Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

ย้อนมองเส้นทางสู่อำนาจของเทคโนแครตฟิลิปปินส์ผ่านยุคสงครามเย็น

UP Philippines statue KRSEA

การผงาดขึ้นมาเรืองอำนาจของเทคโนแครตชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับยุคกฎอัยการศึก (1972-1986) ของประเทศนี้  อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของระบอบเทคโนแครตต่อสหรัฐอเมริกามีมาก่อนหน้านั้น  ย้อนกลับไปจนถึงทศวรรษ 1950 สหรัฐอเมริกาเล็งเห็นความสำคัญของการมีนักเศรษฐศาสตร์ วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เข้ามาทำงานในภูมิภาคกำลังพัฒนา เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถชี้นำกระบวนการพัฒนาในประเทศของตนและป้องกันไม่ให้ประเทศเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของลัทธิคอมมิวนิสต์  บทความนี้จะย้อนดูเส้นทางสู่อำนาจของระบอบเทคโนแครตในฟิลิปปินส์ท่ามกลางบริบทของสงครามเย็น โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อบรรดาเทคโนแครตที่รัฐบาลเฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอสชุดแรกก่อนยุคกฎอัยการศึก (1965-1972) เรียกตัวเข้ามาทำงานด้วย จากนั้นเทคโนแครตชุดนี้ก็ฝังตัวเข้าสู่ระบบการปกครองแบบกฎอัยการศึกของมาร์กอสได้อย่างไม่เคอะเขิน โดยทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการวางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเผด็จการ

สงครามเย็นกับการเรืองอำนาจของระบอบเทคโนแครต

ใน “ความหมายทางการเมืองแบบคลาสสิก” ระบอบเทคโนแครต “หมายถึงระบบบริหารการปกครองที่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งผ่านการฝึกอบรมความรู้เชิงเทคนิคมีอำนาจปกครองเนื่องจากความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตน กอปรกับมีสถานะในสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นสถาบันหลักของบ้านเมือง” (Fischer 1990, 17)  ระบอบเทคโนแครตมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการเกิดชนชั้นกลางใหม่  ในความคิดของ C. Wright Mills ชนชั้นนี้ “ถือกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อมกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมใหม่ที่มีเทคโนแครต-ข้าราชการเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ” (Glassman 1997, 161)  ดังนั้น การเรืองอำนาจของระบอบเทคโนแครตจึงประจวบเหมาะสอดคล้องพอดีกับการเกิดสงครามเย็นและการที่ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกา  ในสมัยนั้น สหรัฐอเมริกาและ “โลกที่หนึ่ง” มีการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมอุตสาหกรรมแล้ว  แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังไม่เจริญรอยตามมา  ความล้าหลังนี้เป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกาวิตกกังวล  ภายในบริบทของการปลดแอกอาณานิคมและความตึงเครียดของสงครามเย็นนี้เอง ทำให้ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนของสหรัฐอเมริกาประกาศโครงการ “พัฒนาสี่ด้าน” (Point Four Program) ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1949  ในคำแถลงครั้งนี้ ทรูแมนนิยามความยากจนว่าเป็นภัยคุกคามเชิงยุทธศาสตร์และเชื่อมโยงการพัฒนากับความมั่นคง (Latham 2011, 10-11)  สิ่งที่รัฐบาลทรูแมน (1945-1953) หวั่นวิตกมากที่สุดก็คือ สังคมชนบทล้าหลังดังเช่นในเอเชียอาจหันเหไปหาลัทธิคอมมิวนิสต์ (Cullather 2010, 79)

ทฤษฎีการสร้างความทันสมัยกลายเป็นคำตอบ  ท่ามกลางบริบทของสงครามเย็น “นักทฤษฎีและข้าราชการใช้อุดมการณ์การสร้างความทันสมัยมาขยายภาพพจน์ของการขยายอำนาจอันน่าพิศมัยในช่วงปลดแอกอาณานิคม” (Latham 2000, 16)  การขยายอำนาจดังกล่าวแปรเป็นรูปธรรมเด่นชัดด้วยการก่อตั้งระบบการศึกษาที่จะผลิตเทคโนแครตในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสืบสานการสร้างความทันสมัยอันเป็นอุดมการณ์ยุคสงครามเย็นของสหรัฐอเมริกาเอาไว้  บรรดาเทคโนแครตเหล่านี้ได้รับการยกย่องเป็นกลุ่มหนึ่งใน “ชนชั้นนำที่จะนำความทันสมัยมาให้” ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดต้องการอย่างยิ่ง (Gilman 2003, 101)

การผลิตซ้ำเทคโนแครตด้วยระบบการศึกษา
มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ (University of the Philippines–UP) มหาวิทยาลัยของชนชั้นนำในประเทศซึ่งสหรัฐอเมริกาก่อตั้งไว้ในปี 1908 คือสถาบันหลักที่ผลิตเทคโนแครต  มหาวิทยาลัย UP สร้างเทคโนแครตกลุ่มสำคัญในระบอบมาร์กอสช่วงเริ่มแรกจนถึงยุคกฎอัยการศึก  เทคโนแครตกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย เซซาร์ อี. เอ. วิราตา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในรัฐบาลมาร์กอสตั้งแต่ปี 1970-86  วิเซนเต ที. ปาเตอร์โน ประธานคณะกรรมการเพื่อการลงทุนในรัฐบาลมาร์กอสตั้งแต่ปี 1970-79  เกราร์โด ซิกัต ได้รับเชิญจากรัฐบาลมาดำรงตำแหน่งประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic Council–NEC) ในปี 1970-73 และมานูเอล อัลบา ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของคณะกรรมาธิการสำรวจการศึกษาฟิลิปปินส์ประจำสำนักประธานาธิบดี (Presidential Commission to Survey Philippine Education–PCSPE) ตั้งแต่ปี 1971-73  ก่อนหน้าคนกลุ่มนี้ มีเทคโนแครตเก่าแก่อยู่แล้วสองคน นั่นคือ อาร์มันด์ ฟาเบญาและปลาซิโด มาปา จูเนียร์ ทั้งสองเริ่มทำงานให้รัฐบาลมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีดิออสดาโด ปางัน มากาปากัล (1961-1965)  ฟาเบญารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติการโครงการ (Project Implementation Agency–PIA) ตั้งแต่ปี 1962-65 ส่วนมาปาเป็นรองผู้อำนวยการ

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังให้ทุนศึกษาต่อในระดับสูงที่สหรัฐอเมริกาด้วย  โดยเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเคนเนดี (1960-63) เพื่อป้องกันแรงกดดันจากลัทธิคอมมิวนิสต์และการแพร่ขยายของลัทธิมาร์กซิสต์ ซึ่งคุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจและระบอบประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา  เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ Latham (2000, 57) อธิบายว่า “เคนเนดีก่อตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Agency for International Development–AID) และให้อำนาจสำนักงานนี้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือทางเทคนิค โครงการให้กู้ยืม โครงการพัฒนาและความช่วยเหลือทางการทหาร”  ยกตัวอย่างเช่น วิทยาลัยบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัย UP ได้รับความช่วยเหลือจาก USAID  การให้ทุนช่วยเหลือจากสถาบันเอกชนของสหรัฐอเมริกา เช่น มูลนิธิฟอร์ดและรอกกีเฟลเลอร์ ยิ่งช่วยส่งเสริมวิธีการนี้ (Sicat 2014, 40-41)  เมื่อได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกในมหาวิทยาลัยอเมริกัน บรรดาเทคโนแครตก็ได้รับการปลูกฝังโลกทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาแบบอเมริกันและได้รับการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญทางเทคนิค 1Cesar E.A. Virata, interviewed by Yutaka Katayama, Cayetano Paderanga, and Teresa S. Encarnacion Tadem. November 21, 2007, Makati.

เทคโนแครตบริกรสำหรับระบบทุนนิยมบรรษัท
การพัฒนาต่อยอดกรอบแนวคิดนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในระบบเบรตตันวูดส์ ซึ่งเน้นย้ำความจำเป็นในการ “ส่งเสริมเชื่อมประสานโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยการค้าเสรี” รวมถึงแนวทางที่เอื้อให้ “ทุนนิยมทะลุทะลวงเข้าไปในตลาดต่างประเทศที่อ่อนแอ” (Gilman 2003, 18)  เทคโนแครตมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการที่สหรัฐอเมริการุกคืบเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์และค้ำจุนระบบทุนนิยมบรรษัทไว้ในประเทศนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา  พวกเทคโนแครตได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในกิจการร่วมทุนฟิลิปปินส์-อเมริกัน รวมทั้งบริษัทของชนชั้นนำเจ้าที่ดินชาวฟิลิปปินส์ที่เริ่มกระจายการลงทุนในกิจการแบบทุนนิยม  นอกจากนี้ พวกเขาเข้าไปทำงานตามหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือต่อบริษัทท้องถิ่น ทำงานในบริษัทบัญชีและบริษัทด้านการบริหารจัดการ ซึ่งให้บริการแก่บรรษัททั้งท้องถิ่นและข้ามชาติที่มาลงทุนในประเทศ รวมทั้งทำงานให้แก่ธนาคารข้ามชาติสัญชาติอเมริกันในฟิลิปปินส์ด้วย

การวางนโยบายแบบเทคโนแครตในยุครัฐบาลก่อนกฎอัยการศึก

เมื่อคำนึงถึงคุณสมบัติของพวกเขา มันเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บรรดาเทคโนแครตย่อมได้รับคำเชื้อเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล  แม้กระทั่งก่อนรัฐบาลมาร์กอส ฟาเบญากับมาปาก็กำกับสำนักงาน PIA ซึ่งเป็นหน่วยงานทางเศรษฐกิจที่รับผิดชอบการเปิดเสรีและส่งเสริมการค้าของประเทศตามแนวทางของระบบเบรตตันวูดส์และสถาบันที่เป็นเสาหลัก กล่าวคือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (Bello, et al. 1982, 5-6)

ต่อมาก็มีกลุ่มเทคโนแครตชุดใหม่ที่จบจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงมาร่วมขบวนกับมาปาและฟาเบญา  คนหนึ่งในกลุ่มนี้ก็คือเซซาร์ อี. เอ. วิราตา ซึ่งมาร์กอสชวนมาร่วมงานกับรัฐบาลในฐานะรองอธิบดีด้านการลงทุนในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดี (Presidential Economic Staff—PES)  PES เป็นหน่วยงานที่มาแทนที่ PIA และนอกเหนือจากการวางแผนเชิงสังคมเศรษฐกิจ วางนโยบายและโครงการต่างๆ ก็มีภารกิจเพิ่มเติมในการกระชับความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Tadem 2015a, 127-31)

Cesar E. Virata, photographed in 1983. A leading technocrat, Prior to assuming leadership positions in the government service during the Marcos regime, Virata taught at the business school of the University of the Philippines Diliman. Image: Wikipedia Commons

อุปสรรคต่อการพัฒนาและความเติบโต
อุปสรรคสำคัญที่ท้าทายยุทธศาสตร์การพัฒนาในสมัยสงครามเย็นก็คือ อิทธิพลของชนชั้นนำทางการเมือง-เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่มีลักษณะแบบวงศ์ตระกูลการเมือง ซึ่งไม่ค่อยสนับสนุนนโยบายของเทคโนแครตอย่างเต็มที่  วงศ์ตระกูลการเมืองเหล่านี้สร้างสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสหรัฐอเมริกาในยุคที่ฟิลิปปินส์ยังเป็นอาณานิคมของอเมริกา  ในสมัยนั้น “ผู้วางนโยบายของสหรัฐฯ นิยมใช้นโยบาย ‘เอาใจ’” เพื่อแสวงหาผลกำไรทางการค้าและการมีรัฐบาลที่มั่นคงโดยผูกพันธมิตรทางการเมืองกับชนชั้นนำชาวฟิลิปปินส์ที่มีการศึกษาและเป็นเจ้าที่ดิน  ผลที่ตามมาก็คือ “สหรัฐอเมริกาหนุนหลังชนชั้นที่มุ่งมั่นรักษาอิทธิพลอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองไว้” (Latham 2011, 15)  กลุ่มเทคโนแครตในรัฐบาลมาร์กอสจึงต้องต่อกรกับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นสมาชิกของชนชั้นนำทางการเมือง-เศรษฐกิจที่ไม่สนับสนุนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกริ่งเกรงว่าบรรษัทอเมริกันจะเข้ามาแข่งขันกับอุตสาหกรรมของตน  เมื่อเผชิญแรงต่อต้านเช่นนี้ จึงต้องมีการประนีประนอมกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจ (Tadem 2015b, 564)

ในขณะที่ต้องเอาใจชนชั้นนำ แต่กลับไม่มีความพยายามเอาใจแบบเดียวกันต่อประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของเทคโนแครต  “ความขัดแย้งทางสังคมจึง ‘ผุดขึ้นมาในรูปของการประท้วงของนักศึกษา การเดินขบวนของชาวนาและการนัดหยุดงานของแรงงาน’”  ในปลายทศวรรษ 1960 และ “วิกฤตการณ์ของภาวะชะงักงันที่ส่งผลร้ายทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร” (Bello et al. 1982, อ้างใน Daroy 1988, 11)  ความตึงเครียดนี้ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมเข้มข้นและความปั่นป่วนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้มีการก่อตั้ง (Communist Party of the Philippines–CPP) ขึ้นมาใหม่ในปี 1968  พรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ ดำเนินรอยตามแนวคิดของเหมาเจ๋อตง จึงมีทั้งกำลังทหารที่มีชื่อเรียกว่า “กองทัพประชาชนใหม่” (New People’s Army) และสร้างฐานประชาชนด้วยกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ” (National Democratic Front)

Philippine President Ferdinand Marcos and First Lady Imelda Marcos meet US President Richard Nixon. Image: Wikipedia Commons

สงครามเย็นและกฎอัยการศึก: การสร้างความเป็นปึกแผ่นให้อำนาจของเทคโนแครต

สภาพการณ์ในฟิลิปปินส์ทำให้เทคโนแครต “มีความโน้มเอียงที่จะเจริญรอยตามอุดมการณ์ของเทคโนแครตสายอนุรักษ์นิยมที่นักวิชาการอเมริกันวางแนวทางไว้ในปลายทศวรรษ 1960”  อาทิ แซมมวล ฮันติงตันแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Bello et al. 1982, 28)  ฮันติงตันให้เหตุผลว่า “ในประเทศโลกที่สาม การสร้างระเบียบและอำนาจหน้าที่ต้องมาก่อนการเปิดโอกาสให้มวลชนมีตัวแทนทางการเมือง” (อ้างใน Bello et al. 1982, 28)  ข้ออ้างเช่นนี้เองที่เป็นเหตุผลให้สหรัฐอเมริกาอนุโลมตามเมื่อมาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1972 เพื่อระงับการประท้วงของประชาชนที่แพร่กระจายทั่วทั้งสังคม  ถึงแม้การประกาศกฎอัยการศึกจะทำให้เหล่าเทคโนแครตไม่ทันตั้งตัวอยู่บ้าง แต่พวกเขาส่วนใหญ่ก็ยอมรับโดยดุษณี

อุปสรรคต่อการวางนโยบายของเทคโนแครต
เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกแล้ว บรรดาเทคโนแครตก็ครอบครองตำแหน่งหัวใจทางเศรษฐกิจในรัฐบาลต่อไป  เทคโนแครตมีคุณค่าใหญ่หลวงต่อประธานาธิบดีมาร์กอสตรงที่พวกเขาสามารถเข้าถึงกองทุนต่างประเทศจากธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และผู้ให้กู้ระหว่างประเทศรายอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศฟิลิปปินส์ต้องการอย่างยิ่ง  อย่างไรก็ตาม การวางนโยบายของเทคโนแครตมีอุปสรรคหลายประการ

ประการแรกคือระบบทุนนิยมพวกพ้อง  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือพวกพ้องเส้นสายของนางอีเมลดา มาร์กอส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและประธานาธิบดีมาร์กอส   ส่วนคนที่เป็นนับว่าเป็น“หัวหน้าพวกพ้อง” แถวหน้าสุดก็คือโรแบร์โต เอส. เบเนดิกโตและเอดูอาร์โด “ดันดิง” เอ็ม. โคฮวงโค จูเนียร์ ซึ่งควบคุมอุตสาหกรรมน้ำตาลกับมะพร้าวตามลำดับ  การผูกขาดของเบเนดิกโตและโคฮวงโคเหนือสินค้าส่งออกที่ทำรายได้สูงสุดสองชนิดของฟิลิปปินส์ในสมัยนั้นขัดต่อคาถาเปิดเสรีและการค้าเสรีของเทคโนแครต (Tadem 2013, 9)  ในส่วนของนางอีเมลดา มาร์กอส ถึงแม้นางไม่ได้ควบคุมอุตสาหกรรมใด แต่นางมาร์กอสก็ทำโครงการส่วนตัว เช่น การสร้างอาคารใหญ่โตต่างๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลแต่ไม่อยู่ในงบประมาณ (Virata, อ้างใน Tadem 2013, 11)  ในตอนแรก บรรดาเทคโนแครตและไอเอ็มเอฟ/ธนาคารโลกก็ “มีขันติธรรม” ต่อระบบทุนนิยมพวกพ้องแบบนี้ ตราบที่ระบบเศรษฐกิจโลกยังดำเนินไปด้วยดีและไม่มีปัญหาในการขยายความช่วยเหลือทางการเงินแก่ฟิลิปปินส์

ทว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเกิดอุปสรรคประการที่สอง  ในปี 1981 ระบบเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤตการณ์ จุดชนวนมาจากสงครามอิหร่าน-อิรักในปี 1979-80  ผลที่ตามมาคือราคาน้ำมันพุ่งพรวด จากนั้นเม็กซิโกประกาศพักชำระหนี้ไอเอ็มเอฟและเจ้าหนี้นอกประเทศรายอื่นในเดือนสิงหาคม 1982  ความเป็นไปเหล่านี้ทำให้เทคโนแครตฟิลิปปินส์เริ่มเข้าถึงเงินกู้ยืมต่างประเทศยากขึ้น (Tadem 2013, 14)  อุปสรรคประการที่สามคือการที่สงครามเย็นเริ่มอ่อนตัวลง การตั้งฐานทัพอเมริกันในฟิลิปปินส์จึงมีคุณค่าลดน้อยถอยลง  ประเด็นนี้ทำให้การสนับสนุนที่สหรัฐอเมริกามีต่อฟิลิปปินส์ลดความสำคัญลงด้วย  อุปสรรคประการที่สี่อันเป็นประการสุดท้ายก็คือ ขบวนการต่อต้านเผด็จการเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแรงกระตุ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของระบอบอำนาจนิยม การคอร์รัปชั่นของเผด็จการ ญาติโกโหติกาและพวกพ้องของเขา รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่ย่ำแย่ลงอย่างมาก  ในท้ายที่สุด ขบวนการต่อต้านเผด็จการนี้ก็โค่นล้มเผด็จการมาร์กอสลงในการปฏิวัติพลังประชาชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1986 โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน  การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งนี้ส่งสัญญาณบ่งบอกถึงจุดสิ้นสุดของยุทธศาสตร์สงครามเย็นที่เคยค้ำจุนระบอบเผด็จการในฟิลิปปินส์ เมื่อพิสูจน์แล้วว่ามันไม่อาจปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อีกต่อไป

บทสรุป

สงครามเย็นผลักดันให้เทคโนแครตชาวฟิลิปปินส์เรืองอำนาจเพื่อส่งเสริมกรอบกระบวนทัศน์การพัฒนาที่จะนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ  ทว่าความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจ ประกอบกับอุปสรรคทั้งภายในและภายนอกประเทศ เน้นย้ำให้เห็นว่าระบอบเทคโนแครตยุคสงครามเย็นไม่ประสบความสำเร็จในการทำตามสัญญาที่ให้ไว้

Teresa S. Encarnacion Tadem
Professor, Department of Political Science, College of Social Sciences and Philosophy, University of the Philippines Diliman and Executive Director, Center for Integrative and Development Studies, University of the Philippines System (UPCIDS).

Banner: The Oblation Statue at the flagship campus of the University of the Philippines in Diliman, Quezon City. It is a symbol of selfless service to the country. Photo Manolito Tiuseco / Shutterstock.com

Bibliography

Bello, Walden, David Kinley and Elaine Elinson. 1982. Development Debacle: The World Bank in the Philippines. San Francisco: Institute for Food and Development Policy Philippines.
Cullather, Nick. 2010. The Hungry World: America’s Cold War Battle Against Poverty in Asia. Cambridge, MA: Harvard University Press.
Daroy, Petronilo Bn. 1988. “On the Eve of Dictatorship and Revolution.” In Javate-De Dios, Aurora, Petronilo BN. Daroy, and Lorna Kalaw-Tirol. Dictatorship and Revolution: Roots of People’s Power. MetroManila: Conspectus Foundation Incorporated.
Fischer, Frank. 1990. Technocracy and the Politics of Expertise. London: SAGE Publications.
Gilman, Nils. 2003. Mandarins of the Future: Modernization Theory in Cold War America. Baltimore: Johns Hopkins University Press.
Glassman, Ronald M. 1997. The New Middle Class and Democracy in Global Perspective. Houndmills, Basingstoke: MacMillan.
Latham, Michael E. 2000. Modernization as Ideology: American Social Science and Nation-Building in the Kennedy Era. Chapel Hill: University of North Carolina Press.
Latham, Michael E. 2011. The Right Kind of Revolution: Modernization, Development and US Foreign Policy from the Cold War to the Present. Ithaca: Cornell University Press.
Sicat, Gerardo. 2014. Cesar Virata: Life and Times Through Four Decades of Philippine Economic History. Diliman, Quezon City: The University of the Philippines Press.
Tadem, Teresa S. Encarnacion. 2016. “Negotiating North-South Dynamics and the Philippine Experience in the WTO.” The Pacific Review 29 (5): 717-39.
———. 2013. “Philippine Technocracy and the Politics of Economic Decision-making during the Martial Law Period (1972-1986).” Social Science Diliman: A Philippine Journal of Society & Change 9 (2): 1-25.
———. 2015a. “The Politics of ‘educating’ the Philippine Technocratic Elite.” Philippine Political Science Journal 36 (2): 127-46.
———. 2015b. “Technocracy and the Politics of Economic Decision Making during the Pre-Martial Law Period (1965-1972).” Philippine Studies: Historical & Ethnographic Viewpoints 63 (4): 541-73.

 

Notes:

    Exit mobile version