เว็บไซท์ CIA’s World Factbook บรรยายว่าประเทศไทยเป็นประเทศชาติพันธุ์เดียว โดยมีสัดส่วนคนไทยถึง 95% ของประชากรทั้งหมด 1 จินตภาพนี้สอดคล้องอย่างยิ่งกับการปั้นแต่งลักษณะเด่นของประเทศไทยฉบับทางการที่ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยยุคปลายอาณานิคม เมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสโอบล้อมสยาม (ชื่อเดิมของประเทศไทยจนถึงปี 2482) จากทุกด้าน ชนชั้นนำของสยามเริ่มอ้างว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มใหญ่ๆ ภายในอาณาบริเวณที่ตนครองอำนาจนั้นเป็นสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยตามภาคต่างๆ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของชาวสยาม ดังนั้น คนลาวในที่ราบสูงโคราช (ทุกวันนี้มีสัดส่วนประมาณ 30% ของประชากร) จึงกลายเป็นชาวไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคนลาวดำตามเทือกเขาทางภาคเหนือ (ทุกวันนี้มีสัดส่วนประมาณ 12% ของประชากร) จึงกลายเป็นคนไทยภาคเหนือ 2 โครงการชาตินิยมไทยเริ่มต้นจากจุดนี้ โดยเลียนแบบรัฐชาติยุโรปที่กำลังคุกคามพรมแดนของตน การศึกษาภาคบังคับของภาครัฐเป็นเครื่องมือสำคัญเคียงคู่ไปกับการทำแผนที่ การรวมศูนย์ศาสนาพุทธและการโฆษณาชวนเชื่อระดับชาติ หากจะหยิบยืมข้อเขียนอันมีชื่อเสียงของยูจีน เวเบอร์เกี่ยวกับพัฒนาการของลัทธิชาตินิยมฝรั่งเศส กระบวนการนี้ก็คือการเปลี่ยนชาวนาให้เป็น “คนไทย” นั่นเอง 3 โครงการชาตินิยมไทยประสบความสำเร็จแค่ไหนหลังจากดำเนินการมายาวนานถึง 120 ปี?
ผู้เขียนสำรวจตรวจสอบคำถามนี้ในกลุ่มชาติพันธุ์ล้านนาทางภาคเหนือของประเทศไทย ชาวล้านนาในภาคเหนือมีประชากรประมาณ 8 ล้านคน หรือราว 12% ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย 4 โดยทั่วไป พวกเขามักเรียกตัวเองด้วยชื่อเรียกชาติพันธุ์ว่า คนเมือง แปลตามตรงหมายถึง “ประชาชนของเมือง 5” คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าไทยวนและไทยภาคเหนือด้วย แต่ละชื่อมีต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์และนัยยะทางการเมืองแตกต่างกันไป อันที่จริง เมื่อสยามผนวกดินแดนของอดีตอาณาจักรล้านนาเป็นครั้งแรกในปี 2442 ชนชั้นนำสยามยังเรียกพวกเขาว่าลาว 6 การผนวกรวมชาวล้านนาเข้ามาอยู่ในอัตลักษณ์ชาติไทยประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง? พวกเขามองตัวเองเป็นคนไทยแค่ไหนและอัตลักษณ์อื่นๆ ยังคงหลงเหลืออยู่ในระดับมากน้อยแค่ไหน?
วิธีการหนึ่งในการตอบคำถามนี้คือสำรวจทัศนคติและความเข้าใจโดยทั่วไปของชาวล้านนา ในขณะที่สังคมไทยมักมองกลุ่มชาติพันธุ์อีสานแบบเหมารวมในเชิงลบ ส่วนชาวล้านนามักถูกวาดภาพเป็นคนอ่อนโยนมีวัฒนธรรม บางทีอาจเป็นเพราะชาวล้านนาไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมที่อาศัยในประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ดังเช่นชาวอีสานมีชาติพันธุ์ร่วมกับคนเชื้อสายลาวในประเทศลาวที่เป็นเพื่อนบ้าน หรือบางทีอาจเป็นเพราะอาณาจักรไทยุคแรกสุดมีตำแหน่งที่ตั้งตรงพรมแดนที่ประชิดกับอาณาจักรล้านนาในประเทศไทยยุคปัจจุบัน ไม่ว่าเพราะอะไรก็ตาม ชาวกรุงเทพมองเชียงใหม่เป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยม คนกรุงเทพมักกลับเมืองหลวงพร้อมเรื่องเล่าเกี่ยวกับความงาม ผิวพรรณขาวผ่อง คำพูดจาไพเราะอ่อนหวานและวัฒนธรรมอันรุ่มรวย
บทความนี้พยายามก้าวพ้นการมองแบบเหมารวม รวมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ไทยของชาวล้านนาด้วยการใช้ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนัก World Values Survey (WVS) นอกจากนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอผลลัพธ์จากโครงการ Lanna Cultural Project (LCP) ซึ่งมีการสำรวจความคิดเห็นสามครั้งที่ผู้เขียนเก็บรวบรวมในภาคเหนือระหว่างปี 2558 จนถึงปี 2562
อัตลักษณ์ชาติไทย
ผู้เขียนใช้สองคำถามจากสำนัก WVS ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นสองครั้งในประเทศไทย คือในปี 2550 และปี 2556 WVS ตั้งคำถามว่าพูดภาษาอะไรในบ้าน ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายวัดความเป็นชาติพันธุ์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในแบบสำรวจความคิดเห็น รวมทั้งเป็นมาตรวัดอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ดี แม้ยังไม่สมบูรณ์ เราสามารถใช้มาตรวัดนี้ตรวจสอบความเข้มแข็งของอัตลักษณ์ชาติไทยที่แตกต่างกันไป รูป 1 แสดงผลลัพธ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์ตอบคำถามว่า “คุณภูมิใจในความเป็นคนไทยแค่ไหน?” คำตอบจัดแบ่งตามคะแนน 4 ระดับ 1 หมายถึง “ไม่ภูมิใจเลย” และ 4 หมายถึง “ภูมิใจมาก” ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ตอบ 3 หรือ 4 โดยมีค่าเฉลี่ยรวมของทั้งกลุ่มเกิน 3.5 ชาวไทยภาคกลาง (หรือชาวสยาม) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอำนาจในประเทศ กลับมีค่าเฉลี่ยความภูมิใจต่ำสุด ค่าเฉลี่ยของชาวล้านนาในการสำรวจปี 2550 และปี 2556 มีระดับความภูมิใจสูงสุด รองลงมาในคะแนนที่ไม่ห่างกันนักคือชาวอีสาน
ผลลัพธ์ข้างต้นสะท้อนรับกับคำตอบของอีกคำถาม ซึ่งวัดระดับที่ผู้ตอบคำถามมองตัวเองเป็นพลเมืองไทย เช่นเดียวกัน เราวัดด้วยคะแนน 4 ระดับ รูป 2 แสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยของทุกกลุ่มอยู่ระหว่าง “เห็นด้วย” (3) กับ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” (4) อีกครั้งที่ชาวล้านนาได้ค่าเกณฑ์เฉลี่ยสูงสุดสำหรับคำถามนี้
ถ้าเช่นนั้น เราควรสรุปเลยไหมว่าชาวล้านนามีความเป็นคนไทยมากที่สุด? สิ่งที่แน่ใจไม่ได้ในทั้งสองคำถามนี้ก็คือ บริบทแวดล้อมเมื่อผู้ตอบแบบสอบถามตอบคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครหรืออะไรคือกลุ่มภายนอกที่ผู้ตอบคำถามใช้เปรียบเทียบกับตัวเอง? ถ้าฉันไม่ภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย แล้วฉันมีความภูมิใจในอัตลักษณ์อื่นใดหรือเปล่า? ในทำนองเดียวกัน ถ้าฉันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชาติไทย ฉันจะเป็นส่วนหนึ่งของชาติไหน? งานเขียนเกี่ยวกับชาติพันธุ์ยืนยันมานานแล้วว่า ปัจเจกบุคคลยึดมั่นหลายอัตลักษณ์ในเวลาเดียวกัน แต่ละอัตลักษณ์ก็ชิงดีชิงเด่นกัน ทั้งในบริบทโดยรวมและในบริบทเฉพาะ เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพความซับซ้อนของการด่วนสรุปง่ายๆ ว่าชาวล้านนามีความเป็นไทยมากที่สุด ผู้เขียนขอเสนออีกคำถามจากสำนัก WVS นั่นคือ คำถามว่า ผู้ตอบคำถามมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน? ในแบบสอบถามของ WVS คำถามนี้ถามต่อจากคำถามเกี่ยวกับการมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย รูป 3. แสดงผลลัพธ์ของคำตอบ ชาวล้านนาได้คะแนนเป็นอันดับสูงสุดอีกครั้ง ชี้ให้เห็นว่าพวกเขามีทั้งอัตลักษณ์ความเป็นชาติและความเป็นท้องถิ่นที่เข้มข้นที่สุด แต่เราควรตีความผลลัพธ์นี้อย่างไร? ในสายตาของหลายคน ผลลัพธ์เช่นนี้น่าพิศวงงงงวย กลุ่มที่ยึดมั่นอัตลักษณ์ไทยเข้มข้นที่สุดควรมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นจืดจางที่สุดไม่ใช่หรือ? ผลลัพธ์แบบนี้หมายความว่าอะไร?
เนื่องจากการสำรวจของสำนัก WVS ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อวิเคราะห์คำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์แห่งชาติกับชาติพันธุ์ ผลสำรวจจึงบอกเราได้จำกัดเกี่ยวกับความรู้สึกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยทั้งต่ออัตลักษณ์ชาติไทยหรืออัตลักษณ์ล้านนา ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ผู้เขียนจึงทำการสำรวจสามครั้งที่เจาะลึกลงในคำถามเหล่านี้ ประการแรกสุด ผู้เขียนถามคำถามเดิมซ้ำ นั่นคือ “คุณภูมิใจในความเป็นคนไทยแค่ไหน?” เพื่อตรวจสอบปัญหาความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการตอบคำถามตามความปรารถนาของสังคม (desirability bias) และขีดจำกัดของคำถามของ WVS เริ่มแรก ผู้เขียนขอให้ผู้ตอบคำถามเปรียบเทียบตัวเองกับระดับความภูมิใจของคนไทยโดยเฉลี่ย โดยเราบอกพวกเขาว่ามันเป็นค่าตรงกลาง เหตุผลก็คือเพื่อช่วยให้ผู้ตอบคำถามรู้สึกสบายใจมากขึ้นหากจะแสดงระดับความภูมิใจที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบโดยไม่ต้องเปิดเผยถึงระดับความภูมิใจที่ต่ำโดยสมบูรณ์ ในประเทศไทย มีแรงกดดันทางสังคมอย่างเข้มข้นให้ทุกคนต้องแสดงความรู้สึกชาตินิยมในระดับสูง ระดับที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบไม่จำเป็นต้องหมายถึงระดับต่ำอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงช่วยลดการตอบคำถามตามความปรารถนาของสังคมได้ การปรับแต่งคำถามประการที่สองเป็นเพียงการเพิ่มขีดวัดระดับให้กว้างขึ้นกว่าเดิม โดยเพิ่มจากสี่ระดับเป็น 10 ระดับ รูป 5. แสดงผลลัพธ์จากคำตอบ มีเพียง 11.82% เท่านั้นที่มองตัวเองอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในแง่ของความภูมิใจในความเป็นคนไทย อีกราว ~15% มองว่าตัวเองมีระดับความภูมิใจต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ถึงแม้ตัวเลขของกลุ่มนี้ยังต่ำ แต่ผลลัพธ์นี้ก็ชี้ให้เห็นว่ามีความผันแปรอย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่าผลลัพธ์ของ WVS ซึ่งมีผู้ตอบคำถามเพียง 0.54% ที่ตอบว่าตน “ไม่ภาคภูมิใจนัก” หรือ “ไม่ภาคภูมิใจเลย” ส่วนที่เหลืออีก 73% เชื่อว่าตนมีระดับความภูมิใจในความเป็นคนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีแค่ 13.69% ที่ได้คะแนนสูงสุดในคำถามนี้ เปรียบเทียบกับ 95.70% ในการสำรวจของ WVS เนื่องจากนี่เป็นการสำรวจเฉพาะภูมิภาคล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย ผู้เขียนจึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์นี้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นก็คือมีความผันแปรมากขึ้นเกี่ยวกับความเข้มข้นของอัตลักษณ์ไทยในหมู่ชาวล้านนาเมื่อผู้เขียนปรับแต่งคำถามใหม่
อัตลักษณ์ล้านนากับชาตินิยมล้านนา
คราวนี้หันมาดูปริศนาที่ชาวล้านนามีอัตลักษณ์แห่งชาติเข้มข้นที่สุดในการสำรวจของ WVS คำถามที่สองในโครงการ LCP ถามผู้ตอบคำถามให้เปรียบเทียบอัตลักษณ์ไทยกับอัตลักษณ์เชิงภูมิภาคของตน ผู้เขียนเสนอให้ผู้ตอบคำถามเลือกระหว่างอัตลักษณ์ 6 แบบด้วยกัน โดยให้ผู้ตอบคำถามจัดลำดับจาก 1 ถึง 6 ลำดับที่ 1 บ่งชี้ว่าเป็นลำดับที่มีความสำคัญสูงสุด ตาราง 1. แสดงค่าเฉลี่ยการจัดลำดับของแต่ละอัตลักษณ์ เราจะเห็นว่าอัตลักษณ์ไทยได้รับการจัดลำดับสูงสุดในค่าเฉลี่ย โดยมีคำตอบ 41.88% จัดลำดับอัตลักษณ์ไทยเป็นอันดับหนึ่งและการจัดลำดับเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 2.37 ผู้เขียนให้ผู้ตอบคำถามมีทางเลือกอัตลักษณ์ชาติพันธุ์-ภูมิภาคสามแบบด้วยกัน กล่าวคือ ภาคเหนือ ล้านนาและเชียงใหม่ เมื่อรวมกันแล้ว อัตลักษณ์ภูมิภาคทั้งสามนี้ได้ลำดับที่หนึ่ง 43.56% ในครั้งนั้น 7 เมื่อเปรียบเทียบทั้งสามอัตลักษณ์นี้ ภาคเหนือได้อันดับเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับที่สอง แต่ทั้งอัตลักษณ์ล้านนากับเชียงใหม่ได้อันดับหนึ่งถี่กว่า ยิ่งกว่านั้น ค่าเฉลี่ยของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์-ภูมิภาคทั้งสามนี้ใกล้เคียงกันมาก ผลลัพธ์นี้ดูเหมือนชี้ให้เห็นว่าปัจเจกบุคคลบางกลุ่มอาจชอบชื่อเรียกชาติพันธุ์บางชื่อมากกว่า แต่โดยเฉลี่ยแล้วทั้งสามคำนี้มีโอกาสแทนค่ากันได้สูง
ตาราง 1. การจัดลำดับอัตลักษณ์ตามความสำคัญ, ผู้พูดภาษาคำเมือง
1 2 5 4 5 6 Average
Thai 41.88 19.63 8.39 20.56 9.14 0.41 2.37
Northern 11.01 26.67 38.32 20.44 2.97 0.58 2.79
Lanna 17.47 26.79 24.40 22.36 7.57 1.40 2.80
Chiangmai 15.08 22.54 24.34 27.32 8.44 2.27 2.98
Tai 2.68 2.39 3.79 7.28 51.02 32.85 5.00
Asian 11.88 1.98 0.82 2.04 20.85 62.43 5.05
แต่มีความเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยกับการจัดลำดับอัตลักษณ์ไทยโดยมีตัวเลือกเปรียบเทียบให้อย่างชัดเจนหรือไม่? เพื่อตอบคำถามนี้ ผู้เขียนจึงดำเนินการทดสอบที่ใช้วัดความเชื่อมโยงระหว่างตัวแปรอันดับทั้งสอง 8 ผลลัพธ์ที่ออกมาบ่งชี้ความเชื่อมโยงในระดับอ่อนมาก อันที่จริง ผู้ตอบคำถามชาวล้านนา 60.00% ที่บอกว่าตนมีระดับความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยต่ำที่สุด กลับจัดอันดับให้อัตลักษณ์ไทยอยู่เหนือกว่าอัตลักษณ์ภูมิภาค ในขณะที่ผู้ตอบคำถามที่ระบุว่าตนมีระดับความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยสูงสุด กลับจัดลำดับให้อัตลักษณ์ไทยอยู่เหนือกว่าอัตลักษณ์ภูมิภาคเพียง 45.30% อีกทั้งความสัมพันธ์ก็ไม่เป็นเส้นตรงเสียทีเดียวด้วย กล่าวโดยย่อก็คือ ไม่มีความสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างระดับความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยที่ผู้ตอบคำถามรู้สึกกับการจัดอันดับอัตลักษณ์ไทยของตนทันทีที่เรานำอัตลักษณ์ล้านนามาพิจารณาร่วมด้วย ดังนั้น ข้อสรุปที่ดีที่สุดก็คือ ปัจเจกบุคคลมีความแตกแยกในตัวเองระหว่างสองอัตลักษณ์นี้
ผู้เขียนขอปิดท้ายด้วยผลลัพธ์จากคำถามสุดท้ายของโครงการ LCP ผู้เขียนขอให้ผู้ตอบคำถามเปรียบเทียบอัตลักษณ์ไทยกับอัตลักษณ์ล้านนาโดยตรง คำถามนี้ไม่สร้างปัญหาความคลุมเครือในการเปรียบเทียบแบบที่อัตลักษณ์ชาติพันธุ์-ภูมิภาคที่แตกต่างกันสามลักษณะทำให้เกิดขึ้น ผู้ตอบคำถามสามารถระบุชัดเจนว่าตน “เป็นคนไทยไม่ใช่คนล้านนา” “เป็นคนไทยมากกว่าเป็นคนล้านนา” “เป็นคนล้านนาเท่ากับเป็นคนไทย” “เป็นคนล้านนามากกว่าเป็นคนไทย” และคำตอบสุดท้ายคือ “เป็นคนล้านนาไม่ใช่คนไทย” มีการถามคำถามเดียวกันนี้ในชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์-ภูมิภาคของสหราชอาณาจักร (เวลส์ สกอตและไอริชเหนือ) มาหลายปีแล้ว ดังที่รูป 6. แสดงให้เห็น ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ (72.11%) รู้สึกว่าตนเป็นคนไทยเท่ากับเป็นคนล้านนา ส่วนจำนวนผู้ตอบคำถามที่อยู่สองฟากของคำตอบตรงกลางนี้มีจำนวนพอๆ กัน นั่นคือ ราว ~14% รู้สึกเป็นคนล้านนามากกว่าเป็นคนไทยหรือเป็นคนไทยมากกว่าเป็นคนล้านนา
บทสรุป
ย้อนกลับไปที่คำถามที่เป็นแรงบันดาลใจของบทความนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นจากสำนัก WVS และโครงการ LCP ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้อัตลักษณ์ชาติไทยเริ่มต้นปลูกฝังในหมู่ชาวล้านนาแค่กว่าศตวรรษที่ล่วงมาเท่านั้น แต่การหลอมรวมเข้าสู่ชุดอัตลักษณ์ของชาวล้านนาก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่อัตลักษณ์ล้านนายังดูเหมือนมีความเข้มข้นเท่าๆ กับอัตลักษณ์ไทยเป็นเรื่องที่ทั้งน่าแปลกใจและน่าสนใจอย่างยิ่ง ข้อมูลนี้ช่วยอธิบายเหตุการณ์ทางการเมืองบางอย่างที่เกิดขึ้นในล้านนาตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างสองอัตลักษณ์นี้ ดังที่บรรยายไว้ละเอียดกว่านี้ในต้นฉบับหนังสือที่ผู้เขียนกำลังเขียนอยู่ ถ้ายกเว้นชาวมลายูมุสลิมในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ชาวล้านนาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบกับการที่อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนกลายเป็นเครื่องกระตุ้นทางการเมืองมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์-ภูมิภาคอื่น ในช่วงต้นปี 2557 มีการแขวนป้ายบนสะพานลอยหลายแห่งในภาคเหนือเรียกร้องให้แยกประเทศล้านนา มีการจับกุมก็จริง แต่ไม่ค่อยมีใครอยากเชื่อ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็โฆษณา) ว่าเรื่องนี้แพร่หลายไปมากกว่าแค่ในหมู่คนไม่กี่คน ผลการสำรวจของโครงการ LCP ซึ่งจะพรรณนาอย่างละเอียดในหนังสือของผู้เขียน ชี้ให้เห็นว่ามีการสนับสนุนขบวนการชาตินิยมในระดับที่อาจทำให้ข้าราชการไทยไม่สบายใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นลุกฮือขึ้นก่อความรุนแรงเหมือนในภาคใต้ กระนั้นก็ตาม งานค้นคว้าด้านรัฐศาสตร์บอกให้เรารู้น้อยมากว่า กลุ่มชนดังเช่นชาวล้านนาจะเปลี่ยนผ่านจากความไม่พอใจกลายเป็นการก่อกบฏอย่างไรและวิธีการใดที่ดีที่สุดในการบรรเทาความไม่พอใจจนสงบลง การพิจารณาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ภูมิภาคนิยมในอนาคตจะต้องต่อสู้กับปัญหาอัตลักษณ์ที่ชิงดีชิงเด่นกันดังที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในบทความนี้
Joel Sawat Selway
Brigham Young University
Banner image: Thai mural painting of Lanna people life in the past on temple wall in Chiang Rai, Thailand
Notes:
- Central Intelligence Agency. 2019. “World Factbook.” Central Intelligence Agency, United States Government. https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/. ↩
- Keyes, Charles F. 1995. “Who are the Tai? Reflections on the Invention of Identities.” Ethnic identity: Creation, conflict, and accommodation:136-160; Ongsakul, Sarasawadee. 2005. “History of Lanna, trans.” Chitraporn Tanratanakul (Chiang Mai: Silkworm Books, 2005). ↩
- Anderson, Benedict. 1983. Imagined Communities: reflections on the origin and spread of nationalism. 1st ed. New York: Verso. Weber, Eugen. 1976. Peasants into Frenchmen: the modernization of rural France, 1870-1914: Stanford University Press. Winichakul, Thongchai. 1994. Siam mapped. A history of the geo-body of a nation. Honolulu: University of Hawaii Press. ↩
- ตัวเลขประมาณการแตกต่างกันไป นี่เป็นการคาดการณ์ของผู้เขียนโดยวางพื้นฐานจากสถิติ Ethnologue ปี 1983 โดยปรับจำนวนของผู้พูดภาษาคำเมืองตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ↩
- คำว่า เมือง ในทางประวัติศาสตร์หมายถึงนครที่มีกำแพงล้อมรอบ ตั้งอยู่ในหุบเขาหรือที่ราบต่ำ ซึ่งตรงกันข้ามกับชุมชนชนบทในเขตเทือกเขา ↩
- เพื่อแยกชนกลุ่มนี้จากคนลาวในที่ราบสูงโคราช จึงเรียกพวกเขาว่าลาวดำ อันที่จริง ชาวสยามเรียกกลุ่มชนไทที่ไม่ใช่คนสยามทั้งหมดว่าลาว (Keyes 1995). ↩
- เนื่องจากผู้เขียนเสนออัตลักษณ์สามอย่างที่ผู้ตอบคำถามเลือก ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่า ถ้าผู้เขียนรวมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์-ภูมิภาคเข้าด้วยกันเป็นคำตอบเดียว เช่น ล้านนา/ภาคเหนือ/เชียงใหม่ อัตลักษณ์ไทยหรืออัตลักษณ์ภูมิภาคจะมีเปอร์เซ็นต์เป็นอันดับหนึ่งกันแน่ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอละไว้ไม่สร้างข้อสรุปที่แน่นอนเด็ดขาดลงไป ↩
- โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Kendall’s Tau-b test. ↩