ใครคือภัยคุกคาม?
เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศไทยอภิปรายกันถึงแนวโน้มต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเด็นหนึ่งที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาก่อนอื่นเสมอและไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดก็คือ จุดยืนของประเทศไทยต่อการขับเคี่ยวกันระหว่างจีนกับอเมริกาเพื่อการมีอิทธิพลสูงสุดในเอเชียหรือในโลกด้วยซ้ำ เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่รัฐบาลอเมริกันค่อยๆ ลดบทบาทของตนในตะวันออกกลางลงตลอดช่วงระยะหลัง ดูเหมือนยุทธศาสตร์ใหญ่ก้าวต่อไปของอเมริกาคือการเข้ามามีบทบาทเป็นศูนย์กลางในเอเชีย ดังเช่นตัวอย่างที่โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่มยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกไว้ ในทำนองเดียวกัน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา ก็แสดงให้เห็นสัญญาณบ่งบอกความสนใจต่อเอเชียหลายครั้งหลายหนเช่นกัน
นักวิเคราะห์เกี่ยวกับประเทศไทยย่อมมีการคาดการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการในโลกเช่นดังข้างต้นเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยสามารถกำหนดนโยบายต่างประเทศในวิถีทางที่เกิดประโยชน์ที่สุด เมื่อต้องเลือกระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา มักมีข้อแนะนำว่ารัฐบาลไทยควรพยายามสร้างสมดุลให้แก่ความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศมหาอำนาจ ความเชื่อนี้เกิดมาจากภาษิตเก่าแก่ที่แพร่หลายเป็นวงกว้างในหมู่คณะทำงานด้านการทูตชาวไทยว่า “เพื่อนในวันนี้อาจกลายเป็นศัตรูในวันหน้า”
บทความสั้นๆ ชิ้นนี้ขอเสนอคำแนะนำที่แตกต่างจากคำแนะนำของคนอื่นๆ โดยขอนำเสนอเหตุผลว่าทำไมไทยจึงควรเลือกข้างในยุคปัจจุบันที่มีการชิงดีชิงเด่นระหว่างจีนกับอเมริกา บทความนี้เสนอแนะว่า จีนต่างหาก มิใช่อเมริกา ที่เป็นภัยคุกคามอย่างชัดเจนต่อความมั่นคง สถานะ จนแม้กระทั่งคุณค่าเสรีนิยม-ประชาธิปไตยของประเทศไทย บทความนี้เริ่มต้นด้วยการวางแนวทางในการประเมินว่าจีนหรือสหรัฐฯ กันแน่ที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยมากกว่ากัน จากนั้นจึงจะหยิบยกความเป็นไปต่างๆ จากปี 2020-2021 มาสนับสนุนข้อเสนอนี้
ภัยคุกคามแค่เอื้อม
ในการนิยามว่ามหาอำนาจประเทศไหนที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยอย่างชัดเจน เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปทบทวนทฤษฎีเก่าแก่ถึงสามทศวรรษของ Stephen M. Walt ในแนวคิดที่เรียกว่า “ทฤษฎีความสมดุลของภัยคุกคาม” วอลท์ตั้งข้อสังเกตอย่างเฉียบคมว่า รัฐมักสร้างความสมดุลต่อภัยคุกคามมากกว่าอำนาจ ในแง่นี้ ถึงแม้มหาอำนาจบางประเทศอาจสะสมศักยภาพในการคุกคามมากกว่าประเทศอื่น แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นภัยที่คุกคามต่อประเทศอื่นจริงๆ วอลท์เสนอปัจจัยสี่ประการเพื่อชี้วัดแหล่งของภัยคุกคามที่อาจเป็นไปได้ต่อความมั่นคงของประเทศหนึ่งๆ 1 ปัจจัยสี่ประการดังกล่าวมีดังนี้คือ (1) “อำนาจมวลรวม” (ทรัพยากรทั้งหมด เช่น ประชากร ขนาดทางภูมิศาสตร์ ความสามารถด้านเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี) (2) “ขีดความสามารถในการรุกราน” (3) “ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์” และ (4) “เจตนาที่จะรุกราน”
ถึงแม้ค่อนข้างชัดเจนว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างก็มีปัจจัยที่หนึ่งและสองครบถ้วน (ทั้งสองชาติมีอำนาจมวลรวมและขีดความสามารถในการรุกรานทางทหาร เช่น อาวุธนิวเคลียร์) แต่มันค่อนข้างท้าทายทีเดียวในการตัดสินว่าอเมริกาหรือจีนที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อไทยเมื่อวัดจากปัจจัยข้อที่สามและสี่ ในประการแรกเลย ปัจจัยของความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์บ่งบอกว่าจีนสามารถเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศไทยมากกว่าสหรัฐอเมริกา ประเด็นนี้ค่อนข้างมีเหตุผลทีเดียว เพราะเหตุใดเล่าประเทศในทวีปอเมริกาเหนือจึงจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้? ฉากสมมติในกรณีเลวร้ายที่สุดที่สหรัฐอเมริกาสามารถทำอันตรายต่อประเทศในเอเชียมีอะไรบ้าง นอกจากการถอนกองทัพออกจากภูมิภาคนี้?
ตรงกันข้าม หากไม่มีกองทัพสหรัฐฯ ในเอเชียเลย ก็จะเปิดช่องให้การขยายอำนาจของจีนเติบโตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนตุลาคม 2021 ประธานาธิบดีไบเดนปฏิญาณว่าจะปกป้องไต้หวัน หากจีนตัดสินใจบุกเกาะนี้ 2 คำมั่นอันหนักแน่นของไบเดนเป็นผลมาจากการที่จีนแสดงอาการยั่วยุอย่างต่อเนื่องว่าจะผนวกเกาะไต้หวันด้วยกำลัง ในขณะที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินของไต้หวันก็แสดงจุดยืนตั้งมั่นในอธิปไตยของประเทศตนอย่างไม่ระย่อ นอกจากนี้ยังเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ รับรองว่าจะคุ้มครองเสรีภาพของการเดินเรือในทะเลจีนใต้ ซึ่งช่วยถ่วงรั้งจีนมิให้โอบล้อมเส้นทางเดินเรือสำคัญในเอเชียตะวันออก
ในประเทศไทย ผู้วางนโยบายบางกลุ่มและผู้สนับสนุนขวาจัดเห็นว่าความสัมพันธ์กับจีนมีความสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์กับอเมริกา เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ แจกแจงลักษณะของการเลี้ยวขวาหันไปนิยมจีนว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์สี่ประการ นั่นคือ “ลัทธิชาตินิยมต่อต้านตะวันตก” “อุดมการณ์โลกาภิวัตน์ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง” “ลัทธิฉวยโอกาสแบบปรสิตไร้ยางอาย” และ “ลัทธิอำนาจนิยมลอกเลียนแบบไร้สติปัญญา” 3 แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ยังกล่าวออกมาตรงๆ กับนิตยสาร Time ว่า จีนเป็น “หุ้นส่วนอันดับหนึ่ง” ของประเทศไทย 4 การเอนเอียงเข้าหาจีนโดยไม่ตระหนักว่าจีนอาจเป็นภัยคุกคามเพราะการมีตำแหน่งที่ตั้งประเทศใกล้กัน ไม่ใช่แค่การมองการณ์สั้น แต่ยังสร้างความสุ่มเสี่ยงล่อแหลมให้แก่นโยบายต่างประเทศของไทยในระยะยาวด้วย
ถ้าย้อนมากล่าวในทางประวัติศาสตร์แล้ว จีนแผ่นดินใหญ่เคยเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยมาก่อนเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ในยุคก่อนสมัยใหม่ ประเทศไทย (หรือสยามในตอนนั้น) ตกอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์แบบจิ้มก้องกับราชอาณาจักรจีนโบราณ ในช่วงสมัยระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับสงครามโลกครั้งที่สอง ปัญหาผู้อพยพชาวจีนเป็นเรื่องที่สร้างความวิตกกังวลแก่เจ้าหน้าที่รัฐไทย ตั้งแต่ปี 1950 จนถึง 1975 นโยบายส่งออกลัทธิคอมมิวนิสต์ของจีนสร้างภยันตรายร้ายแรงแก่ระบอบการปกครองของไทยในช่วงสงครามเย็น ในส่วนของสหรัฐอเมริกา การเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเป็นกำแพงต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อริชาร์ด นิกสันถอนกำลังกองทัพออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความมั่นคงของประเทศไทยก็สั่นคลอน กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การสำแดงแสนยานุภาพของอเมริกาในประเทศไทยต่างหากที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ประเทศไทยและภูมิภาคนี้ ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม จริงอยู่ สหรัฐอเมริกาไม่เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือประเทศไทยเลยในช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในปี 1997 ครั้งนี้รัฐบาลอเมริกันทำตัวเหมือนคนรู้จักห่างเหินเหตุเพราะมีผลประโยชน์อยู่ที่อื่น อเมริกาไม่สามารถข่มขู่คุกคามต่อไทยเนื่องจากระยะห่างทางภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างสองประเทศ
ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ประการหนึ่งซึ่งอาจปะทุขึ้นมาในอนาคตคือ ปัญหาน้ำแห้งขอดในแม่น้ำโขง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเขื่อน 11 แห่งของจีนที่สร้างขวางแม่น้ำโขงตอนบน ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐของจีนปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เขื่อนทั้ง 11 แห่งไม่ใช่ต้นเหตุของการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง แต่การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งอ้างว่า เขื่อนของจีนเป็นต้นตอทำให้สถานการณ์น้ำย่ำแย่ลงในแม่น้ำโขงตอนล่าง 5 ถึงแม้มีการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในฟากฝ่ายของไทยอยู่บ้าง แต่รัฐบาลไทยไม่เคยหารืออย่างมีสาระจริงจังเพื่อกดดันให้ฝ่ายจีนแก้ไขปัญหานี้เลย
ภูมิศาสตร์เป็นรากฐานสำคัญในการวางโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพราะมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ประเทศเพื่อนบ้านที่ดีจะกลายเป็นฝันร้ายทันทีที่กลายเป็นปฏิปักษ์ ประเทศชั่วร้ายที่อยู่ห่างไกลอาจน่าวิตก แต่ไม่หลอกหลอน จากแง่มุมนี้ ไทยจึงควรทำเครื่องหมายไว้ว่าจีนน่ากลัวกว่าสหรัฐอเมริกา
ภัยคุกคามต่อค่านิยมหลัก
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จีนมักแสดงออกอย่างภาคภูมิใจเสมอว่าตนมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น แต่ความเชื่อนี้น่าจะรักษาไว้ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปในระยะหลัง
นับตั้งแต่ต้นปี 2020 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ถึงแม้สถานการณ์ของโรคระบาดจะร้ายแรง แต่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลก็ยังลงถนนเพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกจากตำแหน่ง ความมุ่งหมายที่เป็นหัวใจสำคัญของขบวนการที่มีเยาวชนเป็นแกนนำก็คือ เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเมืองไทยให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างถึงรากถึงโคน กลยุทธ์หลายอย่างของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของฮ่องกง ซึ่งมีโจชัว หว่องเป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง ขบวนการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ในนามว่า “พันธมิตรชานม” อันเป็นเครือข่ายออนไลน์ที่ประกอบด้วยพลเมืองออนไลน์ชาวฮ่องกง ไต้หวันและไทยที่ช่วยกันรณรงค์ต่อต้านระบอบเผด็จการ
สื่อจีนบางสำนักมองกระแสประชาธิปไตยนี้ด้วยความหวาดระแวง หนังสือพิมพ์ Global Times ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาล ตีพิมพ์รายงานข่าวกล่าวหาว่า ขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย “มีสายสัมพันธ์บางอย่างกับสหรัฐอเมริกา” 6 รายงานข่าวคล้ายๆ กันนี้อีกชิ้นหนึ่งถึงกับกล่าวหาด้วยความเท็จว่า มีชาวตะวันตกที่ไม่ระบุตัวตนกลุ่มหนึ่งสั่งสอนนักศึกษาในประเทศไทยให้จัดเวทีและเครื่องกีดขวาง ผู้เขียนข่าวอธิบายว่า กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล “สมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่นๆ เพื่อนำเอาตัวแทนจากตะวันตกมาปกครองประเทศ” 7
ถึงแม้หลักฐานที่จะโยงใยว่าจีนเข้ามาแทรกแซงยังไม่ชัดเจน แต่ทัศนะของรัฐบาลจีนต่อขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่เป็นไปในทางที่ดีแน่นอน นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 (2014) ซึ่งนำพาประยุทธ์ขึ้นสู่อำนาจ ความสัมพันธ์จีน-ไทยยิ่งแน่นแฟ้นกันมากกว่าเดิม ประเทศไทยทำข้อตกลงซื้ออาวุธจากจีนเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่น่าพิศวง ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า การที่จีนขายอาวุธให้ประเทศไทยย่อมหมายถึงการสร้างอิทธิพลภายในกองทัพไทย เพราะฝ่ายไทยต้องพึ่งพิงจีนทั้งในด้านอะไหล่และการบำรุงรักษา 8 ถ้ากองทัพไทยที่หนุนหลังรัฐบาลประยุทธ์มีความนิยมฝักใฝ่จีน ขบวนการประชาธิปไตยที่ท้าทายระบอบเผด็จการไทยก็ย่อมท้าทายต่อเส้นสายอิทธิพลจีนในไทยไปด้วยในตัว
ยิ่งกว่านั้น นโยบายของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 เป็นข้อพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ที่จีนไม่ค่อยเป็นมิตรต่อค่านิยมแบบประชาธิปไตย เมื่อต้นปี 2021 รัฐบาลประชาธิปไตยจอมปลอมของประเทศไทยหมกมุ่นอยู่แต่การจัดซื้อจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ออกซฟอร์ดคิดค้นและวัคซีนซิโนแวคที่จีนผลิต แต่ทัศนะของสาธารณชนชาวไทยที่มีต่อวัคซีนเป็นไปในทางลบ โดยเฉพาะในฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย 9 ในขณะเดียวกัน การนำเข้าวัคซีนทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาก็ถูกถ่วงให้ล่าช้าอย่างน่าประหลาดในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2021 ส่วนวัคซีนซิโนแวคกลับไหลเข้ามาท่วมท้นประเทศไทยมากกว่า 30 ล้านโดส ด้วยเหตุนี้ พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงระแวงแคลงใจว่ากรุงเทพน่าจะสมรู้ร่วมคิดกับปักกิ่งเกี่ยวกับข้อตกลงการจัดซื้อจัดหาวัคซีน
ระหว่างการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อเดือนกันยายน 2021 นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานรัฐสภาของไทย เตือนพรรคฝ่ายค้านให้งดเว้นการอภิปรายถึงความไร้ประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค โดยอ้างว่ามันจะทำลายความสัมพันธ์ทวิภาคีกับปักกิ่ง 10 เหตุการณ์นี้ถือเป็นการลบหลู่รัฐสภาไทยอย่างเหลือจะกล่าว เพราะรัฐสภาของประเทศไทยก็ควรเป็นตัวแทนผลประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย นักการเมืองฝ่ายขวาจัดไม่เคยละเว้นที่จะแปะป้ายประณามสหรัฐอเมริกา ถ้าเช่นนั้นทำไมถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่โตถ้าอีกฝ่ายจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเป็นความล้มเหลวเล่า? เหตุผลเพียงอย่างเดียวที่เป็นไปได้ก็คือ รัฐบาลประยุทธ์เข้าใจดีว่ารัฐบาลจีนนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ การรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับปักกิ่งและสั่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนซิโนแวคจึงเป็นวาระสำคัญที่สุดของประยุทธ์
ตามแนวปะทะในสื่อสังคมออนไลน์นั้น จีนใช้วิธีการที่บางคนอาจเรียกว่า “การทูตแบบกองพันหมาป่า” (wolf-warrior diplomacy) กล่าวโดยรวมก็คือ กองพันหมาป่าหรือนักการทูตจีนมีบทบาทในการเผยแพร่ถ้อยคำโต้เถียงและก้าวร้าวในทุกช่องทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างแข็งขัน ยกตัวอย่างเช่น ในหน้าเพจเฟสบุ๊คของ “สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย” นักการทูตจีนรณรงค์ด้วยวิธีการสกปรกโดยกล่าวหาว่าสหรัฐอเมริกาน่าจะเป็นตัวการสำคัญเบื้องหลังการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ 11 นอกจากนี้ สถานทูตจีนยังตอบโต้ความลังเลใจของสังคมไทยที่มีต่อวัคซีนซิโนแวค โดยประกาศบนบัญชีเฟสบุ๊คของตนเมื่อวันที่ 3 กันยายนว่า การวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคเป็นการบ่อนทำลายความสัมพันธ์จีน-ไทย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น จีนทำให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าเดิม กล่าวคือ มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จีนเป็นผู้สนับสนุนเบื้องหลังบทความชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Bangkok Post ซึ่งกล่าวหาว่าสหรัฐอเมริกากุความเท็จขึ้นมาเกี่ยวกับ “ต้นกำเนิดของไวรัส” บทความนี้ได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสถานทูตจีนในประเทศไทยด้วย 12
เมื่อมองอย่างผิวเผิน ยุทธศาสตร์กองพันหมาป่าของจีนในประเทศไทยคือการต่อกรกับสหรัฐอเมริกา กระนั้นก็ตาม การต่อกรนั้นเกิดขึ้นบนแผ่นดินของประเทศไทย ตามธรรมเนียมแล้ว นักการทูตชาวต่างชาติที่อาศัยในต่างประเทศจะเคารพอำนาจอธิปไตยของเจ้าบ้าน แต่สิ่งที่จีนทำกลับตรงกันข้ามกับแบบแผนปฏิบัติที่มีมาดั้งเดิม กองพันหมาป่าจีนใช้ประเทศไทยเป็นสนามรบของตน เรื่องที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือประเทศไทยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อกลอุบายฉวยโอกาสเช่นนี้ ไม่เคยมีรายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยเคยเตือนสถานทูตจีนให้ลดการแสดงออกแบบยั่วยุลงบ้าง
ควรรับมือกับภัยคุกคามอย่างไร?
เท่าที่วิเคราะห์มาข้างต้นก็คงพอมองเห็นชัดแล้วว่า จีนน่าจะเป็นภัยคุกคามมากกว่าสหรัฐฯ การตระหนักว่าจีนคือภัยคุกคามอันดับหนึ่งไม่ได้หมายถึงการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต แต่หมายถึงว่ากรุงเทพต้องหาวิธีถ่วงดุลด้วยการเข้าหาและดึงวอชิงตันเข้ามามีบทบาทในเกมอำนาจสามเส้านี้
ความเป็นไปในภูมิภาคนี้ในระยะหลังบ่งชี้ว่า อเมริกามีเป้าหมายอยู่ที่เอเชีย ในเดือนกันยายน 2021 ประธานาธิบดีไบเดนลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงไตรภาคีกับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ “ออคัส” (AUKUS) ในข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนครั้งประวัติศาสตร์นี้ สหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนออสเตรเลียในการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ในเดือนมีนาคม 2021 มีการรื้อฟื้นการประชุมจตุภาคีด้านความมั่นคง (Quadrilateral Security Dialogue หรือ QUAD) ในหมู่สี่ชาติสมาชิก นั่นคือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ทั้งออคัสและ QUAD คือข้อริเริ่มสองประการที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการรุกรานของจีนในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ทางเลือกของไทยคือโอนเอียงเข้าหาสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างดุลยภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในกรอบการคิดเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศนั้น ถ้าคิดแบบนักสัจนิยม จีนย่อมเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศไทยอย่างแน่นอน สืบเนื่องมาจากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ถ้าคิดแบบนักเสรีนิยม อิทธิพลของจีนในประเทศไทยยิ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อค่านิยมที่ขบวนการประชาธิปไตยใดๆ ย่อมยึดถือ
พีระ เจริญวัฒนนุกูล
พีระ เจริญวัฒนนุกูลเป็นอาจารย์สาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Notes:
- Stephen M. Walt, “Alliance Formation and the Balance of World Power,” International Security Vol.9, No.4 (1985): 3-43. ↩
- Stephen McDonell, “Biden says US will defend Taiwan if China attacks,” BBC, October 22, 2021, https://www.bbc.com/news/world-asia-59005300. ↩
- Kasian Tejapira, “The Sino-Thais’ right turn towards China,” Critical Asian Studies Vol.49, No.4 (2017): 606-618. ↩
- Charlie Campbell, “Exclusive: Thailand PM Prayuth Chan-ocha on Turning to China over the US,” Time, June 21, 2018, https://time.com/5318224/exclusive-prime-minister-prayuth-chan-ocha-thailand-interview/. ↩
- The Economist, “The Shrinking Mekong: South-East Asia’s Biggest River is Drying Up,” The Economist, May 16, 2020, https://www.economist.com/asia/2020/05/14/south-east-asias-biggest-river-is-drying-up. ↩
- Yang Sheng, “HK rioters criticized for meddling in Thai protests,” Global Times, October 20, 2020, https://www.globaltimes.cn/content/1204125.shtml. ↩
- Yu Qun, “Behind-scenes funding of Thailand protests show invisible Western hands,” Global Times, October 21, 2020, https://www.globaltimes.cn/content/1204212.shtml. ↩
- Ian Storey, “Will the Covid-19 Crisis Affect Thai-China Defence Cooperation?,” Institute of Southeast Asian Studies, May 29,2020, https://www.iseas.edu.sg/media/commentaries/will-the-covid-19-crisis-affect-thai-china-defence-cooperation/. ↩
- Khairulanwar Zaini and Hoang Thi Ha, “Understanding the Selective Hesitancy towards Chinese Vaccines in Southeast Asia,” Institute of Southeast Asian Studies, September 1, 2021, https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2021-115-understanding-the-selective-hesitancy-towards-chinese-vaccines-in-southeast-asia-by-khairulanwar-zaini-and-hoang-thi-ha/. ↩
- Aekarach Sattaburuth, “Prayuth defends govt virus crisis handling,” Bangkok Post, August 31, 2021, https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/2173619/censure-debate-kicks-off. ↩
- Chinese Embassy Bangkok Facebook page on August 23, 2021. ↩
- Bangkok Post, “The US ‘Assessment on Covid-19 Origins’ Infected by the Political Virus is No Way Credible,” Bangkok Post, August 30, 2021, https://www.bangkokpost.com/business/2173487/the-us-assessment-on-covid-19-origins-infected-by-the-political-virus-is-in-no-way-credible.; See also Spokesperson of the Chinese Embassy in Thailand, “The US ‘Assessment on Covid-19 Origins’ Infected by the Political Virus is No Way Credible,” Embassy of the People’s Republic of China in the Kingdom of Thailand, August 30, 2021, http://www.chinaembassy.or.th/eng/gdxw/t1903063.htm. ↩