại lão Hòa thượng Thích Trí Quang: ‘Một trang lịch sử,’” BBC News, November 10, 2019. ↩
- Moore, Buddhism, 26. ↩
- Ibid. ↩
- Quoted in Paddock. See note 2. ↩
- McAllister, “Only Religions Count,” 773. ↩
- Ibid., 761 ↩
- Ngo The Vinh, “Ninety Six Minutes with Reverend Thich Tri Quang,” May 5, 1966 https://thuvienhoasen.org/images/file/vXLJaQXt1wgQACli/96-minutes-with-reverend-tri-quang-1966-ntv-pdv-.pdf (accessed October 12, 2021). ↩
- “World: A Talk with Thich Tri Quang,” Time, April 22, 1966. ↩
- See note 16. ↩
- Ibid. ↩