เมื่อซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียในเดือนพฤษภาคม 1998 เส้นทางของประเทศยังไม่มีความแน่นอน การเปลี่ยนระบอบสู่ประชาธิปไตยจะเดินหน้าได้หรือไม่? จะมีการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างจนกลายเป็นการนองเลือดดังที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียหรือไม่? ยี่สิบปีให้หลัง อินโดนีเซียยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ผันผวนและรอดจากภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างหวุดหวิดหลายครั้ง บทความนี้จะใช้มรรควิธีศึกษาของ Juan Linz และ Alfred Stepan ในการทำความเข้าใจการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย (Democratic Consolidation) เพื่อประเมินระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียในช่วงยี่สิบปีหลังการโค่นล้มระบอบซูฮาร์โต 1 บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้อินโดนีเซียก้าวไปในทิศทางของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยในหลายๆ ด้าน กระทั่งระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นภาวะปกติใหม่ไปแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาท้าทายสาหัสสากรรจ์อีกหลายประการ เช่น องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย สื่อมวลชนที่ทำตัวเป็นภัยคุกคามและขาดความเป็นมืออาชีพ พรรคการเมืองที่ใส่ร้ายป้ายสีกัน ความอ่อนแอในหลักนิติธรรม การคอร์รัปชั่นในระบบราชการและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ
เงื่อนไขเบื้องต้น: ความเป็นรัฐ
สำหรับ Linz และ Stepan การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยมีเงื่อนไขเบื้องต้นประการหนึ่ง นั่นคือ ความเป็นรัฐ มีแต่รัฐเท่านั้นที่มีประสบการณ์กับระบอบประชาธิปไตยได้ หากไม่มีความเป็นรัฐ ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีทางก่อเกิดเป็นตัวเป็นตน ดังนั้น ประเทศที่ประสบปัญหาการแบ่งแยกดินแดนอย่างรุนแรงจึงต้องพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย เมื่ออินโดนีเซียเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 1998 หลายคนกังวลว่าประเทศนี้จะยังรวมกันติดหรือไม่หากปราศจากผู้นำเผด็จการมากบารมีคอยกำกับเขตแคว้นต่างๆ ไม่ให้นอกลู่นอกทาง เหตุรุนแรงระหว่างชุมชนคริสต์และมุสลิมในเมืองอัมบนและเมืองโปโซทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่า จะมีความวุ่นวายบานปลายขึ้นมาในช่วงต้นของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการ รวมทั้งปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินมายาวนานในอาเจะห์ด้วย การเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ติมอร์ตะวันออกได้ลงประชามติรับรองการแยกตัวเป็นเอกราชโดยมีสหประชาชาติเข้ามาช่วยกำกับดูแล กระนั้นก็ตาม การณ์ปรากฏในภายหลังว่า ถึงแม้เกิดความรุนแรงอันน่าหวาดหวั่นบ้าง แต่เหตุร้ายเหล่านี้ไม่ได้นำมาซึ่งการท้าทายความเป็นรัฐของอินโดนีเซียในระดับประเทศ ติมอร์ตะวันออกแยกตัวไปก็จริง แต่เรื่องนี้ไม่ได้สั่นคลอนการดำรงอยู่ของรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่แตกต่างออกไปของดินแดนนี้ (อินโดนีเซียเพิ่งรุกรานเข้าไปยึดครองติมอร์ตะวันออกเมื่อปี 1975 นี้เอง) ข้อตกลงสันติภาพในเมืองอัมบน โปโซ และกระทั่งในอาเจะห์ ช่วยบรรเทาความขัดแย้งในพื้นที่เหล่านั้นให้สงบลง ถึงแม้ต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ต่อบูรณาการด้านดินแดนของประเทศ แต่อินโดนีเซียก็ธำรงรักษาความเป็นรัฐไว้ได้
ภาคประชาสังคม
ภาคประชาสังคมเป็นเวทีที่อิสระจากรัฐ เป็นพื้นที่ที่ประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มและสมาคม ภาคประชาสังคมของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย มีส่วนในการโค่นล้มประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 1998 ด้วยการประท้วงต่อเนื่องหลายเดือน หลังจากผู้นำเผด็จการร่วงจากบัลลังก์แล้ว สาธารณชนอินโดนีเซียยังคงสนใจมีส่วนร่วมและรวมตัวกันสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเตาะแตะของประเทศ กลุ่มใหม่ๆ ปรากฏตัวขึ้น องค์กรเก่าๆ ได้พื้นที่ใหม่ๆ ในการแสดงออก ชาวอินโดนีเซียร่วมมือกันให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง ติดตามตรวจสอบการเลือกตั้ง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น กลุ่มเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นปทัสถานใหม่ของสังคม
อย่างไรก็ตาม มีการรวมตัวของกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้สนับสนุนความเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ถึงแม้กลุ่มเหล่านี้อาศัยประโยชน์จากเสรีภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นเพื่อรวมตัวจัดตั้งก็ตาม กลุ่ม “แนวหน้าปกป้องอิสลาม” (Front Pembela Islam, FPI) ทึกทักว่าตัวเองมีหน้าที่บังคับใช้ข้อห้ามตามศาสนาอิสลาม จึงใช้กำลังและการข่มขู่ต่อเป้าหมายต่างๆ เช่น ประชาชนที่ฉลองวันคริสต์มาส ดื่มสุรา พลเมืองที่เป็น LGBT ตลอดจนคนมุสลิมเองที่ถูกมองว่าแชเชือนจากความเป็นมุสลิม กลุ่มก่อการร้าย ทั้งที่ก่อตัวขึ้นเองในประเทศและที่มีความเชื่อมโยงกับขบวนการอัลกออิดะฮ์และต่อมาคือ ISIS มีปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายต่างๆ เช่น โรงแรม ตลาดหุ้น ศาสนสถานและตลาดโต้รุ่งด้วย
กลุ่มแนวหน้าปกป้องอิสลามประสบความสำเร็จในการรุกเข้าสู่เวทีการเมือง โดยเข้ามาขัดขวางมิให้ผู้ว่าการจาการ์ตา นายบาซูกี จาฮายา ปูร์นามา (หรือที่เรียกกันว่า อาฮก) ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีนและนับถือคริสต์ ไม่ได้รับการเลือกตั้งสมัยที่สองในปี 2017 FPI และองค์กรอื่นๆ ร่วมมือกันรณรงค์ทางสื่อสังคมออนไลน์และเดินขบวนประท้วงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารว่า ผู้ที่ไม่ใช่เชื้อสายคนพื้นเมืองและไม่ใช่มุสลิมไม่ควรเป็นผู้นำของคนมุสลิมที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย นอกจากนั้น FPI ยังเรียกร้องให้ดำเนินคดีอาฮกข้อหาลบหลู่ศาสนา จนสุดท้ายเขาถูกลงโทษจำคุกถึงสองปี ถึงแม้คนจำนวนมากอาจไม่นิยมชมชอบลีลาขวานผ่าซากและนโยบายเสรีนิยมใหม่ของอาฮก แต่การที่ FPI มุ่งโจมตีสิทธิของพลเมืองอินโดนีเซียในการดำรงตำแหน่งเพียงเพราะชาติพันธุ์และศาสนาของคนผู้นั้น ถือเป็นการบ่อนเซาะทำลายระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย
สื่อมวลชนของอินโดนีเซียผุดขึ้นมามากมายในยุคปฏิรูป เปิดโอกาสให้เสียงของกลุ่มคนต่างๆ มีช่องทางแสดงออก กระนั้นก็ตาม เสรีภาพของสื่อยังมีปัญหาในประเทศนี้ อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 124 จากทั้งหมด 180 ประเทศในดัชนีด้านเสรีภาพสื่อขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดนประจำปี 2018 2 นักข่าวต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อรายงานข่าวในบางพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในปาปัว ปาปัวตะวันตกและอาเจะห์ นอกจากนี้ นักข่าวต้องเผชิญความรุนแรงและหวั่นเกรงภัยอันเป็นผลจากการรายงานข่าวของตน โดยเฉพาะเมื่อข่าวนั้นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในพื้นที่ กลุ่มศาสนาหัวรุนแรงและการคอร์รัปชั่น สมาชิกในวงการสื่อบางคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย เนื่องจากพวกเขารับสินบนเพื่อลงข่าวในด้านดี ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือเอียงข้างใดข้างหนึ่ง (นักการเมืองอินโดนีเซียหลายคนเป็นเจ้าของสำนักสื่อ) คาดการณ์กันว่า “ข่าวปลอม” จะมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งระดับภูมิภาคและระดับชาติที่กำลังจะมาถึง
สังคมการเมือง
นอกจากภาคประชาสังคม การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยปรากฏในแวดวงของสังคมการเมืองด้วย นี่คือพื้นที่ที่พลเมืองรวมตัวกันเพื่อแข่งขันชิงอำนาจรัฐ หลังจากซูฮาร์โตหมดอำนาจ มีการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ หลายร้อยพรรค เมื่อเวลาผ่านไป มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองและการเลือกตั้งเพื่อลดจำนวนพรรคการเมืองลง โดยตั้งเงื่อนไขว่าพรรคจะต้องมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนในระดับชาติถึงระดับที่กำหนดไว้ มีพรรคการเมืองเพียง 16 พรรคเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งปี 2019 ส่วนในอาเจะห์มีเพียงแค่ 4 พรรค จำนวนพรรคการเมืองที่มีประสิทธิผล (effective number of parties) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ประเมินน้ำหนักของพรรคการเมืองในระบบการเมือง คือ 5.1 ในปี 1999 และ 8.9 ในปี 2014 3 ดังนั้น ถึงแม้จำนวนพรรคการเมืองโดยรวมลดลงก็ตาม แต่จำนวนของพรรคที่มีผลต่อการคำนวณกลับเพิ่มมากขึ้น ฐานเสียงของแต่ละพรรคมีระดับแตกต่างกันไปในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง พรรคการเมือง 3 พรรค กล่าวคือ Partai Demokrasi Indonesia-Perjuangan, Golkar และ Partai Demokrat ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุดในระดับรัฐสภาจากการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังจากซูฮาร์โตหมดอำนาจ ในปัจจุบัน ตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียแข็งแกร่งมากขึ้นจากการเลือกตั้งโดยตรง และการจับมือกันของพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงในระดับหนึ่งเท่านั้นจึงสามารถเสนอตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งได้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2004 ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีบุคลิกโดดเด่นมีโอกาสเข้าสู่อำนาจมากกว่าการมีฐานสนับสนุนเชิงสถาบัน/พรรคการเมือง
อินโดนีเซียในสมัยซูฮาร์โตมีลักษณะรวมศูนย์อย่างมาก แต่ในยุคปฏิรูป มีการกระจายอำนาจทางการเมืองโดยให้อำนาจและหน้าที่แก่ส่วนการปกครองในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคมากขึ้น ในทำนองเดียวกัน ส่วนการปกครองในระดับล่างก็เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ผู้ว่าการเขตและผู้ว่าการจังหวัดโดยตรง เมื่อฝ่ายค้านภายใต้การนำของนายปราโบโว ซูเบียนโต พรรค Gerindra พยายามเสนอให้ยกเลิกการเลือกตั้งโดยตรงในภูมิภาคเมื่อปี 2014 ความพยายามนี้ล้มคว่ำไปด้วยแรงกดดันของสาธารณชน
ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอินโดนีเซียแสดงให้เห็นแรงสนับสนุนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง ในการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันเพื่อระบบเลือกตั้งระหว่างประเทศ (International Foundation for Election Systems) ภายหลังการเลือกตั้งปี 2014 ชาวอินโดนีเซียถึงร้อยละ 82 ตอบแบบสอบถามว่า พวกเขามีความพึงพอใจหรือพึงพอใจมากกับกระบวนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาระดับชาติ 4 ปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกอบด้วย การรณรงค์หาเสียงที่มีต้นทุนสูง (ทำให้ผู้ได้รับเลือกตั้งต้องถอนทุนคืนและพรรคการเมืองจำเป็นต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อหาแหล่งทุน) ผู้สมัครรับเลือกตั้งจ่ายเงินซื้อเสียงและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงไม่ถูกต้องแม่นยำ ถึงแม้มีปัญหาหลายประการข้างต้น แต่จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ก็สูงมากในการเลือกตั้งทั้ง 4 ครั้ง (75% ในปี 2014) ชี้ให้เห็นว่าประชาชนสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซียอย่างขันแข็ง 5
ในขณะที่การเลือกตั้งกลายเป็นความคุ้นเคยส่วนหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศอินโดนีเซีย พรรคการเมืองกลับมีปัญหาด้านภาพพจน์ ในช่วงต้นของการเปลี่ยนผ่านภายหลังยุคซูฮาร์โต ประชาชนที่ตอบแบบสำรวจความคิดเห็นแสดงความนิยมชมชอบต่อพรรคการเมืองใหม่พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่พอมาถึงวันนี้ “ความจงรักภักดีของประชาชนต่อพรรคการเมืองมีแนวโน้มจืดจางลง” ตามคำกล่าวของจายาดี ฮานัน ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์วิจัย Saiful Mujani Research Center 6 เหตุผลที่ทำให้สาธารณชนคลายความนิยมมีอาทิ นักการเมืองที่พูดอะไรก็ได้เพื่อตำแหน่ง การประสานผลประโยชน์เพื่อแบ่งสันปันส่วนอำนาจ การโกงกินอย่างอื้อฉาวเอิกเกริก และความล้มเหลวของพรรคการเมืองในการสร้างสถาบันที่ยืนยง
หลักนิติธรรม
หลักนิติธรรมคือเวทีอีกแห่งหนึ่งที่ใช้วัดการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยจะมีความเป็นปึกแผ่นก็ต่อเมื่อคนทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ มีความเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมาย ตามความคิดเห็นของศาสตราจารย์ฮิกมาฮันโต จูวานา อาจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ในสมัยซูฮาร์โต กฎหมายเป็น “แค่เครื่องประดับ” ส่วนหลักนิติธรรมในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเดิม 7 อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญยังมีอยู่ ตามดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) อินโดนีเซียอยู่ที่อันดับ 63 จาก 113 ประเทศ 8 คะแนนที่เป็นจุดอ่อนของประเทศนี้คือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการคอร์รัปชั่น ผู้พิพากษา อัยการและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ล้วนแล้วแต่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความฉ้อฉล ตามความคิดของศาสตราจารย์ฮิกมาฮันโต สาเหตุที่ทำให้หลักนิติธรรมมีจุดอ่อนคือค่าจ้างต่ำ ทรัพยากรมนุษย์ด้อยคุณภาพ และการเรียนกฎหมายไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร 9
ระบบรัฐการ
นอกจากหลักนิติธรรม เงื่อนไขอีกประการในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยคือรัฐที่มีประสิทธิภาพ ใครจะคอยค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยเกิดใหม่ถ้ารัฐไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ? ในช่วงต้นของการเปลี่ยนผ่าน ดูเหมือนรัฐอินโดนีเซียจะคลอนแคลน ประเทศต้องเผชิญหน้ากับ Kristal หรือวิกฤตการณ์รอบด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความรุนแรงในชุมชน และการโจมตีของผู้ก่อการร้าย กระนั้นก็ตาม รัฐอินโดนีเซียเอาตัวรอดมาได้ การเมืองค่อยๆ สร้างระบบรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาอย่างยากลำบาก การเลือกตั้งในปี 2004 ส่งผลให้อินโดนีเซียมีประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมและได้รับความเชื่อถือว่าจะสามารถสร้างเสถียรภาพ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับกลไกรัฐ เศรษฐกิจค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจากความซบเซาเพราะวิกฤตการณ์ทางการเงิน (ซึ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 13.8% ในปี 1998) จนทะลุอัตราการเติบโตถึง 4-6% ต่อปีในช่วงทศวรรษ 2000 ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น มีการเจรจาข้อตกลงสันติภาพในเมืองอัมบนและโปโซเพื่อคลายความตึงเครียดระหว่างชุมชนทางศาสนาภายในประเทศ หน่วยรบพิเศษที่มีชื่อว่า Detachment 88 ซึ่งเป็นกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จในการตามล่าและจับกุมผู้ก่อการร้าย ช่วยลดภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยเกิดใหม่ รัฐฝ่าฟันผ่าน Kristal และเอาตัวรอดมาจนได้
แต่ระบบรัฐการยังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ตามดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index) ประจำปี 2017 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ 10 นักการเมืองมักปราศรัยต่อต้านการคอร์รัปชั่นระหว่างหาเสียง แต่พอเข้าสู่ตำแหน่งแล้วก็ทำได้แค่พยายามปราบปราม (ถ้าหากพยายามบ้างจริงๆ) การได้รับค่าจ้างต่ำทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่าตนจำเป็นต้องคอร์รัปชั่นเพื่อเลี้ยงปากท้อง พรรคการเมืองจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อต่อสู้ในการเลือกตั้งหากต้องการอยู่ในอำนาจ แต่ดูเหมือนช่องทางเดียวที่พรรคจะหาแหล่งทุนได้คือแปรการควบคุมรัฐให้กลายเป็นเงิน ซึ่งก็คือการคอร์รัปชั่นนั่นเอง ประธานาธิบดีจำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาลในการผลักดันวาระตามนโยบาย นั่นหมายความว่าบางครั้งผู้นำต้องแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นการคอร์รัปชั่นเพื่อรักษาเป้าหมายใหญ่เอาไว้ การคอร์รัปชั่นก็เช่นเดียวกับอำนาจ มันฝังตัวลงในระบอบประชาธิปไตยและมีการถ่ายโอนเงินลงไปตามลำดับชั้นทางการเมือง จากจังหวัดสู่เมืองและเทศบาล หลายครั้งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า คณะกรรมาธิการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนชาวอินโดนีเซียอย่างมาก ไม่มีทางจับได้ไล่ทันจำเลยของตัวเองเลย
สังคมเศรษฐกิจ
การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในเวทีของสังคมเศรษฐกิจเช่นกัน ระบอบประชาธิปไตยสร้างเงื่อนไขว่าพลเมืองทุกคนต้องมีสมรรถนะทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมือง หากทรัพยากรตกอยู่ในการควบคุมขององค์ภาวะ (รัฐ) หรือกลุ่ม (คณาธิปไตย) หนึ่งใดมากเกินไป ก็อาจทำให้การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดปัญหาสั่นคลอน
ในอินโดนีเซีย การที่รายได้มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างสูงนับเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในสังคมเศรษฐกิจ ค่าสัมประสิทธิ์จีนี ซึ่งเป็นมาตรวัดความไม่เท่าเทียม มีค่าสูงขึ้นตลอดช่วงยุคปฏิรูปอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ จาก .30 ในปี 2000 พุ่งขึ้นไปเป็น .41 ในปี 2013 11 นี่คือข้อเท็จจริงที่สำคัญและน่าประหลาดใจ กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยซึ่งมุ่งหมายกระจายอำนาจทางการเมืองกลับทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอย่างเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม อย่างน้อยก็เท่าที่เห็นในระยะสั้น ระบบการเมืองเต็มไปด้วยเหล่ามหาเศรษฐีและกระทั่งอภิมหาเศรษฐีที่ให้เงินทุนสนับสนุนพรรคการเมืองหรือผลักดันตัวเองลงสมัครรับเลือกตั้ง การหาเสียงในอินโดนีเซียมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะสภาพแวดล้อมที่สื่อมวลชนมีอิทธิพลและการสำรวจความคิดเห็นมีบทบาทชี้นำ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีเงินฟ่อนได้เปรียบหลายขุม แต่ระบบที่บริหารโดยชนชั้นสูงเพียงฝ่ายเดียวย่อมสร้างปัญหาต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย
บทสรุป
การใช้แว่นขยายของ Linz และ Stepan มาทำความเข้าใจการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ช่วยเน้นให้เห็นแง่มุมต่างๆ ที่เป็นกุญแจสำคัญในเส้นทางของประเทศนี้ โดยรวมแล้ว ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็น “กติกาเดียวที่มีอยู่” หรือ “ภาวะปกติใหม่” 12 อินโดนีเซียเอาตัวรอดจากปัญหาท้าทายต่อความเป็นรัฐ บรรลุเงื่อนไขเบื้องต้นของ Linz และ Stepan ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย ภาคประชาสังคมขยายตัวอย่างน่าทึ่ง สื่อมวลชนรูปแบบต่างๆ ผุดขึ้นมามากมาย ในสังคมการเมือง การเลือกตั้งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและการมีส่วนร่วมก็ขยายเป็นวงกว้าง รัฐแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านสำคัญอย่างการผลักดันความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและการสร้างเสถียรภาพ
แต่กรอบการมองของ Linz และ Stepan ก็มีตัวกรองที่ช่วยให้เรามองเห็นหลายแง่มุมที่เป็นจุดอ่อน องค์กรภาคประชาสังคมไม่ได้ปวารณาตนแก่จิตวิญญาณของระบอบประชาธิปไตยเกิดใหม่ไปหมดทุกองค์กร ในทำนองเดียวกัน สื่อก็ตกอยู่ภายใต้การคุกคามและบ้างก็ขาดความเป็นมืออาชีพในบางครั้ง ความชอบธรรมของพรรคการเมืองอยู่ในระดับต่ำ หลักนิติธรรมอ่อนเปลี้ย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต ระบบรัฐการยังมีการคอร์รัปชั่นในระดับสูง จุดอ่อนดังกล่าวนี้แต่ละจุดล้วนมีศักยภาพที่จะบ่อนเบียนทำลายระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย เพราะมันมีส่วนในการลดทอนความชอบธรรมของภาวะปกติใหม่
Paige Johnson Tan, Ph.D
Professor
Department of Political Science
Radford University, USA
References
Ahmad, Saidiman. “Elektabilitas PDIP dan Jokowi Terus Menguat.” Saifulmujani.com. January 3, 2018. http://saifulmujani.com/blog/2018/01/03/elektabilitas-pdip-dan-jokowi-terus-menguat (accessed March 6, 2018).
Gantan, Josua. “Rule of Law Seen as Indonesia’s Achilles Heel.” Jakarta Globe, April 17, 2014 http://jakartaglobe.id/news/rule-law-seen-indonesias-achilles-heel/ (accessed May 7, 2018).
IFES. Executive Summary on Indonesia Post-Election National Survey. June 2014. http://www.ifes.org/sites/default/files/indonesia_national_public_opinion_poll_june_2014_2014_executive_summary_2.pdf (accessed February 16, 2018).
Linz, Juan and Alfred Stepan. 1996. Problems of Democratic Transition and Consolidation. Baltimore: Johns Hopkins University Press.
Reporters without Borders. Press Freedom Index 2018. https://rsf.org/en/ranking (accessed May 11, 2018).
Thornley, Andrew. “Nine Takeaways from the Legislative Elections.” Elections in Indonesia. 2014. Asia Foundation. https://asiafoundation.org/resources/pdfs/IndonesiaElections.pdf (accessed February 16, 2018), pp. 6-7.
Transparency International. Corruption Perceptions Index. 2017. https://www.transparency.org/news/feature/corruption_perceptions_index_2017 (accessed May 11, 2018).
WJP. World Justice Project. Rule of Law Index 2017-2018. Undated. http://data.worldjusticeproject.org/#groups/IDN (accessed May 7, 2018).
World Bank. “Indonesia’s Rising Divide.” December 7, 2015. http://www.worldbank.org/en/news/feature/2015/12/08/indonesia-rising-divide (accessed May 7, 2018).
Notes: