Site icon Kyoto Review of Southeast Asia

แกะสลักปั้นหล่อความทรงจำและประวัติศาสตร์ในเมืองเหนือของประเทศไทย

อนุสาวรีย์และรูปปั้นเป็นที่นิยมมานานในรัฐที่พยายามกำหนดนิยามความทรงจำส่วนรวม (collective memory) บางคนถึงกับเรียกความหมกมุ่นที่มีต่อการสร้างอนุสรณ์สถานที่มีรูปปั้นว่า “ลัทธิคลั่งรูปปั้น” (statuemania) ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตของชนชั้นนำระดับชาติและนักวางผังเมืองไม่เฉพาะในตะวันตกเท่านั้น แต่รวมถึงในหลายสถานที่อย่างประเทศไทยด้วย อนุสาวรีย์ใหม่ๆ เริ่มผุดขึ้นมาเป็นจุดหมายภูมิทัศน์ของเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 1 ในหลายๆ แง่ ความคลั่งไคล้นี้ยังคงแพร่กระจาย—และขยายตัว—พร้อมกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่หัวหิน ซึ่งมีผู้บรรยายว่าเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์พร้อมอนุสาวรีย์เจ็ดกษัตริย์ที่รัฐบาลทหารสร้างเพื่อสักการบูชา” 2

ความหลงใหลในอนุสาวรีย์รูปปั้นเป็นสิ่งที่แผ่พ้นปัจจุบัน พ้นศูนย์กลางและพ้นรัฐ ดินแดนเทพนิยายประวัติศาสตร์ราชภักดิ์ของรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นแค่การสำแดงครั้งล่าสุดของประวัติศาสตร์อันยาวนานในการสร้างอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกษัตริย์ในประเทศไทย ในทำนองเดียวกัน โฉมหน้าเมืองที่เปลี่ยนไปของกรุงเทพฯ ในช่วงอัสดงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นแค่ฉากหลังฉากหนึ่งของลัทธิคลั่งรูปปั้น ยกตัวอย่างเช่น ในจังหวัดภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ไม่เพียงชี้ให้เห็นชั่วขณะสำคัญในประวัติศาสตร์ของเมืองและของภูมิภาคเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมันสะท้อนให้เห็นความพยายามของรัฐที่จะยัดเยียดแม่บททางประวัติศาสตร์ฉบับราชาชาตินิยมกระแสหลักครอบทับลงบนความทรงจำของท้องถิ่น 3 ในประการสุดท้าย ลัทธิคลั่งรูปปั้นไม่ใช่แค่ความป่วยไข้ของชนชั้นนำในรัฐเดี่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นอาการร่วมที่แพร่ระบาดในกลุ่มคนกับกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลายด้วย เฉกเช่นศิลปินที่แกะสลักปั้นหล่อรูปปั้นมากับมือ ชนชั้นนำระดับชาติและท้องถิ่นก็พยายามปั้นแต่งความทรงจำของมวลชนโดยแสดงออกผ่าน “ความทรงจำที่เคลื่อนย้ายไม่ได้” เช่นกัน 4

ครูบาศรีวิชัย

หนึ่งในอนุสาวรีย์รูปปั้นยุคสมัยใหม่ที่ติดตั้งก่อนใครเพื่อนในเชียงใหม่คือรูปปั้นของครูบาศรีวิชัย (พ.ศ. 2421-2481) พระสงฆ์มากบารมีที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการต่อต้านนโยบายการเกณฑ์ทหารของกรุงเทพฯ โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในล้านนาและการสร้างถนนจากชานเมืองขึ้นสู่วัดดอยสุเทพที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ทั้งหมดนี้ทำให้ครูบาศรีวิชัยเปรียบเสมือนหนามยอกอกของผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ 5

ท้องถิ่นเป็นผู้เริ่มต้นผลักดันการก่อสร้างอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย โดยเฉพาะหลวงศรีประกาศ ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ หอจดหมายเหตุเก็บเอกสารมากมายที่แสดงถึงความกระตือรือร้นของเขาต่อการสร้างอนุสาวรีย์นี้ รวมทั้งความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้ในรัฐบาลและติดตั้งรูปปั้นไว้ตรงตีนดอยสุเทพ 6 หากมองอย่างผาดเผิน อาจดูเหมือนน่าประหลาดใจที่พบว่ารัฐส่วนกลางสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สำหรับบุคคลที่สร้างปัญหามากมายต่อกรุงเทพฯ แต่มันก็มักง่ายเกินไปที่จะด่วนสรุปว่า รูปปั้นนี้คือส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการยอมรับความหลากหลายของต่างจังหวัด 7 แน่นอน อนุสาวรีย์นี้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของ “วาทกรรมที่ตั้งอยู่บนความเป็นท้องถิ่นหรือภูมิภาค”’ 8 กรุงเทพฯ ตอบสนองต่อการริเริ่มในท้องถิ่นด้วยการพยายามสมอ้างเอาคุณูปการของพระสงฆ์ผู้เป็นตัวปัญหาแต่มากบารมีนี้มาเป็นของตนเอง นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกในลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2489 สถาบันกษัตริย์ไทยเป็นผู้อุปถัมภ์งานพระราชทานเพลิงศพของครูบาศรีวิชัย จากนั้นแบ่งอัฐิของครูบาออกเป็นหกส่วนและนำไปเก็บรักษาตามจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนือ 9 ตอนที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพใน พ.ศ. 2481 ครูบายังเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ภาคเหนือ ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นแค่ความแตกต่าง แต่ถ้ามองแง่ร้ายก็คือเป็นปฏิปักษ์ต่ออัตลักษณ์แห่งชาติสยาม/ไทยที่มีกรุงเทพฯ ครอบงำ เมื่ออนุสาวรีย์สร้างเสร็จสิ้นในปี 2499 กล่าวคือเพียง 18 ปีให้หลัง ความทรงจำส่วนบุคคลเกี่ยวกับการสร้างและพิธีเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้ยังคงแจ่มชัด อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยอาจเป็นการพยายาม “กำราบ” ความทรงจำเกี่ยวกับพระสงฆ์ผู้เป็นตัวปัญหาด้วยการถ่ายโอนบารมีของครูบามาไว้ที่รัฐส่วนกลางบ้าง แต่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ก็ยังเปิดกว้างต่อวาทกรรมเกี่ยวกับความทรงจำของท้องถิ่น

(รูปปั้นครูบาศรีวิชัย จังหวัดเชียงใหม่ ถ่ายภาพโดย Taylor Easum, 2009)

รัฐไทยปั้นแต่งความทรงจำนี้ผ่านผลงานของประติมากรศิลป์ พีระศรี 10 ชาวเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลีที่โอนสัญชาติเป็นพลเมืองไทย ในภายหลัง ศิลป์ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งศิลปะไทยสมัยใหม่ รวมทั้งเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อด้วยรูปปั้นมือหนึ่งของนายกรัฐมนตรี ป. พิบูลสงครามด้วย มอริซิโอ เพเลจจี (Maurizio Peleggi) เขียนไว้ว่า ในยุคจอมพล ป. นี้เองที่อนุสาวรีย์รูปปั้น “ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง” 11 ศิลป์ พีระศรีสร้างรูปปั้นเด่นๆ หลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินทรงม้า นอกจากนี้ยังออกแบบอนุสาวรีย์ที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นั่นคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 12 เขาเป็นผู้ฝึกสอนประติมากรคนอื่นๆ ด้วย เช่น เขียน ยิ้มศิริ ซึ่งเป็นผู้ช่วยของศิลป์ในการแกะและหล่อรูปปั้นครูบาศรีวิชัย และไข่มุกด์ ชูโต ผู้สร้างอนุสาวรีย์ที่รู้จักกันดีที่สุดในเชียงใหม่ในอีก 27 ปีต่อมา นั่นคือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

อนุสาวรีย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด—และถูกผลิตซ้ำในหมู่ประชาชนมากที่สุด—ในเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตรงใจกลางเมืองและประกอบด้วยรูปปั้นกษัตริย์สามพระองค์ กล่าวคือ พญามังราย พญางำเมืองและพญาร่วงหรือที่เรียกกันติดปากมากกว่าในชื่อพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุโขทัยในสมัยศตวรรษที่ 13 และเป็นต้นแบบของแนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้มีเมตตาธรรมในประวัติศาสตร์ไทย 13 อนุสาวรีย์แห่งนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1839 เมื่อกษัตริย์ทั้งสามมาพบปะกันเพื่อกำหนดที่ตั้ง ผังเมืองและขนาดของนครแห่งใหม่ของพญามังราย ซึ่งจะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาที่สถาปนาขึ้นมาใหม่

อนุสาวรีย์แห่งนี้มีต้นกำเนิดที่ซับซ้อน แรกเริ่มเดิมทีจริงๆ เป็นความเคลื่อนไหวในท้องถิ่นที่ต้องการก่อตั้งอนุสาวรีย์ให้พญามังรายเพียงผู้เดียว 14 ใน พ.ศ. 2512 คณะกรรมการท้องถิ่นที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานให้พญามังรายติดต่อไปที่กรมศิลปากรเพื่อจัดการเรื่องการออกแบบอนุสาวรีย์ รวมทั้งติดต่อนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เพื่อจัดหาที่ดินและการสนับสนุนจากกรมศิลปากร ในฤดูร้อนของปี 2512 กรมศิลปากรเปลี่ยนแนวคิดของการสร้างอนุสาวรีย์ให้พญามังรายเป็นอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ตามคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะเหตุใด? ตามที่รัฐบาลอธิบายเมื่ออีกหนึ่งปีให้หลัง การขยายตัวของอนุสาวรีย์รูปปั้นอาจก่อให้เกิด “ความสับสน” หมายถึงสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์แบบที่กรุงเทพฯ ไม่เห็นชอบ ในเดือนมีนาคม 2513 รัฐบาลประกาศนโยบายใหม่ นั่นคือ การสร้างอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์สถานแก่บุคคลสำคัญใดๆ ต้องส่งเรื่องมาให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติก่อน 15 ปัญหาของลัทธิคลั่งรูปปั้นในต่างจังหวัดกลายเป็นความวิตกระดับสูงสุดของรัฐบาล กระนั้นก็ตาม คำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนจากหนึ่งกษัตริย์เป็นสามกษัตริย์ยังคงได้รับความสนใจ ในวันที่ 5 มิถุนายน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตั้งคำถามว่า “อนุสาวรีย์แด่พญามังราย: หนึ่งกษัตริย์หรือสามกษัตริย์ดีกว่ากัน?” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่บ่นว่า การเพิ่มกษัตริย์องค์อื่นเข้ามาจะลดความสำคัญของพญามังรายลง แถมต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมโดยเฉพาะต่อเยาวชนรุ่นหลัง 16 ทายาทของเจ้านครเชียงใหม่โบราณเองก็อยากได้อนุสาวรีย์ที่อุทิศให้พญามังรายองค์เดียวมากกว่า 17

(อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ ภาพถ่ายโดย Taylor Easum, 2009)

เมื่อเพิ่มพญางำเมืองกับพ่อขุนรามคำแหงเข้ามา คำถามเกี่ยวกับองค์ประกอบของอนุสาวรีย์ยิ่งสร้างข้อถกเถียงมากกว่าเดิม  พญามังรายยืนตรงกลางก็จริง แต่พ่อขุนรามคำแหงต่างหากเป็นศูนย์กลางของอำนาจในฐานะบุคคลที่อีกสองคนต้องรับฟัง 18 ในขณะที่คนท้องถิ่นบางส่วนแสดงความไม่พอใจกับเรื่องเล่าที่ลดความเป็นศูนย์กลางของพญามังราย ก็มีคนอื่นๆ ตั้งคำถามว่าทำไมพ่อขุนรามคำแหงจึงไม่อยู่ตรงกลางมากกว่านี้ เพราะจากมุมมองระดับชาติแล้ว พ่อขุนรามคำแหงย่อมมีความสำคัญมากกว่า 19 พ่อขุนรามคำแหงกับพญามังรายต้องชิงความเด่นกันในอีกหลายรูปแบบ เช่น เมื่อมีการทำเครื่องรางที่ระลึกในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ชื่อของพ่อขุนรามคำแหงอยู่ในรายการเป็นชื่อแรกก่อนพญามังราย 20 เป็นต้น  การออกแบบรูปปั้นก็บ่งบอกหลายอย่าง  ประติมากรไข่มุกด์ ชูโต ซึ่งเป็นญาติของพระราชินีไทย ออกแบบลักษณะใบหน้าของกษัตริย์ทั้งสามให้สะท้อนบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน  พญามังรายมีความงดงาม พ่อขุนรามคำแหงคือนักปกครอง ส่วนพญางำเมืองนั้น “หล่อเหลาและกรุ้มกริ่ม” 21

จากมุมมองของกรุงเทพฯ การยอมให้พญามังรายกับพ่อขุนรามคำแหงเป็นศูนย์กลางทั้งคู่อาจถือเป็นการประนีประนอม  แต่จากมุมมองของเชียงใหม่ นี่คือการยัดเยียดประวัติศาสตร์แห่งชาติกดทับความทรงจำท้องถิ่น  ด้วยการขยายรูปจำลองจากหนึ่งกษัตริย์เป็นสามกษัตริย์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้จัดวางศูนย์กลางของวาทกรรมทางประวัติศาสตร์เสียใหม่ตามคำสั่งของรัฐกรุงเทพฯ ด้วยการผูกโยงประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ไว้กับกรุงเทพฯ

ความเป็นตัวตนของรูปปั้น

รูปปั้นมิได้ดำรงอยู่ในฐานะอนุสาวรีย์ของโลกฆราวาสเท่านั้น แต่ยังเป็นวัตถุแห่งศรัทธาทางศาสนาและพิธีกรรมด้วย  อันที่จริง เส้นแบ่งระหว่างรูปปั้นในโลกฆราวาสกับโลกศาสนาค่อนข้างพร่าเลือนในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อนุสาวรีย์รูปปั้นที่สร้างให้กษัตริย์กรุงเทพฯ หรือบุคคลอื่นๆ มักกลายเป็นจุดศูนย์รวมของการสักการบูชาและการทำพิธีกรรม  อีกทั้งยังมีรูปถ่ายของพระสงฆ์หลายรูปติดตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและวัดต่างๆ 22 หลังจากหล่อรูปปั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว รูปปั้นของสามกษัตริย์เสด็จเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ด้วยขบวนแห่แบบเดียวกับกษัตริย์โบราณ เคลื่อนผ่านประตูช้างเผือกทางทิศเหนือของเมือง ก่อนจะแห่แหนเข้าสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ใจกลางเมือง  รูปปั้นทั้งสามถูกเคลื่อนย้ายราวกับเป็นกษัตริย์จริงๆ  จนถึงทุกวันนี้ก็ยังได้รับการสักการบูชาในฐานะตัวตนของอำนาจกษัตริย์โบราณ  กลุ่มคนต่างๆ ยังแข่งกันเสนอการตีความใหม่ให้อนุสาวรีย์แห่งนี้เพื่ออ้างอำนาจด้านอิทธิฤทธิ์อภินิหารและศาสนาของศูนย์กลางเมือง ถึงแม้ต้องเผชิญกับอำนาจครอบงำจากกรุงเทพฯ ก็ตาม 23

ในทำนองเดียวกัน อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยคือตัวตนของความทรงจำทั้งในด้านศาสนาและฆราวาส  ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2515 วัดศรีโสดาซึ่งตั้งอยู่ใกล้ตีนถนนที่ครูบากับลูกศิษย์ช่วยกันสร้างขึ้นภูเขา ทางวัดเรียกร้องให้ย้ายรูปปั้นครูบาศรีวิชัยมาตั้งในบริเวณวัดแทน  ทั้งนี้วัดอ้างเหตุผลว่าเพราะรูปปั้นเป็นรูปเคารพทางศาสนา  ดังนั้น วัดน่าจะดูแลรักษารูปปั้นได้ดีกว่าและการทำบุญตักบาตรก็จะสะดวกกว่าด้วย  บทบรรณาธิการที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น คนเมือง คัดค้านแผนการนี้เสียงแข็ง โดยแย้งว่านี่เป็นแค่การแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน  และยืนยันว่าที่ตั้งเดิมนั้นเลือกมาเพื่อให้คนทั่วไปเห็นรูปปั้นง่ายๆ  ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนจดจำ (รำลึกถึง) คุณความดีของพระสงฆ์ผู้น่าเคารพรูปนี้ 24 ทุกวันนี้ อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็ยังตั้งอยู่ที่เดิมโดยเป็นจุดศูนย์รวมทั้งความทรงจำและการสักการบูชา

บทสรุป

อนุสาวรีย์ทุกแห่งบิดเบือนความทรงจำส่วนรวมไม่มากก็น้อย  อนุสาวรีย์ที่นำมาเป็นกรณีศึกษาข้างต้นเป็นแค่สองแห่งจากอีกหลายแห่งที่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ถูกปั้นแต่งและก่อรูปขึ้นในเชียงใหม่ยุคปัจจุบัน  ข้อถกเถียงเกี่ยวกับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือแผนการที่เคยคิดจะย้ายที่ตั้งอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไม่ควรเป็นเหตุการณ์ที่ถูกลืมเลือน  นอกจากนี้ ภาพพจน์ที่เคยเป็นที่ถกเถียงสามารถถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้  รูปปั้นสามกษัตริย์สามารถใช้เป็นเครื่องหมายของอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะหมายถึงภาคเหนือ ล้านนาหรือเชียงใหม่  หากนิวยอร์กมีเทพีเสรีภาพ เชียงใหม่ก็มีสามกษัตริย์  พลังทางสังคมและการเมืองปรับแต่งภูมิทัศน์ของความทรงจำเฉกเช่นศิลปินแกะสลักปั้นหล่อรูปปั้น  อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา “ลัทธิคลั่งรูปปั้น” จากมุมมองของภูมิภาค มันเผยให้เห็นว่าขีดจำกัดทางการเมืองบางประการที่กดทับการสร้างตัวตนของความทรงจำท้องถิ่นสามารถก่อให้เกิดรูปปั้นดังเช่นที่อุทยานราชภักดิ์ได้ เพราะมันเป็นเครื่องมือทื่อๆ ของอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ไทยฉบับกษัตริย์นิยมล้นเกินและชาตินิยมล้นเกินที่กองทัพประทับตรารับรอง

Taylor M. Easum
(Assistant Professor of History, University of Wisconsin, Stevens Point)

Issue 20, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2016

บรรณานุกรม
Published Materials:

Agulhon, Maurice. “La « Statuomanie » et L’histoire.” Ethnologie Française 8, no. 2/3 (1978): 145–72.
Bowie, Katherine A. “Of Buddhism and Militarism in Northern Thailand: Solving the Puzzle of the Saint Khruubaa Srivichai.” The Journal of Asian Studies 73, no. 3 (August 2014): 711–732.
Doss, Erika. Memorial Mania: Public Feeling in America. University of Chicago Press, 2012.
Easum, Taylor M. “A Thorn in Bangkok’s Side Khruba Sriwichai, Sacred Space and the Last Stand of the Pre-Modern Chiang Mai State.” South East Asia Research 21, no. 2 (June 1, 2013): 211–36.
Evans, Grant. “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos.” In Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos, edited by Shigeharu Tanabe and Charles F Keyes, 154–82. Honolulu: University of Hawaiʻi Press, 2002.
Johnson, Andrew. “Re-Centreing the City: Spirits, Local Wisdom, and Urban Design at the Three Kings Monument of Chiang Mai.” Journal of Southeast Asian Studies 42, no. 3 (2011): 511–31.
Khaimuk Chuto. Chiwit lae ngan khong Khaimuk Chūtō [The Life and Work of Khaimuk Chuto]. Bangkok: Kō̜ng Sinlapāchīp, Samnak Rātchalēkhāthikān, 1997.
Kongpob Areerat. “Thai Junta Coins New History Book to Legitimise Its Rule.” Prachatai English. Accessed October 31, 2015. http://www.prachatai.com/english/node/5576.
Kwok Kian-Woon, and Roxana Waterson. “The Work of Memory and the Unfinished Past: Deepening and Widening the Study of Memory in Southeast Asia.” In Contestations of Memory in Southeast Asia. Singapore: NUS Press Pte Ltd., 2012.
Lanna Thai: Anuson Phraratchaphithipoet Phraborommarachanusaowari Sam Kasat (Chiangmai 2526-27) [Lanna Thai: Memorial for the Opening of the Three Kings Monument (Chiang Mai, 1983-84)]. Chiang Mai: Khanakammakan chat tham nangsu, 1984.
Malinee Khumsupa. Anusawari Prachathippatai kap khwammai thi mong mai hen [The Democracy Monument and Its Hidden Meanings]. Krung Thēp: Wiphāsā, 2005.
Mukhom Wongthes. Intellectual Might and National Myth: A Forensic Investigation of the Ram Khamhaeng Controversy in Thai Society. Bangkok, Thailand: Matichon Public Co., 2003.
Peleggi, Maurizio. Lords of Things: The Fashioning of the Siamese Monarchy’s Modern Image. Honolulu: University of Hawaiʻi Press, 2002.
Rhum, Michael R. “The Future of the Past in Northern Thailand.” In Southeast Asian Tribal Groups and Ethnic Minorities: Prospects for the Eighties and Beyond, 117–24. Cambridge: Cultural Survival, Inc., 1987.
Stengs, Irene. Worshipping the Great Moderniser: King Chulalongkorn, Patron Saint of the Thai Middle Class. Seattle: University of Washington Press, 2009.
Tannenbaum, Nicola. “Monuments and Memory: Phaya Sihanatraja and the Founding of Maehongson.” In Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos, edited by Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes, 154–82. Honolulu: University of Hawaiʻi Press, 2002.
Terwiel, B. J. The Ram Khamhaeng inscription: the fake that did not come true. Gossenberg: Ostasien Verlag, 2010.
Thongchai Winichakul. “The Changing Landscape of the Past: New Histories in Thailand since 1973.” Journal of Southeast Asian Studies 26, no. 1 (March 1995).
Viboon Leesuwan. Chiwit ae Ngan Khong Achan Sin Phirasi [The life and works of Silpa Bhirasri]. Bangkok: SITCA Investment & Securities Public Co., 1996.
Wong, Ka F. Visions of a Nation: Public Monuments in Twentieth-Century Thailand. Studies in Contemporary Thailand 15. Bangkok: White Lotus, 2006.

Newspapers:

Khon Muang Newspaper, (1969-1972).

Notes:

  1. Evans, “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos”; Tannenbaum, “Monuments and Memory: Phaya Sihanatraja and the Founding of Maehongson”; Agulhon, “La « Statuomanie » et L’histoire.”
  2. Kongpob Areerat, “Thai Junta Coins New History Book to Legitimise Its Rule.”
  3. Thongchai Winichakul, “The Changing Landscape of the Past.”
  4. Evans, “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos.”
  5. Bowie, “Of Buddhism and Militarism in Northern Thailand”; Easum, “A Thorn in Bangkok’s Side Khruba Sriwichai, Sacred Space and the Last Stand of the Pre-Modern Chiang Mai State.”
  6. (4) ศธ 2.2.3.1/11, Kansāng ‘anusāwarī Phra Sīwichai phua nampai praditsathān na boriwēn senthāng khun sū Doi Suthēp čhangwat Chīang Mai (1956-63), National Archives of Thailand, Bangkok, Records of the Ministry of Education, 1962.
  7. Wong, Visions of a Nation.
  8. Evans, “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos,” 177.
  9. Easum, “A Thorn in Bangkok’s Side Khruba Sriwichai, Sacred Space and the Last Stand of the Pre-Modern Chiang Mai State,” 234.
  10. Viboon Leesuwan, Chīwit Læ Ngān Khō̜ng Āčhān Sin Phīrasī.
  11. Peleggi, Lords of Things, 102, 194.
  12. Malinee Khumsupa, Anusāwarī Prachāthippatai kap khwāmmāi thī mō̜ng mai hēn [The Democracy Monument and Its Hidden Meanings].
  13. Mukhom Wongthes, Intellectual Might and National Myth; Terwiel, The Ram Khamhaeng inscription.
  14. Khon Muang, 10 June 1969.
  15. Khon Muang, 25 March 1970.
  16. Khon Muang, 5 June 1970.
  17. Rhum, “The Future of the Past in Northern Thailand.”
  18. Johnson, “Re-Centreing the City.”
  19. Lanna Thai.
  20. Rhum, “The Future of the Past in Northern Thailand.”
  21. Lanna Thai, 60.
  22. Evans, “Immobile Memories: Statues in Thailand and Laos,” 168–70; Johnson, “Re-Centreing the City”; Stengs, Worshipping the Great Moderniser.
  23. Johnson, “Re-Centreing the City.”
  24. “Where should the Khruba Sriwichai monument be placed?” Khon Muang, 20 June 1972.
Exit mobile version